“ถ้าสิ่งที่ลูกทำเลวร้ายและหนักต่อแผ่นดิน ขอให้ลูกตายตรงนี้ อย่าให้ลูกได้กลับบ้าน แต่ถ้าไม่ใช่ลูกต้องรอด”
นี่คือเสียงภาวนาต่อสิ่งศักสิทธิ์ของ ผุสดี งามขำ ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘เสื้อแดงคนสุดท้าย’ จากภาพที่เธอนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวหนึ่งติดกับหน้าเวทีสี่แยกราชประสงค์ ภายหลังที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553
เหตุสลายการชุมนุมระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม พ.ศ. 2553 มีผลรายงานออกมา 2 ชุด ชุดแรกจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 92 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,500 ราย อีกด้านหนึ่ง ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของประชาชนและนักวิชาการที่ตั้งใจทำงานคู่ขนานกับ คอป. รายงานว่า มีผู้สังเวยชีวิตอย่างน้อย 94 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 2,000 ราย
โดยภายหลังปรากฎว่า มีรายงานการเบิกใช้กระสุนจริง 597,000 นัด ใช้จริงไป 117,923 นัด เป็นกระสุนไสนเปอร์ 2,120 นัด และกระสุนยาง 6,620 นัด
ความรุนแรงที่คล้ายสงครามกลางเมือง ความเงียบงันของกระบวนการยุติธรรม และความเจ็บปวดต่อเหตุการณ์วันนั้น ปกคลุมและฉุดดึงให้คนเสื้อแดงหายเข้าไปในหลืบมุมของสังคม และรอคอยอย่างเงียบเชียบต่อความเคลื่อนไหวทางสังคมครั้งใหม่
กระทั่งการลุกฮือของคนรุ่นใหม่และข้อเสนอที่ท้าทายโครงสร้างฐานรากของสังคมไทย ทำให้ผุสดีขึ้นกล่าวในงาน ‘นอนแคมป์ไม่นอนคุก’ เมื่อ 28 สิงหาคม พ.ศ.2563 เพื่อกล่าวขอโทษคนรุ่นใหม่เคยดูถูกว่าไม่สนใจเรื่องบ้านเมือง และส่งสัญญาณถึงเพื่อนพ้องคนเสื้อแดงว่า
“ถ้าพวกเรามีแรงยังไม่ตายยังส่งเสียงได้ อย่าทอดทิ้งพวกเด็กๆ เพราะเขาจะเป็นคนที่จะนำความหวังของพวกเราให้ไปถึงจุดหมาย”
มาถึงวันนี้ สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ผุสดีในฐานะนักสู้คนเสื้อแดง มองเป้าหมายของการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญ ในมุมเธอ คนเสื้อแดงควรยืนอยู่ตรงไหนในการเรียกร้องครั้งนี้
จากคนที่ไม่สนใจการเมืองเลย กลายมาเป็นคนสุดท้ายที่ออกจากเวทีสี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี พ.ศ.2553 ได้อย่างไร
ปกติเราจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตลอด แต่พอสมัยทักษิณ ชินวัตรลงเลือกตั้ง เขาบอกว่าขอโอกาส เรามองว่าในเมื่อเขาเป็นลูกผู้ชายที่กล้าขอโอกาส เราก็ต้องกล้าเลือก และพอเขาเข้ามาทำงาน เราก็เห็นว่าสาธารณสุขมันโอเค มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เศรษฐกิจดีก็ชอบเขาแหละ
ตอนนั้นเราก็เปิดรายการ ‘ฟ้าเมืองไทย’ ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ฟังทุกวันก่อนนอน เขาก็พูดมีเหตุผลดี น่าฟัง จนเขาถูกปิดรายการและย้ายไปออกช่องสถานีดาวเทียม เราก็ยังตามไปฟัง ไปซื้อหนังสือนะ แต่พอเริ่มชุมนุม เขาให้เหตุผลข้อหนึ่งว่า ทักษิณตีตัวเสมอพระเจ้าอยู่หัว เพราะไปนั่งทำบุญในวัดพระแก้ว ซึ่งเราอยู่ในกลุ่มเพื่อนเซียนพระที่หลายคนเข้าไปทำพิธีในวัดพระแก้วเป็นปกติ เราก็ไม่เห็นว่าทักษิณจะต่างกับเหล่าเซียนพระตรงไหน เราก็ไม่เชื่อ ไม่ไปชุมนุม
ทีนี้น้องสาวเรา เขาเป็นสาวกทักษิณ และพอเขาเริ่มไปร่วมชุมนุม เราก็ต้องตามดู Peace TV ตลอด เพราะเป็นห่วงน้อง พอฟังไปฟังมาเหตุผลทางนี้ก็ใช้ได้ จนถึงตอนหลังที่มีการปราบกลุ่มผู้ชุมนุม น้องเรานัดเพื่อนไว้แต่ไม่กล้าไป เราก็เลยบอกว่า “ถ้านัดเพื่อนต้องไป ถึงต้องตายก็ต้องไป เพราะถ้าเพื่อนเป็นอะไรไป เธอจะโทษตัวเอง และเหมือนตายทั้งเป็นตลอดชีวิต” เขาก็เลยไป และด้วยความที่ห่วงน้องเราก็ตามดูทีวี แต่เขาก็ไม่เป็นไร และกลับมาได้
และตั้งแต่นั้น (พ.ศ.2552) พอปี พ.ศ.2553 เราก็บอกเขาว่า “ไม่ต้องไปหรอก เดี๋ยวฉันไปให้” เพราะน้องเขามีภาระมีครอบครัว แต่เราไม่มีครอบครัว แม่ก็ให้น้องสาวดูแลได้ ดังนั้น มีเราหรือไม่มีเราก็ไม่แตกต่างกัน พอเราไปก็ไปจองที่อยู่ตรงหน้าเวที และก็อยู่ตั้งแต่นั้นจนจบ
อีกประเด็นที่สนธิ และฝ่ายที่ไม่ชอบทักษิณ ยกขึ้นมาพูดในตอนนั้นคือ ‘ปัญหาคอร์รัปชั่น’ ตอนนั้นมองอย่างไร
เราก็ไม่เชื่อ เพราะตอนนั้นสภาก็มีฝ่ายค้านทำหน้าที่อยู่ ถ้าโกงจริงก็ต้องตรวจสอบได้ ต้องสาวออกมาได้
ตลอดระยะเวลาการชุมนุมคนเสื้อแดงมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง
ความรุนแรงในช่วงแรกออกมาในลักษณะของข่าวลือ เช่น มีคนเจาะห้องน้ำให้เป็นรู, มีคนถูกจับข่มขืน หรือข่าวลือน่ากลัวแบบ “คนไทยมี 60 กว่าล้านคน ตายไปสักแสนไม่สะดุ้งสะเทือนหรอก มาเท่าไรก็ตายเท่านั้น” ตอนนั้นเราก็ด่าพูดว่า ไม่เชื่อจะโหดร้ายขนาดนั้นได้อย่างไร
แต่หลังจากที่ เสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) ถูกยิงเสียชีวิตสถานการณ์ก็รุนแรงขึ้น <เสธ.แดงถูกสไนเปอร์ยิงที่บริเวณลิฟต์คนพิการทางเข้า MRT สถานีลุมพินี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2553 – ผู้เขียน> มีเสียงปืนและมีคนเข้าโรงพยาบาลอยู่เรื่อยๆ พร้อมกับข่าวลือว่า “เขาพร้อมให้ฆ่าแล้วนะ” ทีนี้มันก็มีทั้งผู้ชุมนุมส่วนที่กลับ และส่วนที่ไม่ยอมกลับ บางคนบอกว่าเดี๋ยวจะกลับแล้วนะ เพราะเป็นห่วงลูก แต่ก็วนกลับไปกลับมานี้อยู่สามสี่รอบ เขาบอกไปไม่ได้ เพราะเป็นห่วง เราก็ได้แต่บอกว่า “ไม่เป็นไร พวกฉันแก่แล้วจะอยู่ที่นี่เอง”
ตอนนั้นเราอยู่บริเวณหน้าโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้เห็นกับตาว่ามีการใช้กระสุนจริง แต่เห็นคนเจ็บที่ร่างชุ่มเลือดถูกหิ้วผ่านไปผ่านมาอยู่ตลอด
บรรยากาศวันสุดท้ายของการสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอย่างไร
วันนั้นพอแกนนำประกาศยุติการชุมนุม เราไปยืนด่าแกนนำว่า “ทำไมมาเลิกเอาตอนนี้ ทำไมไม่คิดให้เร็วกว่านี้ วันนี้มีเพื่อนเราตายแล้ว เรามาด้วยกันก็ต้องตายด้วยกันสิ” ตอนนั้นเรามองว่าถ้ายอมแพ้ เดี๋ยวต้องมีการตามเก็บแกนนำ การ์ด เพื่อนๆ เราคนอื่นอีกแน่ ซึ่งเราไม่อยากเห็นข่าวแบบนั้นอีกแล้ว สู้ตายไปด้วยกันวันนี้ ประกาศให้โลกรู้เลยว่ากูไม่อยู่กับมึงแล้ว
แล้วพอแกนนำประกาศยุติ คนเสื้อแดงคนอื่นก็เคลื่อนที่ไวหายไปหมดเลย นักข่าวก็เข้ามาถามเราที่นั่งอยู่ว่า “ทำไมไม่กลับ?” เราก็บอกว่าไม่กลับจะตายตรงนี้กับเพื่อนนี่แหละ เราก็บอกให้นักข่าวไปเถอะ
แต่พอถึงตอนเย็นทหารก็เข้ามาในพื้นที่และมาไล่เราให้กลับบ้าน ก็มีล่ามคนหนึ่งจากสื่อต่างประเทศมาตามให้เราออกไปด้วยกันทางถนนสีลม เขาบอกเราว่า “ป้ากลับเถอะ ทหารเขาก็ไม่ทำอะไรป้าแล้ว จะอยู่ตรงนี้อีกทำไม” เราก็ยอมเพราะถ้าขืนยังอยู่ตรงนี้ นักข่าวคนนี้ต้องตายไปกับเราด้วยแน่ เราก็เลยหนีบเสื้อยืดสีขาวไปเปลี่ยนแทนเสื้อแดงหลังเวที แล้วเดินตามเขากลับบ้าน
มีครั้งหนึ่งที่ป้าอ้อยไปพูดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ว่า “คนรุ่นใหม่ไม่สนใจบ้านเมือง ไปดูฮ่องกงแล้วยิ่งเสียใจ” มาถึงวันนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง
ตอนแรกเราดูจากหลานตัวเอง เพราะในขณะที่คนเสื้อแดงติดคุกหรือยากจน เขาก็ไม่เคยสนใจ เอาแต่เล่นเกม ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนเป็นไดโนเสาร์ที่กำลังจะตาย เราคิดว่าเคยจะตายเพื่อคนเหล่านี้เหรอ แต่ก็ช่างหัวมัน มันชอบอยู่อย่างนี้ก็อยู่ไป
แต่หลังจากนั้น กลุ่มผู้ลี้ภัยก็เริ่มขยับ เด็กก็เริ่มออกมาและขยายออกไป จากตอนแรกแค่ไม่กี่กลุ่ม แต่พอดูไปเรื่อยๆ พวกเขาเอาจริง ในกรณีวันเฉลิมก็เริ่มความคืบหน้าเป็นรูปธรรม เราก็มีกำลังใจ
แล้วพอมีการชุมนุมใหญ่ คนเสื้อแดงก็อยากไปร่วมแต่เราบอกว่า อย่านะ เพราะอาจมีคนที่แอนตี้คนเสื้อแดงอยู่ อย่าแสดงตัว เดี๋ยวมันจะกินแหนงแคลงใจ” แต่ด้วยความที่คนเสื้อแดงรู้ว่าหากลุกขึ้นมากระด้างกระเดื่องต่อรัฐแล้วมันอันตราย พวกเขาก็อดไม่ได้ที่จะไปร่วม
พอกลุ่มมันขยายใหญ่ขึ้น เราก็มีความสุขเลยขึ้นพูดวันนั้นว่า
“ถึงเราจะตาย เราก็ดีใจนะ เพราะเด็กไทยมีความคิด แยกแยะถูกผิดเองได้ แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็น และดีกว่าคนรุ่นเรา” หมายถึงว่าเด็กทุกคนเขามีความสามารถเฉพาะตัว พวกเขาสามารถเป็นแกนนำได้
ป้าเชื่อจริงๆ ว่าต่อให้แกนนำทุกคนถูกจับหมด คนอื่นๆ จะขึ้นมาแทนไม่ขาดสายพร้อมด้วยวิธีการใหม่ๆ ของพวกเขาที่เราตามไม่ทัน เราจึงไม่ห่วง และภูมิใจว่าอย่างน้อยเด็กไทยแสดงออกได้ดี
มาถึงทุกวันนี้ภาพคนเสื้อแดงในมุมมองคนรุ่นใหม่เปลี่ยนเยอะ รู้สึกอย่างไรบ้าง
คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นคนไทยโบราณ มันจะมีความซื่อสัตย์และใจอ่อน เวลาใครมาด้วยกันก็คือเพื่อนกัน ใครล้มไปก็ต้องช่วยกัน ที่จะวิ่งหนีแล้วทิ้งเพื่อนมันผิดวิสัยคนไทยโบราณ อย่างปี พ.ศ.2553 มีครั้งหนึ่งที่ศพของคนเสื้อแดงหายไป ช่วงนั้นในการชุมนุม คนเสื้อแดงก็เลยบอกกันว่าให้ถ่ายรูปคนเสียชีวิตไว้เป็นหลักฐาน มันจึงมีภาพไงว่าคนที่หนึ่งล้มไป คนที่สองเข้า คนที่สามเข้าเพื่อที่จะไม่ให้เอาศพเพื่อนเราไปปู้ยี่ปู้ยำ แล้วเขาตายครอบครัวเขาควรจะได้เห็น
ในขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงบางคนถูกดำเนินคดีและติดคุก แต่มีคนที่ย้ายไปอยู่อีกข้างหนึ่งเช่นกัน
ทุกคนก็รักชีวิต บางคนเราก็รู้ว่าเขาทำไม่ถูก แต่ในฐานะมนุษย์ธรรมดา อย่างน้อยเขาก็เป็นเพื่อนที่ผ่านความตายมากับเรา ตอนที่เขาเป็นแกนนำก็ทำดีที่สุดแล้ว ได้ยินมาว่าบางคนถูกถูกเอาขึ้น ฮ. ที่จอดอยู่ให้เหมือนกำลังบินและถีบลงมา จนเสียขวัญตั้งแต่ตอนนั้น แล้วจะเอาแบบนั้นเหรอ ใครๆ ก็รักชีวิต
การเป็นเสื้อแดงไม่ได้แปลว่าคุณจะถูกล่ามโซ่ให้เป็นทาส แล้วต้องทำแบบคนเสื้อแดงตลอดไป เมื่อใดที่คุณมีสิ่งที่ดีกว่าคุณก็ไปเลือกสิ่งนั้นได้ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องจิกใครกลับมาเป็นคนเสื้อแดง หรือไม่ใช่เรื่องที่จะต้องด่าส่ง แต่เป็นเรื่องปกติเมื่อเพื่อนมีอุดมการณ์ไม่ตรงกัน เราก็ต้องแยกทางกันเดิน
แสดงว่าไม่มีโกธรกันเป็นการส่วนตัว
ก็แค่ไม่พอใจ แต่ก็ไม่ได้จะไปฆ่าเขา แต่หากถึงเวลาที่ตัดเชือกว่าใครแพ้-ชนะ ถ้าเขากลับข้าง เราก็พร้อมเดินไปด้วยกันได้ แต่เวลาเขาร้ายมาเราก็ต้องด่ากลับ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ต้องไปอวย
แต่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ยังเป็นชาวบ้านที่มีหัวใจขาวสะอาด ยังคิดว่าการที่คนเสื้อแดงบางคนเปลี่ยนฝั่งคือการทรยศเพื่อน ความคิดเช่นนี้ต้องพัฒนา เราไปกำหนดไม่ได้ว่าใครดี-เลว มันแล้วแต่บทที่เขาเล่นในแต่ละช่วง อย่างป้าเวลาด่าก็ด่า แช่งก็แช่ง แต่ใจก็ไม่ได้อยากให้ใครเจ็บหรือตาย แต่เมื่อถึงเวลาเถียงกันก็ต้องเถียง
มาถึงตรงนี้ มองว่าคนเสื้อแดงควรออกมาร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างเต็มตัวหรือยัง
จริงๆ แล้วถ้าคนเสื้อแดงออกมาได้ เขาออกมาแล้ว อย่างป้าเองแต่ก่อนก็เดินไหว แต่ตอนนี้แค่เดินจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยมาสนามหลวงกลับมาก็ไข้ขึ้นแล้ว สังขารมันไม่ไหว แล้วเพื่อนที่เคยร่วมชุมนุมกับ นปช. คนอื่น ตายหรือป่วยไปไหนไม่ได้ก็เยอะ
ดังนั้น คนเสื้อแดงก็ควรยืนแบบที่ยืนอยู่คือ หนึ่งหากคุณไปร่วมชุมนุมไม่ไหวก็สู้ทางไซเบอร์ ด่าเข้าไป แชร์เข้าไป หากผิด และติดคุกก็ติดด้วยกัน เพราะอย่างเด็กที่อนาคตอีกยาวไกล เขายังยอมเสี่ยงเลย พวกเราอนาคตสั้นนิดเดียว ถ้าจะเสี่ยงก็เสี่ยง สองหากคุณมีแรง มีเงินก็เป็นหน่วยเสบียงให้เขา ช่วยกันสมทบเรื่องเงิน และสามเรื่องกองกำลังที่นัดไว้อย่าเอาไปยุ่งกับเด็ก ปล่อยให้อาชีวะเขาจัดการบริหารเอง ปล่อยให้เด็กชุมนุมแบบเด็ก จะหิ้วเป็ด หิ้วตุ๊กตาไป ผู้ใหญ่เป็นแค่กองหนุนให้เขาพอ
ตอนนี้ สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ มีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะที่หน้ารัฐสภา และสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ป้าอ้อยคิดว่าอย่างไร
ตอนนี้ที่คนรุ่นใหม่สู้มีเดิมพันสูงกว่าคนเสื้อแดง เพราะตอนที่คนเสื้อแดงสู้แค่เพื่อเปลี่ยนนายกฯ แต่เวลาที่ผ่านไป การต่อสู้ครั้งนั้นไม่จบสักทีไง คนเริ่มรู้ลึกถึงรากฐานของปัญหามากขึ้น
ถ้าเปรียบการเมืองเป็นตึกหลังหนึ่ง ตอนที่คนเสื้อแดงสู้เหมือนแค่ต้องการทาสี แต่เด็กกำลังรีโนเวตตึกทั้งตึก ฉะนั้นภาระเขาหนักกว่า เดิมพันสูงกว่า และความสูญเสียจะเยอะกว่า ซึ่งทุกคนต้องทำใจ
ถ้าพวกเขายังไม่พร้อมแกนนำของพวกเขาก็จะจบเหมือนแกนนำเสื้อแดง และมวลชนก็จะเจ็บช้ำเหมือนกับที่คนเสื้อแดงที่เคยได้รับ แต่ว่าถ้าพวกเขายังเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว มันอาจจะรุนแรง แต่ว่ามันจะแก้ไขทุกอย่างได้ หากจะรีโนเวตประเทศมันมีต้นทุนเยอะกว่า และทุนที่ลงก็คือชีวิตคน
ความตายของคนแต่ละรุ่นคือบันไดแต่ละขั้นให้คนรุ่นหลังก้าวเดินไปหาความสำเร็จ ป้าหวังว่าศพคนเสื้อแดงที่ผ่านมาจะเป็นบันไดให้เด็กไปคว้าดวงดาวได้ ทุกวันนี้คนรุ่นป้าควรจะรู้แล้วว่าอะไรดี-ชั่ว และทั้งคนที่เคยชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรหรือ กปปส. ก็ควรรู้ได้แล้วว่าอนาคตประเทศมันอยู่ที่การต่อสู้ครั้งนี้ของคนรุ่นใหม่
สำหรับป้าอ้อยแล้วประชาธิปไตยกับความยุติธรรมมีค่ามากใช่ไหม
มีค่าสิ เพราะถ้าไม่มีสองอย่างนี้ ขืนคุณไม่ตายวันนี้ก็ตายพรุ่งนี้อยู่ดี มันอยู่ที่เลือกว่าจะตายอย่างหมา หรือตายอย่างวีรบุรุษ
ทุกวันนี้ถ้าทหารตำรวจมีความคิดสักนิด ปฏิเสธทำตามในสิ่งที่ผิด เขาให้รัฐประหารก็อย่าทำ มันไม่ใช่หน้าที่ หรือให้สร้างสถานการณ์เพื่อให้การชุมนุมของเด็กดูรุนแรง เหมือนกับที่ทำกับคนเสื้อแดง ให้สังคมมองว่าคนเสื้อแดงเลว งี่เง่าและไม่มีเหตุผล เขากำลังจะทำให้เด็กอยู่ในสภาพแบบนั้น
แต่เขาลืมไปว่านี่มันไม่ใช่สงครามระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพพม่า ไม่ใช่ว่าแม่ทัพตายแล้วจะจบ นี่เป็นการเรียกร้องของคนในประเทศเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งพวกเขาออกมาด้วยความรู้สึกเหมือนกัน และเมื่อมีคนล้มไปก็จะมีอีกคนลุกขึ้นมาแทน เพราะเมื่อเขาออกมาอย่างนี้แล้ว จะให้กลับไปอยู่เหมือนหมู เหมือนหมาอย่างเดิมเขาคงไม่กลับหรอก
มองอย่างไรกับยุทธวิธีของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ คิดว่าจะสำเร็จหรือเปล่า
เด็กเขาต้องสันติวิธี เพราะเขาไม่มีกองกำลัง อาวุธ หรือนักฆ่า ถ้าคุณไม่ทำวิธีนี้จะทำวิธีไหน คุณจะเอาหนังกระติ๊กไปไล่ยิงอันธพาลเหรอ? มันเป็นไปไม่ได้ สันติวิธีเป็นทางเดียวที่สู้ได้ แต่การจะชนะหรือไม่ชนะมันอยู่ที่คนที่มาร่วม
เด็กๆ ต้องเข้าใจว่า ไข่จะไปกระแทกหินให้แตกได้อย่างไร? ยุทธวิถีของเด็กต้องมีจังหวะจะโคนของตัวเอง มีฟุตเวิร์กของตัวเอง เขามา-เราหลบ เขากลับ-เราแหย่