ฉันมาทวงของฉันคืน..
ไปที่ชอบที่ชอบอยู่ดีๆ ดันตื่นฟื้นจากความตายซะงั้น พอฟื้นขึ้นมาอะไรที่เคยมีก็หายไปหมด ทำยังไงดีนะ? ให้กลับไปใช้ชีวิตปกติก็คงลำบากเพราะสถานะเราถูกผูกกับสิทธิทางกฎหมายที่รัฐมอบให้ ดังนั้น ปฏิบัติการทวงคืนสิ่งต่างๆ จึงเริ่มต้นขึ้น
นี่อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด วันหนึ่งคุณอาจจะฟื้นกลางงานศพเหมือนที่มักจะเป็นข่าว หรือวันนึงคุณอาจจะถูกแจ้งตายทั้งที่ยังไม่เสียชีวิตก็ได้เช่นกัน
ความตายคือสิ่งไม่แน่นอน แต่สิ่งที่มั่นใจได้ก็คือ เมื่อตายไป อะไรที่เคยเป็นของคุณ อาจไม่ใช่ของคุณอีกต่อไป
แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเรารวมลิสต์สิ่งพื้นฐานที่ต้องทวงคืนหากตายแล้วฟื้นไว้ที่นี่แล้ว! เผื่อว่าใครในอนาคตตายแล้วดันฟื้นขึ้นมา จะได้มีแพลนคร่าวๆ ไว้ว่าจะต้องทวงคืนอะไรบ้าง
[ คอนเทนต์นี้ทำขึ้นเพื่อสำรวจย้อนกลับว่า สิทธิต่างๆ ที่กฎหมายรับรองไว้ขณะที่เรามีชีวิต จะมีอะไรที่สูญหายไปบ้าง หากเราตาย ]
ยกเลิกการถูกแจ้งตาย
สิ่งที่สำคัญลำดับแรกๆ ที่ต้องทวงคืน คือสถานะว่ามีชีวิตตามกฎหมาย หากฟื้นขึ้นมาแนะนำให้ไปที่ศูนย์ราชการท้องถิ่นเพื่อ ‘ยกเลิกสิทธิการถูกแจ้งตาย’ ออกจากระบบราชการเสียก่อน เหตุที่ต้องทำสิ่งนี้เป็นลำดับแรกๆ เพราะการใช้ชีวิตแบบไม่มีสถานะว่ามีชีวิตและเป็นประชาชนตามกฎหมายจะยากมาก เพราะสถานะไร้ตัวตนทำให้เสียสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายไปแทบทั้งหมด
การยกเลิกสิทธิการถูกแจ้งตายอาจฟังดูแปลกหู แต่สถานการณ์นี้เคยเกิดขึ้นจริงๆ แล้วในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ไม่นานเพิ่งมีชายวัย 65 ปีทำเรื่องยกเลิกสิทธิการถูกแจ้งตายออกจากสารระบบที่ศูนย์ราชการท้องถิ่นใน จ.นครสวรรค์ หลังถูกแจ้งตายทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่จนต้องเสียสิทธิประโยชน์ในหลายด้านไป
ทำบัตรประชาชน
บัตรสีฟ้าๆ ที่เราพกติดตัวแทบจะตลอดเวลา เป็นอีกหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ต้องทวงคืน ‘บัตรประจำตัวประชาชน’ คือเอกสารราชการที่สำคัญ และเป็นบัตรที่ใช้ยืนยันสถานภาพของบุคคลตามกฎหมายได้
บัตรใบเล็กๆ นี้มีความสำคัญกว่าที่เราคิด หากนึกไม่ออกว่าบัตรประชาชนใช้ทำอะไรได้บ้าง เรารวบรวมตัวอย่างไว้ ดังนี้
- ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือ ลงสมัครรับเลือกตั้ง
- ใช้ยืนยันสิทธิการรักษาพยาบาล
- ใช้สมัครงาน
- ใช้ทำนิติกรรมสัญญา
- ใช้ขึ้นเงินหวย
- ใช้ขึ้นเครื่องบิน
- ใช้สิทธิคนละครึ่ง
- ฯลฯ
นอกจากนี้ บัตรประจำตัวประชาชนยังใช้เป็นหลักฐานการตรวจสอบบุคคลเพื่อใช้ประกอบการออกหนังสือสำคัญต่างๆ ด้วย เช่น บัตรผู้ป่วยโรงพยาบาล ใบขับขี่ และหนังสือเดินทาง ดังนั้น ถึงมีชีวิตแต่ไม่มีบัตรประชาชน ก็อาจลำบากและมีสถานภาพเทียบเท่าคนที่ไม่มีตัวตน
เหตุผลสุดท้ายที่ต้องทวงคืน เพราะคนอื่นอาจจะมาสวมสิทธิบัตรประจำตัวประชาชนของเราก็ได้นะ มีข่าวอยู่บ่อยๆ ว่ามีชาวต่างชาติพยายามสวมสิทธิบัตรประชาชนเพื่อเอาสวัสดิการจากรัฐไทย
ขอคืนทรัพย์สิน
ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าจะสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ทั้งเงินออม บ้าน รถ โมเดลฟิกเกอร์ อัลบั้มแบล็กพิงค์ นาฬิกาของเพื่อน ฯลฯ
แม้เส้นทางชีวิตจะจบลง แต่เส้นทางทรัพย์สินของผู้ตายไม่ได้จบตาม หากเสียชีวิตไปแบบไม่ได้เขียนพินัยกรรมทิ้งไว้ ทรัพย์สินของผู้ตายก็จะตกไปอยู่ในมือของญาติตามลำดับ หรือที่เรียกกันว่า ‘ทายาทโดยธรรม’
กลับกัน หากเขียนพินัยกรรมทิ้งไว้ ทรัพย์สินผู้ตายก็จะตกไปอยู่ในมือของคนที่เขาต้องการ หรือที่เรียกกันว่า ‘ผู้รับพินัยกรรม’
ประเด็นคือ ถ้าตายแล้วฟื้นขึ้นมา โปรดอย่าลืมทวงคืนทรัพย์สินและมรดกต่างๆ ที่เคยครอบครองด้วยละ เพราะคนเราก็ต้องกินต้องใช้ ..ใช่มั้ย?
ไปเปิดบัญชีธนาคาร
หลังทวงคืนทรัพย์สินเสร็จ บางส่วนจะเก็บไว้กับตัวก็อาจไม่ใช่ที่ สิ่งต่อมาที่คนตายแล้วฟื้นควรทำ คือไปเปิดบัญชีใหม่ที่ธนาคาร จะได้ฝากทรัพย์สินกลับเข้าไปใหม่ หรือมีช่องทางเบิกเงินมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง
ที่ต้องเปิดบัญชีใหม่ เพราะขณะที่เราตาย บัญชีเดิมอาจถูกปิด, ถูกถอนเงินออกจนหมด, หรือถูกยกบัญชีเงินฝากเป็นของคนอื่น โดย ‘ผู้จัดการมรดก’ ไปแล้วก็ได้ (ในพินัยกรรมจะระบุได้ว่าใครคือผู้จัดการมรดก หรือถ้าไม่ได้เขียน ทายาทจะต้องทำเรื่องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้)
ฟื้นคืนความสัมพันธ์
ไก่มาได้มั้บ เอ้ย! กลับมาได้มั้ย เอ้ย! ถูกแล้ว!!
ยกเลิกการแจ้งตายก็แล้ว ทวงบัตรประชาชน-ทรัพย์สินก็แล้ว เปิดบัญชีธนาคารใหม่ก็แล้ว เหลือแค่ ‘ความสัมพันธ์’ เท่านั้นแหละที่ยังไม่ทวง ได้โอกาสกลับมามีชีวิตทั้งที อย่าพลาดที่จะทวงคืนเพื่อน พี่น้อง ครอบครัว หรือแฟนคืนมานะ
เพราะความตายกับชีวิตแทบจะแยกจากกันไม่ได้ และมันไม่ใช่แค่เรื่องทางกฎหมายแต่ยังผูกโยงกับมิติอื่นๆ ในชีวิต เราหวังว่าคอนเทนต์นี้อาจจะช่วยเปิดบทสนทนาเรื่องความตาย โดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึงวาทะท้าย