“ไปเรียนไม่ต่างจากไปรบ” คือคำที่ อดิสรณ์ สุขประดิษฐ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ รูแปง อินทร (โรงเรียนอินทรช่างก่อสร้าง) พูดถึงช่วงชีวิตในวัยคะนองที่มีดและปืนถูกเหน็บอยู่ในกางเกงบ่อยพอๆ กับปากกาและสมุดจด
เสื้อช็อปสีเทาที่ถูกสวมทับบนเสื้อยืดวง AC/DC มีความหมายกับเขาในหลายแง่ ทั้งในฐานะการบ่งบอกตัวตน อัตลักษณ์ ศักดิ์ศรี สังกัดโรงเรียน รวมถึงความสูญเสีย เพราะเสื้อตัวนี้ไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการปะทะกับโรงเรียนคู่อริในวันวาน
หากใครได้ดูหนัง 4KINGS มาแล้ว คงมีคำตอบให้ตัวเองว่าทำไมเด็กช่างถึงต้องตีกันบ่อยและรุนแรงขนาดนั้น แต่คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่าคนที่เคยอยู่ในยุคนั้นและเป็นหนึ่งในคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเสียเอง
บ่ายวันหนึ่งเรานัด รูแปง เพื่อพูดคุยถึงประสบการณ์ชีวิตของตัวเขา เหตุใดชายผอมเกร็งที่มีส่วนสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตรถึงมีรอยแผลประดับตามตัวมากมายขนาดนั้น ความแค้น เกียติยศ หรือวัฒนธรรมที่กล่อมเกลาในสถาบัน สิ่งไหนที่หล่อหลอมให้การปะทะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เจอหน้า
เรื่องเล่าด้านล่างทั้งหมดนี้คือความจริงจากปากคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์
(1)
เด็กริมคลองและนักมวยไทย
ภาพชีวิตของดาจากภาพยนต์ 4KINGS ไม่ต่างจากชีวิตของรูแปงในสมัยเด็กมากนัก รูแปงโตขี้นในชุมชนริมคลองย่านดอนเมือง โดยอาศัยอยู่กับอาและย่า เพราะพ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่เขายังอายุเพียง 7 ขวบ
สมัยเด็กเขาเติบโตภายใต้การปั้นของอาให้เป็นนักมวย ก่อนจะมีโอกาสขึ้นสังเวียนจริงๆ ก็ตอนอายุล่วงเลยไปถึง 12 ปีแล้ว แมตช์แรกของรูแปงในฐานะนักมวยสมัครเล่นทำให้คนดูอ้าปากค้าง ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะชนะน็อคอีกฝั่งหนึ่งไปอย่างขาดลอย เขาเล่าถึงตอนนั้นว่า
“ผมซ้อมมวยมาตั้งแต่ 7-8 ขวบ ซ้อมประมาณ 5 ปีกว่าจะได้ต่อย แมตช์แรกก็ขึ้นเวทีมวยรังสิต ตอนนั้นคู่เราต่อยมาประมาณ 20 กว่าครั้งมั้ง ส่วนผมเพิ่งต่อยครั้งแรก เงินเดิมพันประมาณ 20,000 บาท ตอนนั้นอาผมก็ไปจับรอบนอกหมดเลย (หมายถึงจับเงินพนันมวย – ผู้เขียน) ตอนนั้นเราต่อยชนะเขาขาดเลย แต่ออกจากเวทีไม่ได้ เขาคิดว่าเราโกงเขา เพราะเคยต่อยมาหลายที่แล้วมาหลอกเขาว่าต่อยครั้งแรก พวกเซียนมวยก็มาถามว่าต่อยมากี่ครั้งแล้ว ทำไมครั้งแรกต่อยดีขนาดนี้ เราบอกมาที่นี่บ่อยก็ไม่ตื่นสนาม และต่อยนอกเวทีมาหลายครั้งแล้ว เราถึงได้กลับ”
หลังจากนั้น รูแปงก็ขึ้นต่อยอีกไม่กี่ไฟท์ก็แขวนนวมไป เพราะเขาบอกว่า “มันหาคู่แข่งยาก” ด้วยร่างกายผอมบางที่อยู่ในรุ่น 100 ปอนด์ (ราว 45 กิโลกรัม) แต่เชิงมวยเก่งกาจ ทำให้ไม่มีใครอยากส่งลูกศิษย์ตัวเองมาต่อยกับรูแปง
แต่แม้จะสิ้นสุดเส้นทางนักมวย ชีวิตของรูแปงก็ยังคงได้ใช้กำปั้นและวิชามวยไทยเป็นอาวุธป้องกันตัวอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเขาย่างเข้ารู่รั้ว ‘ก่อสร้างอินทร’
(2)
จากขาสั้นถึงอินทร
เมื่อรูแปงเรียนจบชั้น ม.3 เขายังไม่ได้สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนก่อสร้างอินทรในทันที ตอนนั้นเขายื่นใบสมัครไปที่โรงเรียนเทคนิคหลายแห่ง ก่อนเข้าเรียนที่โรงเรียนช่างศิลป์แห่งหนึ่ง แต่ก็เรียนได้มานาน จึงลาออกมาสมัครเรียนในสายวิทย์-คณิตของโรงเรียนสามัญแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง แต่โชคชะตาเหมือนถูกขีดเขียนเอาไว้แล้ว วันหนึ่งรูแปงมีเรื่องชกต่อยกับเด็กเทคนิคกลุ่มหนึ่งหน้าโรงเรียนของตัวเอง และนั่นเป็นหนึ่งจุดที่ทำให้เขาพูดกับตัวเองว่า “พอแล้วดีกว่า” รูแปงตัดสินใจดรอปเรียนหนึ่งปี ก่อนยื่นใบสมัครเข้าโรงเรียนช่างก่อสร้างอินทร โรงเรียนที่เขาเคยได้ยินกิตติศัพท์มาอยู่แล้วว่า ‘โหด’
และวันแรกที่ย่างเข้าสู่รั้วของอินทรนี่เอง ที่ทำให้อดิสรณ์ได้รับชื่อใหม่ว่า ‘รูแปง’ จากอาจารย์ท่านหนึ่งในโรงเรียน และชื่อนี่เองที่ภายหลังกลายเป็นที่โจษจันไปทั่ว พร้อมเติมคำสร้อยให้ข้างหลังกลายเป็น ‘รูแปง อินทร’ หรือรูแปง 39 ตามสายรถเมล์ที่นั่งเป็นประจำ
ตลอดระยะเวลา 3 ปีในรั้วอินทร เขานิยามชีวิตช่วงนั้นว่า “ไม่ต่างจากการออกไปรบทุกวัน” ตั้งแต่ออกจากบ้านมาป้ายรถเมล์ฝั่งสนามบินดอนเมือง เพื่อมานั่งรถเมล์สาย 39 ซึ่งต้องผ่านจุดที่มักเกิดการปะทะทั้งหน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว อนุเสาวรีชัยสมรภูมิ ก่อนไปลงแถวสนามหลวง เพื่อนั่งเรือข้ามไปที่โรงเรียนซึ่งอยู่ตีนสะพานปิ่นเกล้า ตลอดจนการออกไปเที่ยวตามภาษาวัยรุ่นตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ ซึ่งโครงเรื่องไม่วายจบลงแบบซ้ำเก่า คือไม่เขาวิ่งหาเรา เราก็วิ่งหาเขา
การปะทะครั้งหนึ่งที่รุนแรงที่สุดสำหรับรูแปงคือ ครั้งที่เขาสูญเสียเพื่อนสนิทให้กระสุนปืนจากโรงเรียนคู่อริ ซึ่งถ้าวันนี้ เพื่อนคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ เขาคือเจ้าของเสื้อช็อปสีเทาที่สวมอยู่บนไหล่ของรูแปงในวันนี้
ย้อนกลับไปวันนั้น รูแปงและเพื่อนนั่งรถเมล์สาย 39 กลับจากบ้านเหมือนเดิมทุกวัน จนกระทั่งรถเมล์ผ่านหน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว พวกเขาจึงประสานสายตากับคู่อริที่อยู่บริเวณป้ายรถเมล์ เมื่อทั้งสองฝั่งเห็นกันแล้วจึงรู้แน่ว่าการปะทะจะต้องเกิดขึ้น แต่ทันทีที่รูแปงกระโดดลงจากรถเพื่อไล่ตามคู่อริ เสียงจากเพื่อนด้านหลังบนรถเมล์ก็ดังขึ้น
“ตุ้ม (นามสมมุติ) โดนยิง เราก็หันกลับไปพยายามปั๊มหัวใจ แต่ก็ไม่ทันเสียชีวิตก่อน” วันนั้นตุ้มถูกยิงที่บริเวณหน้าอกตายคาที่ ขณะที่เพื่อนอีกคนโดยยิงบริเวณท้อง แต่รอดมาได้เมื่อถึงโรงพยาบาล
“จริงๆ เพื่อนผมตายหลายคน หลายคนก็พิการ มีคนนึงถูกยิงเข้าที่สะโพก เป็นอัมพาตครึ่งตัว เดินไม่ได้เลยต้องนั่งวีลแชร์ตลอด ”
เช่นเดียวกัน “เมื่อมีเสียก็ต้องมีได้” รูแปงยอมรับว่าเขาเองก็เคยฟันและยิงคนอื่นเช่นกัน เพียงแต่ไม่เคยมีเสียใครเสียชีวิตจากการปะทะกับเขา โดยอาวุธหนัก หรือปืนที่เขาเคยพกมีอยู่ทั้งหมด 2 กระบอก หนึ่งคือปืนลูกซอง .410 และสองคือปืนพกลูกโม่ .22 แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ทุกครั้งที่เขาเห็นคู่อริแล้วจะสาดกระสุนเข้าใส่ทันที มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์
“ดูที่เขาว่าเขามีอะไร ส่วนมากเราจะไม่ค่อยจะใช้อาวุธหนักก่อนหรอก เราจะใช้อาวุธเล็ก (มีด – ผู้เขียน) ก่อน เรียกได้ว่าบางทีเราเห็นเขาไม่มีอะไร บางทีมือก็ได้ มีมีดเราก็เล่นมีด มีของหนักเราก็ใช้ของหนัก เรียกว่าใจต่อใจ ไม่ใช่ใช้ของหนักไปหมดทุกที เดี๋ยวเขาเสร็จเราหมด มันไม่มันเท่าไหร่หรอก (หัวเราะ)”
ผ่านชีวิตมานานกว่า 48 ปี รอยแผลมีอยู่แทบจะทุกแห่งในตัวของรูแปง อินทร ตั้งแต่ต้นแขนซ้ายหนึ่งแผล แขนขวาสี่แผล บริเวณลำตัวถูกแทงหนึ่งแผล ถูกยิงเฉี่ยวๆ หนึ่งแผล บริเวณศีรษะมีแผลถูกฟันที่กลางหัวหนึ่งแผล และแผลจากสะเก็ดปืนบริเวณใบหน้าและคางรวมกัน 3 แผล และยังไม่นับอีกหลายรอยช้ำที่จางหางไปตามกาลเวลา
แต่บริเวณหนึ่งที่เขาไม่เคยมีแผลเลยคือ กลางหลัง ซึ่งมันบอกอะไรได้หลายอย่าง แต่หนึ่งในนั้นคือ ชายคนนี้ไม่เคยหันหลังวิ่งหนีให้กับใครทั้งนั้น
“กลางหลังไม่มี ไม่มีโดนฟัน เราสู้ต่อหน้า โดนก็โดนไปดิ”
(3)
วัฒนธรรม ค่านิยม เกียรติยศ ศักดิ์ศรี
หากจะถามว่าทำไมเด็กช่างถึงตีกัน? คำตอบในใจหลายคนคงหลากหลาย ตั้งแต่ความคึกคะนอง การป้องกันตัวเอง ความสนุก เรื่อยไปจนถึงค่านิยมและการปลูกฝังจากคนรอบข้าง
สำหรับช่างก่อสร้างอินทร ในโรงเรียนจะไม่มีระบบ ‘โซตัส’ หรือระบบรุ่นพี่รุ่นน้องใดๆ ทั้งสิ้น นักเรียนทุกคนที่อยู่ในอินทรไม่ว่าจะปีหนึ่ง สอง หรือสาม จะเคารพนับถือกันตาม ‘ความสด’ หรือความใจถึงเท่านั้น กล่าวคือหากมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนก็เป็นว่ารู้กัน เพียงแต่ผลงานในที่นี้หมายถึงการปะทะกับคู่อริต่างโรงเรียนเท่านั้น
คำชื่นชม สรรเสริญ ยกยอแก่การใช้กำลังมีส่วนต่อการสร้างอัตลักษณ์และค่านิยม แต่นั่นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างวัฒนธรรมให้เข้มข้นรุนแรงเข้าเส้นเลยคือ ‘สัญลักษณ์’
หลายคนคงน่าจะเคยได้ยินหรือผ่านตามาบ้าง ถึงความสำคัญของ ‘เสื้อช็อป’ และ ‘หัวเข็มขัด’ ของเด็กช่าง ซึ่งรูแปงเล่าว่านักเรียนใหม่ที่เข้ามาในอินทรทุกคน จะได้รับเสื้อช็อปคนละหนึ่งตัวและหัวเข็มขัดคนละหนึ่งชิ้น ซึ่งถ้าหากใครทำหายหรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจะไม่ได้สวมเสื้อช็อปหรือใส่หัวเข็มขัดอีกต่อไป เพราะไม่สามารถหาซื้อได้อีกแล้ว ดังนั้น ในแง่หนึ่งมันแปลว่า ต้องรักษาสองสิ่งนี้เท่าชีวิต
“เสื้อช็อปแต่ละโรงเรียนเขาจะรัก เพราะจะมีแค่ตัวเดียว สมมุติถ้าโดนตบเสื้อก็ต้องไปเอาคืน เสื้อช็อปมันต้องรักษาเท่าชีวิต อย่างที่อินทร พอเราเข้าเรียนเขาก็จะให้เลยหนึ่งตัว บางโรงเรียนอาจซื้อเพิ่มได้นะ แต่ที่นี่ให้ได้แค่หนึ่งตัว”
รูแปงเล่าว่า เขาไม่เคยถูกตบช็อปมาก่อน แต่ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ที่เขาถูกตบช็อปขึ้นมาจริงๆ เขาก็พร้อมที่จะไปเอาคืนเหมือนกัน
“ยังไงก็ต้องไปเอาคืน มันถือว่าสำคัญเพราะสถาบันเราเราก็รัก ช็อปมันคือศักดิ์ศรีของสถาบัน ศักดิ์ศรีของเราอยู่แล้ว และถ้าโดนตบก็จะโดนเพื่อนล้อ มันจะทนแรงกดดันได้ไหม ยิ่งถ้าโดนเล่นโดยที่คุณไม่สู้เขา เพื่อนมันจะมองว่าคุณเป็นยังไง แต่ถ้าสู้เขาและช็อปหลุดมันก็อีกเรื่องหนึ่งนะ ไม่ใช่เขามาร้อยคนแล้วคุณไม่วิ่งยืนสู้ มันจะไหวไหมล่ะ”
รูแปงในวันนี้ยอมรับว่าตัวเขาเองก็เคยตบช็อปคนอื่น และเพื่อนของเขาเองก็เคยตบช็อปคนอื่นเช่นกัน ซึ่งเมื่อได้มาแล้วเขาก็นำไปเก็บโชว์ หรือบางครั้งนำไปเล่าให้เพื่อนฟังทำให้เกิดการยอมรับที่มากขึ้น
คำถามสำคัญถึงเรื่องนี้ จึงน่าสนใจว่าแล้วถ้าลบสัญลักษณ์เหล่านี้ออกไป ไม่มีช็อปแล้วจะเป็นการดีหรือไม่
“มันก็ดีนะ เพราะคุณจะได้ไม่ต้องมาระวังเรื่องการตบช็อป จริงๆ แล้วไม่จำเป็นหรอก มันเป็นค่านิยมที่ผิดมาก ทำไมเด็กศิลป์ต้องใส่เสื้อขาว เขาไม่จำเป็นต้องใส่ ทำให้เด็กที่ตั้งใจมาเรียน ไม่สนใจจะมีเรื่อง เขาก็อาจโดนทำร้ายได้ และนักเรียนหนึ่งร้อยคนมันก็มีคนหลายรูปแบบ คุณไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร มัวแต่จะจ้องตบช็อปกัน”
(4)
4KINGS ในวันนี้
ทุกวันนี้ อดีตนักเรียนจากสถาบัน 4KINGS ไม่ได้วิ่งหาเพื่อฟาดกันอีกแล้ว แต่กลับวิ่งหากันเพื่อกอดคอร่ำสุรา เตะบอล และช่วยเหลือสังคมมากกว่า ซึ่งคนที่รูแปงคิดว่าควรขอบคุณมากที่สุดคือ ‘ดา อินทร’ หรืออัษฎา ทัพน้อย ซึ่งเป็นตัวละครที่รับบทโดยเป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ (ดา อินทรตัวจริงเสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2562 หลังถูกยิงกรณีความขัดแย้งในเวทีมวย) ที่เป็นคนเริ่มกิจกรรมเตะฟุตบอลของกลุ่มศิษก์เก่า 4KINGS ขึ้นครั้งแรก
“ต้องขอบคุณพี่ดา เขาจัดฟุตบอล 4KINGS ขึ้นครั้งแรกที่เมืองทอง เตะกัน 7 คนนะ แต่ในปีแรกทุกโรงเรียนมากันเป็นร้อย ของก็เตรียมมาเต็ม (หัวเราะ) ตอนแรกทุกคนก็ตึงๆ เราก็เลยเดินไปจับมือทุกคนแล้วขอโทษเรื่องที่ผ่านมา บรรยากาศมันก็เลยเริ่มหย่อนลงมาบ้าง พอครั้งที่สองก็เริ่มมันขึ้น พอครั้งที่สามนี่ยิ่งมันหนักเลย กอดคอร้องเพลงกัน
“หลังจากนั้นก็เริ่มมีกิจกรรมไปทำบุญร่วมกัน จัดงานอาสารับส่งผู้ป่วย COVID-19 ด้วยกัน และก็เริ่มโทรหากัน ไปไหนมาไหนก็ไปด้วยกัน และยังเริ่มดึงโรงเรียนอื่นมาเพิ่มอีก 7-8 โรงเรียน มันดีมากเลยนะ”
รูแปงยอมรับว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในภาพยนต์ 4KINGS คือสิ่งที่เขาเคยในชีวิตตัวเองมาแทบทั้งนั้น ไม่ว่าการปะทะกันในงานคอนเสิร์ต การกินเหล้าสังสรรค์กับเพื่อน ตลอดจนการถูกผู้ปกครองของแฟนสาวด่าว่าไม่มีอนาคต
“ตอนนั้นผมมีแฟนคนหนึ่งเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น พ่อเขาบอกถ้ารักลูกกูจริงให้มาที่บ้าน พอผมไปถึงก็ถูกด่าทันทีเลย ‘มึงไปทำตัวให้มีอนาคตก่อนค่อยมายุ่งกับลูกสาวกู’ เหมือนในหนังเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดถึงว่าอนาคตคืออะไร”
สุดท้ายเขามองว่า 4KINGS ไม่ได้สนับสนุนให้ใครตีกัน เพราะเขาเองเห็นคนจากหลายสถาบันร่วมกันมาดูหนังเรื่องนี้ และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นกันเอง ซึ่งสำหรับมันเป็นภาพที่ดีเหลือเกิน
“อย่างตอนที่ผมไปดูหนังเรื่องนี้ที่สมุทรปราการ แต่ละโรงเรียนนั่งรถมาดูหนังด้วยกันเลย และในโรงหนังแต่ละโรงเรียนใส่ช็อปกันเต็มเลย โห มันคลาสสิกอะ
“หนังเขาสร้างมาให้ดูว่าอย่าไปทำตาม คุณจะไปทำตาม แล้วดูผลลัพธ์ว่าจะเป็นอย่างไร คนที่เขาจบมาแล้วจะดูรู้ว่าหนังไม่ตั้งใจให้เด็กตีกัน และรุ่นพี่ต้องเป็นตัวอย่างให้รุ่นหลัง ทำให้เห็นว่าหนังเรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่าการทำอะไร คิดถึงอนาคตให้ดี คิดถึงพ่อแม่ให้มากๆ” เขาทิ้งท้าย
(5)
ในวัย 48 ปี
“วันนี้เรา 48 แล้ว อีก 10 ปีข้างหน้าเราไม่รู้จะไปไหนแล้ว จะอยู่ถึงหรือเปล่า แต่เราอยากได้บ้านสักหลังหนึ่งในกรุงเทพฯ อยากจะทำฟาร์มสัตว์ไว้ให้ลูก เพราะอย่างน้อยๆ ถ้าวันหนึ่งที่เขาโตขึ้นจะได้มีรายได้เข้ามาทุกวัน”
ชีวิตในวัย 48 ปี รูแปงผ่านพ้นมาทุกอย่างแล้ว เคยเป็นทั้งไกด์นำเที่ยว, ลูกจ้างในสนามบิน, บอดี้การ์ดนักธุรกิจ, ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ไล่มาจนถึงล่าสุดที่เขาเริ่มเพาะพันธุ์แมวขายในเพจ แมวเหมียวเอ็กโซติก ดอนเมือง
สุดท้ายเราถามเขาว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ยังตัดสินใจจะใช้ชีวิตแบบเดิมไหม? รูแปงนิ่งทวนคำถามเราอยู่นาน ก่อนจะเผยอริมฝีปากพูดขึ้นว่า
“ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกจะเป็นยังไง ถ้าย้อนเวลากลับไปได้นะ พี่จะไปเรียนสายสามัญดีกว่า จบมาจะทำงานราชการ หรือไปเรียนวิศวะจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ถ้าย้อนไปได้ไม่เอาดีกว่า มันเสียเวลาหลายๆ อย่าง”
“เรียนสายสามัญดีกว่า” คือคำตอบของรูแปงในวัย 48 ปี ซึ่งบางทีการตัดสินใจผิดพลาดอาจไม่ใช่การเรียนในโรงเรียนอาชีวะ แต่อาจเป็นมากกว่านั้นตั้งแต่เรื่องของความรุนแรงที่ฝังอยู่ในครอบครัวเขาตั้งแต่เด็ก และเรื่อยมาจนถึงตอนเรียน และแน่นอนว่ายังคงฝังรากลึกอยู่ถึงทุกวันนี้ แค่อาจเปลี่ยนรูปแบบจากทางกายภาพสู่ความยากจน