ปกติแล้วคุยเรื่องอะไรกับเพื่อนร่วมงานบ้าง? บ่นเรื่องงานอุบอิบตอนพักกลางวัน บ่นเรื่องรถติด คนแน่นสถานีรถไฟฟ้าในตอนเย็น เรื่องสัพเพเหระ ดินฟ้าอากาศ เรื่องง่ายๆ เหล่านี้ สามารถเป็นหัวข้อสนทนากับใครก็ได้ แต่พอเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา เรื่องนี้มีแค่บางคนเท่านั้นที่เราสามารถพูดด้วยได้ เมื่อมีใครที่ไม่ได้สนิทสนมมากพอมาล้ำเส้น หยิบเรื่องส่วนตัวของเราขึ้นมาเป็นบทสนทนา เราจะรับมืออย่างไร เมื่อกำลังมีใครสักคนล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของเรา
ถ้าหากเรารู้สึกสนิทสนมกับคนในที่ทำงาน ไม่ว่าจะได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าสนิทกันมากพอ เราก็จะอนุญาตให้เขาก้าวเข้ามาสู่พื้นที่ส่วนตัวของเราได้ แต่กับคนที่เราไม่ได้สนิทมากนัก และยังคงขีดเส้นให้เขาเป็น ‘เพื่อนร่วมงาน’ อยู่ เราคงไม่สามารถเปิดบทสนทนาเรื่องเดียวกับคนที่เราสนิทได้ เราจึงได้แต่พูดคุยเรื่องงานและดินฟ้าอากาศไปวันๆ
แต่หลายคนคงเคยเจอ บทสนทนาที่กำลังละลาบละล้วงความเป็นส่วนตัว มากพอที่เราจะรู้สึกว่ากำลังโดนล้ำเส้นอยู่ อย่างเช่น “เธอเป็นหรือเปล่า?” “คนที่มาส่ง คนนั้นแฟนหรอ?” “ขอดูรูปพาสปอร์ตหน่อยสิ สวยหรือเปล่า?” หรือบางครั้งไม่ได้มาในรูปแบบของคำพูด แต่เป็นการกระทำ ที่อยู่ๆ ก็มีคนมายืนส่องโต๊ะทำงาน หยิบนั่นหยิบนี่ขึ้นมาดู หรือถือวิสาสะหยิบยืมของใช้ส่วนตัวไปโดยไม่ได้ขอก่อน เป็นต้น
เส้นของความเป็นส่วนตัวนั้น จะบอกว่าอยู่ที่ความสนิทสนมกันก็ไม่ถูกเสียทีเดียว มีเรื่องบางอย่างที่ต่อให้สนิทขนาดไหน เราก็ยังไม่ชอบให้มาวุ่นวายในพื้นที่ตรงนี้อยู่ดี ไม่ต้องพูดถึงคนที่ไม่สนิทเลย จะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของมารยาทก็ได้ แต่พอพูดแบบนั้นแล้วมันออกจะนิยามยากเสียหน่อย เพราะบางคนก็มีความถือในมารยาทแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน เส้นของความเป็นส่วนตัว จึงอยู่ที่เจ้าของพื้นที่จะนิยามมากกว่า ว่าเส้นนั้นอยู่ตรงไหน และใครที่ก้าวข้ามได้บ้าง
เมื่อเรารู้สึกว่ากำลังโดนล้ำเส้น เราอาจเจอกับประโยค “แค่นี้เอง ทำไมต้องโกรธด้วย” “ก็อยากรู้เฉยๆ” ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เคารพความเป็นส่วนตัวของเราเลย หากใครกำลังเจอปัญหาแบบนี้ และอยากหาทางออกให้กับตัวเอง ไม่ต้องกลัวว่ามันจะเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยในสายตาคนอื่น ตราบใดที่มันคือเรื่องส่วนตัวของเรา และเราไม่ได้มีความยินยอมให้ใครมายุ่มย่าม เราสามารถจัดการเรื่องนี้ให้ไม่เป็นผลลบกับใครได้นะ
บอกตรงๆ ได้ แต่ต้องไม่นินทา
ไม่มีวิธีไหนจะดีไปกว่าการบอกกับเจ้าตัวตรงๆ ว่าเส้นความเป็นส่วนตัวของเราอยู่ตรงไหน หากเรายังไม่กล้าพอที่จะบอก หรือยังไม่มีวิธีการพูดดีๆ ที่พอจะนึกออก ก็อย่าเพิ่งเอาเรื่องนี้ไปขยายด้วยการนินทากัน เราไม่มีวันรู้เลยว่าวงสนทนาของเรามันจะกว้างไปได้แค่ไหน ถ้าหากเราเลือกใช้การนินทาเป็นทางออกแล้ว จะกลายเป็นว่าเราไม่ได้อยากแก้ไขสถานการณ์นี้จริงๆ แล้วกลายเป็นเรื่องความไม่พอใจกันส่วนตัวแทน
เลือกที่จะยังไม่พูดเลยยังดีกว่า รอเอาไว้เราเรียบเรียงคำพูดได้ รู้ความต้องการตัวเองชัดเจนแล้วว่า เส้นของเราอยู่ตรงไหน ค่อยบอกเขาก็ยังไม่สาย
เรามีสิทธิ์จะบอกว่าสิ่งไหนได้หรือไม่ได้
เพราะสิ่งที่กำลังคุยหรือทำอยู่นั้น คือพื้นที่ส่วนตัว เรื่องส่วนตัวของเรา คนอื่นจะไปมีสิทธิ์มากกว่าเราคงไม่ได้ หากเรารู้สึกว่าไม่โอเคที่มีใครล้ำเส้นเข้ามา ไม่ชอบตอบคำถามในเรื่องส่วนตัว ไม่ชอบถูกถามละลาบละล้วง ไม่ชอบให้ใครมาใช้ของส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต เราสามารถบอกเจ้าตัวได้อย่างชัดเจนว่าเราไม่โอเคกับสิ่งนี้นะ
ถึงอย่างนั้น เราสามารถแสดงออกโดยไม่ต้องใส่ความเกรี้ยวกราดลงไปได้ เพียงแค่เราต้องเลือกการใช้คำให้เหมาะสมกับคนนั้น เลือกคำพูดที่ใช้ให้ดี และบอกเล่าความต้องการของเราออกไป ไม่ใช่ในเชิงคำสั่ง บังคับ หรือขู่เข็ญ เพียงแค่บอกเล่าว่า เรากำลังไม่โอเคกับสิ่งนี้นะ ถ้าหยุดอยู่แค่ตรงนี้จะดีมากเลย จะดีกว่า
ทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้
อาจไม่ถึงขั้นต้องนัดแนะ หาที่ส่วนตัวคุยเป็นเรื่องเป็นราว หรือตั้งเงื่อนไขร้อยแปด กางแผนผังว่าสิ่งนี้ได้ สิ่งนี้ไม่ได้ เพียงแค่บอกในสิ่งที่เราต้องการแบบง่ายๆ ไม่วางเงื่อนไขอะไรซับซ้อน ว่าเราไม่โอเคกับสิ่งนี้นะ แค่นั้นก็พอ เพราะยิ่งเราทำให้มันง่ายเท่าไหร่ อีกฝ่ายจะเข้าใจเราได้ง่ายขึ้นมากเท่านั้น และในกรณีที่เราถูกนำไปเล่าต่อ เราก็จะไม่ถูกมองว่าเรากำลังตีโพยตีพายให้มันเป็นเรื่องใหญ่จนเกินไปด้วย
ขอบคุณที่เข้าใจ
เมื่อเราได้บอกความต้องการของเราไปแล้ว ว่าเส้นของเราอยู่ตรงไหน เราไม่โอเคเพราะอะไร อย่าลืมขอบคุณอีกฝ่ายที่เข้าใจเรา เพื่อช่วยให้เรื่องราวนี้จบลงด้วยดี เราไม่โอเค เขารับรู้และเข้าใจ เราขอบคุณที่เขาเข้าใจปัญหาของเรา มากกว่าให้มันจบลงแบบห้วนๆ บอกแล้วบอกเลย จะรับรู้หรือไม่ก็ช่าง แบบนั้นมันมีโอกาสสร้างความเข้าใจผิดว่า นี่กำลังมีความไม่ลงรอยกันอยู่หรือเปล่า จนอาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้
ไม่ว่าจะสนิทมากหรือน้อย แต่ละคนต่างมีเส้นความเป็นส่วนตัวเป็นของตัวเอง ถ้าหากอยากรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว ก็ไม่ควรก้าวข้ามเส้นกันและกันจะดีกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก