14 ตุลาคม 2516 พวกเขาเป็นทัพหน้านำมวลชน ประท้วงต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ชัยชนะในวันนั้นนำไปสู่ระยะเวลาสั้นๆ ที่กวีเปรียบเปรยว่า ‘ยุคฟ้าสีทองผ่องอำไพร’
หลังจากนั้นไม่นานนัก จากขวัญใจของมวลชน พวกเขาถูกย้อมสีและติดฉลากใหม่ด้วยป้ายคอมมิวนิสต์ หนักแผ่นดิน และศัตรูของชาติ นำไปสู่เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา ในช่วงเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เวลาล่วงเลยไปกว่า 40 ปี ที่พวกเขาแฝงตัวอยู่ใต้ปีกของพลังขับเคลื่อนทางสังคมอื่น แล้วมาถึงวันนี้ พวกเขาก่อรูปขบวนขึ้นอีกครั้ง ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และจัดการชุมนุมทางการเมืองทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย รวมถึงยื่นข้อเสนอที่เรียกว่า 3 ข้อเรีกยร้อง 2 เงื่อนไข 1 ความฝัน มีเหตุมีผลยากปฏิเสธ จนทำให้สังคมบางส่วนเริ่มหันมาคล้อยตาม
แต่ในขณะเดียวกัน คนบางกลุ่มก็เริ่มย้อมสีและติดฉลากให้พวกเขาใหม่อีกครั้ง คราวนี้ด้วยคำว่า ชังชาติ หรือ ล้มเจ้า
ในช่วงเวลาที่สังคมเริ่มส่งสัญญาณบางอย่างว่าจะหวนให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย The MATTER ชวน รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเล่าให้ฟังถึงความคิดและความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ ที่เธอได้สัมผัสครั้งลงพื้นที่เก็บข้อมูล ตลอดจนรูปร่างและท่าทางของขบวนการนักศึกษารุ่นใหม่ รวมถึงให้เธอประเมินว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะนำสังคมไปสู่ความรุนแรงจริงไหม และเราทำอะไรได้บ้างเพื่อลดความตึงเครียดในสังคมตอนนี้
มองขบวนการนักศึกษาสมัยก่อน กับในปัจจุบัน มองเห็นความแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง
เหมือนหรือต่าง อันนี้ถ้าเราเทียบกับขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา (2516) และ 6 ตุลา (2519) ดิฉันมองเป็นสองเรื่อง
เรื่องแรก การเคลื่อนไหวและการจัดตั้ง ขบวนการนักศึกษาในยุคนี้ มีลักษณะที่ค่อนข้างกระจายตัว ไม่มีการรวมศูนย์เหมือนขบวนการนักศึกษาก่อนหน้านี้ ถ้าสังเกตุการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าขบวนการนักศึกษามีความหลากหลาย และแต่ละกลุ่มก็มีข้อเรียกร้องที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือแยกกันเคลื่อนไหว รวมถึงมองที่มาและวิธีการแก้ไขปัญหาแตกต่างหลากหลายมากในแง่ยุทธศาสตร์
เรื่องที่สอง ประเด็นข้อเรียกร้อง ดิฉันคิดว่าจากที่คุยในหลากหลายจังหวัด เด็กมัธยมกับเด็กมหาวิทยาลัยมีข้อเรียกร้องและปัญหาในใจที่แตกต่างกัน
เด็กมหาวิทยาลัย ผ่านประสบการณ์การเลือกตั้งในปี 2562 ที่ผ่านมา และบางคนก็เคยโหวตร่างรัฐธรรมนูญ (2560) ซึ่งสิ่งที่เขาอึดอัดมากคือ พรรคการเมืองที่เขาเลือกถูกยุบ ดังนั้น การลุกขึ้นมาของเขา มันคือการเรียกร้องให้มีระบบและการจัดการทางการเมืองที่เป็นไปตามเจตจำนงของเขา
ในขณะที่เด็กมัธยม ประเด็นข้อเรียกร้องของเขาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับความอึดอัดของเขาในโรงเรียน สังคม หรือครอบครัว พวกเขารู้สึกว่าถูกละเมิดในร่างกายและตัวตน เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องของเขาจึงไปไกลกว่าเด็กมหาวิทยาลัยอย่างน่าตกใจ เขาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงฐานคิดของสังคม และสถาบันที่เอื้อแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย
ดิฉันถามเขาว่า ไม่อยากร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือ? ไม่อยากเลือกตั้งใหม่หรือ? เด็กเหล่านี้อ่านประวัติศาสตร์มา พวกเขาอธิบายว่าเราเลือกตั้งกันมากี่ครั้งแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญกันมากี่ครั้ง รัฐประหารกันมากี่ครั้ง เขาคิดว่าถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดของสังคมไทย ไม่ว่าเราจะมีการร่างกติกาใหม่อีกกี่ครั้งสังคมไทยจะยังกดทับและกดขี่คนรุ่นใหม่เหมือนเดิม
เหมือนกับว่าภายในขบวนการนักศึกษาเอง นักศึกษามหาวิทยาลัยและเด็กมัธยมก็เรียกร้องสังคมคนละแบบ
ดิฉันคิดว่า เด็กมหาวิทยาลัยมีความระมัดระวังต่อข้อเรียกร้อง พวกเขาคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ขบวนการปลอดภัย เขาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ว่า ถ้ามีการพูดถึงสถาบันที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย อาจจะนำไปสู่การยั่วยุหรือความไม่พอใจของสังคม เขาเลยพยายามทำให้ขบวนการดูน่ารัก น่าเอ็นดู
แต่สำหรับเด็กมัธยมปลาย พวกเขาบอกว่า เบื่อมากม็อบแฮมทาโร่ พวกเขาอยากได้ม็อบที่มีข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรม อยากให้ผู้ใหญ่มองเขาเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนที่เท่าเทียมกัน เด็กมัธยมพูดคล้ายกันว่า ปัญหาของเขาคือถูกปฏิบัติแบบคนที่มาทีหลัง ไม่มีประสบการณ์ และมีความรู้น้อยกว่า
เรียกว่ากลุ่มเด็กมัธยมมองไปไกลกว่า และเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่ ‘รุนแรง (Radical)’ กว่าหรือ
คำว่า radical นี่เป็นภาษาที่คนรุ่นใหม่ใช้กันเยอะมาก ซึ่งผู้ใหญ่หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร มีสองคำที่ดิฉันสัมภาษณ์แล้วดิฉันรู้สึกสะดุดก็คือว่า radical กับ ignorance พอฉันถามว่าไปเอาคำพวกนี้มาจากไหน เขาบอกว่าทวิตเตอร์ใช้กันตลอด ignorance ไว้เรียกพวกผู้ใหญ่ ส่วนพวกเขาเรียกตัวเองว่า radical
เด็กมัธยมที่ดิฉันสัมภาษณ์ เขามองว่า radical หมายถึงว่าความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอย่างมากกว่าที่ผู้ใหญ่เคยปฏิรูป เพราะเขามองว่าการปฏิรูปที่ผ่านมามันไม่เพียงพอ และไม่เท่าทันต่อสิ่งที่เขาอยากให้ประเทศไทยเป็น
แต่ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะบอกว่า “โอ๊ย อยู่เมืองไทยนี่ก็ดีแล้วนะ ไปดูประเทศอื่นสิที่เป็นสังคมที่ยากจนกว่านี้ คุณลองไปอยู่เวียดนามสิ” หรือพูดว่า “คุณไปอยู่ในหลายประเทศที่เป็นเผด็จการจริงๆ มันน่ากลัวกว่านี้นะ”
ดิฉันคิดว่าจินตนาการของโลกที่คนรุ่นใหม่อยากไปมันไปไกลกว่านั้นมาก เขาไม่ได้เปรียบเทียบไทยกับประเทศที่เป็นประเทศที่ด้อยกว่า แต่เขาเทียบไทยกับประเทศที่ไปไกลกว่านั้น พวกเราสอนพวกเขาอยู่ตลอดว่าคนไทยมีศักยภาพ คนไทยไปไกลได้ระดับโลก แต่เขามองไม่เห็นว่าโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่เป็นอย่างปัจจุบันจะพาเขาไปไกลระดับโลกได้อย่างไร
พวกเราสอนพวกเขาอยู่ตลอดว่าคนไทยมีศักยภาพ คนไทยไปไกลได้ระดับโลก แต่เขามองไม่เห็นว่าโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่เป็นอย่างปัจจุบันจะพาเขาไปไกลระดับโลกได้อย่างไร
สิ่งหนึ่งที่ดิฉันพูดกับหลายๆ คนตลอดคือ เด็กเหล่านี้พูดเหมือนกันก็ว่ามาเพื่ออนาคตของตัวเอง ผู้ใหญ่ฟังแล้วก็อาจจะรู้สึกว่าเรื่องอนาคตให้ผู้ใหญ่จัดการเถอะ แต่เด็กพวกนี้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ตามข่าวการเมือง เขารู้ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังทำอยู่มันไม่มีแนวโน้มที่จะทำเพื่ออนาคตของพวกเขา
ย้อนกลับไปเรื่องยุทธศาสตร์ในการจัดตั้งขบวนการนักศึกษา การที่ขบวนการไม่มีหัวขบวนที่คอยนำและตัดสินใจ เป็นผลดีหรือเสีย
ตรงนี้ต้องมองสองสามเรื่อง เรื่องแรก ถ้าเป็นคนที่ผ่านประวัติศาสตร์ หรือมีประสบการณ์การเคลื่อนไหวแบบรวมศูนย์ มีการสั่งการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ คนกลุ่มนี้อาจจะรู้สึกเป็นกังวลว่า ถ้าไม่จัดตั้งแล้วจะนำไปสู่ชัยชนะได้อย่างไร
แต่สำหรับแกนนำที่อยู่ในขบวนนักศึกษาตอนนี้ พวกเขามีทั้งความกังวลและไม่กังวล เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาคือ การทำให้เป็นประเด็นในสื่อ หรือ Drawn Media Attention ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำมาก ชุมนุมวันนึงไม่กี่ชั่วโมงก็เป็นข่าวแล้ว
การอ่านประวัติศาสตร์ทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่า ไม่ว่ากลุ่มสมัชชาคนจน กปปส. หรือเสื้อแดงยิ่งอยู่นานยิ่งไม่เป็นข่าว ยิ่งนานยิ่งไม่มีประเด็นนำเสนอ ผู้คนเบื่อ ทำลายเศรษฐกิจ ดิฉันคิดว่าพวกเขาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เหล่านี้ ทำให้พวกเขาไม่ต้องการที่จะระดมทุกคนมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ แบบเดิม
ดิฉันคิดว่าเกมการเมืองแบบนับหัวคนบนท้องถนนมันจบไปแล้ว พวกเขาเรียนรู้ว่าเกมแบบนั้นไม่ได้นำไปสู่ชัยชนะทางการเมือง นอกจากนี้ การจัดรูปขบวนเคลื่อนไหวแบบเก่ามีต้นทุนสูงเกินไป และไม่การันตีว่าจะมีประสิทธิภาพ ซึ่งดิฉันคิดว่ามาถึงตรงนี้ สิ่งที่ขบวนการนักศึกษาทำได้ ถือว่ามาไกลมากแล้ว
มองว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมานั่งชุมนุมยืดเยื้อเป็นเดือนปีแล้ว
ดิฉันคิดว่ามันต้องดูโครงสร้างทางการเมืองด้วย ภายใต้รัฐบาลที่มีความเปราะบาง อย่างเช่น ช่วงยุคทศวรรษ 1990 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย, บรรหาร ศิลปอาชา หรือชวลิต ยงใจยุธ การชุมนุมอาจจะมีผล ในการต่อรองอำนาจกับรัฐบาล
แต่ในปัจจุบัน พรรครัฐบาลเสียงค่อนข้างเป็นปึกแผ่นมาก การชุมนุมยืดเยื้ออาจจะไม่ช่วยอะไรเลย และในทางตรงข้าม อาจจะทำให้ขบวนการนักศึกษาหมดแรงเสียก่อนก็ได้ เพราะการชุมนุมยืดเยื้อนอกจากต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากแล้ว ยังเสี่ยงต่อความรุนแรงอีกด้วย ซึ่งดิฉันคิดว่า แกนนำเข้าใจประเด็นนี้ดี พวกเขาไม่อยากเห็นขบวนการและเพื่อนของเขาอยู่ในอันตราย
มีคนบางกลุ่มที่มองว่านักศึกษาถูกปลุกระดม เป็นม็อบน้ำเลี้ยง มีพรรคการเมืองหนุนหลัง มองว่าวาทกรรมแบบนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง
เรื่องนี้มีสามมุม มุมแรกคือ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยพยายามใช้ประเด็นนี้ลดทอนความชอบธรรมของนักศึกษา ลดทอนความน่าเชื่อถือ ซึ่งใครจะเชื่อหรือไม่ มันก็มีการพูดถึงอยู่ในสื่อ หรือคนกลุ่มหนึ่ง
มุมที่สอง ดิฉันได้คุยกับแกนนำของกลุ่มนักศึกษา พวกเขาระมัดระวังมากที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น พวกเขาพยายามระดมเงินจากหลายฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด เขาระมัดระวังที่จะทำงานกับพี่น้องเสื้อแดงในอดีตและพรรคการเมืองต่างๆ
ทางด้าน พรรคการเมืองเอง เขาก็บอกว่าเขาก็ระวังตัวเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมาก็มีบทเรียนให้ดูแล้ว ว่ามันอาจทำให้พวกเขาหมดโอกาสในการเล่นการเมืองในระยะยาว พวกเขาตระหนัก
มุมที่สาม กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่มาร่วมชุมนุม ดิฉันถามพวกเขาว่า “กลัวไหมว่าจะมีพรรคการเมืองมาสนับสนุน หรือคนเสื้อแดงมาเข้าร่วมด้วย’’ ทุกคนบอกว่า พรรคการเมืองควรต้องมายืนข้างประชาชน มารับผิดชอบเรื่องนี้ร่วมกัน และยินดีให้พี่น้องเสื้อแดงมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ
ประเด็นสำคัญที่ดิฉันคิดคือ คนรุ่นใหม่มองพรรคการเมืองแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า พวกเขาไม่ปฏิเสธที่จะทำงานร่วมกับพรรคการเมือง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่แตกต่างมากกับคนรุ่นก่อนหน้า ที่มองว่าพรรคการเมืองเต็มไปด้วยปัญหาคอรัปชั่น การหาผลประโยชนส่วนตัว และการโกงกิน
และไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ (ในตอนนี้ คือพรรคก้าวไกล) กลายเป็นพรรคที่พยายามทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองของพวกเขา อนาคตใหม่ยังพยายามอย่างมากที่จะแก้ปัญหาภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองแบบเก่าที่โกงกิน เป็นพรรคท่อน้ำเลี้ยงม็อบ
การลงไปพูดคุย เก็บข้อมูล ในการชุมนุม ‘ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ’ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นอย่างไรบ้าง
การชุมนุมในวันนั้น ดิฉันได้สัมภาษณ์นิสิตแพทย์คนหนึ่ง ที่เล่าให้ฉันฟังว่า เขาดูข่าวทุกวัน และสิ่งที่เขาชอบดูมากที่สุดคือ ‘การอภิปรายในสภา’ ดิฉันถามว่าแค่เปิดผ่านๆ หรือเปล่า เขาบอกว่าฟังตลอด ชอบฟังมาก ยิ่งฟังยิ่งทั้งโกรธและขำ ทำไมผู้ใหญ่ทั้งหลายถึงไม่มีแนวคิดหรือนโยบายอะไรที่ดีเลย
นอกจากนี้ เขาก็เล่าให้ฟังว่าคอยติดตามพรรคการเมืองที่เขาเลือก หรือพรรคอนาคตใหม่อยู่ตลอด
ดิฉันถามเขาว่า แสดงว่าคุณชอบธนาธรมาก มองว่าเขาเป็นศาสดาหรือเปล่า เขาบอกว่าไม่ใช่ พรรคอนาคตใหม่เป็นเพียงพรรคการเมืองที่เขาเลือก เพื่อที่จะผลักดันนโยบายที่เขาชอบและทำให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้น แต่ถ้าพรรคก้าวไกล (อดีตอนาคตใหม่) เปลี่ยนแปลงไป เขาก็พร้อมที่จะเลือกพรรคอื่น
เขาบอกว่า ถ้าอยากให้การเมืองดีขึ้น เขาต้องเป็นคนที่ตื่นตัวทางการเมืองด้วยตัวเอง มันหมดยุคแล้วที่จะฝากความหวังให้ผู้นำทางการเมืองลุกขึ้นมาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว พวกเขาแทบจะไม่สนใจหรือรู้จักชื่อผู้นำในขบวนการเคลื่อนไหวเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาคือ อนาคตของเขาเอง
ดิฉันคุยกับเด็กทุกคนไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง คุยจนจดเรื่องราวและความรู้สึกพวกเขาไม่ไหว ผู้ใหญ่อาจพูดว่าพวกเขาผ่านมันมาหมดแล้ว แต่เมื่อคนรุ่นนี้รู้จักเสรีภาพ รู้ว่ามาตรฐานในชีวิตที่ดีกว่านี้คืออะไร มันห้ามไม่ให้พวกเขามีความคาดหวังในชีวิตที่ดีกว่านี้ยากมาก
ดิฉันเป็นห่วงพวกเขา แต่ว่ามันก็ยากมากที่จะห้ามพวกเขาไม่ให้เรียกร้องสิทธิของตัวเอง
มองข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ จากกลุ่มนักศึกษาอย่างไรบ้าง เหมาะสม ถูกที่ถูกเวลาไหม
เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม คนในสังคมมันต้องเป็นคนประเมิน บางกลุ่มก็มองว่าเหมาะสม บางกลุ่มก็มองว่าไม่เหมาะสม
สำหรับกลุ่มนักศึกษาที่เสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อนี้ มันคือสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง พวกเขาไม่ได้มองว่ามันไม่เหมาะสม พวกเขาคิดว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้น
แต่สำหรับคนที่มองว่าไม่เหมาะสม พวกเขากำลังพยายามที่จะปกป้องสิ่งที่พวกเขายึดเหนี่ยวเอาไว้ พวกเขาคิดว่าการปกป้องมันเป็นเครื่องมือในการที่จะธำรงตัวตน อำนาจ ผลประโยชน์ของพวกเขาเอาไว้
เพราะฉะนั้น ตอนนี้มันเป็นเรื่องของพลังที่อยากจะเปลี่ยนแปลงกับพลังที่ไม่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากในสังคมทุกสังคม ที่จะคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องนี้
หลายคนมองว่าในจังหวะการเมืองตอนนี้มันควรจะเรียกร้องแบบนี้หรือเปล่า ดิฉันคิดว่าที่ผ่านมาขบวนการคนรุ่นใหม่พยายามเสนอข้อเรียกร้องที่ต่ำที่สุด ตั้งแต่สิทธิในทรงผม การไม่เกณฑ์ทหาร สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่พวกเขาไม่เคยได้รับการตอบสนอง ทำให้ข้อเรียกร้องมันค่อยๆ ไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่ผู้ใหญ่คิดว่ามันมากเกินไป แต่สำหรับพวกเขา พวกเขาสั่งสมความไม่พอใจและข้อเรียกร้องของเขามานานมาก
มองว่าความเห็นที่แตกต่างของสังคมในตอนนี้ อาจจะผลักสังคมไปสู่ความรุนแรง อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา อีกครั้งหรือเปล่า
ดิฉันคิดว่า บริบทการเมืองในปัจจุบัน มีเงื่อนไขหลายอย่างไม่เหมือนกับ 6 ตุลาฯ (2519) ประการแรกขบวนการนิสิตนักศึกษาในตอนนี้ เป็นพลังที่ค่อนข้างเป็นตัวของตัวเอง บวกกับไม่ได้มีบริบทของสงครามเย็นและพรรคคอมมิวนิสต์เชื่อมโยงกับนิสิตนักศึกษาที่จะทำให้นิสิตนักศึกษาถูกโจมตีได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประสงค์ดีต่อชาติ ทั้งที่พวกเขามีความหวังดีต่อชาติจริงๆ และดิฉันคิดว่าผู้คนจำนวนมากในสังคมก็เข้าใจ
สองก็คือ ไม่มีการเติบโตของมวลชนอนุรักษ์นิยม ที่จะลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาเหมือนในช่วงก่อน 6 ตุลาฯ ไม่มีขบวนการนักศึกษาอาชีวะ ไม่มีการจัดตั้งขบวนการเครือข่ายที่รัฐมีความเกี่ยวข้อง เช่น ลูกเสือชาวบ้าน มันไม่มีการเคลื่อนไหว ทั้งในแง่เชิงอุดมการณ์และการเข้าไปสนับสนุนโดยรัฐโดยตรงแบบในอดีต
ดังนั้น ดิฉันคิดว่าถ้าความรุนแรงจะเกิดขึ้น มันจะเป็นความรุนแรงที่รัฐจะใช้โดยตรงกับขบวนการนิสิตนักศึกษา และถ้ามันเกิดความรุนแรง มันจะไปไกลกว่า 6 ตุลาฯ
แต่ดิฉันอยากลองเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ การลุกฮือของนักศึกษาทั่วประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปี 1962 ดิฉันมองว่าบริบทของสถานการณ์ในสังคมไทยตอนนี้ กับฝรั่งเศสในยุคนั้นมีลักษณะคล้ายๆ กัน
ในตอนนั้น ฝรั่งเศสมี นายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles De Gaulle) เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขามีลักษณะคล้ายรัฐบาลของไทยในปัจจุบัน คือเป็นวีรบุรุษที่นำฝรั่งเศสไปสู่ชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นบุคคลที่ชาวฝรั่งเศสนับถือมากว่า นำมาซึ่งความสงบและสันติภาพ
แต่เขาเป็นคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมในเชิงวัฒนธรรม มีการสั่งให้นำศาสนาคริสต์มาเป็นนโยบายหลักของประเทศ ห้ามนิสิตนักศึกษาใส่มินิสเกิร์ต ห้ามถ่ายทอดรายการจำนวนมากที่นิสิตนักศึกษาสนใจ โดยให้เหตุผลว่าเป็นรายการที่ลามก
มันนำไปสู่ความอึดอัด และเกิดการเชื่อมโยงว่ารัฐบาลชาร์ลส เดอ โกลมีความเป็นเผด็จการ ซึ่งท้ายที่สุด ทำให้เกิดการลุกฮือของนักศึกษาทั่วประเทศ นำโดยมหาวิทยาลัยปารีส รวมถึงกลุ่มแรงงานก็หยุดงานและออกมาชุมนุมประท้วง
จนท้ายที่สุดรัฐบาลก็ต้องยอมยุบสภา เลือกตั้งใหม่ และถึงแม้รัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะยังคงชนะอยู่ แต่ในระยะยาวความชอบธรรมของรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษามันจะค่อยๆ ลดลง
ถ้าเราตามอ่านดูคอมเมนท์จากโซเชียลมีเดีย บางทีเราจะเห็นข้อความที่มีนัยยะแฝงความรุนแรง อาทิ ‘เตรียมเก้าอี้รอไว้ฟาดนักศึกษาแล้ว’ มันสะท้อนอะไรบ้าง
ดิฉันคิดว่าปรากฏการณ์นี้ มันเกิดขึ้นได้ในทุกสังคมที่รัฐประสบความสำเร็จในการปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมแบบใดแบบหนึ่ง และสังคมไทยก็เป็นสังคมแบบนั้น ที่ปลูกฝังแนวคิดชาติที่บังคับให้ทุกคนต้องรักและหวงแหนความเป็นชาติแบบที่รัฐสร้าง
แต่จริงๆ แล้ว คำว่า ‘ชาติ’ ของคนแต่ละรุ่น แต่ละกลุ่มมันไม่เหมือนกัน ชาติของคนรุ่นหนึ่งอาจจะหมายถึงสามสถาบันหลักของประเทศ ขณะที่ของคนอีกรุ่นหนึ่งอาจมองว่าผลประโยชน์ของชาติคือผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ขณะที่ชาติของเกษตรกรก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
เพราะฉะนั้น การให้ความเป็นชาติที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าผู้ที่มีอำนาจมองว่าชาติมีเพียงหนึ่งเดียว มันจะกลายเป็นปัญหาทันที เพราะว่าทุกคนในชาติมองว่าตัวเองต้องปกป้องผลประโยชน์ความเป็นชาติของตัวเองเท่านั้น และถ้ามันไม่มีการเคารพในนิยามที่ชาติแตกต่างกัน มันก็จะทำให้การพูดคุยเกิดขึ้นได้ยากมาก
แต่ในอีกแง่หนึ่ง ดิฉันคิดว่ามันเป็นโอกาสในการที่จะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ ดิฉันเชิญชวนให้เด็กๆ เข้าไปพูดคุยกับคนเหล่านั้น อย่าชวนเขาทะเลาะ ถ้าคุณเชื่อว่าพวกคุณเป็นกลุ่มที่มีมากในสังคม คุณต้องไปคุยกับเขา การพูดคุยกับพ่อ-แม่ คนที่ไม่เห็นด้วย หรือกลุ่มที่คิดว่าการใช้ความรุนแรงเป็นทางออกในการจัดการกับนักศึกษา มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพูดคุย
แต่มีคนบางกลุ่มอย่าง ที่เราไม่สามารถใช้เหตุผลคุยกับพวกเขาได้
ดิฉันอยากให้คนรุ่นใหม่ทุกคนเข้าใจว่า แม้แต่คนที่พวกคุณเรียกเขาว่า ‘สลิ่ม’ เขาก็มีความหลากหลาย บางคนที่คุยได้ควรพยายามคุย ส่วนคนที่คุยไม่ได้ คุณก็ยังต้องพยายามที่จะคุยกับเขา เพราะว่าเราถูกสร้างขึ้นให้เรามีความเชื่อแตกต่างกัน
เรารับรู้ข้อมูลข่าวสารคนละชุดกัน คุณยังเปลี่ยนแปลงตัวคุณเองได้ ทำไมคนที่คิดต่างจากคุณจะเปลี่ยนไม่ได้ การพูดคุยแลกเปลี่ยนมันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ขอให้พยายามต่อไป ถึงแม้มันจะยากมากก็ตาม
ในบริบทการสังคมการเมืองตอนนี้ มีวิธีไหนบ้างที่เราสามารถลดความตึงเครียดของสังคมให้จางบางลง
ดิฉันคิดว่า การลดความตึงเครียดในปัจจุบัน มันอาจจะต้องเริ่มต้นสองสามอย่าง แต่สิ่งที่ดิฉันอยากจะย้ำมากที่สุดก็คือ ผู้มีอำนาจและกลไกรัฐต้องปฏิรูปในระดับที่คนรุ่นใหม่คาดหวัง แน่นอนว่าในระยะสั้นมันเป็นไปไม่ได้ แต่ดิฉันมีข้อเสนอที่ทำได้ในทันทีมาเสนอ
หนึ่ง ให้เสรีภาพเด็กในการแต่งกายในโรงเรียน และการพูดทางการเมืองในที่สาธารณะ และสอง ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
ดิฉันคิดว่าการยอมรับข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุดของพวกเขา มันเป็นการแสดงความจริงใจ การยอมรับ และพร้อมเข้าใจ ดิฉันไม่คิดว่าพวกเขาต้องการข้อเรียกร้องสูงที่สุดที่จะนำไปสู่การล้มล้างสถาบันทางการเมือง พวกเขาแค่ต้องการสิทธิในการมีทางเลือกและมีชีวิต
หรือถ้าจะไปไกลกว่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งดิฉันคิดว่านิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่พร้อมที่จะประนีประนอม เขาไม่ได้อยากจะอยู่บนท้องถนนยืดเยื้อยาวนาน เขาไม่ได้อยากจะทะเลาะกับผู้ใหญ่ เขาอยากเป็นเด็กดีของผู้ใหญ่ เขาอยากเป็นคนที่ทุกคนรัก แต่เขาก็อยากมีชีวิตของเขา
หรือผู้ใหญ่ควรดาวน์โหลด ทวิตเตอร์ มาเล่นบ้างไหม
(หัวเราะ) อ่ะ! สำหรับพ่อ-แม่ๆ ขอให้ทุกคนหยิบมือถือขึ้นมา แล้วก็ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทวิตเตอร์ แล้วเข้าไปดูว่าโลกของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร ดิฉันเพิ่งเล่นได้ 8-9 วัน บอกเลยว่าเข้าใจคนรุ่นใหม่ขึ้นเยอะมาก
ช่วงแรกๆคุณอาจจะรู้สึกว่า ‘โอ้โห เด็กพวกนี้รุนแรง หยาบคาย แต่พอคุณเห็นสิ่งที่เขาพูดคุยกัน มันเป็นเพียงวัฒนธรรมภาษาที่เขาใช้ในโลกทวิตเตอร์ แต่ข้างในของเขามันไม่ได้ต่างอะไรกับคนที่มีอายุมากกว่า พวกเขามีวุฒิภาวะทางการเมือง อ่านข่าวสารบ้านเมือง และแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ในระดับที่เร็วและแรงกว่าคนอีกรุ่นหนึ่งมาก
“เพราะฉะนั้นถ้าอยากเข้าใจลูกๆก็ไปเล่นทวิตเตอร์ค่ะ”
Photo by Watcharapol Saisongkhroh