ผู้ใหญ่หลายคนน่าจะจดจำช่วง coming of age หรือช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ‘เด็กสู่วัยรุ่น’ ได้ดี วัยที่เต็มไปด้วยการประดังประเดเข้ามาของหน้าที่ ความรับผิดชอบ มุมมองใหม่ๆ และภาวะทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไป บางอย่างดูเมคเซนส์ แต่บางอย่างก็ยากที่จะเข้าใจและควบคุม ทำให้การเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ว่ามั้ย?
ด้วยความซับซ้อนของวัยรุ่น ทำให้วงการภาพยนตร์และซีรีส์สนใจเล่ามุมมองของคนวัยนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นวัยที่พร้อมเปิดรับและทดลองอะไรใหม่ๆ ส่งผลให้เกิดพล็อตเรื่องแปลกใหม่ น่าสนใจ และน่าตื่นเต้น แถมเรื่องราวของวัยรุ่นยังสามารถหักได้หลายมุมโดยไม่ทำให้คนดูขัดข้องใจมากนัก เพราะเป็นวัยที่ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามอารมณ์ของตัวเองเป็นหลัก อย่างซีรีส์เรื่อง Stranger Things, 13 Reasons Why, The End of The F***ing World หรือ Sex Education ที่ฉายทาง Netflix ซึ่งถ้าหากคุณชอบซีรีส์วัยรุ่นที่ไม่ซ้ำใครอย่างเรื่องที่กล่าวมา นี่อาจเป็นซีรีส์เรื่องโปรดของคุณด้วยก็ได้
จากผู้สร้างเดียวกับ The End of The F***cking World เรื่อง ‘I Am Not Okay With This’ เป็นซีรีส์ coming of age อีกเรื่องหนึ่งที่เล่าถึงช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยรุ่นออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการผสมผสานพลังวิเศษเข้าไปให้กับ ‘ซิดนีย์’ รับบทโดย โซเฟีย ลิลลิส (Sophia Lillis) เด็กสาววัย 17 ปี ที่ดูเผินๆ ก็เหมือนเด็กมัธยมทั่วไปที่กำลังเผชิญหน้ากับการก้าวข้ามช่วงวัยของชีวิต เว้นแต่ว่าการเข้าสู่วัยรุ่นของเธอกลับถูกถ่ายทอดออกมาได้ชัดเจนกว่าวัยรุ่นคนอื่นๆ
พลังวิเศษนี้เกิดขึ้นได้ยังไง แล้วเกี่ยวข้องอะไรกับวัยฮอร์โมนพลุ่งพล่าน ซีรีส์เรื่อง I Am Not Okay With This จะพาเราทุกคนไปเข้าใจกับ ‘ภาวะทางอารมณ์’ ของวัยรุ่น ผ่านเด็กสาวที่ชื่อซิดนีย์พร้อมๆ กัน
(บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)
โกรธ กลัว สับสน ภาวะทางอารมณ์ของวัยรุ่น
หลังจากที่พ่อแท้ๆ ฆ่าตัวตายในฤดูใบไม้ผลิ ซิดนีย์กลายเป็นวัยรุ่นใจร้อนขี้โมโหที่พร้อมจะพังทุกอย่างเมื่อเธอโกรธ หรือไม่พอใจ จนครูแนะแนวให้จดไดอารี่ทุกวัน เพื่อเป็นการพูดคุยกับตัวเองและปรับอารมณ์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันกลับสวนทางกับสิ่งที่เธอมุ่งมั่นที่จะทำ เพราะเรื่องราวบ้าบอต่างๆ รอบตัวเหมือนเป็นเชื้อเพลิงที่ค่อยๆ ก่อให้ไฟในใจของเธอลุกโชนขึ้นมาแทน ทำให้เธอพบกับสิ่งที่เรียกว่า ‘teen angst’ ความกลัวหรือความวิตกกังวลในช่วงวัยรุ่น
ด้วยฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป
ทำให้วัยรุ่นเป็นอีกวัยที่เผชิญกับสงครามทางอารมณ์
พอๆ กับผู้ใหญ่ในวัยทอง
สิวที่ต้นขาของซิดนีย์ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเธอได้ก้าวเข้าสู่วัยว้าวุ่นนี้ และต้องพร้อมสำหรับการสู้รบกับความแปรปรวนต่างๆ ที่เตรียมจะเข้ามาในชีวิต หลายคนอาจจะคิดว่าเด็กผู้หญิงคนนี้มีปัญหาที่สาหัสไปจากวัยรุ่นทั่วๆ ไปหรือเปล่า ถึงได้มีพลังวิเศษออกมา แต่เมื่อดูจนจบเรื่อง เราจะพบว่าสิ่งที่ซิดนีย์เจอนั้น ไม่ได้ต่างไปจากสิ่งที่วัยรุ่นคนอื่นๆ เจอสักเท่าไหร่
ประเดิมด้วยเรื่องแรก หลังจากสูญเสียพ่อแท้ๆ ‘ดีน่า’ รับบทโดย โซเฟีย ไบรอันท์ (Sofia Bryant) เพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของซิดนีย์ก็ได้เข้ามาเปลี่ยนโลกทั้งใบของเธอให้กลับมาสดใส แต่แล้ววันหนึ่งเธอต้องสูญเสียดีน่าไปอีกคน เมื่อรู้ว่าดีน่ากำลังคบหากับ ‘แบรด’ รับบทโดย ริชาร์ด เอลลิส (Richard Ellis) เพื่อนร่วมชั้นที่เธอเกลียดขี้หน้ามากที่สุด ทำยังไงดีล่ะ เซฟโซนสำคัญที่สุดของเธอกำลังจะถูกแย่งไป ความโกรธของเธอมีมากเท่าไหร่สามารถดูได้จากเลือดกำเดาที่ไหลออกมาจากจมูกของแบรดโดยไม่มีสาเหตุ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของพลังวิเศษของซิดนีย์
ต่อมา เราจะได้เข้าใจซิดนีย์มากขึ้นผ่านแบ็คกราวด์ ‘ครอบครัว’ แม่ที่ทำงานควบกะจนไม่มีเวลาดูแลน้องชาย ทำให้เธอต้องมารับหน้าที่แทน อย่างการพาน้องไปหาอะไรกิน หรือออกไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อโดยที่ได้เงินมาไม่พอ ยังไม่นับความไม่ใส่ใจของแม่หลังจากที่รู้ว่าเธอถูกครูแนะแนวเรียกไปพบ หรือความไม่เข้าใจของเธอเองที่ทำให้เฝ้าถามทุกวันว่าพ่อทิ้งเธอไปเพราะอะไร เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่วัยรุ่นหัวรั้นคนหนึ่งจะพบกับภาวะทางอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์
บางทีมันก็รู้สึกเหมือน
คนที่หนูรักไม่รักหนูตอบ – ซิดนีย์
ขึ้นชื่อว่าวัยรุ่น เราจะรู้กันดีว่าเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง หากสงสัยว่าทำไม ซิดนีย์ได้ให้คำตอบกับเราในตอนที่เธอลองเสพกัญชาเป็นครั้งแรกแล้วว่า เธอรู้สึกอยากลองทุกอย่าง ลองเพื่อให้ตัวเอง ‘หมดความรู้สึก’ หรือเพื่อให้ตัวเองลืมความเจ็บปวดที่ยังหาวิธีจัดการไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่กลายคนมักจะมองว่าเป็นทางออกของปัญหา ซึ่งการอยากรู้อยากลองอะไรใหม่ๆ ก็ทำให้พวกเขาค้นพบตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสนิยม ความชอบ ความสนใจ ในที่นี้อาจหมายถึงเรื่องของ ‘เพศ’ ด้วยเช่นกัน
ซิดนีย์ค้นพบว่าเธอหลงรักดีน่า ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่เธอก็ได้ทำสิ่งที่คิดว่าไม่สมควรเอามากๆ แม้ปัญหานี้จะดูเป็นปัญหาที่ใครก็น่าจะเคยเจอ สับสนว่าตัวเองชอบเพศเดียวกันหรือเปล่า หรืออาจจะแค่หวั่นไหวเพราะใกล้ชิดกันแน่ แต่กับซิดนีย์ วัยรุ่นที่สูญเสียพ่อ ไม่ได้รับความรักจากแม่ โดนเพื่อนสนิทละเลย แถมค้นพบว่าตัวเองมีพลังจิต แล้วยังเกิดความสับสนในเรื่องเพศอีก ก็นับว่าไม่ใช่อะไรที่จะผ่านไปได้ง่ายๆ เลย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พลังของเธอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มควบคุมยาก
กัดกินจิตใจ ทำร้ายผู้คน พลังที่พังทุกอย่าง
ความโกรธของซิดนีย์ไม่เพียงแต่จะถูกแสดงออกผ่านการกระทำที่ก้าวร้าว อย่างหักดินสอ เตะถังขยะ หรือตัดผมตัวเองเหมือนในฉากเปิดที่เราเห็นกัน เพราะวันหนึ่งเธอค้นพบว่าตัวเองโกรธจนมี ‘พลัง’ บางอย่าง ซึ่งพลังนั้นมีอำนาจถึงขั้นที่สามารถทำลายข้าวของได้โดยไม่ต้องลงมือ หรือฆ่าสิ่งมีชีวิตได้โดยที่เธอไม่ตั้งใจ
เราไม่รู้ว่าพลังจิตนั้นคืออะไรและมาจากไหน เพราะในเรื่องยังไม่ได้เจาะลึกลงไปมากนัก แต่ที่แน่ๆ มันทำให้ผลลัพธ์ของความโกรธออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น ข้าวของที่เสียหาย หลายชีวิตที่ถูกพราก หากวันหนึ่งความโกรธกัดกินจิตใจมากๆ เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราทำอะไรลงไปบ้าง ชีวิตจริงเองก็เช่นกัน แม้ไม่มีพลังวิเศษ แต่หลายคนก็น่าจะเคยเป็น เวลาเราโกรธ หรือโมโห เรามักจะเผลอปาข้าวของเสียหาย หรือพูดจาทำร้ายจิตใจคนรอบข้าง นั่นแหละ พลังของการควบคุมภาวะทางอารมณ์ไม่ได้ยังไงล่ะ
ยอมรับ เรียนรู้ เข้าใจ และก้าวไปต่อ
นานเข้าพลังจิตของซิดนีย์ก็เริ่มควบคุมยากขึ้น และรู้สึกว่ามันกำลังควบคุมเธอแทน ยิ่งพลังของเธอมากขึ้นเท่าไหร่ เธอก็ยิ่งรู้สึกอ้างว้างจากการผลักตัวเองออกจากคนอื่นมากเท่านั้น
กระทั่งวันหนึ่ง สแตนลีย์ รับบทโดย ไวแอตต์ โอเลฟฟ์ (Wyatt Oleff) เด็กหนุ่มบ้านข้างๆ และเป็นเพียงคนเดียวที่ล่วงรู้ความลับของซิดนีย์ เขาได้แนะนำให้เธอพยายามทำความเข้าใจกับตัวเองด้วยการทดลองควบคุมพลังวิเศษ เพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นวิธีที่จะทำให้เธอก้าวข้ามอารมณ์ของตัวเองได้
ตอนนี้เธออยู่ที่นี่ เพราะเธอพยายามเข้าใจมัน
และนั่นคือก้าวแรกที่สำคัญ – สแตนลีย์
สแตนลีย์พูดถูก การทดสอบพลังของซิดนีย์ไม่ใช่แค่การดูว่าเธอสามารถพัง หรือทำลายอะไรได้บ้าง แต่หากเป็นเหมือน self awareness หรือการตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่ ซิดนีย์กำลังโมโหเรื่องอะไร แล้วเรื่องนั้นทำให้เธอถึงขั้นทำลายสิ่งของได้เลยหรือ นั่นเป็นสิ่งที่ซิดนีย์จะต้องทำการบ้าน ซึ่ง self awareness ก็นับเป็นวิธีทางจิตวิทยาที่จะทำให้เราเข้าใจกับตรงนี้ได้มากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายอมรับและเรียนรู้กับสิ่งที่กำลังเผชิญ เราก็จะสามารถหาวิธีรับมือกับมันได้ในที่สุด
และความโชคดีของซิดนีย์คือเธอไม่ได้เดินบนเส้นทางนี้เพียงลำพัง เธอยังมีเพื่อนอย่างดีน่าและสแตนลีย์คอยรับฟังและคอยอยู่ข้างๆ เพื่อสะท้อนสิ่งที่เธอกำลังเผชิญอยู่ โดยไม่ตัดสินในสิ่งที่เธอเป็นหรือมองเธอเป็นตัวประหลาด เช่นเดียวกับวัยรุ่นทั่วๆ ไป ต่อให้พวกเขาจะไม่มีพลังวิเศษทำลายสิ่งของได้เหมือนกับซิดนีย์ แต่การโอบกอดด้วยความรักความเข้าใจของคนรอบข้าง จะทำให้พวกเขาก้าวผ่านช่วงวัยอันเปราะบางนี้ไปอย่างแข็งแรงในที่สุด