“อย่าถามหาความเป็นมนุษย์ ถ้ายังอยู่แบบนี้ ถ้ายังไม่มีควานมั่นคง และความปลอดภัย พวกเราคนไร้สัญชาติ และคนชาติพันธุ์มีอยู่ทั่วประเทศ เราจะเป็นคนประเภทไหน ก็อย่าลืมว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นทาส ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องออกมาพูด และส่งเสียงว่าหยุดละเมิดสิทธิ ปล้นอำนาจประชาชน”
ถ้อยปราศรัยจาก ‘ไอรีน’ ที่เป็นตัวแทนคนชาติพันธุ์ขึ้นปราศรัยในเรื่องชาติพันธุ์ และคนไร้สัญชาติ สะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที
เราติดต่อไปพูดคุยกับเธอ ก่อนจะพบว่า จริงๆ แล้ว เธอมีชื่อว่า อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ โดยสาเหตุที่ใช้นามแฝง เพราะช่วงแรกเธอยังไม่มั่นใจที่จะเปิดเผยตัวตน แต่ตอนนี้เธอยืนยันว่าพร้อมจะเปิดหน้าแล้ว
อาอีฉ๊ะเป็นคนชาติพันธุ์ที่อยู่ในไทยมาตั้งแต่เกิด แต่กว่าจะได้รับการยืนยันว่ามีสัญชาติไทย และบัตรประชาชนเป็นของตัวเองนั้น เธอต้องผ่านการต่อสู้และความยากลำบากมากมาย เพียงเพื่อให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน และสถานะพลเมืองเฉกเช่นคนทั่วไป แล้วทำไมคนชาติพันธุ์ถึงไม่ได้รับความสนใจ พวกเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง? The MATTER ขอชวนทุกคนมาร่วมกันรับฟังเรื่องของเธอกัน
อยากให้เล่าถึงความเป็นมาของตัวเองให้ฟังหน่อย
ขอเล่าจากประวัติศาสตร์เลย หลายคนน่าจะเคยได้ยินประวัติศาสตร์การเสียแผ่นดิน 14 ครั้ง โดยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการเสียแผ่นดินอีก เพราะเป็นช่วงที่ล่าอาณานิคมที่สยามเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสกับอังกฤษ ซึ่งสยามก็ประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งมอญ พม่า ลาว ไทย จีน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งชาวมอแกน อูรักลาโว้ย ซึ่งสมัยก่อนมันไม่ได้มีการประกาศว่า เราจะยกแผ่นดินตรงนี้ให้ประเทศมหาอำนาจไปนะ ซึ่งแผ่นดินที่เสียไปก็มีผู้คนติดถูกแบ่งแยกออกไปด้วย ซึ่งต้องบอกว่าการเสียดินแดนที่เกิดขึ้นเพราะระบบศักดินา ระบบของคนมีอำนาจ
จากประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมา คนที่ไปสู้ก็คือพวกเราที่เป็นประชาชนเนี่ยแหละ ถึงประวัติศาสตร์สอนว่า กษัตริย์คือผู้ปกป้องแผ่นดิน ด้วยการบอกว่า เสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ เหมือนกับการบอกว่า เรามีนิ้วอยู่ 5 นิ้ว แล้วเราต้องเป็นนิ้วก้อยที่ถูกตัดออก โดยที่คุณไม่มาถามเลยว่าเราเต็มใจหรือว่า ที่จะต้องเห็นส่วนน้อยเพื่อรักษาเอกราชส่วนใหญ่ นี่คือสิ่งที่เราถูกกดทับมาตลอด คล้ายกับว่า มันคือการขายที่ให้คนอื่น แต่ในพื้นที่ตรงนั้นมันมีแรงงาน มีควายอยู่ในนั้น แล้วเขาก็ให้ไปหมด ไม่ได้สนใจคนที่ถูกขายไปด้วย พวกเราก็เลยเป็นเชลยไปในครั้งนั้น
ตอนแรก ชาวชาติพันธุ์อยู่ดีกินดีกันมาก ดินแดนที่เราอยู่เคยเป็นของอังกฤษ แล้วอังกฤษก็ยกให้พม่าไป กลายเป็นว่าจะมีทหารพม่าเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมที่เราเคยเป็น จากวัดที่เคยเป็นภาษาไทย ก็เปลี่ยนไปเป็นภาษาพม่า มีคนแปลกหน้าที่พูดภาษาเดียวกัน ไม่ใช่ภาษาไทยเหมือนเดิม รวมถึง เริ่มมีการกดขี่ข่มเหง และรีดไถด้านแรงงาน หรือถูกบังคับให้แบกอาวุธไปสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งพวกเราไม่ได้อยากทำ แต่เราถูกบังคับให้เป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศนั้นไปแล้ว
สิ่งที่บรรพบุรุษเราหวังกันมาตลอดคือ จะมีสักวันหนึ่งที่กษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งของสยามประเทศกลับไปเอาพื้นที่ตรงนั้นคืนมา พวกเราอยู่ด้วยความเชื่อแบบนั้นมาตลอด
เชื่อว่าวันนึงจะได้กลับมาเป็นพลเมืองที่มีสิทธิทั่วไปในฝั่งไทย?
ใช่ อยู่กันด้วยความเชื่อแบบนั้นมาตลอด เพราะพวกเราถูกลิดรอนสิทธิ จากการปฏิบัติว่าเราเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่ใช่คนพม่า ซึ่งเวลาทำบัตรประชาชนของพม่า ก็มีระบุในบัตรว่าเป็น โยเดียชา คือ ไทยอยุธยา เขาไม่เคยบอกว่าเราเป็นพม่าเลย โดนปฏิบัติเป็นพลเมืองชั้นสอง แล้วก็เรียนภาษาไทยกันไม่ได้ ต้องแอบไปเรียน
พวกเราคิดว่าถ้าอยู่แบบนี้พวกเราต้องโดนกลืนแน่ เลยพากันอพยพเข้ามาในไทย บรรพบุรุษเรานั่งแอบอยู่ในเรือบรรทุกหมูด้วยความลำบาก บางคนก็เดินมาด้วยความลำบากเหมือนกัน ถึงบ้างไม่ถึงบ้าง เหมือนมาตายเอาดาบหน้า
แล้วของครอบครัวเป็นยังไงบ้าง?
ตอนที่ย้ายมา แม่เรายังไม่แต่งงานกับพ่อเลยตอนนั้นตอนย้ายมา แล้วก็มาอยู่ที่พังงา มาอยู่แบบแอบซ่อน แล้วเวลาเห็นตำรวจก็จะกลัวมาก หรือแม้แต่ภารโรงที่ใส่ชุดสีกากี ก็กลัวเหมือนกัน เจอคนรู้จักในตลาดก็ไม่ทักกัน เพราะถ้าพูดแล้วเขาจะรู้ว่าเป็นคนไม่มีสัญชาติ
พอมาที่ไทย ก็โดนตราหน้าว่าเป็นพม่า ไม่มีสัญชาติ ก็งงๆ ว่า อะไรวะ เราอยู่พม่าก็บอกว่าเราเป็นโยเดียชา เป็นคนไทย แต่พอกลับมาที่นี่กลายเป็นว่า คนในประเทศนี้ก็ไม่ยอมรับเรา
แล้วพอเราเกิดมา เราได้ไปอยู่กับย่าที่ระนองตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แล้วก็สมัครเรียนตอน 4 ขวบ แต่กลายเป็นว่าเราใช้ชื่อพ่อแม่ตัวเองในการไปสมัครเรียนไม่ได้ ต้องใช้ชื่อป้าแทน ซึ่งป้าเราเป็นคนไม่มีสัญชาติเหมือนกัน แต่ป้าถือบัตรประชาชนเลข 6 ซึ่งในตอนนั้นเป็นเลขบัตรประจำตัวของคนเชื่อสายไทย สัญชาติพม่า และลุงเขยเราก็มีสัญชาติไทย เลยถูกยกให้เป็นลูกเขา เป็นลูกของป้าซึ่งเพิ่งเคยเจอ และนับญาติกันวันนั้น
ตอนเด็กๆ เราเกลียดแม่มาตลอดเลยนะ เกลียดแม่กับพ่อมาตลอดเลย คิดว่าที่เขาทิ้งเราให้คนอื่นเลี้ยงเพราะเขาไม่รักเรา ยิ่งกว่านั้น เรายังตีกับเพื่อนอยู่ทุกวัน เพราะเขาล้อเราว่าเป็นเด็กพม่าขี้ขโมย ทะเลาะกันจนเราไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว
อีกปัญหาคือ ตอนเรียนมันจะต้องมีวันที่เขาให้เด็กเอาสำเนาทะเบียนบ้านไปโรงเรียน เราก็งงว่า สำเนาทะเบียนบ้านคืออะไร เห็นเพื่อนๆ มีกัน ทำไมเราไม่มี ก็ไปถามย่า ย่าก็บอกว่า เราไม่มี เราไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่มี แค่กระดาษเองนะ ทำไมย่าเขียนให้เราไม่ได้ ย่าก็บอกว่า มันเป็นเอกสารทางราชการ เราไม่มี แต่เราก็เป็นคนไทยนะ คำตอบนี้ทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเป็นคนไทยจริง ทำไมฉันถึงไม่เหมือนเหมือนคนอื่น
ตอนเรียนเราสอบได้ที่ 1 แล้วก็มีคนท้วงว่า ทำไมลูกพม่าสอบได้ที่ 1 เราก็รู้สึกว่า ท้วงอะไร แค่ได้ที่ 1 เอง แล้วพอได้ทุนไปแข่งวิชาการ เราไม่เคยได้ใช้ชื่อตัวเองในการแข่งขันเลยนะ ต้องใช้ชื่อเพื่อนตลอด พี่เราก็เหมือนกัน เล่นกีฬาเก่ง ได้เป็นตัวแทนระดับจังหวัด แต่กลับไม่เคยได้ใช้ชื่อตัวเองไปแข่งเลย เราเคยไปถามครูว่า เราชื่ออาอีฉ๊ะนะ ทำไมถึงได้ใช้ชื่ออื่นแทนตลอด ครูก็บอกว่า มันเป็นความจำเป็น เพราะเราไม่มีสัญชาติครูเลยต้องเอาชื่อคนอื่นมาแทน นี่คือสิ่งที่เราเจอมาตลอด
เขาบอกว่า เรามีสิทธิ์เรียนฟรีใช่ไหม แต่ในความเป็นจริงไม่เคยมีคำว่าเรียนฟรี แค่คำว่าทุนอาหารหรือทุนการศึกษาที่เด็กเรียนดีคนนึงควรจะได้ เราก็ไม่ได้
ตอนนั้นมีโครงการเที่ยวทั่วไทยไปเพื่อเรียนรู้ 7 จังหวัด มีทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตำ เราก็ไป แล้วก็มีผู้ปกครองประท้วงอีกว่า ทำไมเด็กพม่าถึงได้ไป ลูกเขาเป็นคนไทยแท้ๆ ทำไมไม่ได้ไป ครูเราก็ช่วยพูดว่า ถ้าเรามองถึงความเป็นคน เราไม่รู้เลยว่าเด็กเหล่านี้เขาจะมีโอกาสได้ไปแบบนี้หรือเปล่า ที่ผ่านมาเขาก็สร้างชื่อให้โรงเรียน โดยที่เขาไม่เคยได้ใช้ชื่อตัวเองบนประกาศณียบัตรเลย ซึ่งครูก็โดนด่า โดนว่าอยู่ดี เราเลยเดินไปบอกครูว่า เราไม่ไปก็ได้นะ ให้คนอื่นไปเถอะ แล้วครูก็ร้องไห้เลย กอดเราแล้วปลอบว่า ไม่เป็นไรนะ มันคือโอกาสที่จะทำให้เราได้ไปเจอคนอื่นๆ ครูโดนด่าก็ยอม
อยากให้ขยายความที่บอกว่า ไม่เคยได้สิทธิ์เรียนฟรี
คือใน พ.ร.บ.การศึกษาระบุไว้ว่า เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศนี้ และเติบโตในประเทศนี้ ต้องได้เรียนฟรี แต่เราไม่เคยได้รับโอกาสนั้น แค่จะเข้าไปเรียนยังไม่มีโอกาสเลยยังต้องใช้ชื่อคนอื่นมาเป็นพ่อแม่ แล้วพอจบ ป.6 แม่ก็บอกว่า ถ้าเราจะเรียนต่อ น้องอีก 2 คนก็ลำบากนะ เพราะว่าแม่ก็คงส่งไม่ไหว เราก็เริ่มรู้สึกว่า เออ สรุปว่าเราไม่ได้เรียนต่อมัธยมเหมือนเพื่อนใช่ไหม
เราเคยได้ยินคนพูดว่า คนไร้สัญชาติตายไปก็เหมือนหมาข้างถนนแหละ ไม่ได้มีคุณค่าอะไรมากกว่านั้น หรือเรียนไปก็เท่านั้นแหละ เพราะทำงานไม่ได้ ก็ไปเป็นลูกจ้างเขาอยู่เราก็แบบ เออ เราก็เรียนไปก็คือแค่หน้าที่ต้องเรียน
แต่ตอนนั้นมี NGO ที่ทำเรื่องโครงการเมืองน่าอยู่ลงไปที่ระนอง ไปสำรวจมีคนกลุ่มไร้สัญชาติ เราก็เริ่มเห็นเริ่มพูดคุย แล้วก็เริ่มมีความหวังว่า เราจะได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เริ่มเปิดตัวเองไปเจอคนอื่น กล้าบอกว่าเราเป็นคนไม่มีสัญชาตินะ จากนั้นเรื่อยมาเราก็เริ่มคลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้ จนช่วงที่มีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลคนไทยพลัดถิ่น ก็เริ่มมีการเสนอมาตรา 22 ใน พ.ร.บ.สัญชาติ ว่าด้วยการเกิดสัญชาติ แต่ก็โดนตีตกไปโดยมีบันทึกแนบท้ายว่า คนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้เกิดจากการเสียดินแดน เขาไม่ได้เสียสัญชาติไป แต่สัญชาติถูกทำให้พร่ามัวเกิดจากการเสียดินแดน ซึ่งกฎหมายตีความไว้แล้วว่าต้องคืนสัญชาติให้คนเหล่านี้
จากนั้นเราก็ลงพื้นที่สำรวจอีก แล้วก็เห็นช่องทางเพิ่ม เลยเสนอมาตรา 23 ไปด้วย ซึ่งพูดถึงเรื่องของการให้สัญชาติเด็กอ่อน ทุกคนก็ลงมติว่า เด็กเป็นอนาคตของชาติ ก็เลยให้มาตรา 23 ผ่าน แต่ว่ามันก็มีกระบวนการมากมายที่ทุกวันนี้เด็กที่ได้สัญชาติเพราะมาตรา 23 ก็ยังไม่เยอะ ส่วนตอนนี้ เราใช้ พ.ร.บ.สัญชาติฉบับที่ 5 ปี พ.ศ.2555 โดยผ่านในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 3 วาระรวดเลย ไม่มีใครมีข้อกังขา
โดยส่วนตัวคิดยังไงกับ พ.ร.บ.สัญชาติฉบับปัจจุบัน
ไม่ได้มีปัญหาเลย เรารู้ว่าการร่างกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมาเนี่ยความยากลำบากมันขนาดไหน ต้องไปฟังชาวบ้าน แล้วมาแปลงเป็นภาษาราชการ แล้วต้องมาแปลงเป็นภาษากฎหมายแล้วก็มาเสนอเข้าสภา กว่าจะเข้าพิจารณาในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เราเข้าใจ
วันที่ พ.ร.บ.นี้ผ่าน เราไปรายงานข่าวอยู่ รายงานไปทั้งน้ำตาเลย ดีใจมาก เราคิดว่า ‘กูทำได้เหรอวะเนี่ย สำเร็จแล้วเหรอวะ กูจะมีสัญชาติไทยแล้วเหรอ จะมีบัตรประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าคนไทย เชื้อสายไทยแล้วเหรอ’
แต่จริงๆ พ.ร.บ.ผ่านแล้วมันก็ยังไม่จบ ต้องมีคณะกรรมการว่าด้วยการพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นอีก ซึ่งการตั้งกรรมการรอบแรกล้ม เพราะว่ากรรมการหลายคนไม่มา ด้วยความที่พวกเขายังไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ มองว่าคนเหล่านี้จะมาใช้ภาษีของพวกเขา จะมาแย่งอาชีพเขา เขาต้องแบ่งทรัพยากรในประเทศให้คนเหล่านี้ ใช้เวลาอีกกว่าจะตั้งคณะกรรมการได้ แต่ตั้งคณะกรรมการแล้วก็ยังไม่จบ พ.ร.บ.นี้ผ่านตอนปี 2555 แต่กว่าเราจะได้สัญชาติก็ตอนปี 59 โน่น
ใช้เวลา 4 ปี กว่าจะได้สัญชาติมา?
ใช่ คือกระบวนการยื่นมันแค่ใช้ระยะเวลาแค่ 120 วัน หรือเลทก็ 150 วัน แต่เราใช้เวลา 4 ปี ในการยื่นพิสูจน์ กว่าจะได้สัญชาติมา ก็คือต่อให้กฎหมายผ่านแล้ว มันก็มีปัญหาต่อมาที่กระบวนการอีก เราต้องไปม็อบตามอำเภอในจังหวัดต่างๆ เพื่อตามจี้ให้เรื่องมันดำเนินการได้ เพราะมีข้าราชการหลายคนที่ไม่ได้สนใจ คิดแค่ว่าเราจะไปแย่งทรัพยากรของประเทศ
เราสู้มาเยอะมาก ตอนนี้ครอบครัวก็ได้สัญชาติหมดแล้ว แต่ถ้าถามว่าวันที่พ่อแม่ไปถ่ายบัตรประชาชน เราไม่ได้ภูมิใจนะ เรารู้สึกเศร้า เพราะยังหันไปมองเห็นคนข้างหลังที่ยังไม่ได้สัญชาติ แล้วกระบวนการคอรัปชั่นมันเยอะมาก
กว่าจะได้บัตรประชาชนต้องทำอะไรบ้าง
ถ้าไม่ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย บางคนจ่ายเป็นแสนเป็นล้านก็มีนะ ดังนั้น ต้องมีเส้นสาย สมมุติว่าเขาบอกว่า ต้องมีข้าราชการมารับรอง คุณคิดว่าข้าราชการจะมารับรองให้เราไหม ถ้าไม่มีเงิน
จากที่สู้มาตลอด มองเห็นความเหลื่อมล้ำที่เราต้องเจอจากการเป็นคนไม่มีสัญชาติยังไงบ้าง
ความเหลื่อมล้ำที่เราต้องเจอตั้งแต่เด็กเลย คือความอคติทางด้านชาติพันธุ์ จริงๆ แล้วถ้าเราฟังเพลงชาติ จะมีท่อนหนึ่งที่ร้องว่าประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย คำว่ารวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยในที่นี้ มันหมายรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ หรือว่าคนทั้งเชื้อสายมาลายู ปกาเกอะญอ ชาวเล ไทยพลัดถิ่น มันนิ คือทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้มันทำให้เกิดประเทศนี้ขึ้นมาแต่กฎหมายกลับไม่คุ้มครองเรา มีคนที่เรารู้จักไปทำงานแล้วโดนนายจ้างข่มขืน แต่เขาไปแจ้งความไม่ได้ เพราะนายจ้างบอกว่า ถ้าไปแจ้งความ เขาก็จะแจ้งกลับว่าคุณหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือบางคนก็โดนเบี้ยวค่าจ้าง เพราะเป็นคนไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน
ช่วงปี 49 มีการสำรวจว่าด้วยการสำรวจบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนขึ้นต้นด้วยเลข 0 บัตรสีชมพูข้างหน้าเป็นสีขาวข้างหลังเป็นสีชมพู แล้วก็ในนี้ก็มีปัญหาซ้อนๆ กันไปอีก นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เราเห็นอยู่ทุกวัน
คิดว่าระบบทะเบียนราษฎร์ของไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ระบบทะเบียนราษฎร์ของไทยแย่มาก เพราะว่าคุณแค่มีเงินก็เปลี่ยนประวัติตัวเองได้ มีคนตายก็สวมรอบ คือแจ้งเกิดเป็นหน้าคนอื่นได้ มันเป็นแบบนี้มาตลอด
ที่เราเล่าว่า ตอนเด็กๆ เราเกลียดแม่มาก เพราะแม่ทิ้งเราไป เราก็เพิ่งมาเข้าใจในวันที่เราได้ยินแม่พูดหน้าศาลากลางว่า เขาก็เป็นเหมือนกับเต่าที่ฝากลูกไว้กับทราย โดยไม่เคยได้กลบไข่ตัวเองเลย วันนึง มันก็ไม่แปลกที่ลูกจะไม่ยกมือขึ้นไหว้เขาอีก หรือไม่มาจับมือกับเขา เพราะเขาไม่เคยได้เลี้ยงลูกเลย ตอนนั้นเราตกใจมากว่าทำไมแม่พูดอย่างนั้น แล้วแม่ก็เริ่มเล่าว่า ที่ต้องเอาเราไปฝากไว้กับยายเพราะอยากให้เราได้เรียนหนังสือ ได้มีอนาคต เราวิ่งเข้าไปกอดแม่ เข้าไปขอโทษที่เราเคยทำตัวไม่ดีกับเขา
บางคนอาจมองว่า คนชาติพันธุ์จะเข้ามาใช้ภาษี มาใช้ทรัพยากรของประเทศเรา ตรงจุดนี้คิดเห็นยังไง
ถ้าพูดกันจริงๆ นะ แค่ซื้อมาม่าห่อนึงชั้นก็เสียภาษีแล้ว ทุกอย่างเราก็จ่ายภาษีให้สังคมหมดแหละ เพียงแต่จ่ายทางตรงทางอ้อม ขึ้นรถเมล์ก็ต้องจ่ายภาษี ทำอะไรก็ต้องใช้ภาษี เดินทางทุกอย่างมัน VAT 7% มันก็จ่ายภาษีให้อยู่แล้ว แต่เราจ่ายอะไรไป ก็ไม่เคยได้คืนเลย คนทั่วไปจะมองว่า เฮ้ย จ่ายไปแล้วอาจจะได้คืนสัก 500-700 บาท แต่พวกเราคือจ่ายแล้วก็จ่ายเลย ไม่เคยได้อะไรคืนเลย แล้วก็อยู่กันแบบนั้นมาตลอด
ประเด็นก็คือ มันมีอคติทางชาติพันธุ์แฝงอยู่ จริงๆ ต่างประเทศเขาจะให้ค่ากับความหลากหลายของชาติพันธุ์มาก เขาชอบพูดกันว่า ประเทศไทย คือความหลากหลาย คือความสวยงาม แต่ประเทศนี้ก็ไม่เคยเห็นค่าคนชาติพันธุ์เลย
แล้วประเทศเราเก่งอยู่อย่างนึง ‘ให้สัญชาติคนอื่นโดยที่เจ้าของประเทศไม่รู้’ อันนี้เก่ง ถ้าคุณมาจากพม่า คุณก็ต้องด้สัญชาติพม่า แต่ถามว่าพม่ายอมรับไหม? พม่าไม่รู้เรื่องด้วยหรอก นี่คืออคติทางชาติพันธุ์ แล้วเวลาเราไปขึ้นปราศรัยเวทีต่างๆ ก็มีคนมาด่าเยอะแยะมากมาย มาด่าเราว่า เป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย มาแผ่เหมือนเชื้อโรค นี่คือสิ่งที่เราเจอ
อย่างตอนที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีม็อบตุ้งติ้งครั้งล่าสุด เราก็พูดถึงคำว่า ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย แล้วก็มีคนมาบอกว่า มันหมายถึงวัฒนธรรมไทย 4 ภาคต่างหาก คุณภูมิใจใช่ไหมที่เวลาไปศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีตู้กระจกอยู่ตรงกลาง แล้วก็มีชุดปกาเกอะญอ ชุดไทลื้อ ชุดเสื้อผ้าของชาวมันนิ หรือแม้กระทั่งเครื่องมือทำมาหากินของชาวเลมอแกน หรือชาวอุรักลาโว้ย กระติบข้าวเหนียว หรือเครื่องดนตรีพื้นฐานที่มันอยู่ในตู้กระจก จิตวิญญาณของเราต้องเอาไปถูกขังอยู่ในกระจกเพื่อโชว์อย่างเดียวเหรอ เราไม่ได้ถูกใจใช่ไหม และนั่นคือความภูมิใจของคุณใช่ไหม
เวลาแสดงหนังแต่ละครั้ง คุณรู้ไหมว่าพวกคุณทำให้เรากลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ บอกว่าเราพูดไม่ชัด มาล้อเลียนเราว่าเป็นกะเหรี่ยง บอกว่าเราเป็นมันนินะ แต่ไม่รู้ภาษาไทย คนที่เป็นฮีโร่ไม่พระเอกก็นางเอก แต่เรากลายเป็นผู้ร้ายมาตลอดเลย เราเป็นคนค้ายาบ้าง ปลูกฝิ่น เป็นคนนู่นนี่นั่น สารพัดที่คุณทำให้เราเป็น
ถามว่าคุณรู้อะไรบ้าง คุณไม่เคยรู้เลย แต่คุณได้เรตติ้งจากการที่เอาความเป็นชีวิต จิตวิญญาณบรรพบุรุษของเราไปล้อเลียน
คิดว่าเพราะอะไรหลายๆ คนถึงมองว่า ประเด็นชาติพันธุ์เป็นเรื่องไกลตัว
ทุกวันนี้แค่คำว่าไร่หมุนเวียนถ้าเอาดีๆ ก็ยังพูดกันอยู่เลยว่าเพราะปกาเกอะญอทำให้ป่าไม้เสื่อมโทรม เป็นคนบุกรุกป่า ทำให้การตัดไม้ทำลายป่าเกิดขึ้น แต่ถามว่าเบื้องหลังคือใครเหรอ ก็คือนายทุนต่างหาก ชาวบ้านที่เขาถูกบอกว่าไปรุกพื้นที่ป่า ก็เพราะว่าเขาอยู่ตรงนั้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษของเขา แล้วกฎหมายอุทยาน กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติมาทีหลังพวกเขาด้วยซ้ำ ไปบอกเขาด้วยว่าคุณอยู่ร่วมกับป่าไม่ได้เพราะคือเป็นคนบุกรุกป่า ทำให้พวกเขากลายเป็นคนผิด แล้วก็ทำให้หลายคนมองว่า มันไม่ใช่เรื่องของพวกเขา เป็นเรื่องไกลตัว
ทำไมถึงต้องออกมาร่วมชุมนุมประท้วง และยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้องกับกลุ่มผู้ชุมนุม
รัฐธรรมนูญฉบับ 40 เขียนไว้ดีมากเลยนะ มันเขียนว่าให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงแล้วก็สามารถปกป้องทรัพยากรต่างๆ ได้ แล้วที่ผ่านมา กระบวนการของชาติพันธุ์เองก็เสนอมาตลอดว่า ขอแค่เขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ คุ้มครองเราที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ เราขอแค่นั้นจริงๆ
แต่ทุกวันนี้อย่าว่าแต่คุ้มครองเลย คดีชาวเลลาไวย์ที่โดนชายฉกรรจ์เอาหินมาทุบ จนผู้ว่าภูเก็ตในขณะนั้น ถูกย้ายไปอยู่นครศรีธรรมราชแล้ว แต่ชาวเลลาไวย์ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาเลย ปีนี้มีการจัดวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลที่หลีเป๊ะ ซึ่งต้องอย่าลืมว่า การที่เกาะหลีเป๊ะ ตะลุเตามาเป็นของประเทศไทยเพราะการยืนยันของชนเผ่าอุรักลาโว้ยที่บอกว่านี่คือแผ่นดินสยาม ตอนนั้นมันมีมันมีการแย่งกันระหว่างมาเลเซียกับไทย แต่ว่าคนเหล่านี้ยืนยันได้ว่านี่คือแผ่นดินสยาม นี่คือไทย เพราะฉะนั้นที่คนไทยได้ไปเที่ยวแล้วไปถ่ายรูปกันเนี่ย ต้องขอบคุณเขาที่เป็นคนยืนยันให้นะ แต่ประวัติศาสตร์ไม่เคยบันทึกเขาเลย ว่านี่คือคนที่ยืนยันว่าเป็นแผ่นดินตรงนั้นคือสยามประเทศ
เขาไม่เคยบันทึกชาติพันธุ์ลงในประวัติศาสตร์ ยิ่งกว่านั้นคือสอนประวัติศาสตร์แค่ว่ามีคนมาทำร้ายเรา เล่าอยู่แค่นี้ ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนก็เหมือนกัน แล้วเราจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ยังไง จะต่อสู้กับสังคมโลกได้ยังไง เราจะมีที่ยืนในสังคมโลกได้ยังไง ถ้าไม่พูดเรื่องประวัติศาสตร์
อยากให้รัฐแก้ปัญหาเรื่องของชาติพันธุ์อย่างไร
มันควรจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าควรจะให้เกียรติควรให้คุณค่าความเป็นชาติพันธุ์ ให้บันทึกไว้ว่า นี่คือพลเมืองของประเทศนี้ เขาไม่ใช่พลเมืองชั้นสองคนไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย แต่เขาคือพลเมืองของประเทศซึ่งมีฐานะเท่าเทียมกันกับคนทุกชนชั้นในสังคม เพราะฉะนั้น อย่าไปใส่ร้ายป้ายสี แล้วก็อยากเรียกร้องถึงขั้นว่า เวลาทำหนังทำ ก็ควรให้เกียรติเขาด้วย ไม่ใช่บอกว่า ถ้าเป็นคนชาติพันธุ์แล้วต้องพูดไม่ชัด เหมือนที่คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เขาพูดมลายูอยู่ตั้งกี่ร้อยกี่พันปี แต่วันนึงพอเป็นรัฐไทย คุณไปบังคับให้เขาพูดภาษาไทย มันก็เป็นไปไม่ได้หรือเปล่า ถ้าพูดว่าประเทศนี้มันประกอบด้วยความหลากหลาย ก็ต้องเคารพความหลากหลาย
จริงๆ เราควรใช้คำว่าพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมเท่านั้น ดังนั้น รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนให้คนเหล่านี้ เป็นคนที่เดินอยู่ในประเทศนี้ได้อย่างเสรี และพูดได้ว่าชั้นเป็นคนชาติพันธุ์ไทย เป็นไทยแลนด์ ให้เราภูมิใจที่จะพูดว่าเราเป็นคนไทย
เราไม่ได้แบ่งกันหรอกว่าใครเป็นคนเชื้อชาติไหน ชาติพันธุ์ไหน เราต่างอยู่ด้วยกันเพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน
นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญควรจะบัญญัติไว้?
ถูกต้อง นี่คือสิ่งสำคัญที่รัฐธรรมนูญต้องให้เกียรติต้องบรรจุสิ่งเหล่านี้ไว้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีเรื่องนี้บรรจุไว้เลย หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ตำราเรียนเอง เราก็ไม่เคยได้เรียนรู้กันเลย
แม้แต่เราเอง อยู่ที่พังงา เราก็เพิ่งรู้หลังจากเหตุการณ์สึนามิว่า มอแกนคืออะไร เราตกใจมากเลย อยู่ฝั่งอยู่ทะเลเดียวกัน แค่อยู่คนละอำเภอ แต่ก็ไม่รู้ว่ามีมอแกน อูรักลาโว้ย เพราะเราไม่เคยถูกสอนไงว่านี่คือความหลากหลาย เวลาบอกเป็นคนใต้ ก็คือคนใต้เลยก็คือตีรวมไปหมด
แต่จริงๆ แล้วมันมีความหลากหลายปะปนอยู่ในพื้นที่ ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความเคารพ