งานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในปีนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะ ‘ขาลง’ ของขบวนการคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีแกนนำเป็นเหล่านิสิตนักศึกษาและภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ตลอดทั้งปี 2563 – 2564 โดยมีสัญลักษณ์ร่วมคือการชู 3 นิ้ว (หรือ ‘ม็อบ 3 นิ้ว’ ที่สื่อมวลชนเรียก)
สาเหตุของขาลงที่ว่า อาจมาจากหลายๆ ปัจจัย
ทั้งจากการที่ภาครัฐใช้วิธีตั้งข้อกล่าวหาแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ จนต้องไปวุ่นวายเสียเวลากับการต่อสู้สารพัดคดี ไม่รวมถึงว่า บางคนถูกศาลสั่งไม่ให้ประกันตัว ต้องอยู่ในเรือนจำยาวนาน
ทั้งจากการผลักดันความเปลี่ยนแปลงตามระบบ โดยเฉพาะภายในรัฐสภา แต่ยังถูกกลไกต่างๆ ที่ผู้มีอำนาจวางไว้สกัดขัดขวาง เช่น ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน
ไม่รวมถึง ‘ความหวัง’ ถูกเปลี่ยนจากการเคลื่อนไหว ‘บนถนน’ ไปสู่ ‘สนามเลือกตั้ง’ เมื่อระยะหลัง ผู้สมัครจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลได้รับชัยชนะในหลายสนามติดๆ กัน ทำให้หลายคนรอคอยการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง อย่างช้าต้นปี 2566
แม้จะมีรายละเอียดหลายอย่างแตกต่างกัน แต่มักมีคนนำเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน อาจด้วยองค์ประกอบบางอย่าง เช่น การใช้ความรุนแรงโดยรัฐ, อำนาจเบื้องหลังรัฐบาล ที่สำคัญคือเรื่องพลังของเหล่านิสิตนักศึกษา
เช่นนั้นแล้ว เราจะเอาอดีตมาเป็น ‘บทเรียน’ ให้กับปัจจุบันอย่างไรได้บ้าง?
ระหว่างทำสกู๊ปเกี่ยวกับการรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 ในปี 2565 หลายชิ้น The MATTER มีโอกาสได้อ่านและรับฟังมุมมองของแหล่งข่าวหลายๆ คนต่อคำถามข้างต้น
จึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอดต่อ
คนรุ่นใหม่ยังไม่แพ้ แต่ต้องปรับตัว
อธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) คอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์การเมืองชื่อดัง ในฐานะอดีตนักศึกษาที่เข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มองว่า ขบวนการคนรุ่นใหม่ยังไม่ได้แพ้ เพียงแต่การต่อสู้อาจจะยาว คนรุ่นตนสู้จบแล้วจบเลย แต่คนรุ่นนี้ยังมีโอกาส แต่มันต้องใช้เวลา ซึ่งระหว่างนั้นคุณจะต้องมีชีวิตตัวเองไปด้วย แถมบางอย่างยังลำบากกว่าเดิม ตรงที่หลายๆ คนก็มีคดีติดตัว
“ผมว่ามันมีชัยชนะอยู่ระดับนึงแล้วนะ แต่เป็นธรรมดาเมื่อถึงจุดสูงสุดมันก็จะซบเซาลง ขึ้นอยู่กับว่าจะปรับตัวกันยังไงต่อ แต่ทุกคนที่อยู่ร่วมในกระแสนั้น ยังไงก็ได้รับผลสะเทือนที่อาจไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาไปแล้ว แต่คุณจะรู้ว่ากระแสนั้นมันกลายเป็นเรื่องราวร่วมสมัยของผู้คน ที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อในอนาคต”
อธึกกิตยังมองว่า อีกข้อแตกต่างระหว่าง 6 ตุลาฯ กับปัจจุบัน คือตอนนั้นมันเกิดการประนีประนอม แต่ตอนนี้มันไม่เกิด เป็นผลมาจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557 ที่ยาวนานมากว่า 8 ปีแต่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ มีแต่ความพยายามที่จะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพราะกลัวจะเกิดวาระสุดท้าย ถึงจะมีการเลือกตั้งมาแล้วก็จริง แต่ก็มีการตีกรอบสิ่งที่แตะต้องไม่ได้มากขึ้นกว่าเดิม
“ยุคนี้จะประนีประนอมยากนะ โลกนี้ไม่ได้ยอมรับการไม่ปรับตัวสักอย่าง ขอแค่เออออ ยอมติดคุกแล้วมาให้อภัย ..ไม่พอแล้ว” เขาสรุป
เรียนรู้จากข้อแตกต่าง ทำภารกิจต่อให้จบ
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า 6 ตุลาฯ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของคนรุ่นนี้เท่าไร แต่ก็มีบทบาทอยู่บ้าง โดยเฉพาะในช่วงแรก เช่น การหายไปของวันเฉลิม (สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่หายตัวไปที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา ในเดือน มิ.ย.2563 โดยก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่รัฐไทยเข้าไปติดตาม) ที่เน้นย้ำเรื่อง state violence ซึ่งไปเชื่อมโยงกับ extra-constitutional power พลังอนุรักษ์นิยม ที่นักศึกษาเชื่อว่าเป็นผู้สั่งการ
“เราคิดว่ากระแส 6 ตุลาฯ ในตอนนั้นในช่วง 6-7 เดือนแรกนั้นมันเติบโตมาก ควบคู่ไปกับ 2475 แต่มุมที่คนรุ่นนี้เลือก มันเป็นมุมเฉพาะเรื่อง state violence และ extra-constitutional power แต่ไม่ได้เลือกสิ่งที่คน 6 ตุลาฯ พยายาม portrayed (แสดง) ไม่ได้สนใจเรื่องพลังนักศึกษา ไม่ได้สนใจเรื่องฝ่ายซ้าย เพราะเราคิดว่าสำหรับคนรุ่นนี้ 6 ตุลาฯ ในแง่ของพลังนักศึกษามัน meaningless ไร้ความหมาย มันพ่ายแพ้ จะรำลึกถึงมันทำไม ส่วน 14 ตุลาฯ ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกช่วงชิงไปแล้วโดยขบวนการต่อต้านทักษิณ ดังนั้น 2475 มันก็เลยเป็นหมุดหมายในการรำลึกมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ อ.กนกรัตน์มองว่า การต่อสู้ในยุค 6 ตุลาฯ ได้ตกทอดมาสู่ขบวนการนักศึกษายุคปัจจุบัน คือความเชื่อที่ว่า “คนๆ หนึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้” ทุกคนไปม็อบเพราะเชื่อว่า ถ้าไม่ไป มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน และรุ่นนี้ ก็เห็นผลการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นตลอดเวลาด้วย
โดยสิ่งที่เธออยากให้เรียนรู้จากการเคลื่อนไหวยุค 6 ตุลาฯ เพื่อนำมาพัฒนาการเคลื่อนไหวในยุคปัจจุบัน มีอยู่ 2 เรื่อง
- ยุคปัจจุบันมันไม่มีโครงสร้างการเคลื่อนไหว (movement organization) ที่ชัดเจน ทำให้การเคลื่อนไหวไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
- เรื่องอุดมการณ์ร่วม (core ideology) หรือค่านิยามร่วม (core value) แม้จะมีจุดร่วมอยู่บ้าง เช่น เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม แต่ก็รวมกันอย่างหลวมๆ
“สำหรับคนรุ่น 6 ตุลาฯ เขามองคนเจนเนอเรชั่นนี้ว่าเป็นความหวัง สิ่งที่เขาฝันก็คือ คนรุ่นพวกคุณจะช่วย finish their unfinished mission (สานต่อภารกิจที่พวกเขายังทำไม่สำเร็จ ให้สำเร็จ)” อ.กนกรัตน์กล่าว
ต้องช่วยกันขุด และระวังหลุมพราง
“ถ้ารัฐจงใจจะฆ่าคุณ คุณเลี่ยงมันได้เหรอ”
คือคำตอบของ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักกฎหมายที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ อย่างใกล้ชิด จนปัจจุบันย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ต่อสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อป้องกันความรุนแรงที่รัฐจะใช้กับประชาชน
“รัฐมันสามารถวางกับดักที่ปลุกปั่นมวลชนมันขึ้นมา ปัจจุบันสื่อฝ่ายขวาก็ทำอย่างนี้ตลอด เอาข้อความนักศึกษา เอาอะไรต่างๆ เนี่ย ไปปั่นไปตีให้ดูว่าจะสิ้นชาติแล้ว จะล้มชาติแล้ว ล้มราชวงศ์ ต่อให้คุณไม่ทำไรเลย คุณยืนเฉยๆ เขาก็สามารถเอาไปปั่นได้หรือเปล่า”
อ.เข็มทองให้ข้อเสนอแนะว่า แม้จะป้องกันความรุนแรงจากรัฐได้ไม่ 100% แต่ก็อาจหลีกเลี่ยง ‘หลุมพราง’ ต่างๆ ที่ฝ่ายขวาพยายามวางเพื่อจะนำไปปลุกระดมได้ อีกเรื่องคืออยากให้ช่วยกัน ‘ขุด’ ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ให้ออกมาได้มากที่สุด ซึ่งในสายตาของนักกฎหมาย การขุดข้อเท็จจริงนำออกมาเรียบเรียงให้เวอร์ชั่นมันตรงกัน ยังอาจจะต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อเพื่อสร้างความยุติธรรม
“การขุดเรื่องพวกนี้ขึ้นมา เพื่อพูดกันให้กระจ่างแจ้ง มันเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกัน ทั้งป้องกันตัวเองจากการเป็นเหยื่อ แล้วก็ป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นหนึ่งในทีมงานผู้กระทำรอบหน้าด้วย” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ รายนี้สรุป
The MATTER ยังมีโอกาสได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ซึ่งมีบทบาทในการเคลื่อนไหวช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้ง มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, เฟลอร์-สิรินทร์ มุ่งเจริญ และ มิน-ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ที่มองว่า บทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันถ่ายทอดต่อไป และยิ่งเหตุการณ์ไหนที่รัฐพยายาม ‘ทำให้ลืม’ คนก็จะยิ่งขุดคุ้ยและพูดถึงมัน
การต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงของคนหนุ่มสาวเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย แต่เส้นทางไปสู่เป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ‘บทเรียน’ จากอดีตจะให้แง่มุมที่เป็นประโยชน์ ไม่มากก็น้อย
เพื่อที่ว่าสักวันหนึ่ง ภารกิจเพื่อชีวิต สังคม และประเทศชาติ ‘ที่ดีกว่า’ จะประสบผลสำเร็จ
Content by Pongpiphat Banchanont