คำแรกติดใจ คำต่อไปติดคอ
อร่อยยืนหนึ่ง ปอเต็กตึ๊งยืนรอ
I’m not the bad guy, I’m just buy(ing) gas
The center of the city is building, The center of feeling is you.
เมื่อไหร่ก็ตามที่มีใครสักคนขอให้ชาวเน็ตช่วยคิดสโลแกนให้ร้านค้า หรือแคปชั่นประจำตัวประจำใจ แน่นอนว่าเราต้องได้เห็นความครีเอทีฟของคนไทยด้วยประโยคเหล่านี้ ทั้งคล้องจอง ฟังง่าย ติดหู และแม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ได้ยินเมื่อไหร่ก็อดหัวเราะไม่ได้ทุกที
นอกจากภาษาไทยจะมีคลังศัพท์ให้เราต้องอัปเดตแทบทุกเดือนแล้ว ทักษะในการคิดสโลแกน มุกเสี่ยวเกี้ยวสาว หรือแคปชั่นใต้โพสต์ก็ไม่เป็นสองรองใคร สมกับเป็นลูกหลานสุนทรภู่กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เสียจริง แล้วทำไมคนไทยถึงสร้างสรรค์คำได้เก่งจังเลยนะ อะไรในสิ่งนี้ถึงตลกในสายตาเราได้ และในอนาคตภาษาเหล่านี้จะมีเปลี่ยนไปยังไงกัน?
The MATTER ชวนคุยกับ ผศ.ดร.อนุชิต ตู้มณีจินดา หรืออาจารย์แจ็ค หัวหน้าหน่วยวิจัยเฉพาะทางภาษาและวาทกรรมศึกษาในบริบทสังคมและวัฒนธรรมไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไขข้อข้องใจของคำถามเหล่านี้กัน
สัมผัสเสียงเพื่อจดจำง่าย
“ย่อยไม่ยาก ส่วนมากติดคอ” มองเผินๆ ถ้อยคำนี้ไม่ได้ใช้วิธีทางภาษาที่ซับซ้อน แต่เป็นการใช้ ‘เสียงสัมผัส’ (Rhyme) โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นกับส่วนท้ายของพยางค์ ซึ่งประกอบด้วยเสียงสระและเสียงส่วนพยัญชนะท้าย เป็นกลวิธีทางภาษาแบบหนึ่งที่ใช้เพื่อให้ภาษามีความสละสลวยและง่ายต่อการจดจำ
อาจารย์แจ็คอธิบายว่า การใช้คำลักษณะนี้คือการใช้ภาษาของมนุษย์เราที่พบได้ทั่วไป เรามักพบได้บ่อยโดยเฉพาะในการแวดวงโฆษณา การรณรงค์ และการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ซึ่งสาเหตุที่เราใช้เลือกใช้ภาษาในลักษณะนี้ ประกอบด้วย 4 สาเหตุ คือ
ง่ายต่อการจดจำ
การใช้เสียงสัมผัส สามารถช่วยกระตุ้นและเรียกคืนความทรงจำกลับคืนมาได้ เพราะการสัมผัสเสียงจะช่วยสร้างรูปแบบทางเสียงที่ง่ายต่อการจดจำ และเมื่อเราจำได้ เราก็เรียกคืนความทรงจำเหล่านั้นได้ง่าย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงจดจำประโยคเหล่านี้ไปต่อบทกับเพื่อนได้แม่นนัก เพราะถ้าจำถ้อยคำส่วนแรกได้ ก็จะนึกถึงส่วนต่อมาได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน แม้เราจะจำได้แค่ส่วนท้ายของประโยค แต่ยังไงก็ตามเราจะสามารถจำส่วนแรกได้อยู่ดี เพราะรูปประโยคเหล่านี้อาจเปลี่ยนแค่เสียงพยัญชนะต้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของถ้อยคำลักษณะนี้ยังมักถูกนำไปใช้สอนการอ่านและการสะกดคำให้เด็กเล็กๆ ที่กำลังฝึกอ่าน หรือฝึกเขียนด้วย เช่น ถ้าขึ้นว่า กอเอ๋ย กอไก่ ขอไข่ อยู่ที่ไหน หลายคนก็น่าจะตอบได้ไม่ยาก แม้จะผ่านการท่องมาหลายปีแล้วก็ตาม
การส่งผ่านวัฒนธรรม
ในยุคสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีระบบการเขียนหรือการบันทึก การใช้สัมผัสเสียงที่ง่ายต่อการจดจำ ถือเป็นหนึ่งวิธีช่วยส่งผ่านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือความทรงจำ จากรุ่นสู่รุ่นที่ทำได้ง่ายมากขึ้น เช่น สูตรอาหาร หรือเพลงกล่อมเด็ก ดังนั้น การสื่อสารด้วยการสัมผัสเสียง จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาช้านาน และจะยังคงเป็นต่อไป
สร้างบรรยากาศความสุข
เสียงที่สัมผัสกันของคำช่วยให้เกิดจังหวะ หรือลักษณะทางเสียงเหมือนดนตรี ทำให้ผู้พูดและผู้ฟังรู้สึกสนุกสนานกับภาษาและการสื่อสาร การสอดประสานของจังหวะคำเหล่านี้ ยังช่วยให้ผู้พูดสามารถดึงความสนใจของผู้ฟังตามความต้องการของตัวเองได้ โดยเฉพาะการพาไปยังจุดที่เราต้องการเน้น หรือจุดไคลแม็กซ์ของความคิดหลักที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ
นอกจากนี้ เสียงสัมผัสยังส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้ฟังด้วย เพราะช่วยสร้างบรรยากาศ ความสุข สนุกสนาน และความเป็นมิตร โดยอาจารย์แจ็คขยายเพิ่มเติมว่า แม้จะมีกาพย์กลอนที่แสดงถึงความสูญเสีย แต่สิ่งนี้กลับสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของมนุษย์ในการเลือกสรรวิธีการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน
การสื่อสารออนไลน์
ยิ่งโลกออนไลน์ให้ความสำคัญต่อการจดจำ และการมีส่วนร่วมส่วนร่วม (engagement) กับคอนเทนต์ที่สร้างขึ้น การใช้เสียงสัมผัสจึงยังคงพบเห็นได้บ่อย เนื่องจากช่องทางการสื่อสารส่วนใหญ่มักถูกออกแบบมาให้เราต้องสื่อสารแบบสั้น กระชับ และชัดเจน ให้สอดคล้องผู้รับสารในทุกวันนี้ที่ไม่ต้องการอ่านข้อความยาวๆ การสร้างความเข้าใจและการจดจำในเวลาอันสั้นจึงสำคัญ โดยเฉพาะกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือเจ้าของธุรกิจออนไลน์
มุกตลกจากมุมของภาษาศาสตร์
อาจารย์ภาษาศาสตร์อธิบายว่า หลายครั้งที่เรามักตลกกับมุกอย่าง ‘อร่อยไม่ซ้ำ จำสูตรไม่ได้’ เพราะการใช้มุกตลกแบบนี้มีเหตุผลเช่นเดียวกับสัมผัสเสียง นั่นคือช่วยสร้างการจดจำ สร้างความสุข และความสนุกสนาน ที่สำคัญคือช่วยสร้างการส่งต่อ และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้รับสารในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ด้วย
แล้วมุกตลกทางภาษาในมุมมองของภาษาศาสตร์เกิดขึ้นได้อย่างไรกัน? เรื่องนี้อาจารย์แจ็คอธิบายว่า “ถ้าสังเกตดีๆ เราจะพบว่า ที่เรามักตลกกับมุกของเพื่อนนั้น เพราะเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง แปลกไปจากสิ่งที่คิดไว้ หรือแปลกไปจากภาษาที่ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งนี้สามารถสังเกตได้จากอาการ ‘มุกแป๊ก’ ที่มักตามด้วยคำพูด เช่น ‘ไม่เห็นขำเลย ก็รู้อยู่แล้ว’”
มุกตลกจึงเป็นการเล่นสนุกกับสมมติฐานและความรู้พื้นหลัง (background knowledge) หรือ ‘มูลบท’ (presupposition) ซึ่งเป็นความรู้หรือประสบการณ์ที่ผู้พูดและผู้รับสารใช้ตีความ แต่ความตลกจะเกิดขึ้นจากการพยายามของผู้พูดในการบิด หรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่มีร่วมกันของคู่สนทนา เช่น
-
- นาย ก. : “วันนี้ขอกินเป็นอาหารจานเดียวได้มั้ยเพราะตอนนี้สายละ” (บริบทคือ ไม่อยากสั่งแบบกับข้าว แต่อยากทานแค่ข้าวผัด ข้าวหมูทอดกระเทียม ราดหน้า ฯลฯ)
- นาย ข. : “แล้วถ้ากินสองจานจะเป็นไรมั้ย” (นาย ข. จงใจเล่นกับคำว่าจานเดียว มากกว่าที่จะตีความทั้งข้อความและบริบทการสนทนาที่กำลังเกิดขึ้น)
ทั้งนี้ ในทางภาษาศาสตร์ยังสามารถอธิบายได้ด้วยหลักความร่วมมือแห่งการสนทนา (Cooperative Principle) ที่เสนอโดยพอล ไกรซ์ (Paul Grice) ว่าการที่คนเราจะสามารถสื่อสารให้เป็นไปอย่างราบรื่นนั้น จะต้องปฏิบัติตามหลัก 4 ประการคือ
- ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง
- ต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ไม่พูดออกนอกประเด็น
- ต้องให้ข้อมูลในจำนวนที่พอดีไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป
- ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน เหมาะสม ไม่คลุมเครือ หรือเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง
ทว่าบ่อยครั้งที่ผู้พูดจงใจละเมิดหลักการเหล่านี้ เพราะต้องการสร้างความหมายโดยนัยอื่นๆ หรือการสร้างมุกตลกนั่นเอง ซึ่งอาจารย์แจ็คอธิบายให้เห็นภาพขึ้นด้วยการยกตัวอย่าง “คำแรกติดใจ คำต่อไปติดคอ” ว่าผู้พูดจงใจสื่อสารให้เกินจริง แน่นอนว่ากินครั้งที่ 2 ไม่จำเป็นต้องทำให้อาหารติดคอ และนำไปสู่การหายใจไม่ออกและตายในที่สุดก็ได้ ดังนั้น การเลือกใช้คำที่ขัดแย้งกัน และไม่แสดงถึงความเชื่อมโยง จึงเป็นที่มาของความตลก
อาจารย์แจ็คยังเสริมอีกว่า “การละเมิดหลักความร่วมมือแห่งการสนทนาที่ยกตัวอย่างมา ไม่ได้ทำให้การสื่อสารเกิดปัญหาแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ผู้รับสารต้องพยายามคิดหาคำตอบ และหาความเชื่อมโยงทางความหมายที่เหนือไปกว่าสัมผัสเสียงที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทั้งการสัมผัสเสียง และการจงใจบิดข้อมูลที่มีร่วมกันของผู้ส่งสารและผู้รับสาร ยิ่งทำให้ง่ายต่อการจดจำ และการสื่อสารต่อไปเป็นวงกว้าง”
มุกตลกทางภาษาสะท้อนอะไรบ้างในสังคมไทย
ทั้งนี้ อาจารย์แจ็คยังกล่าวต่อว่า มุกตลกเสียงสัมผัสไม่ได้แค่สร้างเสียงหัวเราะให้เราได้อย่างเดียว แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นคนตลก มีอารมณ์ขัน ความเป็นกันเอง และความใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นของคนไทยด้วย
“สิ่งที่น่าสนใจจากถ้อยความที่ยกตัวอย่างมา คือแม้ว่าการเปรียบเปรยเปรียบเทียบจะแตกต่างไปตามแต่ละวัฒนธรรม แต่กรณีการเปรียบเทียบเรื่องการกินที่จะนำไปสู่ความตาย หรือนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือปัญหาทางเดินอาหาร เป็นแนวคิดที่มีอยู่ร่วมกันทั่วโลก การมีคำเตือนเกี่ยวกับการกินในหลายภาษา จึงสะท้อนประสบการณ์ร่วมกันที่มีต่ออาหารและสุขภาพของมนุษย์ในปัจจุบัน” อย่างที่เราเห็นถ้อยแบบเดียวกันในภาษาอังกฤษ “First bite: That’s good. Next bite: That’s god” ที่เราเห็นผ่านในโซเชียลมีเดียไม่นานมานี้
อาจารย์แจ็คยังเสริมอีกว่า “คนไทยมักไม่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเมื่อเป็นการเตือน เนื่องจากการเตือนอาจจะเป็นการคุกคาม ‘หน้าตาสาธารณะ’ (แนวคิดทางภาษาศาสตร์หมายถึงภาพลักษณ์ของบุคคลเมื่ออยู่ในสังคม) ผู้ฟังมักตีความว่าการเตือนนั้นคือการตำหนิ ซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังไม่พอใจและทำตรงกันข้าม เหมือนที่คนไทยชอบพูดว่า ‘ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ’
“ดังนั้น การเตือนด้วยมุกตลกอาจทำให้ผู้รับสารถูกบังคับน้อยกว่า การสื่อสารแบบอ้อมค้อมเป็นเครื่องมือทางภาษาที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคม นอกจากนี้ข้อความเหล่านี้ยังสะท้อนความเป็นจริง ที่กระตุ้นให้เกิดการฉุกคิดมากกว่าสร้างความตื่นตระหนก แถมยังสั้น กระชับ มากกว่าจะอธิบายด้วยข้อมูลทางการแพทย์ที่ซับซ้อน เข้าใจยาก และไม่เป็นที่จดจำด้วย”
แนวโน้มการใช้สัมผัสภาษาในอนาคต
ในช่วงท้ายอาจารย์แจ็คให้มุมมองต่อการใช้ภาษาลักษณะนี้ว่า มันจะยังคงอยู่ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอย่างหลากหลายแวดวง ทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แวดวงโฆษณา กลุ่มวัยรุ่น จนถึงระดับต่างวัฒนธรรม
“ผมเชื่อว่าการใช้ถ้อยความในลักษณะนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์ เนื่องจากเป็นช่องทางสื่อสารที่เน้นความสั้น กระชับ รวมถึงดึงดูดความสนใจ และยังเป็นการสื่อสารกึ่งทางการไปจนถึงไม่เป็นทางการ มุกตลกจึงเป็นที่นิยม เพราะสร้างการมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการส่งต่อข้อความลักษณะนี้หรือมีมได้ง่ายขึ้น
“นอกจากนี้ในแวดวงโฆษณาที่มีการสื่อสารมีรูปแบบเฉพาะตัว เช่น การสื่อสารต้องสั้น กระชับ เร้าอารมณ์และความรู้สึก สร้างความโดดเด่น และความน่าจดจำ ก็เป็นอีกสื่อที่จะช่วยให้การใช้การสัมผัสเสียงในภาษา จะยังคงมีอยู่ต่อไป และอาจมีมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในแวดวงการตลาดดิจิทัล หรือเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์
“และอีกกลุ่มหนึ่งที่นิยมใช้ข้อความสัมผัสเสียงคือ กลุ่มวัยรุ่น เพราะการใช้สัมผัสเสียงช่วยให้เกิดความสนุกสนาน ยิ่งถ้าใช้ร่วมกับมุกตลก หรือการเสียดสี ประชดประชัน (แบบเป็นมิตร) ด้วย ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มสีสันให้กับการสนทนา และช่วยสร้างอัตลักษณ์และความน่าจดจำให้กับผู้ใช้ภาษาอีกด้วย
“สุดท้ายเราอาจจะได้เห็นข้อความสัมผัสเสียงมากขึ้นในการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม เพราะความคิดความเชื่อ เช่น เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นประเด็นหรือความกังวลของคนทั่วโลก การสร้างความน่าจดจำให้กับข้อความที่เผยแพร่ อาจจะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนี่คงนำไปสู่ความท้าทายของนักแปลว่า ควรทำอย่างไรให้สามารถเก็บรักษาความหมาย และเจตนาของผู้ส่งสารได้อย่างครบถ้วน ขณะเดียวกันก็ยังสามารถรักษาสุนทรียะทางภาษาได้ด้วยเช่นกัน” อาจารย์แจ็คทิ้งท้าย
ถ้อยคำสัมผัสเสียงนอกจากช่วยสร้างเสียงหัวเราะในวงสนทนาแล้ว ยังเป็นหนึ่งในวิธีทางภาษาที่ช่วยให้เราสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์ขึ้น ถ้าไม่อยากให้บรรยากาศตึงเครียดเกินไป เราอาจลองหยิบมุกตลกเหล่านี้ไปใช้ได้ แต่ก็ต้องอย่าลืมอ่านบรรยากาศก่อนนะ