ในวันที่เราก็ได้ข่าวเศร้าว่าพี่เตี้ย—เจ้าหมาขาสั้นหน้าตาน่ารักที่เป็นเหมือนลูกพี่อยู่ใน ม.เชียงใหม่ได้หายตัวไป ล่าสุดก็มีรายงานว่าพี่เตี้ยได้จากเรากลับสู่ดวงดาวหมาเรียบร้อยแล้ว
ยังไงเราก็เป็นมนุษย์เนอะ เมื่อเราเห็นเพื่อนร่วมโลก สรรพชีวิตใดๆ ต้องจากลาโลกใบนี้ไป เราก็เศร้าใจ ยิ่งเป็นหมา สิ่งมีชีวิตที่เป็นคู่หูมนุษย์มาอย่างยาวนาน มีงานศึกษาบอกว่าสัตว์เลี้ยงนั้นมีสถานะไม่ต่างอะไรกับสมาชิกในครอบครัว พี่เตี้ยเองเป็นตัวอย่างหนึ่งในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์กับเรา เป็นพรรคพวกของนักศึกษาและผู้คนในมหาวิทยาลัย เป็นเหมือนอีกเพื่อนพ้อง เจ้าถิ่นที่คนรักและผูกพัน
แต่พี่เตี้ยเองก็เป็นหนึ่งในหมาจร โดยเฉพาะหมาจรในมหาวิทยาลัยที่ดูเหมือนว่าที่ไหนๆ เราก็จะเจอเหล่าหมาจรแบบนี้ได้เสมอ ที่เกษตรก็มีหมาบาร์ใหม่ที่ตัวอ้วนกลม ตามเซเว่นก็มีหมาที่ไปคอยท่า ฉวยใช้ไอแอร์เวลาที่ประตูอัตโนมัติเปิดปิดลง หมาเหล่านี้อาจจะโชคดีหน่อยที่พวกมันหน้าตาน่ารัก ไม่ดุร้าย อยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนพอใจ มีใจ และมีเวลาดูแลตามกำลังและเวลา แต่หมาจรบางตัวอาจดุร้าย บางตัวไม่ได้น่ารักสวยงามหรือโชคดีเหมือนตัวอื่นที่จะถูกรักได้ พวกมันก็ล้วนหิวโหย ร่อนเร่ และอาจตายลงเป็นซากอยู่ในมหานครแห่งนี้
แต่แน่นอนว่าในที่สุดทั้งตัวพี่เตี้ย กระทั่งการตายของพี่เตี้ยเองก็นำมาสู่คำถามและประเด็นปัญหาว่า หมาจรที่เรารู้สึกว่าน่ารัก เราเมตตาสงสาร เอาขนมไปให้ เมื่อหายไปเราก็ห่วงใย แต่ให้ขนมแล้วก็จบกันไป กลายเป็นคำถามว่า พวกมันควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร พวกมันอ้วนเกินไปรึเปล่า สุขภาพโอเคจริงหรือ มันควรมาต้องมาจองที่หน้าเซเว่นเช่นนั้นหรือเปล่า เมืองที่พวกมันอยู่ร่วมกับเรานี้ เป็นที่ที่เหมาะ หรือถูกออกแบบให้พวกมันใช้ชีวิตอยู่ด้วยได้ไหม
จริงอยู่ว่าปัญหาหมาจรเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ และแน่นอนว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวในการจัดการ เรามักมีเรื่องเล่าของเหล่าผู้ที่อุทิศชีวิตและเงินตราในการดูแลหมาจร แม้แต่พี่เตี้ยเองก็ดูจะอยู่ในการดูแลหมาจรเท่าที่พึงจะทำได้ แต่ด้วยความโชคร้าย การจรของพี่เตี้ยก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันจบลง ในหลายประเทศ รัฐรับหน้าที่และรับประเด็นเรื่องหมาจรจัดเข้าเป็นวาระ และทำการควบคุมดูแล เมื่อปลายปีที่แล้ว (2019) เนเธอแลนด์เป็นประเทศแรกที่ออกมาประกาศว่าตัวเองเป็นประเทศที่ปลอดหมาจรจัด ชาวดัชช์มีระบบการจัดการดูแลจนการทิ้งและเกิดขึ้นของสุนัขจรจัดใหม่เป็น 0 แต่บางประเทศก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาเรื่อยๆ ว่าทางการได้มีการ ‘ทำให้หลับ’ กับหมาและแมวจรจัดเป็นจำนวนมากต่อวัน
หมาจร ปัญหาของเอเชียและโลกใบนี้
หมาเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทแรกที่มนุษย์จับมาเลี้ยงเป็นสัตว์บ้าน มีการทำให้เชื่อง (domesticate) เป็นสุนัขบ้าน และการเลี้ยงสุนัขถือเป็นกิจกรรมที่น่าทึ่งของมนุษยชาติ สุนัขบ้านและหมาป่าล้วนมีบรรพบุรุษมาจากหมาป่าสีเทา (gray wolf) การเลี้ยงและฝึกหมานี้สืบย้อนกลับไปได้อย่างน้อย 15,000-20,000 ปี หรือข้อเสนอในยุคหลังเสนอว่าอาจเก่าก่อนถึงขนาด 40,000 ปีก่อนหน้านี้ ตรงนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงของนักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีกันอยู่ แต่หลักฐานพันธุกรรมของกิจกรรมการเลี้ยงหมา—เจ้าหมาบ้านนี้ปรากฏอยู่ทั่วทุกอารยธรรมโบราณหรือกลุ่มมนุษย์โบราณทั่วโลก ตั้งแต่จีน ยุโรป มองโกลเลีย
จากการนำหมาป่ามาเลี้ยงและทำให้เชื่อง เพื่อให้มนุษย์โบราณมีคู่หูเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันโหดร้าย จนกระทั่งยุคหลังที่สุนัขถือเป็นตัวแทนของความมีอารยธรรม ราชวงศ์หรือผู้มีอันจะกินไม่ว่าจะยุโรปหรือเอเชียล้วนเลี้ยงหมาไว้ในครัวเรือน เราเห็นหมาปั๊กหรือปักกิ่งที่เป็นเพื่อนของสนมนางในในวังต้องห้าม เห็นพุดเดิลในฝ่ายในของยุโรป หรือหมาต้อนแกะและหมาล่าเนื้อที่ถูกใช้ในกีฬาและการล่าสัตว์ ไปจนถึงหมาบ้านของชาวบ้านทำหน้าที่เฝ้าปศุสัตว์และเฝ้าฟาร์ม
แต่ถึงจุดหนึ่ง หมาบ้านก็มีชะตาพลิกผัน ส่วนหนึ่งคือเมื่อเมืองหนาแน่นขึ้น หลายเมืองใหญ่ก็มีกิจกรรมเลี้ยงหมากันได้มากขึ้น ในประเทศเช่นที่เนเธอแลนด์ ดินแดนแสนสุขในปัจจุบัน ช่วงราวปลายปี ค.ศ.1800-1900 ชาวเมืองดัชช์ก็มีการเลี้ยงหมากันอย่างแพร่หลาย แต่ว่าพอถึงราวต้นทศวรรษ 1900 ด้วยความที่เมืองแออัด และการจัดการสาธารณะสุขยังไม่ดีและไม่มีความเข้าใจเพียงพอ เมืองใหญ่จึงเกิดโรคพิษสุนัขบ้าระบาด ทำให้หมาบ้านอันเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความอบอุ่นถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก ในหลายประเทศเช่นสยามบ้านเราก็มีพิษสุนัขบ้าระบาดจนเกิดหน้าประวัติศาสตร์และเกิดสถานเสาวภาขึ้น
ระยะหลังวิกฤติโรคระบาด ปัญหาหมาจรก็ยิ่งเรื้อรังและเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากความนิยมการเลี้ยงสุนัข ที่คราวนี้ราคาเริ่มถูกลง มีการผสมข้ามสายพันธุ์มากขึ้น และแน่นอนว่าสุนัขเป็นสิ่งมีชีวิตที่แพร่พันธุ์ได้เร็วพอสมควร โดยหลายประเทศโดยเฉพาะบ้านเราก็ยังไม่ค่อยมีมาตรการการควบคุมทั้งการครอบครองสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงการควบคุมดูแลหมาจรด้วย
เนเธอแลนด์ ดินแดนไร้หมาจรกับ CNVR โปรแกรม
ถือเป็นเรื่องดีที่เมืองหรือประเทศหนึ่งๆ อยากจะมีเมืองที่ดี ที่คิดไปถึงทุกสรรพชีวิตอันเป็นกระแสที่หลายประเทศกำลังทำ เนเธอแลนด์เองเป็นหนึ่งในเมืองที่เรามักยกเป็นตัวอย่างตั้งแต่การบริหารน้ำ การออกแบบเมือง เรื่องจักรยาน สุขภาพ พลังงานทดแทนและอีกมากมาย โดยเรื่องหมาจรเองก็เป็นเรื่องที่ทางเนเธอแลนด์ถือเป็นวาระสำคัญ มีการศึกษาผลักดันทั้งในแง่ความรู้และแนวนโยบาย จนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาถึงขนาดออกมาประกาศว่าที่นั่นเป็นประเทศปลอดสุนัขจรจัด และที่สำคัญคือไม่ได้ใช้วิธีกำจัด หรือรมยาอันเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้เพื่อควบคุมประชากร
ความน่ายินดีอย่างหนึ่งนอกจากการรับไว้เป็นวาระสำคัญแล้ว คือการลงมือและรายงาน จนกระทั่งเกิดเป็นแนวทางและภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจริงๆ การควบคุมประชากรสุนัขก็ใช้วิธีที่ไม่ได้เหนือความคาดหมายเท่าไหร่ คือสอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรอนามัยโลกรายงานไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 ที่ใช้ 3 แนวทางให้ทำงานร่วมกัน คือการทำหมัน (sterilisation) ให้ความรู้ (education) คือให้ประชาชนเข้าใจตั้งแต่เรื่องความสำคัญและหน้าที่ในการเป็นเจ้าของสุนัข ความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ ไปจนถึงการทอดทิ้ง และข้อสุดท้ายคือการระบุตัวตน (identification) ทั้งตัวสุนัขและเจ้าของ
ทั้งหมดนั้น ทางการเนเธอแลนด์ใช้แนวทางควบคุมสุนัขแบบพื้นฐานคือ CNVR Program อันประกอบด้วยขั้นตอน 5 ขั้นตอนเพื่อลดประชากรหมาจรคือ collect, neuter, vaccinate and return โดยหมายถึงการที่ภาครัฐจะจับตาเวลามีสุนัขจรถูกทิ้งหรือเร่ร่อนก็จะจับตัวไปเลี้ยงดูปูเสื่อ ให้วัคซีน ทำหมัน และค่อยนำกลับสู่สังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อีกวิธีที่ถูกทำควบคู่กันไปก็ตามคาด คือการควบคุมตั้งแต่การรับเลี้ยงหรือครอบครองสุนัข หลายเขตปกครองของเนเธอแลนด์มีการขึ้นภาษีและควบคุมการซื้อหาสุนัขใหม่จากฟาร์มด้วยภาษีที่สูงสิบลิ่ว ในทางกลับกัน ภาครัฐเองก็ออกโครงการและส่งเสริมให้ชาวเนเธอแลนด์อุปการะสุนัขจรจัดจากแหล่งพักพิง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เฉพาะเพื่อทำหน้าที่ตรวจตราและยับยั้งการทารุณกรรมต่อสัตว์อย่างเคร่งครัดด้วย
ผลคือ มีรายงานว่า 1 ใน 5 ของประชากรชาวเนเธอแลนด์ขึ้นทะเบียนครอบครองสุนัขบ้าน โดยในบรรดานี้มีกว่าหนึ่งล้านตัวที่ได้รับการอุปการะจากหมาจรที่เคยเร่ร่อนอยู่บรท้องถนน จนกระทั่งทางเนเธอแลนด์ประกาศตนอย่างภาคภูมิใจว่าไร้ซึ่งหมาจรจัดอีกต่อไปแล้ว ซึ่งทางดัชช์เองก็เผยแพร่แนวทาง CNVR นี้ ว่าจะช่วยประเทศที่กำลังประสบปัญหาหมาจรจัดได้
ข่าวจากประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียหรือยุโรปเหนือที่คุณภาพชีวิตเขาดีๆ บางเรื่องก็ฟังดูเหนือจริง รู้สึกว่าอยู่บนโลกกลมๆ ใบเดียวกับเรารึเปล่า แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ความใส่ใจ และความจริงจัง หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องจัดการอย่างเป็นระบบ อย่างจริงจัง และทำงานพร้อมกันในหลายแง่มุม ทั้งการจัดตั้งระบบ สาธารณูปโภค พร้อมๆ กับการสร้างสำนึกและความเข้าใจ
สุดท้ายนี้ พี่เตี้ยก็ถือเป็นอีกหนึ่งเพื่อนของเราที่พาขนฟูๆ ขาสั้นๆ ของมันไปวิ่งเล่นอยู่ที่ดาวดวงอื่นแล้ว ก็อยากฝากความคิดถึงไปกับพี่เตี้ย ถึงเหล่าเพื่อนสี่ขาที่กำลังกระโดดโลดเต้นอยู่บนทุ่งหญ้าที่ไหนซักแห่ง ว่าเรายังคงคิดถึงกันเสมอ และจะดูแลเพื่อนๆ ที่อยู่ทางนี้ ให้ดีขึ้นต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก