เหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่อง มีเงื่อนงำ จับคนร้ายไม่ได้ ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ ตามภาพยนตร์ หรือซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวน บ่อยครั้งก็มีการอ้างอิงจากเหตุการณ์ และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นโครงเรื่อง
อย่างเช่นคดีฆาตกรรมเนื่องฮวาซองของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีที่โด่งดังมากที่สุดของประเทศ ถูกนำมาสร้าง และอ้างอิงในภาพยนตร์ และซีรีส์หลายเรื่อง ด้วยตัวคดีที่มีเหยื่อจำนวนมาก มีรูปแบบคดีที่น่าสงสัย และไม่สามารถจับคนร้ายได้ จนกลายเป็นคดีที่ปิดไม่ลงมากว่า 30 ปี
แต่อยู่ๆ คดีนี้ก็กลับกลายมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังตำรวจเปิดเผยว่า สามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัยในคดีได้ ทำให้คดีนี้ถูกนำมาตรวจสอบเพิ่มเติม จนสามารถอาจจะคลี่คลายข้อสงสัยและปริศนาในอดีตได้
คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซอง
คดีฆาตกรรมต่อเนื่องฮวาซอง เกิดขึ้นในช่วงปี 1986-1991 ที่มีการพบศพผู้หญิงอายุตั้งแต่ 13 ซึ่งกำลังเดินทางกลับจากโรงเรียน ไปจนถึงคุณยายวัย 71 ปี ที่เดินทางกลับจากบ้านของลูกสาว โดยผู้หญิงเหล่านี้ถูกข่มขืนและฆ่าตามที่ต่างๆ ในเมืองฮวาซอง จังหวัดคยองกี ของเกาหลีใต้ และสถานที่พบศพนั้น มักจะเป็นตามตรอกซอกซอย หรือบริเวณทุ่งนา
ตำรวจพบความคล้ายคลึงกันของเหยื่อ ซึ่งทุกศพจะถูกปิดปาก และเสียชีวิตจากการถูกรัดคอ โดยสิ่งที่คนร้ายใช้เป็นอาวุธนั้น คือข้าวของ และเสื้อผ้าของเหยื่อเอง เช่นถุงน่อง หรือถุงเท้า ทั้งยังพบว่าอวัยวะเพศของเหยื่อมีร่องรอยการถูกล่วงละเมิด และฉีกขาดรุนแรงด้วย นอกจากนี้ ตำรวจยังคาดการณ์ว่าพวกเขาถูกคนร้ายโจมตีในระหว่างเดินทางกลับบ้านช่วงกลางคืน ที่เหยื่อตั้งแต่รายที่ 2-10 คนร้ายเลือกก่อเหตุช่วง 1-5 ทุ่ม มีเพียงรายแรกที่ก่อเหตุช่วง 6 โมงเช้า
คดีนี้ถือเป็นที่สะเทือนขวัญในเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ประชาชนต่างก็ตกอยู่ในความกลัว ซึ่งเจ้าหน้าที่เอง ก็มีความพยายามจับกุมคนร้าย โดยใช้กำลังตำรวจกว่า 2 ล้านนายในการสืบหา และมีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยมากกว่า 2 หมื่นคน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารจับตัวฆาตกรได้ จนคดีหมดอายุความลงในเดือนเมษายน ปี 2006 ทั้งหลังจากคดีนี้เอง ยังมีคดีข่มขืนและฆ่าที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งตำรวจพบว่าพยายามเลียนแบบคดีนี้ด้วย
คนร้ายคือใคร ทำไมถึงมาจับตัวผู้ต้องสงสัยได้ตอนนี้ ?
ในช่วงนั้น การสืบคดีของเจ้าหน้าที่ได้เบาะแสมาจากคำให้การของผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียว และคนขับรถบัสที่คนร้ายขึ้นหลังก่อเหตุครั้งที่ 7 ซึ่งตามประกาศของตำรวจได้อธิบายไว้ว่า คนร้ายเป็นผู้ชาย อายุอยู่ในช่วงวัย 20 ปี สูงประมาณ 170 เซ็นติเมตร มีร่างกายผอมบาง จมูกโด่ง ดวงตาแหลมคม และในตอนนั้นตำรวจยังระบุกรุ๊ปเลือดของเขาว่า คือกรุ๊ป B (แต่ใน 2019 ตำรวจออกมาระบุเพิ่มว่ากรุ๊ปเลือดอาจไม่ถูกต้อง)
แม้จะพอมีเบาะแส มีการสเก็ตภาพคนร้าย และตรวจสอบผู้ต้องสงสัยกว่าหมื่นคน คดีนี้ก็กลายเป็นคดีที่ปิดไม่ลง จนหมดอายุความ แต่ทางตำรวจก็ยังคงเก็บหลักฐาน เบาะแส และประวัติต่างๆ ของคดีไว้อยู่ แต่แล้วในปี 2019 คดีก็ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังพบผู้ต้องสงสัยในคดี หลังผ่านไปถึง 33 ปี ท่ามกลางความสงสัยของหลายคนว่า ทำไมถึงมาหาตัวผู้ต้องสงสัยเพิ่มได้ในตอนนี้ ?
ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ให้คำตอบว่า เป็นเพราะการพัฒนาของเทคโนโลยี ที่ทำให้ปัจจุบันสามารถตรวจสอบ DNA ในหลักฐานเก่าได้มากขึ้น จนนำไปสู่ตัวผู้ต้องสงสัยในที่สุด!
โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ทางทีมสืบสวนคดี ในจังหวัดคยองกีได้ส่งหลักฐานบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดี ไปยังหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ของรัฐ และขอการทดสอบวิเคราะห์ DNA ซึ่งผลของการตรวจสอบพบว่า DNA ในชุดชั้นในของเหยื่อรายที่ 9 ไปตรงกับ DNA ของผู้ต้องสงสัยที่ถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูล ทั้ง DNA ของเขายังเชื่อมโยงกับหลักฐานอื่นๆ ของเหยื่อในรายที่ 5 และ 7 ด้วย
บัน กีซู เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า “เราเรียนรู้ว่า แม้ว่าจะผ่านไปเป็นเวลานาน และไม่พบ DNA บนหลักฐานในตอนแรก แต่การตรวจ DNA อีกครั้ง ก็เป็นไปได้ในบางกรณี นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราขอการวิเคราะห์ทางนิติเวช” เขากล่าว ทั้งยังระบุว่า จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อค้นหาความจริง และรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์ด้วย
ตำรวจประกาศว่า ผู้ต้องสงสัยที่พบจากการตรวจ DNA คือ ลี ชุนแจ ซึ่งตอนนี้มีอายุ 56 ปี แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถดำเนินคดีกับเขาได้ เพราะคดีหมดอายุความแล้ว โดยในตอนนี้ นายลี เป็นผู้ต้องขังในปูซาน และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต จากการข่มขืน และสังหารน้องสาวของภรรยาตัวเองในปี 1994 ซึ่งเป็น 3 ปีหลังจากพบศพสุดท้ายในคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ปฏิเสธถึงการมีส่วนร่วมในคดีฆาตกรรมฮวาซอง
ถึงจะพบว่า ลี เป็นผู้ต้องสงสัยในตอนนี้ แต่สำนักข่าว the Hankook Ilbo ของเกาหลีก็รายงานว่า ก่อนคดีจะหมดอายุความ ตำรวจเองเคยตั้งข้อสงสัยว่าเขาอาจจะเป็นฆาตกร เมื่อ 25 ปีก่อน ในตอนที่เขาถูกจับกุมจากคดีฆาตกรรมน้องภรรยา ในเมืองช็องชู เพราะตำรวจฮวาซองพบว่า บ้านเกิดของลีอยู่ที่ฮวาซอง และเหตุฆาตกรรม 6 ใน 9 คดี ยังเกิดภายในรัศมี 3 กิโลเมตรใกล้บ้านเก่าของเขา ทั้งยังเห็นว่าคดีมีความคล้ายคลึงกับการฆาตกรรมต่อเนื่อง
แต่ถึงอย่างนั้น คดีก็ไม่ได้มีการสืบสวนต่อ หลังตำรวจฮวาซองขอให้ตำรวจช็องจู พาตัวลีมาสอบสวน แต่ตำรวจช็องจูปฏิเสธ และบอกว่าให้พวกเขามาที่ช็องจูเพื่อตรวจสอบเอง แต่ก็ไม่รู้ว่าเพราะสาเหตุใด จึงไม่มีการร่วมมือ และประสานงานระหว่างตำรวจทั้ง 2 เมือง
คดีที่กลายมาเป็นโครงเรื่องของภาพยนตร์ และซีรีส์
คดีนี้ เป็นคดีฆาตกรรมที่โด่งดังมากในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเกาหลีใต้แล้ว หลายๆ คนก็ได้รู้จักคดีนี้ผ่านทางภาพยนตร์ และซีรีส์เกาหลีมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ ได้เอาเหตุการณ์ในคดี ไปปรับเป็นโครงเรื่อง หรือถูกพูดถึงในหนังแนวสืบสวนสอบสวน และเนื่องด้วยยังเป็นคดีที่ปิดไม่ได้ ทำให้มีการปรับบทเป็นโลกคู่ขนานระหว่างอดีตที่เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน กับการสืบสวนในปัจจุบัน ที่สืบสวนไปพร้อมๆ กัน อย่าง Signal (ฉายผ่านช่อง tvN ในปี 2016) และ ซีรีส์ Tunnel (ฉายผ่านช่อง OCN ในปี 2017)
แต่เรื่องที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักของคนมากที่สุด คงเป็น Memories of Murder หนังในปี 2003 ของบอง จุนโฮ ผู้กำกับ ที่เพิ่งมีผลงานล่าสุดอย่าง ‘Parasite’ ซึ่งก็มีคนวิเคราะห์หนังเรื่องนี้เอาไว้ว่าได้สะท้อนให้เห็นสังคมของเกาหลีใต้ในยุคนั้น ที่อยู่ในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร ของอดีต ปธน. ชอน ดูฮวาน ด้วย โดยมีผู้มองว่าบอง ได้ใส่สัญลักษณ์ต่างๆ เข้าไปในการพูดถึงรัฐบาลทหาร และการปราบปรามขบวนการประชาธิปไตย
ทั้งยังมีผู้มองว่า เหตุการณ์ในภาพยนตร์ ที่อ้างอิงจากคดีนั้น แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนที่ต่อเนื่อง และพัฒนาของฆาตกร ที่สวนทางกับความล้มเหลวของตำรวจ และรัฐบาลทหาร ในการออกคำสั่ง นโยบายภายในประเทศ และปกป้องพลเรือนด้วย
นอกจาก 3 เรื่องนี้แล้ว ก็ยังมีซีรีส์เรื่องอื่นๆ และภาพยนตร์ ที่พูดถึงคดีนี้ในมุมที่แตกต่างกันไปอีก ทั้ง Confession of Murder ที่เล่าถึงผู้ร้ายที่ออกมาสารภาพเองว่าก่อคดีฆาตกรรมต่อเนื่องหญิงสาว, Gap-dong ที่พูดถึงการสืบหาคนร้ายตัวจริงในคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ให้พ่อที่ถูกกล่าวหา, Criminal Minds ซีรีส์รีเมกจากสหรัฐฯ ที่อ้างอิงถึงคดีนี้ และล่าสุดอย่าง Partners for Justice ที่เล่าเรื่องการสืบคดีจากนิติวิทยาศาสตร์ด้วย
อ้างอิงจาก