เป็นเรื่องยากเหมือนกันนะที่เราจะใช้ชีวิตโดยปราศจากความกังวลใดๆ เพราะแต่ละวันไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นตลอดเวลานี่นา และไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร ตัดสินใจอะไร ก็ย่อมมีผลกระทบตามมาเสมอ จะไม่ให้กังวลเลยก็คงเป็นไปไม่ได้หรอก
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ความกังวลก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกกังวล นั่นหมายความว่า เรากำลังประเมินความเสี่ยงหรือความผิดพลาดในสถานการณ์นั้นอยู่ ถ้าทำแบบนี้จะเป็นอะไรมั้ย? ถ้าเลือกสิ่งนี้จะดีหรือเปล่า? เขาพูดแบบนี้หมายความว่าอะไร? เพื่อที่เราจะได้หลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังกับการกระทำของตัวเองมากขึ้น
ในเมื่อเป็นความรู้สึกที่พอจะมีข้อดีอยู่บ้าง แล้วปัญหาอยู่ที่อะไรกันล่ะ? แน่นอนว่าทุกคนทราบกันดีเลยล่ะว่า ถ้ากังวลมากไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีกับใจเท่าไหร่นัก เพราะมันจะบล็อกเราไม่ให้ทำอะไรที่เราอยากทำ และสูญเสียช่วงเวลาที่ควรจะมีความสุขไปโดยใช่เหตุ
ใช่ ใช่ ความกังวลที่มากเกินไปนี่แหละ เปรียบเสมือน ‘มือล่องหน’ ที่ฉุดรั้งตัวเราเอาไว้ไม่ให้มีอิสระในการคิด สร้างสรรค์ พูด หรือทำ แต่พอพูดถึงอะไรที่ล่องหนแล้ว เคยสังเกตกันมั้ยว่า บางครั้งความกังวลที่อยู่ในใจก็เป็นอะไรที่ล่องหนเหมือนกัน รู้แค่ว่าเรากำลังอยู่ในความกังวล ความไม่สบายใจ หรือความประหม่า แต่ไม่สามารถระบุต้นตอได้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่
ความกังวลนี้ไม่มีที่มา
หลายครั้งเราจะรู้ดีว่า ที่ตัวเองกำลังนั่งพะวงหน้าพะวงหลังอยู่นี้ มีต้นตอมาจากเรื่องอะไรบ้าง เช่น เช้านี้มีอีเมลเข้าเยอะมาก วันนี้ต้องขายงานให้ลูกค้าที่จู้จี้จุกจิกสุดๆ เมื่อคืนทะเลาะกับคนในครอบครัวมา หรือพรุ่งนี้ต้องไปเจอกับคนที่รู้จักในทินเดอร์เป็นครั้งแรก ทำให้เราต้องจมอยู่กับความกังวลว่าจะรับมือหรือจัดการปัญหาเหล่านี้ยังไงดี?
แต่บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าเรากำลังกังวลอะไร คล้ายๆ ความกังวลนั้นกำลังล่องลอยอยู่อย่างอิสระ เหนือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต คิดแล้วคิดอีกก็ได้คำตอบว่า “ก็ไม่มีอะไรนี่” แต่ไม่สามารถสะบัดความกังวลนั้นออกไปได้เลย เหมือนจู่ๆ มันก็ลอยมาชนเราให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือประหม่าเล่นๆ ความกังวลนี้เลยถูกตั้งชื่อว่า Free-Floating Anxiety หรือ ภาวะกังวลที่หาสาเหตุไม่ได้
Free-Floating Anxiety มักจะข้องเกี่ยวกับคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder หรือ GAD) ซึ่งอาการของโรคนี้ก็คือการวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง กังวลมากเกินความจำเป็น กังวลจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำ และบ่อยครั้งแม้จะไม่มีอะไรให้กังวลก็ตาม แต่คนพวกเขามักจะคาดเดาหรือจินตนาการถึงสิ่งที่แย่ที่สุดไว้ก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องงาน เงิน ครอบครัว สุขภาพ หรือความสัมพันธ์ก็ตาม
ต่อให้พวกเขาจะรู้ตัวดีว่า ความกังวลนั้นเป็นอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมหรือลดระดับลงได้อยู่ดี หรือต่อให้สุดท้ายพวกเขาจะยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเข้าสังคมได้อย่างมีชีวิตชีวาเหมือนคนทั่วไป แต่ลึกๆ พวกเขากำลังดิ้นรน และต่อสู้กับความกังวลที่ล่องลอยอยู่ภายในใจอยู่ตลอดเวลา
แต่ถึงแม้เราจะบอกว่าภาวะนี้ไม่มีสาเหตุก็ตาม ลึกๆ แล้วก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวโน้มอยู่เหมือนกัน ซึ่งได้แก่ สารเคมีในสมองที่ทำงานบกพร่อง พันธุกรรม ประสบการณ์ในอดีต หรือรูปแบบการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ปัจจัยดังกล่าวนี้สามารถส่งเสริมให้เกิดความกังวลที่ทับถมไปเรื่อยๆ จนก่อตัวรูปแบบทางความคิดของคนๆ หนึ่งโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทำให้ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไร พวกเขาจะเลือกบล็อกตัวเองด้วยความกังวลก่อน และยากที่จะกะเทาะมันออกไป เพื่อดำเนินชีวิตด้วยความสบายใจเหมือนคนอื่นๆ
ต่อให้พวกเขาจะรู้ตัวดีว่า
ความกังวลนั้นเป็นอะไรที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย
เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
แต่ก็ไม่สามารถควบคุมหรือลดระดับลงได้อยู่ดี
รู้ให้ทันก่อนปัญหาจะตามมา
แม้ Free-Floating Anxiety จะดูเหมือนเป็นความกังวลทั่วๆ ไป ที่แม้แต่คนไม่มีความผิดปกติทางจิตใจก็สามารถเผชิญได้ แต่หากเรามัวพะวงกับสิ่งที่หาสาเหตุไม่ได้บ่อยๆ หรือเป็นระยะเวลานาน ก็อาจส่งผลให้ระดับความเครียดเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว และท้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ภาวะซึมเศร้า ไม่อยากเข้าสังคม หรือความขัดแย้งในความสัมพันธ์
แต่ในเมื่อความกังวลนั้นไม่มีที่มาหรือสาเหตุไม่ได้ แล้วเราจะก้าวข้ามมันไปได้ยังไงล่ะ? อย่างแรกเลยก็คือ เราต้อง ‘จับสังเกต’ ให้ได้ก่อนว่า เรากำลังเผชิญกับภาวะวิตกกังวลบางอย่างอยู่ หรือพยายามไม่ปฏิเสธความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น เพราะถึงแม้จะไม่มีต้นตอที่แน่ชัด แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรควิตกกังวลในภายหลังได้ ซึ่งได้แก่
- กังวลกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันมากจนเกินไป
- ไม่สามารถควบคุมความกังวลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้
- กังวลโดยไม่มีสาเหตุ หรือ Free-Floating Anxiety
- ไม่สามารถผ่อนคลายได้
- ยากที่จะมีสมาธิ
- หน้ามืดบ่อยๆ หรือตกใจง่าย
- นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับยากผิดปกติ
- รู้สึกเหนื่อยล้า
- มักจะมีความคิดเชิงลบ หรือข้ามไปยังข้อสรุปที่แย่ที่สุดเสมอ
- ปวดหัว ปวดท้องและปวดจุดอื่นๆ ตามร่างกาย
- เบื่ออาหาร หรือกลืนอาหารได้ลำบาก
- มีอาการสั่นหรือกระตุก
- หงุดหงิดง่าย เวียนหัวง่าย เหงื่อออกง่าย หรือหายใจไม่ค่อยออก
และด้วยความที่อาการนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของโรควิตกกังวลทั่วไป จึงเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากได้รับการดูแลรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด โดยการบำบัดด้วยวิธีที่เรียกว่า CBT หรือ Cognitive Behavior Therapy จะช่วยให้เราสามารถระบุที่มาของความคิดหรือความรู้สึกเชิงลบได้ แม้ว่าเราจะไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีสาเหตุอะไรอยู่เบื้องหลัง แต่เมื่อเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ อาจจะพบว่าความรู้สึกนั้นกำลังซ่อนอะไรบางอย่างที่เป็นต้นตออยู่ ซึ่งถ้าหากพบต้นตอแล้ว ก็จะง่ายต่อการรักษามากขึ้น
ถ้าความกังวลนั้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่มีสมาธิทำงาน หรือไม่สามารถนอนหลับได้ อาจปรึกษาจิตแพทย์ให้จ่ายยา เพื่อช่วยปรับสารเคมีในสมองให้คงที่มากขึ้น แต่ถ้าใครพอประเมินได้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นหนักมาก อาจดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการทำกิจกรรมที่ลดฮอร์โมนความเครียด อย่างการออกกำลังกาย ชมธรรมชาติ เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบก็ได้
หรือถ้าคิดว่าไม่มีสาเหตุที่ทำให้กังวลจริงๆ ไม่รู้จะหาอะไรมาอธิบายแล้ว แต่อยากให้มันหายไปไวๆ ก็อาจจะใช้วิธีเตือนตัวเองบ่อยๆ ว่า ความกังวลนี้เป็นเพียงแค่สิ่งที่ล่องลอยไปมาอยู่เหนือเหตุผล เหนือเหตุการณ์ เหนือความคิด เหนือสิ่งที่เราจะรับรู้จริงๆ ซึ่งเราไม่สามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขมันได้เลย ฉะนั้นแล้ว จะดีกว่ามั้ยถ้าเราปล่อยให้มันลอยผ่านไป ไม่คว้าเก็บเอามาใส่ใจ หรือทำเมินเฉยมันไป เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลากับมันนาน จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
เพราะในแต่ละวันเราเผชิญกับความกังวลกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว บ้างก็เป็นเรื่องเล็กน้อย บ้างก็เป็นเรื่องใหญ่โต บ้างก็ไม่มีที่มาที่ไป แต่ถ้าเรามีสติ รู้เท่าทันอารมณ์และความคิดของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดีในการรับมือกับความกังวลแล้วนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก