ตายแล้วไปไหน?
คือคำถามที่เป็นได้ทั้งในเชิงปรัชญา ศาสนา สังคม วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และอาจรวมอีกหลายๆ ศาสตร์ที่ทุกคนพอจะนึกถึงได้
แต่สิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่พ้น ก็คือคำตอบของคำถามดังกล่าวในเชิงปฏิบัติ เมื่อ ‘คน’ แปรสภาพเป็น ‘ศพ’ คำถามคือแล้วอย่างไรต่อ? เมื่อมีคนตายเราต้องบอกใครบ้าง? แล้วเราต้องจัดการอะไรกับศพบ้าง ถ้านับถือศาสนาพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม ต้องประกอบพิธีอย่างไร?
การตายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาในชีวิตมนุษย์ และโลกก็ทำราวกับว่าคนที่ยังอยู่ต้องรู้ดีอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไรกับผู้ที่จากไป แต่แน่นอนว่า นอกจากภาระทางจิตใจที่ต้องจัดการแล้ว การจัดการกับความตายก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้หรือทำได้ทันทีโดยอัตโนมัติ
The MATTER ทำคู่มือการตายนี้ขึ้นมาอย่างง่ายๆ หวังจะให้พอเป็นแนวทางได้ว่า เมื่อมีคนตายแล้ว คนที่ยังอยู่อย่างเรา ต้องทำอะไรบ้าง
แบบไหนถึงเรียกว่าตาย
“สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสุดสิ้นลงเมื่อตาย” คือคำนิยามของสภาพบุคคล ตามที่ปรากฏในมาตรา 15 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แต่เมื่อไหร่ถึงเรียกว่า ‘ตาย’
ถ้าถามหมอ ก็จะพบว่า ในทางการแพทย์ขีดเส้นแบ่งการตายไว้ 2 แบบด้วยกัน ดังที่ปรากฏใน ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 ซึ่งกำหนดนิยาม ‘การตายของบุคคล’ เมื่อเข้าข่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ
“บุคคลอยู่ในสภาวะที่ระบบการไหลเวียนเลือด และระบบการหายใจหยุดทํางาน โดยไม่สามารถกลับคืนได้อีก” หรือ “อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทําลายจนสิ้นสุดการทํางานโดยสิ้นเชิงตลอดไป”
เรื่องชีพจรหยุดเต้นและหยุดหายใจ ซึ่งก็เป็นสภาวะของการตายที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี และได้รับการยึดถือกันเป็นมาตรฐาน
ส่วนสภาวะสมองตาย (brain death) นั้น เป็นคำจำกัดความของการตายที่เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ เมื่อเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่เอื้อให้เลือดยังไหลผ่านเส้นเลือด และร่างกายยังหายใจรับลมเข้าปอดได้
ประกาศแพทยสภาที่ 7/2554 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตาย กำหนดให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสมองตายเท่านั้น ต้องมีองค์คณะแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน โดยต้องไม่มีแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหรือแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยที่ต้องการอวัยวะไปปลูกถ่าย เนื่องจากการวินิจฉัยสมองตาย เป็นช่องทางที่เข้าเงื่อนไข เอื้อให้ผู้ที่เสียชีวิตสามารถบริจาคอวัยวะได้
ต้องแจ้งใคร
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง อธิบายถึงหลักเกณฑ์การแจ้งตาย ว่ามี 2 กรณี (1) ตายในบ้าน กับ (2) ตายนอกบ้าน
แต่ในความเป็นจริง ยังมีอีกหนึ่งกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยมากๆ เหมือนกัน นั่นคือ กรณี (3) ตายที่สถานพยาบาล ซึ่งจะมีแพทย์เป็นผู้ออกเอกสาร ทำให้ขั้นตอนแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขกรณีที่ (4) ตายแบบผิดธรรมชาติ ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการทำชันสูตรศพเพิ่มเติมด้วย
ดังนั้น ถ้าถามว่าตายแล้วต้องแจ้งตายอย่างไร เราน่าจะพอแบ่งได้เป็น 4 กรณี ดังนี้
(1) ตายในบ้าน
‘เจ้าบ้าน’ หรือ ‘ผู้พบศพ’ ต้องเป็นผู้แจ้งตายต่อนายทะเบียนในท้องที่ภายใน 24 ชั่วโมงตั้งแต่ตายหรือพบศพ
โดยสิ่งที่จะได้คือ ‘ใบรับแจ้งการตาย ท.ร.4 (ตอนหน้า)’ ซึ่งจะระบุข้อมูลตามที่ผู้แจ้งระบุไว้ โดยมักไม่ได้ระบุสาเหตุการตาย
นำเอกสารดังกล่าว พร้อมกับสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่คนตายมีชื่อ และบัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้ง ไปขอ ‘มรณบัตร’ จากนายทะเบียน
(2) ตายนอกบ้าน เช่น ในรถ หรือตามท้องถนน
‘คนที่ไปกับผู้ตาย’ หรือ ‘ผู้พบศพ’ ต้องเป็นผู้แจ้งตายต่อนายทะเบียนหรือตำรวจในท้องที่ที่มีการตาย ภายใน 24 ชั่วโมงตั้งแต่ตายหรือพบศพ หรือถ้าไม่สะดวกอาจขยายเวลาได้ไม่เกิน 7 วัน
สิ่งที่จะได้คือ ‘ใบรับแจ้งการตาย ท.ร.4 (ตอนหน้า)’ เช่นกัน นำเอกสารดังกล่าว พร้อมกับสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่คนตายมีชื่อ และบัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้ง ไปขอ ‘มรณบัตร’ จากนายทะเบียน
(3) ตายในสถานพยาบาล
แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยจะเป็นผู้ออกเอกสารให้ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการตาย เรียกว่า ‘ใบรับแจ้งการตาย ท.ร.4/1’
นำเอกสารดังกล่าว พร้อมกับสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่คนตายมีชื่อ และบัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้ง ไปขอ ‘มรณบัตร’ จากนายทะเบียน
(4) ตายแบบผิดธรรมชาติ ไม่ว่าจะในหรือนอกบ้าน
การตายโดยผิดธรรมชาติ (unnatural death) มีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ประกอบไปด้วย 5 รูปแบบ คือ 1. ฆ่าตัวตาย 2. ถูกผู้อื่นทำให้ตาย 3. ถูกสัตว์ทำร้าย 4. ตายโดยอุบัติเหตุ และ 5. ตายโดยยังมิปรากฎเหตุ
ถ้าตายโดยมีรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งใน 5 ข้อนี้ กฎหมายมาตราดังกล่าวก็กำหนดให้ต้องมีการ ‘ชันสูตรพลิกศพ’ ด้วย
สำหรับขั้นตอนในกรณีนี้ สามีภริยา, ญาติ, มิตรสหาย, ผู้ปกครอง หรือผู้พบศพ ต้องเก็บศพไว้ ณ ที่พบศพ เท่าที่จะทำได้ และไปแจ้งความต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด เพื่อเข้าสู่กระบวนการชันสูตรพลิกศพ
เมื่อแจ้งเจ้าหน้าที่แล้วจะได้ ‘ใบรับรองแจ้งการตาย ท.ร.4 (ตอนหน้า)’ มาก่อน จากนั้น ถ้าแพทย์ชันสูตรพลิกศพเรียบร้อยแล้ว ให้ขอสำเนาใบรายงานชันสูตรพลิกศพจากแพทย์
นำเอกสารทั้งหมด พร้อมกับสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่คนตายมีชื่อ และบัตรประจำตัวประชาชนผู้แจ้ง ไปขอ ‘มรณบัตร’ จากนายทะเบียน
ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างไร
สำรวจขั้นตอน 3 ศาสนา
ศาสนาพุทธ
1.ติดต่อวัด–เคลื่อนย้ายศพ
หลังจากที่ได้มรณบัตรมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือติดต่อวัดเพื่อนำร่างไปบำเพ็ญกุศล โดยอาจใช้วิธีขนร่างด้วยการติดต่อให้วัดหรือหน่วยงานอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องช่วยอำนวยความสะดวก
ส่วนในกรณีที่ตายในโรงพยาบาล ญาติใกล้ชิดจะต้องนำมรณบัตรและเอกสารอื่นๆ มาขอรับศพ โดยอาจขอให้โรงพยาบาลช่วยดูแลเรื่องการขนร่างได้ด้วยเช่นกัน
2.พิธีรดน้ำศพ
เมื่อมาถึงวัดแล้ว ก่อนที่จะนำร่างลงโลง สิ่งที่ต้องทำก่อนก็คือ ‘พิธีรดน้ำศพ’ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในพิธีศพแบบไทย มีไว้เพื่อให้ญาติมิตรมาแสดงความอาลัย ในขั้นตอนนี้ ร่างจะถูกจัดให้นอนหงายภายใต้ผ้าคลุม เปิดแค่เพียงใบหน้าและมือขวาสำหรับรดน้ำ
แต่ก่อนที่จะรดน้ำศพ ถ้าอิงจากคู่มือโดยกรมการศาสนา สิ่งหนึ่งที่อาจนิยมทำกันก่อนก็คือ การ ‘อาบน้ำศพ’ ซึ่งเป็นการอาบน้ำจริงๆ ให้กับศพ ก่อนที่จะแต่งตัวตามฐานะ ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว ไม่นิยมเชิญบุคคลภายนอก
3.สวดพระอภิธรรมศพ
เมื่อนำศพลงโลง ก็มาถึงพิธี ‘สวดพระอภิธรรมศพ’ หรือที่เรียกกันว่า ‘สวดศพ’ กรมการศาสนาระบุว่า สามารถจัดสวดได้ทั้ง 3 คืน 5 คืน 7 คืน ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ
4.ฌาปนกิจศพ
หลังสวดพระอภิธรรมเสร็จครบตามที่กำหนด ขั้นตอนที่สำคัญก็คือ ‘งานฌาปนกิจศพ’ หรือก็คือเผาศพ
ภายในงาน ก่อนที่จะเคลื่อนศพไปตั้งที่ฌาปนกิจหรือเมรเผาศพ ก็ต้องมีการแห่รอบเมร วนซ้าย 3 รอบ หลังจากนั้น ประธานในพิธีจะอ่านประวัติของผู้ตาย และยืนไว้อาลัย หลังจากนั้น ประธานจะทอดผ้าบังสุกุลที่หีบศพ ขณะที่แขกจะได้รับเชิญให้วางดอกไม้จันทน์ ก่อนที่จะจุดไฟเผาศพ
5.เก็บอัฐิ–ลอยอังคาร
เมื่อเผาเสร็จ ก็นำมาสู่ ‘พิธีเก็บอัฐ’ ซึ่งนิยมจัดกันในช่วงเช้าวันถัดไป ในขั้นตอนนี้จะมีพิธีที่เรียกว่า ‘พิธีแปรธาตุ’ ด้วย คือ เจ้าหน้าที่จะนำอัฐมาจัดเป็นโครงร่างของคน จากนั้น พระสงฆ์จะพิจารณาผ้าบังสุกุล ก่อนที่จะให้เจ้าภาพขึ้นเก็บอัฐใส่โกศตามที่ต้องการ โดยเลือกจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ส่วนที่เหลือจะเก็บใส่ลุ้ง หีบ หรือกล่อง ห่อด้วยผ้าขาว เพื่อนำไปลอยอังคาร ซึ่งจะทำตอนไหนก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก หรือแล้วแต่ความเชื่อ หรือจะไม่ทำก็ได้เหมือนกัน
ศาสนาคริสต์
โรมันคาทอลิก
- เคลื่อนศพไปที่ศาลาสวดศพ ประกอบวจนพิธีกรรม (3-5 วัน)
เมื่อมีผู้เสียชีวิต และผ่านขั้นตอนทางกฎหมายเรียบร้อยแล้ว (เช่น การแจ้งตาย) ก็จะมีการเคลื่อนศพมาที่ศาลาสวดศพ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการประกอบวจนพิธีกรรมของศาสนา จะจัดกี่วันก็แล้วแต่ความสะดวกของเจ้าภาพ
สำหรับขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมในแต่ละวัน จะเริ่มจากการภาวนาอุทิศ ซึ่งมีขั้นตอนตามบทอ่าน ต่อด้วยการทำสัญลักษณ์ ‘มหากางเขน’ จากนั้นจะมีบทสร้อย มีการอ่านร้องเพลง การอ่านพระคัมภีร์ ต่อมา บาทหลวงจะให้ข้อคิด ก่อนที่จะสวดภาวนาร่วมกัน และมีเพลงปิด
ขั้นตอนข้างต้นขึ้นอยู่กับแต่ละโบสถ์ว่าจะจัดให้มีการสวดอย่างไร นอกจากนี้ บางโบสถ์ยังอาจจัดให้แต่ละวันมีหลายแบบแตกต่างกันไป เช่น ขั้นตอนสำหรับวันธรรมดา สำหรับวันเสาร์ และวันอาทิตย์ เป็นต้น
- พิธีปลงศพ
หลังจากที่ประกอบวจนพิธีกรรมที่ศาลาสวดศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเคลื่อนศพอีกครั้งมาที่โบสถ์ในวันถัดไป โดยจะจัดให้มีพิธีมิสซา หรือพิธีบูชาขอบพระคุณ ตามแบบโรมันคาทอลิก ในที่นี้อาจเรียกว่าเป็นพิธีปลงศพก็ได้
ขั้นตอนจะเริ่มจากการเคลื่อนศพเข้ามาในโบสถ์ มีการสวดภาวนา มีเพลงเริ่มพิธี จากนั้นจะมีการอ่านบทอ่าน บทพระวรสาร รวมถึงวจนพิธีกรรม ซึ่งจะเป็นบทภาวนาสำหรับพิธีปลงศพ
- พิธีเสกหลุมหน้าหลุมศพ
ในวันเดียวกันหลังเสร็จสิ้นพิธีปลงศพ ผู้เข้าร่วมจะมารวมกันหน้าหลุมศพเพื่อประกอบพิธีเสกหลุมศพ ก่อนที่จะนำศพลงหลุม และมีการสวดภาวนาสำหรับพิธีฝังศพ ก่อนที่จะปิดหลุมศพ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
โปรเตสแตนต์
- พิธีบรรจุศพ ก่อนเคลื่อนมาที่โบสถ์
ภายหลังเสียชีวิต จะมีการทำพิธีบรรจุศพสั้นๆ ในสถานที่ที่เสียชีวิต เช่น โรงพยาบาล ประกอบด้วยการกล่าวคำอาลัย เอาร่างลงโลงพร้อมกับประพรมน้ำหอม และถวายเพลขอบคุณพระเจ้า หลังจากนั้น ศาสนาจารย์อาจจะถามญาติว่า มีอะไรข้องใจหรืออยากจะฝากอะไรไว้ในโลงหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเสื้อผ้าหรือพระคัมภีร์ก็ได้ จากนั้นจะคลุมร่างด้วยผ้าไม้กางเขน และปิดฝาโลง
- พิธีไว้อาลัยที่โบสถ์ ไม่เกิน 3 วัน
เมื่อเคลื่อนมาที่โบสถ์ ก็นำมาสู่ขั้นตอนการประกอบพิธีไว้อาลัย ส่วนใหญ่จะจัดเวลาประมาณ 19.00-19.30 น. ของแต่ละวัน ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที และทั้งหมดจะไม่เกิน 3 วัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อถวายเกียรติพระเจ้าและขอบคุณพระเจ้า เป็นการนมัสการพระเจ้าร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย
- พิธีฝัง/พิธีเผา
ในวันถัดไปหลังเสร็จสิ้นพิธีไว้อาลัยวันสุดท้าย ก็จะต้องนำศพเคลื่อนมาทำพิธีนมัสการพระเจ้าที่ศาลาประกอบพิธีของสุสาน หลังจากนั้นจะเคลื่อนศพอีกครั้งไปที่หลุม
เมื่ออยู่หน้าหลุม ขั้นตอนคือ จะมีการแจกดินทรายกับดอกไม้ ไว้สำหรับโปรยหรือวางไว้บนฝาโลงศพในหลุม เสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาสนาจารย์จะทำพิธี ณ ตรงนั้น อีกครั้งสั้นๆ มีการอาลัยรำลึก ก่อนที่ผู้เข้าร่วมจะวางดินทรายกับดอกไม้ จากนั้น เจ้าหน้าที่จะปิดฝาโลงและโบกปูนปิด แล้วค่อยมาก่อสร้างสิ่งที่จะนำมาครอบหลุมศพในภายหลัง
ส่วนพิธีเผา ซึ่งโปรเตสแตนต์อนุญาตให้ทำได้ ขั้นตอนก็มีลักษณะเดียวกัน คือ นมัสการพระเจ้า ก่อนที่จะเคลื่อนโลงไปที่เตาเผา ซึ่งจะเรียกกันว่า ‘อุโมงค์เพลิง’ จากนั้น ผู้เข้าร่วมจะวางดอกไม้ (ไม่มีดินทราย) ศาสนาจารย์กล่าวคำอาลัยครั้งสุดท้าย ก่อนปิดอุโมงค์เพลิงและจุดไฟเผา ผู้เข้าร่วมจะเดินกลับมาที่นั่งและขอบคุณพระเจ้าอีกครั้ง เป็นอันจบพิธี
สำหรับการเผาศพ มีสถานที่ที่ทำพิธีได้อยู่ 2 แห่ง คือ คริสตจักรเมธอดิสท์ รังสิต คลองสี่ และคริสตจักรกรุงศรีวังน้อย
ศาสนาอิสลาม
’24 ชั่วโมง’ คือความยาวของชั่วขณะที่มุสลิมจะได้มีโอกาสระลึกถึงผู้ที่จากไป ศาสนากำหนดว่า เมื่อตายแล้ว ให้ฝังให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งคือ เพื่อไม่ให้ญาติพี่น้องโศกเศร้าเสียใจมากเกินไป โดยประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนอย่างเรียบง่าย ดังนี้
1.อาบน้ำศพ
เมื่อคนในครอบครัวจากไป สิ่งแรกที่มุสลิมจะทำคือ การอาบน้ำศพ (มัยยิต) ด้วยการทำความสะอาดร่างกาย ก่อนที่จะอาบน้ำละหมาด และเช็ดตัว
ในขั้นตอนนี้ มีข้อกำหนดด้วยว่า ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายอาบศพผู้ชาย ส่วนผู้หญิงก็ต้องเป็นฝ่ายอาบศพผู้หญิง
2.การกะฝั่น หรือการห่อศพ
ต่อมาไม่นาน ครอบครัวจะนำมัยยิตมาห่อด้วยผ้าขาว ในขั้นตอนที่เรียกว่า ‘การกะฝั่น’ ก่อนที่จะนำมาบรรจุไว้ในโลงศพไม้
3.เคลื่อนศพไปมัสยิด ขอพระ และละหมาดให้ผู้ล่วงลับ
ขั้นตอนต่อมา คือการนำโลงศพไปที่มัสยิด เพื่อให้ครอบครัว ญาติๆ ขอพรและละหมาดอุทิศให้กับผู้ตาย
4.ฝังศพที่สุสาน
สุดท้ายคือ การเคลื่อนศพไปที่สุสาน หรือที่เรียกว่า ‘กุโบร์’ ฝังลงในหลุมที่เตรียมไว้ โดยหันหน้ามัยยิตตะแคงไปยัง ‘ทิศกิบลัต’ หรือทิศที่ชี้ไปทางกะอ์บะฮ์ของนครเมกกะ จากนั้นจะปักสัญลักษณ์เพื่อเป็นเครื่องหมายไว้บนหลุม ขณะที่ผู้นำศาสนาจะอ่าน ‘ดุอาห์’ หรือคำขอพร ก่อนจะเสร็จสิ้นพิธีอย่างเรียบง่าย
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก