ไม่ว่าจะออฟฟิศไหน มักจะมีคนที่แสนดีประจำการอยู่เสมอ คอยให้ความช่วยเหลือแบบไม่เคยขัด นึกถึงผู้อื่นเสมอ เป็นขวัญใจของเพื่อนร่วมงาน นึกอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก คุณคนนี้เขาก็ประทานทางแก้มาให้ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ คอยหล่อเลี้ยงคนรอบข้าง ใครอยู่ใกล้ก็มีความสุขไปหมด แล้วตัวเขาเองล่ะ มีความสุขกับสิ่งที่ทำหรือเปล่า? เพราะในบางครั้ง การแจกจ่ายความใจดีมากเกินไป อาจทำให้เจ้าตัวต้องเจ็บปวดจากการเห็นความรู้สึกของคนอื่นมาก่อนของตัวเอง แล้วถ้าหากเรากำลังเป็นคนนั้นเสียเองล่ะ เราจะใจดียังไงไม่ให้สิ่งนั้นย้อนกลับมาทำร้ายเราเอง
เสียงจากคนแสนดีแว่วมาว่า “ก็ฉันเป็นคนใจดีนี่นา” “แล้วใจดีมันไม่ดียังไง” “จะต้องใจร้ายกับคนอื่นหรอ” นั่นสิ การเป็นคนใจดีนั่งประจำการอยู่ในออฟฟิศก็ดูเหมือนจะมีแต่ข้อดีนะ เป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นทั้งในเรื่องงานและเรื่องทั่วไป ช่วยให้บรรยากาศในออฟฟิศดีไปด้วย ดูเหมือนจะมีได้แต่ได้กับได้นะ ทีนี้เราเลยต้องยื่นไมค์กลับไปถามเจ้าตัวว่า “มีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่หรือเปล่า?” คำตอบนั้นอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ฉันใจดีโดยธรรมชาตินี่นา จะไม่มีความสุขได้ยังไง
นั่นเพราะเวลาเราใจดีกับผู้อื่นมากๆ เราอาจเผลอใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นมากเกินไปจนลืมนึกถึงความรู้สึกของตัวเองด้วย ใครขอความช่วยเหลืออะไรมา แม้เราเองจะยังไม่สะดวก แต่ก็ไม่อยากปฏิเสธคำขอร้องนั้น เห็นใครกำลังวุ่นอยู่กับอะไร หรือเห็นแล้วว่าเราสามารถทำในสิ่งนั้นได้ ก็เสนอตัวเข้าไปช่วยด้วยความเร็วแสง จนลืมนึกถึงว่า ถ้าหากเราเข้าไปช่วยแล้ว เราเองจะลำบากหรือเปล่า
รัซ เอเดลแมน (Russ Edelman) ผู้เขียนหนังสือ Nice Guys Can Get the Corner Office: Eight Strategies for Winning in Business Without Being a Jerk ได้สัมภาษณ์ CEO กว่าห้าสิบคน ถึงผลกระทบของการเป็น nice guy ในที่ทำงาน พบว่าความใจดีเกินไปจนกระทบงานเนี่ย มักจะเกิดขึ้นกับการตัดสินใจอะไรสักอย่างที่ต้องการความเด็ดขาด พนักงานระดับผู้จัดการหลายคนมักไม่เต็มใจที่จะต้องตัดสินใจอะไร ที่มันส่งผลกระทบถึงคนอื่น เพราะกลัวคนอื่นเจ็บปวดกับการตัดสินใจของเขา และอีกสิ่งที่กระทบถึงงาน พวกเขามักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า จนมันนำไปสู่การเพิกเฉยต่อปัญหา
นั่นอาจหมายความว่าการเป็นคนใจดีเกินไป จนลืมใจดีกับความรู้สึกของตัวเองนั้น ไม่ได้ส่งผลดีกับงานเท่าไหร่นัก แต่จะให้เปลี่ยนเป็นคนละคน เลิกใจดีเหมือนปิดสวิตช์ก็คงทำไม่ได้ แล้วเราจะใจดียังไงแบบที่ไม่ทำร้ายตัวเองนะ ลองมาดูคำแนะนำจาก วาเนซซ่า วอช (Vanessa Wasche) ผู้ก่อตั้ง On Point Speaking กันดีกว่า
ไม่ต้องพยายามเป็นขวัญใจของทุกคน
ยิ่งคนชมว่าใจดี เราเองก็ยิ่งดีใจ เหมือนเราได้หยิบยื่นน้ำใจให้เขา แล้วเราเองได้คำชื่นชมตอบกลับมาเป็นน้ำหล่อเลี้ยงใจ ให้มีแรงแจกจ่ายความใจดีไปเรื่อยๆ พอมันเกิดวงจรแบบนี้เข้า ยิ่งทำซ้ำๆ เดินในวงจรเดิมเรื่อยๆ อาจทำให้เรากลายเป็นคนเสพติดคำชื่นชม เสพติดการเป็นที่รักของผู้คน อยากจะได้รอยยิ้ม ได้เป็นที่รัก จากการทำดีของเรา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนดีจอมปลอม หรือหน้าไว้หลังหลอก เรายังคงอยากช่วยเหลือ มีน้ำใจกับคนอื่นอยู่เสมอ แม้จะไม่ได้อะไรในบ้างครั้ง แต่ถ้าได้มันก็ดีไงล่ะ เราเลยเสพติดผลอันหอมหวานของการเป็นขวัญใจผู้คนนั่นเอง
วาเนซซ่าแนะนำว่า ทางแก้ของเรื่องนี้ คือ เราต้องไม่โฟกัสไปที่ผลลัพธ์ของมันมากเกินไป เหมือนกับเวลาให้อะไรไปแล้วแอบตั้งความหวังในใจว่า เขาจะต้องชอบมันมากๆ จะต้องตื้นตันกับความช่วยเหลือนี้แน่ๆ จนเราชื่นชอบสิ่งที่ได้กลับมานั้น มากกว่าความตั้งใจที่จะให้ เพราะอยากให้เขาไม่ต้องลำบากนะ ไม่อยากให้เขาต้องติดขัดกับงานตรงนี้มากเกินไป เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากโหยหาคำชื่นชอบ ความสุขที่ได้เป็นที่รักมากเกินไป ลองโฟกัสไปตอนที่เราคิดว่าทำไมเราถึงอยากทำสิ่งนี้ให้อีกฝ่าย มากกว่าการเฝ้ารอสิ่งที่เขาตอบกลับมา
กล้าที่จะพูดว่า ‘ไม่เห็นด้วย’
หลายครั้งที่เราไม่ได้เห็นด้วยกับอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่กล้าพูดออกไป กลัวว่าอีกฝ่ายจะคิดว่าเราขัดคอเขาไหมนะ ดูเหมือนคนอวดรู้หรือเปล่า แบบนี้จะหักหน้าคนอื่นไหม สารพัดข้อกังขาที่เกิดขึ้นในใจ กว่าจะคิดตกได้ ก็ต้องปล่อยผ่านสิ่งนั้นออกไปแล้ว บ่อยเข้าก็เกิดอาการ ‘ไม่กล้าขัด’ ขึ้นมา กลัวว่าพูดไปแล้วจะไม่เป็นที่รักเอาน่ะสิ
วาเนซซ่าแนะนำให้เราระลึกไว้เสมอว่า ไม่มีใครรู้อะไรไปทุกอย่าง แม้แต่คนที่มีตำแหน่งสูงๆ ก็ตาม หากเราเอาแต่นิ่งเงียบ ปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นล่องลอยต่อไป เราอาจจะต้องทำโปรเจ็กต์ที่ผิดตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก และเราเองนี่แหละที่อาจจะต้องเสียใจภายหลังที่ไม่ยอมทักท้วงสิ่งนั้นตั้งแต่แรก
แม้จะแนะนำให้กล้าแสดงความคิดเห็นที่ตรงกันข้าม แสดงความไม่เห็นด้วย แต่เราไม่จำเป็นพูดโพล่งไปแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ใช้คำพูดรุนแรงเหมือนลากอีกฝ่ายมาตบกลางที่ประชุม ลองอาศัยวาทศิลป์ เลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม และลองก้าวออกมาแสดงความคิดเห็นจริงๆ ของเราเองดูสักครั้ง
อย่าเก็บทุกอย่างไปเป็นเรื่องส่วนตัว
วันก่อนยิ้มแย้มให้กันดี แต่วันนี้เดินผ่านเหมือนไม่เห็นกัน ทักทายก็ตอบมาส่งๆ เราทำอะไรผิดหรือเปล่านะ เราะพลาดอะไรไปหรือเปล่า เลยต้องนั่งแกะรอยสมการอารมณ์บ่จอยของเพื่อนงาน เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมกันนะ ถึงไม่เอ็นจอยกับเราเหมือนอย่างเคย ใครทำอะไร แสดงอารมณ์แบบไหน จำได้หมด และยังเก็บเอามาคิดต่อว่าเราทำอะไรพลาดไปหรือเปล่า
อาการเหล่านี้ เกิดจากการที่เราเก็บอารมณ์ของคนอื่น เข้ามาคิดเป็นเรื่องของตัวเอง ด้วยความที่เป็นคนใจดี พอแสดงออกไปแบบแง่บวก ก็อยากได้อารมณ์แง่บวกกลับคืนมา แต่อย่าลืมคิดด้วยว่า ไม่ใช่ว่าคนเราจะอารมณ์ดีได้ทุกวัน ต่างคนต่างเจอเรื่องมาสารพัดอย่าง คงไม่สามารถมาแจกจ่ายความสดใสได้ทุกครั้งที่เจอหน้ากัน และเราเองก็ไม่สามารถควบคุมอารมณ์คนอื่นให้เป็นดั่งใจคิดด้วย เราจึงต้องเลิกเก็บเอาอารมณ์ขุ่นมัวของคนอื่นมาคิดทุกครั้งไป ครั้งไหนที่เห็นแล้วว่าไม่ได้เกิดจากเราแน่นอน เราไม่มีความจำเป็นต้องทำให้ตัวเองขุ่นมัวไปด้วย
ใจดีกับคนอื่นแล้วอย่าลืมใจดีกับตัวเอง ใจดีเท่าที่ตัวเราเองจะไม่รู้สึกว่ามันหนักหนาเกินไป หรือไม่เดือดร้อนกับสิ่งนั้น เพราะถ้าฝืนตัวเองมากเกินไปเพื่อให้ตัวเองได้แจกจ่ายความใจดี นั่นเป็นสัญญาณว่าเรากำลังเสพติดความหอมหวานของการเป็นที่รักของผู้อื่น มากกว่าอยากช่วยเหลือคนอื่นด้วยความต้องการของตัวเองจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก