ผุดไอเดีย ปั้นงาน ประกอบร่างเป็นผลงานอย่างที่คิดไว้ แต่ดันมีสิ่งที่คาดไม่ถึง เมื่อชื่อของเรากลับไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเจ้าของผลงานอย่างที่ควร หรือบางครั้งยังไม่ทันได้ประกอบร่าง แต่ไอเดียที่เราเคยเกริ่นไว้ กลับไปอยู่ที่มือของเพื่อนร่วมงานเรียบร้อยแล้ว
เคลมผลงาน ขโมยไอเดีย เกิดขึ้นรอบตัวคนทำงานเสมอ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ มีตั้งแต่ไอเดียเล็กๆ ที่เคยแชร์ไว้ในที่ประชุม กลับโผล่มาเป็นไอเดียฝาแฝดจากเพื่อนร่วมงานตัวแสบ ที่ดันมีไอเดียเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมาย ไปจนถึงการเคลมเอาผลงานที่เราทำมาทั้งหมด ด้วยมันสมอง ด้วยสองมือ ลงท้ายด้วยชื่อของคนอื่นเสียอย่างนั้น และกรณีนี้มักเกิดจากหัวหน้า เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมทีมที่อาจไม่ได้ลงทุนลงแรงอะไรมากนัก แต่หยิบเอาผลงานและความดีความชอบทั้งหมดไป จนเราเองเกิดอาการน้ำท่วมปาก
ไม่ว่าจะเริ่มจากขโมยไอเดียเล็กๆ น้อยๆ หรือเคลมเอาผลงานเป็นชื่อตัวเองทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ใจความสำคัญ มันคือชื่อเจ้าของผลงาน ที่ไม่ได้ปรากฎในชื่อที่ควรจะเป็น
ตัวเลขที่น่าสนใจจาก OfficeTeam กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหาร สำรวจความเห็นจากชาวออฟฟิศจำนวน 444 คน พบว่า กว่า 29% เคยโดนเคลมผลงานหรือไอเดีย แต่ที่น่าสนใจ (ปนตกใจ) กว่านั้น 51% ของคนที่โดนเคลมผลงานไปเนี่ย พวกเขาไม่ตอบโต้ ไม่ทำอะไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น ทำไมการนิ่งเฉยถึงเป็นทางออกที่คนส่วนใหญ่เลือก?
การรับมือกับเรื่องนี้เป็นการชั่งน้ำหนักสองฝั่งด้วยความถูกต้องและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน พูดไปจะเสียเพื่อนไหมนะ หรือมันจะหักหน้าเจ้านายตัวเองหรือเปล่า เสียงในหัวเหล่านี้อาจเป็นข้อสนับสนุนให้คนที่ถูกเคลมผลงาน เลือกที่จะนิ่งเฉยแทนการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพราะการบาลานซ์สองฝั่งให้สมดุล อาจไม่ใช่ทางออกที่เราอยากให้เป็น แต่การดับเครื่องชน เลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเลย ก็อาจเป็นทางออกที่นำพาความหนักใจมาให้เช่นกัน
ไม่ผิดเลยที่เราจะรู้สึกไม่พอใจ แต่ทางออกของเรื่องนี้ ไม่ได้มีแค่การดับเครื่องชนเพียงทางเดียว เราไม่อาจไม่จำเป็นต้องปล่อยให้อารมณ์ด้านลบมาพังความสัมพันธ์ลงได้ การรับมือกับเรื่องนี้จึงควรคิดอย่างถี่ถ้วน ซึ่งเราก็มีข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก
แจกแจงไอเดียอย่างชัดเจน ต่อที่ประชุมหรือทีม
หากเรามั่นใจว่านี่คือไอเดียที่เราปลุกปั้นมากับมือ เราย่อมแจกแจงรายละเอียด ที่มาที่ไป ได้อย่างหมดจด ลองหาโอกาสที่ทีมอยู่กันครบหน้า หรืออาจจะเป็นในที่ประชุม เกริ่นว่าเราเองก็มีไอเดียนี้ไว้เหมือนกัน บอกที่มาของไอเดียนี้ว่าตอนที่เราคิดขึ้นมาได้เนี่ย ตั้งแต่เมื่อไหร่ มันมาจากไหน ใครมีส่วนร่วมในงานนี้บ้าง ในเชิงบอกเล่า ขอบคุณผู้มีส่วนร่วม เพื่อยืนยันที่มาและช่วงเวลาอย่างชัดเจน มากกว่าการทวงไอเดียของฉันคืน ที่เหลืออาจจะต้องปล่อยให้คนอื่นตัดสินใจว่าความทับซ้อนของช่วงเวลาที่เกิดขึ้นมันหมายถึงอะไร
ปรับอารมณ์ไม่ให้แตะด้านลบ
ไม่ว่าเราอยากจะเข้าไปพูดคุยตรงๆ กับอีกฝ่าย หรืออยากยืนยันไอเดียในที่ประชุม ควรควบคุมอารมณ์ของเราไม่ให้แสดงออกในเชิงลบเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับอีกฝ่ายตรงๆ ควรเริ่มต้นจากการตั้งคำถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้นมากกว่ากล่าวโทษ (แม้จะน่าทำก็เถอะ) เพื่อแก้ปัญหาแบบรักษาความสัมพันธ์และบรรยากาศในที่ทำงานเอาไว้ด้วย
ลงมือทำ ฟังความเห็น เน้นที่มา
ครั้งต่อไป เพื่อความมั่นใจว่าไอเดียนี้จะไม่กลายเป็นจดหมายผิดซอง เมื่อพูดถึงไอเดียของเราออกมาแล้ว ลองถามความเห็นของเพื่อนร่วมงาน เผื่อมีพยานยืนยันให้เรา ว่านี่คือไอเดียที่เคยถามความเห็นไปครั้งนั้นไง จำได้ไหม? เมื่อได้เผยแพร่ออกไปแล้ว อย่าปล่อยให้ไอเดียสุดเจ๋งกลายเป็นไอเดียบนอากาศอยู่อย่างนั้น ลงมือปั้นให้มันเป็นรูปเป็นร่างโดยไว เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีใครปาดหน้าเค้กเราอีก และเพื่อความสดใหม่ของไอเดียอีกด้วย
ผลงานควรอยู่กับเจ้าของที่แท้จริงที่ลงแรงกับมันมา การหยิบฉวยเอาผลงานของใครไป หรือยัดตัวเองเข้าไปเป็นหนึ่งในความดีความชอบของงานชิ้นนั้น เป็นการไม่แยแสความถูกต้อง โดยเอาความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานเป็นตัวประกัน แล้วปล่อยให้หน้าที่ของการชั่งน้ำหนักสองสิ่งนั้นเป็นของผู้ถูกกระทำเสียเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก