“เวลาเราพูดถึง ‘การรำลึก’ ในแง่หนึ่งมันเป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่เราเลือกที่จะจำ เลือกที่จะรำลึกหรือเปล่า มันไม่ใช่ว่าตัวเหตุการณ์มันเองเราจึงอยากจะรำลึกถึงมัน เพราะจริงๆ แล้วเหตุการณ์ที่คนตาย เหตุการณ์ที่รัฐใช้ความรุนแรง เหตุการณ์ที่ขบวนการนักศึกษาพ่ายแพ้ มันก็มีอีกหลายเหตุการณ์ แต่ว่าทำไมคนจึงเลือกรำลึกบางเหตุการณ์ และไม่รำลึกบางเหตุการณ์
“การรำลึกเหตุการณ์ๆ หนึ่งมันทำหน้าที่ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองที่น่าสนใจมาก เพราะคนแต่ละกลุ่มทางสังคมก็จะเลือกเฉลิมฉลอง เลือกรำลึกถึงเหตุการณ์บางเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน และในแง่มุมที่แตกต่างกันด้วย”
ระยะหลัง พอถึงวันที่ 6 ต.ค. ของทุกปี ก็จะมีการงานหรือกิจกรรมรำลึกถึงการ ‘สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียวกันบนปฏิทิน แต่เป็นปี 2519
คำพูดข้างต้นที่เรายกมา เป็นของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชวนให้มองการจัดการรำลึก (commemorating) ในฐานะ ‘เครื่องมือทางการเมือง’ ที่ทำงานด้วยรูปแบบดังนี้
- รำลึกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้รำลึก
- รำลึกเพื่อลดทอนความชอบธรรมให้กับฝ่ายตรงข้ามของผู้รำลึก
- รำลึกเพื่อรณรงค์ความคิดทางการเมืองและสังคมบางอย่าง
แล้วเหตุผลใด เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จึงมักถูกหยิบขึ้นมารำลึก? ในมุมมองของ อ.กนกรัตน์ คิดว่าเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัย
หนึ่ง เรื่องความรุนแรงของรัฐ (state violence) ซึ่งเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นในระดับที่กว้างและลึกแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ในตอนกลางวันแสกๆ และมีผู้คนจำนวนมากเป็นประจักษ์พยานต่อความรุนแรงที่รัฐใช้
สอง ความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษา ที่ถูกปราบลงใต้ดินจนต้องไปจับมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
สาม มันเป็นจุดเริ่มต้นการเติบโตครั้งสำคัญของพรรคฝ่ายซ้ายพรรคเดียวในไทยที่ประสบความสำเร็จในการสร้างพรรคการเมืองที่ไม่ได้อยู่ใต้ดิน คือ พคท.
โดย อ.กนกรัตน์แบ่งช่วงเวลาในการรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน เป็น 4 ช่วง
ช่วงที่ 1 ประมาณ 5 ปีแรก ไม่มีการรำลึกถึง 6 ตุลาฯ ไม่มีการจัดงานฉลอง ไม่มีการพูดถึงในพื้นที่สาธารณะ อาจมีเพียงแค่นักศึกษาฝ่ายซ้ายกลุ่มเล็กๆ ที่จัดในธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งของขบวนการนักศึกษาอีกด้วย เพราะ 6 ตุลาฯ มันเป็นความผิดพลาดที่ทำให้เพื่อนในขบวนการต้องตาย การเคลื่อนไหวของขบวนการมาถูกทิศทางหรือเปล่า คือมันเต็มไปด้วยคำถามจนไม่รู้จะฉลองอย่างไร เพื่อนจำนวนมากก็อยู่ในป่า และความขัดแย้งระหว่างนิสิตนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็เริ่มเติบโตมากขึ้น
ช่วงที่ 2 ผ่านมาอีกสิบกว่าปีให้หลัง เมื่องานเฉลิมฉลองหรือรำลึกถึง 14 ตุลาฯ (เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516) มันเริ่มเป็นที่ยอมรับแล้ว คนที่อยู่ในเหตุการณ์เดือนตุลาเริ่มเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นนักการเมือง เป็นเอ็นจีโอที่มีชื่อเสียง เป็นนักวิชาการ การเฉลิมฉลอง 14 ตุลาฯ ในฐานะชัยชนะของขบวนการนักศึกษาในการต่อต้านเผด็จการ โดยเฉพาะหลังพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ถึงจุดนี้เริ่มมีคนพยายามอธิบายความเป็น ‘คนเดือนตุลา’ คนแรกที่พูดถึงคือ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทำไมใช้คำว่าคนเดือนตุลา มันคือการพยายาม reconcile (สร้างความสมานฉันท์) ความขัดแย้งของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กับ 6 ตุลาฯ มันเริ่มมีการสร้างการรำลึก 6 ตุลาฯ ในความหมายที่ inclusive (ครอบคลุม) มากขึ้น เริ่มรำลึกถึง 6 ตุลาฯ ในความหมายใหม่ ไม่ใช่ความหมายแบบซ้ายผู้พ่ายแพ้หรือเจอความเจ็บปวด
“ความหมายของ 6 ตุลาฯ มันยกระดับและเปลี่ยนไปจากเดิม มันกลายเป็นการให้ความหมายระลึกถึงขบวนการนิสิตนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน แล้วถูกกระทำความรุนแรงโดยรัฐ”
ช่วงที่ 3 คือความขัดแย้งของเสื้อเหลือง-เสื้อแดง เสื้อเหลืองหรือพันธมิตร กับ กปปส. เขาก็มีการใช้การรำลึกเป็นเครื่องมือทางการเมือง เขารำลึก 14 ตุลาฯ ในฐานะประวัติศาสตร์ความสำเร็จของภาคประชาชน 6 ตุลาฯ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนเสื้อแดง ประเด็นแรก มันเกี่ยวกับ state violence เขาไม่ได้คิดว่าเขาตั้งใจจะเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นนะ แต่เหตุการณ์ปี 2553 มันทำให้เขาเชื่อมโยง ประเด็นที่สองคือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดนี้ที่มันไปไกลกว่าเพียงแค่รัฐบาล ซึ่งจริง-ไม่จริง ไม่รู้ แต่ narrative 6 ตุลาฯ มันเป็นแบบนั้น แล้วเขาก็เชื่อมไปจนถึงการที่ทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) ถูกเอาออก เราก็เห็นว่ามันมีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ
“หลังจากนั้นมันก็ทำให้เสื้อแดง radical มากขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถาบันอนุรักษ์นิยม ซึ่งแปลว่าอะไร แปลว่าเราเห็นการรำลึกของ 6 ตุลาฯ ของเสื้อแดงในแบบที่มีพลวัตมาก มันไม่ใช่เฉพาะไปหยิบมาเพื่อใช้ แต่ท้ายที่สุดมันปฏิสัมพันธ์กัน มันเชื่อมโยงกัน นอกจากนั้น ในแง่เชิงอุดมการณ์ มันไม่ใช่อุดมการณ์แบบเสรีนิยมประชาธิปไตยฝ่ายซ้าย แต่เป็นอุดมการณ์ในการผลักดันการต่อต้านระบบศักดินา มันเริ่มมีการตั้งคำถามกรอบคิดเรื่องไพร่อำมาตย์ มันเริ่มมีการพูดถึงว่าจริง ๆ แล้วฝ่ายซ้ายแบบฐานคิดแบบจิตร ภูมิศักดิ์ที่มีอิทธิพลในช่วง 6 ตุลาฯ มันเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เสื้อแดงหยิบมาใช้”
ช่วงที่ 4 การรำลึกในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งเราคิดว่า 6 ตุลาฯ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของคนรุ่นนี้เท่าไร ถามว่า 6 ตุลาฯ มีบทบาทอยู่บ้างไหมในรุ่นนี้ ก็มีอยู่บ้างโดยเฉพาะการหายไปของวันเฉลิม (สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) คือเป็นยุคที่ state violence ทำหน้าที่ของมัน ซึ่งไปเชื่อมโยงกับ extra-constitutional power พลังอนุรักษ์นิยม ที่นักศึกษาเชื่อว่าเป็นผู้สั่งการ โดยงานรำลึกในปี 2563 มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำให้มองประเด็นเรื่องเหยื่อกับความรุนแรงโดยรัฐในมิติที่มันชัดเจนขึ้น
“แต่มุมที่คนรุ่นนี้เลือก มันเป็นมุมเฉพาะเรื่อง state violence และ extra-constitutional power แต่ไม่ได้เลือกสิ่งที่คน 6 ตุลาฯ พยายามแสดง ไม่ได้สนใจเรื่องพลังนักศึกษา ไม่ได้สนใจเรื่องฝ่ายซ้าย ไม่ได้สนใจเรื่องนักศึกษาผู้รักประชาธิปไตย ความเท่าเทียม ..สำหรับคนรุ่นนี้ 6 ตุลาฯ ในแง่ของพลังนักศึกษามัน meaningless มันพ่ายแพ้ จะรำลึกถึงมันทำไม แต่จะไปรำลึกถึง 14 ตุลาฯ ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกช่วงชิงไปแล้วโดยขบวนการต่อต้านทักษิณ ดังนั้น 2475 มันก็เลยเป็นหมุดหมายในการรำลึกมากกว่า”
สำหรับ narrative เกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ จนถึงปัจจุบัน อ.กนกรัตน์มองว่า เป็นการปะทะกันระหว่าง 3 ชุดเรื่องเล่า/ความคิดใหญ่ๆ
- เวอร์ชั่นของ อ.ธงชัย วินิจจะกุล เลือกหยิบความหมายที่เชื่อว่าทุกคนรับได้ “ขบวนการนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันและสิทธิเสรีภาพ”
- เวอร์ชั่นของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล “ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ มันคือประวัติศาสตร์นักศึกษาฝ่ายซ้าย” ซึ่งไม่ใช่ซ้ายธรรมดา แต่เป็นซ้าย radical และซ้ายแบบเหมาด้วย
- เวอร์ชั่นของ อ.เกษียร เตชะพีระ ที่มองว่านักศึกษาในยุคนั้นคือ “ฝ่ายซ้ายแบบไทย” มีต้นแบบคือจิตร ภูมิศักดิ์, กุหลาย สายประดิษฐ์ ไม่ใช่ซ้ายแบบ Maoist
“ความหมายที่ชนะในท้ายที่สุดก็คือความหมายแบบ inclusive ของ อ.ธงชัย เพราะมันย่อยง่าย กลืนง่าย เข้าใจง่าย กินอร่อยกันทุกคน”
เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และผลที่ตามมาให้มากขึ้น อ.กนกรัตน์แนะนำให้อ่านหนังสือชื่อ หลัง 6 ตุลาฯ ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยธิกานต์ ศรีนารา ที่มีเนื้อหาในเชิง idealistical criticism เพราะจะทำให้เห็นว่า ขบวนการนักศึกษาก็ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน แต่มีความหลากหลาย
“เราเป็นคนสนใจ post-activist life, post-revolutionary life ก็คือชีวิตหลังขบวนการเคลื่อนไหว ชีวิตหลังการปฏิวัติ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยเกิดขึ้นในช่วงการเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงจริงๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังการเคลื่อนไหว เราเลยสนใจ post-activist life ของ 6 ตุลาฯ มากๆ หลังจากที่แพ้แล้ว นักศึกษาทำอะไร มีการประชุมหลากหลายชุดว่าอะไรคือชัยชนะ 14 ตุลาฯ และอะไรคือที่มาปัญหาความพ่ายแพ้ของ 6 ตุลาฯ มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีการไปสัมภาษณ์ในป่านะ เพราะงั้นจะเห็นถึงความคิดที่หลากหลายมาก
“มันมีหลักฐานอะไรเยอะมากที่ทำให้รู้ว่าชีวิตหลังจาก 6 ตุลาฯ พวกเขาไม่ได้แพ้ พวกเขากลับเข้าไปในป่าและพยายามที่จะต่อสู้ เราสัมภาษณ์คนเดือนตุลาเยอะมาก ก่อนเข้าป่าไม่มีใครอ่านหนังสือนะคะ การเรียนรู้อุดมการณ์การเมืองมันเกิดขึ้นในช่วงในป่า เพราะมันมีโรงเรียนการเมืองการทหาร ทุกคนต้องไปอ่านงานฝ่ายซ้ายสารนิพนธ์เหมา แต่ก็มันก็เห็นถึงการค่อยๆ ไปตั้งคำถามต่อสิ่งที่เคยเชื่อ คือพัฒนาการอุดมการณ์ของขบวนการนักศึกษามันเกิดขึ้น หนังสือเล่มนี้มันจึงเป็นหนังสือที่มีความสำคัญมากในการทำความเข้าใจ 6 ตุลาฯ ที่ไม่ใช่เข้าใจเฉพาะว่ามีอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่เข้าใจว่า 6 ตุลาฯ มันนำไปสู่อะไร consequence (ผลที่ตามมา) ของ 6 ตุลาฯ คืออะไร โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา”
เมื่อขอให้เปรียบเทียบจุดร่วม-จุดต่างระหว่างขบวนการศึกษาสมัย 6 ตุลาฯ กับยุคปัจจุบัน
นักรัฐศาสตร์รายนี้มองใน 2 ประเด็น คือยุคปัจจุบันมันไม่มีโครงสร้างการเคลื่อนไหว (movement organization) ที่ชัดเจน ทำให้การเคลื่อนไหวไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึง core ideology หรือ core value แม้จะมีจุดร่วมอยู่บ้าง เช่น เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม แต่ก็รวมกันอย่างหลวมๆ
สุดท้ายนี้ อ.กนกรัตน์ยังฝากคำพูดของคนรุ่น 6 ตุลาฯ มายังเหล่านิสิตนักศึกษาที่ยังต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงว่า
“สำหรับคนรุ่น 6 ตุลาฯ เขามองคนเจนเนอเรชั่นนี้ว่าเป็นความหวัง สิ่งที่เขาฝันก็คือ คนรุ่นพวกคุณจะช่วย finish their unfinished mission (สานต่อภารกิจที่พวกเขายังทำไม่สำเร็จ ให้สำเร็จ)” อ.กนกรัตน์กล่าว