“เดี๋ยวไปพาน้องกลับมา” คือคำพูดของ ยอด-อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ ในระหว่างภารกิจนำ แตงโม-นิดา กลับสู่คนผู้เป็นที่รัก เขาและทีมงานกู้ภัย ปฏิบัติภารกิจพาแตงโมกลับบ้านมาตลอดหลายชั่วโมง และเป็นทีมแรกๆ ที่พบแตงโมในแม่น้ำเจ้าพระยา
ย้อนกลับไปในอดีต ภารกิจช่วยทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง, สีนามิ ตลอดจนอุบัติบนท้องถนนที่เกิดขึ้นรายวัน รวมถึงไปกรณีล่าสุดที่ แตงโม-นิดา นักแสดงสาวตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาและเสียชีวิต หนึ่งในกลุ่มคนที่เดินทางไปถึงที่หมายรวดเร็วที่สุด ทุ่มเทแรงกายและใจตลอด 40 ชั่วโมง อดนอนบนเตียงนุ่มๆ เพื่อตามหาหญิงสาวที่หายตัวไปคือ “ทีมกู้ภัย”
The MATTER ได้พูดคุยกับ ยอด – อัญวัฒิ โพธิ์อำไพ เจ้าของรหัส “นคร 45” หัวหน้ารถกู้ภัยและรองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู ถึงอุปสรรคในการค้นหาร่างของนักแสดงสาวในกรณีล่าสุด ข้อจำกัดในการทำงานของทีมกู้ภัย ตลอดจนเรื่องราวชีวิตและแนวคิดเบื้องหลังของกู้ภัยมือฉมังที่ทำงานมานานกว่า 30 ปีคนนี้
ยอดเล่าให้เราฟังว่า อุปสรรคใหญ่ในการค้นหาร่างของนักแสดงสาวในรอบนี้มีอยู่ 2 ประการ หนึ่งคือปัญหาด้านข้อมูลที่ได้รับ และสองคือปัญหาด้านอุปกรณ์ ซึ่งไม่เพียงพอรับมือกับความมืดของลำน้ำเจ้าพระยาในช่วงกลางคืน
กู้ภัยรหัสนคร 45 เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า “อุปสรรคแรกที่เผชิญคือ ทีมกู้ภัยและนักดำน้ำได้รับข้อมูลที่ไม่ชัดเจน คนหนึ่งบอกจุดหนึ่ง อีกคนบอกจุดหนึ่ง เราจึงทำได้แต่เอาข้อมูลเท่าที่มีมาลองค้นหา แต่มันไม่ได้ผล เราจึงต้องปรับแผน ขยายพื้นที่ในการค้นหาและเพิ่มบุคลากรมาช่วยดำน้ำให้มากขึ้น” ยอดเล่าต่อว่าในช่วงเช้าของวันที่ 25 ก.พ. เริ่มมีแรงสนับสนุนจากหลายฝ่ายทั้งทีมนักดำน้ำมือดีจากมูลนิธิร่วมกตัญญู รวมถึงจากตำรวจน้ำและกองทัพเรือ
เมื่อการค้นหาดำเนินไป 14 ชั่วโมง ทีมกู้ภัยจึงตัดสินใจปรับแผนการค้นหา สาเหตุคือถ้ามีคนจมน้ำไปในระยะเวลาขนาดนี้ ถ้าหากเสียชีวิตแล้วจะต้องลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ทีมกู้ภัยจึงเริ่มโฟกัสที่ผิวน้ำแทนที่จะเป็นใต้น้ำ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมาพบอีกหนึ่งอุปสรรคคือ ขาดแคลนอุปกรณ์รับมือกับความดำมือของแม่น้ำเจ้าพระยา
“ช่วงบ่ายของเมื่อวาน (25 ก.พ.) เราพบอุปสรรคใหม่คือ ความมืดของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสาย ซึ่งเราก็พยายามใช้สปอร์ตไลท์ ไฟฉาย แล้วตระเวนล่องไปจากจุดที่แจ้งว่าตก ไปทั้งเหนือ-ใต้ขยายไป 3 กิโลเมตร ตลอดทั้งคืนก็ยังไม่พบ” ยอดเล่าต่อว่าช่วงเช้าของวันนี้ (26 ก.พ.) ทีมกู้ภัยจึงต้องขยายวงกว้างในการค้นหาเพิ่มเป็น 7 กิโลเมตรจากจุดที่คาดว่าจะตก ก่อนที่จะพบศพของนักแสดงสาวในเวลาประมาณ 12.40 น.
ยอดอธิบายว่า อุปกรณ์ที่หน่วยกู้ภัยใช้ทั้งหมดมาจากเงินในกระเป๋าของพวกเขาเอง อาจมีการบริจาคช่วยเหลือบ้าง แต่บ่อยครั้งที่ต้องเข้าเนื้อของตัวเอง ยอดยอมรับว่าถ้าได้รับแรงสนับสนุนด้านอุปกรณ์จากภาครัฐจะช่วยการปฏิบัติหน้าที่ของทีมกู้ภัยได้ดียิ่งขึ้นมาก โดยเขายกตัวอย่างกรณีของแตงโม ซึ่งหลังจากได้รับแจ้งว่าเธอตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา หน่วยที่มาถึงก่อน และออกค้นหาอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จก็คือ ทีมกู้ภัยนั่นเอง
“เราจะเห็นว่าทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ อุบัตเหตุ หน่วยกู้ภัยจะเป็นด่านแรกที่เข้าไปถึงและช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเคสนี้ (กรณีของแตงโม) ในช่วงเวลากลางคืนมีแต่กู้ภัยที่ช่วยอยู่ กระทั่งรุ่งเช้า ถึงมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุน ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ถ้าจัดงบประมาณสนับสนุนทีมกู้ภัยบ้างก็ดี แต่ไม่ได้เรียกร้องนะ เพราะที่ผ่านมาเราก็ทำเต็มที่ตามกำลังของเราอยู่แล้ว”
ในฐานะทีมกู้ภัยเขาตัดพ้อเล็กน้อยว่า บ่อยครั้งที่กู้ภัยทำงานหนักและต่อเนื่องจนมากกว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐด้วยซ้ำ “หลายคนเขาพูดตรงกันเลยว่า ภาครัฐเนี่ย 5 โมงเย็นก็เลิกแล้ว บางหน่วย 3 โมงครึ่งด้วยซ้ำ แต่กู้ภัยตี 1 ตี 2 ก็ยังไม่เลิกงาน”
ในฐานะกู้ภัยที่ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ยอดเผยแนวคิดของการทำงานว่า “คิดว่าทุกคนที่ช่วยเหลือคือญาติของเรา” เขากล่าวว่า “ผมอยากให้ทุกคนที่จะสนใจจะเป็นกู้ภัยคิดว่า ทุกคนที่ประสบภัยคือญาติของเรา เราทำวิธีไหนที่จะช่วยเขาเพื่อพ้นจากภัยนี้ และงานมันจะออกมาดีมาก และถ้าเราคิดด้วยว่าถ้าเราช่วยเขาได้ มันไม่ใช่แค่เขาคนเดียว แต่เราช่วยอีกหลายชีวิตที่รออยู่ที่บ้านเขา แล้วถ้าเราช่วยเขาได้ และเราจะมีความสุขกับงานนั้นมาก”
เขาคิดอย่างไรกับเรื่องความตาย? เราถามเขาขึ้นเพราะในอาชีพที่เคี่ยวกรำอยู่ เขาย่อมคุ้นเคยกับความเสี่ยง บาดแผล รอยเลือด รวมถึงศพผู้เสียชีวิตมานักต่อนัก
ยอดเล่าว่า ตัวเขาเคยเกือบเสียชีวิตมาแล้วถึงสามครั้ง โดยเขาเล่าถึงครั้งหนึ่งว่า ตัวเขาไปช่วยผู้ประสบภัยที่กำลังถูกไฟดูด แล้วพลาดถูกดูดไปด้วย ซึ่งเขาเล่าว่ารอดมาได้เพราะสิ่งศักสิทธิ์ที่คุ้มครองตัวเขาอยู่ โดยก่อนจะหมดสติเขาเห็นคนแก่เคี้ยวหมากลอยอยู่บนฟ้า และใช้ผ้าขาวม้าที่คาดเอวปัดให้เขาตกลงมา และรอดชีวิต
“อันนี้แล้วแต่วิจารณญาณ แต่ผมรู้สึกว่าความดีที่เราทำจากใจริงๆ มันเป็นเกราะป้องกันตัวเรา หนักกลายเป็นเบา ร้ายกลายเป็นดี และยิ่งเรามีประสบการณ์แบบนี้ก็ยิ่งต้องทำความดีให้เข้มข้นขึ้นด้วย”
ก่อนเราจะวางสายเพื่อให้ยอดได้กลับไปล้างเนื้อล้างตัว และนอนบนที่นอนนุ่มๆ หลักปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องกว่า 40 ชั่วโมง เราถามเขาว่า “เคยคิดไหมที่จะเกษียณตัวเองจากอาชีพกู้ภัย?” เขาตอบกลับมาในทันทีว่า “เลิกไม่ได้ครับ ไม่ว่าใครที่เข้ามาเป็นกู้ภัยแล้วไม่มีใครเลิกได้”
“ผมเชื่อว่าทุกคนถูกกำหนดมาแล้วว่าจะต้องทำอะไร อย่างเมื่อก่อนผมชอบเรียกตัวเองว่า ‘ถูกสาป’ เพราะตอนที่เข้ามาใหม่ๆ ผมยังไม่มีวิทยุแจ้งเหตุ แต่กลับพบเจออุบัติเหตุระหว่างทางที่ไปที่ทำงานทุกวันเลย วันละหลายครั้งด้วย จนคนที่คอยรับวิทยุถึงกลับถามผมว่า ไปเอางานมาจากไหน”
เขาเชื่อว่าเมื่อถูกกำหนดมาแล้ว และหัวใจยิ่งชอบและอินกับงานที่ทำ คนๆ นั้นจะยิ่งพยายามทำทุกอย่างให้งานออกมาดีขึ้น “คนไหนที่ชอบก็จะสรรหาว่าจะสมัครเป็นกู้ภัยได้ยังไง ซื้ออุปกรณ์อะไรเพิ่มดี อุปกรณ์กู้ภัยถือว่ามีราคาแพงนะครับ ไม่ว่าเฝือกหรืออะไร และมันจะมีของดีๆ ที่เอาไว้ใช้ เช่น เฝือกลม ซึ่งมีราคาแพงมาก แต่ทุกวันนี้รถอาสานี่แทบจะมีทุกคัน เขาไม่ได้ตั้งใจมีเพื่อประโยชน์ตัวเองเลย แต่เขาเอาเงินไปซื้อเพราะอยากช่วยเหลือชีวิตคนอื่น”
“เวลาทำแล้วมันเป็นความสุขในใจ แค่หยุดงานวันเดียวเรายังรู้สึกขาดอะไรไปเลย ไปนั่งเล่นแล้วเห็นรถกู้ภัยผ่าน เราก็มีความรู้สึกอยากรู้จังเลยว่าเกิดอะไรขึ้น ไปช่วยใครที่ไหน ผมตอบแทนพี่น้องกู้ภัยเลยว่าไม่มีวันเลิกได้”
“วันนึงทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ผมมี 24 ชั่วโมงที่วิเศษมาก เพราะผมไม่ได้ทำให้ตัวเองมีความสุขแค่คนเดียว แต่ผมพยายามทำให้ทุกคนที่ผมพบมีแต่ความสุข ทุกครั้งที่มีโอกาส และเวลาไปทำภารกิจใดๆ ก็ตาม ผมก็จะใช้ทั้งหัวใจทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มกำลัง” กู้ภัยรหัสนคร 45 กล่าวทิ้งท้ายถึงความสุขใจในหน้าที่การงานของตนเอง