ปล่อยเพื่อนเรา ยกเลิก 112 ให้ผู้ต้องขังได้สิทธิการประกันตัว
ช่วงรอบที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองค่อนข้างเป็นไปอย่างร้อนแรง ทั้งจากการชุมนุม ประเด็นการเคลื่อนไหว และการตอบโต้จากภาครัฐ ซึ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการนำกฎหมาย ม.112 กลับมาใช้ มีการแจ้งข้อกล่าวหา รวมถึงไม่ให้ผู้ต้องหาทางการเมืองในคดีนี้ได้รับการประกันตัว ซึ่งไม่เพียงแค่คดีนี้เท่านั้น แต่คดีที่เกี่ยวข้องทางการเมืองอื่นๆ ก็พลอยไม่ได้รับสิทธิประกันเช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา The MATTER ได้เปิดห้อง Clubhouse ที่ชวนทนายความ จากทั้งศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน และจาก iLaw มาพูดคุยกัน ถึงงานการเยี่ยมผู้ต้องของทางการเมืองของทนาย ความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเรือนจำ ผ่านคำบอกเล่าของทนาย ในช่วงที่ราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้ญาติ และครอบครัวผู้ต้องขังได้เข้าเยี่ยม ทำให้ทนายต้องเป็นทั้งผู้ดูแลความเป็นอยู่ คดี รวมถึงการส่งสาร์นระหว่างภายใน และนอกเรือนจำ
ระเบียบของเรือนจำ และการเข้าเยี่ยมของทนาย
สำหรับตอนนี้ (26 มีนา 64) จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกฝากขังอย่างน้อยทั้งหมด 19 ราย แบ่งเป็นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ประมาณ 13 คน โดยผู้ที่โดนคดี ม.112 ได้แก่ แกนนำคณะราษฎร และพอร์ท ไฟเย็น ทั้งยังมีผู้ต้องหาคดีอื่นๆ อย่าง คดีอั้งยี่ของปิยรัฐ จงเทพ และคดีทุบรถ ส.น.ประชาชื่นอีก 5 คน ขณะที่เพนกวิน พริษฐ์ ถูกย้ายไป สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี โดยต้องถูกกักขังที่นั่นเป็นเวลา 15 วัน
นอกจากนี้ ยังมีที่เรือนจำธนบุรี คือ แอมมี่ ไชยมร จากคดี 112 และศุภากร (สงวนนามสกุล) จาก พรบ.คอมพิวเตอร์ ทั้งยังมี ฟ้า พรหมศร ที่อยู่เรือนจำธัญญบุรี, รุ้ง ปนัสยา ที่ทัณฑสถานหญิงกลางหญิง และพรชัย จากคดี ม.112 และ 116 ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่
เป๋า ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw หนึ่งในทนายสิทธิฯ เล่าถึงหลักเกณฑ์การเยี่ยมทั่วไปของเรือนจำว่า “โดยทั่วไป แต่เดิมนักโทษทุกคนจะมีสิทธิได้รับการเยี่ยม ถ้าผู้เยี่ยมแจ้งชื่อนักโทษ เข้าคิว ก็จะได้เยี่ยม แต่ละที่ก็จะมีกฎ มีความแออัดต่างกันไป โดยหลักนักโทษคนนึงจะได้รับการเยี่ยม 20 นาทีต่อคนต่อวัน แต่ว่านักโทษก็จะมีสิทธิมากขึ้นถ้ามีทนายความมาเยี่ยม เพราะทนายจะมาปรึกษาคดีในรายละเอียด ซึ่งวันนึงเยี่ยมได้ไม่จำกัด แต่ถ้าถึงบ่าย 3 ก็จะหมดเวลาเยี่ยม ต้องเข้าห้องขัง นอกจากนี้ทนายยังได้รับสิทธิในบางกรณี เช่นตอนนี้ช่วง COVID-19 ที่ญาติเยี่ยมไม่ได้ ทนายก็จะเยี่ยมได้ นี่คือระบบที่เรือนจำ ปฏิบัติเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นคดีการเมืองหรือไม่”
“ผมเองก็ทำหน้าที่ไปเยี่ยมตั้งแต่ปี 53-54 ที่มีคนถูกจับจากคดีการเมืองพอสมควร และนักโทษการเมืองสมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ คือไม่มีใครรู้จัก เข้าคุกไปเลย ทนายก็ไปเยี่ยมบ้าง บางคนโดยเฉพาะนักโทษการเมืองคดี 112 ที่สมัยก่อนพอเข้าเรือนจำไปที่บ้านตัดหางปล่อยวัดเพราะกลัว ไม่มีใครไปเยี่ยมเลย ถ้าทนายไม่ไป ก็ไม่มีคนเยี่ยม บางคนพอจะสืบพยาน จะขึ้นศาล ทนายก็ไปเยี่ยมก็พบว่า อยู่อย่างลำบาก โดนซ้อม โดนกีดกัน กลั่นแกล้ง บทบาทของทนายที่จะตีเยี่ยมจึงสำคัญ เพราะถ้าไม่มีใครไปเยี่ยมเลย ทนายไปบ้างก็ดี”
ยิ่งชีพเล่าว่า เขาได้ไปเรือนจำครั้งแรกโดยมี ทนายอานนท์ นำภา ที่กลายเป็นผู้ต้องขังคดี 112 พาไป โดยอานนท์จะเป็นห่วงใยนักโทษตลอด หากคนไหน ไม่มีใครไปเยี่ยม เขาก็จะพยายามชวนไปช่วยกันเยี่ยม ทั้งบรรยากาศการเยี่ยมในยุคนั้น ก็แตกต่างจากตอนนี้ด้วย
“ช่วงปี 53-55 นักโทษการเมืองเยอะ ก็เกิดกิจกรรมไปเยี่ยมนักโทษ พี่สมยศที่ก็อยู่ในเรือนจำช่วงนั้น ก็มีคนไปเยี่ยมทุกวัน และเยี่ยมแบบทำกิจกรรม เขาจะนัดกันทุก 11 โมง ห้องเบอร์ 9 คนก็มากัน 30-40 คน ไปเยี่ยมในเวลา 20 นาที ร้องเพลง ทำอะไรกันทุกวัน บางทีนักโทษก็ออกมา 3-5 คนร่วมกันและทำกิจกรรม”
“ปี 57 มี คสช.เข้ามา นักโทษการเมืองเยอะขึ้นมาก มี 60-70 คน เรือนจำก็เปลี่ยนนโยบาย ไม่ให้มาเยี่ยมและทำกิจกรรมแบบเดิม เปลี่ยนเป็นนักโทษทุกคนจะให้คนมาเยี่ยมได้ไม่เกิน 10 รายชื่อ โดยให้เขียนลิสต์รายชื่อ คนที่ไม่มีรายชื่อจะเยี่ยมไม่ได้ หลังจากนั้น คนที่ไปทำกิจกรรมเยี่ยมไม่ได้ ต้องเป็นทนายเยี่ยมเป็นหลัก”
“พอมาช่วงนี้คือวิกฤตที่สุด พอมี COVID-19 เรือนจำจำนวนมาก ก็อยู่ภายใต้พื้นที่สีแดง เขาไม่ให้ญาติเยี่ยมนักโทษเลย 100% แต่ว่าทนายยังมีสิทธิในการปรึกษาคดีอยู่ แล้ว 14 วันแรกที่เข้าไป ทนายเยี่ยมได้ แต่ต้องเป็นวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เท่านั้น ทั้งๆ ที่เวลาเยี่ยม มันจะมีกระจกกั้นอยู่แล้ว และเราจะคุยกันผ่านโทรศัพท์ แตะเนื้อต้องตัวกันไม่ได้ ดังนั้นสถานการณ์ของผู้ต้องหาที่อยู่ในเรือนจำตอนนี้ ค่อนข้างตึงเครียด”
“ทั้งเวลาคอนเฟอร์เรนซ์ อย่างเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก็ต้องออกมาทีละคน จึงใช้เวลานานมาก นี่เลยเป็นบทบาทที่ค่อนข้างเป็นภาระว่า ทนายนอกจากต้องดูแลคดีในทางกฎหมายแล้ว บางทีช่วง 14 วันแรก ครอบครัวเขาก็จะเป็นห่วง คนก็กลัว มันมีข่าวลือมาตลอดเรื่องจะถูกทำร้าย จึงเป็นภาระหน้าที่ ที่ทนายไปเจออย่างน้อยวันละครั้ง ว่าข่าวลือเป็นจริง หรือไม่ ถูกกลั่นแกล้งหรือเปล่า ก็เป็นภารกิจของทนายขึ้นมาในช่วงนี้”
เมื่อมีการถามถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ ตั้งแต่อดีต เทียบกับตอนนี้ ยิ่งชีพก็เล่าว่า สมัยปี 53 นักโทษคดี 112 ก็ได้รับการปฏิบัติต่างจากตอนนี้ ด้วยสภาพของสังคม “ตอนนั้นบรรยากาศบ้านเมืองไม่ได้เป็นแบบนี้ คนที่ถูกคดี 112 และเล่าให้ฟังเรื่องการถูกซ้อมคือ พี่หนุ่ม เรดนนท์ ที่บอกว่า มีบาดแผล มีผู้คุมที่ไม่ชอบ 112 จัดกิจกรรมซ่อมให้ อย่างกรณีอากงเองก็ถูกให้ทำงานหนัก นักโทษในช่วงนั้นก็จะถูกทำให้ต้องทำงาน เหมือนข้ออ้างว่าฝึกวิชาชีพ แต่ก็คือการทำงานแรงงานแหละ แต่ก็มีการส่งจดหมายร้องเรียนจนอากงไม่ต้องทำงาน”
“ปี 57 ก็จะเป็นช่วงที่คดีทางการเมืองเยอะ การกลั่นแกล้งหรือการซ้อมก็น้อยลง นักโทษการเมืองเริ่มถูกปฏิบัติเหมือนนักโทษทั่วไป ต้องเข้าเวร ต้องทำงาน คนที่มีการศึกษาหน่อยก็ให้ทำงานห้องสมุด ให้ช่วย ห้องทำคอมพิวเตอร์ แต่งานที่ออกไปทำข้างจะไม่มี”
พิม กฤตยา กิจกาญจน์ ทนายอีกคนจาก iLaw ได้เล่าถึงการเยี่ยมของเธอว่า ช่วงนี้เธอต้องทำเรื่องตีเยี่ยมเกือบทุกวัน และได้เยี่ยมเกือบทุกคน โดยเธอเคยต้องเยี่ยมผู้ต้องขังมากถึง 7 คนใน 1 วัน “ทุกวันพิม กับพี่ท็อป (ทนายอีกคน) จะไปถึงเรือนจำ 9 โมงครึ่ง และจะไปทำเรื่อง แต่กว่าจะได้เจอหน้าผู้ต้องขังคือเกือบเที่ยง และเยี่ยมได้ถึงประมาณบ่าย 3 ที่ผ่านมาก็ต้องเฉลี่ยเวลาเยี่ยมแต่ละคน ซึ่งวันนึงเคยเยี่ยมถึง 7 คน”
ท็อป พงษ์สิทธิ์ นาเมืองรักษ์ ทนายจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ได้เสริมถึงขั้นตอนการเยี่ยมว่า “แต่ก่อนทนายไม่ต้องทำเรื่องอะไร แค่กรอกแบบฟอร์ม ไม่ต้องทำเรื่องทนายแต่ง สำหรับการเจอกันครั้งแรก แต่หลังจากที่มีผู้ต้องขังทางการเมืองเยอะขึ้น การปฏิบัติก็เปลี่ยน ต้องให้เรายื่นส่งเอกสารให้ผู้ต้องขังเซ็นต์ก่อน พอเซ็นต์ออกมาทำเรื่องตีเยี่ยม เรื่องการส่งเอกสารไปเซ็นต์ใช้เวลารอเป็นชั่วโมง พอมีผู้ต้องขังคนไหนที่ไม่ได้เซ็นต์ทนายแต่งข้างนอก พอเข้าไปในเรือนจำพิเศษ เราต้องไปกรอกเอกสารใหม่ เพื่อให้ใบแต่งมา”
ทั้งในช่วง COVID-19 ผู้ต้องขังที่เข้าเรือนจำมา ยังต้องมีการกักโรคด้วย “มีการกักโรค 14 วันที่เรือนสอง ก่อนจะถูกย้ายไปแดนหนึ่ง เพื่อรอจำแนกแดนอีกที ซึ่ง 4 คนแรกที่เข้าไป อานนท์ถูกเบิกตัวออกมาศาล ก็เลยไปตกแดน 2 อีกครั้ง ส่วนคนอื่นๆ อย่างเพนกวินไปตกแดน 5, พี่สมยศแดน 6, แบงค์ไปแดน 8 ซึ่งแดน 5 กับ 8 เป็นแดนของนักโทษเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่เราค่อนข้างกังวล (ซึ่งเคยมีการออกข่าวถึงประเด็นนี้) แต่มีการเบิกตัวมาศาล ทำให้ทุกคนกลับไปอยู่แดน 2 อีกครั้ง แต่เรารู้สึกว่า เขาพยายามจะแยก ไม่ให้ทุกคนได้อยู่ด้วยกัน”
“เราเซอร์ไพรส์มาก เพราะไม่คิดว่าคนอื่นอยู่ในนั้นจะไม่ได้เจอกัน จะมาเจอกันตอนเราเบิกตัวมาคุย กลายเป็นทนายเจอกันมากกว่า ที่พวกเขาเจอกันอีก” ทนายท็อปเล่า
ทนายอีกคนที่มาร่วมพูดคุยกันคือ ทนายป็อก วีรนันท์ ฮวดศรีที่ได้เล่าถึงปัญหาหนึ่งที่เจอจากการเยี่ยมว่า “ผมตั้งข้อสังเกต เรื่องใบแต่งทนายความ ก่อนหน้านี้ไผ่ จตุภัทรเซ็นใบแต่งทนายความมาจากศาลแล้ว แต่ปัญหาคือว่าพอจะเข้าเยี่ยม เรือนจำบอกให้เซ็นต์ใหม่ เพราะไม่รู้ว่าไผ่เป็นคนเซ็นต์จริงๆ หรือเปล่า เนื่องจากไม่มีตราประทับศาล ซึ่งระยะยาวเป็นปัญหากับคนเยี่ยม เพราะว่าใบแต่งทนาย ตัวความอยู่ที่เขาแต่งตั้งทนาย แต่อันนี้เจ้าหน้าที่ถาม และไม่เชื่อใจ ก็จะให้ไผ่เซ็นใบแต่งทนายใหม่ ซึ่งทำให้เสียเวลานี้ไปพอสมควร ความสงสัยทำให้ผู้เยี่ยมเสียเวลา” ซึ่งในข้อสังเกตนี้ ยิ่งชีพเองก็เล่าว่า เขาเองก็พบเจอปัญหานี้เช่นกัน
สถานการณ์ของผู้ต้องขังในเรือนจำ
เนื่องจากทนาย เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ได้สื่อสาร และเห็นผู้ต้องขัง เราจึงให้ทนายร่วมกันเล่าถึงสถานการณ์ สภาวะจิตใจของผู้ต้องขัง รวมไปถึงประเด็นที่ได้พูดคุยกันให้เล่าฟัง ซึ่งพิมเล่าว่า “ทุกคนเวลาเจอหน้ากัน ก็จะถามถึงสถานการณ์ข้างนอก ว่ากระแสเป็นยังไง พูดถึงคนข้างในบ้างไหม ส่วนใหญ่เขาอยากรู้ว่าข้างนอกเป็นยังไง เราก็ต้องเตรียมตัวไปทุกวัน ว่าข้างนอกเป็นยังไง เขาจะถามว่ามีม็อบที่ไหน ใครทำกิจกรรมอะไรบ้าง”
ในวันที่เราพูดคุยกันใน Clubhouse พิมเล่าว่า วันนั้นเธอได้เจอทั้ง ไผ่ สมยศ อานนท์ เพนกวิน โตโต้ และอนุชา (ปัจจุบันได้รับการประกันตัวแล้ว) “พี่ไผ่ค่อนข้างโอเค ยิ้มแย้ม เจอทีไรก็มีท่าทีแจ่มใสเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ซึ่งแม่พี่ไผ่ก็ไปเยี่ยม พี่ไผ่ได้เจอหน้าแม่ เพราะแม่ก็เป็นทนายด้วย ขณะที่คนอื่นๆ ก็ไม่ได้เจอครอบครัว”
“พี่อานนท์ไม่ห่วงอะไรเลย นอกจากสถานการณ์ข้างนอก เราเอาเรื่องรัฐธรรมนูญไปเล่า ว่า ส.ส.พรรคก้าวไกลชูรูปพวกเขาในสภา เขาก็ยิ้มละหันไปพูดกับไมค์ว่า พวกเราดังแล้วได้เข้าสภาด้วย เวลาถ้ามีอะไรที่คนข้างนอกทำเพื่อคนข้างใน เขาก็จะแฮปปี้ วันนี้ก็มีพี่ทนายที่เขารู้จักเข้าไป ทนายอานนท์ก็มีกำลังใจมากขึ้น”
“ตอนนี้เพนกวินอยากอ่านหนังสือมาก เพราะเป็นกิจกรรมฆ่าเวลาของน้อง แต่ว่าเรือนจำมีกฎห้ามส่งหนังสือเรียนเข้าไป วันนี้พิมเลยทำเรื่องกับเจ้าหน้าที่ ให้พิจารณาส่งเป็นกรณีพิเศษ เขาก็รับปาก คนข้างในยังเข้มแข็งยังสู้อยู่มาก จะถามตลอดว่าข้างนอกเป็นยังไง แม้เจอเพนกวินหลังอดอาหาร หน้าซีด พูดช้า เสียงแหบ จะหมดแรง แต่ก็ยังถามสถานการณ์ข้างนอก ยึดมั่นในอุดมการณ์”
ก่อนหน้านี้ เราได้คุยกับแม่สุ แม่ของเพนกวิน ซึ่งแม่เองก็เล่าว่า ชีทเรียนต่างๆ ที่พยายามฝากไปในช่วงแรกที่ถูกคุมขัง ก็ยังไม่สามารถส่งให้ได้ เราจึงถามทนายถึงประเด็นนี้ โดยทนายป็อกก็ได้เล่าว่า เคยฝากหนังสือเรียนไปเกี่ยวกับวรรณคดี “แต่ทีนี้ชีทเรียนของเพนกวินจะมีภาษาอังกฤษ กองวิเทศน์ศึกษาบอกผมว่า เขาต้องเอาไปตรวจว่ามีอะไรล่อแหลม ต้องอ่านทุกหน้า ก่อนจะสแตมป์ รอเวลานำเข้า”
ด้านทนายท็อปเอง ก็เล่าว่า ปกติตัวเขาจะตีเยี่ยมชุด 4 คนแกนนำ และ 5 คนคดีทุบรถประชาชื่น “5 คนนี้ พวกเขาค่อนข้างเป็นนักสู้ที่ร่วมม็อบมานาน ส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดง ก็จะไม่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่ได้เจอ แต่พวกเขาก็จะห่วงข้างนอก” ทั้งพอผู้ตั้งขังเพิ่มขึ้น ทนายท็อปเองยังได้เยี่ยมปริญญา หรือพอร์ท ไฟเย็นด้วย “คำของเขาบอกว่า ตอนแรกคิดว่าจะแย่กว่านี้ แต่จริงๆ อยู่ได้ ซีเรียสตรงที่ไม่มีกีต้าร์ วันทั้งวันไม่รู้จะทำอะไร ส่วนเรื่องอาการป่วยเขาบอกราชทัณฑ์รักษาได้ เขาเองก็เตรียมตัวเตรียมใจมาซักระยะ แต่ว่าเขาเป็นห่วงแม่ จะฝากข้อความหาแม่ตลอด ว่าอยู่ได้ เรื่องยาผมก็ฝากเข้าไป เพราะเขาป่วยเป็นโรคประจำตัวที่ต้องกินวิตามินตลอด”
ขณะที่ยิ่งชีพเอง ได้ไปเยี่ยมฟ้า พรหมศร ที่เรือนจำธัญญบุรี “ฟ้าเพิ่งเข้าไป ทุกคนก็เป็นห่วงเพราะเขามีแผล บาดเจ็บจากมอเตอร์ไซค์ล้ม และไม่รู้ว่าเข้าไปจะได้รับการพยาบาล ล้างแผลอย่างถูกสุขอนามัยหรือเปล่า ผมเยี่ยมฟ้าผ่านคอนเฟอร์เรนซ์ ฟ้าก็บอกได้รับการล้างแผล ผู้ช่วยซึ่งก็คือนักโทษ ก็มาล้างแผลให้ ตอนนี้ไม่ได้ปิดผ้าก๊อต เราก็เห็นแผลที่ใหญ่ และคงต้องดูแลอย่างดี ถ้าอยู่ในที่สกปรกก็กลัวแผลติดเชื้อ แต่สิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นการรักษาพยาบาล ก็ถือว่าได้ และวันนี้ก็ทำเรื่องส่งยา พร้อมใบรับรองแพทย์ ทางเรือนจำก็รับเรื่อง ซึ่งระหว่างเราเยี่ยมเจ้าหน้าที่ก็เดินมาพูดคุย พยายามจะมาแสดงออกให้เราสบายใจว่าเขาจะดูแลอย่างดี และฟ้าก็บอกว่าเจ้าหน้าที่ต้อนรับดี”
“ตอนนี้กระแสข้างนอกเองพอมีบ้าง มีกิจกรรมหน้าเรือนจำ หน้าศาล เจ้าหน้าที่เขาก็กดดัน นอกจากกรณีที่อานนท์เขียนเล่าว่า ถูกเอาตัวไปตอนกลางคืน ไม่รู้ว่าเรื่องอะไร เรื่องอื่นๆ เขาก็ระมัดระวังเป็นพิเศษ จับตาเป็นพิเศษ ดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ” ยิ่งชีพเสริม
ทนายอานนท์ กับกรณีการตรวจ COVID-19 ตอนกลางคืน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ทนายอานนท์เป็นผู้ต้องขังคนหนึ่งที่ออกศาลเกือบทุกวัน ซึ่งในวันหนึ่งเขาได้เขียนจดหมายร้องขอความคุ้มครองจากศาล โดยเล่าถึงกรณีที่มีคนขอเข้ามาตรวจ COVID-19 ในเรือนจำตอนกลางคืน ซึ่งทำให้แกนนำที่ถูกคุมขังมองว่าอาจเกิดเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพวกเขา ซึ่งเราก็ได้เอาประเด็นนี้ มาถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเหล่าทนาย
“ข้อความที่พี่อานนท์เขียนเป็นหน้าหลังในแบบฟอร์มของศาล แถลงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังถูกพากลับจากศาลไปเรือนจำซึ่ง 4 คน กลับเข้าไป และมี 3 คน (ไมค์ ไผ่ โตโต้) มาสมทบ พี่อานนท์ก็เขียนเล่าว่า ยามวิกาล มันใช่หรือเปล่าที่มาตรวจโควิด แล้วมาถึง 2-3 ครั้งในคืนนั้น ตอน 3 ทุ่มครึ่ง, 5 ทุ่ม 45 และตีสองครึ่ง เขาก็ปฏิเสธตลอด คือเขายินยอมนะ แต่ว่าขอเป็นตอนเช้า ก็เลยมีการเขียนเรื่องราว” ทนายป็อก วีรนันท์เล่า
“จดหมายอีกฉบับที่พี่อานนท์เขียนมันมาจากความรู้สึกเขาจริงๆ และศาลก็เห็นผิดปกติหรือเปล่าจึงไตร่สวน ว่าคืนที่ 15 ตั้งแต่ช่วง 4 โมงครึ่ง ถึง ตี 3 มันเกิดอะไรขึ้น มีเรียกพี่อานนท์มาศาล และทางราชทัณฑ์ก็มีผู้บัญชาการพิเศษกรุงเทพมาให้ปากคำ มันเลยมีภาพสะท้อนหลังการแถลงที่พี่อานนท์พูดว่า ญาติ หรือทนายก็ช่วยชีวิตผมไม่ได้ ที่ช่วยชีวิตผมได้มีแต่ศาล ท่านรู้ไหมครับว่าท่านกำลังนั่งอยู่ต่อหน้าคนที่กำลังจะตาย ศาลตอบมาว่า ศาลจะให้ความเป็นธรรมถึงที่สุด”
“สิ่งที่พี่อานนท์เล่าในศาล กลั่นมาจากความกลัวจริงๆ พี่อานนท์บอกว่า เขาไปหมุนนาฬิกาให้เป็น 7 โมงเช้า เพื่อให้เป็นความรู้สึกว่ามันไม่ใช่วันนี้ แต่เป็นอีกวันนึง และนอนไม่หลับทั้งคืน ไม่รู้ว่าตี 3 ตี 4 เขาจะมาเรียกอีกหรือเปล่า จนเขามาเรียกไปออกศาล และมาเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในคืนนั้น”
ยิ่งชีพ ได้เสริมถึงชีวิตในเรือนจำ เพื่อให้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนนั้นว่า “ชีวิตในนั้นจะเป็นเซอร์เคิลปกติของทุกที่ทั้งประเทศ คือผู้ต้องขังจะอยู่ในห้องนอนตั้งแต่บ่าย 3 ของทุกวัน จะต้องเข้าห้องนอนที่นอนรวมกัน ปิดล็อกไปเลย อยู่จนถึงตี 5 ถึงจะได้ออกมาใช้ชีวิตในแดน เช่น ไปซักผ้า กินข้าว ทำกิจธุระส่วนตัว และก็กลับเข้าไปในห้องนั้น แล้วไม่ได้ออก นี่คือระบบควบคุม เพื่อความปลอดภัย เพราะว่าเรือนจำ เป้าหมายสูงสุดคือ ทำยังไงให้นักโทษอยู่ในนั้น ไม่หนีไป ดังนั้นการที่ตกเย็นเขาต้องอยู่ในนั้นตลอดทั้งคืนเป็นเรื่องซีเรียสมาก ซีเรียสที่สุด”
“มีเรื่องเล่าที่พี่หนุ่ม เรดนนท์ เล่าว่าทุกห้องมีกระดิ่ง ถ้าเกิดอะไรในห้อง หัวหน้าห้องก็สั่นกระดิ่งเรียกผู้คุมได้ แต่ยังไงก็ออกไม่ได้ ซึ่งพี่หนุ่มเล่าว่าเคยมีคนตายตอนกลางคืน เจ้าหน้าที่ก็มา แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่ได้เอาออก จนเช้าถึงเอาศพออก ถ้าเกิดว่าใกล้ตายต้องปฐมพยาบาลก็จะเปิด แต่ถ้าตายแล้ว เขาไม่เปิดด้วยซ้ำ ดังนั้นมันซีเรียสมาก พูดตรงๆ ไม่มีหรอก ตรวจโควิดตอนกลางคืน มันเป็นไปไม่ได้ และเป็นเรื่องผิดปกติมาก
ทนายป็อกยังเล่าต่ออีกว่า เรื่องโควิดแทบจะอ้างไม่ได้เลย เพราะคนที่รับตัวมาเพิ่มเติม อย่างไผ่ ไมค์ โตโต้ ก่อนเข้าแดนสอง ต้องผ่านแดนพยาบาลมาอยู่แล้ว “ถ้าจะอ้างว่าตรวจโควิด แล้วกักตัวที่สถานพยาบาล ก็ต้องกักตั้งแต่แรกเข้า ไม่ใช่ให้เข้าไปแดนสอง แล้วที่สำคัญที่น่ากังวลคือการเปิดห้องขังตอนกลางคืน เกิดอะไรขึ้น คุณเข้ามาในเรือนจำผ่านประตูใหญ่ ประตูแดน ประตูเรือนนอน มาห้องขัง มันไม่ได้มีแค่กุญแจ 2-3 ดอก มันต้องมีผู้รับผิดชอบ คนถือกุญแจเวร มันเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ”
ทนายท็อปได้เสริมรายละเอียดว่า “ผู้ต้องขังพูดว่า คนที่มารอบตี 2.45 คนที่มาข้างในจะเป็นเจ้าหน้าที่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพที่คุ้นหน้าคร่าตากัน แต่คนที่อยู่ข้องนอก 20 คน จะไม่ติดป้ายชื่อเลย และก็ไม่รู้ว่าเป็นใครด้วย และข้อน่าห่วงกังวลอีกข้อ คือในแดนเดียวกัน ที่นอนอยู่ชั้นล่างของผู้ต้องขังทางการเมือง คือห้องของพวกเสี่ยโป้ การที่เอาออกไปมันไม่ปลอดภัยแน่นอนในความรู้สึก เขาเลยรู้สึกมีความกลัว”
ทนายป็อกเอง เป็นหนึ่งคนที่อยู่ในห้องไตร่สวน เขาเล่าว่า “พี่อานนท์บอกว่า สิ่งที่คิด ไม่คิดว่าเขามาตรวจโควิด แต่กังวลว่าเขามาแหย่จมูก ถ้าเอาอะไรมาใส่สำลี และแหย่เข้ามาที่จมูก แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นเขาห่วงชีวิต ร่างกาย คือแดนมีทั้งหมด 8 แดน แต่ละแดนอยู่ไกลกัน หนึ่งก็คือว่า ถ้าพ้นประตูแดนสองออกไป ก็กังวลว่าจะพาไปไหน จะพาไปแดนอื่น หรือพาออกไปข้างนอก และเขาเหล่านั้นเป็นใคร”
“ข้อเท็จจริงที่พี่อานนท์เล่าคือ เจ้าหน้าที่ชุดเดิมที่มาตอน 3 ทุ่ม 4-5 คน เขาใส่ชุดสีกากี หรือชุดของราชทัณฑ์ มีป้ายชื่อ มีชื่อ มีตำแหน่ง แต่ว่าส่วนที่เหลือคือใส่ชุดฝึก เขาบอกเป็นชุดปฏิบัติการสีกรมท่า
“แต่ปัญหาคือไผ่เดินไปถามชื่อแต่ละคน พวกชุดสีกรมท่า เขาไม่บอกชื่อเลย ไผ่ก็เลยบอกไม่ออกไปกับพี่แน่นอน เพราะคิดว่าถ้าออกไปตายแน่ๆ นี่คือปากคำจากพี่อานนท์”
แม้ว่าระยะหลัง ทนายรอน นรเศรษฐ์ นาหนองตูม หนึ่งในทนายจากศูนย์ทนายฯ จะได้ไปเรือนจำน้อยลง และไปศาลเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาก็ได้มาพูดคุยกับเรา และเล่าถึงความเห็นของเขา ต่อเหตุการณ์ของทนายอานนท์ว่า “เป็นห่วง เพราะว่ามันไม่มีใครรู้ว่าข้างในจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาไม่สามารถโทรออกมาบอกว่าโดนอะไร เราจะรู้เร็วที่สุดคือพรุ่งนี้เช้าตอนไปเยี่ยม ถ้าทุกคนสบายดี ก็สบายใจ ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราก็รู้ตอนนั้น ดังนั้นสิ่งที่พี่อานนท์เขียน ก็เหมือนจดหมายลาตายของปฏิวัติ” ทั้งในการเยี่ยมของทนาย ยังสามารถเยี่ยมได้แค่วันธรรมดา หากเกิดอะไรในช่วงสุดสัปดาห์ ทนายเองก็จะไม่รู้ด้วย
“สิ่งที่เกิดในเรือนจำในจดหมายของอานนท์ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยอมรับว่า ในวันที่เข้าไปไม่ได้มีแค่เจ้าหน้าที่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่มีเจ้าหน้าที่จากสังกัดกรมราชฑัณฑ์ จากกลุ่มเรือนจำลาดยาว และมีการยอมรับข้อเท็จจริงในทำนองว่า มีเจ้าหน้าที่ไม่ติดป้ายชื่อจริง แต่ในลักษณะไหนไม่ทราบ ซึ่งมันอาจจะขัดกับคำแถลงของรองอธิบดีกรมราชฑัณฑ์ว่า วันนั้นที่ไปส่วนมากก็จะมีแต่แพทย์ พยาบาลผู้หญิง แต่พอข้อเท็จจริงปรากฎในศาล คือมีเจ้าหน้าที่ผู้ชาย ใส่ชุดสีกรมท่า ไม่ติดป้ายชื่อ” ทนายรอนตั้งข้อสังเกต
ซึ่งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ศาลได้มีการนัดไตร่สวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ในวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยศาลนัด รองอธิบกรมราชทัณฑ์และ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ที่อยู่ภาพวงจรปิด พร้อมผู้ต้องหาอีก 2 คน คือไผ่และไมค์มาร่วมด้วย
เมื่อครอบครัวไม่ได้เยี่ยม หน้าที่ของทนายจึงเพิ่มขึ้น
นอกจากทนายที่มาพูดคุยกับเรา เมย์ เมธาวี พี่สาวของรุ้ง ปนัสยาเอง ก็ยังเข้ามาพูดคุยกับเรา แม้ที่ผ่านมา เธอจะยังไม่ได้เข้าเยี่ยมน้องสาวเลย และสื่อสารกันผ่านทางทนายเท่านั้น “เหมือนที่ทุกคนรู้ เมย์ยังไม่ได้เจอน้องเลย ที่เจอล่าสุดคือเบิกตัวมาศาลที่ผ่านมา น้องรุ้งก็ฝากข้อความผ่านทนายว่า อยู่มา 10 กว่าวันเขาก็ควรได้รับอิสรภาพที่เขาควรได้ เพราะยังไม่ถูกตัดสินคดี เราเองก็ห่วงเรื่องสอบกลางภาคของเขา และเราไม่รู้ว่าเรื่องการเรียนเขาจะเป็นยังไง หลังจากออกมาแล้ว”
พอยิ่งได้ยินเรื่องทนายอานนท์ เมย์ยิ่งเป็นห่วงน้องมาก เพราะว่ารุ้งเป็นผู้ถูกคุมขังที่เป็นผู้หญิงคนเดียว แล้วก็ไปอยู่ทัณฑ์สถานหญิง ไม่มีคนคอยระวังหลัง เราก็ไม่ได้ไปเยี่ยมน้อง เราก็ไม่รู้ว่าเขาโอเคไหม เพราะโดยส่วนตัว น้องรุ้งเขาฝากทนายออกมาเขาก็จะบอกว่า เขาอยู่ได้ สบายดี พยายามจะเข้มแข็ง ไม่ได้บอกว่าเขาเจออะไรบ้าง เราก็กังวล และเป็นห่วง ยิ่งเขาอยู่คนเดียว ไม่มีที่ปรึกษา แล้วเมย์ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยน้องยังไง เพราะเราจะไม่ได้รับการเยี่ยมเร็วๆ นี้ พอเบิกตัวมาศาล ก็ต้องกลับเข้าไปกักตัวอีก 14 วัน”
เมยังเล่าอีกว่า ทัณฑ์สถานหญิงแตกต่างจากที่อื่น โดยมีการให้เยี่ยมผ่านไลน์ด้วย “เขาแจ้งว่าเยี่ยมผ่านไลน์ได้วันนึงไม่เกิน 60 คน แต่มีคนที่อยู่ในเรือนจำ 5,000 คนซึ่งมันไม่เพียงพอ และที่เมย์ไม่เข้าใจคือ เราจองไปตั้งแต่วันแรกที่รุ้งเข้าไปอยู่ที่นั่น ก็ได้รับการติดต่อมาว่าคิวคือ 22 มีนา แต่พอรุ้งได้รับการเบิกตัวมาศาลวันที่ 15 มีนาเขาก็ไลน์มาบอกเมย์ว่ายกเลิกไปก่อน เพราะว่าได้รับการเบิกตัว เราก็ไม่เข้าใจ เพราะมันไม่เกี่ยวกันเลย เราเยี่ยมผ่านไลน์ เราไม่ได้เจอกันอยู่แล้ว” ซึ่งที่ผ่านมาการสื่อสารของเม ก็เป็นการรับรู้ผ่านทนายเลย มีอะไรก็ฝากทนายไป รุ้งก็ฝากออกมา
การที่ญาติ และครอบครัวไม่ได้เยี่ยม ส่งผลให้ทนายที่นอกจากเป็นที่ปรึกษาด้านคดีแล้ว ต้องทำหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการอัพเดทข่าวจากโลกข้างนอก รวมถึงส่งข้อความผ่านให้ครอบครัว และเพื่อนๆ ซึ่งพิมก็เล่าว่า เธอมีประสบการณ์ที่ส่งข้อความผ่านครอบครัวแกนนำอยู่บ่อยครั้ง
“เราต้องไปรับจากครอบครัวมา และไปส่งคนข้างใน และเราก็รับจากคนข้างในไป ไปส่งต่อคนข้างนอก การไม่ให้ครอบครัวเยี่ยมน่าจะเป็นอะไรที่เลวร้ายที่สุดแล้ว ครั้งนึง ตอนไมค์ยังอยู่ที่พิเศษธนบุรี แม่ไมค์ก็ไปด้วยกัน แต่เข้าห้องเยี่ยมไม่ได้ ยืนรอข้างนอก พิมก็บอกไมค์ว่าแม่อยู่ข้างนอก จะฝากอะไรไหม พอไมค์บอกมา พิมก็วิ่งออกไปบอกแม่ แม่ก็ฝากบอกไมค์ เราก็วิ่งกลับไป กลับไปกลับมาจนโดนเจ้าหน้าที่เรือนจำเตือน พอถึงเวลาที่ไมค์จะต้องกลับไปแล้ว เราก็บอกแม่ว่าต้องไปแล้ว ฝากอะไรไหม แม่ก็บอกว่าแม่เข้มแข็งนะ ดูแลตัวเอง ไม่ต้องห่วงแม่ ก็มีโอกาสได้จับมือแม่ไมค์ เราก็เอาข้อความไปบอก และก็บอกว่าเราไปจับมือแม่มา มาจับมือเราเร็ว ก็เป็นช็อตที่พิมเอามือมาทาบลูกกรงกันกับไมค์ ช็อตนั้นไมค์น้ำตาคลอ เราก็รู้สึกว่ามันควรจะเป็นแม่เขาหรือเปล่าที่ควรทำสิ่งนี้
อีกเรื่องเราไปเยี่ยมพี่สมยศ พิมกับพี่เป๋าก็ถามว่าอยากฝากอะไรไหม มีธุระอะไรให้จัดการหรือเปล่า พี่สมยศก็บอกว่าไม่มี จัดการทุกอย่างหมดแล้ว แต่ก่อนหมดเวลาเยี่ยม พี่สมยศก็บอกว่า ฝากไปบอกลูกสาวพี่หน่อย มีเบอร์ลูกสาวพี่ไหม เราก็บอกว่าไม่มี เขาก็หยิบกระดาษเล็กๆ จากกระเป๋ากางเกง ในนั้นคือจดเบอร์ลูกไว้ มีอยู่ 2-3 เบอร์ ละก็ให้เบอร์ลูกสาวมา บอกว่าช่วยหาลูกสาวหน่อย ชวนไปเดินทะลุฟ้าก็ได้ กลัวเขาเหงา พ่อเข้ามาอยู่ในนี้แล้วเขาไม่เหลือใคร ฝากช่วยคุยไปเพื่อนเขาหน่อย ตอนนั้นเรากลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ช็อตนั้นมันบีบหัวใจทนาย”
“เรารู้เลยว่ามันเป็นความทุกข์ทั้งของผู้ต้องขัง ของครอบครัว ทนายก็เครียดนะ วันนั้นเรากลับไปก็เศร้า มีเหตุการณ์อะไรประมาณนี้หลายครั้ง ที่เราต้องรับสาร์นจากครอบครัว เอาไปส่งข้างใน เราว่าพี่ๆ ทนายหลายคนก็เป็นเหมือนเรา เวลาเราฝากข้อความอะไรไป มันก็จะติดอยู่กับเราด้วย เราไม่ได้รับมา และส่งออกหมด ก็มีความรู้สึกหลงเหลือกับเราด้วย”
“อยากให้ครอบครัวได้มีโอกาสเยี่ยม คือบางครั้งเขาอยากสื่อสารกันมากกว่าเรื่องข่าวสารชีวิตประจำวัน เขาอยากจะบอกว่าคิดถึง เป็นสายสัมพันธ์เขา ควรสื่อสารโดยตรงไม่ผ่านทนาย”
ซึ่งยิ่งชีพก็ได้เสริมว่า “แต่ก่อนตอนผมอายุน้อยกว่านี้ ผมเจอ ผมก็แบกมันไม่ค่อยไหว ตอนนี้โตขึ้นก็แบกมันได้มากขึ้น แล้วมันจะเป็นสเต็ปแบบนี้เลย ไปถึงเขาจะยิ้มแย้มแจ่มใส เราถามประโยคแรก ข้างในเป็นอย่างไร เขาถามสวนมา ข้างนอกเป็นยังไง เป็นอย่างนี้ทุกคน คุยเรื่องสัพเพเหระ เรื่องคดี จะประกันเมื่อไหร่ หลักประกันอะไร เสร็จพอเข้าครอบครัวเป็นอีกสีหน้านึง ฝากอะไรบอกเมีย บอกลูก หน้าเปลี่ยน น้ำตาไหล มันเป็นอย่างนี้ แล้วมันก็จะติดเรามานะ ฝากบอกเราบอกต่อนะ แต่อารมณ์ไม่ออก”
“บางทีแววตาของผู้ต้องขังก็ติดมาบ้านด้วยทุกวัน” ทนายท็อปเล่า
ทนายรอนบอกว่า การที่กลับมา แล้วเขียนเล่าลงเฟซบุ๊ก ถือเป็นวิธีระบายออกอย่างนึงของเขา “อย่างที่ทุกคนบอกว่าตอนไปเยี่ยม ช่วงที่เจอ มันจะเจอสภาพแบบนี้ และเราไปทุกวัน เบิกมาวันละ 4-5คน แล้วเราก็โทรไปบอกครอบครัวแต่ละคน และเขาก็จะฝากบอกข้อความมา ถ้าเราไปวันหลัง เช่น เป็นห่วงนะ ให้เข้มแข็ง ไม่ต้องเป็นห่วง”
“แต่ผมว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่ต่าง คือตอนที่ผู้ต้องขังทางการเมืองที่เขาถูกขังตอนเดือนตุลา 63 กับตอนนี้มันต่างกันมาก ตอนนั้นไม่เข้มงวดขนาดนี้ หนังสือของเพนกวินผมฝากวันนี้ พรุ่งนี้ก็ถึง แต่ตอนนี้อะไรก็ตามที่ฝากเข้าไป ทั้งถูกสแกน ถูกตรวจ ส่งอะไรไปได้ยากขึ้น เวลาที่เราจะไปเราต้องเตรียมตัวอย่างดีเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง ดูข่าว อ่านข่าว เพราะว่าต้องบอกว่าอยู่ข้างในจะไม่มีรายการข่าวให้ดูเลย จะไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีโทรทัศน์ให้ดู แต่ถ้ามีเรื่องข่าวเขาก็จะตัดออก ดังนั้นเวลาเราไป อย่างนึงที่เขาจะถามเสมอ คือสถานการณ์เป็นยังไง เกิดอะไรขึ้น”
โอกาสการประกันตัว และแนวโน้มการสู้คดี
เรื่องครอบครัวก็ต้องฝาก เรื่องคดี การทำเรื่องประกัน ทนายเองก็ต้องทำ ทนายรอนเองก็มองสถานการณ์ตอนนี้ว่า
“สภาพจิตใจคนข้างในตอนนี้น่าจะหนักกว่าการติดคุกครั้งก่อน ทุกคนถูกฝากขัง ไม่ช้าไม่เร็วถ้าไม่ถูกฟ้อง ทุกคนต้องได้รับการปล่อย ช้าสุดคือ 8-14 วัน แต่ครั้งนี้คือไม่มีกำหนด ถ้าไม่ได้ประกันตัว อาจจะต้องอยู่แบบนี้ไปหลายปี จนกว่าคดีจะจบหรือยกฟ้อง ทุกคนรู้เรื่องนี้ และจากมุมของผมที่มองเข้าไป ถ้าเป็นผมคงหนัก ด้วยความรู้สึกว่า ผมไม่ได้ผิดอะไร ทำไมผมไม่ได้ประกันตัวไปสู้คดี เจอทนายก็เจอยาก เจอผ่านคอนเฟอร์เรนซ์ เห็นเอกสารก็ยาก จะค้นหาข้อมูลมาสู้คดีก็ยาก ขณะที่ผู้กล่าวหาอยู่ข้างนอก เขาก็จะรู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรมมากๆ จนเกิดเหตุการณ์ที่หลายคนพูดในห้องพิจารณาคดีว่า ขังเขาแบบนี้ แล้วเขาจะสู้คดียังไง”
เมื่อเราถามถึงโอกาสในการประกันตัว พี่ๆ ทนายเองต่างก็มองว่า ตอนนี้ค่อนข้างลำบาก โดยสำหรับโตโต้ ปิยรัฐ ซึ่งไม่ใช่คดี 112 ทนายรอนเล่าว่า “ตอนนี้ได้ยื่นประกันไป 2 ครั้ง อธิบายไทม์ไลน์ของเขา เราไปหากล้องวงจรปิดต่างๆ เพื่อชี้ความบริสุทธิ์ แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ให้ประกัน เราก็จะยื่นอุธรณ์พิจารณาต่อไป”
แต่ขณะที่ ม.112 นั้น ทนายรอนก็ระบุว่า “โอกาสที่จะได้ประกัน ในความเห็นผม ในทางกฎหมายเราทำเต็มที่มากแล้ว ทั้งการโต้แย้งเรื่องเรียนของเพนกวิน ว่าเขาต้องได้ออกไปเรียนวิชานี้ เพราะอาจจะเรียนไม่จบ เราไปยื่นประกอบ แต่ศาลก็บอกไม่มีเหตุผลเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ในทางกฎหมายเราก็ไม่รู้จะไปต่อยังไง และเหตุผลอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ศาลก็ไม่ได้อธิบายให้ชัดเจน อย่างตอนนี้อัตราเงินประกันที่ขึ้นไปสูงสุดก็คือ 5 แสนแล้ว เท่ากับคดีพยายามฆ่า หรือค่าคนตายเลย”
“การประกันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานว่าตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาว่าคุณผิด ต้องสันนิษฐานก่อนว่าบริสุทธิ์ และจะปฏิบัติเหมือนผู้ต้องขังไม่ได้”
“ประมวลวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ก็ระบุว่าต้องให้ประกันเป็นหลัก การไม่ให้ประกันต้องมีเหตุผล และหลักตามกฎหมายจริงๆ ทั้งที่ผ่านมา กลุ่มแกนนำ ศาลยังไม่เคยให้ประกันตัวในคดี 112 เลย ดังนั้นเหตุผลที่บอกว่าศาลให้ประกันหลายครั้งแล้ว แต่ยังไปกระทำผิดซ้ำ มันไม่ถูกในข้อเท็จจริงด้วย”
“ทั้งคดี 112 ตอนนี้เร่งรัดมากพอสมควร มีหลายคดีที่ผู้ต้องขังโดนขังอยู่ แต่ก็เข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเรื่อยๆ อย่างรุ้ง เพนกวิน ก็จะถูกแจ้ง 112 เพิ่ม และก็มีการเร่งเมื่อผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำ เวลาส่งตัวไปอัยการ ก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้ต้องหาไป ส่งหนังสือไปอัยการได้เลย และถูกฟ้องศาลก็อาจจะออกหมายขัง หรือไม่ออก เพราะถูกขังอยู่แล้ว แต่ระหว่างนี้คดีไหนที่ถูกดำเนินคดี แต่ไม่ได้ไปรายงานตัว เขาก็อาจจะทำเรื่องอายัด ซึ่งถ้าได้ประกัน เขาก็อาจจะอายัดต่อ และฝากขังอีกก็ได้ แนวโน้มจะเป็นแบบนี้”
ทนายป็อกยังเสริมถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการประกันตัวเช่นกัน “ยกเคสที่เป็นรูปธรรม การประกันตัวในวันที่ 8 มีนา ของไผ่ ไมค์ รุ้ง นายประกันก็ทำเรื่องประกัน ระหว่างที่ผลคำสั่งยังไม่ออก เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็พาตัวผู้ต้องหาไปเรือนจำแล้ว ซึ่งไผ่โพสต์เฟซบุ๊กว่า ‘ศาลไม่ให้ประกัน กำลังไปเรือนจำ’ ปัญหาคือคนทำเรื่องประกันยังไม่รู้คำสั่งศาลเลย ทำไมราชทันฑ์จึงทำเรื่องขัง ถ้าศาลไม่ให้ประกัน ควรจะแจ้งนายประกันก่อน ที่ไม่เคลียร์คือศาลไม่แจ้งเรา และพวกเขาไม่อยู่ที่ศาลแล้ว ตรงนี้มีปัญหา”
‘ปล่อยเพื่อนเรา’ สิ่งที่คนข้างนอกจะสามารถทำได้ในการสู้เพื่อคนข้างใน
ในการสู้คดี และการเยี่ยมตอนนี้ เป็นหน้าที่ของทนาย เราก็ได้ถามเม พี่สาวรุ้งในฐานะครอบครัว และทนายคนอื่นๆ ว่า ถ้าเช่นนั้น ในฐานะคนข้างนอกที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เราจะสามารถต่อสู้ ให้กำลังใจ หรือทำอะไรเพื่อคนในเรือนจำได้บ้าง
เมย์บอกว่า “คนข้างในจะได้รับรู้ข่าวจากทนายอย่างเดียว ที่เมย์อยากให้ทำคือให้พูดถึงน้องๆ แกนนำ และคนที่ถูกคุมขังบ่อยๆ หรือมีแฮชแท็ก การวาดรูป อะไรที่คนข้างนอกทำ เขาจะดีใจ อย่างวันนั้นรุ้งเบิกตัวมาศาล เมย์ก็เล่าว่า งานแต่ง ส.ส.รังสิมันต์ โรม เขายังไม่ลืมกัน มีการชู 3 นิ้ว และพูดเรื่องปล่อยเพื่อนเรา เขาก็มีความสุขมาก และดีใจที่คนยังนึกถึงเขา มันเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจคนข้างใน และเป็นกำลังใจให้ครอบครัวมาก”
ทางด้าน iLaw เอง ก็มีแคมเป็นเขียนจดหมายถึงเพื่อน ซึ่งพิมเล่าว่า “เรือนจำแต่ละที่มีระเบียบไม่เหมือนกัน พิเศษกรุงเทพสามารถเขียนจ่าหน้าซอง ส่งเองได้เลย แต่วิธีนี้จะช้า อาจจะเป็นเดือน แต่ถ้าอยากให้เร็ว iLaw เหมือนเปิดรับเป็นคนกลาง ให้ทุกคนส่งมาที่ตู้ iLaw ก็ได้รวบรวมล็อตแรกไปแล้ว ไม่ต้องกลัวไม่ถึง แต่แค่จะถูกเปิดอ่านโดยเจ้าหน้าที่ก่อน”
“อย่างไปเจอพี่โตโต้ เขาก็ถามว่าทำไมทุกคนได้จดหมาย ทำไมผมไม่ได้จดหมาย เขาก็น้อยใจ เลยอยากให้ทุกคนช่วยกันเขียนไปหาคนข้างในกัน เพราะพอเราส่งไปให้ ทุกคนพูดถึงจดหมายหมดเลย ทุกคนก็บอกว่ามีกำลังใจ อย่างพี่ไผ่ ได้จดหมายของน้องสาว เขาก็บอกว่าเหมือนได้กำลังใจเพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารของเขาด้วย” ซึ่งหากใครขี้เกียจส่งไปรษณีย์ ที่หมู่บ้านทะลุฟ้า iLaw เองก็ไปเปิดโต๊ะ มีตู้ให้ส่งได้ด้วย
ปล่อยเพื่อนเราข้อความที่เราพบเห็นเป็นประจำตามการชุมนุมนั้น ไม่ใช่แค่การหวังให้ผู้ต้องขังได้รับสิทธิประกัน หรืออิสรภาพเท่านั้น ซึ่งทนายรอนเสริมว่า “มันไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้ปล่อยคนที่เรารู้จัก แต่มันเป็นมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม เพราะสิทธิการประกันตัว ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าเราเรียกร้องให้เป็นบรรทัดฐาน ผมว่าสังคมมันก็จะดี หรือการเรียกร้อง การทำกิจกรรม มันยังเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้คนใช้เสรีภาพอย่างปลอดภัย”
“อย่างน้อยๆ ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก็ควรยังได้รับการประกันตัวมาสู้คดี ไม่งั้นมันจะเป็นการสร้างความกลัว ปิดปาก ให้คนไม่กล้าพูดปัญหาต่างๆ ในสังคม ดังนั้นการรณรงค์เรียกร้องการปล่อยเพื่อนเรา มันจึงมากกว่าการปล่อยเพื่อนเรา”
ดูรายละเอียดการส่งจดหมายผ่านทาง iLaw ได้ที่