เวลาราวตี 3 ของคืนวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกแห่งหนี่ง ในซอยกิ่งแก้ว 21 ไฟปะทุจนเกิดแรงระเบิดสั่นสะเทือนกระจกและฝ้าผนังบ้านเรือนใกล้เคียงพังตกลงมา “ประกายไฟแดงฉานลุกไหม้อยู่บนท้องฟ้า” ชาวบ้านรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในซอยดังกล่าว พูดถึงเหตุการณ์คืนนั้น
48 ชั่วโมงคือ ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครหลายหน่วยงานร่วมมือกันเพื่อควบคุมเพลิงที่โหมแรง
43 รายคือ จำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว
และ พอส-กรสิทธิ์ ลาวพันธ์ คือชื่อของอาสาสมัครนักดับเพลิงวัย 19 ปี ที่เข้าไปควบคุมเพลิงจนสุดท้ายถูกไฟคลอกและเสียชีวิต
ภายหลังสิ้นสุดเสียงปรบมืออย่างจริงใจแก่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันจนหยุดเหตุการณ์มหาวิปโยคครั้งนี้ได้ สิ่งที่เราควรถามตามมาคือ เราควรเรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ ?
The MATTER พูดคุยกับทีมอาสาสมัครทั้งมูลนิธิร่วมกตัญญูกิ่งแก้ว ทีมบรรเทาภัยเฉพาะกิจ และอาสาอิสระแห่งชาติพญาอินทรีที่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการยับยั้งเปลวเพลิงครั้งนี้ พวกเขามองเห็นอะไรบ้าง ข้อจำกัดอยู่ตรงหน และอะไรบ้างที่ควรแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุผิดพลาดซ้ำอีก
การปกปิดข้อมูล
“ไม่ใช่ทางโรงงานไม่เปิดเผยข้อมูล แต่ไม่มีคนจากโรงงานมาที่หน้างานเลย “ทางทีมดับเพลิงทุกหน่วยเลยต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยประสบการณ์อย่างเดียว ” ยอดหนึ่งในอาสาสมัครจากมูลนิธิร่วมกตัญญูกิ่งแก้ว ที่เข้าไปช่วยดับเพลิงตั้งแต่เช้ามืดวันที่ 5 กรกฎาคมกล่าว เขาชี้ว่าปัญหาประการแรกที่พบคือ ไม่มีข้อมูลของโรงงาน ไม่ทราบว่ามีสารอะไรอยู่ภายในบ้าง รู้เพียงว่าเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก
“พอผมไปถึงที่เกิดเหตุ ภาพที่พบคือโรงงานขนาดใหญ่กำลังลุกอย่างรุนแรง และเศษซากปรักหักพังกระจัดกระจายเกลื่อนบริเวณรอบโรงงาน ทีมของเรารีบกระจายกำลังกันตรวจหาผู้บาดเจ็บและสูญหาย เพราะว่าในขณะเกิดเหตุไม่มีใครในโรงงานให้ข้อมูลเลยว่ามีคนบาดเจ็บเท่าไร สูญหายเท่าไร และอยู่ตรงไหนบ้าง”
“จนถึงตอนค่ำ (5 ก.ค.) เราถึงได้รู้พิกัดของวาล์ว และ (เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงบวรมงคล) ถึงบุกเข้าไปปิดโดยใช้ทั้งน้ำยาโฟมรุมฉีดถึงเริ่มควบคุมเพลิงได้ ถือว่ายากมากสำหรับเคสนี้” ยอดเล่าถึงปัญหาประการแรกที่พบในปฏิบัติการครั้งนี้
ทางด้านครูบอยจากองค์กรอาสาอิสระแห่งชาติพญาอินทรี และทีมบรรเทาภัยเฉพาะกิจ รวมถึงเป็นหัวหน้าครูผู้ฝึกสอนทีมอาสา เล่าว่า “ตอนแรกเรารับแจ้งมาว่ามีน้ำมันแค่ 100,000 ลิตรเท่านั้น ก็ส่งทีมเข้าไปทำงานกัน ส่วนตัวผมประสานงานอยู่ด้านนอกกับอธิบกรมควบคุมมลพิษ (อรรถพล เจริญชันษา)”
ครูบอยเริ่มเล่าย้อนตั้งแต่ที่เขาและทีมเข้าไปในพื้นที่ช่วงเวลาตี 3 เกือบตี 4 “ทีมผมชุดแรกเข้าไปตั้งแต่ช่วงตี 3-4 ฉีดโฟมเข้าไปแต่ก็เอาไม่อยู่ เพราะสารที่ไหลรั่วออกมามีเยอะ พอผมเห็นแล้วว่าเอาไม่อยู่ ก็เริ่มถอนกำลังกันออกมาตั้งหลักข้างนอกตอนประมาณ 7 โมง เพราะกลัวมันระเบิด”
“สุดท้ายจนมืดค่ำ ช่วง 20.00-21.00 น. ถึงได้ทราบจากทีมวิศวกรที่ทำสายผลิตว่าภายในโรงงานมีน้ำมันถึง 1,600,000 ตัน” ครูบอยพูดว่าตนตกใจมากกับข้อมูลดังกล่าว และตกใจมากขึ้นที่มารู้เมื่อปฏิบัติการไปได้เกือบ 20 ชั่วโมงแล้ว
“การปกปิดข้อมูลกันทำให้เราทำงานลำบาก ผมใช้คำว่าทั้งวันเลย ทำไมไม่บอกว่าต้องตัดวาล์วหรือบอกว่าวาล์วมันอยู่ตรงไหน การดับเพลิงหรือเชื้อเพลิงประเภทนี้ จะให้จบมันต้องปิดวาล์ว แต่มันปิดไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่ามันมี เราก็เลยได้แต่ฉีดคุมไปเรื่อยๆ และถึงแม้ใช้โฟมเท่าไรก็ไม่เป็นผล จึงยืดเยื้อตามที่ปรากฎ”
เช่นเดียวกับ ต๋อง หัวหน้าฝ่ายบริการการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัยจากหน่วยแพทย์กู้ชีพวชิระพยาบาล ที่มองว่า “ตอนนั้นเราทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าจุดรั่วไหลมันอยู่ตรงไหนบ้าง ข้อมูลในที่เกิดเหตุไม่ชัดเจนเลย ตรงไหนที่มีไฟเราก็ได้แต่เอาน้ำและโฟมฉีดเข้าไป พูดง่ายว่าพยายามคุมไม่ให้เพลิงลาม แต่ส่วนที่มันรั่วมาอยู่ตรงไหน ตอนแรกเราไม่รู้เลย”
สำหรับต๋องเรื่องของข้อมูลสำคัญที่สุด เขามองว่าต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่าตรงไปตรงมา เพื่อให้การวางแผนในเหตุการณ์เช่นนี้รัดกุมและชัดเจนที่สุด “ผมว่าเรื่องของข้อมูลไม่ว่าสารอะไร ประเภทไหน มีจำนวนเท่าไร เราต้องรู้ให้เร็ว เพื่อวางแผนในการทำงานให้เร็วกว่านี้ ซึ่งถ้าภาครัฐเก็บข้อมูลได้ก็โอเค แต่ผู้รู้จริงควรจะเป็นบุคลากรของโรงงาน และเมื่อรู้ก็ควรมาให้ข้อมูลโดยไว เขาจะได้วางแผนสั่งการกันถูก”
ทางด้านโน๊ต ทีมประสานงามของมูลนิธิร่วมกตัญญูกิ่งแก้วที่เล่าว่าเขามาอยู่ตรงนี้ตั้งแต่ที่เกิดเหตุ และยังไม่ได้กลับบ้านเลยเป็นเวลากว่า 3 แล้วเสริมว่า “ผมว่าน่าจะทำเหมือนเมืองนอกนะ เวลามีเพลิงไหม้โรงงานต้องเอาแบบแปลนมากางดูกันว่าตรงไหนอันตรายบ้าง แต่ตอนนั้นผมก็กลัวด้วย ยืนอยู่ด้านนอก เพราะเกิดตู๊มขึ้นมาไม่มีใครเหลือเลยนะ”
การประสานงานของภาครัฐ
“ผมเสียใจอย่างหนึ่งคือ พอมาถึงแล้ว เจ้าหน้าที่ ปภ. ในพื้นที่ยังไม่มีการวางแผน และพูดคุยกับทางหน่วยอื่น รวมถึงอาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่เลย นี่คือสิ่งที่เป็นจุดอ่อนในตอนนั้น” ครูบอยเล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ในช่วงสายของวันที่ 5 กรกฎาคม
คำบอกเล่าของครูบอยตรงกับที่ ธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหนึ่งในสามผู้บัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าวเล่าให้สำนักข่าวไทยรัฐฟังว่า “ในเวลา 11.00 น. เมื่อเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ พบว่ายังไม่มีการตั้งกองอำนวยการเลย” รวมถึงในเรื่องของการสื่อสารที่ยังคงใช้วิทยุคนละคลื่นความถี่จึงทำให้การทำงานร่วมกันเป็นไปโดยล่าช้าและติดขัด
ทางด้านของยอดเสริมถึงเรื่องการทำงานของภาครัฐว่า “อยากให้ภาครัฐประสานกันทำงาน ไม่อยากให้ต่างคนต่างทำ อยากให้ปรึกษากันก่อนที่จะสั่งการอะไร มันจะได้เป็นรูปแบบเดียว ไม่ใช่ว่าหัวหน้าหน่วยนึงสั่งแบบนึง อีกหน่วยสั่งแบบนึง มันก็ทำให้การปฏิบัติงานมันไม่สัมฤทธิ์ผลในทิศทางเดียวกัน”
“ผมยกตัวอย่าง ภายหลังที่มีอาสาสมัครสูญเสียและบาดเจ็บ เราก็มาคุยกันว่าทำอย่างไรดี หน่วยนึงก็บอกว่าจะใช้มอนิเตอร์ ใช้เครื่องมือแทนกำลังคน แต่อีกหน่วยที่มีอากาศยานก็บอกให้พวกเราถอย เพื่อให้อากาศยานทำงาน เราก็ถอยและหยุดใช้น้ำอยู่เป็นชั่วโมง แต่อากาศยานก็ไม่ยอมบินขึ้นสักที เพราะบอกให้พวกเราถอยไปอีก พวกเราก็ถอยจนไปอยู่ที่ปลอดถัย แต่ส่วนบัญชาการบอกว่าอากาศยานยังไม่กล้าทำ จนกว่าเราจะอยู่ในที่ปลอดภัย”
“ผมเลยต้องเดินไปหาหัวหน้าที่บัญชาการเพื่อยืนยันว่าทำได้เลย ทุกคนอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ถึงเริ่มมีการขึ้นบิน” ยอดเล่าต่อว่าการสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้เสียเวลากว่าชั่วโมงในการใช้น้ำและโฟมควบคุมเพลิง จนทำให้อุณหภูมิในพื้นที่เพิ่มขึ้น และไฟลุกจากหนึ่งกองเพิ่มเป็นสองกอง
เขาเสริมอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ว่า “อีกเรื่องหนึ่งคือตอนอพยพคนออกจากพื้นที่ ถ้าคำนึงถึงความปลอดภัยก็ต้องอพยพคนออกทั้งหมด ไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร แต่อันนี้บอกอพยพแรงงานข้ามชาติไม่ได้ เพราะมีคำสั่งจากผู้ใหญ่ว่าห้ามเคลื่อนย้าย….” ยอดทิ้งช่วงหายใจ
“ผมว่ามันไม่ใช่ ชีวิตมันก็มีค่าเท่ากันหมดไม่ว่าเขาจะเป็นแรงงานก่อสร้าง หรือเจ้าของบ้านหลังใหญ่ คุณค่าชีวิตของเรามีเท่ากัน ไม่อยากให้แยกแยะแบบนี้”
“เราไม่ได้โทษใคร แต่อยากให้ภาครัฐวางแผนร่วมกันและสั่งการในทิศทางเดียวกัน โดยประสานกับศูนย์ทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทางเดียวกัน” ยอดทิ้งท้าย
อุปกรณ์ที่ยังไม่พร้อม
“ต้องบอกว่าอาสาสมัครเขาไม่ได้มีค่าตอบแทนใดๆ อุปกรณ์เหล่านั้นเขาหาซื้อด้วยกำลังของแต่ละคนกันเอง สำหรับอาสาสมัครผจญเพลิงเนี่ย ส่วนใหญ่ซื้อชุดมือสอง หมวกมือสองจากต่างประเทศมาทั้งนั้น มีส่วนน้อยมากที่จะซื้อมือหนึ่งได้” ยอดเล่าถึงปัญหาเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์ให้เราฟัง
โดยปกติแล้วอาสาสมัครส่วนใหญ่จะต้องหาอุปกรณ์ด้วยตัวเองตามทุนทรัพย์ที่มีอยู่ และแน่นอนว่าประสิทธิภาพของอุปกรณ์ก็ผกผันตามราคาและแหล่งที่มาเช่นกัน ในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพของชุดป้องกันเพลิง ครูบอยได้อธิบายให้เข้าใจเพิ่มเติมว่า
“ชุด PPE มาตรฐานมันสามารถกันเพลิงได้ 400-450 องศา แต่ถ้าชุดที่เราตัดด้วยผ้าของไทยมันจะกันได้เพียง 200 องศา มันเลยเกิดการจุดติดและลุกไหม้ของผ้าได้ แต่ถ้าเป็นชุดดับเพลิงของต่างประเทศ เวลาไฟติดจะดับด้วยตัวเอง ไม่มีการติดต่อลุกลาม และป้องกันความร้อนได้สูงกว่า”
“น้องบางคนที่เป็นมือใหม่ หรือทีมที่ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือก็มักจะใช้ชุดที่ตัดเย็บในไทย ราคาอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท ชุดพวกนี้มันกันความร้อนได้ระดับนึง แต่มันไม่ช่วยป้องกันการจุดติดของผ้า”
“ทีมอาสาบางคนที่มีทุนทรัพย์ส่วนตัวสูง ถึงจะสามารถหาซื้ออุปกรณ์อย่างหมวก ถุงมือ รองเท้าได้ ซึ่งแต่ละอย่างใช้เงินสูงมาก อย่างถังอากาศมือสองยังมีราคาระหว่าง 10,000-30,000 บาทเลย”
“สิ่งเหล่านี้ผมถือว่าอาสาบ้านเราขาดการช่วยเหลือโดยภาครัฐทุกฝ่ายเลย เราเป็นอาสาสมัครเราทำได้เท่าที่เราทำ อุปกรณ์ความพร้อม เรามีได้เท่าที่จะมี แต่ถ้ามันมีการช่วยเหลือและส่งมอบอุปกรณ์ที่ใช้แล้ว รวมถึงมีการทำงานเป็นทีมมากกว่านี้ ระหว่างเจ้าหน้าที่ดับเพลิงภาครัฐกับอาสาสมัคร ผมว่าในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ดี”
ทางด้านต๋องกล่าวในทำนองใกล้เคียงกันถึงปัญหาด้านอุปกรณ์ว่า “อาสาสมัครทุกคนต้องควักตังค์ซื้อเอง อุปกรณ์บางชิ้นราคาเป็นแสนเราก็ต้องพยายามเก็บเงิน หาเงินมาซื้อ ลงทุนเองหมดและครับ”
“ผมเชื่อว่าทุกคนเจตนาดีหมด แต่รายได้ส่วนตัวของเรามันน้อยก็ต้องซื้อของที่จำเป็นก่อน ทำให้บางหน่วยก็อุปกรณ์ไม่ครบ อย่างผมเองก็ขาดบางอย่างอยู่เลย บางอย่างใช้ก็ชำรุดไปอีก อย่างเคสนี้ ใครที่เข้าไปทำงานลองกลับไปดูรองเท้า ถุงมือ ชุดของตัวเอง มันกัดขาดหมดเลยครับ”
เขาเสริมต่อว่า “อาสาสมัครเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานอยู่แล้ว เขาสั่งอะไรเราก็ยินดีสนับสนุนทุกอย่าง สิ่งที่เราขาดเราก็ต้องบอกเราไม่มีนะ ถ้าเราไม่มีก็ขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเสริมเราหน่อย มันจะได้แน่นขึ้น”
ทางด้าน ยอด พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าถ้าหากภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน ทุกฝ่ายจะทำงานได้ดีขึ้น และผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ ประชาชน
“ถ้าเขาเห็นคุณค่าของอาสาสมัคร และมอบเศษเสี้ยวของงบประมาณให้เราบ้างนะ ผมบอกได้เลยว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกเหตุการณ์จะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่เพลิงไหม้ แต่รวมถึงอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนเรื่องดล็กน้อยอย่างจั๊มแบตรถยนต์ จับงู หรือจับสัตว์เลื้อยคลาน”
ยอดพูดจบแล้วหัวเราะ แล้วขอตัววางสายเพื่อตอบวอร์จากเพื่อนในทีมมูลนิธิร่วมกตัญญู
ขอให้ทุกบทเรียนนำสู่การแก้ไข
ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้ต้องการชี้นิ้วโทษว่าเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เป็นความผิดใคร แถมต้องขอบคุณเพื่อนพ้องน้องพี่นักดับเพิลง อาสาสมัคร และภาครัฐทุกคนด้วยซ้ำ ที่เสียสละและเสี่ยงชีวิตเพื่อเข้าไประงับเหตุการณ์ ผู้เขียนขอโค้งคารวะทั้งร่างกายและหัวใจ
แต่เมื่อไม่มีใครยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เมื่อไม่มีใครยืนยันได้ว่าในครั้งหน้าเราจะไม่มีผู้เสียชีวิตอีก และไม่มีใครยืนยันได้ว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้ในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นที่ไหน การถอดบทเรียนและมองปัญหาผ่านโครงสร้าง น่าจะเป็นวิธีเตรียมพร้อมอุบัติภัยที่เหมาะสมที่สุด
ผู้เขียนหวังว่าทีมป้องกันสาธารณภัยทุกท่านจะแข็งแรงและรอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง และหวังเช่นเดียวกันว่า นานาปัญหาที่หลุดร่อนให้เห็นจากเหตุการณ์นี้ไม่ว่าที่เขียนลงไป และไม่ได้เขียน อาทิ การจัดวางโรงงานไว้ในพื้นที่ชุมชน, ปัญหามลพิษเรื้อรัง, การสร้างมาตรฐานฟ้องร้องจากประชาชนเพื่อเรียกค่าเสียหาย ตลอดจนการตรวจสอบมาตรฐานโรงงานจะค่อยๆ ถูกนำมาถกเถียงในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ และนำไปสู่ทางแก้ไขที่ดีในภายภาคหน้า
เพราะสังคมที่เรียนรู้จากความผิดพลาดและก้าวไปข้างหน้า น่าจะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูญเสีย// ขอไว้อาลัยแด่ พอส-กรสิทธิ์ ลาวพันธ์
อ้างอิง: