“คนสมัยก่อนประหยัดมากถึงสร้างตัวมีบ้านมีรถไว ไม่ได้ซื้อกาแฟกินแก้วละร้อยกว่าบาท เสียค่าเน็ตฟลิกซ์แพงๆ เหมือนเด็กสมัยนี้หรอก…” หากลองนับครั้งที่ได้ยินคำพูดทำนองนี้เมื่อว่าด้วยเรื่องการเปรียบเทียบการสร้างตัวแล้วนั้น นี่อาจเป็นอีกหนึ่งในคำกล่าวที่เด็กจบใหม่ไปจนถึงคนวัยทำงานต้องเจอบ่อยพอสมควร
ยังไม่รวมถึงคำกล่าวหลายอย่างที่เราอาจได้ยินจากผู้ใหญ่บางท่านแปะป้ายมาว่า เพราะทำตัวอย่างนี้ไง เราถึงไม่ ‘เติบโต’ อย่างที่ควรจะเป็นสักที เช่น เด็กสมัยนี้ไม่มีความอดทน ย้ายงานบ่อย ทำไมไม่รู้จักเริ่มที่ตัวเอง บลาๆๆๆ นี่เองที่ทำให้ต้องกลับมาทบทวนว่า จริงๆ แล้ว เบื้องหลังเส้นทางประสบความสำเร็จหรือการสร้างตัวในชีวิตคนเรามันมีปัจจัยหรือเงื่อนไขตามอย่างที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนกล่าวไว้หรือไม่
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ถนอม เกตุเอม หรือพี่หนอม TaxBugnoms บล็อกเกอร์ นักเขียน ด้านการเงิน บัญชี และภาษีฯ มาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับความแตกต่างในการมองโลก การใช้ชีวิต และการสร้างตัวของคนรุ่นพ่อแม่และคนรุ่นใหม่ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่คนทั้งสองรุ่นพบเจอ ที่พอทำให้เราได้คำอธิบายว่าเหตุใดคนรุ่นเก่าไม่ควรเบลมคนรุ่นใหม่ในการสร้างตัว
ช่วยเล่าถึงความแตกต่างด้านรายได้และค่าครองชีพของยุคสมัยพ่อแม่จนถึงตอนนี้ให้ฟังหน่อย
ถ้าเริ่มตั้งแต่ตอนเด็กน้อยที่ยังไม่ทำงานเลย พี่รู้สึกว่าเงินต่อเดือนไม่ต้องเยอะก็ได้ สมมติพ่อแม่มีเงินเดือนสักหลักหมื่น พี่รู้สึกว่าเยอะมากแล้วนะ อย่างถ้าพ่อแม่มีเงินสักห้าหมื่นต่อเดือน พี่รู้สึกว่าบ้านเรารวย เพราะว่าด้วยรายจ่ายและค่าจ้างตอนนั้นไม่ได้แพงมาก
บ้านพี่เป็นสำนักงานบัญชี เมื่อก่อนจ้างคนทำงานที่มีประสบการณ์ประมาณนึง เดือนนึงก็ไม่ถึงหมื่น อาจเป็นเพราะค่าครองชีพถูกด้วย ก๋วยเตี๋ยวเรืออนุสาวรีย์ชามละห้าบาทอะไรอย่างนี้ ทุกอย่างไม่แพง เราไม่ต้องมีเงินเยอะก็ได้ พี่ได้ค่าขนมวันละไม่ถึงร้อย ก็รู้สึกเยอะมากแล้ว
พอโตมา พี่จบปริญญาตรี ทำงานสายอาชีพบัญชี สตาร์ทเงินเดือนหมื่นสาม (พ.ศ. 2546) ทำงานปีแรกรู้สึกว่าเงินเดือนสูง ใช้จ่ายเต็มที่ ตอนนั้นยังไม่มีความคิดเรื่องเงินหรือเรียนรู้การเงิน แต่ยังจำได้ว่าพอมีให้เงินแม่อย่างน้อยสามสี่พันบาท แล้วที่เหลือก็ใช้เองสบายๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าที่อยู่ด้วย
แต่พอมาถึงวันนี้ สมมติมีคนบอกว่าสตาร์ทเงินเดือนหมื่นห้า พี่รู้สึกว่าน้อยสำหรับเด็กนะ เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าเทียบกับราคาก๋วยเตี๋ยวนับตั้งแต่รุ่นพี่เป็นเด็กจนถึงวันนี้ มันเพิ่มตั้งกี่เท่า ค่าเช่าที่พักก็แพงระดับนึงสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่กับที่บ้าน แล้วด้วยความแพงระดับนึง หลายคนน่าจะมีความคิดประมาณว่า บางทีเราผ่อนคอนโดอาจคุ้มกว่า เพราะรู้สึกว่า gap ของเงินต่างกันนิดเดียวเลยยอมจ่ายมากขึ้น มันมีตัวล่อให้เราอยากจ่ายมากขึ้น เยอะขึ้น อย่างละหน่อยๆ
ถ้าพูดกันตรงๆ คือ สัดส่วนค่าแรงที่เพิ่ม มันไม่ได้เพิ่มแบบกระโดดไง ค่าแรงมันอาจเพิ่มขึ้นนิดเดียว ถ้าเทียบกับสกิลทั่วไป แบบหมื่นนึงเพิ่มเป็นหมื่นสี่ เพิ่มมาสี่พัน แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการเอาตัวรอดเพิ่มขึ้นเยอะมากเลย
ลองเทียบมูลค่าของสิ่งของต่างๆ ได้ไหมว่ากระโดดขึ้นมาประมาณไหน
โห ถ้านับเป็นเปอร์เซ็นต์ยากนะ คือมันเยอะขึ้นประมาณนึงโดยที่เราไม่รู้ตัว การใช้จ่ายของเราเปลี่ยนไป เมื่อก่อนยังไม่มีพวกสิ่งอำนวยความสะดวกมากขนาดนี้ อาจมีตัวเลือกคือรถเมล์ แท็กซี่ รถไฟฟ้าที่ยังไม่เยอะ พอตอนนี้มีรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้ามีสถานีเยอะขึ้น ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็แพงขึ้น บางทีไป-กลับก็เกือบร้อย ถ้าเทียบกับรายได้ที่เรามี บางทีมันไปจ่ายกับพวกนี้หมด
ถ้าถามว่ามีความต่างกันกี่เปอร์เซ็นต์ พี่ให้ประมาณ 50% ที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบความต่างสำหรับคนทำงานในใจกลางเมือง พี่ว่าเพิ่มขึ้นมาสองเท่าตัว (ถ้าพูดถึงคนที่ขับรถเอง ค่าน้ำมันตอนนั้นต่างจากตอนนี้มากไหม) ไม่ค่อยต่างกันมากนะ เพราะราคาน้ำมันยุคที่พี่ทำงานก็แพงประมาณนึงครับ แต่ตอนนี้เวลาที่ใช้บนท้องถนนมันมากขึ้นหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ค่อนข้างเปรียบเทียบยากครับ
ทำไมเด็กรุ่นนี้ถึงใช้เวลาสร้างตัวนานกว่าคนรุ่นก่อน ยกตัวอย่าง การเป็นเจ้าของบ้านสักหลังทำไมผ่อนนานกว่าเมื่อก่อน
มันน่าจะเป็นเรื่องของราคาอสังหาฯ ที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง บ้านที่เราอยู่กับพ่อแม่ละกัน สมมติเทียบราคาตอนที่พ่อแม่ซื้อกับตอนนี้ราคาก็ขึ้นใช่ไหม มันเป็นเรื่องของความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น แล้วก็ลักษณะการทำงานของคน คนทุกคนแห่เข้ามาทำงานในเมืองหลวง ดังนั้นก็จะแย่งพื้นที่การอยู่อาศัยในโซนใจกลางเมืองกัน ทำให้ราคายิ่งแพง สมมติจะซื้อคอนโดใจกลางเมือง ราคาก็ขึ้นตามความต้องการ เพราะว่ามันไม่ได้ขยายออกไปที่อื่น
อีกส่วนหนึ่งก็คือ เงินดือนหรือรายได้ไม่ได้เติบโตเพิ่มขึ้นตามราคาอสังหาฯ พอรวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายอื่นที่เพิ่มขึ้นด้วย ค่าครองชีพแพงขึ้นอีก เลยทำให้เราเหลือเงินมาผ่อนบ้านได้น้อย พอผ่อนน้อย ก็เลยต้องใช้เวลาผ่อนนานขึ้น ดอกเบี้ยก็แพงขึ้นไปอีก
ทีนี้มันก็บวกค่านิยมว่า คนเราต้องมีบ้านหรือเราควรจะมีอะไรเป็นของตัวเอง เราอาจจะเคยเห็นคอนเทนต์ประมาณว่า อายุ 30 หรือ 40 ต้องมีอะไรบ้าง พอเป็นแบบนี้ คนเลยรู้สึกว่าเราต้องมีเพื่อเป็นคนที่ไม่ตกเทรนด์ของสังคม
แล้วอย่างที่บอกไปว่ามีเรื่องต้นทุนอื่นที่เราไม่ได้คิดถึง อย่างถ้าเช่าหอต้องจ่ายแปดพัน แต่ถ้าผ่อนคอนโดจ่ายหมื่นสอง ต่างกันสี่พัน แต่จริงๆ แล้วมันมีค่าใช้จ่ายอื่นที่เราไม่ได้นึกถึงอีก หรือเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่นี่ตลอดไป แต่ตัดสินใจซื้อไปแล้ว อะไรพวกนี้อีก
ค่านิยมที่ว่าต้องมีสมบัติอะไรสักอย่างเป็นของตัวเองมาจากไหน
ส่วนตัวพี่รู้สึกว่า ผู้ใหญ่ในสมัยนึงมักจะมีค่านิยมสอนลูกประมาณนี้คือ ห้ามขายสมบัติที่บ้าน พ่อแม่ให้มา ลูกต้องรักษาให้ดี เป็นความคิดพื้นฐานก่อนที่ทำให้เรามองว่าต้องรักษาสมบัติไว้
พอมันมาอย่างนั้น จะเกิดความคิดต่อเนื่องว่า แล้วเราจะวัดความเจริญเติบโตของลูกหลานเราอย่างไรดี เราจะบอกได้ไงว่าลูกฉันเก่งเวลาไปคุยกับป้าข้างบ้าน เมื่อก่อนเราจะขิงว่า ลูกเรียนที่นี่ จบจากที่นี่นะ แต่พอลูกอายุสักสามสิบและทำงานมาตั้งนานแล้ว ยังไม่เห็นมีอะไรเลย ก็จะเกิดคำถามทำนองว่ามีครอบครัวหรือยัง ถ้ามีแล้วอยู่กันยังไง ไม่มีบ้านอยู่จะดูแปลกไหม หรือถ้าเกิดเช่าบ้านอยู่ ก็จะเกิดคำถามว่าทำไมถึงเช่าล่ะ ซึ่งมันไม่ได้เป็นปัญหาเลยนะ แต่คนนั่นแหละที่ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา หรือบางทีการอยู่กับครอบครัวมันมีความกดดันหลายอย่างที่อยากให้เราออกมาอยู่ด้วยตัวเองด้วยก็อีกส่วนหนึ่ง
ปัญหาต่อมาของคนรุ่นใหม่ก็คือ ความกดดัน อย่างเราเรียนจบมา มีหน้าที่การงานแล้ว เราจะเปรียบเทียบกับอะไรสักอย่างที่บอกว่า ชีวิตที่ดีมันต้องมีประมาณนี้ คนรอบตัวหรือเพื่อน ๆ เราเขาไปถึงไหนแล้ว เรายังไม่มีเลย แล้วยุคนี้มันเห็นกันง่ายผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กอีก ซึ่งจริงๆ คนแต่ละคนมันมีจุดสตาร์ทไม่เหมือนกัน ดอกไม้แต่ละดอกยังบานไม่เท่ากันเลย มันมีช่วงเวลาของตัวเอง พอเราลืมคิดตรงนี้ไป ความกดดันมันก็ยิ่งมากขึ้นเข้าไปอีก
ทำไมเด็กรุ่นใหม่ถูกมองว่ามีพฤติกรรมฟุ่มเฟือย ใช้เงินเกินตัว ยกตัวอย่าง กินกาแฟสตาร์บัค จ่ายเงินค่าเน็ตฟลิกซ์
พี่ว่ามันเริ่มจากคุณสมบัติของคนยุคเก่าที่ว่า คนที่จะเก่งคือคนอดทน อดออม ตั้งใจ เมื่อทำได้จุดนึงจะประสบความสำเร็จได้แน่ๆ อารมณ์แบบความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ดังนั้น เธอต้องพยายาม เธอต้องอดทนกับสิ่งที่มันเคี่ยวกรำ เพื่อให้เธอแข็งแกร่ง แล้วสุดท้ายวันนึงความพยายามของเธอจะพาเธอไปสู่จุดหมาย แต่บางทีมันไม่ได้เป็นแบบนั้นตลอด เพราะมันมีคนที่พยายามแล้วไม่สำเร็จก็มี แต่เขาไม่ได้มีสิทธิออกมาพูด เพราะไม่มีใครฟัง
ยิ่งตอนนี้ ความสุขของคนยุคนี้ไม่ได้อยู่ที่ความอดทน ถ้าพูดแบบสุดโต่งหน่อยก็คือ เราเห็นคนที่อายุมากกกว่าเรา อดทนพยายาม ใช้ชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ได้มีชีวิตดีหรือมีความสุขไปกว่าเราด้วยซ้ำมั้ง เพราะฉะนั้นเลยมีความคิดขึ้นมาว่าลองใช้ชีวิตไปด้วยได้บ้างไหมวะ
มันน่าจะเป็นความรู้สึกว่า ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่ไปรอความสุขบั้นปลายอย่างเดียว คุณควรมีความสุขในระหว่างทาง
ก็เลยมีแนวคิดแบบ YOLO คนเราเกิดมาครั้งเดียวใช้ชีวิตให้คุ้ม มันก็เป็นอะไรที่ควรจะค่อยๆ เริ่มคิด เริ่มทำ คนรุ่นใหม่เขาเห็นแบบนี้แล้วแฮปปี้ เพราะบางเรื่องถ้าเราอายุเกิน 30 หรือมีลูก ก็ทำไม่ได้แล้วนะ
แต่ว่าคนรุ่นเก่าที่ไม่เปิดรับ เขามีความรู้สึกว่า ฉันไม่เคยทำแบบนี้แล้วเธอจะมาทำได้ยังไง มันก็เลยไปขัดความรู้สึกเขา จะรู้สึกว่าทำไมเด็กรุ่นนี้ถึงทำ คิดอย่างนี้ได้ยังไง แล้วต่อไปจะอยู่ยังไง ถ้าไม่ทำงานบริษัท ไม่หางานมั่นคงจะอยู่ยังไงประมาณนี้
พอคนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับการใช้ชีวิตให้มีความสุขแล้ว ก็จะต่อไปถึงเรื่องที่ว่าพอทำงานไปแล้วไม่ใช่ก็ลาออก เกิดเป็นคำกล่าวอีกว่า เด็กรุ่นใหม่ทำงานไม่ทน
ใช่ๆ คือคำว่าไม่ทนอาจพอเข้าใจได้สำหรับคนพูดที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือได้รับผลกระทบจากการทำงานกับเด็กบางคน เพราะคนที่ไม่ทนจริง ๆ มันก็มี แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ข้างนอก แล้วไปเห็นเด็กมันเปลี่ยนงานบ่อย โดยที่ไม่ได้สัมผัสเอง เราจะรู้ได้ไงว่าเด็กไม่ทน มันอาจจะทนเต็มที่แล้ว แต่ทนไม่ได้
พี่คิดว่ามันเป็นความคิดเหมารวมหน่อยๆ ว่า สิ่งที่เด็กทำขัดกับเราแปลว่าเด็กมันไม่ดี คิดไม่เป็น เพราะว่าสิ่งที่ฉันให้คุณค่าวันก่อน แต่วันนี้เธอไม่ได้ให้คุณค่าตรงนั้น วันนี้เด็กๆ ไม่ได้ให้คุณค่าในสิ่งที่ผู้ใหญ่เคยให้ พอมันเป็นแบบนั้น เขาก็เลยจะพยายามต่อต้านเรื่องพวกนี้ว่า เห็นไหม ฉันอดทน ฉันถึงมีวันนี้ เธอไม่อดทน เธอเลยไม่มีวันนี้ ก็เป็นความย้อนแย้งเพื่อประคับประคองความมีตัวตนของเขาอีกทางหนึ่ง
ซึ่งจริงๆ ทุกคนอดทนต่องานได้ถ้าเป็นสิ่งที่เขาชอบหรือรักมัน ไม่งั้นจะมีคำอย่าง Passion ขึ้นมาได้ยังไง
มีจุดตรงกลางที่ทำให้ใช้ชีวิตให้มีความสุขและเก็บเงินได้เยอะๆ ไหม
พี่ว่ามันต้องดูจากความสามารถของเรา หมายถึงว่า ชีวิตเราเจออะไรมา เราถึงใช้ชีวิตแบบนี้ ลองเทียบแบบสุดโต่งนะ สมมติพี่อายุ 20 หาเงินเก่งและหาได้เยอะมาก จะมาห้ามไม่ให้พี่กินสตาร์บัค ห้ามพี่ทำอะไรพวกนี้ทำไม หาเงินได้เยอะขนาดนี้ พี่ควรมีสิทธิใช้
แต่ว่าถ้าคุณมีความสามารถไม่เยอะพอ แล้วคุณไม่สามารถจะสู้ได้ สุดท้ายก็ต้องกลับมาดูว่าความสามารถของเราไปถึงแค่ไหน คือจุดคำว่าความสุขในการใช้ชีวิตมันไม่มีเส้นที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องกินสตาร์บัคถึงจะมีความสุข ตัวเราเองต้องดูว่าเรามีความสุขกับอะไร แล้วความสามารถเราไปที่ไหน
จุดนึงที่พี่ว่าสำคัญคือ จุดที่เราไม่ทำให้คนอื่นลำบากและทำให้ตัวเองสบายในอนาคตได้ด้วย จุดนี้เป็นจุดที่เราต้องหาให้เจอ จุดที่ไม่ทำให้คนอื่นลำบาก หมายความว่า เรามีชีวิตต้องใช้ แต่จะใช้แต่เงินของคนอื่นแบบนี้ก็ไม่ใช่ ถ้าคุณเป็นผู้ใหญ่ คุณก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง รับผิดชอบตัวเองได้ไหม ถ้าได้มันก็ไม่มีอะไรผิด
แต่ถ้าคุณใช้ชีวิตที่ต้องการในตอนนี้ แล้วมองเห็นตัวเองลำบากในอนาคต แบบนี้ก็อาจจะไม่ถูกต้องเหมือนกัน มันก็ต้องเผื่อไว้ด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าวันหนึ่งเราจะกลายเป็นคนที่เราเกลียดหรือเปล่า
โดยส่วนตัวมองว่า มันไม่มีทางที่จะสบายไปด้วย มีเงินเก็บไปด้วย คือชีวิตคนเราไม่ได้ง่ายแบบนั้นอยู่แล้ว แต่ว่ามันจะมีจุดที่คุณพอใจกับมันได้ประมาณนึง ก็หาจุดนั้นให้เจอ แล้วก็ประคองมันให้ดี
ควรเก็บเงินเท่าไหร่ให้พอในการไปใช้ชีวิตหลังเกษียณ มีจุดตายตัวไหม
มันอาจจะเป็นคำว่า ‘แล้วแต่คน’ ส่วนนึง แล้วก็มีเส้นที่พอจะไปได้ส่วนนึง สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดก่อนคือ เราต้องคิดภาพตัวเองหลังเกษียณว่าจะมีชีวิตยังไง ใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าเราไม่มีเส้นนั้นเราจะบอกไม่ได้ เช่น พี่คิดว่าถ้าพี่จะเกษียณ พี่ต้องมีสิบล้าน แปลว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงจุดที่พี่อายุ 60 พี่ต้องเก็บเงินให้ได้สิบล้าน แล้วก็ค่อยหาวิธีการไปให้ถึงจุดนั้น ก็ไปศึกษาหาความรู้การเงิน สร้างรายได้ เข้าใจการลงทุนอะไรแบบนี้
ถ้าไม่รู้ว่าต้องมีเท่าไหร่ตอนนี้ อย่างน้อยก็ควรจะสร้างวินัยบางอย่างขึ้นมาให้ตัวเอง เช่น มีเงินหรือรายได้เท่านี้จะเก็บเท่าไหร่ สักกี่เปอร์เซ็นต์ดี จะเอาไปลงทุนกับอะไร เพื่อไปให้ใกล้กับสิ่งที่เราจะไปถึงในวันนั้น แต่ว่าวันนี้ฉันสร้างวินัยไว้ก่อน แล้วก็ค่อยๆ เพิ่ม ต้องกล้ายอมรับความจริงว่าเราไปได้แค่ไหน อย่างวันนี้เราหาเงินได้เท่านี้ แต่อยากใช้เยอะกว่านี้ แปลว่าคุณต้องหาเงินเพิ่มอยู่แล้ว ต้องดูว่าจะหาจากอะไร ซึ่งมันก็จะวิ่งกลับไปที่เรื่องความสามารถที่คุณสั่งสมมาตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้ คุณมีอะไรจะไปทำมาหากินได้บ้าง
หรือเราอาจตั้งโจทย์ว่าจะไม่เลิกทำงานก็ได้นะ สมมติว่าเราจะทำงานไปเรื่อยๆ ก็ต้องหาอาชีพที่ทำได้ตอนแก่ ที่จะทำให้เรามีรายได้ได้ตลอด ก็อาจต้องไปมอง career path ว่าถ้าฉันอยากมีชีวิตที่ดี ไม่ต้องเก็บเงินมากๆ ตอนนี้ ก็ต้องหาอาชีพที่พอจะมั่นคงระดับนึง ซึ่งความจริงก็ไม่รู้ว่ามันจะมั่นคงหรือเปล่า
สุดท้ายมันมีจุดที่เราต้องคิดเป็น option ในชีวิต มันไม่ใช่เส้นตรงอย่างเดียวว่า ฉันต้องมีเท่านี้แล้วฉันจะพอ เพราะถ้ามันเกิดเหตุการณ์นึงเข้ามา ชีวิตคุณก็เปลี่ยนแล้ว
คิดยังไงกับประโยคที่ว่า ‘ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเอง’
มันทำไม่ได้ทุกอย่างอยู่แล้ว สมมติว่าประเทศเรามีสวัสดิการเงินผู้สูงอายุที่ดี มีค่ารักษาพยาบาล สวัสดิการที่ดีกว่านี้ บางทีเราอาจจะไม่เห็นการใช้คำว่ากตัญญูฟุ่มเฟือยขนาดนี้ ไม่ต้องบอกว่าลูกทุกคนมีหน้าที่ทดแทนบุญคุณเลี้ยงดูพ่อแม่เพราะเขาทำให้เราเกิดมา เราจึงต้องดูแล
ลองคิดภาพพ่อแม่ที่มีเงินเกษียณที่รัฐสนับสนุนพอประมาณที่ตัวเองจะอยู่ได้ จะมีสิทธิรักษาพยาบาลประมาณนึงที่เขาโอเคจากการจ่ายภาษีที่ถูกต้อง พอเป็นอย่างนี้ เงินที่ลูกต้องเผื่อไว้ดูแลพ่อแม่ ก็อาจจะเอาไปทำอย่างอื่น ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เราเริ่มที่ตัวเองไม่ได้ แต่ต้องให้คนที่มีอำนาจหรือคนที่เกี่ยวข้องเริ่มด้วย
หรืออย่างบ้านเราก็เหมือนกัน ถ้าในบ้านเรา พ่อเราเป็นคนใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย เราจะเริ่มที่ตัวเองยังไง มีเท่าไหร่พ่อเอาไปหมด เราจะเริ่มยังไง ต้องหนีออกจากบ้านเหรอ คือบางทีบางปัญหามันไม่ได้แก้ที่ตัวเอง
แต่ถามว่ามีปัญหาแก้ที่ตัวเองก่อนได้ไหม คำตอบคือมี อย่างเรื่องการทำงาน การใช้เงิน อย่างนิสัยการใช้เงินเริ่มที่ตัวเองได้ หรือการดูแลจัดการชีวิตของตัวเอง แต่การเก็บเงินของคนเราไม่ได้มีปัจจัยแค่วินัยการใช้เงินของตัวเอง มันจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาด้วย อย่างบางคนเริ่มทำงานต้องช่วยแม่จ่ายหนี้ด้วยแล้ว พอเป็นแบบนี้ จุดสตาร์ทของคนสองคนก็ไม่เท่ากันแล้ว ต่อให้เรียนเก่งเท่ากัน ทำงานที่เดียวกันก็เถอะ
ส่วนเรื่องที่ว่าคนเรามี 24 ชม. เท่ากัน พี่แย้งขาดใจเลยนะ บางคนมีคนขับรถขับรถให้ บางคนนั่งรถเมล์ เอาแค่คนนั่งรถเมล์ 24 ชม. ของเขาก็ไม่เท่ากันแล้ว คนที่มีโอกาสหรือทรัพยากรที่มากกว่าย่อมบริหารเวลาได้มากกว่า แต่ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่มีก็ไม่ต้องพัฒนาตัวเองนะ เพียงแต่มันไม่ใช่แค่บอกว่าพูดแบบนี้แล้วจบ
ในมุมนึง คำพูดแนวๆ นี้มันเป็นคำพูดที่คนพูดอาจไม่คิดที่จะแก้ปัญหาอะไรเลยก็ได้ เพราะเขาแก้ที่ตัวเองแล้วรอด คือเรามีความเชื่อแบบไหน เพราะเราเห็นแบบนั้น สมมติพี่ต่อสู้ชีวิตแล้วรอด ก็จะคิดแล้วว่า ตัวเราสำคัญมากนะ เพราะวันที่เราแย่ ตัวเรานี่แหละที่พาตัวเองไปรอด ซึ่งไม่ผิดนะ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการคิดของเราเมื่อใช้กับทุกคนมันจะฟิตอิน ทุกคนมีข้อจำกัดของแต่ละคน
คิดว่ารัฐสวัสดิการบ้านเรายังขาดสิ่งไหนบ้าง แล้วถ้าสิ่งนั้นมีขึ้น จะช่วยให้การทำงานหรือการสร้างตัวของคนในประเทศไม่ต้องลำบากได้ไหม
อันนี้มองในเรื่องของการเงิน สิ่งที่ทุกคนควรจะเห็นก็คือ เมื่อคุณทำงานถึงจุดนึง เสียภาษีให้กับรัฐอย่างถูกต้องจนถึงจุดนึง สิ่งที่คุณได้จากรัฐในวันที่คุณไม่มีรายได้ มันไม่น่าจะเป็นเงินผู้สูงอายุหกร้อยบาทน่ะ จากประกันสังคมอีกสามพันกว่าบาท มันควรจะเป็นโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมที่แบบอยู่ได้กันจริง ๆ
ทุกอย่างมันควรจะดีในจุดที่ทำให้คนรู้สึกว่าเมื่อแก่ตัวไปแล้ว ฉันไม่ต้องไปพึ่งลูกหลาน คนหลายคนมีลูก เพื่อที่จะบอกว่าให้ลูกเป็นคนดูแลเรา
แต่ถ้ารัฐดูแลเราดี เราจะรู้สึกว่าลูกไม่จำเป็นต้องดูแลเรา ความคาดหวังในตัวลูกเราจะน้อยไปด้วย
รู้สึกว่าสิ่งพวกนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เขาเก็บเงินแล้วเขาได้อะไร เขาจ่ายภาษีแล้วเขาได้อะไร นโยบายที่เป็นรูปธรรมอาจจะไม่มีหรอก อาจจะไม่ได้เห็นถนนดีๆ ก็ได้ แต่อย่างน้อยรู้ว่าแก่ไปมีเงินบำนาญสักนิดนึงไหมที่จะได้
บอกเขาไปเลยว่าต้องเก็บ (ภาษี) เพื่อที่คุณจะได้มีแบบนี้ บางทีมันอาจจะเป็นรูปธรรมที่เราเห็นภาพแล้วอาจจะทำให้คนยอมจ่ายภาษีมากขึ้นก็ได้นะ