“นี่คือช่วงเวลาที่ไม่ธรรมดา ประธานาธิบดีที่ยังอยู่ในตำแหน่งของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศที่เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (P5) เป็นประธานาธิบดีที่เคยต้อนรับผู้นำโลกในการประชุม G8 และ G20 ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก … ICC ได้ออกหมายจับเขาข้อหาอาชญากรรมสงคราม” สตีฟ โรเซนเบิร์ก (Steve Rosenberg) บรรณาธิการข่าวรัสเซีย BBC ทวีต
เขากำลังพูดถึงการออก ‘หมายจับ’ ต่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) โดยศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) เมื่อวันที่ศุกร์ที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ในข้อหาที่อ้างว่าเป็นการลักพาตัวเด็กอย่างผิดกฎหมาย จากยูเครนเข้าสู่รัสเซีย
ปูตินถูกออกหมายจับจากการตัดสินใจขององค์คณะพิจารณาเบื้องต้น ที่เรียกว่า ‘Pre-trial Chamber II’ หลังจากอัยการตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นการออกหมายจับพร้อมกับบุคคลอีกหนึ่งคน คือ มาเรีย อะเลคซายีฟนา ลโววา-เบโลว่า (Maria Alekseyevna Lvova-Belova) กรรมาธิการด้านสิทธิเด็กในสำนักงานของประธานาธิบดีรัสเซีย
“มีเหตุให้เชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาแต่ละรายมีความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามของการเนรเทศประชากรอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย และการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย ออกจากพื้นที่ที่ถูกยึดครองของยูเครน ไปสู่สหพันธรัฐรัสเซีย โดยเป็นการละเมิดต่อเด็กๆ ชาวยูเครน” ICC แถลง
ในกรณีของการลักพาตัวเด็กที่ว่านี้ รายงานจากแล็บวิจัยด้านมนุษยธรรมของมหาวิทยาลัยเยล (Yale Humanitarian Research Lab) ระบุว่า นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน มีเด็กไม่ต่ำกว่า 6,000 คน ที่ถูกควบคุมตัวและถูกส่งเข้าค่ายของรัสเซีย ซึ่งคาดว่าจะเป็นค่าย ‘ปรับทัศนคติทางการเมือง’ หรือ ‘political re-education’
หลังจาก ICC ออกหมายจับ เรื่องนี้ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในการเมืองระหว่างประเทศโดยทันที โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกว่า การออกหมายจับ “มีความชอบธรรมดีแล้ว” จีนเตือน ICC อย่า “สองมาตรฐาน” ขณะที่รัสเซียประกาศว่า หมายจับของ ICC “ไม่มีความหมายใดๆ” สำหรับรัสเซีย
แต่จริงๆ แล้ว ICC คืออะไรกันแน่? The MATTER ชวนทำความรู้จัก ICC ซึ่งมีหน้าที่ตัดสินกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง อาทิ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
พร้อมชวนวิเคราะห์ไปกับ พวงทอง ภวัครพันธุ์ รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะหากพูดถึง ICC แล้ว อาชญากรรมเหล่านี้ยังอาจครอบคลุมถึงกรณีหนึ่งของไทย นั่นคือ การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่เป็นปัญหาเนื่องจาก ICC เข้ามาดำเนินการไม่ได้ เพราะไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจศาล จนความยุติธรรมยังไม่กลับคืน
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) คืออะไร?
หากพูดถึงศาลระหว่างประเทศ หลายคนอาจจะนึกถึง ‘ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ’ (International Court of Justice หรือ ICJ) หรือเรียกกันว่า ‘ศาลโลก’ ที่ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ และเกี่ยวข้องกับการตัดสินกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาล อย่างคดีปราสาทพระวิหารก็เช่นกัน
แต่จริงๆ แล้ว ยังมีอีกศาลหนึ่งที่ตั้งอยู่ที่กรุงเฮกเช่นกัน แต่ทำหน้าที่แตกต่างออกไป นั่นก็คือ ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC
ICC คือองค์การระหว่างประเทศอิสระ ที่ทำหน้าที่เป็นปราการด่านสุดท้ายในการตัดสินอาชญากรรมระหว่างประเทศร้ายแรง ในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมก่อนหน้า เช่น การพิจารณาภายในประเทศ ไม่เป็นผล ก่อตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2002 หรือ พ.ศ. 2545
ต่างจาก ICJ ที่ไต่สวนโดยมีตัวละครคือรัฐ – ICC จะไต่สวนแยกเป็นทีละปัจเจกบุคคล ซึ่งจากที่ระบุในมาตรา 5 ของธรรมนูญกรุงโรม ICC จะมีเขตอำนาจศาลในการพิจารณาอาชญากรรมร้ายแรง 4 ประเภท ดังนี้
- อาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (the crime of genocide)
- อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity)
- อาชญากรรมสงคราม (war crimes)
- อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (the crime of aggression)
ปัจจุบัน มีประเทศที่ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม เป็นสมาชิกของ ICC อยู่ 123 ประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของสนธิสัญญาดังกล่าว ในขณะที่ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยสัตยาบัน ซึ่งหมายความว่า ICC จะไม่สามารถเข้ามาดำเนินการในไทย ในคดีที่อาจเข้าข่ายเขตอำนาจศาลของ ICC ได้ นั่นคือ การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553
ในกรณีการออกหมายจับปูตินตามข้อกล่าวหาลักพาตัวเด็กในยูเครน ICC บอกว่า ถือว่าเข้าข่าย ‘อาชญากรรมสงคราม’ ตามมาตรา 8(2)(a)(vii) และ 8(2)(b)(viii) ของธรรมนูญกรุงโรม
แล้วการออกหมายจับมีความหมายอย่างไรต่อปูติน?
อันที่จริง ก็เป็นอย่างที่รัสเซียบอกว่า “ไม่มีความหมายใดๆ”
ใน 123 ประเทศที่เป็นรัฐภาคีของ ICC ไม่ได้มีรัสเซียรวมอยู่ด้วย นั่นแปลว่ารัสเซียไม่ได้มีพันธกรณีใดๆ ที่จะต้องส่งตัวปูตินให้ ICC
มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zhakarova) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย แถลงว่า “รัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิกของธรรมนูญกรุงโรมฯ และไม่ได้มีพันธกรณีใดๆ รัสเซียไม่ให้ความร่วมมือกับองค์การนี้ และการบังคับจับกุมตัวที่อาจมาจาก ICC ถือว่าเป็นโมฆะสำหรับเรา”
อย่างไรก็ดี แม้เราอาจจะไม่ได้เห็นปูตินในห้องพิจารณาคดีเร็วๆ นี้ แต่การออกหมายจับจริงๆ แล้วก็ส่งผลกระทบอย่างมากกับการเดินทางไปต่างประเทศของเขา เพราะหลังจากนี้ ปูตินจะไม่สามารถเดินทางไปยัง 123 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ ICC ได้เลย ซึ่ง ปิโอเตอร์ ฮอฟมันสกี (Piotr Hofmański) ประธาน ICC บอกว่า “มีพันธกรณีทางกฎหมายที่ต้องให้ความร่วมมือกับศาลอย่างเต็มที่” นั่นแปลว่า ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าสู่ประเทศเหล่านั้น เขาจะถูกจับ
แต่ที่สำคัญกว่านั้น หลายฝ่ายมองว่า การออกหมายจับปูตินของ ICC ถือเป็นความเคลื่อนไหว ‘เชิงสัญลักษณ์’ ที่สำคัญ ในการทำลายความชอบธรรมของปูตินในฐานะหัวหน้ารัฐบาลของรัสเซีย
The New York Times ชี้ว่า ความเคลื่อนไหวนี้ของศาลถือว่ามี ‘น้ำหนักทางศีลธรรม’ อย่างมีนัยสำคัญ เพราะเท่ากับดึงปูตินลงไปอยู่ในระดับเดียวกับคนอย่าง โอมาร์ อัลบาเชียร์ (Omar al-Bashir) อดีตประธานาธิบดีซูดาน ที่ก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์ สโลโบดัน มิโลเซวิช (Slobodan Milošević) อดีตผู้นำเซอร์เบีย ที่ก่ออาชญากรรมจำนวนมากในสงครามบอลข่าน และพวกนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2
สตีเฟน แรปป์ (Stephen Rapp) อดีตเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง (Ambassador-at-Large) ของสหรัฐฯ ด้านประเด็นอาชญากรรมสงคราม สรุปเรื่องนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ “สิ่งนี้ทำให้ปูตินกลายเป็นพวกนอกคอก (pariah) ถ้าเขาเดินทาง เขาก็เสี่ยงที่จะถูกจับ เรื่องนี้จะไม่มีวันหายไป รัสเซียจะขอผ่อนปรนจากมาตรการคว่ำบาตรไม่ได้ถ้าไม่ยอมปฏิบัติตามหมายจับ”
“ถ้าปูตินไม่ถูกไต่สวนที่กรุงเฮก” แรปป์กล่าว “เขาก็จะต้องถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และตายไปโดยมีสิ่งนี้เป็นชนักติดหลัง”
ย้อนดูกรณี ‘สลายการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553’ ประเด็นที่ทำให้ไทยเกี่ยวข้องกับ ICC
เรื่องราวของปูตินอาจจะดูไกลตัวจากคนไทย แต่จริงๆ แล้ว ICC เคย (และยังคง) มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับประเด็นหนึ่งในสังคมไทย คือการสลายการชุมนุมปี 2553 ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 92 ราย บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 1,500 ราย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเข้าข่ายความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่ ICC อาจรับไปพิจารณาได้
หากย้อนดูประเด็นดังกล่าว ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ไทยไม่เคยให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม ทำให้ ICC ไม่มีเขตอำนาจศาลในไทย และไม่สามารถเข้ามาดำเนินการไต่สวนในเรื่องนี้ได้ นี่เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมามากกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 และยังมีกลุ่มคนที่พยายามผลักดันเรื่องให้เข้าสู่ ICC อยู่ตลอด เช่น ‘คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553’ หรือ ‘คปช.53’
ทำไมต้องให้ ICC เข้ามาในไทย? “จริงๆ แล้ว กลไก ICC เป็นกลไกที่จะมาทำให้กระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวมันทำงานได้ โดยอาศัยองค์การระหว่างประเทศเข้ามาทำหน้าที่ผลักดัน” พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวกับ The MATTER
“กรณีของไทย เราก็จะเห็นว่า ในช่วงตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา กระบวนการยุติธรรมของไทยเราก็รู้อยู่ว่ามันมีปัญหา การตัดสินดำเนินคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีทางการเมือง มันมีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาครอบงำ และเราก็จะเห็นว่า คนบางกลุ่มกลายเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความยุติธรรม แม้ว่าจะเป็นฝ่ายที่สูญเสีย”
หาก ICC เข้ามาดำเนินการได้ พวงทองอธิบายว่า ICC ก็จะเริ่มจากการเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้คน และรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้อง มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงจะเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งปราบปรามคนเสื้อแดง ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาลอย่างเดียว แต่ต้องเข้าไปดูในรายละเอียดว่าใครเป็นคนออกคำสั่ง เช่น นายพลหรือข้าราชการ
กรณีนี้ไม่ได้การันตีว่า ICC จะรับ แต่พวงทองบอกว่า “มีแนวโน้มว่าเขาจะรับ” เพราะเราได้เห็นถึงความกระตือรือร้นของ ICC ในปี 2555 ฟาตู เบนซูดา (Fatou Bensouda) อัยการของ ICC ในขณะนั้น เคยเดินทางมาที่ไทยเพื่อเข้าพบ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมบอกว่า อยากจะให้ไทยทำเรื่องยอมรับเขตอำนาจของ ICC
ไทยไม่ให้สัตยาบัน ICC: ความยุติธรรมที่หล่นหายของคนเสื้อแดง
แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยก็ไม่เคยให้สัตยาบัน เรื่องนี้เคยมีฝ่ายข้าราชการและนักการเมือง รวมถึงทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หยิบยกประเด็นเรื่อง ‘ประมุขของรัฐ’ มาอ้างเป็นเรื่องหลักว่า การพิจารณาของ ICC จะกระทบกับพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ เพราะ ICC จะไม่ยกเว้นแม้ว่าจะมีกฎหมายภายในประเทศห้ามเอาผิดประมุขก็ตาม
“ปัญหาก็คือ ดิฉันคิดว่านี่คือการตีความแบบบิดเบือน เพราะประเทศไทยเป็นระบอบ constitutional monarchy พระมหากษัตริย์จะไม่ทำอะไรโดยพระองค์เอง แต่ว่าในการลงนามเรื่องต่างๆ จะต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ คนที่รับผิดชอบคือนักการเมือง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ที่เป็นคนลงนามสนองพระบรมราชโองการ” พวงทองกล่าว
แต่ถึงจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็มองว่า นี่ยังเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันผลักดันต่อไป เนื่องจากขณะนี้มีเพียงพรรคก้าวไกลพรรคเดียวที่ประกาศว่าจะดำเนินการในเรื่อง ICC นี้
“เราไม่จำเป็นต้องเดินตามหลังนักการเมืองทุกเรื่อง” พวงทองให้ความเห็น และนี่เป็นสิ่งที่ “คนเสื้อแดงที่มีชีวิตอยู่มีสิทธิที่จะเรียกร้องได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องรู้สึกผิด”
สิ่งที่รัฐบาลไทยจะทำได้ในการยอมรับเขตอำนาจศาลของ ICC มีอยู่ 2 วิธี คือ ให้สัตยาบันกับธรรมนูญกรุงโรมทั้งฉบับ ซึ่งจะยุ่งยากกว่าและต้องผ่านกระบวนการในรัฐสภา
หรืออีกวิธีที่ง่ายกว่า คือ การประกาศฝ่ายเดียวว่าจะยอมรับเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 12(3) ของธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งจะทำให้ ICC มีสิทธิพิจารณาแค่กรณีเดียวตามที่รัฐบาลไทยประกาศเจตจำนง ในที่นี้คือการสลายการชุมนุมปี 2553 โดยตัดกรณีอื่นๆ ออกไปทั้งหมด วิธีหลังนี้เป็นสิ่งที่กลุ่มคนที่เคลื่อนไหว เช่น คปช.53 พยายามเรียกร้อง และจะตัดความกังวลของคนบางส่วนในเรื่องการไต่สวนกษัตริย์ออกไปทั้งหมด
ทำเช่นนี้แล้วประเทศไทยจะได้อะไร? “ดิฉันคิดว่านี่จะเป็นก้าวแรกที่จะทำให้บรรดาผู้มีอำนาจในอนาคตจะกลัวมากขึ้นที่จะตัดสินใจใช้อำนาจในการปราบปรามประชาชน นี่จะเป็นบทเรียนครั้งแรกที่เราจะบอกว่าคนที่กล้าตัดสินใจที่จะใช้อาวุธสังหารประชาชนที่ไม่มีอาวุธนั้น คุณจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” คือความเห็นของพวงทอง
“ถ้าจะป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นแบบที่เคยเกิดขึ้นใน 6 ตุลาฯ พฤษภา ‘35 หรือพฤษภา ‘53 คุณต้องเริ่มกระบวนการที่จะเอาผิด ปัญหาคือ กระบวนการในประเทศไทยล้มเหลวในเรื่องนี้ มันถึงทางตัน ดังนั้น วิธีเดียวก็คือ คุณต้องไปเอาอำนาจความยุติธรรมจากข้างนอกเข้ามาแก้ไข”