มากกว่า 2 ทศวรรษ คือการทำงานในวงการสื่อของ ‘กรุณา บัวคำศรี’ ซึ่งเธอผ่านการทำข่าวมาหลายสนาม ทั้งใน และต่างประเทศ ทั้งพื้นที่สงคราม ความขัดแย้ง ชุมชนแออัด เรือนจำ หล่อหลอมประสบการณ์รอบด้านในวงการข่าวให้กับเธอ
ปัจจุบัน กรุณา ยังคงอยู่ในวงการสื่อมวลชน ในฐานะผู้ประกาศข่าวและผู้ผลิตรายการ ‘รอบโลกเดลี่’ ทางช่อง PPTV และยังมีรายการใหม่อย่าง ‘รอบโลก express’ ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นาน เรามาพูดคุยกับเธอถึงประสบการณ์ทำงานสื่อ การรายงานข่าวต่างประเทศ และเสรีภาพ และบทบาทของสื่อมวลชน ซึ่งเธอก็บอกกับเราว่า เธอยังคงยึดมั่นในแนวทางการทำข่าวของเธอ
“เพราะพี่ยังยึดมั่นในเรื่องของคุณค่า และเป้าหมายของข่าว คือต้องให้ความคิดที่กว้างขึ้นกับคน ต้องมีประโยชน์กับคน มีประโยชน์กับสังคม” นี่คือสิ่งที่เธอบอกกับเรา
หลายครั้งคนไทยมองว่าข่าวต่างประเทศมันไกลตัวมาก ประเทศไหนตีกัน หรือสงครามในต่างประเทศ แต่ในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พี่นามองว่า ทำไมเราควรสนใจประเด็นเหล่านี้
ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องไปดูก่อนว่า ข่าวมันทำหน้าที่อะไร คนอาจจะตีความหมายต่างกัน เพราะข่าวมันถูกนิยามหลายๆ อย่าง บางคนก็อาจจะบอกว่าดูเพื่อความบันเทิง เพื่อความสะใจ สนุกสนาน อยากรู้ หรือดูเพื่อให้เรามีความรู้เยอะขึ้น สำหรับข่าวของพี่ มันค่อนข้างจะเป็น old school นิดนึง ข่าวหรือจุดประสงค์ หรือเป้าหมายของข่าว มันคือการให้ข้อมูล ให้ความรู้ หรือมากกว่านั้น ในความเห็นพี่ ข่าวมันควรจะขยายขอบเขตความคิดของคน คือแค่รู้ไม่พอ มันต้องทำให้ความคิดเราอาจจะกว้างขึ้น
พอเราคิดว่าหน้าที่ และเป้าหมายของมันเป็นแบบนั้น พี่คิดว่าเราไม่ควรแบ่งแยกระหว่างข่าวในประเทศ และข่าวต่างประเทศ เพราะว่าถ้าข่าวมันหมายถึงข้อมูลชุดนึงที่ทำให้คนมีความรู้ที่กว้างขึ้นแล้ว ทำไมเราจะดูข่าวในตะวันออกกลาง หรือข่าวคุกในฟิลิปปินส์ไม่ได้ เพราะว่าเวลาพี่พูดถึงข่าวมันควรจะทำหน้าที่ให้ขอบเขตความคิดคนกว้างขึ้น แปลว่าเราควรจะรู้ว่าในโลกใบนี้ มันมีปัญหา มันมีวิกฤต มีความสำเร็จ ความเศร้า ความน่ายินดี ความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์อยู่ตรงไหนอีกบ้าง
โลกทั้งโลกมันเชื่อมกัน ดูอย่าง COVID-19 เป็นตัวอย่าง น่าจะเป็นครั้งแรกที่คนรู้สึกว่า มีความสัมพันธ์ในแง่ของความทุกข์ร่วมกันกับชาวโลก ดังนั้นถ้าเราเห็นว่า COVID-19 เป็นตัวอย่าง นี่คือเหตุผลที่เราควรดูข่าวต่างประเทศ เพราะสุดท้ายมันจะมีอีกหลายเรื่องที่จะกระทบเรา หรือทำให้เรามีชีวิตที่ดี หรือแย่ลงเหมือน COVID-19 และพี่คิดว่าสำหรับพี่ ข่าว มันควรจะทำให้คนที่ดู ดูเสร็จแล้วรู้สึกว่าความทุกข์ความดีอกดีใจ ความสำเร็จของใครซักคนที่อยู่ห่างๆ เรา มันเป็นชะตากรรม หรือสิ่งที่เราต้องเจอซักวัน มันเป็นเรื่องของเรา สำหรับพี่ไม่เคยคิดเลยว่า ข่าวไทย หรือต่างประเทศต้องแยกกัน
งานที่ผ่านๆ มาของพี่ณามักเป็นรูปแบบสารดคี หรือสกู๊ป ทำไมถึงเลือกวิธีรายงานข่าวต่างประเทศในรูปแบบเหล่านี้ หรือรู้สึกว่าเราต้องไปลงพื้นที่จริงๆ เลย
เพราะถ้าเราไม่ทำแบบนี้ก็จะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของมนุษย์ ของคนที่เราอาจจะรู้จัก เพราะฉะนั้นพี่ว่าการที่จะทำให้คนสนใจข่าวที่อยู่ห่างๆ เรา มันต้องเอาชีวิตคนเข้ามา เพราะว่าถ้ามันไม่มีชีวิตคน คนก็จะรู้สึกว่าจะดูไปทำไม มีแต่เรื่องตึก อิฐ ปูน แต่ถ้ามีเรื่องมนุษย์เข้ามา มนุษย์มันมีความเหมือนกัน อย่างเช่นถ้าพ่อพี่ป่วย พี่ก็จะเสียใจ หรือน้องชายพี่มีลูก พี่ก็จะดีใจ ซึ่งปรากฎการณ์หรืออารมณ์แบบนี้ มันเกิดขึ้นกับคนทุกคนบนโลกนี้ ดังนั้นถ้าเราจะสื่อสารประเด็นอะไรที่มันอยู่ในระยะทางห่างจากเรา พูดคนละภาษา หรือมีวัฒนธรรมคนละแบบ แต่เขามีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนเรา ถ้าเราเอาชีวิตของมนุษย์เข้ามา มันจะทำให้รู้สึกผูกพันธ์ หรือใกล้ชิดกับเรื่องนั้นมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าข่าวต่างประเทศไม่ใช่เรื่องไกลตัว
พี่ว่าความท้าทายอันนึงของการทำข่าวต่างประเทศที่ผ่านมาคือว่า เรามักจะแค่รายงานสถานการณ์ แต่เราจะไม่ค่อยเห็นสิ่งที่มันอยู่ในสถานการณ์ คือชีวิตของคน พี่เลยรู้สึกว่าถ้าเราเอาชีวิตของคนใส่เข้าไป เอาความรู้สึก ความเห็น ใส่ลงไปด้วย มันจะทำให้คนอินกับข่าวต่างประเทศ เขารู้สึกเชื่อมโยงได้ว่ามันคืออารมณ์ที่เรามีเหมือนกัน ถ้าเราเจอเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา ข่าวต่างประเทศที่มันขาดคือวิญญาณ ตัวละคร ขาดตัวตนของคนที่อยู่ในข่าว พี่เลยเอาชีวิตคนมาใส่ในข่าว และพี่พยายามทำให้คนเข้าใจภาพที่ใหญ่ขึ้น ด้วยการเอาข่าว หรือสถานการณ์เข้าไป
ถ้าสังเกตงานที่ผ่านมา อย่างไปกินปั๊กปั๊ก (เศษอาหารเหลือทิ้งจากร้านอาหารในฟิลิปปินส์ – ผู้เขียน) พี่พูดเรื่องความมั่นคงทางอาหารในฟิลิปปินส์ที่คนจำนวนมากไม่มีอาหารกิน ไม่ว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความจน ถ้าพี่พูดแค่นั้น คนก็ไม่อิน พูดตัวเลข บอกว่าคนอดตาย เด็กขาดอาหาร ถ้าพี่รายงานแค่นั้นคนจะไม่อิน จนกระทั่งพี่หาตัวอย่างเจอ และนี่คือชีวิตคน ไปถามเขาว่ากินทำไม ก็เพื่อให้เขาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าตัวเลขที่พี่รายงาน มันคือเรื่องจริง นี่คือความพยายามที่จะอธิบายปัญหาใหญ่ๆ ด้วยการใช้ชีวิตของคน
อย่างเรื่องในคุกฟิลิปปินส์ เรื่องหลักๆ คือสงครามปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล ถ้าพี่ไป และพูดแค่ว่ารัฐบาลดูเตอร์เตออกสงครามยาเสพติด มีรัฐบาลยิง คนก็อาจจะไม่ค่อยอินเท่าไหร่ จนกระทั่งเห็นสภาพในคุกว่าอยู่ตั้ง 6 พันคน ครึ่งนึงบอกโดยจับมาโดยไม่ได้เกี่ยวอะไรกับยาเลย และไปดูว่าเขาอยู่ยังไง กินยังไง คนจะอินมากขึ้น เพราะมันคือชีวิตของคน ถ้าเกิดเขาเห็นชีวิตของคนในข่าว
ปัจจุบัน ลักษณะการเสพสื่อของคนเป็นไปตามกระแสฮิตๆ เรียกร้องเราให้ต้องย่อยข่าว ต้องทำให้ง่าย พี่ณามองว่าสื่อต้องปรับตัวยังไง และต้องทำยังไงให้เรื่องเชิงลึก โดยเฉพาะในมุมต่างประเทศของเรายังน่าสนใจอยู่
ในทางทฤษฏี การแข่งขันมันควรจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า อย่างเช่น เราแข่งขันเรื่องของการไปอวกาศ การแข่งขันมันจะทำให้เรามีแรงผลัก คิดค้นนวัตกรรมไปถึงดวงจันทร์ให้ได้ แต่แปลกที่การแข่งขันในวงการข่าวบ้านเรา มันทำให้วงการข่าวดูได้ลำบากขึ้น ถ้าเรากลับไปที่คำถามแรกว่าหน้าที่ของข่าวคืออะไร ถ้ามันคือรายการหรือสิ่งที่ทำให้คนมีข้อมูลกว้างขึ้น ไกลขึ้น เราต้องมาคิดว่าปัจจุบันเราทำข่าวเพื่อเป้าหมายนั้นหรือเปล่า
พี่ไม่รู้ว่าคนอื่นทำข่าวเพื่ออะไร แต่สำหรับพี่ พี่จะยึดไว้เป็นแนวทางก็คือ การทำข่าวเพื่อให้คนได้ข้อมูล และมีความคิดที่กว้างขึ้น ถึงแม้ว่าการแข่งขันมันจะนำไปสู่การทำข่าวที่ดราม่ามากขึ้น เป็นละครมากขึ้น ซึ่งคนเมื่อ 20 ปีที่แล้วอาจจะนึกว่ามันเป็นข่าวได้ด้วยหรอ พี่จะไม่เลือกทางนั้น เพราะพี่ยังยึดมั่นในเรื่องของคุณค่า และเป้าหมายของข่าว คือต้องให้ความคิดที่กว้างขึ้นกับคน ต้องมีประโยชน์กับคน มีประโยชน์กับสังคม เพราะฉะนั้นในกระแสที่ข่าวมีการแข่งขันสูง และมีนวัตกรรมข่าวใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย พี่คิดว่าที่พี่พยายามทำอยู่ มันคือแนวทางข่าวเดิม แต่พี่คิดว่ายังเป็นแนวทางที่สำคัญสำหรับ คนที่ยังต้องการข่าวแนวนี้ ถึงแม้ว่าคนดูจะไม่ได้กว้างมาก แต่พี่ว่ามันจำเป็นที่ทีวีไทยจะมีพื้นที่ให้ข่าวแบบนี้บ้าง
คิดว่าประเด็นที่เราเลือกทำ หรือนำเสนอข่าวต่างประเทศ มันเปลี่ยนสังคม หรือเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยได้ยังไง
ในตอนนี้ โลกของเรา รวมถึงประเทศไทยในฐานะประชาคมโลก มันจะมีปัญหาที่ท้าทายพวกเราอยู่ 5-6 อย่าง หนึ่งเรื่องความไม่เท่าเทียม เรื่องแก็ประหว่างคนรวยคนจน โลกร้อน ความเท่าเทียมทางเพศ ความรุนแรง ไม่ว่าจะมาในรูปของครอบครัว หรือความขัดแย้งก็แล้วแต่ ลักษณะของปัญหาที่มันเกิดขึ้นบนโลกนี้ จะมี 4-5 อัน ซึ่งมันก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ รวมถึงที่คนไทยเจอด้วย
เช่นเรื่องน้ำกรด มันก็คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ในไทยเองก็มีด้วยเหมือนกัน เพียงแต่คนไทยอาจจะไม่ได้มีการรายงานหรือเปล่า เพราะฉะนั้นประเด็นที่พี่ทำ มันไม่ใช่ประเด็นใหม่ เป็นประเด็นที่เราก็เจอ แต่ว่ามันเกิดขึ้นในประเทศไทย พี่เลือกทำประเด็นเหล่านี้ในต่างประเทศ เพื่อทำให้คนเห็นว่า ในสังคมอื่นๆ เขามีปัญหาแบบนี้เช่นกัน และเขาจัดการยังไง เขาเผชิญกับมันยังไง รับมือ แก้ไขยังไง เดินหน้า หรือถอยหลังยังไง ข่าวมันควรจะมีหน้าที่ขยายความคิดคน ให้คนคิดว่าฉันทำยังงี้ดีกว่า หรือไม่ควรจะทำ
ข่าวต่างประเทศ มันเป็นเรื่องที่เกิดในต่างประเทศก็จริงๆ แต่หลายๆ ครั้งพี่ณามองว่ามันสะท้อนให้เห็นสังคมประเทศไทยไปด้วยยังไง
มันเป็นเรื่องของความรู้สึกของมนุษย์ พอเรามีเฟซบุ๊ก ยูทูบ เวลาเราดูอะไรซักอย่าง เราดูคอมเมนต์ มันไม่ใช่เรื่องของประเทศไทยหรอกที่เราจะมีความรู้สึกว่ามันไม่เฉพาะเรื่องในไทยหรอกที่เรามีความรู้สึกว่า เราอยากเข้าไปคอมเมนต์ว่าเราสงสารเธอจัง หรือดีใจกับเธอ มันเป็นเรื่องของมนุษย์ ถ้าเราดูเรื่องของคนที่ไหน ถ้าเป็นเรื่องที่เรามีอารมณ์ร่วม มันก็คือเรื่องเดียวกันกับเรานั่นแหละ
พี่ว่าความเป็นมนุษย์มันไม่ได้มีพรมแดน อย่างผู้หญิงในเกาหลีใต้ที่พี่ไปคุย เขาท้องและสามีไม่รับ คนไทยเองก็มีปัญหาแบบนี้เหมือนกัน มันคือเรื่องเดียวกัน สิ่งที่เราทำคือเรื่องของมนุษย์ เพราะฉะนั้นทำให้คนที่ดู ถึงแม้เราจะเป็นคนไทย แต่ก็รู้สึกร่วมกับเขาไปด้วย
พี่ชอบไปอ่านคอมเมนต์ในเรื่องที่พี่ทำ ก็จะมีคนเขียนว่าสงสาร เห็นใจ ดีใจด้วยนะ หรือทำไมถึงทำกับเขาอย่างนี้ นี่คืออารมณ์ของมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์ ไม่ใช่อารมณ์ของคนไทยที่มีต่อคนฟิลิปปินส์ คนอิหร่าน หรือคนกัมพูชา แล้วอันนี้พี่คิดว่าข่าวต่างประเทศมันไม่ควรจะมีพรมแดน ทุกวันนี้โลกมันไปไกลเกินกว่าจะบอกว่าคือเรื่องในประเทศ หรือต่างประเทศ สังคมโลกมันควรจะถูกเชื่อมโยงด้วยความรู้สึกที่มีต่อกัน หรือชะตากรรมที่มีต่อกัน สงสารคนเวลาที่โดนถล่มบ้าน หรือดีใจที่คนนี้ได้รางวัลโนเบล
โลกมันไปไกลเกินกว่าที่เราจะบอกว่าเราเป็นคนไทย เราไม่ยินดีกับคนฟิลิปปินส์ โลกมันเป็นอันเดียวกันแล้ว ทุกคนมีปัญหาที่ต้องเผชิญร่วมกัน ดูอย่าง COVID-19 เราอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน พี่คิดว่าอันนี้คือสิ่งที่ทำให้เราต้องรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดข้ึนในต่างประเทศ มันไม่ใช่เรื่องของคนในต่างประเทศ มันคือเรื่องของเราในฐานะมนุษย์ด้วยกัน
อย่างนี้พี่ณามองว่าสื่อไทยยังขาดการทำข่าวด้วยจิตวิญญาณ หรือความเป็นมนุษย์แบบนี้หรือเปล่า
ข่าวไทยทำได้ดีในประเทศไทย พอในประเทศ เราใส่ความเป็นมนุษย์ไปเยอะมาก เราทำข่าวที่คนดูน้ำหูน้ำตาไหล สงสาร หรือสมน้ำหน้า มีทุกอารมณ์ออกมา แต่อย่างที่พี่บอก พอเป็นข่าวต่างประเทศ ตรงนี้เราไม่มี ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องของมนุษย์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันทำให้มองว่าข่าวประเทศเป็นเรื่องไกลตัว แล้วพี่คิดว่าความพยายามเอาความเป็นมนุษย์ใส่ไปในข่าว มันจะทำให้ช่องว่างตรงนี้น้อยลง เราจะไม่รู้สึกว่าเรื่องที่เกิดในต่างประเทศเป็นเรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป แล้วพี่คิดว่าเราทำกันได้ มันคือทักษะเดียวกัน
แม้ว่าเรื่องการเมืองตะวันออกกลาง การตีกัน สงคราม จะดูไกลกับคนไทยมาก แต่จริงๆ ก็มีเรื่องที่เขาควรรับรู้
มันไม่ไกล อย่างตอนที่ช่วงตาลีบันยึดอัฟกานิสถาน พี่ก็เซอร์ไพรซ์ว่าเรตติ้งดีมาก เพราะว่าคนชอบดู อยากดูตาลีบัน จะว่าไกลมันก็ไม่ไกล เพราะคนไทยรู้จักตัวละครในต่างประเทศเยอะ ในคอมเมนต์เราเห็นแล้วก็เออเขารู้นะ คนรู้ คนสนใจ เพียงแต่ว่าเขาอาจจะไม่มีพื้นที่ หรือแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนเรื่องเหล่านี้ แน่นอนมันไม่ใช่แมส ไม่ใช่ข่าวชาวบ้าน แต่พี่คิดว่า ต่อให้ไม่ใช่ข่าวชาวบ้าน มันก็ต้องเปิดพื้นที่ให้คนที่สนใจ และขยายขอบเขตความสนใจของคนให้มากกว่านี้
พี่คิดว่ามันมีคนที่สนใจเรื่องพวกนี้อยู่ ถ้านับจากตัวเองแต่ก่อนพี่ก็ไม่สนใจ แต่พี่สนเพราะอ่านจากหนังสือสังคมศึกษา ฉนวนกาซ่า เยรูซาเล็ม อ่านครั้งแรกเราอยากไปมาก พี่คิดว่าการทำข่าวมันควรจะต่อยอดจินตนาการของคนที่เคยรับรู้เรื่องนี้มา และให้คนได้เห็นต่อว่าในจิตนาการของเราที่เคยมี เคยอ่าน มันมีจริงๆ
พูดถึงประสบการณ์การทำงานของพี่ณา ได้มีโอกาสทำงานในต่างประเทศ เห็นความแตกต่างจากการทำงานในไทย และเพิ่มสกิลให้เรายังไงบ้าง
ทำข่าวต่างประเทศกับในประเทศ แตกต่างกันค่อนข้างเยอะ ถ้าพี่จะแยกเรื่องของเทคนิค การทำข่าวต่างประเทศ ความต่างคือถ้าเกิดปัญหา วิธี หรือทักษะในการแก้ปัญหา มันคนละแบบกันเลย เพราะสมมติว่าเราอยู่ในประเทศ ถ้ากล้องพี่พัง ก็โทรหาเพื่อน มันก็ไม่ยากที่หยิบยืมจากใคร แต่ถ้ากล้องพี่ไปพังที่ซีเรีย พี่จะทำยังไง ดังนั้นสิ่งที่มันต่างกันมากระหว่างในประเทศกับต่างประเทศ คือเวลาเราเจอปัญหา เราจะทำยังไงกับมัน และสิ่งที่พี่ได้จากการเดินไปทำข่าวต่างประเทศมากคือทักษะในการแก้ไขปัญหา คือทุกแบบ ทั้งเรื่องการดีลกับคน เทคนิค ภาษา วัฒนธรรม การทำข่าวต่างประเทศมันทำให้เรามีทักษะเรื่องความยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น แล้วสามารถที่จะปล่อยวางกับเรื่องบางเรื่องได้ง่ายขึ้น
ปัญหาเกิดขึ้นทุกวัน ทุกทีที่เราทำงาน แล้วมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างแดนที่เราไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นเราก็จะได้วิธีแก้ปัญหาทั้งกายภาพ และจิตใจ ถ้าเราต้องอยู่ในสภาพที่เราเจอความคับขัน อันตราย จะทำยังไง
มีทริปไหน ที่เป็นประสบการณ์มากๆ ที่เจอปัญหา หรือทางตัน
ทางตันยังไม่เจอ เพราะพี่พยายามไม่ไปถึงตรงนั้น คือทำอะไรก็ได้ที่จะไม่ทำให้ชีวิตเรา หรือทีมงานตกไปอยู่ในอันตรายโดยไม่จำเป็น พี่เลยยังไม่เคยถึงทางตัน ถ้ารู้ว่าตัวเองจะถึงทางตันก็จะถอย เพราะไม่มีอะไรคุ้มกับชีวิตของเรา สมมติถ้าพี่อยากไปถ่ายผู้ลี้ภัยในซีเรีย แล้วต้องผ่านจุดผู้ก่อการร้าย 10 จุด พี่จะไม่ไป มันไม่คุ้มที่จะผ่าน 10 จุดนี้ เพื่อไปเอาภาพเดียว เราต้องรับผิดชอบตัวเรา และทีมงานที่เราทำงานด้วย
เพราะฉะนั้นการทำงาน แน่นอนเราหวังผลประโยชน์สูงสุด แต่เราก็ต้องประเมินว่าเท่าไหนคือพอ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานต่างประเทศ มันอาจจะมีกรณีที่เราไปอยู่ในสถานการณ์ที่เราไม่คิดว่าเราจะไปอยู่ แต่เราก็ไปอยู่แล้ว และต้องแก้ปัญหาว่าจะทำยังไง
อย่างตอนไปอิรัก พี่ก็ไม่รอบคอบ ตอนนั้นเข้าไปช่วง ISIS เราก็อยากเข้าไปจุดนึงของโมสุล ที่ทหารสหรัฐฯ กำลังถอย คนที่เข้าไปด้วยก็บอกว่าเข้าไปได้ แต่เอาเข้าจริงๆ มันไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ จุดนั้นยังมีระเบิดอยู่ พอเราเข้าไปเราได้กลิ่นแล้ว เราเลยบอกว่าอยู่แค่ที่โรงพยาบาลสนาม เราไม่ไปต่อ แล้วเราจะออก แต่ตรงนั้นมันก็เป็นความเสี่ยงแล้ว เพราะพี่เห็นสภาพแล้วพี่บอกว่าเราไม่ควรเข้ามา แต่ตอนนั้นถอยก็ไม่ได้ อยู่ตรงจุดนั้นก็ได้แต่นั่งภาวนาว่าขอให้ปลอดภัย แต่ว่าเราจะไม่ไปต่อในจุดที่เราว่าอันตรายจริงๆ ทำงานให้เสร็จ และกลับออกมา
เราก็นั่งสวดมนต์จริงๆ ว่าขอให้รอด ขณะสัมภาษณ์อยู่ก็มีคนวิ่งมาว่ามีระเบิดฆ่าตัวตายตรงนู้น ห่างไป 4 กิโลฯ จะนำคนไข้มา ถ้าเกิดระเบิดเข้ามาใกล้อีกมันก็อันตราย เราก็พยายามเช็คกับคน แล้วก็หาเส้นทางที่นั่น แต่ทุกครั้งมันก็จะมีบทเรียนให้เราตลอดว่า ถ้าเราจะไป มันจะมีเช็คลิสต์อะไรบ้างที่เราต้องเตรียม ถ้าไม่มี เราไม่ไป อย่างที่พี่บอก การออกไปทำงานต่างประเทศมันจะมีความท้าทายให้เราแก้ทุกวัน และปัญหามันจะมาในรูปแบบที่ต่างกัน
บางปัญหามาจากนัดแหล่งข่าวไว้แล้ว โดนเท แล้วถ้าไม่ได้สัมภาษณ์ก็จะเสียเที่ยว เราก็ต้องมีแผนรองรับ ทุกครั้งที่เราจะไป เราต้องวางแผน มีแผนหลัก มีแผนสำรอง และบางทีเราไป แผนสำรองก็เอาไม่อยู่ เกือบถึงทางตันก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหา ดังนั้นการทำข่าวต่างประเทศมันมีความท้าท้ายมากๆ สำหรับทีมเล็กๆ ของเรา แต่มันก็สอนเราเยอะ ซึ่งเราก็รู้ว่าสิ่งที่เราคิดว่าทำไม่ได้ เราก็ทำได้ และมันต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการทำข่าวในประเทศ
มีสกู๊ปไหนที่ประทับ หรือรู้สึกคุ้มค่าที่ได้ถ่ายทอดออกมา
ส่วนมากเป็นที่ที่พี่อยากจะไปตั้งนานแล้ว จากการอ่านหนังสือ หรือดูข่าวต่างประเทศตอนที่เรายังเรียนอยู่ ว่านี่คือฉนวนกาซ่า เราได้ยินมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่เราเรียนสังคมศึกษา อย่างที่ราบสูงโกลาน แหลมไซนาย ฉนวนกาซ่า หรือในอียิปต์ ที่ในละคร หรือในหนังสือนิยาย พอเป็นเห็นจริงมันเหมือนแบบ มีจริงๆ ด้วย เพราะฉะนั้นที่ๆ เราไปแบบนี้ เราจึงรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ แล้วที่ๆ เราประทับใจส่วนใหญ่จะเป็นที่ๆ เราประทับใจ หรืออยากจะเห็น
เหมือนพอพิสูจน์ความจริง ก็ยิ่งอยากถ่ายทอดให้คนได้เห็นออกมา
ใช่ พี่คิดว่าเราทุกคนต้องเคยอ่านเรื่องตะวันออกกลาง อย่างพี่เห็นแบกแดดครั้งแรก พี่แบบโห อ่านมาตั้งนาน แม่น้ำไทกริส ยูเฟรติสมันเป็นแบบนี้หรอ หรืออย่างไปซีเรีย ดามัสกัส ที่ ISIS โหดมากๆ ตอนที่จับนักข่าวญี่ปุ่นไปตัดคอ นักข่าวญี่ปุ่นเคยไปสอนหนังสืออยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกบนชายแดนซีเรีย พี่ก็ขอเข้าไป สถานที่แบบนี้มันเป็นที่ๆ เราดูจากทีวี มีนักข่าวมานั่งอ่านให้เราฟัง แต่ในที่สุดเราได้มาอยู่จุดเดียวกับที่นักข่าวต่างประเทศอยู่ แล้วก็รายงาน อารมณ์ความรู้สึกเราคือมันสามารถยกระดับการรายงานข่าวของเราขึ้นไปแบบนั้น มันเป็นไปได้ เพราะพี่คิดว่าสิ่งที่เราขาดไปจากสังคมไทย คือการยกระดับเรื่องการรายงานข่าวให้มันไปไกลกว่าเรื่องชาวบ้านที่มันอยู่ในประเทศไทย ถ้าเราคิดว่าเราเป็นสังคมเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก เราต้องอยู่ในที่ทางชาวตะวันตก ญี่ปุ่น หรือที่อื่นๆ และที่ที่พี่ไป ทำไมเราจะไปไม่ได้
แปลว่าพี่ณามองว่าอยากให้ข่าวต่างประเทศที่ไทยทำ มีเลเวลที่เทียบเท่าประเทศอื่นๆ
พี่คิดว่าควรจะมี เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะเสพข่าวที่มีแค่เรื่องของเราได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นนักข่าวไทยควรจะมีศักยภาพในการทำข่าวต่างประเทศให้คนไทยดู และพี่คิดว่าเราไปถึงตรงนั้นได้ เรามีศักยภาพในการทำได้ และเราต้องพิสูจน์ว่าเราทำได้
พี่ณาบอกว่าอยากให้สื่อไทยเทียบเท่านานาชาติ แต่ปัจจุบันเราก็มีปัญหาเรื่องเสรีภาพของสื่อ พี่ณามองว่ามีปัญหาอะไรที่ทำให้เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น
พี่ว่าปัญหาเรื่องเสรีภาพสื่อมันมีสองประเด็นหลักๆ ประเด็นที่หนึ่ง คือเรื่องของการควบคุมโดยรัฐ กรอบ กฎระเบียบต่างๆ นานา ซึ่งบ้านเราก็จะมีกฎระเบียบ มีกรอบอยู่
อันที่สองซึ่งเป็นปัญหาที่เข้ามา และพี่คิดว่าอาจจะเป็นเรื่องที่คนยังไม่ค่อยได้ถกเถียงกันมากนัก และเป็นข้อจำกัดอย่างมากในการทำข่าวสำหรับเรา คือเสรีภาพที่ถูกจำกัดด้วยการตลาด เวลาเราพูดถึงเสรีภาพบางทีเราพูดถึงการเมือง รัฐบาลไม่ให้พูดเรื่องนี้ แต่อันที่สองหลายครั้งเสรีภาพสื่อมันถูกจำกัดด้วยการตลาด ทำรายการแบบนี้เรตติ้งไม่ดี ขายไม่ได้ ไม่ต้องทำ ข่าวแบบนี้คนไม่ดู ไม่รู้ว่าดูหรือไม่ดู แต่ใช้เป็นข้ออ้างว่าคนไม่ดู ไม่มีโฆษณา อันนี้พี่ถือว่าเป็นการถูกริดรอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าวเช่นเดียวกัน
เพราะสุดท้ายข่าวที่มันขายได้ หรือถูกเคลมว่าขายได้ ก็จะเป็นข่าวชาวบ้านที่เรตติ้งดี โฆษณาไป อันนี้มันเป็นเสรีภาพที่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน สมมติพี่อยากทำข่าวนี้มากเลย พี่เป็นนักข่าว แต่ บก.บอกไม่ต้องทำ ไม่มีเรตติ้ง
พี่ว่ามันคือการริดรอนเสรีภาพในการทำข่าว ดังนั้นเสรีภาพในการทำข่าวมันถูกริดรอนจากอำนาจรัฐ สองอำนาจการตลาด ซึ่งมันมาพร้อมๆ กับการแข่งขันในวงการทีวีบ้านเรา
โดยทฤษฎี การแข่งขันมันควรจะทำให้คุณภาพดีขึ้น แต่การแข่งขันในวงการทีวีบ้านเรา มันสวนทางกัน พี่มองว่าคุณภาพการทำข่าวทีวีบ้านเรามันตกต่ำ พี่ไม่ได้บอกว่าตัวเองทำดี ดีไม่ได้ให้สังคมตัดสิน อาจจะไม่ได้ดีมากก็ได้ เพราะถ้าเทียบเรตติ้งกับช่องอื่นมันไม่ได้สูงมาก แต่ความเห็นพี่คือว่าการแข่งขัน มันไม่ได้ทำให้คุณภาพของข้อมูลที่มันควรจะมีเป้าหมายในการทำให้ความคิดของคนก้าวหน้า มันหายไปเรื่อยๆ อันนี้คือการริดรอนสิทธิเสรีภาพคนทำข่าวหรือเปล่า
พี่อาจจะโชคดีที่มีทางช่องสนับสนุนแนวทาง โดยที่ไม่เคยตั้งคำถามว่าพี่ต้องทำแบบไหน ให้เสรีภาพของพี่ในการทำ แต่หลายครั้งพี่มาตั้งคำถามกับตัวเองว่า พี่จะโชคดีอย่างนี้ทุกครั้งไปหรือเปล่า พี่เชื่อว่ามีนักข่าวจำนวนมากอยากจะทำสิ่งที่เป็นข่าวคุณภาพ แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีสปอนเซอร์ หรือนายทุนทำให้ พี่คิดว่ามันเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพเหมือนกัน
เหมือนว่าเราต้องทำแต่ข่าวที่ตอบโจทย์ว่าสังคมชอบดูเท่านั้นหรือเปล่า
พี่ว่าทำข่าวตอบโจทย์สังคมหรือเปล่า มันไก่หรือไข่นะ เราชอบบอกว่าทำอย่างนี้เพราะชาวบ้านดู คือถ้าเราไปดูงานวิจัย เราก็ชอบดูเรื่องดาร์กๆ แต่คนบางคนเขาก็พยายามอดไว้ คือมนุษย์ จิตใต้สำนึกชอบเรื่องชาวบ้าน ซุบซิบนินทา แต่หน้าที่ของสื่อมันควรต้องไปเน้นย้ำตรงนั้นหรือเปล่า หน้าที่ของเราควรจะเป็นเหมือนไฟฉาย หรือตะเกียงเล็กๆ พาคนไปในจุดที่ควรจะไปหรือเปล่า หรือว่าไปยืนอยู่ และไปเอาดาร์กไซต์ของมนุษย์ทุกคน ออกและตอกย้ำให้คนดู และก็ไม่ไปไหนกัน
พี่ไม่โทษชาวบ้านหรอกที่ดูข่าวพวกนี้ เพราะถ้าพี่ว่างๆ พี่ก็คงนั่งดู บางทีข่าวซุบซิบพี่ก็ไปตามดู แต่พอดูแป๊ปนึงมันก็ไปอ่านหนังสือดีกว่า เพราะเรารู้ว่าถ้าเราไม่ดึงเราออกมา เราก็จะไปอยู่กับเรื่องพวกนั้น อะไรที่เป็นเรื่องซุบซิบ ข่าวชาวบ้าน อร่อย ชอบ แต่พี่ถามว่าหน้าที่สื่อมวลชน ต้องเสิร์ฟเรื่องนั้นหรอ
ช่วงตลอดปีที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์สื่อมากมาย หรือมองว่าสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ ไม่อยากดูแล้ว มองกระแสเหล่านี้ยังไงบ้าง
พี่ว่าเป็นกระแสที่ดี อย่างที่พี่บอกว่าจิตใต้สำนึกมนุษย์ คนก็ชอบซุบซิบ ข่าวชาวบ้าน เพียงแต่ว่าเราเสิร์ฟหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าจิตใต้สำนึกของคนเป็นแบบนี้ และความเป็นมนุษย์คือการเอาความอยากจะเอาชนะดาร์กไซต์ของตัวเอง ด้วยการดึงตัวเองขึ้นมา คนจำนวนมากก็จะพยายามดึงตัวเอง และคนจำนวนนี้ก็บอกว่ามันไม่ควรมีแบบนี้แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี และเป็นปรากฎการณ์ที่ดี และควรจะมีอย่างนี้ให้มากขึ้น
เพราะพี่รู้สึกว่าในที่สุดเราต้องกลับมาถามจริงๆ ทั้งคนดูข่าว และคนทำข่าว ว่าเป้าหมายของข่าวคืออะไร ทำไมคนต้องดูข่าว เราดูข่าวทำไม อันนี้พี่ว่าถ้าเราช่วยกันคิดก็ดีเหมือนกัน
สื่อก็ควรต้องปรับตัวไปกับกระแสเรียกร้องเช่นกันไหม ?
พี่คิดว่าในตลาดเสรี คนก็เลือกทำอะไรก็ได้ถ้ามันอยู่ในกรอบของสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย บางช่อง บางสถานีก็เลือกที่จะเดินแนวนี้ ซึ่งก็ไม่ว่ากัน แต่คนที่เลือกอีกแนวก็เป็นอีกแนว พี่ว่าตอนนี้ทางเลือกของคนดูก็หลากหลายมากขึ้น ถ้าเราไม่ชอบช่องนี้มันก็มีช่องอื่นให้ดู แต่พี่ว่ามันสำคัญมากกว่าว่า สื่อจะต้องทำอะไร พี่ว่ามันควรจะมีพื้นที่กับทุกความคิด ทุกรสนิยม พี่ไม่ได้บอกว่าข่าวชาวบ้านไม่ดี ข่าวชาวบ้านมันคือเรื่องมนุษย์นั่นแหละ พี่ไปฟิลลิปปินส์ พี่ก็ไปทำข่าวชาวบ้าน แต่ว่ามันต้องมีทางเลือกอื่น สำหรับคนที่อยากจะดูข่าวในแบบอื่นๆ ด้วย แล้วก็ให้ตลาดเป็นตัวตัดสิน
แต่อย่างที่พี่บอกกลับมาเรื่องเสรีภาพ พื้นที่ที่ให้ข่าวตรงนี้ ตลาดหรือว่าเรื่องของทุน ไม่ควรจะไปกดดันตรงนั้นมาก เพราะอย่างในต่างประเทศ ข่าวไม่ถือว่าเป็นสินค้า ข่าวไพรม์ไทม์ในเยอรมนี ช่วง 3 ทุ่ม คนดู 30-40 ล้าน และเป็นข่าวที่ไม่มีข่าวชาวบ้านเลย ข่าวต่างประเทศเกือบหมด คือมันเปิดกว้างประชากรสู่โลกภายนอกมาก
ทั้งสถานีโทรทัศน์ ต่อให้เป็นสถานีเอกชน ก็จะไม่ได้หวังว่ารายการข่าว คือรายการที่จะทำกำไรได้สูงสุด ข่าวมันไม่ควรจะเป็นธุรกิจมากเกินไป เพราะถ้ามันเป็นธุรกิจมากไป มันก็จะเป็นแบบที่พี่บอก ในที่สุดคนที่อยากจะทำอะไร ที่อาจจะไม่ได้มีคนดูมาก แต่เขาคิดว่ามันสำคัญ มันก็จะถูกกดดัน ซึ่งมันเป็นลักษณะการถูกริดรอนเสรีภาพในการทำงานเหมือนกัน ด้วยการกดดันด้วยตลาด ด้วยโฆษณา และเรตติ้ง
พี่ณามีประสบการณ์ในวงการสื่อมามากกว่า 20 ปี ตอนนี้เรามองวงการข่าวในบ้านเราอย่างไรบ้าง
พี่เริ่มงานครั้งแรก ถ้าไม่นับของ ABC Australia ที่เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์แค่ปีเดียว งานจริงๆ ที่เป็นงานนักข่าวคือที่ ITV ประมาณ 25 ปีแล้ว พี่รู้สึกว่าตอนนั้นดีกว่าตอนนี้ ไม่รู้จะตอบคำถามยังไงว่า เราเห็นวงการเดินหน้า หรือถอยหลัง พี่คิดว่ามันมีทั้งถอยหลัง และเดินหน้า ตอนพี่ทำ ITV ในยุคนั้น พี่คิดว่าการเริ่มต้นของ ITV สำหรับพี่ มันเป็นสถานีโทรทัศร์ที่มันสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นในระดับมาตรฐานของต่างประเทศได้เลย ในแง่ของจริยธรรม วิธีการทำข่าว เลือกประเด็น และก็เป้าหมายของการทำข่าว ที่ชัดเจนมากว่าต้องเป็นประโยชน์กับสังคม มันมีข่าวชาวบ้าน แต่เป็นข่าวชาวบ้านที่ไม่เหมือนสมัยนี้
พอมาดูปัจจุบัน ถ้ามองในแง่นี้ของเราก็อาจจะถอยหลังอยู่บ้าง แต่ที่ก้าวหน้าไปก็คือ พี่เห็นความพยายามของสื่อใหม่ๆ ที่โตมาในยุคของเทคโนโลยี ที่มันอนุญาตให้เราได้ทำอะไรที่มันหลากหลาย พี่เห็นรายการบางรายการ หรือกระทั่งโทรทัศน์ ยูทูบ หรืออินเทอร์เน็ตทีวี ที่พยายามทำอะไรที่มันมีนวัตกรรมใหม่ๆ มีความแปลก หรือเดินไปข้างหน้า อันนี้ก็คือเรียกว่าเป็นความก้าวหน้า แต่อย่างที่บอกหลายอย่างก็ถอยหลัง เลยบอกไม่ถูกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เราเดินหน้า หรือถอยหลัง มันมีทั้งสองอย่าง
ภาพที่อยากเห็นในวงการสื่อของเราเป็นอย่างไร
ถ้าพูดถึงความฝันแคบๆ เล็กๆ ของพี่ พี่อยากให้นักข่าวไทยสามารถยืนในที่เดียวกับนักข่าวต่างประเทศได้ ตอนที่คาบูลแตก พี่ฝันจะเห็นนักข่าวไทยไปยืนรายงานที่คาบูล ที่ผ่านมาเราก็มีเราไปยืนรายงานต่างประเทศ เช่นเลือกตั้งอเมริกา แต่อันนั้นคือการแพลน มันจะมีข่าวอยู่สองประเภท คือข่าวที่มีตารางล่วงหน้า เช่นเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 ปีครั้งนึง เราแพลนได้ จะขอเข้าไป ขอรายงานข่าวยังไง
แต่มันมีบางอันที่เกิดเป็น breaking news ปัจจุบันทันด่วน ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีความพยายามจะทำบ้าง อย่างแผ่นดินไหว แต่พี่คิดว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ในแง่ว่ายกระดับนักข่าวไทยให้ขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับที่นักข่าวต่างประเทศทำได้ เพราะถ้าเรากลับมาที่จุดเริ่มต้นว่าอะไรคือความสำคัญของการทำข่าวต่างประเทศ พี่คิดว่าความสำคัญของมันก็คือต่อไปมันคือเรื่องที่เราต้องรู้ COVID-19 เราจะรู้แค่ที่มันระบาดบ้านเราไม่ได้ เราก็ต้องดูว่าที่จีน ญี่ปุ่น เป็นยังไง และเรื่องที่คนอาจจะรู้สึกว่าไกลกว่านั้น เช่นสงคราม ความขัดแย้ง ผู้ลี้ภัย ในที่สุดมันก็จะมาถึงบ้านเรา พี่คิดว่าถ้าเราสามารถทำได้ระดับนั้น นักข่าวต่างประเทศอยู่ที่ไหน นักข่าวไทยอยู่ที่นั่นได้ อันนี้คือสิ่งที่พี่อยากจะเห็น
เหมือนว่านำทั้งประเด็นในประเทศ และนอกประเทศ
ข่าวต่างประเทศมันควรจะนำเสนอในมุมมองของนักข่าวไทย และกลับมาเรื่องข่าวที่พี่หมกมุ่นมาก สำหรับพี่ข่าวมันต้องเปิดกว้างทางความคิด แล้วก็การที่เราได้ไปอยู่ที่นั่น และรายงานกลับมา มันอาจจะมองอะไรไม่เห็นเป็นรูปธรรม แต่พี่ว่ามันจะทำให้คนไทยเริ่มคุ้นชิน กับที่ทางของประเทศไทย ว่าเรามีที่มีทางในสังคมโลก สมมติในคาบูล เห็นพี่ไปยืนรายงานกลับมา ในสังคมโลกเรามีที่มีทาง นักข่าวเราทำได้ สื่อมวลชนเราทำได้ และตรงนี้มันจะเปิดขยายขอบเขตความคิดเราไปได้อีก เหมือนว่าเราจะอยู่แค่ในประเทศไทยไม่ได้ มันต้องมีคนหลากหลายอาชีพ ที่ค่อยๆ ฝ่า ขยาย ขอบเขตกำแพงของประเทศที่ไกลขึ้นๆ ทำให้คนเห็นว่าคนไทยจะมีที่มีทางตรงไหนก็ได้ ถ้าเราอยากจะเป็น เราอยากจะไป นอกเหนือการเอาข่าวไปให้คนไทยดู
photo by. Asadawut Boonlitsak
cover by. Waragon Keeranan