ไม่ใช่แค่สิ่งของที่ทิ้งไว้ให้ต่างหน้า แต่ยังมีร่องรอยในโลกออนไลน์ที่ต้องจัดการ หลังบุคคลที่รักจากไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่ง – ที่สำคัญไม่เป็นรองส่วนอื่นๆ – ในชีวิตของแต่ละคนไปแล้ว แม้ตัวเราจะดับสูญไปตามกาลเวลา แต่ ‘ตัวตนออนไลน์’ จะอยู่ยงคงกระพัน ตราบเท่าที่แพลตฟอร์มนั้นๆ ยังให้บริการต่อไป และไม่มีใครเข้าไปจัดการมัน แล้วเราควรทำอย่างไร?
หากยังจำกันได้ ช่วงกลางปี 2565 โซเชียลมีเดียของอดีตดาราสาวผู้ล่วงลับ ‘แตงโม–นิดา พัชรวีระพงษ์’ กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งจนกลายเป็นข่าวใหญ่ ด้วยการโพสต์ภาพและข้อความต่างๆ ในชื่อของเธอ ราวกับว่าแตงโมไม่เคยจากไปไหน
กรณีแบบนี้ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการจัดการบัญชีออนไลน์ต่างๆ อย่างถี่ถ้วน
เราจะจัดการ ‘ตัวตนออนไลน์’ อย่างไร เมื่อเราจากไป? The MATTER ชวนไปสำรวจวิธีการต่างๆ ที่พอจะทำได้ในแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงช่องทางตามกฎหมายที่มีอยู่ในไทย
ทำอะไรกับบัญชีของผู้ที่จากไปได้บ้าง?
เริ่มต้นกันก่อนที่เฟซบุ๊ก ข้อมูลที่หน้า ‘ศูนย์ช่วยเหลือ’ ของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่แห่งนี้ระบุว่า เราสามารถเลือกที่จะตั้ง ‘ผู้สืบทอดบัญชี’ (legacy contact) ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้มาดูแลบัญชีของเราบางส่วน หลังจากที่เราจากไปได้ โดยที่ผู้สืบทอดจะมีตัวเลือกจัดการกับบัญชีของเราได้ 2 วิธีหลักๆ คือ (1) ตั้งเป็นบัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ (memorialized account) หรือ (2) ลบบัญชีของเรา
สำหรับการตั้งเป็นบัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ เฟซบุ๊กระบุว่า เป็นตัวเลือกที่จะเปิดพื้นที่ให้เพื่อนหรือครอบครัวมาแบ่งปันความทรงจำของเราหลังเสียชีวิตด้วย โดยจะปรากฏคำว่า ‘ระลึกถึง’ (remembering) ที่หน้าโปรไฟล์ ขณะที่เนื้อหาจะคงอยู่ตามเดิม แต่จะไม่ปรากฏในพื้นที่เนื้อหาสาธารณะ และเฟซบุ๊กย้ำว่า จะไม่มีใครเข้าสู่ระบบบัญชีของเราได้ แม้กระทั่งผู้สืบทอดบัญชี
อินสตาแกรมซึ่งมีเจ้าของเดียวกับเฟซบุ๊ก ก็ย่อมมีตัวเลือกที่คล้ายๆ กัน แต่ต่างกันที่เราจะไม่สามารถตั้งค่าล่วงหน้าได้ ญาติๆ ต้องแจ้งไปที่อินสตาแกรม พร้อมแสดงหลักฐานการเสียชีวิตเพื่อขอดำเนินการด้วยตัวเอง (สามารถแจ้งได้ที่นี่)
หลังจากที่แจ้งอย่างถูกต้องแล้ว อินสตาแกรมก็จะปรับบัญชีของเราให้กลายเป็นบัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ (memorialized account) คล้ายคลึงกับเฟซบุ๊ก ขณะที่ครอบครัวใกล้ชิดของเราอาจจะขอให้ลบบัญชีได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะต้องแนบหลักฐานการเป็นครอบครัวใกล้ชิดให้กับอินสตาแกรม
สำหรับบัญชีกูเกิล จะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เครื่องมือจัดการบัญชีที่ไม่ใช้งาน’ (Inactive Account Manager) ซึ่งเราสามารถเข้าไปวางแผนได้ว่า หลังจากกูเกิลตรวจจับว่าบัญชีของเราไม่มีความเคลื่อนไหวแล้ว (ที่เราเลือกระยะเวลาได้ตั้งแต่ 3-18 เดือน) จะให้มีการจัดการกับข้อมูลของเราอย่างไร รวมไปถึงว่าจะเลือกให้ลบหรือไม่ลบบัญชีของเราได้ด้วย
แต่ใครที่ไม่ได้ตั้งค่าในส่วนนี้ไว้แล้วจากไป ครอบครัวใกล้ชิดสามารถยื่นคำขอไปที่กูเกิล เพื่อปิดบัญชีหรือขอเนื้อหาบางส่วนจากบัญชีได้ ซึ่งในกรณีของกูเกิล แน่นอนว่าครอบคลุมไปถึงบริการอื่นๆ ด้วย เช่น YouTube, Gmail หรือ Google Drive เนื่องจากใช้งานบัญชีเดียวกัน
ทวิตเตอร์ไม่ได้มีตัวเลือกให้ตั้งค่าล่วงหน้า หรือตั้งบัญชีไว้เป็นอนุสรณ์ได้ ทางเดียวที่ทำได้ ญาติ ผู้ปกครอง หรือผู้แทนตามกฎหมาย สามารถส่งคำขอมาที่ทวิตเตอร์เพื่อปิดบัญชีได้
- LINE
ทางด้านไลน์ ก็คล้ายๆ กับทวิตเตอร์ มีตัวเลือกเดียว คือ สามารถติดต่อไปที่ไลน์เพื่อขอปิดบัญชีได้ โดยที่บัญชีก็จะคงอยู่ตามเดิม ถ้าไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ
- TikTok
สำหรับติ๊กต็อก ยังไม่มีนโยบายหรือตัวเลือกให้จัดการบัญชีหลังเสียชีวิตได้แต่อย่างใด
กฎหมายไทยบอกไว้อย่างไร?
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะสามารถนำมาบังคับใช้กับการจัดการบัญชีต่างๆ ในโลกออนไลน์ได้โดยตรง แต่บทความ ‘จะจัดการกับทรัพย์มรดกทางดิจิทัลอย่างไร?’ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ไทยพับลิก้า (ThaiPublica) เมื่อปี 2561 ก็ได้ให้คำแนะนำถึงการจัดการบัญชีดิจิทัลที่ถูกต้องตามกฎหมายไว้ด้วยเหมือนกัน
บทความดังกล่าว ซึ่งเขียนโดย ทพพล น้อยปัญญา ระบุว่า เจ้าของบัญชีสามารถทำพินัยกรรม (will) รวมถึงเอกสารที่เรียกว่า letter of wishes ซึ่งไม่มีผลตามกฎหมาย แต่ช่วยแสดงเจตนาและตีความพินัยกรรมประกอบได้ ทั้งนี้ ในพินัยกรรม ก็ควรระบุถึงบัญชีดิจิทัลต่างๆ และให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทมีอำนาจในการตัดสินใจบัญชีเหล่านี้
แต่ถ้าไม่ใช่บัญชีโซเชียลมีเดีย หากเป็น ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เช่น เหรียญคริปโตฯ หรือโทเคนดิจิทัล ไทยก็มีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ให้การรับรองสถานะของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ในฐานะทรัพย์สิน ส่งผลให้ทายาทจัดการได้ตามกฎหมายโดยตรง
บทความโดย ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ นักวิจัยกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA) ระบุว่า หากอยู่ในแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ (centralized) ทายาทสามารถนำหลักฐานการเสียชีวิตติดต่อกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม เพื่อขอส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลต่อไปได้ แต่ในกรณีที่เป็นสินทรัพย์แบบไม่รวมศูนย์ (decentralized) ก็ต้องมีการแจ้งช่องทางเข้าถึงไว้ล่วงหน้า มิฉะนั้น ก็จะไม่สามารถจัดการอะไรได้