ยิ่งเมืองเติบโต ความเป็นชุมชนที่ใจดีต่อกันก็ดูเหมือนเบาบางลงไป คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถมีตัวกลางเชื่อมต่อผู้คนให้กลับมามีความสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือกัน และโอบอ้อมอารีกัน
และจากความรู้สึกนั้นทำให้ อรุ – อรุณี อธิภาพงศ์ และ ตุ้ย – ธิดารัตน์ ไทยานนท์ จับมือกันสร้างสื่อกลางอย่าง Ari Coin ที่ใช้เป็นเหมือนตัวแทนของการแลกเปลี่ยนความโอบอ้อมอารี และ หยก – ปิยพรรณ จรัญพงษ์ท์ กระโดดเข้ามาร่วมวงด้วยอีกคน ชวนกันออกแบบโปรเจกต์จนเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนที่ภายหลัง โบ – ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์นี้ และทีมได้ขยายใหญ่ขึ้นจากความรู้สึกร่วมกันคืออยากเห็นความเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และโอบอ้อมอารีกัน
โปรเจกต์ AriAround ที่มาจากคำว่า ‘อารีอารอบ’ จึงเกิดขึ้น และในช่วง Bangkok design week 2021 พวกเธอก็ได้ปล่อยโปรเจกต์นี้ในฉบับทำมือมาให้ทุกคนได้รู้จัก ก่อนจะพัฒนามาเป็นแอพลิเคชั่นที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิมนั่นเอง
ซึ่ง Ari Coin ไม่ใช่เหรียญคริปโตฯ หรอกนะ แต่พูดก็ได้ว่าเป็นเหรียญสุดยูนีคที่สามารถใช้ภายในชุมชนให้เกิดการแลกเปลี่ยนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแลกเปลี่ยนขยะที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่งของย่าน แลกเปลี่ยนสกิลใหม่ๆ ที่ไม่ว่าใครก็เรียนได้ และแลกเปลี่ยนความใจดีให้กัน ซึ่งนี่เป็นหมุดหมายสำคัญของโปรเจกต์นี้
เราไปคุยถึงจุดเริ่มต้นของ AriAround และสายตาที่เขามองย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ รวมถึงอะไรทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาสร้างความอารีเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในชุมชนกัน
จุดเริ่มต้นของ AriAround มาจากไหน
อรุ : ตอนนั้นเราเดินทางไปต่างประเทศ แล้วเห็นเขามีความเป็น community มีการแลกเปลี่ยน skill อะไรอย่างงี้กัน โดยที่มันไม่ต้องใช้เงิน แบบว่าไปทํางานนี้ แล้วได้ค่าตอบแทนเป็นอาหารที่มันควรจะเป็นฟู้ดเวสต์ตามซุปเปอร์ ที่เค้ามันควรจะต้องทิ้งแล้วอะไรอย่างเงี้ย คือมันมีให้คนแลกเปลี่ยนยืมของกันได้ ที่มันไม่ใช่แค่หนังสือ
แล้ว bangkok design week สองปีที่แล้วเนี่ยก็มีทีม Cloudfloor เขาทําเกี่ยวกับการวิจัยเกี่ยวกับ การเก็บขยะ ว่าจํานวนขยะแถวนี้มันเยอะ แต่ว่ามันก็เป็นงานแนวคอนเซ็ปต์เนอะ ปลายทางก็เป็นบอร์ดเล่าให้คนฟังจากสิ่งที่วิจัย แต่ยังไม่ได้ต่อยอดอะไรเพิ่ม แล้วปีนั้นตุ้ยก็ทําโปรเจกต์ในงาน bangkok design week ด้วยความที่เราก็เป็นเพื่อนตุ้ยอยู่แล้วอ่ะเราก็เลยเดินไปคุยกับตุ้ยว่า เออ อยากทําอะไรสักอย่าง ระยะยาว หลังจากนั้นก็เลยรวมตัวกัน จากคอนเน็กชันของตุ้ยด้วย ซึ่งทุกคนก็บังเอิญอยู่ย่านนี้กันหมด ก็เลยเป็นจังหวะพอดีให้เริ่มทำ
ก่อนหน้านั้นย่านอารีย์ในความทรงจำของแต่ละคนเป็นยังไง
อรุ : เรามาอยู่ได้ 13 ปีเอง ตอนที่เราเข้ามายังไม่ค่อยมีพวกร้านกาแฟเยอะขนาดนี้ เราทำเป็นร้านแรกๆ เลย เพราะรู้สึกว่าอยากมีพื้นที่ให้คนมาคอนเน็กกัน เพราะไม่อยากให้คนนั่งขลุกอยู่ในคอนโดอย่างเดียว ก็เลยอยากเปิดร้านกาแฟให้มีคนมานั่งคุยกัน แต่ตอนนี้คือร้านกาแฟเยอะมากๆ
แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือแถวนี้มันเป็นย่านที่ศิลปินมารวมตัวกัน เหมือนเขาอยู่รวมตัวกันตามบ้านเดียวกัน อีกอย่างก็คือแถวนี่เป็นชุมชนที่มีคนเก่าแก่อยู่กันเยอะ
ตุ้ย : เราก็อยู่มาประมาณสิบปี แล้วก็เป็นคนหนึ่งที่ไปนั่งร้านของอรุ โดยที่ตอนนั้นยังไม่เป็นเพื่อนกันด้วยนะ แต่โลกกลม แบบก็เพื่อนของเพื่อนเราอีกที ก็เลยได้รู้จักกัน ถ้าถามความเติบโตของย่าน เมืองมันโตขึ้นนะ สไตล์ ความเก๋ไก๋ ก็เยอะขึ้น ซึ่งสนุกดี แต่ว่าจริงๆ เราก็มีคําถามเหมือนกันว่าความสัมพันธ์ของเรากับย่านน่ะ มันจะต้องเป็นการขายของอย่างเดียวเหรอ มันจะสามารถเกิดความสัมพันธ์เหมือนแบบที่เรามีกับเพื่อนเราได้มั้ย แบบขี่จักรยานมายืมของนู่นนี่นั่น มันจะเป็นชุมชนที่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ไปนั่งเพื่อกินกาแฟหรือซื้อของได้ไหม
เหมือนประมาณว่าพอมันเป็นสังคมเมือง ต่างคนก็ต่างอยู่ พอไม่รู้ไปไหน ก็เลยไปห้างอะไร มันไม่มีที่ไป หรือบางทีก็ไม่ได้อยากนั่งร้านคาเฟ่ตลอดเวลา ทีนี้พอเริ่มรู้จักเพื่อนมากขึ้น มันมีความแบบไปนั่งบ้านเพื่อนได้ ก็ได้ความรู้สึกที่ดีกว่า
โบ : ด้วยความที่ช่วงแปดปีหลัง โบว์ไม่ได้อยู่ไทย ก็จะจำได้แค่ว่าก่อนหน้านั้นพวกราคาค่าโดยสาร ราคาของกินยังไม่สูงขนาดนี้ แล้วก็จะมีเด็กวัยรุ่นมาเดินในย่านนี้กันเยอะขึ้น แบบแต่งตัวสวยๆ มาถ่ายรูปร้านคาเฟ่
ถ้าเทียบความเป็นชุมชนในสมัยก่อนกับสมัยนี้?
โบ : เราว่าสมัยก่อนก็คงมีแหละ ความเป็นชุมชน คอนเน็กกัน แต่พอไม่ได้มีแฟลตฟอร์มกลาง ก็เหมือนไม่ได้มีภาพชัดๆ แล้วเหมือนถ้าไม่ได้รู้จักกันมาก่อน หรือไม่ใช่คนที่คุยกับคนเก่ง เราก็คงจะเดินผ่านไปเลย แต่พอมีอย่าง facebook community อย่างอารีย์ ก็จะมีกลุ่ม ‘อารีย์ Community’ ที่เขาก็จะมาคอยแชร์กันว่า ร้านขนมไทยตรงนั้นอร่อยนะ ชื่อนั้นชื่อนี้ หรือแนะนำที่นั่นที่นี่ในย่าน
คือความเป็นชุมชนมันน่าจะมีอยู่แล้ว แต่พอเรามาเห็นภาพชัดขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม ผ่านการคุยกันในโลกออนไลน์
แปลว่าเทคโนโลยีก็ไม่ได้ขนาดว่าจะเข้ามาทำลายความเป็นชุมชนขนาดนั้น
อรุ : ไม่นะ กลับกัน มันช่วยรวมกลุ่มกันด้วยซ้ำ สมมติว่ามีคุณยายคนนั้นขายของไม่หมด ทํายังไงดี ก็มีคนไปโพสต์ แล้วทุกคนก็แห่จะไปซื้อ หรือแท็กฝากซื้อด้วย หรือก็ซื้อไปแจกใครก็ได้อะไรอย่างนี้ ความเป็นกลุ่มก้อนเลยเกิดขึ้นเพราะว่ามันมีแพลตฟอร์มที่ช่วย
แล้วชื่อ AriAround มาจากไหน?
ตุ้ย : มันเริ่มต้นมาจาก ‘เหรียญอารี’ (Ari Coin) แหละ คือเหรียญอารี มันเป็นตัวแทนของความอารี ที่ไม่ใช่อารีย์ ย ยักษ์ การันต์ที่เป็นพื้นที่นี้ แต่มันคือตัวแทนของ ‘ความอารีอารอบ’ เหมือนสิ่งที่กําลังทําอะไรอยู่ เรากําลังทําให้ความโอบอ้อมอารีมันอยู่รอบๆ พื้นที่เรา มันคือ ‘ความอารี’ ที่อยู่รอบๆ ‘ย่านอารีย์’ ซึ่งในอนาคตมันอาจจะเป็น AriAround รอบๆ เจริญกรุง หรือรอบๆ เยาวราชก็ได้ ไปตามพื้นที่ที่มันถูกนำไปใช่อะค่ะ
เพราะคอนเซ็ปต์มันคือการพยายามให้ทุกคนแบบเอื้ออารีรอบๆ กัน เหมือนให้แบบความอารีมันกระจายไปทั่วพื้นที่อะไรอย่างนี้ค่ะ
การส่งต่อความอารีในยุคนี้สำคัญยังไง?
อรุ : จริงๆ แล้วมันคือการมีสติในการใช้ชีวิตแหละ เจ้าความความอารีที่เราหมายถึง คือมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าคนไม่ร่วมมือกัน อย่างที่ผ่านมา พอเป็นทางการสั่งลงมา มันก็เป็นการสื่อสารทางเดียวไรเงี้ย ไม่ได้มีใครอยากมีส่วนร่วม คิดว่ามันเป็นงานของผู้หลักผู้ใหญ่ ก็เลยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ถ้าเราลองมาแบ่งใจสักหน่อย คนละนิดคนละหน่อย เราเชื่อว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงแน่นอน
แล้วความอารีมันเป็นได้หลายรูปแบบมากมาก ไม่ใช่แค่แบบว่า อะ เธอทําของตก ฉันช่วยเธอ แล้วเธออต้องมีอะไรตอบแทน แต่ความอารีมันคือการเอื้อเฟื้อ เช่น มันเราแยกขยะปุ๊บ เราก็อารีต่อสิ่งแวดล้อม หรือมันไปถึงว่าเราก็อารีต่อเพื่อนบ้านโดยที่ไม่เคยรู้จักกันด้วยซ้ำผ่านการลดขยะที่มันจะไปวางเกะกะหรือเอาไปเป็นมลภาวะอะไรอย่างนี้ ซึ่งก็จะทำให้อยู่กันได้ยาวๆ
โบ : สำหรับโบว์ หลังจากลงไปคุยกับคนในชุมชน ทำแบบสอบถาม แต่ละคนเนี่ยก็ตีความต่างกัน ซึ่งความอารีมันไม่ใช่การพยายามสร้างคอนเน็กชันแบบที่เราเข้าใจกัน แต่มันคือคอนเน็กชันที่เป็นโซเชียลแคปิตอล แบบสมมติโบว์อารีกับพี่อรุ โบว์ก็ไม่ได้อยากให้พี่อรุมาทำดีต่อโบว์ เอาเงินมาให้โบว์ แต่โบว์ก็หวังว่าพี่อรุเขาจะไปใจดีกับคนอื่นต่อนะ มันไม่ใช่การทำ CSR หรือหวังผล แต่เป็นคอนเน็กชันที่เราส่งต่อให้คนอื่น แล้วคนอื่นไปส่งต่อให้ออีกหลายๆ คนต่อไป
อรุ : ซึ่งเหรียญอารีก็มาจากคอนเซ็ปต์นี้ด้วย คือเป็นตัวกลางที่ทำให้ความอารีที่เราลงมือไปเป็นรูปธรรมขึ้น แล้วความอารีนั้นก็ส่งต่อไปยังคนอื่นๆ เกิดการแบ่งปัน กลายเป็นตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของชุมชน
แล้วเป้าหมายที่เป็นเรื่องของ Kindness Exchange for Zero Waste, Circular Economy และ Community Connection มันตั้งต้นมาจากไหนคะ
อรุ : ตอนนั้นก็ยังคิดฟุ้งๆ จนลงไปถามคนในพื้นที่ไปถามคนในชุมชนเนี่ย ว่าปัญหาที่เห็นในย่านนี้มันมีอะไรบ้าง หรืออยากให้เกิดการแก้ไข หรืออยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่ง 3 อันดับแรกก็เป็นเรื่อง ขยะอันดับหนึ่ง อันดับสองคือ ทางเท้า อันดับสามเรื่องคือเรื่องความเชื่อมโยงกัน
คืออย่าง Circular Economy ก็อาจจะไม่ได้อยู่ในสิ่งที่เราได้จากการคุยกับชุมชน แต่เราคิดว่ามันน่าจะเวิร์กและทำให้ชุมชนยั่งยืนด้วย
อันที่สามมีเรื่องความเชื่อมโยงด้วย แต่ทำไมมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน?
อรุ : ปัญหาหนึ่งตอนที่เราทํารีเสิร์ชเมื่อสองปีที่แล้วคือว่าคนในชุมชนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมกับย่าน กับชุมชน แต่เค้าไม่รู้เค้าจะไปเริ่มตรงไหน คือเหมือนคนอารีย์จริงๆ แล้วใจดีอ่ะ แล้วก็อยากมีส่วนร่วมด้วย แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง อันนี้คือปัญหา เราก็เลยลองทําแพลตฟอร์มตรงกลางนี้ขึ้น ซึ่งก็ค่อนข้างสนับสนุนสิ่งที่เราเชื่อ และสิ่งที่ชุมชนอยากทำ
หลังจากทำโปรเจ็กต์นี้แล้ว คนในชุมชนเขามีฟีดแบ็กอะไรบ้าง
อรุ : ที่เห็นทั่วไปก็คือเอาขยะมาแลกเนาะ แล้วก็เดินมาแบบชอบมากเลยอะไรอย่างเงี้ย แต่สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันดีมากคือการมีคนอยากมาร่วมทำงานด้วยกัน มาร่วมสร้างกัน หรือแม้แต่ร้านค้าต่างๆ ก็ช่วยเหลือดีมาก เพราะเราก็คงเริ่มไม่ได้ถ้าไม่มีคนคอยช่วยเหลือ เป็นเบื้องหลัง
แล้วถ้าที่อื่นอยากเอาสิ่งนี้ไปทำบ้าง มันยากไหม
อรุ : อันดับแรกก็ต้องเข้าใจความเป็นชุมชนของตัวเอง แล้วก็ไม่ใช่จะทำแแค่ร้านใดร้านหนึ่ง แต่ต้องทำให้เกิดชุมชนให้ได้
ตุ้ย : ก็ต้องหาเอกลักษณ์ หรือความพิเศษของชุมชนนั้นว่าเขามีคาแร็กเตอร์ยังไง เขาต้องการอะไร มันต้องเกิดจากการทำวิจัยในพื้นที่ ไม่ใช่เอาโมเดลเดียวไปครอบทั้งหมดไม่ได้
อรุ : อย่างเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่ก็ต้องมีนะ เพราะมันจะทำให้ย่านนั้นพิเศษขึ้น แล้วทำให้คนผูกพันกับสถานที่นั้นๆ ได้ง่ายขึ้น แล้วก็เรายังต้องการ community manager ที่เป็นคนจริงๆ อยู่ในพื้นที่ เพราะถ้าจะใช้เครื่องอัตโนมัติหมด มันก็จะขาดการปฏิสัมพันธ์ไปด้วย
สุดท้าย เราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร?
อรุ : เราทำเพื่อตัวเอง คือเราก็อยากอยู่ในที่ที่มันดีอ่ะ อยากให้มีทางเดินพาหมาเดินแล้วสะอาด
โบว์ : ตอนเรากลับมาจากต่างประเทศ เป็นช่วงกระแสย้ายประเทศกำลังแรง ก็จะโดนถามว่ากลับมาทำไม จนเราเครียดเลย แต่พอได้เจออคนในชุมชน มันก็ทำให้เห็นว่าเออ เราคงรอคนข้างบนไม่ไหว และการมีแรงผลักดันจากคนข้างล่างขึ้นไปมันก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แล้วยิ่งเราเป็นคนขี้เหงา การมีแฟลตฟอร์มแบบนี้ มันทำให้เราได้คุยกับผู้คนด้วย มันเกิดการเชื่อมโยงกันจริงๆ สุดท้ายก็เพื่อตัวเราเองเหมือนกัน
หวังกันไว้ยังไงบ้างว่าโปรเจ็กต์นี้จะไปถึงไหน
อรุ : เราอยากให้มันไปถึงต่างประเทศนะ เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่การจัดการเมืองไม่ค่อยดี
ตุ้ย : คงตั้งเป็น social enterprise เพราะเราก็อยากให้มันอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง เพื่อที่จะทําให้ชุมชนมันก็รันของมันต่อไปได้ คือเรามองว่ามันเป็นพื้นที่ที่มันสามารถสร้างงานให้กับเด็กๆ หรือคนในชุมชนได้
และก่อนจากกันไป The MATTER ก็อยากชวนไปรู้จักโปรเจกต์ Art-Cycles ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Ari Around ที่มีโจทย์ว่าเราจะเอาขยะมารีไซเคิลเป็นงานศิลปะได้ยังไงบ้าง โดยงงานศิลปะเหล่านี้จัดแสดงงอยู่ที่ Yellow Lane Cafe
Flower{RE}
โดย Flower in Hand by P.
“เราอยากให้คนเห็นว่าดอกไม้ที่อาจจะช้ำ ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีคุณค่าอยู่และยังสวยงามอยู่”
ผลงานชิ้นนี้ สตูดิโอ Flower in Hand by P. ซึ่งเป็นร้านจัดดอกไม้อยากชวนทุกคนมามองและใช้ดอกไม้ให้มีคุณค่ามากขึ้น ในวันที่ดอกไม้อาจจะโรยรา แห้งเหี่ยว กลีบช้ำ จนหมดความสมบูรณ์แบบ แต่คุณค่าของงความงามในดอกไม้ที่ไม่เพอร์เฟต์ก็ยังแปรเปลี่ยนไปทำให้สวยงงามขึ้นได้เช่นกัน
Strange Foundation
โดย SP/N
“มันคือการเอางานศิลปะที่เราเคยทำปีที่แล้ว มารีไซเคิลใหม่ให้เป็นงานศิลปะอีกชิ้น ซึ่งจะทำให้วัสดุที่ใช้กลายเป็นขยะ แถมคนก็สามารถเอามาตีความต่อยอดบทสนทนากันได้ด้วย”
ผลงานจาก SP/N นี้ชวนเราสนทนาต่อไปถึงงานศิลปะที่บางครั้ง วัสดุก็ถูกใช้แล้วทิ้ง แต่เป็นไปได้ไหมที่เราจะสร้างงานศิลปะใหม่ แล้วทำให้เกิดความหมายใหม่ โดยผลงานนี้ก็เคยเป็นผลงานในชื่อ zero stage ที่จัดใน Bangkok Design Week 2021 ที่เอามาจัดวางใหม่อีกครั้ง
The ocean plastic waste destination
โดย Tanntalay (แทนทะเล)
“จริงๆ ขยะที่ทะเลมันมีหลายชิ้นมากที่ยังสวยงาม บางอันก็สวยงามที่กาลเวลาและธรรมชาติ เราเลยหยิบจับเอาขยะที่มาจากทะเล มาสร้างคุณค่าใหม่ให้เป็นเสื้อผ้า กระเป๋า หรืองานศิลปะ ซึ่งในทางนี้มันก็ช่วยให้คนรู้สึกว่าขยะในท้องทะเลมันเยอะแค่ไหน และการนำมารีไซเคิลออกแบบใหม่ ก็เป็นเรื่องที่สนุกและท้าทายได้นะ”
ผลงานสีสันสดใสจาก Tanntalay ชววนเรามาสำรวจขยะในท้องทะเลที่ถูกพบมากมาย และเปลี่ยนมันให้มีมูลค่าได้ด้วยดีไซน์และการออกแบบ ซึ่งจะทำให้คนอาจอยากลองไปหยิบจับ ช่วยกันเก็บขยะจากทะเลมาทำอะไรสนุกๆ กันมากขึ้น นอกจากนี้เป้าหมายที่เธออยากสื่อสารก็คือขยะที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องทะเล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรหันมาดูแลอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ยังมีงานอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็น
“Rebuilt Unbuilt” โดย studiourbanastronaut ที่หยิบเอาแบบร่างการก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้ มาออกแบบใหม่ให้กลับมาใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ ผ่านการเล่นกับแสงไฟ นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์ “ARI Junk Land” โดย A.I. ดักขยะ ที่เปลี่ยนอารีย์ให้เป็น Virtual town พร้อมกับพาเราไปสำรวจว่าจะเป็นยังไงถ้าขยะล้นเมือง
ยังสามารถเดินเล่นงาน Bangkok Design Week ย่านอารีย์ได้ไปจนถึง 13 กุมภาพันธ์ ส่วนแพลตฟอร์ม AriAround นั้นยังอยู่กับเรายาวๆ สามารถไปโหลดกันได้ทั้ง IOS และแอนดรอยด์เลยนะ