“อยากเป็นแฟนแต่ได้แค่เพื่อนคุย เฮ้ย! มันจะเกินปุยมุ้ยย”
“ฉลามน่ะชอบงับคุณ งับๆ ส่วนผมน่ะชอบคุณงับ”
ถ้าเปิดเพลงนี้สักยี่สิบปีที่แล้ว บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้ งับ หรือ เกินปุยมุ้ย ในประโยค แม้พอจะเดาความหมายได้ แต่ก็คงไม่ได้คุ้นชินและใช้บ่อยอย่างทุกวันนี้ แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมต้องใช้ ‘งับ’ แทน ‘ครับ/ค่ะ’ ทำไมต้องใช้ ‘งุ้ยยยย’ เวลาเห็นอะไรน่ารักๆ หรือคำสุดฮิตอย่าง ‘เกินปุยมุ้ย’ มีที่มาจากไหน
The MATTER ชวน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยถึง สัทศาสตร์ (Phonetics) หรือศาสตร์ด้านการออกเสียงที่อยู่เบื้องหลังคำเหล่านี้กัน
รู้จักสัทศาสตร์ กับเหตุผลที่คนเปลี่ยนวิธีการออกเสียง
ก่อนจะพูดถึงที่มาที่ไปของคำเหล่านี้ เราขอเล่าก่อนว่า ‘สัทศาสตร์’ เป็นสาขาหนึ่งของภาษาศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘เสียง’ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเสียง คลื่นเสียง การได้ยินเสียงของมนุษย์ (แต่เป็นคนละอย่างกับสัทวิทยา หรือ Phonology ที่ศึกษาระบบและข้อบังคับของเสียงในภาษาต่างๆ)
แม้สัทศาสตร์จะศึกษาเฉพาะเสียงที่เราพูดออกมา ไม่ได้รวมการเขียนหรือการพิมพ์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันเพราะบางทีเราก็พิมพ์ตามเสียงที่พูด หรือพูดตามคำที่เราพิมพ์บ่อยๆ ดังนั้นคำที่กำลังฮิตบนโลกออนไลน์ก็สามารถมองในมุมสัทศาสตร์หรือการออกเสียงได้เช่นกัน
“ปัจจุบันการศึกษาสัทศาสตร์มันมีการขยายขอบเขตไป เช่น เรามีการศึกษาสัทศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับพวกการสื่อสารดิจิทัล การสื่อสารออนไลน์ บางครั้งเรื่องรูปเขียนกับเสียง มันมีพฤติกรรมที่สะท้อนอะไรบางอย่าง เราก็อาจจะนำมาวิเคราะห์ด้วยบางส่วน”
สำหรับคำที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกออนไลน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุจิณัฐ อธิบายว่าคำเหล่านี้มีที่มาจาก 4 เหตุผลหลัก ได้แก่
- ข้อจำกัดของอวัยวะที่สื่อสาร เช่น เสียง ร กับ ล ที่ต้องออกเสียงจากบริเวณปุ่มเหงือกเหมือนกัน แต่ ล ลิงจะออกเสียงง่ายกว่า เลยทำให้เราออกเสียง ร เรือไม่ชัดในบางครั้ง หรือการพิมพ์คำว่า ‘จัง’ แทน ‘จุง’ เพราะบนแป้นพิมพ์ สระอุ อยู่ใกล้กับไม้หันอากาศ เมื่อเราเอื้อมนิ้วไปไม่ถึงหรือกดผิดบ่อยๆ บวกกับคำนั้นตรงกับความรู้สึกที่อยากสื่อสาร ช่วงหลังๆ ก็อาจจะกลายเป็นการพิมพ์ผิดอย่างตั้งใจแทน
- การเขียนหรือการพิมพ์ตามเสียงที่เราพูด เช่น คำว่า เลา (เรา) ไง (ยังไง) ไร (อะไร) ที่เปลี่ยนไปจากภาษาเขียนมาตรฐานเดิม เพราะเราชินกับการพูดแบบนี้ในชีวิตจริง
- การเปลี่ยนเสียงเพื่อให้รู้สึกเหมือนเป็นภาษาเฉพาะกลุ่ม อย่างการใส่ ร เรือ ลงไปให้มีความขี้เล่นเวลาคุยกับเพื่อน เช่น โอเคร (โอเค) แกร (แก,เธอ) หรือสมัยก่อน เราจะเห็นการใส่เสียง ส เสือ เข้าไปให้ฟังดูขบขันเหมือนกำลังเลียนเสียงภาษาอังกฤษ
- ข้อจำกัดของการพิมพ์ที่ไม่มีอวัจนภาษา (nonverbal) ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง หลายคนเลยปรับคำเพื่อให้สามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกออกไปได้ เช่น การใช้ ‘ค่า’ แทน ‘ค่ะ’ การใช้ ‘คร้าบ’ แทน ‘ครับ’ รวมทั้งอีโมจิต่างๆ เพื่อให้โทนเสียงนั้นไม่ห้วนจนเกินไป
เบื้องหลัง งับ งุ้ย เกินปุยมุ้ย สึสดีค่าา
สำหรับคำสุดฮิตในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อจำกัดของร่างกายและข้อจำกัดของการพิมพ์ อย่างคำว่า ‘ปุยมุ้ย’ ที่เกิดจากการพิมพ์ ‘ไปไหม’ เป็น ‘ปัยมั้ย’ แต่ไม่หันอากาศดันอยู่ใกล้กับสระอุพอดี หลายคนเลยพิมพ์คำว่า ‘ปัยมั้ย’ เป็นคำว่า ‘ปุยมุ้ย’ แทน
“ความน่าสนใจก็คือว่า การออกเสียง ไปมั้ย ว่า ปุยมุ้ย เสียงที่เกิดขึ้นมันเผอิญตรงกับความรู้สึกของเรา เพราะดูน่ารัก ดูนุ่มนิ่ม อันนี้คือการแปรมาจากการพิมพ์ แต่ดันไปสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกที่ติดมากับสิ่งนี้ แล้วสระที่เป็นสระหลัง (สระที่ลิ้นอยู่ตำแหน่งด้านหลังและริมฝีปากห่อ ได้แก่ อุ อู โอะ โอ เอาะ ออ) มันมักจะให้ความรู้สึกกลม ซอฟต์ เลยทำให้คนนิยมใช้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ สระหลัง คือสระที่ลิ้นไปด้านหลัง เช่น อู โอ ออ มันมักจะเป็นสระปากห่อ ตรงข้ามกับสระที่ลิ้นอยู่ด้านหน้า เช่น อี เอ แอ ซึ่งเป็นสระที่ปากไม่ห่อ” การห่อปากก็ยิ่งส่งเสริมความรู้สึกกลมมนน่ารัก
“อย่างที่สอง คือเสียงที่เราพิมพ์ไปแล้ว มันให้อารมณ์ความรู้สึกได้ดี เช่น การใช้ ง งู ทำไมรู้สึกว่ามันดูซอฟต์ลง อย่างคำว่า ‘งับ’ จริงๆ รูปแบบของมันมาจาก ครับ ที่ออกเสียงควบกล้ำก่อน แล้วคนก็ไม่ค่อยออกเสียงควบกล้ำว่า สวัสดีครับ แต่ออกเสียงเป็น สวัสดีคับ แล้วความเหมือนกันของเสียง ค ควาย กับเสียง ง งู คือตำแหน่งการออกเสียงมันอยู่ที่บริเวณเพดานอ่อน คือเสียง ‘เคอะ’ และ ‘เงอะ’ แต่ความต่างคือ เสียง ค ควาย ลิ้นที่แตะเพดานอ่อนมันจะปิดสนิท ขณะที่ งอ งู มันเป็นเสียงที่เพดานอ่อนหย่อนลงบางส่วน แล้วลมออกทางช่องจมูก เรียกว่าเสียงนาสิก เสียงนาสิกจะมีคุณสมบัติเป็นพยัญชนะที่อ่อนลงกว่าเสียงพยัญชนะกัก (ค ควาย) เพราะไม่ได้ปิดอวัยวะสนิท” ซึ่งเสียงนาสิกรวมถึงเสียง ง งู ให้ความรู้สึกนุ่มนวลและน่ารักขึ้น เลยไม่น่าแปลกใจที่นอกจาก งับ เราจะเห็นคำว่า งุ้ย ง่ะ แง้ อยู่บ่อยๆ อีกด้วย
“นอกจากนี้อาจมีการใช้ภาษาบนโลกออนไลน์ที่สะท้อนบุคลิกภาพบางอย่างที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น สึสดี สังเกตว่าเวลาได้ยินคนพูด ‘สึสดี’ กับ ‘สวัสดี’ เราเห็นภาพคนไม่เหมือนกันเลยนะ พอเราเห็นคำว่า สึสดีค่ะ ถึงหน้าตาบุคลิกภาพที่เฉพาะ หรือการออกเสียงไม่เป็นทางการแล้ว เพราะฉะนั้นเราเลยพิมพ์ (คำว่าสึสดี) เพื่อจะสะท้อนภาพนั้นออกมาด้วย”
ภาพสะท้อนของยุคสมัยแห่งการพิมพ์
เมื่อภาษาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การออกเสียงหรือการสะกดที่เปลี่ยนแปลงไปเลยสะท้อนภาพบางอย่างของสังคมได้เช่นกัน อย่างปรากฏการณ์เหล่านี้ที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนที่ใช้ ‘การพิมพ์’ สื่อสารกันเยอะขึ้นจนแทบจะใกล้เคียงกับการพูด เพราะสมัยก่อนอาจจะมีตัวเลือกแค่ส่งข้อความหากันที่แพงกว่าโทรหาซะอีก แต่เดี๋ยวนี้นอกจากจะส่งไลน์ โพสต์สเตตัส ทวิตบ่นได้ทันทีแล้ว เรายังส่งถึงคนทั่วโลกได้ฟรีๆ อีกด้วย ทำให้ข้อความที่เราพิมพ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาษาเขียนหรือการสะกดตามมาตรฐานเท่านั้น แต่อาจเป็นคำเดียวกันกับภาษาพูด หรือคำใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาบนโลกออนไลน์ แถมยังกลายเป็นไวรัลได้อย่างรวดเร็วและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
“หลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงการยอมรับของรูปแปรเหล่านี้ก็คือ การที่มันถูกถ่ายโอนแพลตฟอร์มจากโลกออนไลน์ไปสู่ชีวิตจริงด้วย เช่น เพลงรักจุงเบย เพลงเกินปุยมุ้ย เพราะฉะนั้นมันเป็นโมเดลเดียวกับการออกเสียงเลยที่พอออกเสียงแล้วไม่ถูกจุด ออกเสียงแล้วมันง่ายมากขึ้น หรือออกเสียงผิดพลาด พอเกิดขึ้นถี่ๆ แล้วทุกคนใช้กันเยอะขึ้น พอกลไกมันเป็นธรรมชาติ เกิดขึ้นถี่ๆ แล้วคนในสังคมนิยมชมชอบ ให้คุณค่า ก็จะเห็นการใช้กันเยอะขึ้นเป็นกระแส”
แม้คำที่เราพิมพ์ผิดหรือออกเสียงพลาดจะไม่ได้ตรงตามมาตรฐานดั้งเดิมของภาษาไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าปรากฏการณ์เหล่านี้จะเป็นเรื่องผิดหรือน่ากังวลเสมอไป
“การแปรทางภาษาก็คือการที่เสียงมี ‘ความหลากหลาย’ มันไม่ได้แปลว่าทุกอย่างมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มันอาจจะมีการแปรอยู่เช่นนั้น มีความหลากหลายอยู่เช่นนั้นก็ได้ เนื่องจากการใช้ภาษาในสังคมมันมีแรงเสียดทาน เช่น เรามีการแยกการออกเสียงแบบมาตรฐานอย่างการดูทีวี ดูข่าว กับภาษาที่เราพูดกับเพื่อน มันยังมีสิ่งนี้อยู่ที่เป็นเส้นขนานกัน มันมีการสะกด การเขียนอะไรบางอย่างที่ทำให้คนตระหนักว่ามันเป็นคนละอย่างกัน สิ่งเหล่านี้มันก็จะเป็นแรงเสียดทานให้ ‘การแปร’ มันไม่นำไปสู่ ‘การเปลี่ยนแปลง’ ดังนั้น บางคนเขาก็สามารถใช้ได้อย่างเป็นระบบ เช่น ตอนคุยกับเพื่อนเขาอาจจะออกเสียงไม่เป็นทางการ แต่ในบริบทที่เป็นทางการ เขาก็ใช้คำได้เหมาะสมได้เช่นกัน”
นอกจากนี้ มนุษย์เรายังอาศัย ‘บริบท’ ควบคู่ไปกับการตีความคำนั้นๆ ทำให้ภาษาใหม่ๆ ไม่ได้เป็นอุปสรรคทางการสื่อสารเสมอไป ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงเป็นการเลือกใช้คำที่หลากหลายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และแม้บางอย่างไม่ตรงกับมาตรฐานดั้งเดิม แต่ก็นับว่าเป็นความสนุกและความมหัศจรรย์ของภาษาที่แปรเปลี่ยนไปได้หลากหลายรูปแบบ