ในโลกที่มีอะไรต้องเรียนรู้เต็มไปหมด อาจจะเป็นเรื่องดีนะถ้าเราได้กลับไปทบทวนวิธีการเรียนรู้เสียใหม่ เพื่อที่จะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคนิควิธีการเรียนรู้เทคนิคหนึ่งเป็นของริชาร์ด ไฟยน์แมน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ซึ่งก็เป็นวิธีที่เล่าง่ายๆ แหละ แต่ทำจริงๆ อาจจะไม่ง่ายเท่าไหร่
ริชาร์ด ไฟยน์แมน เป็นคนที่บอกว่า ‘การรู้จักสิ่งนั้น’ กับ ‘การรู้ชื่อของสิ่งนั้น’ ไม่เหมือนกัน
“คุณเห็นนกตัวนั้นมั้ย มันเป็นนกวงศ์เดินดงตัวหนึ่ง ในเยอรมนีเขาเรียกว่า halzenfugel ในจีนเรียกว่า chung ling แต่ถึงคุณจะรู้ชื่อนกทุกชื่อแล้ว คุณก็อาจจะยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนกตัวนี้อยู่ดี คุณแค่รู้ว่าผู้คนเขาเรียกนกตัวนี้ว่าอย่างไร คุณจะไม่รู้วิธีที่มันร้องเพลง วิธีที่มันสอนลูกๆ ให้บิน บินข้ามประเทศในฤดูร้อนเป็นระยะหลายไมล์ ไม่มีใครรู้เลยว่ามันหาทิศทางอย่างไร” การ ‘เข้าใจ’ จึงไม่ได้หมายถึงแค่การ ‘รู้จัก’ เท่านั้น
วิธีการเรียนของ Feynman เริ่มต้นที่ขั้นตอนง่ายๆ
ขั้นตอนแรก
หาเรื่องที่จะเรียนเสียก่อน (อ้าว ง่าย) เขาบอกว่า ก็แค่ให้เอากระดาษเปล่าๆ มาสักแผ่นนึง แล้วเขียนชื่อเรื่องที่จะเรียนไว้ข้างบน (เช่น อะ เธอร์โมไดนามิกส์ หรือวิธีคิดดอกเบี้ยของธนาคาร)
ขั้นตอนที่สอง
‘สอน’ วิชานั้น นั่นคือให้คุณเขียนทุกเรื่องราวที่คุณรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ลงไป แต่เวลาเขียน ไม่ใช่เขียนให้ตัวเองอ่านนะ แต่เขียนเหมือนกับให้เด็กสักคนหนึ่งที่พอจะอ่านออกเขียนได้ อ่านแล้วเข้าใจ ซึ่งสิ่งนี้อาจจะฟังดูตลกมาก แต่ว่าการอธิบายง่ายๆ นี่แหละ ที่ทำให้เราจะเข้าใจมากขึ้นเอง
เพราะว่าเมื่อเราอธิบายให้ผู้ใหญ่ฟัง ส่วนมากเราจะไปหลงกับคำศัพท์ทางเทคนิคที่มาบดบังความเข้าใจต่อเรื่องนั้นๆ ของเราจริงๆ ไป แต่ถ้าเราพยายามอธิบายด้วยคำง่ายๆ ด้วยวิธีง่ายๆ ก็จะเหมือนเราได้บังคับตัวเองให้เข้าใจเรื่องนั้นถึงแก่นมากขึ้นไปด้วย
ขั้นตอนที่สาม
จากขั้นตอนที่สอง พอเราพยายามอธิบาย เราจะเห็นช่องว่างทางความรู้ของเราละ ว่าจริงๆ แล้วที่เราคิดว่ารู้มาโดยตลอดนั้นน่ะ เราพลาดเรื่องอะไรไปบ้าง เราหลงคิดว่ารู้ แต่จริงๆ เรารู้ไม่ถ้วนทั่วในเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งไอ้ ‘ช่องว่างทางความรู้’ ตรงนี้แหละที่ดี ตรงที่ว่า เราจะได้กลับไปค้น และเรียนรู้มันอีกครั้ง เช่น ถ้าคุณต้องสอบสักวิชาหนึ่ง แล้วในขั้นตอนที่สอง คุณพบว่ามีส่วนที่คุณอธิบายไม่ได้ ในขั้นตอนนี้คุณก็แค่กลับไปทบทวนในจุดที่คุณอธิบายไม่ได้ก็พอ
ถึงตอนนี้ พออ่าน ทบทวนเสร็จแล้ว ก็ให้คุณเอากระดาษแผ่นใหม่ขึ้นมา แล้วเขียนอธิบาย เฉพาะในจุดที่คุณอธิบายไม่ได้ จนกว่าคุณจะอธิบายมันให้เด็กฟังแล้วเข้าใจได้
ขั้นตอนที่สี่
ขั้นตอนสุดท้าย ให้ตรวจสอบว่า ในกระดาษแผ่นต่างๆ ที่คุณเขียนเสร็จแล้วนั้น มันมีคำยากๆ ที่คุณหยิบยืมมาจากหนังสือหรือเปล่า หรือว่าตรรกะที่คุณอธิบายมันเรียบง่ายพอหรือเปล่า ถ้ามันยังไม่ง่ายพอ ก็พยายามลองแก้เรื่องตรงที่มันงงๆ ให้มันง่ายให้ได้ หรือลองใช้คำเปรียบเทียบก็ได้ เมื่อคุณทำให้มันง่าย หรืออธิบายแล้วเข้าใจได้แล้วนั่นแหละ ถึงจะแปลว่าคุณเข้าใจเรื่องนั้นแล้ว