“ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่อินกับผู้ชาย bad boy ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย เธอไม่รักฉันก็คงต้องปล่อย โธ่พ่อหนุ่ม แบดดดด!! บอยยย!! แบดดด!! บอยยยย!!” ทั้งที่เป็นเพลงร็อคมันส์ๆ พูดถึงความรักในวัยหนุ่มสาว แต่เรากลับนึกถึงเสียงเด็กๆ ตะโกนร้องท่อนนี้อย่างพร้อมเพรียงกันจนเรียกว่าเป็นเพลงร็อคขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนมกันไปซะแล้ว
The MATTER เลยชวน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยถึงเบื้องหลังความป๊อปของเพลงนี้ในมุมสัทศาสตร์หรือศาสตร์ของการออกเสียงกันว่าทำไมเด็กๆ ถึงชอบร้องตามจนกลายเป็นเพลงฮิตในช่วงเวลานี้
รูปแบบของคำที่จดจำง่าย
ก่อนจะไปถึงวิธีการออกเสียง แน่นอนว่าแต่ละพยางค์ต่างผ่านการคิดของเรามาก่อน ยิ่งเป็นคำที่นึกถึงได้ง่าย คิดตามได้ทัน โดยเฉพาะคำที่มีรูปแบบบางอย่างชัดเจน ยิ่งทำให้เราออกเสียงได้ง่ายตามไปด้วย
“เวลาที่เราออกเสียง สมองเราจะคิดไปข้างหน้า สังเกตไหมครับ ถ้าเราพูดว่า ‘ทหารถือปืนแบกปูนไปโบกตึก’ ถ้าพูดเร็วๆ เราจะพูดผิดเพราะเหมือนเราคิดต่อไปว่าต้องออกเสียงอะไร แล้วเสียงมีความใกล้เคียงกัน มันจะแทรกแซงกัน เช่น ‘หมูหมึกกุ้ง’ บางคนจะออกเสียงว่า ‘หมูหมุกกุ้ง’ เพราะว่า สระอึ กับ สระอุ ใกล้เคียงกันมาก แต่เหมือนเราต้องการแพทเทิร์นบางอย่าง พออะไรก็ตามที่มันหลุดจากแพทเทิร์น เช่น หมูหมึกกุ้ง เนี่ยมันจะเป็นสระ อู-อึก-อุ เราก็เลยรวบยอดเป็นสระอุไปหมดเลย เพราะรู้สึกว่ามันออกเสียงใกล้เคียงกัน ดังนั้นอะไรที่มันมีรูปแบบที่ชัดเจน คือแตกต่างกันมาก มันจะออกเสียงได้ง่าย”
เห็นได้จากวลี ‘ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย’ ที่แต่ละพยางค์มีแพทเทิร์นการออกเสียงที่เป็นระบบแต่ก็แตกต่างกันชัดเจน ทำให้ออกเสียงตามได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ยังออกเสียงได้ไม่ซับซ้อนเท่าวัยผู้ใหญ่
“ถ้าพยัญชนะ จะพบว่ามันมีแพทเทิร์นเดียวกันเลย คือ พยางค์แรกของทั้งสองวรรค ‘ทรง’ กับ ‘แซด’ ออกเสียง สอ เสือ หรือ ซอ โซ่ /s/ ซึ่งเป็นเสียงที่ปุ่มเหงือก แล้วก็เป็นคำว่า อย่าง ซ้ำกัน พยัญชนะต้น ยอ ยักษ์เป็นเสียงเพดานแข็ง ต่อด้วย ‘แบด’ กับ ‘บ่อย’ ออกเสียง บอ ใบไม้ /b/ เหมือนกันเลย ซึ่งเป็นเสียงริมฝีปาก จะเห็นได้ว่า ทั้งสองวรรคมีพยัญชนะที่มีรูปแบบเหมือนกันคือ ปุ่มเหงือก-เพดานแข็ง-ริมฝีปาก ซ้ำกันเป็นระบบ และในขณะเดียวกัน ตำแหน่งทั้งสามนั้นก็อยู่ห่างกันอย่างชัดเจนด้วย มันทําให้เราสามารถออกเสียงได้แบบชัดเจน แล้วเราคาดเดาคำต่อไปได้”
ส่วนเสียงสระจะเริ่มออกเสียงจากสระหลัง (ทรง) > สระกลาง (อย่าง) > สระหน้า (แบด) แล้วออกเสียงถอยหลังกลับมาในรูปแบบเดิมคือ สระหน้า (แซด) > สระกลาง (อย่าง) > สระหลัง (บ่อย) ซึ่งก็มีลักษณะเดียวกันกับกรณีของเสียงพยัญชนะ คือมีรูปแบบที่ชัดเจนและก็มีความแตกต่างกันของแต่ละเสียงด้วย ลักษณะเช่นนี้ คล้ายกับคำผวน ที่คนส่วนใหญ่สามารถผวนได้อย่างอัตโนมัติ
พยางค์ที่ออกเสียงตามได้ง่าย
นอกจากโครงสร้างของคำจะทำให้สมองคิดตามได้ทันแล้ว ยังเป็นคำที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ให้เปล่งเสียงออกมาได้ง่ายอีกด้วย “เวลาออกเสียงเราจะมีช่วงหายใจคือ ‘ทรงอย่างแบด’ หายใจหนึ่งทีแล้ว ‘แซดอย่างบ่อย’ หายใจหนึ่งที ก็จะพบว่า เราออกเสียงครั้งละ 3 พยางค์ ซึ่งมีงานวิจัยเกี่ยวกับพวกเสียงในสโลแกนจะพบว่าคำ 3 พยางค์ทําให้เราจําได้ง่าย พอพยางค์ไม่ยาว เด็กๆ เลยสามารถพูดได้ต่อเนื่องได้โดยที่ไม่ต้องใช้พลังลมมาก”
นอกจากนี้แต่ละพยางค์ของ “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” ยังเป็นพยางค์ที่มีโครงสร้างง่ายๆ ไม่ซับซ้อนสำหรับเด็ก ตามพัฒนาการทางภาษา เด็กวัยอนุบาลที่อายุอยู่ในช่วงไม่เกิน 5-6 ปี สามารถออกเสียงพยางค์เหล่านี้ได้ชัดเจนแล้ว
วัยเด็กกับการออกเสียงแบบเน้นพยางค์
เมื่อสมองของเราคิดทัน แถมยังออกเสียงได้ง่ายแล้ว วิธีการร้องเพลงๆ นี้ยังเน้นทีละพยางค์ ซึ่งสอดคล้องกับจังหวะการพูดของเด็กที่มักจะพูดเน้นพยางค์อย่างชัดเจนอีกด้วย “หากมองในมุมมองของจังหวะของภาษา บางภาษาบนโลกเป็นภาษาที่มีแนวโน้มของหน่วยจังหวะตามการลงเสียงหนัก (stress-timed language) เช่น ภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาไทยเป็นภาษาที่มีแนวโน้มของหน่วยจังหวะตามพยางค์ (syllable-timed language) แม้ว่าเวลาคนไทยพูด เราไม่ได้พูดทุกพยางค์เท่ากัน แต่เด็กเล็กจะเน้นพยางค์ตรงไปตรงมา ก็จะพูด ก เอ๋ย ก ไก่ หรือ A B C ทีละพยางค์ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า เด็กไทยเกิดมาแล้วจะออกเสียงเน้นพยางค์มาก แล้วพอโตขึ้น เด็กก็จะเริ่มออกเสียงใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ คือเน้นพยางค์อยู่แต่เน้นน้อยลงกว่าตอนเด็กๆ”
นอกจากนี้เรื่องโครงสร้างพยางค์ยังเอื้อต่อการออกเสียงแบบเน้นทีละพยางค์อีกด้วย “ถึงแม้คําว่า ทรง จะไม่ใช่สระเสียงยาว แต่เป็นพยางค์ที่พยัญชนะท้ายเป็นเสียงนาสิก ซึ่งเสียงนาสิกมีความกังวานสูง ส่วนพยางค์อื่นๆ มีสระเสียงยาว เลยตะโกนร้องได้สนุกเลย และแม้ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ แต่เป็นคำที่เด็กอนุบาลถึงประถมเข้าใจได้ เพราะคำว่า แบด (bad) และแซด (sad) เป็นคําที่เขาเรียนอยู่แล้ว”