ถ้าตายแล้วจะให้ ‘อะไร’ กับ ‘ใคร’ บ้าง?
หลายคนคงเคยคิดเล่นๆ ว่าหากจากไป อยากจะให้สิ่งไหนส่งต่อไปอยู่ในมือใคร ไม่ว่าจะรถ บ้าน เงินฝากธนาคาร รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีอยู่ แต่คิดเฉยๆ มันอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ ถ้าคุณไม่ได้เขียน ‘พินัยกรรม’ ทิ้งไว้
คงดีกว่าหากเรา (ในฐานะเจ้าของทรัพย์สิน) ได้เขียนพินัยกรรม ซึ่งเป็นหนังสือแสดงเจตนาเผื่อตายที่สามารถระบุในเนื้อหาได้ว่าอยากแบ่งทรัพย์สินอะไรให้ใครบ้าง โดยเอกสารนี้จะมีผลทางกฎหมายและช่วยสื่อสารความต้องการสุดท้ายต่อทรัพย์สินที่เคยเป็นของเรา ในวันที่เราจากไป
The MATTER ขอชวนทุกคนเรียนรู้เรื่องพินัยกรรมไปด้วยกัน ตั้งแต่ประเภทของพินัยกรรม กระบวนการและข้อจำกัดในการทำ ทรัพย์สินอะไรที่ส่งต่อได้บ้าง ไปจนถึงตอบข้อสงสัยยิบย่อยอย่าง ‘เขียนพินัยกรรมให้เพื่อนสนิทได้หรือไม่’ ‘ยกมรดกให้แมวได้มั้ย’ หรือ ‘ถ้าไม่เขียนพินัยกรรม เงินเราจะอยู่ที่ไหน’
ถ้าไม่ทำพินัยกรรม
ตอนเราตาย ทรัพย์สินของเราไม่ได้ตายตามไปด้วย มนุษย์ได้ออกแบบช่องทางไปต่อสำหรับทรัพย์สินเอาไว้ ไม่ว่าเราจะเขียน-ไม่เขียนพินัยกรรมก็ตาม เช่น ถ้าคุณไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินก็อาจจะตกอยู่ในมือของญาติตามลำดับ ไม่ก็ตกเป็นของรัฐ ในกรณีที่คุณไม่มีญาติหลงเหลือเลย
กฎหมายกำหนดว่าเมื่อบุคคลตาย มรดกจะต้องตกทอดต่อทายาท ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แบ่งประเภทของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกไว้ 2 ประเภท ได้แก่ 1) ‘ทายาทโดยธรรม’ หรือก็คือทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย และ 2) ‘ผู้รับพินัยกรรม’ หรือก็คือทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม
ทีนี้ หากไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ มรดกทรัพย์สินจะถูกแบ่งให้ทายาทโดยธรรมตามลำดับกฎหมายทันที (แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ประสงค์รับมรดกก็ตาม) ทายาทโดยธรรมถูกแบ่งออกเป็น 6 ลำดับ ได้แก่
1. ผู้สืบสันดาน : ว่าง่ายๆ ก็คือ ลูกเจ้าของมรดกจะถือเป็นทายาทลำดับแรก ซึ่งผู้สืบสันดานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.1 ลูกเจ้าของมรดกที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ลูกที่เกิดจากแม่คนไหนจะถือเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้หญิงคนนั้นเสมอ ในขณะที่ลูกจะชอบด้วยกฎหมายของพ่อ ต้องเกิดจากการสมรสตามกฎหมายหรือเกิดภายใน 310 วันหลังการสมรสสิ้นสุด เท่านั้น
1.2 ลูกนอกกฎหมายที่พ่อรับรองแล้ว คือ ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่หากพ่อส่งเสียเลี้ยงดูและแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าเป็นลูก ก็จะถือเป็นลูกนอกกฎหมายที่พ่อรับรองทันที โดยมีข้อแม้ว่าต้องเป็นพฤติกรรมที่เปิดเผยและคนรับรู้ว่ามีความสัมพันธ์เยี่ยงพ่อลูกเท่านั้น จึงจะถือว่าพ่อรับรองแล้วในทางกฎหมาย
1.3 ลูกบุญธรรม คือ ลูกที่ไม่ได้สืบสายโลหิต-ไม่ใช่ลูกโดยกำเนิด แต่ได้รับเป็นลูกบุญธรรมตามกฎหมาย
2. บิดามารดา : พ่อแม่จะเป็นทายาทลำดับที่ 2 ที่มีโอกาสได้รับมรดก โดยแม่ผู้ให้กำเนิดจะถือเป็นทายาทโดยธรรมเสมอ ในขณะที่พ่อ จะชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทก็ต่อเมื่อเป็นคู่สมรสกับแม่ตามกฎหมาย เมื่อได้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือเมื่อศาลพิพากษาว่าผู้ตายเป็นบุตรเท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้รับลูกบุญธรรมจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกของลูกบุญธรรมหากเขาตายไป
3. พี่น้องร่วมบิดา (และ) มารดาเดียวกัน
4. พี่น้องร่วมบิดา (หรือ) มารดาเดียวกัน
5. ปู่ ย่า ตา ยาย : กรณีนี้จะหมายถึงพ่อแม่โดยตรงของพ่อแม่ผู้ตายเท่านั้น ไม่รวมพี่น้องร่วมท้องของปู่ ย่า ตา ยาย อีกที
6. ลุง ป้า น้า อา
แม้ทายาทโดยธรรมจะมี 6 ลำดับ แต่ทุกคนไม่ได้มีสิทธิรับมรดกเท่ากันหมด การรับมรดกจะเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง ญาติที่อยู่ในลำดับก่อนหน้าจะมีสิทธิได้รับมรดกก่อนเสมอ เช่น ทายาทลำดับ 3 จะได้มรดกต่อเมื่อไม่มีทายาทลำดับที่ 1 และ 2
การรับมรดกจะทำตามหลัก ‘ญาติสนิทตัดญาติห่าง’ ซึ่งก็คือ ลำดับบนสุดจะมีสิทธิในมรดกก่อนเสมอ เช่น ถ้าลูกและพ่อแม่ของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ ทายาทลำดับชั้นพี่น้อง-ปู่ย่าตายาย-พี่ป้าน้าอา จะมาอ้างสิทธิในมรดกไม่ได้ ทั้งนี้ หากทายาทลำดับที่ 1 และ 2 ยังมีชีวิตอยู่ กฎหมายระบุให้รับมรดกแบ่งกันเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร (ว่าง่ายๆ ก็คือ ทายาทลำดับที่ 1 และ 2 จะไม่ตัดกัน)
เช่น ครอบครัวนางจอย ประกอบด้วย ลูกชาย พ่อแม่ และพี่น้อง ต่อมา นางจอยเสียชีวิตและไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ มีมรดก 3 ล้านบาท ลูกชายและพ่อแม่นางจอยจะกลายเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ 1 และ 2 ทันที โดยลูกชายกับพ่อแม่จะได้รับในสัดส่วนเท่าๆ กัน หรือก็คือ ลูกนางจอย 1 ล้าน พ่อนางจอย 1 ล้าน และแม่นางจอย 1 ล้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ คู่สมรสเองก็มีสิทธิในมรดกเหมือนกัน แม้จะไม่ได้รวมอยู่ในทายาทโดยธรรม 6 ลำดับ แต่คู่สมรสที่จดทะเบียนก็มีสิทธิได้รับมรดกเทียบเท่ากับลูก 1 คนเลย (แต่มรดกที่ได้จะไม่รวมสินสมรส จะเป็นมรดกของผู้ตายโดยตรงเท่านั้น) แต่หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อให้อยู่กินมาเป็นสิบปี ก็ไม่มีสิทธิได้รับมรดก (สำหรับใครที่อาจสงสัย เมียน้อยไม่มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายนะ)
เช่น นายเจ มีคู่สมรส มีเมียน้อย มีลูก 3 คน และพ่อแม่ยังมีชีวิต นายเจตายไปแต่ทิ้งมรดกไว้ 12 ล้าน ผู้ที่จะได้มรดกในฐานะทายาทโดยธรรมจะได้แก่ คู่สมรส ลูก 3 คน และพ่อแม่ ซึ่ง 6 คนนี้จะได้รับมรดกเท่าๆ กัน คือ คนละ 2 ล้านบาท แต่เมียน้อยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็จะไม่ได้รับมรดกเลย
ส่วนในกรณีไม่มีทายาทเลย ไม่มีญาติหลงเหลือเลย และไม่ได้เขียนพินัยกรรมแสดงเจตนาอะไรไว้ ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของแผ่นดินทันที
ที่เล่าไปข้างต้นน่าจะช่วยให้เห็นภาพความโกลาหลที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ได้เขียนพินัยกรรมทิ้งไว้ หรืออาจทำให้คุณรู้สึกขัดใจลึกๆ กับลำดับการมอบพินัยกรรมก็ได้เช่นกัน ซึ่งถ้ารู้สึกอย่างนั้น อาจลองวางแผนถึงการพินัยกรรมเผื่อตายไว้ก็ได้นะ
ถ้าทำพินัยกรรม
พินัยกรรมมันจำเป็นจริงๆ เหรอ? หลายคนอาจกังวลว่า เราก็ไม่ได้มีทรัพย์สินเงินทองอะไรเยอะแยะ
จริงๆ แล้วการทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องร่ำรวยเงินทอง และไม่จำเป็นต้องจินตนาการถึงสินทรัพย์ขนาดใหญ่มูลค่าเยอะเสมอไป บางทีเราอาจเขียนพินัยกรรมเพื่อส่งต่อ เสื้อผ้า หมาแมว หนังสือ หรือของสะสมก็ได้เหมือนกันนะ
อย่างไรก็ดี ก่อนเริ่มเขียนพินัยกรรมเราควรรวบรวมรายการทรัพย์สินที่มีทั้งหมดและเช็คให้แน่ใจก่อนว่าทรัพย์สินนั้นๆ มีภาระติดพันหรือไม่ (เช่น ต้องไม่ใช่สินสมรส เป็นต้น) เมื่อรวบรวมทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว ถึงจะเขียนพินัยกรรมได้ว่าอยากส่งต่ออะไร ให้ใคร เท่าไหร่ และอย่างไร
การทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องทำตอนใกล้ตายเท่านั้นด้วย กฎหมายอนุญาตให้เราทำพินัยกรรมได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยจะต้องไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ-บุคคลวิกลจริต
การเขียนพินัยกรรม จะทำได้ 5 รูปแบบ ได้แก่
- พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับเท่านั้น โดยต้องลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ด้วย ซึ่งพินัยกรรมชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องมีพยานมารับรองการทำพินัยกรรม และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายได้เลย
- พินัยกรรมธรรมดา ผู้ทำพินัยกรรมจะเขียนด้วยมือ พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ หรือให้ผู้อื่นเขียนให้ก็ได้ แต่ผู้ทำต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในกองมรดกอย่างน้อย 2 ราย
- พินัยกรรมแบบฝ่ายเมือง ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งความประสงค์ในพินัยกรรมของตนแก่นายอำเภอหรือ ผอ.เขตเป็นผู้จัดทำให้ จากนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมพร้อมพยานอย่างน้อย 2 คนลงลายมือชื่อ ก่อนให้เจ้าพนักงานลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราประจำตำแหน่งไว้ด้วย
- พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ ผู้ทำพินัยกรรมจะเขียน พิมพ์ หรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ได้ แต่ต้องลงลายมือชื่อตนพร้อมด้วยพยานอย่างน้อย 2 คนในพินัยกรรม จากนั้นให้ปิดผนึก ลงลายมือชื่อตรงรอยผนึก พร้อมนำพยานอย่างน้อย 2 คนไปให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอหรือ ผอ.เขตและเจ้าหน้าที่ก็จะบันทึกถ้อยคำพร้อมประทับตราตำแหน่งไว้บนซอง และทั้งผู้ทำพินัยกรรม พยาน และเจ้าหน้าที่จะต้องลงลายมือชื่อไว้หน้าซองที่ปิดผนึก
- พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา กรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมขยับร่างกายไม่ได้ ป่วยหนัก หรืออยู่ในสภาวะสงคราม-โรคระบาด จะสามารถทำได้ด้วยวาจา โดยผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแสดงเจตนาต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน และพยานต้องรับฟังแล้วไปแจ้งข้อความต่อนายอำเภอหรือ ผอ.เขตโดยเร็วที่สุด
พินัยกรรม 2 ประเภทแรกที่อธิบายไป จะสามารถทำเองได้ที่บ้าน และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่ 3 ประเภทหลังจะมีที่ว่าการอำเภอ-สำนักงานเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น หากใครที่ต้องการเริ่มเขียนพินัยกรรมเองที่บ้าน สามารถเขียนพินัยกรรมใน 2 รูปแบบแรกได้เลย
การทำพินัยกรรมต้องทำตามรูปแบบที่กำหนดไว้เท่านั้น การอัดคลิปประกาศว่าจะยกทรัพย์สินให้ใครหากตายจะไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย
ส่งต่ออะไรผ่านพินัยกรรมได้บ้าง
กฎหมายอนุญาตให้เราสามารถส่งต่อทรัพย์สิน ‘อะไรก็ได้’ ลงในพินัยกรรม
ไม่ว่าจะบ้าน คอนโด รถ ที่ดิน เงินฝากธนาคาร เงินสด ทองคำ นาฬิกา เครื่องประดับ หุ้น ไปจนถึงลิขสิทธิ์
ไม่ใช่แค่นั้นนะ เพราะทนายอาสาหลายท่านตอบตรงกันว่า ทรัพย์สินเล็กๆ อย่างเสื้อผ้า ตุ๊กตา หมาแมว ของสะสม ก็สามารถเขียนส่งมอบในพินัยกรรมได้เช่นกัน ดังนั้น ลืมภาพพินัยกรรมที่เขียนมอบที่ดินแปลงใหญ่ให้หญิงแม่ หรือเขียนมอบคอนโดร้อยล้านให้ชายน้อยไปได้เลย
นอกจากนี้ คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ส่งต่อให้ทายาทได้เช่นกัน เพราะคริปโทเคอร์เรนซีมีสถานะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยทายาทสามารถนำหลักฐานการตาย-หลักฐานพินัยกรรมเข้าติดต่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นๆ ให้โอนหรือส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลให้ได้ หากฝากสินทรัพย์ดิจิทัลไว้กับผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ใต้กำกับ-ควบคุมของ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (แต่ถ้าเก็บไว้บนกระเป๋าเงินดิจิทัลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของรัฐ อาจต้องพึ่งระบบรหัสลับ ที่ถ้าเจ้ามรดกไม่ได้แจ้งทายาทไว้ ก็น่าจะหายไปตลอดกาล)
ทรัพย์สินที่จะส่งต่อได้ ต้องเป็นทรัพย์สินของผู้ทำพินัยกรรมที่มีอยู่ก่อนหรือขณะตายเท่านั้น พวกเงินประเภท เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จตกทอด เงินมีบำนาญตกทอด เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกทอด จะไม่สามารถระบุเจตนาส่งต่อในพินัยกรรมได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีก่อนตาย
ยกสิ่งของให้ใครได้บ้าง
ถ้าเขียนพินัยกรรม เราจะกำหนดให้ ‘ผู้รับพินัยกรรม’ เป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลในครอบครัว จะเขียนยกทรัพย์สินให้เพื่อนสนิทก็ได้ รองนายกฯ ก็ได้ น้องที่ออฟฟิศก็ได้ หรือจะยกให้วัด-มูลนิธิก็ได้เหมือนกัน
ซึ่งผู้รับพินัยกรรมตามหนังสือพินัยกรรมจะได้รับการพิจารณาก่อนทายาทโดยธรรมเสมอ
แต่ก็มีคน (?) บางกลุ่ม ที่เราจะยกสิ่งของให้ผ่านพินัยกรรมไม่ได้ !
- ผู้เขียนพินัยกรรม และคู่สมรสของผู้เขียนพินัยกรรม (กรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้เขียนเอง)
- พยานในพินัยกรรม และคู่สมรสของพยาน
- ผู้ปกครอง (กรณีศาลตัดสินให้มีผู้ปกครอง) และครอบครัวของผู้ปกครอง
- สัตว์เลี้ยง
การไม่อนุญาตให้เราทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินมรดกให้แก่บางคนเป็นไปเพื่อป้องกันการปัญหาที่อาจตามมา เช่น ที่ยกพินัยกรรมให้ ‘พยานในพินัยกรรม’ หรือ ‘ผู้เขียนพินัยกรรม’ ไม่ได้ เพราะพวกเขารับรู้ข้อความในพินัยกรรมและใกล้ชิดกับผู้ทำพินัยกรรมบ้าง จึงอาจเกิดการจูงใจให้ผู้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้พวกเขาก็ได้
และเราไม่สามารถยกทรัพย์สินให้ ‘สัตว์เลี้ยง’ ได้ เพราะผู้รับพินัยกรรมต้องมีสถานะบุคคลตามกฎหมาย เท่ากับว่า เราจะยกแก้วแหวนเงินทองให้หมา-แมว-กระต่าย ฯลฯ ไม่ได้เลย
แต่สำหรับผู้ที่เป็นห่วง กลัวจะตายไปแล้วไม่มีใครดูแลน้องๆ อาจเขียนพินัยกรรมส่งต่อสัตว์เลี้ยงให้ใครบางคนดูแล ไม่ก็ทำพินัยกรรมตั้งมูลนิธิ แล้วให้มูลนิธินั้นดูแลสัตว์เลี้ยงของเราจนสิ้นชีวิตก็ได้
องค์ประกอบที่ควรมีในพินัยกรรม
หากตัดสินใจแล้วว่าจะทำพินัยกรรมแบบใด ประเด็นที่ต้องขบคิดต่อมา คือ อะไรบ้างที่ต้องมีในพินัยกรรม ซึ่งสิ่งสำคัญหลักๆ ที่ต้องมี จะประกอบไปด้วย
- ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ ของผู้ทำพินัยกรรม
- วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม
- สถานที่ทำพินัยกรรม
- ข้อความแสดงเจตนาว่าจะแบ่งทรัพย์สินหรือจัดการอะไรอย่างไรหลังเสียชีวิต
- ข้อความระบุว่าจะให้ทรัพย์สินใด แก่ทายาทคนใด และได้รับคนละเท่าไหร่ (สามารถระบุเป็นสัดส่วนได้)
- ข้อความรับรองว่าขณะทำพินัยกรรม ผู้ทำมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการ
- ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม
มีตัวอย่างให้เราเห็นบ่อยๆ ว่าถ้าไม่เขียนพินัยกรรมไว้อาจเกิดความวุ่นวายในหมู่เครือญาติได้ ที่จริงแล้วการทำพินัยกรรมไม่ใช่เรื่องที่ยากหรือยิ่งใหญ่เสมอไป ทรัพย์สินเพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งต่อผ่านพินัยกรรมได้ แถมยังได้ส่งต่อสิ่งที่ควรให้กับคนที่ใช่ตามความปรารถนาที่แท้จริงของเราผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินอีกด้วย
บางทีเราไม่ได้อยากจะให้ทรัพย์สินชิ้นนี้กับลูกหรือครอบครัวของเรานี่นา บางทีเราอยากจะส่งต่อโทรศัพท์ให้แฟนเก่าช่วยเก็บความลับ หรืออาจจะอยากส่งต่อนาฬิกาหรูให้เพื่อนรักเพื่อนเลิฟสวมใส่ก็ได้
แต่ถ้าใครอยากให้มรดกตนถูกส่งต่อตามลำดับทายาททางกฎหมายก็ไม่ว่ากัน เพราะอย่างน้อยก็คงทราบแล้วว่าปลายทางของทรัพย์สินจะไปตกอยู่ที่ใด แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีพินัยกรรมจะช่วยให้ความปรารถนาใดก็ตามของเจ้าของมรดกถูกทำตามได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น