ในช่วงของการเมืองที่กำลังคึกคัก จากการหาเสียงของเหล่าผู้สมัคร ติดป้ายแนะนำตัว หรือการดีเบตปราศัยของพรรคต่างๆ ครั้งนี้
นอกเหนือจากภาพการเมืองเดิมๆ ในครั้งนี้ เรายังได้เห็นภาพการหาเสียงที่แปลกใหม่ แหวกแนว การเอาประวัติการเล่นเกม มาขึ้นเป็นผลงาน หรือการล้อเลียนป้ายหาเสียงพรรคอื่น จนเกิดเป็นกระแสไวรัลขึ้นมาของ คิด ภูวพัฒน์ ชนะสกล ผู้สมัคร ส.ส.เขตพญาไท ราชเทวี และจตุจักร ของพรรคเสรีรวมไทยที่ดูแตกต่างจากการหาเสียงทั่วๆ ไปที่เราเคยเห็น
เราจึงสงสัย และอยากคุยกับเจ้าของไอเดียหาเสียงที่แปลกใหม่ของ ผู้สมัคร ส.ส.คนนี้ ว่าเขามีวิธีการอย่างไร แล้วทำไมถึงตั้งใจทำการหาเสียงให้ไวรัล ไปจนถึงการใส่ความตลก ขี้เล่น เข้าไปในการเมืองที่มีภาพจำว่าต้องจริงจัง และซีเรียสกัน
จุดเริ่มต้นทางการเมือง และพรรคเสรีรวมไทย
คิด ภูวพัฒน์ ถือเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาลงสนามการเมืองในครั้งแรก และด้วยความที่เรียนจบทางด้านนิเทศศาสตร์มา ทำให้เราสนใจว่า ทำไมเขาถึงตัดสินใจมาเป็นผู้สมัคร ส.ส.ในครั้งนี้
“เริ่มต้นสมัยที่ผมเรียนมหา’ลัย มันก็เกิดเหตุการณ์เสื้อเหลือง เสื้อแดง แล้วเราเป็นคนที่เรียนด้านสื่อมา เรารู้ว่าทุกอย่างมันคือ Propaganda มันเป็นการนำเสนอด้านเดียว สื่อฝั่งนึงก็เสนอด้านเดียว อีกฝั่งก็เสนอด้านของตัวเอง ทำให้เราไม่กล้าเลือกข้าง เราจึงเลือกที่จะปิดหูปิดตา เพราะเวลานั้นเรากลัวว่าถ้าเราเลือกไปเราจะได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่รู้ทุกคนคิดแบบเราหรือเปล่า เราจึงโตมาด้วยการปิดหูปิดตา ไม่สนข่าวการเมือง
“แต่พอเราเรียนจบโท ด้วยความที่ชื่นชอบพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ทำให้เราได้เข้าไปช่วยงานที่พรรคเสรีรวมไทย พอเราเข้าไปในพรรค พรรคนี้เป็นพรรคที่รวมทุกสี คนที่เคยไปชุมนุมเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือแม้แต่ กปปส.ก็มี คือมันรวมกันหมด สิ่งที่เราอัดอั้น อยากรู้ว่าเรื่องจริงมันคืออะไร ทำให้เราก็ถามคนเหล่านี้ พอเราฟังเราเริ่มรู้ว่าปัญหาในประเทศนี้มันหนักมาก
“แล้วเรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรซักอย่าง แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ เราจึงก้าวเข้ามา เรารู้ว่าเราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนรุ่นเก่า หรือแม้แต่เปลี่ยนให้ ส.ส. ทั้งหมด 500 คน เป็นคนดีได้ แต่ผมเชื่อว่าผมเริ่มที่ตัวเองได้ แล้วเอาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้น จะทำอะไรให้มันดีเราต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง มันก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงมาเล่นการเมือง”
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราก็เห็นพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหม่ๆ และพรรคเล็กๆ มากมายที่มาร่วมลงสมัคร ส.ส. กันมากขึ้น แต่คิด เล่าให้เราฟังต่อว่า ที่เขาเลือกพรรคเสรีรวมไทย เพราะความชื่นชอบในตัว พลตำรวจเอกเสรีพิสุทธิ์ หัวหน้าพรรคมาก่อนหน้านี้
“โดยส่วนตัวผมชอบ พล.ตร.อ เสรีพิศุทธ์ ตั้งแต่สมัยเป็น ผบ.ตร. เพราะเราคิดว่า แกเป็นคนที่รักษาคำพูดมาก แกเป็นคนที่ไม่เคยผิดคำพูดเลย มีประโยคหนึ่งที่แกได้ใจผมไปแบบ 100% ในวันเปิดตัวพรรค แกขึ้นไปพูดบนเวทีว่า นโยบายที่พูดมาทั้งหมด “ถ้าผมเป็นรัฐบาลนะ อะไรที่ผมพูดแล้วผมไม่ทำ มาเหยียบหน้าผมได้เลย” ไม่รู้เด็กๆจะชอบกันหรือเปล่า แต่สำหรับผม ผมมองว่าท่านรักษาคำพูด”
ทำการเมืองให้ไวรัล พร้อมความตลกในการหาเสียง
นอกจากการเดินหาเสียง คิดเป็นอีกหนึ่งผู้สมัครที่หาเสียงผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งมีทั้งรูปหาเสียงจากผลงานเล่นเกมที่ผ่านมา รูปป้ายน้อมนำคำสอนท่านเสรีพิศุทธ์ ไปจนถึงการทำภาพกราฟฟิกหาเสียงบนยานพาหนะต่างๆ เป็นการโปรโมท ซึ่งต่างก็มีคนไลก์ คนแชร์จนทำให้กลายเป็นที่รู้จักในโซเชียลเน็ตเวิร์กขึ้นมา คิดก็เล่าให้ฟังว่า ต้องการทำคอนเทนต์ และหาเสียงแบบใหม่ๆ เพื่อให้ไวรัลไปเลย
“เราเรียนด้านนี้มาตลอด แล้วเราชอบคิดอะไรที่มันข้ามไปอีกขั้น ปีนี้คนรุ่นใหม่ลงเล่นการเมืองกันเยอะขึ้นใช่มั้ย แต่คอนเทนต์ทุกอย่างที่ออกมามันก็ยังเป็นอะไรเก่าๆเดิมๆ แนวเดิม ทำงานเหมือนเดิม ยังคงมีการนั่งโจมตีกัน แต่คอนเทนต์ผมจะไม่โจมตีใคร ไม่พาดพิงใคร ไม่ใช้คำหยาบคาย แต่เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์ล้วนๆ แล้วอยากให้ทุกคนออกมาแสดงศักยภาพให้เต็มที่
“เราเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ แล้วถ้าเราไม่ทำอะไรใหม่ๆ มันก็จะเหมือนเดิม ผมเลยอยากทำให้หลุดไปเลย อย่างที่บอกผมเพิ่งเรียนจบโทมา แล้วมาลงเป็นผู้สมัครเลย ทุกคนก็อวดผลงานกันหมด ทุกคนอยากเห็นผลงานที่ผ่านมา แล้วผมจะเอาอะไรไปอวด ผมเพิ่งเข้ามาเล่นการเมือง ผมจึงคิดว่าเราต้องมีอะไรไปเล่น เราจึงทำผลงานการเล่นเกม
“สิ่งหนึ่งที่ผมศึกษาคือ target audience เข้าใจกลุ่มเป้าหมายของเราจริงๆ อย่างเราเคยเป็นคนเกรียนมาก่อน ไม่สนใจการเมือง ปิดหูปิดตา เราเคยผ่านตรงนี้มา เราเข้าใจว่าวันๆ เขาทำอะไร ซึ่งถ้าเราทำคอนเทนต์การเมืองจ๋าๆ ไป เขาอ่านได้ แต่เขาก็จะไม่กดไลก์ กดแชร์เลย เพราะมันเป็นคอนเทนต์เดิมๆ ที่น่าเบื่อ เราต้องมีตรงกลางมาเชื่อมระหว่างสิ่งที่เขาสนใจกับสิ่งที่เราจะนำเสนอตรงนี้ยากที่สุด
“เรารู้ว่าคนไทยชอบแชร์เรื่องตลก และเพราะว่า target เราเป็น new voter เราจึงอยากทำอะไรที่มันสร้างสรรค์เราไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ เราพูดไม่เก่ง เราไม่สามารถพูดอะไรที่ทำให้คนสามารถเชื่อได้ แต่เราเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ เราเป็นนักทำ และเราก็ไม่อยากหาเสียงให้มันเป็นการโจมตีใคร
“จริงๆ คิดอะไรให้ไวรัลง่ายมาก ถ้าแค่ผมไปแก้ผ้าวิ่งรอบอนุสาวรีย์นี้ก็ไวรัลแล้ว แต่มันไม่สร้างสรรค์ การคิดอะไรที่ creative ออกมาแล้ว positive และคนไม่ด่าเรามันยากกว่า และเราอยากโชว์ศักยภาพตรงนี้ออกมา”
แล้วไอเดียในการหาเสียงให้ไวรัลแบบนี้ มาจากไหน? เราถามต่อ
“สมมุติคนทั่วไปคิดได้เท่านี้เราจะคิดเอาแค่นี้ก็ได้ แต่คืออย่างเรื่องประเด็น ‘ฟ้ารักพ่อ’ ทุกคนก็คิดว่ากูจะแซวยังไงดีเขาจะแซวจะเกาะไปเรื่อย ผมก็มองว่ามันก็ซ้ำ มันก็เป็นคอนเทนต์ที่ทุกคนต้องเล่นใช่มั้ย คือเราคิดอะไรมันต้องข้ามไปอีกขั้น ต้องกระโดดไปเลย ทุกคนรู้ว่าคุณจะเล่น แล้วคุณยังจะเล่นอีก คุณก็ต้องไปเล่นอีกฝั่งหนึ่งเลย คุณต้องฉีกมา
“เราเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เราต้องคิดอะไรที่มันใหม่ๆ หน่อย อย่างคำที่ว่า ‘Don’t expect Different outcome by the same doing’ คือคุณอยากจะลอกหรือทำอะไรเดิมๆ ไป ผลลัพธ์ก็จะเหมือนเดิม ผมอยากให้มันล้ำไปเรื่อยๆให้เป็นอะไรที่มันสร้างสรรค์พัฒนาใหม่ๆ แล้วเราจะได้อะไรใหม่ๆ อีกเยอะในประเทศเรา”
เราถามคิดต่อว่า แต่นักการเมืองมักมีคาแรคเตอร์ที่จริงจัง การที่เราเป็นคนขี้เล่นเป็นอุปสรรคต่อการหาเสียงไหม?
“เริ่มต้นเราต้องสร้างคาแรคเตอร์ตัวเองใช่มั้ย เราพยายามจะเป็นอย่างนั้นแล้วแต่มันไม่ได้ ไม่ใช่ตัวเองจริงๆ พยายามจะซีเรียส พูดเรื่องนโยบายอย่างเดียว แต่มันก็เป็นคอนเทนต์เก่าๆ เดิมๆ ที่น่าเบื่อ นักการเมืองทุกคนมาพูดเรื่องซ้ำๆ ผมเป็น นักคิดนักสร้างสรรค์ และผมอยากพัฒนาประเทศไปในทางที่มันสร้างสรรค์ ที่มันแบบหลุดกรอบ ที่มันมีอะไรที่ creative ที่มันดีกว่าทุกวันนี้มันเป็นอยู่
“จริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่ทุกคนจะเข้าใจเราหรอก ผู้ใหญ่หลายๆ คนด่าผมก็มี แต่ผมมองว่าไม่เป็นไร ถ้าคุณไม่เข้าใจ แปลว่าสิ่งที่ผมทำเนี่ย คุณไม่ใช่ target แต่ผมก็ทำของผมต่อไปเพราะว่าผมเข้าใจดีว่าสิ่งที่ผมทำคืออะไร ถ้า target มันคนละ target เขาก็ไม่เข้าใจอยู่แล้ว เขาไม่เก็ทเราอยู่แล้ว ทั้งก่อนหน้านี้ พรรคเสรีรวมไทยเอง แทบจะยังไม่มีใครรู้จักเลย เราไม่ติดพรรค top 5 ที่มีชื่อเสียงเลยด้วย แต่การที่ผมหาเสียง แล้วทำให้พรรคได้เป็นที่รู้จัก ผมถือว่าผมทำสำเร็จแล้วนะ”
ไม่ใช่แค่การคิดนอกกรอบที่จะนำมาใช้กับการหาเสียง แต่ในการคิดนโยบายต่างๆ คิดยังเล่าให้เราฟังต่อว่า ถ้าเขามีโอกาสได้เป็นผู้แทน ส.ส. จริงๆ เขาตั้งใจว่าจะนำจุดนี้ มาผสมกับการคิดนโยบายใหม่ๆ ด้วย
“จากแนวคิดของผมเนี่ย เวลาทำอะไรที่มันสร้างสรรค์แล้วมาใช้กับในทางการเมือง คือเราต้องคิดไปอีกขึ้น อย่างเรื่องนโยบายแบบในจตุจักรที่ผมไปหาเสียงมา คนมาบอกผมว่าอ “ทำที่จอดรถให้หน่อย” เขาต้องการแค่นี้ ทั้งๆ ที่ผมอาจจะทำได้ดีกว่านี้ก็ได้ ถ้าเราคิดแค่การทำที่จอดรถ ผมว่าเราต้องทำให้ดีกว่านั้น ไม่ใช่แค่จอดรถ เพราะบางคนอาจจะไม่มีรถ แต่เราทำขนส่งสาธารณะให้ดีไปเลย รับส่งคน รับนักท่องเที่ยว เราทำให้ดีกว่านั้นไปเลย อย่างไปคิดแค่ตอบโจทย์เขา แต่เราต้องทำให้ดีได้กว่านั้น”
จากเด็กติดเกม สู่การผลักดันนโยบาย eSports
นอกจากการหาเสียงที่แหวกแนวแล้ว เรื่องการเสนอนโยบาย คิดเองยังชูเรื่องนโยบาย eSports ขึ้นมาว่าเขาต้องการผลักดันเรื่องนี้เป็นพิเศษ มาจากประสบการณ์การเล่นเกมในวัยเด็กของตัวเอง ทำให้มองว่าด้านนี้ ควรได้รับการผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจัง
“โดยส่วนตัวเป็นเด็กติดเกมมาตั้งแต่เด็ก เราเป็นเด็กเกรียนเลย สมัยนั้นเกม Counter-strike ดังมาก เลิกเรียนเราก็ไปเล่นเกม เล่นถึงดึกๆ ซึ่งก็มีเด็กทั่วไปที่เป็นแบบเรา แต่เขาก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งเราต้องเข้าใจเด็กกลุ่มนี้ เราติดเกม แต่ไม่ได้เกเร ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทาง เรียนเราก็เรียน แต่อาจจะเรียนไม่ค่อยเก่ง แต่เราก็มีแนวคิดที่มันแหวกแนว
“อย่างนโยบาย eSports ผมมีเพื่อนที่ไปได้แชมป์โลกที่ประเทศอินโดนีเซีย เขาเล่าให้ฟังว่าพอเขาดังมาก ลงเครื่องบินก็มีคนมารอรับ เดินไปไหนมีคนขอถ่ายรูป คือไม่ใช่แค่กลุ่มเด็กๆ ในประเทศเขาที่เข้ามาหานะ แต่มีผู้ใหญ่ด้วย คือเขาให้การยอมรับกันหมด แต่ผมมามองบ้านเรา ผู้ใหญ่ในบ้านเรายอมรับ eSports แค่ปากหรือเปล่า บางครั้งความคิดเขาก็ยังมองว่าเป็นแค่เด็กติดเกม เป็นแค่การเล่นเกมหรือเปล่า
“ทุกวันนี้ ผมเป็นผู้สมัคร ส.ส.แล้ว แต่ผมก็ยังเล่นเกม ก็มีคนมาด่าผม กลับไปเล่นเกมไป ผมก็มองว่า การเล่นเกมมันผิดตรงไหน มันไม่ได้ผิดเลย เราอย่าไปมองว่ามันผิด เล่นเกมไม่ได้ผิด เพราะว่าการเล่นเกมเพื่อแข่งขัน มันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง มีความเคร่งเครียด มีการซ้อม การฝึกฝน การเล่นเพื่อให้เก่งขึ้น ฝึกเพื่อแข่ง กับเล่นเพื่อเอนเตอร์เทนเมนต์ เล่นเพื่อผ่อนคลาย เป็นคนละเรื่อง ส่วนใหญ่คนจะเล่นเพื่อเอ็นเตอร์เทน แต่มันไม่ใช่เรื่องแย่ทั้งสองแบบ ซึ่งเราต้องแบ่งเวลา ผมก็ยังทำงานทุกวัน ลงพื้นที่ทุกวัน แต่บางคนยังคิดว่าผมเล่นเกมทั้งวันทั้งคืนอยู่เลย
“นโยบาย eSports ผมว่าเราใส่เข้าไปในการศึกษาไทยได้ แต่ควรจะในมหาวิทยาลัยขึ้นไป เป็น free elective ให้มันชัด ซึ่ง eSports ไม่ใช่แค่ว่าเล่นเกม แข่งเกมอย่างเดียว อาจจะเป็นนักแคสต์เกมก็ได้ พูดไปเล่นไปยังไงให้ได้เงิน เป็นยูทูบเบอร์ก็ได้ เป็นนักข่าวออนไลน์ก็ได้ และผู้ใหญ่ก็ควรจะให้การยอมรับจริงๆ ใจต้องรับด้วย คือเกมมันไม่ได้ผิด ไม่ได้แย่ แต่ต้องเล่นให้ถูกทาง แบ่งเวลาให้เป็น แล้วเราก็ทำงานทำการด้วย”
คิดเล่าว่า นโยบาย eSports นี้อยากแทรกเข้าไปในมหาวิทยาลัย ส่วนในชั้นมัธยม เขาอยากผลักดันเรื่องการศึกษาทางเลือก เฉพาะทางให้เด็กๆ ได้เชี่ยวชาญสิ่งที่ตัวเองชอบไปเลย และอยากให้สิ่งที่เรียน ได้ใช้ในการทำงานกันจริงๆ ด้วย
“เด็กไทยเนี่ยเรียนเยอะแล้ว เรียนเยอะมากแต่เราไม่ได้นำไปใช้จริงๆ ทุกวันนี้ผมยังไม่เคยเห็นใครใช้ ล็อคการิทึม กับ ไซน์ คอส แทนเลย ผมว่าถ้าเราลดตรงนี้ได้ เรียนได้แต่ไม่ได้เจาะลึก แล้วแบ่งเวลาฝึกเฉพาะทาง ใครถนัดอะไรก็ฝึกด้านนั้นไปเลย ถ้าวาดรูปเก่ง ก็สนับสนุนเขา แบ่งเวลาเรียนมาสนับสนุนเฉพาะทาง แล้วถ้าสอนแล้วต้องสอนให้ครบวงจร ไม่ใช่แค่วาด แต่วาดแล้วจะขายงานยังไง ตลาดอยู่ไหน เอาให้ครบเป็นอาชีพได้จริงๆ เลย ไปฝึกให้เป็นเรื่องเป็นราว
“ผมเชื่อว่าความรู้ การศึกษามันเป็นปัจจัยหลัก ถ้าเด็กถนัดในสิ่งที่เขาชอบ ซึ่งแต่ละคน ถนัดไม่เหมือนกันใช่มั้ย ถนัดเล่นเกม ถนัดวาดรูป ถนัดพูด เราฝึกไปเฉพาะทางแล้วเรา เด็กที่มีอาชีพของเขาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว เขาจะไม่นอกลู่นอกทาง มีอะไรทำแล้วมีลู่ทางอย่างนี้ ทำให้มันเป็นอาชีพ ให้เขามีอะไรทำที่มันเป็นประโยชน์ ผมว่าทุกอย่างมันก็จะดีขึ้น”
คุยกันเรื่องนโยบายมาถึงตรงนี้ คิดเล่าให้เราฟังอีกว่า จริงๆ ในฐานะคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่เขาคนเดียวที่อยากทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่คนรุ่นใหม่ของทุกพรรคก็ล้วนจะอยากให้ประเทศได้เดินหน้าไปได้
“จากที่ผมไปสัมผัสมา คนรุ่นใหม่ทุกพรรคการเมืองมีความคิดเห็นที่ตรงกันคือการพัฒนาประเทศแล้วมองข้ามเรื่องสีเสื้อ เราใช้ชีวิตอย่างนี้กันมาสักพักแล้ว เราแทบไม่เคยเลือกตั้ง เราผ่านเหตุการณ์มาเหมือนกันหมด เรายืนอยู่กับที่มานาน ถึงเวลาแล้วไหมที่เราจะเดินกันได้สัก รอบนี้เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ อย่างที่ผมเองก็จะมีคอนเทนต์ออกกันมาใหม่ๆ ไม่โจมตี ไม่ทะเลาะกัน และพวกเราควรจะสร้างสรรค์การเมืองรูปแบบใหม่
ไม่ใช่ว่าอดีตเราจะมองข้ามนะ แต่อยากให้เก็บไว้เป็นบทเรียน การเมืองทุกวันนี้พูดในบ้านไม่ได้ เราอยากให้มันพูดได้ปกติ ให้ respect ความคิดเห็นคนอื่น respect ว่าเราชอบอะไร เราไม่ชอบอะไร พูดด้วยหลักเหตุผล แล้วก็ไม่หยาบคาย ด่ากัน
“เรามองว่าทุกคนมีความชอบส่วนตัวได้ เพราะฉะนั้นเราใช้สิทธิส่วนตัว น้องชอบพ่อ พ่อรักฟ้า หรือแม้จะรักคุณประยุทธ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรเคารพความชอบของคนๆ นั้น และไม่ว่าจะรักหรือชอบเพราะอะไร แต่เราอยากเห็นภาพที่มันมีการแสดงออกได้เต็มที่”