แม้จะเก่งแค่ไหน ก็ยังมีข้อบกพร่อง จึงต้องการคนมาช่วยกะเทาะเปลือกความคิด และชี้จุดแก้ไข นั่นทำให้อาชีพ ‘โค้ชส่วนตัว’ ของผู้บริหารระดับสูง ได้รับความนิยมสูงขึ้นในประเทศไทยในหลายปีที่ผ่าน ขณะที่อดีตผู้บริหารมืออาชีพหลายคน ก็ผันตัวไปทำอาชีพนี้กันมากมาย
โค้ชที่ว่านี้ ไม่ใช่ไลฟ์โค้ช เพราะการใช้ชีวิตอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สอนกันได้เสมอไป แต่โลกการทำงาน แน่นอนว่ามีมุมมองและวิธีการคนละแบบ อาชีพโค้ชที่ว่านี้ จึงทำหน้าให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรมนุษย์ ช่วยเติมวิธีคิดของโลกยุคใหม่ ให้ผู้บริหารพาองค์กรปรับตัวทันในยุคที่ผันผวนสุดๆ เช่นนี้
เราเองก็ไม่เคยรู้เกี่ยวกับอาชีพนี้มาก่อน จนกระทั่งได้ไปพูดคุยกับ ‘อริญญา เถลิงศรี’ ผู้ก่อตั้ง SEAC (Southeast Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีหลักสูตรสำหรับทั้งผู้บริหาร พนักงานองค์กร และบุคคลทั่วไป บนหลักไมล์การทำงานเกือบ 30 ปี น่าจะมีผู้บริหารหลักพันคนผ่านมือเธอมาแล้ว
แน่นอนว่าวิธีการสอนไม่ใช่บอกว่าต้องทำอะไร หนึ่ง…สอง…สาม…สี่ อริญญาบอกว่าสิ่งที่เธอทำคือหลักสูตรการสร้างวิธีคิด (Mindset) และเพิ่มทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น ซึ่งหลายหลักสูตรก็เป็นหลักสูตรหรืองานวิจัยที่เธอนำมาจากต่างประเทศมาปรับใช้
เรามาเจาะลึกถึงการทำงาน และมุมมองของเธอ ต่อความเป็นผู้บริหารและองค์กรในยุคปัจจุบัน ไปพร้อมกันดีกว่า
ทุกวันนี้ ผู้นำองค์กรหรือธุรกิจส่วนใหญ่ มีความกังวลใจ หรือพูดถึงเรื่องอะไรกันมากที่สุด ?
เกินกว่า 80% ขององค์กรในประเทศตอนนี้พูดเรื่องของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ รูปแบบการทำงาน ดังนั้นมันเป็นการตั้งค่าความคาดหวังแบบใหม่กับพนักงาน พนักงานต้องปรับการทำงาน ต้องเพิ่มเติม-สร้างทักษะ หรือต้องเปลี่ยนปรับบทบาท
ยิ่งในตอนนี้ที่ความกดดันของพนักงานมีมากขึ้น เรื่องของ people management หรือการบริหารคน ดูแลคน ต้องปรับใหม่หมด จึงเป็นสิ่งที่ต้องพูดกันว่าเราจะดูแลคน พัฒนา วัดผลการทำงาน และให้รางวัลกันอย่างไร
เมื่อภาพมันเปลี่ยนไป คุณยังใช้ระบบการดูแลคนแบบเดิม อันนั้นก็คือน่าเป็นห่วงแล้ว เพราะเราไม่สามารถดูแลคนแบบเดิมได้
ในฐานะที่คุณก็เป็นผู้บริหารเหมือนกัน คุณคิดว่าหัวใจขององค์กรยุคใหม่คืออะไร ?
จากองค์กรของตัวเองและที่สัมผัสจากองค์กรลูกค้าหลายๆ องค์กร รู้สึกว่า ตอนนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก และเปลี่ยนตลอดเวลา เราที่คิดว่าเร็วแล้วยังคิดว่าเปลี่ยนเร็วไม่พอ ปรับไม่ทัน นี่เป็นความหนักใจมากว่าจะทำยังไงให้คล่องตัวกว่านี้ ไม่มีความยึดติด ดังนั้นคิดว่าเป็นเรื่องของ Agile, Resilience และ Flat สามคำนี้
ขยายความทั้งสามคำเพิ่มนิดหนึ่ง ดูเหมือนว่าเป็นคำที่ยุคนี้ หลายๆ องค์กรก็พูดถึงมันบ่อย ?
ทั้งสามคำนี้มันเรื่องเดียวกัน ถ้าองค์กรมีหลายชั้นมาก ไม่มีทาง Agile ได้ ถ้าลำดับงานหลายขั้นตอน มันก็ไม่ Flat เราต้องมาแยกองค์กรใหม่ เรื่องวิธีการทำงานกับลำดับขั้นตำแหน่ง คือคนทำงานสามารถเติบโตได้ มีเงินเดือนเพิ่ม แต่ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งหลายเลเยอร์
องค์กรที่ปรับตัวเองได้ดีมากๆ คือองค์กรที่ปรับจากหลายเลเยอร์ มาเป็น Flat Organization (โครงสร้างองค์กรแบบราบ ตำแหน่งไม่ซับซ้อน) ทำงานร่วมกันแต่ไม่จำเป็นต้องมีภาระงานเท่ากัน
แล้ว ก็มาเป็นเรื่อง Agile ก็คือทุกอย่างต้องเร็ว ไม่จำเป็นต้องมีหลายชั้น คุยกันและเริ่มทดลองอะไรใหม่ๆ อย่างรวดเร็วและคล่องตัว แต่การทำอย่างรวดเร็วและคล่องตัว มันก็พลาดได้ มันจึงต้องมาพร้อมกับ Resilience คือล้มเร็วลุกเร็ว เช่น เราบอกว่า คุณลองแบบนี้นะ เขาไปลองกันใหญ่เลย แต่พอมันไม่สำเร็จ แต่ละหน่วยงานก็ต้องไม่โทษกันไปมา
ซึ่งมันเป็นความกดดันของผู้นำองค์กรยุคใหม่เลย ว่าจะพาองค์กรไปยังไง เพราะมันมาคนละแบบกับองค์กรยุคเก่าเลย ที่ทำงานลงมากันทีละชั้น สื่อสารจากชั้นข้างบนลงล่าง แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่
เป็นความท้าทายของผู้บริหารยุคใหม่เลยก็ว่าได้ ?
ผู้บริหารยุคใหม่ถ้ามี fixed mindset (วิธีคิดแบบดั้งเดิม) แล้วไม่พยายามเชิญตัวเองออกไปเรียนรู้แบบใหม่ นั่นคือเราก็ไม่ทันบริบทในปัจจุบันแล้ว เพราะต่อให้เราเรียนรู้มาขนาดนี้ เราก็ต้องออกไปจากคอมฟอร์ตโซน แล้วไปเรียนรู้มุมมอง วิธีคิด และการปฏิบัติใหม่ๆ
ดูเหมือนว่าในยุคนี้ มันมีวิธีคิด หรือศัพท์ใหม่ๆ ให้เราเรียนรู้อยู่ตลอดเลย มันเป็นยุคที่เราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้วจริงๆ ใช่ไหม ?
มันชัดว่ามันจำเป็น แต่เพราะอะไรถึงจำเป็น คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีคำว่า ‘Learning’ เราถูกพาเข้าไปในระบบการศึกษาก็คือเราต้อง ‘Study’ เรียนประถม จบมัธยม ใครต่อมหาวิทยาลัยได้ก็ไป มันคือการเข้าไประบบที่ทำให้เราต้องเรียนรู้ตามสิ่งที่ระบบกำหนด
ถามว่าทำไมวันนี้คำว่า Learning มันถูกพูดถึง นั่นเพราะสิ่งที่เราเรียนรู้มายุค Study ตั้งแต่ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย จนถึงประสบการณ์การทำงาน มันไม่พอแล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนตลอดเวลา ตอนนี้เวลาใครบอกว่าเราเป็นโค้ชที่ราคาแพงที่สุดในเมืองไทย เราจะอายมาก
เราอยู่ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงที่คุณไม่ต้องรอการเรียนในระบบ เพราะมันไม่เหมือนสมัยก่อนแล้วที่การ Study จะทำให้คุณมีความรู้ติดตัวไปใช้ได้สิบปี คุณเรียนรู้ด้วยตัวเองได้แล้ว ทั้งพอดแคสต์หรือการเรียนออนไลน์ หลายองค์กรใหญ่ระดับโลก เช่น อะเมซอน ก็บอกว่าไม่ต้องการคนทำงานที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ขอคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเขาเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคุณจะรู้มากกว่าคนที่จบปริญญามา
แล้วในยุคที่เทคโนโลยีดิสรัปต์ทุกอย่าง คุณว่าสิ่งที่ผู้บริหารต้องมีคืออะไร และถ้าอยากนำองค์กรให้สำเร็จต้องเรียนรู้อะไรใหม่บ้าง ?
ถ้าพูดถึงยุคนี้ เรามองว่าจะนำองค์กรไม่ว่าจะไซซ์อะไร เรื่องแรกต้องมีวิธีคิด (Mindset: ความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรม) ก่อน ซึ่งวิธีคิดไม่ใช่ทัศนคติ (Attitude) นะ คนชอบผสมกัน วิธีคิดคือวิธีที่เรามองเห็นเรื่องต่างๆ ไม่ใช่ทัศนคติว่าดีหรือไม่ดี
ผู้บริหารทุกคนไม่ว่าจะมองเห็นอะไรมาก็ตาม แต่ถ้าเราพูดคำว่า ‘ดิสรัปต์ชัน’ มันเป็นโลกยุคใหม่ สมมติว่าเป็นผู้บริหารแล้วมองเห็นทุกอย่างในภาพเดิม โลกเป็นแบบนี้ เราเคยทำมาแบบนี้ นั่นคือเรายังไม่ปรับวิธีคิดอะไรเลย มันจะยากมากถ้าเราจะบอกว่าจะคิดกลยุทธ์แบบใหม่ นำคนทำงานรุ่นใหม่
เราจะพูดกับลูกค้าเราเสมอว่า
เราต้องเปลี่ยนเลนส์ในการมอง
เพราะเลนส์เดิมมันอาจจะไม่ชัดแล้ว
เรื่องที่สองคือเรื่องของ unlearn คือเวลาที่เราต้องไปทำงานกับผู้บริหารระดับสูง เราจะเริ่มจากตัวเองก่อนเลย อย่างตัวเราเองอยู่ในธุรกิจนี้มานานมากเลย เราเขียนออกมาเป็นหน้าๆ เลยว่าเราจะต้องหยุดทำอะไร ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเลยนะ วันนี้จะมีผู้บริหารสักกี่คนที่นั่งเขียนก่อนว่าฉันบริหารมากี่ปีก็ตาม ฉันจะหยุด unlearn อะไร
และสามคือ relearn ทำใหม่ยังไงกับเรื่องเดิม เช่น การดูแลพนักงาน ต้องบอกตัวเองว่าเราจะดูแลพนักงานแบบเดิมไม่ได้แล้วนะ การดีลกับลูกค้า การทำการตลาด รันประชุมแบบใหม่ คุยกับคนยังไง เพราะวันนี้มันสำคัญมากว่าคุณจะพาองค์กรทรานส์ฟอร์มสู่หน้าตาใหม่ยังไง
แล้ว ‘วิธีคิด’ กับ ‘ทัศนคติ’ แตกต่างกันยังไง ?
สมมติว่าเราไม่ชอบคนคนหนึ่งมากเลย เราอาจแสดงพฤติกรรมไม่ดีกับเขาตลอดเวลา คนนั้นก็จะรู้สึกว่าเรามีทัศนคติไม่ดีกับเขา ทัศนคติมันลิงก์กับเรื่องชอบไม่ชอบ เรื่องความรู้สึก แต่วิธีคิดมันเป็นมุมมอง มุมมองต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เราทำธุรกิจกับ B2B มาเยอะ เราก็จะเรียนรู้ว่า อ๋อ มันเป็นแบบนี้ แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่สามารถมองการทำธุรกิจแบบเดิมได้
วิธีคิดมันเลยเป็นเรื่องของ ‘มุมมอง’ เช่น เรื่องของคนทำงานรุ่นเก่ารุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าอาจจะชอบให้เราบอกเยอะๆ แต่คนรุ่นใหม่เขาอยากมีส่วนร่วมในวิธีคิด แล้วเขาก็อาจจะเรียกร้องให้เราเข้าใจเขา ซึ่งตรงนั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนความคิด ก็จะกลายเป็นการไปมองเขาว่า เด็กคนนี้มีทัศนคติไม่ดี มาขอนั่นขอนี่
ดังนั้น วิธีคิดมันจึงเป็นเรื่องของการมองเห็นเรื่องเรื่องหนึ่งมา แล้วถูกวางกรอบมา เป็น frame of reference (กรอบของการอ้างอิง) ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิดเราก็จะยังทำอะไรแบบเดิมๆ แต่ทัศนคติมันเป็นเรื่องของความรู้สึก
ส่วนใหญ่คนระดับผู้บริหารก็จะมีความสำเร็จติดตัวอยู่แล้ว งานของคุณจะไปช่วยสอนหรือเติมเต็มเขาได้อย่างไรบ้าง ?
เราไม่เชื่อว่าผู้บริหารหมู่มากไม่อยากประสบความสำเร็จ คนที่ขึ้นมาเป็นระดับบริหารได้ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดไหนก็ตาม ต้องมีความสามารถจุดหนึ่งเลย แต่คนส่วนมากที่เราสัมผัสเราคิดว่า เขาไม่รู้มากกว่าว่าเขาจะต้องเปลี่ยนตัวเองยังไง เพราะเขาคุ้นเคยกับสิ่งที่เขาสั่งสมมา
เราคิดว่าเราไม่เคยสอนใครนะ เรามีบทสนทนากับผู้บริหารมากกว่า ผู้บริหารระดับสูงเนี่ยยิ่งสูงก็จะยิ่งเหงามากเลยนะ อยู่ดีๆ จะเดินไปหาลูกน้องแล้วบอกว่าอันนี้ไม่รู้สอนหน่อย ก็ไม่ได้ เราไปคุยกับเขาอย่างเข้าอกเข้าใจ บางทีแค่สะกิดให้เขาเห็นว่าเขาจะต้องเริ่มตั้งวิธีคิดยังไง เป็นแค่การปรับวิธีการมอง
แล้วในการสนทนากับผู้บริหารคนหนึ่ง คุณรู้ได้ยังไงว่า จุดที่ผู้บริหารวิตกกังวลคือเรื่องอะไรบ้าง อะไรที่เขาต้องแก้ไข ปรับเปลี่ยน ?
เพราะเราก็เป็นผู้บริหารเหมือนกัน ยิ่งถ้าองค์กรขนาดใหญ่ความกดดันของผู้บริหารระดับนั้นคืออาจจะคุณสิบเท่า ยี่สิบเท่า เราคิดว่าไม่มีเบอร์หนึ่งคนไหนอยากยืนอยู่แล้วไม่เห็นองค์กรสำเร็จ หรือเห็นธุรกิจที่เติบโต
เป้าหมายคือเวลาไปคุยกับผู้บริหารองค์กรที่ใหญ่กว่าเราห้าสิบเท่า เราก็เอาความรู้สึกนี้คูณเข้าไป ยิ่งเอาตัวคูณเข้าไป ความเข้าอกเข้าใจยิ่งมีมากขึ้น เวลาคุยเราเลยไม่รู้สึกเลยว่าเขากำลังต่อต้าน แต่เรากำลังเป็นเพื่อนคุยเขา
ดูงานของคุณใช้ความเป็นมนุษย์สูงมาก หมายถึงว่ามันอาจจะมีคู่มือบางอย่างในการเทรนนิ่งวิธีคิด แต่สุดท้ายมันคือเรื่องความเข้าใจคน ?
เป็นเรื่องความเข้าอกเข้าใจ องค์กรเราเล็กประมาณนี้ เวลาเราทุกข์กลางคืนเรายังนอนไม่หลับเลย ลูกน้องต้องได้เงินเดือนเท่าเดิมแต่เรารับผิดชอบขนาดไหน เราคูณความรู้สึกนั้นเข้าไป เวลาไปคุย ผู้บริหารจะบอกเสมอเลยว่า ‘ทำไมคุณเข้าใจผม?’ สุดท้ายมันคือเรื่อง empathy (ความเข้าอกเข้าใจ)
คิดว่า empathy ถือเป็นจุดแข็งในการทำงานนี้ของคุณหรือเปล่า ?
คิดว่าต้องหัดอีกเยอะนะคะ (ยิ้ม) เราทุกคนเป็นมนุษย์ ก็คือมันก็มีหลุดบ้าง การจะมี empathy ที่ดีก็คือต้องมี State of Mind (สภาวะทางจิตใจ) ที่ต้องแข็งแกร่งมาก แต่ในชีวิตเราก็มีเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามาตลอด ก็ต้องคอยเตือนตัวเอง แต่ถามว่าอยากเป็นคนเข้าใจคนอื่นไหม? อยาก แต่เป็นคนหลุดบ้างไหม? หลุด
การเป็นผู้บริหารจึงสำคัญตรงที่ต้องมีเครื่องมือที่ดึงตัวเองให้มีสภาวะทางอารมณ์ที่ดึงให้เราเข้าอกเข้าใจคนอื่น
ส่วนใหญ่คนที่ทำงานด้วยตอนนี้เป็นคนจากองค์กรประเภทไหนบ้าง ที่เริ่มอยากเข้ามาปรึกษา หรือปรับตัวตนใหม่ ?
ตอนนี้เรามีการแบ่งทีมที่ชัดแล้ว โดยมีธุรกิจที่จะเป็นหลักของเราเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งองค์กรมหาชน และ ธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ อันนี้เป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ของเราซึ่งทำมายาวนานแล้ว และจะมีกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางที่เริ่มเข้าหาเรามากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนเขาจะรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในเรดาร์เขาเลย
อีกกลุ่มหนึ่งคือองค์กรรัฐ หรือวิสาหกิจ ซึ่งคนกลุ่มนี้ค่อนข้างน่าสงสารเพราะไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่อยากเปลี่ยน แต่พวกเขาก็ถูกโจมตีมาก ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องตัวบุคคลแต่เป็นระบบทั้งประเทศ
มีอีกกลุ่มที่เราแบ่งออกมาคือกลุ่มสถานศึกษา เช่น อธิบดี คณบดี มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายที่ และสุดท้ายคือ SMEs เราเพิ่งเริ่ม แต่แพชชั่นของคนกลุ่มนี้แรงมาก อินกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง พาตัวเองไปสู่อีกภาพหนึ่ง
ฟังมาแล้วรู้สึกว่าคุณน่าจะทำงานกับคนหลายเจเนอเรชันมากๆ อยากรู้ว่าผู้นำที่อยู่ในเจเนอเรชันที่แตกต่างกัน มีความแตกต่างกันของบุคลิกและวิธีคิดไหม?
ถ้าในมุมมองของเรา เราคิดว่าเรื่องเจเนอเรชันคือการใช้ชีวิต อาจจะมองต่างจากชาวบ้านนิดหนึ่ง คือคนเกิดในยุคไหนๆ ก็ใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน ถ้ามองกลับกันก็คือการคุยคนละเรื่องในการใช้ชีวิต แต่สุดท้ายเวลาที่เรากำลังคุยกันเรื่อง ‘พัฒนาตัวตน’ ทุกคนคุยด้วยภาษาเดียวกัน ลึกๆ ไม่มีใครไม่อยากพัฒนาตัวเอง ไม่อยากเก่ง หรือทำอะไรแล้วไม่สำเร็จ ไม่มีใครอยากทำอะไรแล้วไม่เป็นที่ยอมรับ
แล้วเจอความแตกต่างของ ผู้บริหาร ‘มือใหม่’ กับ ‘มือเก๋า’ บ้างไหม ?
ถ้าคนที่เก๋ามากๆ อาจจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนเลนส์เขาเยอะ เขาอาจจะประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่คนใหม่ๆ เขายังไม่มีเลนส์ตรงนั้น แต่ความอยากเปลี่ยน อยากเรียนรู้นั้นคิดว่าเท่ากัน
อีกหนึ่งความท้าทายของผู้บริหารยุคใหม่ คือการทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งอย่างที่คุณบอกเลยว่าคนต่างเจเนอเรชันก็มีวิธีการใช้ชีวิตแตกต่างกัน คุณคิดว่าผู้บริหารยุคใหม่ต้องบริหารคนรุ่นใหม่อย่างไร ?
เรื่องนี้ปกติมาก เราได้ยินบ่อยๆ ทำไมเด็กรุ่นใหม่มันเป็นแบบนี้ มันหางาน เปลี่ยนงานบ่อย ทำไมไม่ทนเลย ก็ต้องกลับไปเรื่องเดิม ว่าเขามี frame of reference เดิม ว่าลูกน้องต้องทำงานกับเขาทั้งชีวิต แต่ว่าลองเทียบกับการมีลูกสักคน สักวันเขาก็ยังต้องไปมีชีวิตของตัวเองเลย แต่ตอนที่เขาอยู่กับเรา เราก็อยากให้ทุกอย่างดีที่สุด
มันเป็นเรื่องของการปรับวิธีคิดใหม่ที่จะทลายมุมมองแบบนั้น ถ้าเรายังเชื่อว่าเด็กต้องเป็นแบบนี้ เถียงไม่ได้ การทำงานต้องเป็นแบบนี้ หรือต้องมีสัมมาคารวะ เรื่องนี้ผู้บริหารต้อง reframe (การปรับมองมุมใหม่) เยอะมาก เด็กรุ่นใหม่นั่งกดมือถือระหว่างประชุมไม่ใช่เขาเล่นมือถือ แต่เขาจดลงมือถือ คนรุ่นเราอาจจะยังจดลงบนกระดาษ
ดังนั้นคนรุ่นเก่าต้อง reframe เพื่อเข้าใจคนรุ่นใหม่ แล้วเราจะสนุกกับการทำงานไปกับเขา ดังนั้นเวลาเราเข้าไปโค้ชในองค์กรต่างๆ เราต้องช่วยผู้บริหาร reframe ก่อนในเรื่องนี้ เด็กรุ่นใหม่ถ้าเขาทำงานกับเราได้ 2-3 ปีนี่คือดีมากแล้ว ถ้าเขาอยู่กับเราต่อก็อีกเรื่อง แต่ระหว่างที่เขาอยู่กับเราเราจะดูแลเขาให้ดีที่สุดยังไง ถ้าเราคิดแบบใหม่ พฤติกรรมการปฏิบัติของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย ถ้าไม่ reframe เราจะทุกข์ใจมาก
ในฐานะที่ทำงานกับผู้บริหารมาหลายสิบปี และคุณก็เป็นผู้นำองค์กรด้วย คุณคิดว่า ‘ความสำเร็จ’ คืออะไร ?
ความสำเร็จผู้บริหารไม่ใช่แค่เรื่องการเงินของธุรกิจ แต่ไม่ใช่ว่าไม่มองเพราะคุณทำธุรกิจ แต่ความสำเร็จมันไม่ได้มีมิติเดียว เขาอยู่ในธุรกิจไหน เขาก็อาจจะมีแพชชั่นเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างที่อยากจะเข้าไปช่วยสังคม หรือประเทศในเรื่องนั้นๆ หรืออาจจะมีแพชชั่นกับองค์กรและลูกน้องตัวเอง ถ้าตอบก็คือผู้บริหารมีความหมายของ ‘ความสำเร็จ’ มากกว่า 1 มิติ
ส่วนความสำเร็จขององค์กร มันมี 2 เรื่องด้วยกัน ต้อง Do well คือธุรกิจต้องมีเงิน มีความยั่งยืน ไม่มีองค์กรไหนจะดูแลพนักงานได้ดีถ้าขาดทุน แต่ก็ต้อง Do good คือธุรกิจเราทำอะไรให้สังคม ให้ประเทศ ให้กับโลกบ้าง
ในวันนี้คุณได้ชื่อว่าเป็นโค้ชให้กับผู้บริหารหลายคน ถ้าคุณได้กลับไปโค้ชตัวเองในวันแรกที่เริ่มทำงาน คุณจะบอกอะไรกับตัวเอง ?
เยอะมากค่ะ ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับลูกน้อง ถ้ากลับไปบอกได้ก็คงบอกเรื่องว่า การเป็นผู้บริหารต้องเข้าใจเรื่องคน และจะเริ่มการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เร็วกว่านี้ แต่ก่อนเราวิ่งไปแต่เรื่องที่ชอบ ไม่ได้เปิดหน้ากว้าง แต่ในวันนี้ผู้บริหารต้องกว้างมากๆ ต้องเห็นหลายมิติ เพราะวันนี้เรียนเพิ่มมากแค่ไหนก็ยิ่งไม่ทัน ยิ่งเรียนยิ่งไม่รู้