หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคคนละ 10 ปี ก็ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองไทยทะลุจุดเดือดมากขึ้น และยังคงเป็นที่จับตามองจากทั่วโลกต่อไปอีกว่า อนาคตต่อจากนี้ของอนาคตใหม่ และการเมืองไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป
The MATTER ต่อสายแบบเร็วๆ ไปถึง อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยถึงทิศทางต่อจากนี้ว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับการเมืองไทยได้มากน้อยแค่ไหน และเชื้อไฟจากการยุบพรรคจะนำไปสู่การรวมตัวชุมนุมสาธารณะในลักษณะของ ‘ม็อบเหลือง-แดง’ ได้ไหม
เบื้องต้น อ.สิริพรรณชวนให้เราไปดูคำวินิจฉัยของศาลก่อน ความผิดตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินครั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก เพราะไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้ามองกันแบบนี้แล้ว การตัดสินโดยใช้เพียง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีน้ำหนักเพียงพอถึงขั้นตัดสินยุบพรรคการเมืองได้หรือไม่
เพราะการรวมกลุ่มในลักษณะพรรคการเมืองไม่ได้เป็นเพียงการจัดตั้งของคนกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไว้ด้วยเจตจำนงของประชาชน หากศาลมองว่าพรรคมีความผิดจริงก็ควรจะเป็นการลงโทษหัวหน้าพรรคเป็นรายบุคคลไป การยุบพรรคครั้งนี้จึงนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า ธงในการตัดสินด้วยการยุบพรรคควรจะอยู่ตรงจุดไหนกันแน่
“การยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้เป็นเพียงการทำลาย 6.3 ล้านเสียงอย่างที่หลายๆ คนพูดกัน แต่มันคือการทำลาย 70 ล้านเสียงในการรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรใดๆ ที่เป็นเสรีภาพรับรองในรัฐธรรมนูญ คือหลายคนจะพูดถึง 6.3 ล้านเสียง ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แค่คนที่เลือกอนาคตใหม่ พอศาลยุบพรรคนี้กลายเป็นว่า พรรคอื่นก็อาจจะถูกยุบได้ มันคือเสียงของคนทั้งประเทศ เราจะขาดความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ โจทย์มันใหญ่กว่าที่ตอนนี้เถียงกันไม่ใช่แค่มิติเอกชน มิติมหาชน แต่มันคือการรับรองการรวมกลุ่ม”
ทว่า คดีความต่างๆ ยังไม่จบลงแค่นั้น แต่ยังมีการคาดการณ์กันต่อไปว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อาจโดนคดีอาญาต่อไปด้วยหรือไม่ ตามบทลงโทษของมาตรานี้มีให้เลือกระหว่างปรับ จำคุก และตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ซึ่ง อ.สิริพรรณมองว่า ควรเป็นการลงโทษด้วยการปรับ มากกว่าจำคุก หรือตัดสิทธิ์ทางการเมือง
แต่หากศาลเลือกตัดสินด้วยโทษอย่างหลังก็จะยิ่งเป็นไฟโหมกระพรือไปถึงชนชั้นนำ และความร้อนแรงของอุณหภูมิการเมืองไทยก็จะยิ่งระอุมากขึ้น ที่สำคัญ ธนาธรจะมีสถานะเป็น ‘ฮีโร่’ เหมือนกับที่พม่ามี ‘อองซาน ซูจี’ ความไม่เป็นธรรมทางการเมืองจะชัดเจนขึ้น และหากฝ่ายอนุรักษ์นิยมเลือกใช้มาตรการนี้ก็จะยิ่งเป็นการสร้างความโกรธแค้นให้กับสังคมมากขึ้นไปอีก
ส่วนในภาคประชาชน ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลงถนน-ก่อม็อบครั้งใหญ่มีเปอร์เซนต์มากแค่ไหน อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า เกิดขึ้นได้ยากจากหลายปัจจัยด้วยกัน ประการแรกคือ การขอชุมนุมในพื้นที่สาธารณะสร้างข้อจำกัดไว้เยอะมากจาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 รัฐคงจะใช้วิธีการกีดกันไม่ให้ชุมนุม และอีกด้านหนึ่งการรวมตัวชุมนุมครั้งใหญ่ก็อาจกลายเป็นเงื่อนไขหรือตัวแปรในการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของทหารก็ได้
แต่ถามว่า การก่อม็อบในระยะยาวแบบนั้นจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ขนาดนั้นเลยไหม เพราะฐานเสียงของอนาคตใหม่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง และจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนรุ่นใหม่ ถ้าเทียบกับม็อบทางการเมืองที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นวัยที่เลยวัยทำงานมาแล้วด้วยซ้ำ
ในลักษณะนี้จึงอาจจะนำไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ หรือหากมองไปถึงม็อบฮ่องกง ที่กลายเป็นโมเดลการชุมนุมให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่อาจารย์ก็ชวนมองลึกลงไปอีกว่า ถ้าจะมีการชุมนุมยาวๆ แบบนั้น ต้องกลับมาตั้งต้นก่อนว่า การชุมนุมครั้งนี้จะนำไปสู่อะไรได้บ้าง
ถ้าทำกันเป็นระบบส่งสัญญาณที่ต้องการไปถึงรัฐบาลหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็อาจจะมีผลสั่นสะเทือนได้ อาจจะไม่ได้เป็นม็อบขนาดใหญ่เหมือนการชุมนุมในปี พ.ศ.2553 หรือปี พ.ศ.2557 แต่ต้องเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ แบบต่อเนื่อง ต้องมีสารชัดเจนที่ส่งไปถึงชนชั้นนำ หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่หนุนฝ่ายรัฐบาลอยู่ ทำแบบนี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
ความท้าทายสำคัญมากกว่านั้นคือ อาจารย์ไม่อยากให้การชุมนุมหรือการเรียกร้องที่อาจจะเกิดขึ้นยึดโยงกับอนาคตใหม่มากเกินไป เพราะหากเป็นแบบนั้นแล้ว ข้อเรียกร้องหรือการยกประเด็นขึ้นมาในที่สาธารณะจะไม่นำไปสู่ทางออกได้อย่างที่ควรจะเป็น คนรุ่นใหม่ต้องมีข้อเรียกร้องที่เป็นวาระใหญ่กว่านั้น ต้องเรียกร้องที่ทางของเสียงตัวเอง เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองถูกยุบได้โดยง่าย และที่สำคัญต้องไม่มองการยุบพรรคเป็นเรื่องปกติ
“คนรุ่นใหม่ต้องมีพรรคการเมืองของตัวเอง ต้องยืนยันตรงนี้ และที่สุดแล้วต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงยืนยันเรื่องการยุบพรรค ต่อไปนี้เราจะต้องให้เหตุผลการยุบพรรคที่ไม่เป็นเหตุผลง่ายๆ เบาๆ แบบนี้ การรับรองการรวมกลุ่มพรรคการเมืองต้องบังคับให้จริง ไม่ใช่เอา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมาเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ควรใช้ตรงนี้เป็นประเด็นของการชุมนุม ไม่ใช่ชุมนุมเพื่อให้กำลังใจพรรคอนาคตใหม่ แต่ต้องเป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องการไม่ถูกยุบโดยง่าย”
“ต้องไม่จำกัดขอบเขตการชุมนุมเพียงประเด็นอนาคตใหม่ นี่ไม่ใช่เรื่องของคน 6.3 ล้านเสียงที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ แต่คือประชาชน 70 ล้านเสียง ถ้าเป็นการชุมนุมที่ยึดกับอนาคตใหม่เพียงอย่างเดียวสุดท้ายมันจะฝ่อไปเพราะคนจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้ชอบอนาคตใหม่ขนาดนั้น ถ้าจะชุมนุมวาระข้อเรียกร้องต้องใหญ่ มีน้ำหนัก และมีคุณค่าต่อวิถีทางประชาธิปไตย”
“คนรุ่นใหม่ต้องโกรธกว่านี้ ต้องลึกซึ้งกว่านี้” คือสิ่งที่ อ.สิริพรรณ มองว่า เป็นความท้าทายของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะตอนนี้คนจำนวนไม่น้อยมองว่า การถูกยุบพรรคกลายเป็นเรื่องปกติซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องปกติเลย ตลอดมาพรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอ และอนาคตใหม่ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ข้อเรียกร้องจากความโกรธจึงควรจะมองในภาพกว้างเพราะต่อไปไม่ว่าจะเลือกพรรคไหนก็อาจถูกยุบได้เหมือนกัน คนรุ่นใหม่ต้องตั้งคำถามกับชนชั้นนำและระบอบที่เป็นอยู่ว่า ถ้าเรามีพรรคการเมืองที่เป็นการแข่งขันพหุนิยม ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่อแบบใดสักวันอุดมการณ์หรือความเชื่อของคุณก็อาจจะถูกดีดนิ้วให้หายไปก็ได้ เราต้องสู้เพื่อรับรองการรวมกลุ่ม