เมื่อหลายปีก่อน ไทบ้าน เดอะซีรีส์ เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ
เล่าเรื่องผู้บ่าวไทบ้านในหมู่บ้านโนนคูณ โดยนักแสดงที่ไม่ได้มีชื่อเสียง และไม่มีใครคุ้นหน้าค่าตามาก่อนเลย ก่อนที่หนังจะถูกบอกต่อปากต่อปากและส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ จนเพิ่มรอบฉายในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร ไม่เพียงเท่านั้นความปรารถนาและความฝันใฝ่ของวัยรุ่นอีสานกลุ่มนี้ ยังได้ผลักให้เกิดหนังจักรวาลไทบ้านอีกหลายต่อหลายเรื่อง
จนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง สัปเหร่อ ที่กระแสตอบรับท่วมท้นจากคนดูทั่วประเทศ ปรากฏการณ์นี้ทั้ง ‘เป็นตางึด’ และ ‘เป็นตาออนซอน’ คือทั้งน่าทึ่งและน่าดีใจไปด้วย จากหนังที่ยืนหยัดขึ้นด้วยแขนขาของคนและทุนในพื้นที่อย่างเงียบๆ ก้าวออกวิ่งด้วยกำลังความฝันขนาดใหญ่ของวัยรุ่นอีสานกลุ่มหนึ่ง สู่การเป็นหนังในกระแสที่โกยรายได้อย่างถล่มทลายหลายร้อยล้านบาทในวันนี้
ถ้าไทบ้าน เดอะซีรีส์ ภาคแรก ตั้งต้นเล่าเรื่องราวบ้านโนนคูณ โดยใช้ผู้บ่าวไทบ้าน ร้านขายของชำ พระ วัด และโรงพยาบาลเป็นพื้นที่กลางในการสื่อสาร ความน่าสนใจของภาคย่อยอย่าง สัปเหร่อ ก็คือการหมุนเปลี่ยนจุดโฟกัสใหม่ โดยหยิบยกอาชีพ ‘สัปเหร่อ’ และ ‘พิธีกรรม’ เกี่ยวกับความตาย มาเป็นพื้นที่กลางในการนำเสนอเรื่องราวให้เห็นผู้คน ชุมชน และมุมมองเกี่ยวกับพิธีกรรม
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของสัปเหร่อ*
‘สัปเหร่อ’ งานเดิน แต่เงินบ่ค่อยดี
สัปเหร่อ เล่าเรื่องราวของ ‘เซียง’ ผู้บ่าวไทบ้านที่ไม่สามารถถอดใจจาก ‘ใบข้าว’ อดีตคนรักที่เสียชีวิตไปได้ จนต้องหาวิธีการถอดจิตเพื่อไปพบเธอ โดยเรื่องราวความรักของทั้งคู่ถูกสื่อสารขนานไปกับเรื่องของ ‘เจิด’ นักศึกษากฎหมายที่เพิ่งเรียนจบ และกลับบ้านมาเพื่ออ่านหนังสือเตรียมสอบเป็นทนาย และมีพ่อคือ ‘สัปเหร่อศักดิ์’ เป็นคนดูแลศพของผู้คนในหมู่บ้าน ซึ่งให้ความช่วยเหลือเรื่องการถอดจิตกับเซียง
หนังนำเสนอสัปเหร่อศักดิ์ในฐานะผู้นำคนสำคัญ ผู้เป็นที่พึ่งพาด้านพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายให้กับคนในชุมชน ทั้งยังเลือกให้ตัวละครนี้ ดำรงสถานะเป็นพ่อของหมอและนักศึกษากฎหมายว่าที่ทนาย ฉายภาพความสัมพันธ์แบบที่คนทั้ง 3 อาชีพอยู่ร่วมกันอย่างธรรมดาสามัญ โดยไม่ทำให้รู้สึกว่าอาชีพสัปเหร่อถูกมองต่ำไปกว่าหมอ (ข้าราชการ) หรือนักศึกษากฎหมาย (ผู้มีการศึกษา)
ขณะเดียวกันก็ไม่เสนอมุมมองที่โรแมนติกซาบซึ้งว่า สัปเหร่อส่งเสียลูกจนได้เป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งนับว่าเป็นการสถาปนา ‘ความไม่สูงส่งไปกว่ากัน’ และ ‘ไม่สำคัญไปกว่ากัน’ ของคนที่มีบทบาทอาชีพแตกต่างกัน ผ่านความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อย่างน่าสนใจ
ทั้งยังพาเรามองลึกเข้าไปในอาชีพสัปเหร่อ ซึ่งสะท้อนความล้มเหลวในเรื่องสวัสดิการคนทำงานในพื้นที่ อย่างที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤต ดังในตอนที่สัปเหร่อศักดิ์ป่วยและเริ่มทำงานไม่ได้ ผู้ใหญ่บ้านได้ประกาศรับสมัครสัปเหร่อผ่านเสียงตามสายกลางของชุมชน เป็นเหมือนการจำลองเอาอาชีพสัปเหร่อเข้ามาอยู่ในระบบการสรรหางาน เพื่อสะท้อนกลับไปให้เห็นว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีระบบต่ออาชีพนี้เลย ขณะเดียวกันก็เป็นการบอกว่า สัปเหร่อก็เป็นงานเหมือนกับอาชีพอื่นๆ นั่นแหละ
ทว่าเมื่อนับว่าเป็นงานแล้ว ค่าตอบแทนและสวัสดิการจึงเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างเข้มข้น โดยเสียดสีผ่านคำประกาศที่ว่า “งานเดิน แต่เงินบ่ดี” หรือการที่เจิดนิยามรูปแบบงานสัปเหร่อว่าเป็นงาน “พาร์ตไทม์แบบฟรีแลนซ์” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหารายได้และความไม่แน่นอนของการทำอาชีพนี้
ทั้งยังเล่นล้อไปต่อ เมื่อเจิดตัดสินใจเป็นสัปเหร่อเอง เพราะหาคนมาทำหน้าที่แทนพ่อไม่ได้ ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าเจิดได้ออกแบบ ‘เครื่องแบบ’ ให้ตัวเองกับเซียงซึ่งมาเป็นผู้ช่วยสัปเหร่อใส่ไปทำงาน เครื่องแบบที่ว่านี้ในทางหนึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ยึดโยงอยู่กับความเป็นทางการ การทำเครื่องแบบที่เขียนระบุตำแหน่งไว้อย่างชัดเจน จึงสะท้อนความปรารถนาและข้อเรียกร้องของหนัง ที่อยากจะเห็นอาชีพนี้ถูกนับเป็นงาน และมีรูปแบบชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันเครื่องแบบทางการ (ที่คนทำงานจะต้องพยายามหาทำกันขึ้นมาเอง) ยังเสนอให้เห็นถึงปัญหาและความบกพร่องในการดูแลแรงงานจากทางการ (รัฐ) อีกต่อหนึ่งด้วย
คนคือกัน ตายคือกัน ต่างกันแค่พิธีกรรม
เมื่อถอยออกมามองภาพพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย โดยเฉพาะ ‘งานศพ’ เราจะสังเกตเห็นว่าการนำเสนอภาพงานศพในช่วงของสัปเหร่อศักดิ์ กับช่วงที่เจิดเข้ามารับหน้าที่สัปเหร่อแทนนั้น มีรายละเอียดแตกต่างกันอยู่พอสมควร งานศพของสัปเหร่อรุ่นพ่ออย่างศักดิ์ เป็นงานศพที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแทบทุกเคส ทั้งลักษณะผู้คนที่มาร่วมงาน การแต่งกายด้วยชุดสีดำ การดำเนินพิธีการที่คุมโทนอย่างสงบราบเรียบ ทำให้เห็นภาพชุมชนที่ดำเนินไปด้วยสมาชิกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีสถานการณ์ที่ต้องปะทะไม่มาก และมีวิถีวัฒนธรรมที่ไม่ได้แตกต่างกันนัก ซึ่งเป็นภาพจำของชุมชนชนบทแบบเดิมที่เนิบนิ่ง
การมาของสัปเหร่อรุ่นลูกอย่างเจิด จึงมาพร้อมกับการต่อรองภาพจำแบบเดิมที่ว่ามาข้างต้น ผ่านงานศพแต่ละเคสอันแตกต่างหลากหลายทางความเชื่อ ทั้งงานศพของคนนับถือศาสนาคริสต์ อิสลาม คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงศพของสัตว์เลี้ยงแสนรู้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นมิติความแตกต่างที่รวมอยู่ในชุมชนเดียวกัน ว่าผู้คนไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือมีตัวตนความคิดเหมือนๆ กัน อย่างในภาพจำฉาบฉวยเกี่ยวกับชุมชนชนบท
การอยู่ร่วมกันในความหลากหลายเช่นนี้ ยังนำให้ตัวละครต้องพยายามเรียนรู้แนวทางของคนที่แตกต่าง มีโจทย์ให้คิดมากกว่าเรื่องลำดับพิธีกรรม แต่เป็นโจทย์ในระดับความต้องการ แนวคิด ความเชื่อ ตัวตนของผู้คน ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำมาออกแบบการทำงาน ออกมาเป็นพิธีกรรมคนละแบบ แม้ทั้งคู่จะทำออกมาอย่างเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็ทำให้เห็นความพยายามในการเรียนรู้ของตัวละครได้เป็นอย่างดี
ความน่าสนใจยังอยู่ที่เครื่องมือหลักที่เจิดและเซียง ใช้หาข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานให้ผ่านพ้นไปได้คือ ‘เทคโนโลยีและโลกออนไลน์’ จนเจิดนิยามตัวเองว่า “กูเป็นสัปเหร่อกูเกิล” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโลกออนไลน์มีบทบาท และเป็นช่องทางขยายขอบเขตการรับรู้และโลกของคนในชุมชน ให้ข้ามพรมแดนไปปะทะความคิดและความเชื่อที่หลากหลายขึ้น
การเรียนรู้และทำงานกับเคสงานศพของพวกเขา ยังทำให้ตัวละครอย่างเซียงที่ติดตามเจิดไปทำงานศพของชาวต่างชาติ ได้ถอดบทเรียนสำคัญออกมาว่า “คนคือกัน ตายคือกัน ต่างกันแค่พิธีกรรม” ทำให้เห็นว่าเราล้วน ‘เป็นคน’ เหมือนกัน เพราะในท้ายที่สุดก็ล้วนตายเช่นกัน ทว่าก็ไม่ได้ปฏิเสธวิถีหรือแนวทางที่แตกต่างกัน มันจึงสะท้อนการยอมรับในการอยู่ร่วมกันของผู้คนจากวัฒนธรรม ตัวตน แนวคิดที่แตกต่าง มาอยู่ร่วมภายในชุมชน โดยยึดหลักที่ว่าคนเหล่านั้นก็ล้วนเป็น “คนคือกัน” ทว่าหากจะติดใจและรู้สึกย้อนแย้งกับบทเรียนนี้จากเซียงอยู่บ้าง ก็อาจจะเป็นฉากงานศพของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะสะท้อนให้เห็นว่ายังหลงเหลืออคติทางเพศอยู่ไม่น้อย
ถ้าเขาเฮ็ดแล้วสบายใจ กะให้เขาเฮ็ดไป
เรื่องสีสันของงานศพ ทั้งงานศพสีชมพูสดใส งานศพในเมรุเผาศพสีคัลเลอร์ฟูล ซึ่งไม่ได้คลุมด้วยสีดำตามครรลองของงานศพโดยทั่วไป ก็เป็นการเสนอให้เห็นการท้าทายต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม ต่อรองภาพที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ในโลกของความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม เพื่อเสนอให้เห็นว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ ออกแบบใหม่ไม่ได้ หรือนิยามใหม่ไม่ได้
การปรับเปลี่ยนพิธีกรรม หรือตั้งคำถาม จึงไม่ได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับหนังเรื่องนี้
ขณะเดียวกันหนังก็ยังพยายามประนีประนอมรักษาพื้นที่ความเชื่อ กับการวิจารณ์ความเชื่อเอาไว้อย่างพอดิบพอดี คือไม่โวยวายใส่คนที่ไม่เชื่อหรือตั้งคำถาม และไม่เหยียดหยามคนที่เชื่อด้วยเช่นกัน โดยมอบพื้นที่ความเข้าใจและความปกติให้กับทั้งการเชื่อและไม่เชื่อ อย่างในตอนที่เจิดกับพ่อขี่มอเตอร์ไซค์ไปจอดดูพิธีกรรม ‘ส่อนขวัญ’ ซึ่งพิธีกรรมจะเกิดขึ้นจากความเชื่อว่า คนที่เกิดอุบัติเหตุจะตกใจจน ‘ขวัญหาย’ ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จึงมาขอขมาเจ้าที่เจ้าทาง ณ จุดเกิดเหตุและนำ ‘สวิง’ มา ‘ส่อน’ หรือช้อนตักหาขวัญที่กระจัดกระจายอยู่บริเวณนั้นขึ้นมา
แม้พ่อจะพยายามอธิบายถึงความเชื่อนี้ให้เจิดฟัง แต่เจิดไม่เข้าใจเพราะสิ่งที่ช้อนตักอยู่นั้นไม่มีตัวตน พ่อเลยยอมรับต่อเจิดว่า “กะบ่ฮู้ดอกว่าถือหรือบ่ถืก ถ้าเขาเฮ็ดแล้วสบายใจ กะให้เขาเฮ็ดไป” คือหากไม่สามารถเห็นด้วยกับขั้นตอนของพิธีกรรม หรือคำอธิบายแบบเดิม ก็ขอสงวนพื้นที่เล็กๆ อย่างการให้ ‘ความสบายใจ’ ของคนที่เชื่อได้ดำรงอยู่ต่อไปได้ นับว่าเป็นการเสนอภาพชุมชนร่วมสมัย ที่ปะทะทำความเข้าใจกันระหว่างความเชื่อเก่ากับความเชื่อใหม่ได้ดี
บ่เป็นหยัง บ่จากมื้อนี้…มื้อหน่ากะจากกันคือเก่า
ประเด็นที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยของหนังเรื่องนี้ คือการสื่อสารพิธีกรรมในฐานะพื้นที่เยียวยาจิตใจ และสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ในฉากงานศพของน้องหมาที่ถูกรังสรรค์อย่างสวยงาม จนเซียงถามเจิดด้วยความรู้สึกขบขันว่า นี่จัดงานสวยงามเกินกว่าเหตุที่ควรจะเป็นไหม เจิดให้คำตอบเซียงว่า
“มันอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนเราจะทำให้คนที่เรารักได้”
นั่นชี้ชวนให้เห็นว่า พิธีกรรมไม่ได้เป็นเพียงพิธีรีตองเท่านั้น หากแต่ทำงานลึกลงไปในระดับจิตใจ เพราะเป็นสิ่งที่พอจะเยียวยาและปลอบประโลมคนที่ยังอยู่ได้ หรือจะกล่าวอีกแบบคือมันเป็นเสมือนกระบวนการในการทำใจ ต่อสถานการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจนั่นเอง
ทั้งยังเสนอให้เห็นว่าพิธีกรรมงานศพ ทำให้คนเรามองเห็นสัจธรรมของชีวิตที่เป็นไปโดยปกติ เช่น ในตอนที่เจิดทำศพให้พ่อ ซึ่งเป็นศพสุดท้ายในบทบาทสัปเหร่อของเจิด ขณะที่เขาทำศพอยู่ หนังก็ได้แทรกเสียงพูดคุยของเขากับพ่อโดยไม่ได้บอกที่มาของเสียงดังกล่าว เหมือนกับว่าเป็นเสียงในความคิดที่สื่อสารระหว่างสัปเหร่อรุ่นพ่อกับรุ่นลูกว่า
“เจ้าคือไปบ่บอกบ่กล่าวกันเลย”
“บ่เป็นหยัง บ่จากมื้อนี้…มื้อหน่ากะจากกันคือเก่า”
นับว่าเป็นการสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นสัปเหร่อตลอดชีวิตของศักดิ์ พร้อมกับเป็นการทบทวนสิ่งที่เจิดได้เรียนรู้จากการเป็นสัปเหร่อด้วยเช่นกัน ในท้ายที่สุดสิ่งที่ได้ทำมานั้นมันบอก ‘ความจริง’ หรือสัจธรรมกับเจิดว่า คนเราต้องจากกันไปในสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันก็ปลอบประโลมเจิดด้วยว่า “บ่เป็นหยัง” (ไม่เป็นไรเลย)
พร้อมกันกับความเชื่อและพิธีกรรมที่ทำหน้าที่เยียวยาจิตใจ อธิบายความรู้สึกและความเป็นไปของผู้คนเท่าที่จะพอทำได้ ทั้งนี้ก็ไม่ปฏิเสธที่จะพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตเอาไว้ในพาร์ตสั้นๆ ช่วงแรกผ่านการตายของใบข้าว ในฉากที่สามีเก่าของเธอมาขอโทษน้องสาวว่า “อ้ายขอโทษเด้อ อ้ายบ่ฮู้ว่าเอื้อยโตเป็นโรคซึมเศร้า” ทำให้เราเห็นอีกปัญหาหนึ่งของชุมชนชนบทถึงการทำความเข้าใจ การรับรู้ รวมถึงการเข้าถึงการรักษาในโรคนี้ ว่ามันยังไปไม่ถึงพื้นที่เหล่านี้มากนัก
ไปทางหน่า
เรียกได้ว่าการหมุนจุดโฟกัสใหม่ของจักรวาลไทบ้าน โดยหยิบยกอาชีพสัปเหร่อและพิธีกรรมมาเป็นพื้นที่กลาง เพื่อเล่าเรื่องราวของหมู่บ้านโนนคูณในหนังเรื่องสัปเหร่อ นั้น ชี้ชวนให้ได้เห็นบรรยากาศของชุมชนอีสานร่วมสมัย การเข้ามาปะทะกันของความเชื่อใหม่กับความเชื่อเก่า การเรียนรู้กันและกันของผู้คนซึ่งอยู่ในวิถีที่แตกต่าง รวมทั้งฉายให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น ปัญหาการว่างงาน ระบบสวัสดิการและค่าตอบแทน ไปจนถึงการพูดในประเด็นลึกซึ้ง อย่างอารมณ์ความรู้สึกและจิตใจที่สัมพันธ์อยู่กับพิธีกรรม หรือการอธิบายพิธีกรรมในแบบใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ทั้งหมดนั้นหวนกลับมาทำให้เราเห็นว่า ชุมชนอีสานเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ปะทะสังสรรค์กับการเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่หยุดหย่อน และพร้อมจะออกแบบตัวเองในเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้เรื่อยๆ มันจึงจะเดินไป ‘ทางหน่า’ (ข้างหน้า) เสมอ เช่นกันกับเสียงตอบรับที่ถล่มทลายของหนังเรื่องนี้ที่ดูเหมือนว่าจะไปทางหน่าได้อีกยาวไกล
อย่างไรก็ตาม หากว่าหนังตระกูลไทบ้าน เดอะซีรีส์ เล่าชุมชนอีสานร่วมสมัย และส่งเสียงไทบ้านจำนวนไม่น้อยขึ้นมาได้แล้ว ก็น่าสนใจว่าหากเสียงของผู้สาวไทบ้าน เสียงอิแม่ รวมถึงเสียงผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะได้ถูกหมุนเอามาเป็นศูนย์กลางของเรื่องเล่าบ้าง อย่างที่ใช้ ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ เป็นศูนย์กลางหลักในเรื่องเล่านี้เสมอมา
เราอาจเห็นอะไรอีกมากมายในชุมชนอีสานร่วมสมัย และเชื่อว่าจักรวาลไทบ้านสิไป ‘ทางหน่า’ ได้ยิ่งกว่าเก่าอีก
อ้างอิงจาก
ธิติ ศรีนวล, สัปเหร่อ [ภาพยนตร์], ไทบ้าน สตูดิโอ (2566)
หนุ่มเมืองจันท์, “จักรวาล ‘ไทบ้าน’”, คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ, มติชนสุดสัปดาห์ (2561)