“ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ
ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป
เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”
วันนี้เมื่อ 48 ปีที่แล้ว บทกวีนี้ของวิสา คัญทัพ เปรียบเสมือนคำประกาศของประชาชนเพื่อต้านการกดขี่ของ 3 ทรราชย์ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ และนำไปสู่เหตุการณ์เดินขบวนครั้งใหญ่ที่มีผู้ร่วมชุมนุมนับแสนราย การปะทะที่ทำให้มีเสียชีวิตทั้งจากฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐรวม 77 รายและบาดเจ็บอีก 857 ราย และการพระราชทาน สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
สิ้นสุดตุลามหาวิปโยค หลายคนคงคิดว่าต่อไปนี้ประเทศคงจะเดินมั่นบนครรลองแห่งประชาธิปไตย ที่มีประชาชนเป็นใหญ่บนแผ่นดิน แต่ในการชุมนุมปัจจุบัน เรายังคงได้ยินบทกวีดังกล่าวถูกประกาศแซ่ซ้องอยู่แทบทุกครั้ง ราวกับว่าบริบทการเมือง 3 ทรราชย์เมื่อ 48 ปีก่อนวนกลับมา และประชาชนต้องลุกขึ้นเพื่อทวงฟ้าสีทองคืนมาอีกครั้ง
48 ปีที่แล้ว สุรชาติ บำรุงสุข เป็นหนึ่งในนิสิตคนสำคัญของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พามวลชนเดินเท้าจากมหาลัยสู่ลานโพธิ์ของรั้วธรรมศาสตร์ ซึมซับทั้งรอยยิ้มแห่งชัยชนะ สามลมแห่งความเปลี่ยนแปลง และรอยเลือดของเพื่อนพ้องที่หลั่งไหลลงผืนดินอีกครั้งในเดือนตุลา 3 ปีถัดมา
วันนี้ อดีตผู้นำนักศึกษาคนนั้นดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ผ่านสายตาของผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์และผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ เขามองสถานการณ์ตอนนี้กับ 48 ปีที่แล้วคล้ายหรือต่างกันอย่างไร ตัวแสดงที่ลุกขึ้นมาโลดแล่นบนท้องถนนครบหรือยัง และเหตุการณ์ที่จะจุดเพลิงโหมในใจคนเหมือนครั้งทุ่งใหญ่นเรศวรเกิดขึ้นหรือยัง
ผ่านสายตาของคนเดือนตุลา เช่นอาจารย์ด้วย มองความคิด การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าภาพการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในปี 62-64 ที่ผ่านมาเป็นตัวแทนของยุคสมัย ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไป เราจะเห็นระลอกคลื่นของคนรุ่นใหม่ 4 ช่วงใหญ่
ช่วงที่ 1 เป็นการเคลื่อนไหวของปัญญาชนก่อนปี 2500 ผมคิดว่าใครที่ชอบอ่านงานวรรณกรรมหรือหนังสือยุคเก่าจะเห็นว่ามีตัวแทนทางความคิดอย่างเช่น งานของจิต ภูมิศักดิ์ ซึ่งการเคลื่อนไหวในยุคนี้มาพีคในการต่อต้านการเลือกตั้งสกปรกปี 2500 และจบลงด้วยการลขึ้นมาของรัฐบาลทหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ช่วงที่ 2 ผูกโยงกับการเลือกตั้งของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2511-2512 ช่วงนั้นเราเห็นกระแสการก่อตัวของปัญญาชน การรวมกลุ่มของนักศึกษา การทำกิจกรรมข้างมหาวิทยาลัย ในคลื่นลูกนี้เราจะเห็นว่ามาปะทุในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และจบลงที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ช่วงที่ 3 หลังเหตุการณ์รัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 เราจะเห็นกระแสคนต่อต้านการรัฐประหารครั้งนั้น ก่อนมาปะทุในเดือนพฤษภาคมปี 2535 และเห็นชัดว่าเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารที่นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง และนำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ช่วงที่ 4 คือยุคปัจจุบัน แต่ถ้าจะถกว่าช่วงไหนคือจุดเริ่มต้น ก็ยังถกกันได้เยอะอยู่ แต่ถ้าพูดในภาพรวมเราจะเห็นว่าในคลื่นลูกนี้มีความซับซ้อนกว่าคลื่น 3 ลูกแรก เพราะในช่วงทั้ง 3 คลื่นจะเห็นว่าสังคมเห็นไปทางเดียวกันว่าไม่ตอบรับกับรัฐบาลทหาร แต่ปัญหาใหญ่ที่ขบวนคนรุ่นใหม่ยุคนี้กำลังเผชิญคือ ความแตกแยกในสังคม
ถึงแม้เราจะบอกว่าในช่วงคลื่นลูกที่ 2 ขบวนคนรุ่นใหม่ก็เผชิญความแตกแยกของสังคมเช่นกัน แต่ผมคิดว่าความแตกแยกในปัจจุบันที่โลกออนไลน์มีบทบาทมาก มันกินลึกและขยายวงกว้างกว่า ดังนั้น ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ท้าทายและเผชิญปัญหาเยอะเหมือนกัน
ขยายความเรื่องความขัดแย้งในช่วงนี้นิดนึงได้ไหม อาจารย์เห็นอะไรบ้างเทียบกับตอนนั้น
ในปี 2516 ผมเป็นนิสิตปีหนึ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมเคยเล่าให้หลายคนฟังว่าในตอนนั้น ตั้งแต่พาขบวนออกจากจุฬาฯ ไปถึงลานโพธิ์ที่ธรรมศาสตร์ เราได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนตลอดทาง มีการหยิบยื่นน้ำใจด้วยน้ำ ขนมให้ แต่ในขณะนี้เราแทบไม่เห็นภาพแบบนั้น แต่กลับเห็นในอีกมุมหนึ่งคือกระแสฝ่ายต่อต้านที่ค่อนข้างแรง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปลุกระดมของกระแสขวา หรือฝ่ายอนุรักษ์
ดังนั้น ในสภาวะแบบนี้ ถ้าเปรียบเทียบน่าจะเหมือนกับคนรุ่นใหม่ยุคผมในปี 2519 ที่สังคมกำลังแตกแยกมากขึ้น
ในแง่อื่นอย่างบรรยากาศทางวัฒนธรรมตอนนี้คล้ายกับช่วงก่อนและหลังปี 2516 มากน้อยแค่ไหน
ผมคิดว่าหลัง 14 ตุลาเราเห็นบรรยากาศเหมือนในขณะนี้ คือความตื่นตัวของคนในสาขาอาชีพต่างๆ ไม่ว่า นิสิตนักศึกษา, ชาวนาและกรรมกร รวมถึงในองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ไม่ว่านักดนตรี ศิลปิน หรือนักเขียน และต้องยอมรับว่าหลัง 14 ตุลา ยังมีความตื่นตัวที่สำคัญคือ ความตื่นตัวของทหารระดับกลาง เพราะ 14 ตุลา ได้ทำลายการควบคุมกองทัพในแบบเดิม และเปิดให้ทหารระดับกลางขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น
สอง ผมคิดว่าหลัง 14 ตุลา มันเปิดมิติทางวัฒนธรรมในอีกแบบหนึ่ง เช่น หนังสือและเอกสารที่เคยถูกแบนในช่วงรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ มันฟื้นคืนขึ้นมาหมด และเป็นครั้งแรกที่คนรุ่นใหม่ในช่วงนั้นได้รู้จัก จิต ภูมิศักดิ์ หรือคนอย่างบรรจง บรรเจิดสิน รวมถึงสิ่งที่ถูกปิดมานานในสังคมไทยอย่างชุดความคิดทางการเมืองของจีน ดังนั้น พอถึงปี 2517 ที่ธรรมศาสตร์ได้เปิดนิทรรศกาลจีนใหม่ มันจึงกลายเป็นครั้งแรกที่เราเห็น “อาการช็อคทางการเมือง” เพราะสมัยยุคเก่าใครมีหนังสือเกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ มีโอกาสถูกจับติดคุกข้อหาคอมมิวนิสต์ได้เลย
และอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ หลัง 14 ตุลาคมมันมีการมาของ “เพลงเพื่อชีวิต” หรือแนวรบด้านวัฒนธรรมผ่านมิติของบทเพลง ในอดีตอาจจะมีเพลงลูกทุ่งอย่าง กลิ่นโคลนสาบควาย (แต่งโดย ไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดย ชาญ เย็นแข) ที่ถูกมองว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิต แต่พอมาถึงยุคหลัง 14 ตุลา เริ่มมีคนที่เขียนเพลงขึ้นใหม่สำหรับคนยุคนั้น เช่น คนกับควาย – คาราวาน หรือเพลงที่ถูกขับขานกันในฐานที่มั่นนำมาร้องอย่างเปิดเผย
ดังนั้น ผมคิดว่า 14 ตุลาคือการพังทำนบเก่า เปิดชุดความคิด มิติทางวัฒนธรรม และเปิดโลกทัศน์ของคนยุคใหม่ของคนในยุคนั้น แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอยู่ด้วยความหวาดกลัว เพราะกระแสคนรุ่นใหม่ไม่ตอบรับกับโลกอนุรักษ์นิยมของสังคมไทยในสมัยนั้น
ซึ่งในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คล้ายๆ กัน ไม่ว่าทิศทาง แนวทางการเคลื่อนไหว และมันเป็นคำตอบในตัวเองว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่สามารถยอมรับได้ ประกอบกับในระยะหลัง ปีกอนุรักษ์นิยมของไทยยิ่งทวีความอนุรักษ์มากขึ้น หรือพูดได้ว่ายิ่งนานวันยิ่งขวามากขึ้น ผมไม่ได้บอกว่าพวกเขามีจำนวนมาก แต่มันมีความน่ากลัวคือ พวกเขาสุดโต่งมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ในปัจจุบันเราก็กำลังคล้ายกับในปี 2518-2519 พูดง่ายๆ คือ เราเห็นการต่อสู้ระหว่างกระแสอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม และเราเห็นความกลัวของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มากและสุดโต่งขึ้น
ผมไม่ได้บอกว่าความสุดโต่งในปัจจุบันจะเป็นเหตุการณ์เหมือนวันที่ 6 ตุลา แต่ปัจจุบันมันมาในรูปของการใช้ชุดควบคุมฝูงชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามผู้ชุมนุม รวมถึงใช้ความเหนือกว่าทางกฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากประชาชน
เราสามารถเทียบความสนใจของคนยุคนี้ต่อหนังสือฟ้าเดียวกัน กับหนังสือฝ่ายซ้ายทั้งหลายในช่วง 14 ตุลาคมได้ไหม
ผมคิดว่าถ้าย้อนกลับไปดู 2517-2519 ตลาดหนังสือในมหาวิทยาลัย มันต้องใช้คำว่าเฟื่องฟู เพราะในยุคนั้นคนรุ่นผมไม่มีอินเตอร์เน็ต เราเลยอยู่กับความรู้ที่อยุ่ในกระดาษ ดังนั้น พอหลัง 14 ตุลา เราจะเห็นสโมสรนิสิตนักศึกษาต่างๆ ทำงานชุดนึงคือ การพิมพ์หนังสืออกมา ซึ่งสัมพันธ์กับการหารายได้เพื่อทำกิจกรรมนักศึกษา ฉะนั้น งานหนังสือทั้งหลายจึงเป็นประเด็นใหญ่
แต่ในยุคปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีโลกโซเชียล มีเดีย และผมเชื่อว่าพวกเขาอยู่ในไซเบอร์มากกว่าบนหนังสือ หนังสือจึงอาจเป็นส่วนเดียวเท่านั้น แต่องค์ความรู้หลายอย่างปรากฎอยู่ในโลกของไซเบอร์มากกว่า
อาจารย์พูดถึงความตื่นตัวของทหารระดับกลางในช่วง 14 ตุลา และในปัจจุบันอาจารย์มองว่าเป็นไปได้ไหมที่ทหารระดับกลางในกองทัพ จะเปลี่ยนความคิดและหันมายืนข้างฝั่งประชาธิปไตย และแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้มีอำนาจในตอนนี้
ตัวอย่างหนึ่งที่ผมยกขึ้นมาเสมอคือ สงครามกลางเมืองในซีเรีย หรือบริบทของเมียนมาร์ในปัจจุบัน ซึ่งเราเห็นคนในกลไกรัฐแตกออก ในซีเรียชัดเจน เราเห็นทหารในกองทัพบกแตกออกและแบกอาวุธออกมาด้วย และสุดท้ายนำไปสู่การตั้งกองกำลังซีเรียเสรี และกลายเป็นจุดปะทะใหญ่ ในเมียนมาร์ เราก็เห็นสิ่งที่คล้ายๆ กันแบบนี้
แต่ในไทยเราต้องยอมรับว่า ผู้นำทหารไทยยังสามารถคุมเอกภาพของกองทัพไว้ได้มาก และสภาวะที่จะเกิดย้อนยุคแบบหลัง 14 ตุลา คงค่อนข้างยาก ผมว่าประวัติศาสตร์ของทหารระดับกลางที่จะเหมือนกลุ่มยังเติร์ก เป็นอะไรที่คงไม่หวนกลับคืนมา เพราะในปัจจุบันเรายังไม่เห็นความคิดทางการเมืองของกองทัพเหมือนในในปี 2516 ที่ปัญญาชนในกองทัพเริ่มแสวงหาความรู้เพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ในบริบทตอนนี้นี้ มันคงยากที่จะเห็นกลุ่มทหารที่แตกออกจากกองทัพและเข้าร่วมกับฝั่งประชาธิปไตย ยกเว้น บนเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองจะไปถึงจุดหนึ่ง
ปัญหาการแต่งตั้งนายทหารข้ามรุ่น หรือข้ามหน้าข้ามตา อาจารย์มองว่ามันจะเป็นปัจจัยสำคัญหรือเปล่า
ไม่เป็น สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และเป็นความขัดแย้งที่เป็นปกติมาก
ในช่วง 14 ตุลา เกิดความขัดแย้งของผู้นำกองทัพระดับบน ซึ่งเรายังไม่เห็นในปัจจุบัน ขณะเดียวกันในช่วงนั้น เราเห็นการแตกของทหารในกองทัพระดับกลาง ซึ่งเราก็ยังไม่เห็นขนาดนั้นเช่นกัน ดังนั้น สองเงื่อนไขที่คนรุ่นผมเห็นในช่วงนั้น มันยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้
ผมเชื่อว่าวันนี้หลายคนคงอยากเห็นการขึ้นมาของ “ทหารประชาธิปไตย” แต่เงื่อนไขแบบนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองดำเนินมาถึงระดับนึง ที่ผู้นำทหารต้องตัดสินใจระหว่างระบอบเดิมที่อาจไปต่อไม่ได้ กับหันมาช่วยทำให้ระบบเดิมสิ้นสุดลง เพื่อประคับประคองประเทศและสถาบันกองทัพ ไม่ให้กลายเป็นจำเลยกับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเรายังต้องนั่งดูกันต่อ
แล้วเรื่องความขัดแย้งภายในของผู้นำสูงสุดตอนนี้เอง เช่น กลุ่ม 3 ป. อาจารย์มองว่ามันมีน้ำหนักมากน้อยขนาดไหน
ผมคิดว่าประเด็นนี้ เป็นโจทย์ของรัฐบาลมากกว่า เพราะในช่วง 14 ตุลาการแตกในกองทัพช่วงนั้น ผู้นำการเมืองยังมีขาหนึ่งหยั่งอยู่ในกองทัพ แต่ในปัจจุบัน ผู้นำการเมืองขาลอยจากกองทัพแล้ว ดังนั้น จะบอกว่าตอนนี้วงทหารแตกก็อาจไม่ถูกทั้งหมด แต่มันกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทหารเกษียรแล้วที่แตกกันเองมากกว่า
ในปัจจุบันกลุ่ม 3 ป. เป็นความขัดแย้งที่มีนัยยะกับพรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาลมากกว่า ดังนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพโดยตรง
อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่ากลุ่มทะลุแก๊ซคือ กลุ่มชนชั้นกลางตอนล่างที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ การลุกขึ้นของคนกลุ่มนี้มีนัยยะสำคัญอย่างไร
ผมคิดว่านัยยะสำคัญของชนชั้นกลางระดับล่างที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คือ ชนชั้นกลางระดับล่างประสบวิกฤตจากไวรัส COVID-19 และเราแทบไม่ต้องพูดถึงชนชั้นที่ลงไปอย่างชนชั้นล่าง เพราะทั่วทุกที่ในโลก ชนชั้นล่างประสบปัญหาจาก COVID-19 ชนิดที่เรียกว่าเป็น “มหาวิกฤต”
ซึ่งถ้าใครเคยเห็นบทสัมภาษณ์ของน้องๆ ที่ไปร่วมชุมนุมที่แยกดินแดง เราจะเห็นว่าพวกเขาพูดถึงเรื่องการว่างงาน และเรียกร้องรัฐบาลใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น แง่หนึ่งผมมองว่าม็อบดินแดงจึงไม่ใช่ม็อบการเมืองทั้งหมด แต่เป็นม็อบโรคระบาด และถ้ารัฐมองว่าพวกเขาเป็นม็อบโรคระบาดไม่ใช่ม็อบการเมือง ฝั่งรัฐต้องตั้งหลักความคิดเสียใหม่ ต้องใจกว้างอย่ามองม็อบกลุ่มนี้เป็นเพียงผู้ก่อจราจล หรือก่อเหตุร้าย เพราะถ้ามองแบบนั้น สิ่งที่จะตามมาคือการปราบปรามของฝ่ายรัฐ
ขณะเดียวกัน ผมมองว่าม็อบดินแดงใกล้เคียงกับม็อบอาชีวะ และในบริบทแบบนี้ มันตอบชัดว่าชนชั้นกลางระดับล่างกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก และถ้าพวกเขาได้รับผลกระทบแบบนี้จนถึงจุดหนึ่ง พวกเขาจะกลายเป็นคนจน
ส่วนม็อบชนชั้นกลางจริงๆ ในสายตาผมคือ ม็อบของนิสิต นักศึกษา ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเผชิญกับการระบาดของไวรัส และเผชิญกับการใช้กฎหมายปราบปราม ซึ่งถ้าเราไปดูในโลกไซเบอร์ ผมว่าคำตอบมันชัดว่าคนกลุ่มนี้ไม่ตอบรัฐบาล และอยากเห็นรัฐบาลที่ดีกว่านี้
เมื่อชนชั้นกลางทั้งนักศึกษาและที่ดินแดงลุกขึ้นมาแล้ว อาจารย์มองว่าตัวแสดงเพียงพอหรือยังจะไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
ผมคิดว่าเราเริ่มเห็นการประท้วงอย่างต่อเนื่อง แต่ผมต้องบอกว่าเราคงยังใช้จินตนาการแบบ 14 ตุลาไม่ได้ เพราะในช่วงนั้นจากการประเมินของสื่อ มีผู้เข้าร่วมการประท้วงที่ถนนราชดำเนินในกรุงเทพฯ มากถึง 500,000 คน ซึ่งผมคิดว่าม็อบในปัจจุบันยังทำไม่ได้ เพราะติดปัญหา COVID-19
ตอนนี้เราเห็นม็อบ 2 ชุดคือ ม็อบที่ดินแดงและคาร์ม็อบ แต่ทั้งสองส่วนนี้เหมือนยังรอการมาของขบวนใหญ่อยู่ ขบวนใหญ่ที่ผมหมายถึงคือ หนึ่ง ขบวนของนิสิตนักศึกษาที่มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น สอง ขบวนของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล และสาม ขบวนพี่น้องกรรมกรจากโรงงานที่ตกงาน ซึ่งทั้งหมดยังติดปัญหาการระบาดของ COVID-19
ผมเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้ามีโอกาสที่จะเกิด 3 ประสาน ขบวนนิสิตนักศึกษา พี่น้องคนงาน และพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และจะเป็น 3 ประสานที่ไม่เหมือนในยุค 14 ตุลา แต่จะเป็น 3 ประสานแบบใหม่ในยุค COVID-19
ขบวนใหญ่ที่ผมหมายถึงคือ หนึ่ง ขบวนของนิสิตนักศึกษาที่มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น สอง ขบวนของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล และสาม ขบวนพี่น้องกรรมกรจากโรงงานที่ตกงาน
ถ้าเรานึกถึง 14 ตุลา เราจะนึกถึงเหตุกาณณ์ทุ่งใหญ่นเรศวรที่กลายเป็นจุดปะทุให้เกิดการชุมนุมใหญ่ อาจารย์มองว่าในปัจจุบันเรามีเหตุการณ์แบบนั้นหรือยัง
ผมต้องเล่าว่าตอนนั้น ทุ่งใหญ่นเรศวรมันเป็นเหตุการณ์ใหญ่จริงๆ แถมสื่อทั้งหมดก็เล่นไปในทางเดียวกัน ทำให้อารมณ์ของคนเดินไปทางเดียวกัน ตัวชี้วัดง่ายๆ คือ หนังสือเรื่องทุ่งใหญ่นับพันเล่มที่วางขายหน้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ขายหมดในพริบตาเดียว
แม้ปัจจุบันผมมองว่า COVID-19 เป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่กว่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพราะมันทำลายโอกาสในชีวิตและการทำงานของคนทั้งหมด อย่างลูกศิษย์ผมที่จบปีที่แล้ว และกำลังจะจบในปีนี้ พวกเขาก็มาปรึกษาผมบอกมองไม่เห็นอนาคตเลยว่าจะเข้าสู่ตลาดงานได้อย่างไร หรือเวลาผมไปบรรยายในหน่วยงานราชการ ผมจะเจอคำถามจากผู้ปกครองที่เข้ามาฟังว่า “ควรให้ลูกเขาเรียนสาขาไหนดี ?” ในอดีตผมไม่เคยถูกถามแบบนี้เลย
ดังนั้น ผมคิดว่าตัวที่จะเป็นประกายไฟใหญ่อย่างไรก็ยังคงเป็น COVID-19 เพียงแต่ลักษณะมันต่างกับทุ่งใหญ่ เพราะทุ่งใหญ่จุดแล้วไฟลุกในทันที แต่ COVID-19 จุดแล้วลุกโชนแต่ลุกแล้วลามไปเรื่อย อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งของสังคมซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาล ไม่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเท่าไหร่ เลยไม่ได้มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมด้วย แต่ผมคิดว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่กลัวไวรัส และตัดสินใจลงถนนเพื่อยื่นข้อเรียกร้องกับรัฐบาล โอกาสที่จะเห็นการชุมนุมใหญ่ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้มาก
เราสามารถพูดได้ไหมว่าข้อเรียกร้องในการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ขณะนี้ ท้าทายกว่าข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่สมัย 14 ตุลา
ตรงนี้ผมคิดต่าง เพราะช่วงยุคผมเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารเผด็จการ ดังนั้น ข้อเรียกร้องในตอนนั้นคือให้รัฐบาลทหารจัดทำรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้ง แม้ในปัจจุบันข้อเรียกร้องอาจซับซ้อนกว่า แต่ถ้าเปรียบเทียบโดยนัยยะเดียวกัน คนยุคผมข้อเรียกร้องคือประชาธิปไตย ซึ่งในภาพรวมของปัจจุบันข้อเรียกร้องก็คือประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน ถ้าเปรียบแบบนี้ก็ไม่แตกต่างกัน
ตอนจบของ 14 ตุลาคือ 3 จอมพลหนีออกนอกประเทศ และมีการพระราชทานนายกฯ อาจารย์มองว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะมีจุดจบเหมือนหรือต่างกันอย่างไรไหม
ผมคิดว่าจุดสำคัญที่น่าสนใจคือ มวลชนจะชนะในรูปแบบไหน เพราะวันนี้แค่ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกก็ถือว่ามวลชนชนะแล้ว ไม่จำเป็นต้องชนะในบริบทแบบ 14 ตุลาที่มีชุมนุมใหญ่จนล้มรัฐบาล หรือผมพูดสั้นๆ ว่า วันนี้ชัยชนะจะมาในหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องจบในรูปแบบเดียวกับคนยุคผม
ดังนั้น สิ่งที่เรานั่งดูกันในวันนี้ยังต้องนั่งดูกันต่อไป ว่าสุดท้ายแล้วอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำทหารจะจบลงที่ตรงไหน หรือจะไปต่ออย่างไร ตอนนี้คงยังตอบไม่ได้
ถ้าสมมุติมวลชนชนะไม่ว่าด้วยอย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ฝ่ายขวาจะตีกลับมาคล้ายกับในช่วง 6 ตุลา 2519 หรือเปล่า
ผมว่าโอกาสตีกลับของกระแสขวาในปัจจุบันไม่ง่าย เพราะการตีกลับของฝ่ายขวาหลัง 14 ตุลามันมีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในประกอบกัน ซึ่งปัจจัยทั้งคู่ไปรวมศูนย์ที่ความกลัวคอมมิวนิสต์ กลัวประเทศไทยจะล้มและเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนประเทศในอินโดจีนทั้งสาม
ปัจจุบัน ความกลัวตรงนี้ยังไม่ถึงจุดขนาดนั้น แต่มันมีความกลัวอีกแบบหนึ่งคือ ความกลัวของปีกอนุรักษ์นิยมต่อกระแสประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ง่ายและไม่มีความชอบธรรมพอ เพราะเพียงแค่ความกลัวกระแสประชาธิปไตยไม่สามารถระดมกำลังพลขวาจัดได้เพียงพอ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นความพยายามนั้นแล้ว และมันไม่ใหญ่ขนาดนั้น ผิดกับในยุคที่ผมเรียนอยู่ซึ่งเวลารวมคนน่ากลัวกว่า
กระแสขวาจัดที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันกลับเป็นอำนาจรัฐ ที่ใช้มาตรการการปราบปรามฝูงชน ใช้กฎหมายจัดการผู้เห็นต่าง ผมว่าตรงนี้เป็นกระแสที่น่ากลัวกว่าในปัจจุบัน
ถ้ารัฐบาลชิงยุบสภาก่อน และยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งอีกครั้ง เราจะเรียกสถานการณ์แบบนั้นได้ไหมว่าคือ ความพ่ายแพ้ของการเคลื่อนไหวในรอบนี้
ผมคิดว่าการเลือกตั้งในรอบหน้า พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่สามารถกลับขึ้นมาได้ง่ายแบบเก่า แต่ยังมีโอกาส เพราะหนึ่ง ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่คณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เขามีความได้เปรียบในเรื่องกฏกติกา สอง รัฐบาลยังเป็นผู้ควบคุมองค์กรอิสระ รวมถึงกระบวนการทางกฎหมาย สาม รัฐบาลยังกุมอำนาจของ ส.ว. และสี่ รัฐบาลยังมีอำนาจในการสร้างพรรคการเมืองของเขาเอง
ความได้เปรียบทั้ง 4 ส่วน ทำให้เขายังมีโอกาสกลับขึ้นมาเป็นรัฐบาล แต่ถ้ากลับมาได้จริง เขาก็ต้องเผชิญกับความท้าทายชุดเดิม
สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าคือ วันนี้การทำประชามติของหลายสำนักพบว่า คะแนนเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้โดดเด่นมากเหมือนที่คิดแล้ว หรือไม่โดดเด่นเหมือนหลังรัฐประหารปี 2557 ดังนั้น ผมคิดว่าถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้ การต่อสู้ทางการเมืองจะเข้มข้นแน่ๆ แต่อนาคตว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมาหรือไม่ก็ต้องติดตามกันต่อไป
แต่ถ้ากลับมาจริงๆ ก็ต้องเรียกว่าเป็น “ทุกขลาภก้อนใหญ่” ของประเทศ