ในบรรดานักข่าวสายต่างๆ หนึ่งในสายงานที่น่าสนใจไม่เบาในยุคสมัยนี้คือ ‘นักข่าวสายทหาร’ ที่ต้องทำงานติดตามเหล่าคุณลุง คุณน้า คีย์แมนคนสำคัญของกองทัพ และกระทรวงกลาโหม
เวลาได้ยินคำว่า นักข่าวสายทหาร เรามักจะเกิดความสงสัยอยู่เสมอๆ ว่า ชีวิตการทำงานของพวกเขาในแต่ละวันนั้น ต้องเจอกับอะไรบ้าง หาข่าว หาข้อมูลสุด exclusive มาจากไหน แล้วรักษาระยะห่างกับบรรดาแหล่งข่าวกันอย่างไรนะ? ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเช่นนี้ เราจึงต่อสายตรงโทรไปสอบถามกับนักข่าวสายทหารตัวจริงๆ ตัวเป็นๆ เพื่อคลายความสงสัยเหล่านี้กัน
งานหนึ่งวันของนักข่าวสายทหาร
นักข่าวสายทหารในปัจจุบัน ทำงานอยู่ใต้หลายๆ โมเดลที่แตกต่างกันไปตามสำนักข่าวต่างๆ สำหรับบางสำนักข่าวนั้น นักข่าวสายทหารจะอยู่ใต้สังกัดของโต๊ะข่าวการเมือง ขณะที่ บางสำนักข่าวก็มีโต๊ะข่าวสายความมั่นคงแยกออกมาเป็นการเฉพาะตัว
ชีวิตในหนึ่งวันของนักข่าวสายทหาร มักเป็นไปตามงานที่กองบรรณาธิการมอบหมายมาให้ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันก่อนหน้า ทั้งสถานที่ที่ต้องไปทำงาน หรือประเด็นข่าวที่ต้องไปเก็บกลับมาให้ได้
กองบรรณาธิการของสำนักข่าวก็มักจะส่งนักข่าวคนใดคนหนึ่งไปประจำอยู่กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่น กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และศูนย์บัญชากองทัพอื่นๆ โดยตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ถ้าหากนักข่าวได้อยู่ในหน่วยงานใดเป็นประจำๆ แล้ว พวกเขาก็จะมีโอกาสเข้าถึงตัวแหล่งข่าวในระดับสูง และได้ข้อมูลในเชิงลึกได้เป็นพิเศษ
ภาษาที่นักข่าวมักพูดกันคือ ‘ไปเฝ้า’ กองทัพ เพื่อรอดูสถานการณ์และการแถลงข่าวที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำในทุกวันจากทีมโฆษก
ส่วนขอบเขตงานที่ทำในแต่ละวันก็เปลี่ยนไป โดยหลักๆ แล้วนักข่าวสายทหารจะคอยรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นในกองทัพ เช่น
- นโยบายด้านความมั่นคง
- งบประมาณการทหาร
- การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งบุคคลสำคัญ
- ความเห็นและจุดยืนทางการเมืองของบุคคลในกองทัพ
“การไปประจำอยู่สายนั้นๆ จะทำให้เกิดความคุ้นเคย ผ่านการเห็นหน้าค่าตากันบ่อย ได้มากขึ้น” นักข่าวสายการเมือง-ความมั่นคง คนหนึ่งเล่าให้เราฟัง
เธอเล่าต่อไปอีกว่า “เวลาอยากได้ข้อมูล เราก็เลือกใช้วิธีโทรหาแหล่งข่าวโดยตรง แต่ถ้ายังไม่สามารถเข้าถึงได้ขนาดนั้น ก็ต้องติดต่อผ่านโฆษก หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเหล่าทัพที่นักข่าวส่วนใหญ่จะมีเบอร์อยู่แล้ว ซึ่งเขาก็จะประสานงานให้นัดหมายให้อีกทีนึง”
ปรัชญา นงนุช นักข่าวภาคสนาม สายการเมือง-ทหาร อีกคนหนึ่งหนึ่งเล่าว่า สายทหารแม้แต่ละวันมีภารกิจที่แตกต่างกัน ทว่า ในทุกวันก็จะต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในกองทัพ ความเห็น และจุดยืนของบุคคลสำคัญโดยตรง
“บางวันจะเป็นหมายรอสัมภาษณ์นายทหาร ผู้บัญชาการเหล่าทัพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกกรณีนึงเป็นหมายเฉพาะ เช่น ไปดูกิจกรรมของหน่วยงานแต่ละหน่วย บางทีก็ไปตามหมายเรื่องการฝึกซ้อมรบ
“เราได้รู้ว่ากองทัพเป็นองค์กรเฉพาะในแง่ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีโรงเรียนของตัวเอง มีความเป็นสถาบันของตัวเอง แน่นอนว่า คนที่เติบโตขึ้นมาจากรั้วกองทัพก็ต้องมีวิธีคิดทางการเมืองและสังคมแบบหนึ่ง การไปทำข่าวในกองทัพก็ทำให้เราเห็นมิติของกองทัพจากฝั่งของพลเรือนด้วย”
ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างนักข่าวสายทหาร กับสายการเมืองชนิดอื่นๆ (เช่น นักข่าวการเมืองสายทำเนียบ หรือ สายรัฐสภา) คือการปรับวิธีการทำงานเพื่อให้ได้เข้าถึงข่าวและแหล่งข่าวที่น่าสนใจได้ โดยเฉพาะกับขั้นตอนการเข้าถึงข้อมูลที่อาจยากกว่าสายอื่นๆ เพราะต้องดีลกับประเด็นเรื่อง ‘ความมั่นคง’ ที่หลายคนไม่อยากเปิดเผย รวมถึง สิ่งที่แหล่งข่าวไม่พูดออกมาโดยตรงๆ แต่สะท้อนผ่านมิติอื่นๆ แทน
ซึ่งบางทีก็ต้องใช้อาศัยไหวพริบประจำตัว และการเป็นคนชอบสังเกตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่อยู่นอกเหนือตำราทั่วไป อย่างที่ปรัชญาอธิบายว่า หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจอยู่เสมอๆ คือหมายงานศพที่บุคคลสำคัญในกองทัพและสายการเมืองจะปรากฎตัวร่วมกัน
“ไม่ใช่แค่หมายรูทีน อย่างเดียว งานศพเราก็ไป งานแต่งเราก็ไปเหมือนกัน” ปรัชญา ระบุ “หมายนึงที่เราพยายามอยากไปร่วม คืองานศพ เพราะเป็นงานที่เราจะได้เห็นบุคคลสำคัญ และคอนเนคชั่นต่างๆ เราเองก็ชอบอ่านหนังสืองานศพ เพราะจะได้เห็นถึงประวัติศาสตร์และคำบอกเล่า มันสำคัญต่อการเป็นนักข่าว และช่วยให้เราเห็นตัวตนของเขาว่าเป็นแบบไหน”
ข้อยากและความท้าทายของการทำข่าวในรั้วกองทัพ
ด้วยรูปแบบการทำงานที่ไปประจำฝังตัวอยู่ในหน่วยงานของกองทัพ (แทบทุกหน่วยงานจะมี ‘ห้องผู้สื่อข่าว’ รองรับให้) คำถามที่มักเกิดขึ้นคือ แล้วนักข่าวควรจะมีรูปแบบการวางตัว หรือความสัมพันธ์กับแหล่งข่าวอย่างไร
นักข่าวสายทหารคนหนึ่งที่ไม่อยากขอเปิดเผยชื่อ ย้ำให้เราฟังว่า ที่สุดแล้ว นักข่าวเองก็ต้องมั่นคงในจุดยืนให้ได้ว่า การทำหน้าที่ของนักข่าว ควรอยู่บนพื้นฐานเรื่องประโยชน์สาธารณะ และไม่นำตัวเองไปเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“เราคิดว่าการตรวจสอบ มันก็ทำได้แหละ ถ้ามีเรื่องอะไรขึ้นมาแล้ว มันก็คือหน้าที่ของนักข่าวที่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง อาจจะต้องเปิดใจถามเขาหน่อยว่า มีอะไรอยากชี้แจงไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
ส่วนปรัชญา เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวในสายไหนก็ต้องมีระยะที่ชัดเจนกับแหล่งข่าวของตัวเอง เพื่อให้เกียรติกันและกัน
“นักข่าวทุกสายก็ต้องมีระยะห่างกับแหล่งข่าว เพื่อให้เกียรติกัน ไม่ล้ำเส้นซึ่งกันและกัน เพราะทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ทหารก็ทำหน้าที่และทำงานภายใต้ผู้บังคับบัญชา ส่วนนักข่าวก็มีหัวหน้าของนักข่าว ทุกคนมาทำหน้าที่ของตัวเอง ตอนนี้กองทัพมีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เป็นความท้าทายของนักข่าวที่ต้องปรับรูปแบบการนำเสนอข้อมูล ทหารเขาต่างจากนักการเมือง ตรงที่นักการเมืองจะเดินหานักข่าว ทหารเขาไม่ได้เดิน
“สิ่งหนึ่งที่เรายึดมั่นคือเรามาทำงาน เอางานเป็นที่ตั้ง เอาประเด็นเป็นที่ตั้ง เราเป็นนักข่าวมีสิทธิถาม รัฐมนตรีก็มีสิทธิที่จะตอบหรือไม่ตอบ ทุกคนก็ถือว่าเข้ามาทำหน้าที่ของตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม นักข่าวแต่ละคนมักจะมีสไตล์การเข้าถึงข่าวที่ต่างกันออกไป นักข่าวสายทหารที่มีอายุการทำงานสูง มักจะมีประสบการณ์และ ‘คอนเนคชั่น’ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้เข้าถึงข้อมูลสำคัญก่อนใคร
ยิ่งในยุคสมัยที่ข่าวความมั่นคงและข่าวการเมือง อาจเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กันจากบุคคลในแวดวงเดียวกัน จึงไม่แปลกนักถ้าหากการทำงานข่าว และบทบาทของนักข่าวสายทหารในฐานะ ‘Gate Keeper’ หรือ ‘ผู้ควบคุมประตูข่าวสาร’ ให้กับสังคมไทยจะถูกจับจ้องและคาดหวังในการทำหน้าที่เป็นพิเศษ