“หัวหน้าเราไม่ใช่คนไม่ดีนะ แต่บางทีเราก็ทุ่มเทให้งานไม่ได้เท่าเขา เพราะเราก็มีชีวิตนอกเวลางานให้รับผิดชอบด้วยเหมือนกัน” เพื่อนคนหนึ่งบอกกับเราเมื่อเล่าถึงหัวหน้าที่ทุ่มเทกับงานสุดตัวจนถึงขั้น ‘workaholic’ หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘บ้างาน’
ก่อนหน้านี้ เรามักจะได้ยินเรื่องราวของผู้นำหรือซีอีโอที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน อย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่เคยบอกกับ New York Timesว่าเขาทำงาน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และไม่ได้พักนานเกิน 1 สัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2001 ที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ส่วนซีอีโอ Apple อย่างทิม คุก (Tim Cook) ก็ส่งอีเมลหาพนักงานตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง และมักจะเป็นคนแรกที่ไปถึงออฟฟิศ เป็นคนสุดท้ายที่ได้กลับบ้านเสมอ
จริงๆ การทุ่มเทให้กับงานเป็นเรื่องที่ดี และเข้าใจได้ถ้าบางคนจะมีความสุขกับการทำงาน จนเรียกได้ว่าทำงานเป็นงานอดิเรกไปด้วย แต่ถ้าความทุ่มเทนั้นมากจนเริ่มล้ำเส้นเวลาส่วนตัวของคนอื่นๆ ไม่ว่าจะโทรหาวันหยุด นัดประชุมตอนใกล้เลิกงาน หรือถูกคาดหวังให้ทำโอที (บางทีก็โอฟรี) จนกลายเป็นเรื่องปกติ อาจส่งผลเสียทั้งกับตัวคนทำงานและบริษัทได้เหมือนกัน
โดยก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษา ที่พบว่า การที่หัวหน้าไม่สนับสนุนเรื่อง work-life balance สัมพันธ์กับผลกำไรที่ลดลงและความผิดพลาดระหว่างการทำงานที่มากขึ้น ส่วนอีกการศึกษาโดย Keas.com พบว่าพนักงานกว่า 77% มีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความสัมพันธ์แย่ๆ กับหัวหน้าของพวกเขา เพราะความกดดันจากการทำงานไม่ได้มีแค่ในออฟฟิศเท่านั้น แต่ยังเกาะติดเขาไปทุกหนแห่ง และแทรกซึมอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต
แล้วถ้าเราต้องเจอหัวหน้าบ้างานแบบนี้ จะรับมือยังไงดีล่ะ ?
1. สร้างขอบเขตที่ชัดเจน
เวลาหัวหน้าคุยงานในวันหยุด กดดันให้ทำงานล่วงเวลา หรือมอบเดดไลน์มหัศจรรย์ราวกับการเสกกรุงโรมได้ในสองวินาที บางคนอาจจะไม่กล้าปฏิเสธเพราะไม่รู้จะบอกยังไง บ้างก็กลัวจะดูไม่ทุ่มเทกับการทำงาน แต่พอจำใจทำไปนานๆ ก็เริ่ม toxic กับตัวเองซะงั้น
สำหรับคนที่ไม่กล้าสื่อสาร เราอยากชวนมองอีกมุมว่าหัวหน้าก็เป็นมนุษย์คนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เราเป็นทุกข์กับการทำงานหรืออยากดึงเราออกมาจากชีวิตส่วนตัวขนาดนั้น แค่บางครั้งเขาอาจโฟกัสกับการทำงานจนหลงลืมเรื่องอื่นๆ ไปชั่วคราว ไม่ว่าจะความสมดุลของปริมาณงานกับเวลาและจำนวนคน หรือชีวิตนอกเวลางานของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการสื่อสารว่า ‘ไม่ไหว’ เลยไม่ใช่เรื่องแย่ แต่เป็นเหมือนการสะกิดเตือนเบาๆ ในสิ่งที่เขาอาจจะหลงลืมไปชั่วคราวได้เหมือนกัน โดยสิ่งสำคัญคือการสื่อสารบนพื้นฐานที่ว่า เราอยากให้ระบบการทำงานดีขึ้น และงานออกมาประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคนละอย่างกับการตำหนิที่ตัวบุคคลหรือระบายความรู้สึกลบๆ ออกมาโดยไม่บอกทางแก้ไข
ในเว็บไซต์ edition.cnn แนะนำว่าให้เราลองสื่อสารแบบแบบ ‘แซนวิช’ ดูก็ได้ โดยสื่อสารเรื่องทางบวกหรือใช้การชื่นชม (Positive Feeback) ก่อน ตามด้วยคำแนะนำ หรือฟีดแบ็กเรื่องงาน แล้วปิดท้ายด้วยเรื่องทางบวกอีกครั้ง (Positive Feeback) ซึ่งอาจจะเป็นการให้กำลังใจ คำขอบคุณที่รับฟังหรือคำพูดเชิงบวกอื่นๆ
ส่วนลอร่า ดับนีย์ (Laura F. Dabney) นักจิตอายุรเวทและโค้ชด้านความสัมพันธ์ แนะนำว่า เราควรสร้างขอบเขตที่เหมาะสมแต่ก็หนักแน่นด้วยเหมือนกัน เช่น ถ้าอีก 5 นาทีจะถึงเวลาเลิกงาน แต่หัวหน้ากำลังจะเริ่มประชุมหรือชวนคุยโปรเจกต์ใหม่ๆ ให้ลองตอบไปว่า “ฟังแล้วอยากคุยเรื่องนี้เป็นสิ่งแรกตอนเริ่มงานวันพรุ่งนี้เลย” หรือ “ใกล้เวลาเลิกงานแล้ว วันนี้อาจจะมีเวลาคุยไม่เต็มที่ เรานัดประชุมเช้าพรุ่งนี้แทนดีไหม” พร้อมกับบอกตารางงานตัวเองและข้อดีของการคุยวันอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องใส่ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปด้วย
2. รักษาขอบเขตนั้นอย่างสม่ำเสมอ
ถ้าตั้งใจจะสร้างขอบเขตแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องไม่หวั่นไหวง่ายๆ เพราะถ้าเรายอมทำบ้าง ไม่ยอมบ้าง สลับกันไป หัวหน้าอาจจะเข้าใจว่า “อ้าว ที่ผ่านมาก็ทำได้นี่นา ทำไมครั้งนี้จะทำไม่ได้” ดังนั้นเราควรตั้งความคาดหวังเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมกับอธิบาย เช่น ปกติเสาร์อาทิตย์จะอยู่กับครอบครัวนะ หรือช่วงนี้คือเวลานอนพักผ่อนเพื่อให้ตื่นมาแล้วทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าจำเป็นต้องทำจริงๆ เราอาจจะสื่อสารให้รู้ว่าครั้งนี้คือ ‘ข้อยกเว้น’ ที่เราต้องสละเวลาส่วนตัวมาทำ แต่ไม่ได้ทำเพราะพร้อมทำงาน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ เว็บไซต์ melodywilding แนะนำว่าเราควรเลี่ยงการชื่นชมงานที่มาจากการทำงานหนักเกินจำเป็น เพราะคำชมเหล่านี้อาจจะทำให้เรามองข้ามเรื่อง การใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและชาญฉลาด แถมยังบอกเป็นนัยๆ ด้วยว่าเราเองก็อยากจะทำงานเกินเวลาไปด้วยคน
3. ชวนให้หัวหน้าออกไปใช้ชีวิต (แบบเนียนๆ)
สำหรับบางคนที่อยากให้ผลลัพธ์ไปไกลกว่าการปฏิเสธและสร้างขอบเขตที่ชัดเจน ไมเคิล วู้ดเวิร์ด (Michael Woodward) นักจิตวิทยาในที่ทำงาน ผู้ก่อตั้ง Human Capital Integrated (HCI) แนะนำอีกหนึ่งวิธีที่ใช้เวลานานหน่อย แต่น่าจะคุ้มค่าในระยะยาว คือการพูดถึงกิจกรรมหรือประสบการณ์นอกเวลางานที่ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น “ถ้าพวกเขาได้เห็นว่าการเป็นคนที่ดูแลสุขภาพ หรือใช้เวลาออกไปท่องเที่ยวบ้างจะช่วยให้งานดีขึ้นได้ พวกเขาอาจจะลองทำดูบ้างเหมือนกัน” เพราะการเชื่อมโยงกับข้อดีด้านการทำงาน อาจจะช่วยให้มนุษย์ผู้เสพติดการทำงาน อยากจะขยับไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้างก็เป็นได้
แต่สุดท้ายถ้าพยายามสื่อสารอย่างเต็มที่แล้ว แต่หัวหน้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมต้องมีเวลาหยุดพัก หรือมีช่วงที่ไม่ต้องคิดเรื่องงานบ้าง นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคงทำงานด้วยกันต่อไปไม่ได้จริงๆ และการโบกมือลาไปหางานใหม่อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า อย่างที่เจมส์ พอลลาร์ด (James Pollard) โค้ชด้านอาชีพของ TheAdvisorCoach.com เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีงานไหนที่ควรค่าพอให้เราต้องทุกข์ทรมานกับมันในทุกๆ วันหรอกนะ”
อ้างอิงข้อมูลจาก