“แซม สาแมท” ชื่อนี้พ่อและแม่ไม่ได้ขอมาจากพระชั้นผู้ใหญ่ หรือเปิดพจนานุกรมเจอแล้วเอามาตั้งให้กับเขา แต่มันเป็นชื่อที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งขึ้นมาหลังบุกค้นบ้านเขาต่างหาก
แซม สาแมท เกิดในครอบครัวที่พ่อและแม่แยกทางกันตั้งแต่เด็ก พ่อเป็นคนไทย ขณะที่แม่เป็นแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา เขาไม่เคยมีเอกสารยืนยันความเป็นไทย ไม่เคยมีบัตรประชาชน ไม่ได้รับสวัสดิการ ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่สามรถซื้อได้แม้กระทั่งซิมโทรศัพท์ เขาคือ “คนไร้สัญชาติ” ที่เกิดและโตที่ไทยมา 20 ปี
การไม่ถูกนับจากรัฐไทย คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขาออกมาชุมนุมและถูกคดีความติดตามมาคล้ายเงาตามตัว ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน, ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, และเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น
96 วันคือระยะเวลาที่นักเคลื่อนไหวกะเทยไร้สัญชาติรายนี้อยู่ในเรือนจำทั้งที่ยังเป็นเพียงผู้ต้องหา เช่นเดียวกันอีกหลายพาร์ทในชีวิตเขาที่ถูกตัดสิน กีดกัน และไม่ยอมรับไปก่อนแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ทันเอ่ยปากพูดเสียด้วยซ้ำ
รู้สึกอย่างไรบ้างที่เป็นคนไร้สัญชาติในผืนดินที่ตัวเองอยู่มามากกว่า 20 ปี
ตอนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เรารู้สึกว่ามันแย่มาก (ลากเสียง) มันมีแต่คนถามว่า “ไม่มีบัตรประชาชนได้อย่างไร?” แล้วพอเราจะต้องติดต่อราชการก็จะถูกใช้คำว่า “ต่างด้าว” คำว่าต่างด้าวจะถูกใช้มากที่สุดในระบบราชการ ผมเลยรู้สึกว่าถูกบูลลี่จากคนและระบบราชการมากกว่าประชาชนทั่วไป และเรายังเป็น LGBT ด้วย มันเลยหนักมาก มันเหมือนการด้อยค่าตัวเราตลอด
มันเป็นสถานะที่ซับซ้อนมากๆ เลยเนอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศนี้
ใช่ มันซับซ้อนมาก คือเขาก็พูดเลยว่า “เฮ้ย! เป็นต่างด้าว มึงจะไปเรียกร้องอะไรกันนักกันหนา” อย่างตอนโดนจับเข้าไปที่เรือนจำเนี่ยหรือที่ สน. เนี่ย เราจะโดนแบบนี้บ่อยมาก
การที่เราไม่มีสถานะเป็นคนไทย เป็นเรื่องใหญ่มากไหม เราเผชิญปัญหายังไงบ้าง
เรื่องใหญ่มาก (ลากเสียง) ทุกคนอาจคิดว่า โถ่ มันแค่กรีนการ์ดใบเดียว แต่สำหรับเราที่ไม่เคยมี มันคือเป็นความเป็นตัวตน ความเป็นคนอยู่บนแผ่นดินไทย มันเป็นบัตรที่บ่งบอกว่าเราเกิดมาบนแผ่นดินไทยนี้นะ
แล้วง่ายๆ เลย ทุกวันนี้เราจะซื้อซิมการ์ดอันเดียวยังก็ซื้อไม่ได้ ทำอะไรที่เป็นของตัวเองก็ไม่ได้ เราก็ต้องให้เพื่อนทำให้หมด แล้วตอน ป.3 เราต้องออกจากโรงเรียนอะ ไม่ได้เรียนหนังสือเพราะโรงเรียนบอกว่าเราไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน
คือเราต้องเล่าก่อนว่าพ่อเราเป็นคนไทย แม่เป็นต่างด้าว สองคนแยกทางกันตั้งแต่เราเด็ก แล้วแม่จะมีแฟนเยอะมาก ตอนนั้นประมาณ 6 – 7 ขวบ เราย้ายจากสมุทปราการมาอยู่สระแก้วกับแฟนใหม่ของแม่ ตอนนั้นเราก็ยังเด็ก ยังไม่รู้เลยว่าเขาคือผัวใหม่แม่ อยู่กันมา 3-4 ปี แฟนใหม่แม่บอกว่าเราไม่ใช่ลูกเขา และเขาก็ไม่สามารถรับรองสัญชาติให้ได้ ตอนนั้นเราเลยยิ่งน้อยใจ ร้องไห้ จนกินพยายามฆ่าตัวตายครั้งหนึ่งนะ เพื่อที่จะบอกว่าเราน้อยใจ ทำไมเราเกิดที่นี่แล้วถึงไม่มีสัญชาติไทย น้อยใจพ่อแม่ว่าทำไมถึงแม่ไม่ไปเอาสัญชาติให้ตั้งแต่ตอนเกิด แล้วแม่เลิกกับพ่อทำไม ตอนนั้นเราไม่เข้าใจอะไรเลย
หลังจากที่ออกจากโรงเรียนตอน ป.3 ทำอะไรต่อหลังจากนั้น
ตัดอ้อย เผาถ่าน ขายของ ขายส้มตำ รับจ้างล้างจาน ทำผม เยอะแยะ แต่พี่รู้ไหมสุดท้ายมันก็ไม่ยังลำบากอยู่ดี
สมมติว่าพี่เป็นเจ้าของบริษัทหนึ่ง พี่จะกล้ารับแซมเข้าทำงานไหม บัตรประชาชน ทะเบียนบ้านอะไรก็ไม่มี มันไม่มีใครกล้ารับอยู่แล้ว เพราะผิดกฎหมาย แล้วจะให้แซมไปรับจ้างตัดอ้อย ปลูกมันงี้หรอ พี่รู้ไหมตัดอ้อยได้วันละกี่บาท 120 บาทนะ เผาถ่านได้ 100 บาท พี่เข้าใจไหมว่าแซมอยากมีชีวิตที่เหมือนคนปกติมากกว่านี้อะ
ช่วงหลังมานี้ ภาครัฐไทยก็พยายามรณรงค์ให้คนไร้สัญชาติในไทย เข้ามารับสัญชาติได้ เราเคยไปคุยกับภาครัฐ เช่น อำเภอในเรื่องนี้หรือยัง
เคยคุยหลายรอบมาก แต่เขาบอกว่าไม่สามารถช่วยได้ ยกเว้นจะมีพ่อแม่มายืนยันตัวตน ดังนั้น สำหรับแซมมองว่ามันไม่จริง ภาครัฐไม่เคยที่สนใจเรื่องคนไร้สัญชาติเลย มองข้ามตลอด ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนขึ้นมาก็เหมือนกัน พวกเขาคงไม่เคยคิดว่าเรามีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้ด้วยซ้ำ
อยู่เมืองไทยมา 20 กว่าปี แต่ไม่รับสัญชาติไทย ไม่ได้สวัสดิการ ไม่ได้อะไรสักอย่างเลย เคยคิดไหมว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านตัวเอง
ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากอยู่หรอก แต่ในเมื่อเราเลือกเกิดไม่ได้ เรามีเชื้อชาติไทยแล้ว เราต้องสู้กับอำนาจแบบนี้ไป เราเลยเลือกที่จะสู้ บางทีเราแค่อยากให้รัฐเห็นว่าพวกเราเป็นคนบ้าง ทุกวันนี้ไม่เคยได้ความเป็นคนเลย ตลอดเวลา 20 ปีนี้ไม่เคยมีภาครัฐคนไหนที่แบบออกมาเยียวยาพวกเรา แซมเชื่อว่าในไทยยังมีคนไร้สัญชาติอยู่เยอะแยะมากมาย และภาครัฐรู้แต่เขาไม่สนใจ เขานึกว่าไม่มีค่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะช่วยเหลือ
ตลอดชีวิตแซมจะโดนตีตราว่าตลอดว่า “ไร้การศึกษา” ซึ่งมันก็ถูกต้อง เราก็ไร้การศึกษาจริง เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะว่าเราไม่มีบัตรประชาชน บัตรใบเดียวมันบ่งบอกได้ว่าคนเป็นคนอะ ถ้าไม่มีก็กลายเป็นแบบมองเราเป็นตัวประหลาดทันที
ประเทศไทยต้องอย่ามโนว่ามีเสรีภาพและความเท่าเทียม ไม่จริง! เป็นไปไม่ได้! ตอแหล! รัฐออกมาพูดว่า “โอ๊ย ความเท่าเทียมคือฉันให้คุณค่ากับพวกเธอ” ไม่จริง! ฉันเกิดมาในเมืองไทยนี้มา 20 ปีแล้วฉันยังไม่เห็นว่ารัฐให้คุณค่ากับฉันเลย
อะไรเป็นจุด trigger ให้แซมเริ่มสนใจการเมืองจนออกมาเคลื่อนไหว
วันนั้นเราเห็นภาพธงสีรุ้งบนสกายวอร์ค (สยาม) ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักเลยว่า LGBT คืออะไร แล้วธงนั่นคืออะไร แต่แซมสะกดได้คำหนึ่งว่า สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม ซึ่งตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยได้รับสิ่งเหล่านี้จากรัฐเลย เราก็ตั้งคำถามว่ามันจะมีจริงได้หรอ แต่เราก็ตัดสินใจออกมาชุมนุมเลยตั้งแต่วันนั้น
การตัดสินใจออกมาชุมนุมทำให้แซมต้องลาออกจากงานที่ร้านทำผมเลยนะ ที่ทำงานเขาบอกว่า “ถ้าไปชุมนุมก็ไม่ต้องทำงานนี้” ซึ่งมันชัดเจนเลยว่าเขากลัวอำนาจจากภาครัฐเนอะ ซึ่งตอนนั้นแซมคิดว่า ถ้าเกิดฉันออกจากงานนี้ (งานทำผม) แล้วมันทำให้ฉันมีตัวตน ฉันก็ขอไปตรงโน้นดีกว่า
เหมือนเราตัดสินใจพนันหมดหน้าตักเลยนะ เพราะถ้าเกิดแพ้ขึ้นมาก็จะไม่เหลืออะไรเลย
ถูกต้องอยู่แล้ว ถ้าเกิดแพ้ คือชีวิตก็จะจบเลย ไม่เหลืออะไรเลย แต่มองอีกด้านหนึ่งว่า การมีคดีความมันทำให้เรามีตัวตน คือคุณอยากได้ข้อมูลฉัน คุณก็มาให้ฉันปั๊มลายนิ้วมือสิ แซมรู้สึกว่านี่คือการมีตัวตน เพราะเมื่อก่อนคนจะไม่รู้ว่าแซมเป็นใคร แต่พอถึงวันที่ฉี่ใส่หัวตำรวจปุ๊บ (ม็อบ 28 กุมภาพันธ์ 2564) พรุ่งนี้เช้าคือมีตัวตนเกิดขึ้นบนทวิตเตอร์เลย “เฮ้ย! เด็กคนนี้เป็นใคร” ตำรวจก็สนใจบอกไปหาตัวมันมาสิ
มันคือความตลกของรัฐเนอะ มันจับและแจ้งข้อหาเราได้ ยัดเข้าคุกได้ แต่ไม่สามารถออกสัญชาติให้เราได้ มันคือความพังพินาศของรัฐ แล้วสรุปกูต้องเสียใจหรือดีใจที่การติดคุกทำให้เรามีตัวตนขึ้นมา
แซมเข้าไปในเรือนจำนานถึง 96 วัน การเป็นคนไร้สัญชาติทำให้เราได้รับการปฏิบัติแตกต่างไปไหม
แซมมองว่ามันคือการต่อสู้ ข้างในเราจะถูกข้าราชการไทยมองว่า มึงเป็นกะเทย มึงเป็นคนไร้สัญชาติ แล้วมึงจะเอาไรนักหนากับสิทธิและเสรีภาพ เขาจะบอกว่ามึงเป็นต่างด้าว บัตรประชาชนก็ไม่มี แล้วยังมาทำตัวแบบนี้อีก เอาตัวเองให้รอดก่อนไหม สิทธิเสรีภาพที่เรียกร้องน่ะมันไม่มีอยู่จริงหรอก
เราก็เลยสวนกลับไปว่า “อย่างไรถึงจะเรียกว่าคนไทย? ต้องนิ่งเฉยหรอถึงจะเป็นคนไทยได้ ต้องยืนพนมมือไหว้พระ ไม่วิพากษ์วิจารณ์หรอ อย่างไรที่เรียกว่าเป็นคนไทย พี่ช่วยสะกดให้หนูได้ไหมว่าคำว่าเป็นคนไทยมันคืออะไร?” เท่าที่แซมเกิดในเมืองไทยแผ่นดินไทยเนี่ย รัฐเป็นคนที่กำหนดชีวิตเราหรอ เป็นคนที่ให้กำเนิดเราหรอ ถึงมาบีบบังคับให้เราต้องเป็นแบบนี้ ทำแบบนั้นถึงจะเป็นคนไทยได้ เหล่านี้หรอคือความเป็นไทย
แล้วสำหรับคนไร้สัญชาติแบบแซม มองว่าความเป็นไทยคืออะไร
สำหรับแซมความเป็นไทยเป็นภาพที่น่ากลัว เราถูกเหยียดมาตลอดชีวิตด้วยความเป็นไทย คำนี้มันไม่สวยงามนะ คุณพูดคำว่า “ต่างด้าว” แล้วคุณรู้ไหมว่ามันเกือบจะทำร้ายชีวิตเด็กคนหนึ่งไปเลยนะ คุณเกือบทำให้คนที่กล้าแสดงออกกลายเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออกด้วยคำพูดเหล่านี้ คุณอาจบอกว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนไร้สัญชาติแบบแซมมันไม่ใช่ปกติ มันคือการด้อยค่า
แซมเกลียดคำนี้มากเลยว่า “คุณไม่ใช่คนไทย แล้วคุณไปเรียกร้องอะไรแบบนี้ได้อย่างไร?” แสดงว่าต้องเป็นคนไทยหรอถึงจะเรียกร้องได้ ในเมื่อฉันอยู่ในโลกใบนี้ ฉันอยู่บนแผ่นดินนี้ ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของประเทศเพียงหนึ่งเดียว ทุกคนก็คือเพื่อนร่วมโลกกัน มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเท่าเทียมกัน สมมติว่าเราอยากไปแสดงออกที่ต่างประเทศก็ควรทำได้ เพราะเราเป็นประชาชนบนโลกใบนี้
ถามแทนอีกฝั่งหนึ่ง เขาคงจะรู้สึกว่าด่าประเทศกูขนาดนี้ จะมาอยู่ที่นี่อีกทำไม แล้วจะอยากได้สัญชาติไทยอีกทำไม
ถ้าเกิดเลือกได้ก็คงไม่อยู่ประเทศนี้หรอก คงจะย้ายประเทศออกไปแล้ว ประเทศนี้มันน่ากลัวจะตาย แต่มันทำไม่ได้ไง
แซมว่ามันถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตื่น มันเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องออกมาเรียกร้อง ออกมาลุกขึ้นสู้ โดยเฉพาะ LGBT แซมอยากบอกว่า ไม่ต้องสนใจหรอกพวกคนรุ่นไดโนเสาร์เต่าล้านปี เพราะเดี๋ยวเขาตายแล้ว เขาก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแล้ว แต่พวกเราสิยังต้องอยู่ที่นี่ และแซมเชื่อนะว่าอีกไม่นานหรอก ความเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ และทุกพื้นที่ต้องมีเสรีภาพ สิทธิและเสรีภาพความเท่าเทียม และทุกพื้นที่กะเทยจะต้องเป็นใหญ่ จะไม่มีการถูกเหยียดเพศเกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้อีก
ที่ผ่านมามีบางกรณีที่คนไร้สัญชาติได้รับสัญชาติภายหลัง เช่น น้องๆ ทีมหมูป่า คิดว่าเป็นเพราะว่าเราเป็นเด็กเกเรสำหรับรัฐด้วยหรือเปล่า เขาเลยไม่ให้สัญชาติแก่เรา
โอ๊ย (ลากเสียง) ที่เด็กมันเกเรเพราะผู้ใหญ่หรือเปล่า เพราะระบบราชการที่ไม่ได้ดีพอ รัฐบาลที่ไม่ดีพอหรือเปล่า ในประเทศนี้ถ้าคุณมีชื่อเสียงทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละ อย่างโค๊ชเทควันโดที่เป็นคนสัญชาติเกาหลีใต้ เขาก็เป็นครูสอนนักกีฬาชื่อดังถามจริงๆ ถ้ามันไม่มีชื่อเสียงมันจะขอสัญชาติได้ไหมล่ะ ไม่ได้หรอก แซมอยู่มา 20 ปียังไม่ได้เลย
แซมเป็นคนที่มีอัตลักษณ์ในตัวเองซับซ้อนมาก พอเราแตกต่างแปลกแยกจากคนส่วนมากขนาดนี้ เคยโดนบูลลี่หรือทำร้ายจิตใจยังไงไหม
โอ้โห เกือบทุกวันค่ะ ทุกวันนี้มีคอมเมนท์บ่อยจะตาย “เฮ้ย มึงมาเรียกร้องอะไรนักหนาไอ้พวกกะเทย ไอ้พวกผิดเพศ” แต่คำที่ทำให้ช็อตที่สุดคือเวลาเขาเรียกเราว่า “อีกะเทยต่างด้าว” มันแบบใจวูบเหมือนจะร้องไห้เลยนะ แซมรู้สึกว่าคำนี้มันมีเซนส์ของคำแบบ คุณมองว่า “ต่างชาติ” มีเงิน แล้วต่างด้าวด้อยคุณค่าหรือต่ำกว่า ทำไมฝรั่งเรียกว่าต่างชาติ ทำไมพม่ากับเขมรเรียกว่าต่างด้าว มันคือการแบ่งแยกอย่างชัดเจน
เป็นไปได้ไหมที่อนาคตข้างหน้าไม่อยากได้ยินคำนี้อีก เราเปลี่ยนไปใช้ “ต่างชาติ” เหมือนกันได้ไหม? หรือเป็นเพื่อนร่วมโลกแทนได้ไหม?
ไม่คิดกันหรอว่าเวลาเราไปเมืองนอกแล้วโดนต่างชาติเหยียดว่าเป็นพวกคนเอเชียคุณยังโกรธเขาขนาดไหน คุณไปบอกว่าพวกเขาเหยียดชนชั้น ตัวคุณเองก็เหยียดเหมือนกัน เรายังมีภาพจำว่าต่างด้าวเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย เป็นคนจน แรงงานชั้นต่ำ มันยังมีความคิดที่เก่าๆ แฝงอยู่ในสังคม ทั้งที่แทบทุกคนก็ใช้แรงงานพวกเขาอยู่เลย แต่คุณกลับไปด้อยค่าพวกเขาอะ
แล้วในเรือนจำเนี่ย มีแค่สองเพศ ชายกับหญิง แล้วกะเทยอยู่ที่ไหน สมมติว่าหนูเป็นนายที่ไปแปลงเพศมา ถ้าต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำจะต้องอยู่ที่ไหน ถ้าอยู่กับผู้ชายเราโดนคุกคาม เพราะเรามีอวัยวะเพศผู้หญิง ไปอยู่กับผู้หญิงไม่ได้เราเป็นนาย มันคือระบบที่พังไปแล้ว และคุณเลือกที่จะปล่อยผ่าน ไม่ซ่อมแซมมัน
มีช่วงไหนไหมที่รู้สึกเครียดเพราะถูกบูลลี่มากๆ เรียกว่าอารมณ์อยู่ในจุดต่ำสุดเลย
เคยนอนร้องไห้บนที่นอน สงสัยว่าตัวเองทำอะไรผิดวะ? ทำไมทุกคนถึงมองฉันด้วยสายตาแบบนี้ ฉันทำอะไรผิดที่เป็นกะเทย ฉันทำอะไรผิดที่เลือกเกิดไม่ได้
คือถึงทุกคนจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะปฏิบัติได้ต่อกันได้ เราไม่เหยียดเพื่อนกันได้ไหม เรามองเห็นว่าคนเท่ากันได้ไหม เป็นมนุษย์เหมือนกันอะ
แซมดูผ่านอะไรมาเยอะ และก็เข้มแข็งมากเลยนะ
ประเทศนี้ถ้าไม่เข้มแข็งอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าแพ้คือตาย โดนเหยียบ อย่างวันนี้แซมยังพูดแบบนี้ได้ แต่วันข้างหน้าถ้าเกิดแซมล้มอะ แซมจะพูดอย่างนี้ไม่ได้แล้ว เขาจะเหยียบแซมซ้ำแน่นอน
ถามกลับไปที่ข้างในเรือนจำ คนที่ไร้สัญชาติอื่นๆ ที่ไม่ได้ติดคดีการเมืองแบบแซม หรือคนพม่า เขมร กลุ่มนี้เขาได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันไหม
มันก็แบ่งกันเหมือนเดิม ฝรั่งจะไม่ค่อยต้องทำอะไรเท่าไหร่ จะให้ไปทำห้องสมุด ไปนั่งอ่านหนังสือเฉยๆ แต่ถ้าพวกคนเขมรหรือพม่าจะถูกให้กวาดขยะ ล้างห้องน้ำ ทั้งที่เป็นผู้ต้องขังเหมือนกัน ทำไมปฏิบัติถึงต่างกันโดยสิ้นเชิง
แซมมองว่าทุกคนคือเพื่อนกันหมด เลยพยายามให้กำลังใจคนส่วนมากในเรือนจำ คือไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แซมให้กำลังใจหมด แซมจะเข้าไปเล่นด้วยและทำให้เขาขำและยิ้มให้ได้ ไม่ให้เขาเครียด มันคือความสุขของแซมเนอะ ที่ให้กำลังใจเขา ให้เขายิ้มได้ ถ้าแซมมีอาหารในเรือนจำ แซมก็จะแบ่งทุกคนเท่ากันหมด กินด้วยกัน ทำกิจกรรม สบู่อะไรใช้ด้วยกันหมด ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
จริงๆ การผลักดันเรื่องคนไร้สัญชาติสามารถทำได้หลายแบบ เช่น เข้าร่วมกับ UN ทำไมแซมถึงเลือกลงถนน
มันคือการกดดันรัฐให้แก้ปัญหาอย่างเฉียบพลันและทันเหตุการณ์ ถ้าไม่ลงถนนมันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จะไปเรียกร้องที่ไหน ยืนไปก็เท่านั้นแหละ มาลงถนนมันยืนยันหลักการเราชัดเจนว่ามาเพื่ออะไร ทำอะไร เพื่อให้เขาเห็นว่าเราเป็นเจ้าของประเทศ และคุณกินภาษีเรา คุณต้องรับใช้เราให้ดีกว่านี้
ถ้ารัฐสวัสดิการดี ประชาชนก็ไม่มาลงถนนแบบนี้ ไม่มาเรียกร้องไม่มาต่อต้านแบบนี้ จริงไหม ถ้าอยู่ห้องแล้วมีกินสบายก็คงไม่ออกมาลงถนนแบบนี้ กิจกรรมบนถนนมันเหนื่อยนะ เดินก็เหนื่อยแล้ว ไม่มีใครอยากไปหรอก แต่มันอยู่ไม่ได้กันแล้วไงเขาถึงออกมา ถ้าอยู่สบายกินดีอยู่ดีเขาไม่ออกมาหรอก จริงไหมอะ
เป้าหมายการต่อสู้ของแซมคืออะไร
มันมีคนตั้งคำถามกับแซมเยอะนะว่าอยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลง แซมอยากบอกว่าตราบใดที่คนยังไม่เท่ากับคน แซมก็ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว เมื่อไรที่คนเท่ากัน เมื่อนั้นนั่นแหละแซมจะหยุดเคลื่อนไหวทันที ปิดข่าวว่าโอเค จบแค่นี้นะ บรรลุเป้าหมายสำเร็จแล้ว
ถ้าวันนี้ไม่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่เป็นนักต่อสู้ทางการเมือง คิดว่าตัวเองทำอะไรอยู่?
น่าจะแบบเข็นมัน ขุดมันอยู่ ถอนมันอยู่
แล้วถ้าไม่ได้เป็นคนไร้สัญชาติ และอยู่ในประเทศที่สวัสดิการดีเยี่ยม คิดว่าทำอะไรอยู่
อาจจะแบบเดินถ่ายรูปอยู่นิวยอร์คสบายๆ ชีวิตไม่ต้องตื่นขึ้นมาต้องดิ้นรนว่าทุกวันจะอยู่รอดยังไง ชีวิตมันคือการดิ้นรนสำหรับประเทศนี้ สังเกตไหม ทุกคนตื่นขึ้นมาต้องรีบไปทำงาน บางคนก็ตื่นมายังไม่ทันลาลูกไปโรงเรียนเลย “โอ๊ย ทุกคนเราไปทำงานก่อนนะจะไม่ทันแล้ว รีบ” ลืมมองไปว่าอยู่ทุกวันนี้อยู่เพื่ออะไร? อยู่ไปทำไม? อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ไหม?
ทุกวันนี้เราทำงานวันละ 8 – 12 ชั่วโมง แต่ก็ยังได้เงินไม่พอใช้ เทียบกับต่างประเทศ เขาทำงานแค่ชั่วโมงเดียวยังได้มากกว่าเราเลย นี่คือระบบที่ไม่อำนวยให้ประชาชน แต่อำนวยให้กลุ่มทุนบางกลุ่มมากกว่า
สุดท้ายแล้วแซมยังอยากได้สัญชาติไทยอยู่ไหม
ยังอยากได้อยู่เหมือนเดิม เปรียบเทียบนะถ้าวันนี้บ้านเรามีแต่ความขัดแย้งกัน แล้วเราเลือกที่จะวิ่งหนีออกจากบ้าน มันก็จะเหมือนเดิม ไม่มีการแก้ไข แต่ถ้าเราอยู่แล้วจับมือกัน ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยกัน
ไม่แน่อนาคตของบ้านนี้อาจจะมีความรักที่อบอุ่นสวยงาม มีประชาธิปไตย และมีความเท่าเทียม และวันนั้นแซมอาจจะแบบมีสัญชาติแล้วนะ ได้กลายเป็นกระบอกเสียงให้คนอีกหลายร้อยชีวิตที่ไร้สัญชาติอยู่ก็ได้