‘โตแล้วไม่ยอมให้พ่อหอมแก้มเลยนะ’
‘แค่ดูรูปเอง ไม่ได้จะไปลงมือจริงสักหน่อย’
‘เด็กมันไม่รู้เรื่องอะไรหรอก’
เพราะแค่เป็น ‘เด็ก’ จึงถูกคุกคามทางเพศ
สำหรับคนทั่วไป บางคนอาจจะมองว่า ‘เด็ก’ คือสิ่งมีชีวิตตัวเล็กไร้เดียงสา ที่เพิ่งเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกได้เพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปี จึงควรค่าแก่การทะนุถนอม เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจได้
แต่กับบางคน เด็กกลับเป็นเหยื่อชั้นดี สำหรับการก่ออาชญากรรมทางเพศ
สถานการณ์ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กไทยในขณะนี้ ถือว่ายังมีตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสถิติจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ในปี 2564-2566 มีเด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศรวมถึง 1,097 คน (ที่เข้าแจ้งความ) และคาดว่ายังมีเด็กอีกมากกว่า 50% จากทั้งหมดที่โดนคุกคามทางเพศแต่ไม่ได้แจ้งความ ที่สำคัญ คือผู้กระทำเกิน 50% เป็นคนในครอบครัว
นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า เกิดอะไรขึ้นในสังคมไทย ทำไมคนจึงล่วงละเมิดทางเพศเด็ก คนไทยมองปัญหานี้เล็กเกินไปหรือเปล่า และปัจจัยอะไรกันแน่ที่ทำให้เด็กต้องเปลี่ยนสถานะจากผู้ควรค่าแก่การถูกปกป้องรักษาสู่การเป็นผู้ถูกกระทำ
The MATTER ชวนสำรวจไปด้วยกัน
ก่อนที่จะทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ เราอาจจะต้องเปิดใจให้กว้างอีกสักนิด ในการมองความหมายของคำว่า ‘การล่วงละเมิดทางเพศ’
ภาพแรกๆ ที่นึกถึง อาจเป็นภาพของความรุนแรงของการข่มขืน หรือสัมผัสเนื้อตัวร่างกาย แต่แท้จริงแล้ว การล่วงละเมิดทางเพศนั้นมีได้หลายระดับ และหลายการกระทำที่ ‘ผู้ใหญ่’ อย่างเรา กำลังทำกับ ‘เด็ก’ ในวันนี้ อาจเข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศเด็กโดยไม่รู้ตัวอยู่ก็ได้
ไม่ว่าจะเป็นการมองจ้องร่างกาย แอบถ่าย ถอดเสื้อผ้าให้ดู มีกิจกรรมทางเพศให้ดู พูดหรือถามถึงเรื่องเพศ วิจารณ์รูปร่าง สัมผัสร่างกาย ไปจนถึงข่มขืน อะไรก็ตามที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม และทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่สบายใจ ล้วนเป็นการล่วงละเมิดทางเพศทั้งสิ้น และเมื่ออีกฝ่ายเป็นเด็ก ซึ่งอาจยังไม่สามารถบอกความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ก็ยิ่งควรระมัดระวัง
ภาสตรี ชมวงศ์ นักสังคมสงเคราะห์อาวุโส Save the Children Thailand เล่าถึงปัจจัยที่ส่งผลว่าอาจมาได้จากหลายประการ
อันดับแรก คือ ‘วัฒนธรรมและค่านิยมของสังคม’ ตั้งแต่การปลูกฝังเรื่องบทบาททางเพศ ที่เพศชายจะมีอำนาจเหนือกว่าเพศหญิง เพศชายมีอิสระที่จะแสดงออกด้านเพศได้ ในขณะที่ผู้หญิงจะต้องรักนวลสงวนตัว และซ้ำร้ายสำหรับเพศหลากหลาย ที่กลายเป็นถูกมองว่าจะต้องชอบเรื่องกิจกรรมทางเพศทุกคนเสียอย่างนั้น
เหล่านี้จึงเป็นเสมือนการสร้างความชอบธรรมให้กับการที่เพศชายล่วงละเมิดเพศหญิงได้ เพราะหญิงต้องตอบสนองต่อความต้องการของชาย หรือสามารถล่วงละเมิดเพศหลากหลายได้เพราะมองว่าเขาจะต้องรู้สึกยินดีกับสิ่งนี้ ประกอบกับ ‘อำนาจนิยม’ ที่ให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่า ในที่นี้คือ ผู้ใหญ่ มารุกล้ำผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่า ในที่นี้คือ เด็ก
หลังเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว วัฒนธรรมนี้ก็ยิ่งกลับมาซ้ำเติมผู้เสียหาย ทั้งการที่ฝ่ายที่มีอำนาจด้อยกว่าไม่สามารถมีปากมีเสียงกับการถูกกระทำของตนเองได้เพราะเป็นเรื่องน่าอาย หรือถูกต่อว่าจากผู้ใหญ่ ว่าเพราะดูแลตัวเองไม่ดี แต่งตัวโป๊ กลับบ้านดึก ทำให้ตัวเองต้องไปตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเช่นนั้น
แม้ปัจจุบันจะมีการพยายามปลูกฝังค่านิยมใหม่อย่างเรื่องการเคารพในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนอื่นๆ แต่ก็จะพบว่ายังไม่ใช่ชุดความคิดที่ถูกสมาทานในวงกว้างมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ใหญ่วัยประมาณ 50 ปีขึ้นไป ที่อาจยังยึดถือในคุณค่าแบบเดิมๆ อยู่
ประการถัดมา ที่อาจเรียกได้ว่ามีความสำคัญมากที่สุด คือหน่วยย่อยที่สุดของสังคมอย่าง ‘สถาบันครอบครัว’
เริ่มตั้งแต่การให้ความอบอุ่น ว่าเด็กถูกเลี้ยงดูขึ้นมาโดยได้รับความรักที่เพียงพอจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองหรือไม่ ไปจนถึงวิธีการสอน ปลูกฝังเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย และเรื่องทางเพศ
บางครอบครัวอาจสอนให้เด็กอาบน้ำรวมกันทั้งพ่อ แม่ ลูก โดยคิดเอาว่าเป็นการให้เด็กได้เรียนรู้สรีระร่างกาย หรืออาจถอดเสื้อผ้าเดินในบ้าน คำอ้างว่า ‘ไม่เห็นเป็นไร เพราะเป็นครอบครัวเดียวกัน’ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการคุกคาม โดยการโชว์พื้นที่ส่วนตัว และอีกนัยหนึ่งยังทำให้เด็กไม่เข้าใจในประเด็นสิทธิความส่วนตัวในร่างกายของตนเองด้วย
ไม่เพียงแค่เรื่องของการเลี้ยงดู แต่ดังที่เห็นได้จากสถิติ ผู้ที่ลงมือล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กมากที่สุด ก็คือคนในครอบครัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งในลักษณะของการล่อลวง (grooming) โดยใช้ประโยชน์ของการเป็นคนใกล้ชิดหลอกเด็กว่า “อย่าไปบอกใครนะ เราทำได้เพราะเราอยู่ในครอบครัวเดียวกัน”
การถูกกระทำ และสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก จึงอาจกลายเป็นรากฐานของการที่เด็กจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงในอนาคต เพราะอาจกลายเป็นแผลใจที่ติดไปถึงตอนโตขึ้นแล้ว หรือมีการแสดงออกต่อสถานการณ์ในความสัมพันธ์และกิจกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เพราะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
‘สื่อ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สื่อออนไลน์ ก็มีส่วนในการกรอบความคิดของคนเช่นกัน อย่างในปัจจุบันที่สื่อเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการแชร์เนื้อหาต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย หนึ่งในนั้นก็คือการแชร์ ‘สื่อโป๊เด็ก’ ไม่ว่าจะเป็นรูป วิดีโอจริง หรือรูปวาดก็ตาม
เมื่อเนื้อหาเหล่านี้แพร่กระจาย ถึงคนบางส่วนจะอ้างว่า ‘แค่’ ดูรูปหรือวิดีโอ แต่ไม่ได้จะไปกระทำจริงๆ แต่สุดท้ายก็มีส่วนในการทำให้สิ่งนี้กลายเป็นเรื่องปกติ (normalized) และนำไปสู่การก่ออาชญากรรมต่อเด็กในชีวิตจริงได้
อีกส่วนหนึ่งคือการเข้าถึงสื่อทางเพศของเด็กเอง ที่ภาสตรีระบุว่า สมัยนี้มันสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น หากไม่มีการควบคุมแพลตฟอร์มหรือควบคุมการใช้สื่อของเด็ก ก็ทำให้เด็กอาจไปพบเห็นแล้วซึมซับความรู้หรือค่านิยมที่อาจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรือการมีกิจกรรมทางเพศมาได้ เพราะเป็นสื่อที่ไม่เหมาะสมกับวัย
และสุดท้าย คือ ‘กฎหมาย’ และกระบวนการระหว่างทางที่ไม่เอื้อให้แก่ผู้เสียหาย เช่น หากผู้เสียหายเข้าแจ้งความว่าถูกคุกคามทางเพศบนรถเมล์ อาจจะเจอตำรวจถามย้ำๆ ว่า “อยากจะทำให้เป็นคดีจริงหรอ” และซักถามรายละเอียดให้เล่าถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ กลายเป็นการ ‘ถูกกระทำซ้ำ’ โดยที่รอบข้างมีตำรวจหลายนายอยู่ในสถานีที่นั่งฟังไปด้วย จนกลายเป็นความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย ไม่น่าสบายใจแก่ผู้ถูกกระทำ ทำให้หลายคนอาจเลือกที่จะไม่แจ้งความ
นอกเหนือจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยย่อยอื่นๆ ที่มาส่งผลได้อีก เช่น การใช้สารเสพติด การเข้าถึงสถานบริการได้ง่าย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ก็ล้วนส่งผลหรือนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้ไม่แพ้กัน
ดังนั้น หากจะต้องเลือก ปัจจัยที่มีผลมากที่สุด และควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ภาสตรีเห็นว่าคือปัจจัยด้าน ‘สถาบันครอบครัว’ เริ่มตั้งแต่การที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรรู้วิธีการดูแลเด็กที่ถูกต้อง ไม่ให้เด็กตกอยู่ในภาวะเสี่ยง
สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถเริ่มทำได้ คือระมัดระวังการแสดงความรัก ที่บางครั้งอาจเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ “การแสดงความรักที่มากเกินไป กลายเป็นคุกคาม” ภาสตรีกล่าว
โดยครอบครัวจะต้องหมั่นคอยถามความรู้สึกเด็ก ว่ายังรู้สึก ‘โอเค’ กับการแสดงออกเหล่านี้หรือไม่ แต่ยังเห็นได้ว่าครอบครัวไทยยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ จากการที่เห็นพ่อแม่ตั้งกระทู้ปรึกษาเป็นประจำ ว่า “ทำอย่างไรเมื่อลูกชายโตแล้วไม่ยอมให้หอม” “ทำอย่างไรเมื่อลูกสาวไม่ยอมให้พ่อกอด” ซึ่งสะท้อนความไม่เข้าใจในพัฒนาการของวัยรุ่น หรือไม่เคารพในสิทธิของเด็ก
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการแสดงความรักนั้นจะเป็นเรื่องผิดหรือต้องห้าม เพราะการแสดงความรักความอบอุ่นต่อกันก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพียงแต่ต้องคอยสังเกตปฏิกิริยาตอบโต้อยู่เสมอ เพราะเด็กอาจยังไม่สามารถบอกความต้องการได้ แต่เราสามารถสังเกตจากสิ่งที่เขาตอบโต้กับการกระทำของเราได้
สำหรับการให้ความรู้เรื่องเพศกับลูกหลาน ภาสตรีเห็นว่าครอบครัวควรทำความเข้าใจเรื่องการสอนอย่างเหมาะสม ว่าไม่จำเป็นต้องทำให้ดู หรือเปิดอะไรให้ดูถึงจะเรียนรู้ได้ แต่ให้สอนไปตามวัยของเด็ก เช่น สอนวิธีดูแลสุขอนามัย หรือสอนให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ที่สำคัญคือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติต่อเด็กอย่างเหมาะสมกับวัยของเขา เช่น เมื่อถึงชั้นประถมศึกษาแล้ว ก็เป็นวัยที่ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกอีกต่อไปแล้ว เพราะจะต้องสอนให้ลูกได้รู้จักดูแลตัวเอง และให้ลูกหวงแหนเนื้อตัวร่างกายซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว
ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ลูกถูกล่วงละเมิดทางเพศไปแล้ว ครอบครัวควรแสดงออกว่าพร้อมช่วยเหลือ สนับสนุน ช่วยปรับความคิดของเด็กว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เด็กไม่ใช่ฝ่ายที่ผิด ที่จะต้องทำเช่นนี้ เพราะเด็กบางคนมักจะโทษตัวเองว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้เพราะตัวของเขาเอง ซึ่งจะทำให้เขามีแผลใจ หรืออาจไม่กล้าบอกใครเพื่อขอความช่วยเหลือเพราะกลัวโดนดุ
ผู้ปกครองจึงควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ไม่ต่อว่าซ้ำ และช่วยสนับสนุน ยืนเคียงข้าง เพื่อให้เด็กมีความมั่นคงทางจิตใจมากพอที่จะดูแลตัวเองได้ และกล้าที่จะบอกเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น
โดยภาสตรีกล่าวถึงตัวเลขสถิติอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กที่สูงขึ้น ว่าส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะมีคนกล้าเข้าแจ้งความมากขึ้นก็ได้ เพราะค่านิยมสมัยใหม่ที่เป็นพลังให้ผู้ถูกกระทำลุกขึ้นสู้ บนโซเชียลมีเดียก็มีการแชร์เรื่องราวอุทาหรณ์ของคนที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาได้แล้ว ทำให้ผู้ถูกกระทำเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ความผิดของเขา และกล้าลุกขึ้นมายืนหยัดเพื่อตัวเอง
แล้วในฐานะที่เราล้วนเป็นพลเมืองในสังคมสังคมหนึ่ง เรามีความสำคัญกับการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตมาอย่างดีมากแค่ไหน และเราจะทำอะไรได้บ้าง?
อันดับแรก คือการปรับทัศนคติเกี่ยวกับเด็กใหม่ เช่น เด็กน่ารัก ก็อยากเข้าหา ไปกอด หอม เพราะคนส่วนใหญ่คุ้นชินกับการทำแบบนั้นโดยไม่ถามเด็กก่อน โดยภาสตรีเปรียบเทียบกับการเจอผู้ใหญ่ที่หน้าตาน่ารัก เราก็คงไม่ได้เดินเข้าไปหาเขาแล้วไปกอดหอมเช่นกัน
“ทำไมเป็นเด็กคุณถึงทำ ก็เพราะเห็นมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า และเด็กไม่สามารถปกป้องตัวเองได้”
นอกจากนั้น คนทั่วไปก็สามารถช่วยสอดส่องได้หากพบกรณีที่อาจผิดปกติ แม้จะรู้สึกไม่แน่ใจก็สามารถรายงานเข้าไปหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนได้ เพื่อให้เด็กที่ถูกทำร้ายได้รับความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ผ่านหน่วยงานต่างๆ หรือสายด่วน 1300
ด้วยความร่วมมือกันของคนทั้งสังคม เด็กทุกคนก็จะสามารถเติบโตขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย มั่นคง ทั้งร่างกายและจิตใจ ดังคำกล่าวที่ว่า เลี้ยงเด็ก 1 คน ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจ็กต์ความร่วมมือระหว่าง The MATTER และองค์กร Save The Children เพื่อร่วมกันสื่อสารเพื่อรณรงค์ถึงปัญหาการคุกคามทางเพศ และอาชญกรรมทางเพศต่อเด็ก หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงสนับสนุนการทำงานของ Save The Children สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ที่ : https://donate.savethechildren.or.th/