แม้ตัวจะตาย แต่ก็เป็นการตายที่ไม่สูญเปล่า – คือแนวคิดสำคัญที่ผลักดันให้หลายคนสนใจที่จะ ‘บริจาคอวัยวะ’ อยู่เรื่อยมา
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในไทยเรามี ‘ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย’ ปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2537 หรือเกือบ 30 ปีมาแล้ว แต่ที่ผ่านมา สถานการณ์การบริจาคอวัยวะในไทยก็ยังถือว่าขาดแคลนมาโดยตลอด ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด (ปลายเดือน มิ.ย. 2565) ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ แม้จะมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว 267 คน แต่ก็ยังมีผู้รออวัยวะอยู่อีก 6,152 คน
สำหรับผู้ที่สนใจ นอกจากการเตรียมตัวในเรื่องอื่นๆ เพื่อรับมือในวันที่ต้องจากไป การแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ก็เป็นอีกอย่างที่ต้องเตรียมตัว เพราะเมื่อวันนั้นมาถึง ร่างกายที่เหลืออยู่ของเราจะได้สร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีความหวังจะได้ใช้ชีวิตอยู่ต่อไป
The MATTER รวบรวมขั้นตอนและข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ มาไว้ให้อ่านกัน
บริจาคอวัยวะไปทำไม?
The MATTER เคยไปพูดคุยกับ นพ.วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ถึงประเด็นการบริจาคอวัยวะโดยเฉพาะ
บริจาคไปทำไม? คำตอบของ นพ.วิศิษฎ์ คือ ‘อวัยวะขาดแคลน’ ซึ่งเขาอธิบายว่า ที่ขาดแคลนเพราะว่า “อวัยวะมันสังเคราะห์ไม่ได้ ต้องมาจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง และถ้าเราจะได้มาแบบไม่กวนใครเลย ก็คือได้จากคนที่เสียชีวิต”
หากดูสถิติล่าสุดจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 สัดส่วนของผู้รออวัยวะและผู้บริจาคอวัยวะก็มีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยมีผู้รออวัยวะอยู่ 6,152 คน ขณะที่มีผู้ที่ได้การปลูกถ่ายอวัยวะจริงๆ 267 คน และแม้จะมีผู้แสดงความจำนงในเดือนนั้นอยู่ที่ 50,010 คน แต่เงื่อนไขที่กำหนด โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องเสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย ก็ยิ่งทำให้จำนวนการได้บริจาคจริงๆ ลดหลั่นลงไป
และจากสถิติ ไต ตับ และหัวใจ ก็ครองแชมป์อวัยวะ 3 อันดับแรกที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด
“มันก็ขาดแคลนทุกอวัยวะ ไต หัวใจ ปอด ตับ และที่เหลือก็ตับอ่อน แต่ที่มากที่สุดก็คือไต ที่มากเพราะคนเป็นโรคไตมาก คนเป็นเบาหวานก็มักเป็นโรคไต บ้านเราเองก็กินเค็มกันมาก คนไข้ที่รอไตจึงมีมาก” นพ.วิศิษฏ์เล่า
การบริจาคอวัยวะ ไม่เกี่ยวกับชาติหน้าเกิดมาแล้วอวัยวะจะไม่ครบ
อุปสรรคใหญ่ที่ขวางกั้นการบริจาคอวัยวะ นพ.วิศิษฎ์บอกว่า คือความเชื่อที่หลายคนยึดถือกันว่า ตายไปชาติหน้าจะทำให้มีอวัยวะไม่ครบ หรือกลัวว่าศพจะไม่สวย
ในเรื่องนี้ ถ้าพูดกันในทางศาสนา ศูนย์รับบริจาคอวัยวะเองก็ได้จัดทำข้อมูลอยู่หลายชุด โดยรับเอาคำสอนจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ซึ่งเทศน์ว่า การบริจาคอวัยวะถือเป็นทานบารมีขั้นสูงสุด สอดคล้องกับ ว.วชิรเมธี ซึ่งเทศน์ด้วยว่า ความกังวลดังกล่าว ถือว่า ‘ไร้สาระ’ เพราะถ้าล่วงลับไปแล้ว เทียบกับถูกเผาหรือฝังอย่างไร้ประโยชน์ การบริจาคอวัยวะก็ย่อมได้ประโยชน์ต่อผู้ที่ยังอยู่แน่นอน
อยากแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะแล้ว ต้องทำอะไรบ้าง?
หลักๆ มีอยู่ 3 ช่องทางด้วยกัน คือ ทางออนไลน์ ทางไปรษณีย์ และไปแสดงความจำนงด้วยตนเองที่สถานที่ให้บริการ
สำหรับการแสดงความจำนงทางออนไลน์ น่าจะเป็นช่องทางที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด แค่กรอกข้อมูลที่เว็บไซต์ https://www.organdonate.in.th และรอรับบัตรประจำตัวผู้บริจาคอวัยวะได้ทันที หลังผ่านการตรวจสอบข้อมูลแล้ว (ถ้าไม่ได้รับแจ้งผลใน 15 วันทำการ ก็สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 1666)
การแสดงความจำนงทางไปรษณีย์ มีขั้นตอนดังนี้
- ดาวน์โหลดใบแสดงความจำนงที่: https://www.organdonate.in.th/assets/files/organ_donation_form.pdf
- กรอกรายละเอียดให้ชัดเจน โดยไม่ต้องใช้หลักฐานใดๆ ไม่ต้องตรวจร่างกายก่อนบริจาค
- ส่งไปรษณีย์ไม่ต้องติดแสตมป์ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺตโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กทม. 10300
- รอรับบัตรประจำตัวผู้บริจาคอวัยวะ
การแสดงความจำนงด้วยตนเอง มีข้อดีคือรับบัตรประจำตัวได้ทันที โดยมีสถานที่ให้บริการหลักๆ อยู่ 2 แห่ง ได้แก่
- ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺตโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กทม. (จันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ)
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ ชั้นล่าง ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กทม. (ทุกวัน 8.30-16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ)