‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ ‘ผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า’ ‘เด็กไม่ควรเถียงผู้ใหญ่’ ข้อความเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประโยคที่สะท้อนถึงอำนาจนิยมในประเทศไทย ที่ทำให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ ไม่สามารถส่งเสียง แสดงความเห็น แต่กลับถูกกดทับลง
การออกมาชุมนุม เรียกร้องที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็เช่นกัน ซึ่งกลายเป็นปรากฎการณ์ที่เยาวชน และประชาชน ต่างต้องการออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง ไปถึงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างเปิดเผย เพื่อต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายๆ ด้าน แต่ก็กลับมีการมองว่า พวกเขาถูกชักใยอยู่เบื้องหลัง ไม่เปิดใจรับฟัง และมองว่ายังไม่ถึงเวลาจะมายุ่งกลับการเมือง ทั้งๆ ที่เยาวชนมองว่า การออกมาพูดวันนี้ก็เพื่ออนาคตของพวกเขา
แต่แม้ว่าพวกเขาจะถูกคุกคาม ถูกมองว่าจาบจ้วง จากการออกมาแสดงออก แต่พรรคก้าวไกล ก็เป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกของเยาวชน และประชาชน ทั้งในช่วงที่ผ่านมายังเดินทางไปตามสถานีตำรวจต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ และประกันตัวกับนักกิจกรรมที่ถูกคุกคามด้วย
ซึ่ง ‘ทิม – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก็ยืนยันกับเราว่า เขาและพรรคสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพในการพูด และอยากสร้างให้ประเทศไทยมีพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาผ่านบทสนทนานี้
ในฐานะนักการเมือง อยากทราบว่ามองภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่มีประชาชนออกมาชุมนุม ทั้งนักศึกษาเอง นักเรียนเอง มองภาพนี้อย่างไร
ผมว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เข้าใจได้ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา สิ่งที่เขาเรียกร้องก็ตรงตามชื่อเลย ก็คือประชาชนปลดแอก หรือว่าเยาวชนปลดแอก สิ่งที่เราอาจต้องมาพูดคุยกันมากกว่าก็คือปลดแอกจากอะไร มันก็เป็นปรากฏการณ์ที่เขาต้องการมาทวงคืนอนาคต มันเป็นแอกที่รู้สึกว่าเพดานความสำเร็จของเขามันต่ำลงเรื่อยๆ
ในฐานะที่ผมเองอยู่ในวัย mid age อายุ 40 ก็เคยผ่านช่วงที่เป็นนักเรียนมหาวิทยาลัย นิสิต นักศึกษา เราก็มีความหวังว่าเราอยากจะมีความฝันที่จะทำอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองตลอดสิบปีที่ผ่านมา สมัยตอนที่เขายังเป็นประถม มาจนเขาขึ้นมหาวิทยาลัยในตอนนี้ เขาต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจมากมาย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลผู้ใหญ่รุ่นผมหรือรุ่นที่โตกว่าผมไม่สามารถทำให้เพดานความสำเร็จตรงนี้สูงขึ้นมาได้ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือเพดานของเสรีภาพที่ถูกกดทับด้วยอำนาจนิยม แต่อำนาจนิยมก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเรื่องของกฎหมายหรือวัฒนธรรม
สิ่งหนึ่งที่มีการปะทุออกมาในช่วงที่ผ่านมา ต่างประเทศจะใช้คำว่า ‘paternalism’ (ปิตาธิปไตย) คือผู้ใหญ่รู้ดีกว่าเด็ก แล้วที่เขาพูดอย่างนี้คือเขาหวังดีกับเด็ก ทั้งที่ความจริงแล้วยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ตอนนี้ประเทศเราหาฉันทามติระหว่างอดีตกับอนาคตไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของโลกใบใหม่ ความมั่นคงแบบใหม่ ความท้าทายแบบใหม่ที่คนรุ่นเก่าไม่เคยพบเจอมาก่อน แต่ต้องการที่จะใช้วิธีแบบเดิมๆ ในการแก้ปัญหา
พอมันหาพื้นที่ที่จะพูดคุยกันอย่างนี้ไม่ได้ เวลามีนิสิตนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพูดถึงปัญหาที่มีอยู่ในประเทศ ที่มันกดทับเพดานความสำเร็จของเขา ก็ไม่ฟังกัน พอไม่ฟังก็ต้องตะโกน ถ้าตะโกนแล้วยังไม่ฟังอีก ก็ต้องตะโกนกันมากขึ้น เพราะนี่คืออนาคตของเขา
ซึ่งเขาต้องการปรากฏการณ์แบบ big bang ทั้งในแง่ของการศึกษา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม การเมือง และสถาบัน มีหลายสิ่งที่เขามีมุมมองที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อน ส่วนคนรุ่นก่อนก็อาจยังใช้ชุดความคิดแบบเก่าว่าต้องอาบน้ำร้อนมาก่อน โดยที่ไม่ได้คิดว่าถ้าเด็กอยากจะอาบน้ำเย็นก็เป็นสิทธิของเขา แล้วผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเขาก็ต้องยอมรับเอง
แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำมาตลอด ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว น้องๆ นิสิตนักศึกษารุ่นนี้จะต้องมาชดใช้สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำตลอดสิบปีที่ผ่านไปและสิบปีข้างหน้า เวลารัฐบาลจะกู้เงินและจัดงบประมาณ ถ้าสำเร็จไม่สำเร็จ คนที่ต้องมารับเคราะห์หรือบุญจากการกระทำนี้ก็คือน้องๆ รุ่นใหม่ที่ภาษีของเขาจะต้องมาชดใช้ เมื่อเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ถึงได้เกิดการปลดแอกขึ้นมา แล้วการชุมนุมล่าสุดก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าเกิดการปลดแอกของทั้งประเทศ มีการพูดถึงความไม่ยุติธรรมทางที่ดิน เรื่องการพัฒนาเมืองโดยไม่เห็นหัวประชาชน เรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ การทำแท้ง มันเป็นประเด็นที่ชัดเจนเลยว่าอารมณ์หรือว่าสายลมของการเปลี่ยนแปลงกำลังมาถึง และอารมณ์ของยุคสมัยมันต่างไปเยอะ จากอดีตที่ผ่านมา ถ้าผู้ใหญ่คิดว่าการที่เขาพูดกันออกมา เป็นปรากฏการณ์ว่ามีการแข็งกระด้างเกิดขึ้น ก็จะทำให้ประเทศไทยสู้ประเทศอื่นไม่ได้
สำหรับผมในฐานะที่ยังเป็นคนวัยกลางคน ก็รู้สึกดีใจที่เวลาเราสอนว่าเด็กไทยถ้าจะสู้กับต่างชาติได้ น้องๆ นิสิตนักศึกษาต้องรู้จักคิดนอกกรอบ นี่ไง น้องๆ เขาก็คิดนอกกรอบให้เห็น แล้วถ้าเรายังบอกว่าเขาไม่สามารถที่จะคิดเองได้ วิเคราะห์เองได้ แยกแยะเองได้ ถ้าเรายังเดินไปปิดกั้น ก็เท่ากับว่าระบบการศึกษาที่เราต้องการปฏิรูปไม่ได้มีความจริงใจอยู่ในนั้นเลย
เมื่อผมได้เห็นสิ่งที่เขาแสดงออกในท้องถนน ผมเชื่อว่าอนาคตของประเทศไทยอยู่ในมือพวกเขา แต่ถ้าเกิดคุณมองเห็นว่าเยาวชนพวกนี้เป็นภัยคุกคาม กระด้างกระเดื่อง เป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ ประเทศไทยก็จะไม่มีอนาคต เพราะว่าคุณได้ฆ่าอนาคตด้วยมือของคุณเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่นำไปสู่การรับฟังของคนที่เห็นต่าง และสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นฉันทามติระหว่างอดีตกับอนาคตที่มันมีความต่างกันมาก หวังว่าการที่มีการพูดขึ้นมา จะมีคนฟัง และสามารถพาแต่ละฝ่ายในสังคมเข้ามาใกล้ชิดกันได้มากขึ้น เพื่อจะขยายเพดานของเสรีภาพ และเพดานของความสำเร็จของรุ่นเขา ไม่ใช่แค่บอกว่า คุณกลับไปเรียนหนังสือให้จบเถอะ กลับไปหางานทำให้ได้เถอะ ผมคิดว่ามันเป็นเพดานความสำเร็จที่ต่ำเกินไปสำหรับยุคสมัยนี้ เขาควรที่จะมีสิทธิที่จะกล้าที่จะฝัน
คิดว่าทำไมถึงเป็นช่วงนี้ที่ทุกคนออกมาพร้อมๆ กัน ก่อนคสช. ก็มีคนไม่พอใจ แต่ทำไมช่วงนี้ถึงรุนแรงมาก
ภาวะปัจจัยมันเหมาะสม เพราะว่ามีทั้งเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมมารวมกัน แล้วตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ว่าไม่มีคนพูดถึง ก็มีคนพูดถึง และก็มีความล้มเหลวสะสมของรัฐบาล ในการบริหารก็ดี ในความชอบธรรมก็ดี ทั้งความถูกต้องตามกฎหมาย และประสิทธิภาพของรัฐบาลที่มันต่ำ มีการพูดถึงอยู่ตลอด แต่ไม่มีการรับฟัง เป็นการปิดกั้น ผลักไสให้ไปอยู่ใน social media พอมันถึงจุดสูงสุดแล้ว มันก็ออกมาทันทีเลย แล้วมันเป็นสิ่งที่พอพูดไปมันเข้าหู เพราะคนคิดเหมือนกัน รู้สึกได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจมีทางเลือกว่าโครงสร้างที่เป็นอำนาจนิยมแบบกดทับในครอบครัว โรงเรียน สังคม ในระบบการเมือง ในสภา สามารถเปลี่ยนวิธีคิดตรงนี้ได้ มันก็จะทำให้สามารถพูดคุยกันได้ และหาทางออกทำให้ประเทศไม่ถึงทางตัน แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่ในกระบวนการตรงนั้นอยู่ ว่าจะทำยังไงให้สามารถหาฉันทามติร่วมกัน และไปสู่อนาคตด้วยกันได้
พอมีนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุม ออกมาพูดถึงปัญหามากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่มักพูดก็คือว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง มีคนชักใยอยู่
นี่คือความไม่มีวุฒิภาวะของผู้ใหญ่ การที่คุณจะบอกว่ามีคนอยู่เบื้องหลังได้นี่คุณต้องดูถูกนักศึกษาก่อน คุณต้องดูถูกประชาชนก่อน ว่าเขาไม่มีความคิดของตัวเอง ซึ่งสมัยก่อน เวลาจะมีความรู้ที่จะสามารถนำไปวิเคราะห์อะไรได้ คุณอาจต้องพึ่งห้องสมุด สารานุกรม แต่ทุกวันนี้มันอยู่ในมือคุณอยู่แล้ว ความรู้ที่เยอะกว่าคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน มันอยู่ในนี้ เพราะฉะนั้น วุฒิภาวะของเด็กจึงโตเร็วมาก
เด็กอายุ 18 ตอนนี้ กับเด็กอายุ 18 เมื่อ 40 ปี คุณต้องยอมรับว่าต่างกันสิ้นเชิง ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลผ่านเทคโนโลยี ความเป็นสากลของเขาผ่านโลกที่ไร้พรมแดน มันทำให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่เร็วมาก และเผลอๆ เขามีชุดข้อมูลที่แหลมคมกว่าผู้ใหญ่สมัยนี้อีก เพราะฉะนั้น การที่บอกว่ามีคนไปอยู่เบื้องหลัง มีคนสนับสนุนความคิด มีคนที่จะสามารถเป็น propaganda ทำให้เด็กตาบอด หูหนวก ไม่ใช่ความเป็นจริงเลย เด็กก็สามารถที่จะคิดได้ว่า ณ บริบทนี้ ชุดความคิดแบบนี้ถูก ณ บริบทนี้ ชุดความคิดแบบนี้ผิด
ฉะนั้น การที่คุณจะไปบอกว่ามันยังเป็นเหมือนการเมืองแบบเดิมที่เป็นระหว่างฝั่งซ้ายกับขวาเหมือนสมัยหลังสงครามเย็น ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว จากซ้ายกับขวาที่เป็นแนวขวาง ตอนนี้เป็นแนวตั้งขึ้นมา ระหว่างคนที่อยู่ล่างของพีระมิดที่ไร้อนาคตกับคนที่เสวยสุขอยู่ข้างบนผ่านอำนาจพิเศษที่คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เห็น เพราะฉะนั้น การที่เขาคิดว่านี่คือการต่อสู้ของซ้ายกับขวา เขาก็จะวินิจฉัยวิธีแก้ปัญหาหรือวิธีตอบสนองผิด เพราะจริงๆ แล้วมันคือระหว่างบนกับล่าง ไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมีเทคโนโลยีมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ความต้องการของสังคมก็เปลี่ยนไป
คุณต้องอย่าลืมว่าประเทศนี้ เป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกมานาน น้องๆ นิสิตนักศึกษาเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำงานอย่างเหนื่อย ถูกเอารัดเอาเปรียบถ้าเขาเป็นแรงงาน หรือแรงงานนอกระบบ เป็นคนที่โดนนายทุน ทหาร อภิสิทธิ์ชนในประเทศนี้เสวยสุขอยู่บนหลังของพ่อแม่เขา เขาก็ไม่ต้องการอนาคตอย่างนั้น ทั้งๆ ที่เขารู้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากกว่านี้ ที่จะทำให้ชีวิตเขาเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
ทุกคนเขาก็มีความฝันที่เขาโตขึ้นมา แต่ว่าด้วยความที่ผู้ใหญ่ไม่ได้เป็นฐานให้เขาต่อยอดได้ ไม่เคยรับฟังเขา ไม่เคยเห็นความคิดที่ต้องการของเขา ไม่เคยที่จะเข้าไปปรับตัวเองให้ทันสมัยกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างที่ไม่มีใครทัดทานอนาคตได้ ก็เลยเกิดปรากฏการณ์อย่างนี้ขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และประเทศไทยก็ไม่ได้รับข้อยกเว้น กลับเป็นประเทศที่เห็นความเหลื่อมล้ำอย่างนี้ได้ชัดมากขึ้นอีก เพราะพื้นฐานประเทศไทยก็เหลื่อมล้ำอยู่แล้ว COVID-19 มา เรื่องต่างๆ มาซ้ำอีก
ฉะนั้นประเทศไทยไม่มีทางเลือกอะไร นอกจากที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบ big bang ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงนิดๆ หน่อยๆ เหมือนเพื่อประวิงเวลาเพื่อให้กลับมาเหมือนเดิม แต่ต้องการที่จะเปลี่ยน เพื่อให้ใช้ศักยภาพของคนในประเทศให้ได้ แล้วให้ประชาชนสามารถที่จะควบคุมวาระของสังคมได้
เขาใช้คำว่า control of the agenda นี่คือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว หรือไม่ได้แค่มี freedom of speech หรือว่ามี free press แค่อย่างเดียว แต่ประชาชนที่เลือกเข้าไปแล้วเนี่ยเขาต้องสามารถที่จะควบคุมวาระของสังคมได้ด้วยเช่นกัน มันถึงจะเป็นประชาธิปไตยที่เต็มใบได้ และถ้าเกิดสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเจออยู่เป็นพายุลูกใหญ่ แล้วคุณให้โอกาสคนแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ กฎหมายที่เสมอภาคเฉพาะคนที่มีเงินได้ ระบบเศรษฐกิจที่มีไว้ให้กับคนรวยอย่างเดียวเท่านั้น แล้วคุณละทิ้งอีก 99 เปอร์เซ็นต์ของประทเศ อันนั้นเป็นภาวะผู้นำที่ล้มเหลว เพราะคุณเป็นผู้นำที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของคนทุกคนในประเทศ ในการที่จะทำมาหากิน ในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ในการที่จะพัฒนาการเมืองให้เป็นรากที่เข้มแข็งของประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่เริ่มพัฒนาความอดทนอดกลั้นในการฟังคนรุ่นใหม่ และยังมีสุภาษิตว่า ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน ฉันเป็นครูเธอนะ ฉันเป็นพ่อแม่เธอนะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณพูดมา ถึงแม้ว่ามันจะมีเหตุผลแค่ไหน มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ในการสนับสนุนแค่ไหน มันก็ด้อยค่าด้วยตำแหน่งทางสังคมที่อยู่ในระบบปิตาธิปไตย ที่ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดในประเทศไทย
เช่นการที่อยู่ในห้องเรียนแล้วไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรได้ เพราะครูจะดุ ไหนจะต้องตัดผมทรงเดียวกัน ไหนจะต้องมีวินัย ต่างกับต่างประเทศที่ถ้าคุณไม่มีความเห็นอันนี้ถือว่าโดนหักคะแนน มันคือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ณ ปัจจุบันนี้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น ประเทศไทยต้องการเปลี่ยนแปลงทั้ง hard structure ในเรื่องของกฎหมายที่ต้องเสมอภาคต่อหน้าทุกคน มีความยุติธรรมมากขึ้น หรือแม้แต่วัฒนธรรม soft power ที่ต้องมีการเปิดรับในการที่จะพูดคุย แล้วเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวในโลก เราอยู่ในสังคมที่มีความเป็นโลกาภิวัตน์อย่างที่ไม่มีวันถอยกลับ
นอกจากคนที่มองว่า มีคนชักใยอยู่เบื้องหลังนักศึกษาก็จะมีคนมองว่า มีนักการเมืองฝั่งประชาธิปไตย หรือพรรคก้าวไกลหรือเปล่าที่สนับสนุนเด็กๆ เหล่านี้
เป็นการป้ายสีที่ง่ายเกินไป สิ่งที่เราสนับสนุนคือเสรีภาพในการพูด freedom of speech โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเพศ อายุ ความเชื่อทางศาสนา ความหลากหลายของความคิดเป็นสิ่งที่จะหล่อหลอมสังคม เพื่อที่จะให้สังคมก้าวหน้าต่อไปได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครก็ตามที่มาออกความเห็นอย่างสุจริตโดยเสรีภาพที่เขาพึงจะมี แล้วโดนคุกคาม ประณาม โดนใช้ความรุนแรง พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมืองก็มีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการพูดคุย เพราะนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน
พูดถึงสิ่งหนึ่งที่ช่วงนี้มีการชุมนุมก็คือ มีการคุกคามทั้งแกนนำ มีการโดนจับ เห็นว่าพรรคก้าวไกลก็มี ส.ส.ที่ไปช่วยประกันด้วย
เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่เท่าที่จะทำได้ เพราะมันเป็นสิทธิเสรีภาพ เป็น free speech ที่เขาควรจะคุยได้ ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการพูดเป็นนิยามที่พูดกันน้อยในประเทศไทย ว่ามันคืออะไร
ผมอาจไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด แต่ผมจะสู้สุดตัวว่าคุณมีสิทธิที่จะพูดนั้น นี่คือสิทธิเสรีภาพในการพูด หรือ free speech ที่ยังขาดอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องสร้างให้มีพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาให้ได้ และต้องทำให้มันไม่เป็นเรื่องแปลก
ต้องไม่ทำให้มันเป็นเรื่องที่แบบ โอ๊ย เด็กคนนี้อย่างนู้นอย่างนี้ ไม่มีอนาคตแน่เลย ทำไมไม่ไปเรียนหนังสือ หางานทำให้มันจบๆ ไป มันเป็นสิ่งคงไม่มีใครยอมรับได้
คิดว่าในประเทศไทยต้องมีเส้นของเสรีภาพในการพูดไหม หรือควรพูดในแง่ไหน ในประเด็นใดได้บ้าง
ตราบใดก็ตามที่มันไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงหรือความแตกแยกแบบทวิลักษณ์ คนผิวสีนี้กับผิวสีนี้ ศาสนากับศาสนา ก็ควรที่จะมีพื้นที่ที่จะเปิดกว้างให้มากที่สุด ในแต่ละประเทศก็มีขอบเขตที่พูดได้แต่ละอันอาจไม่เท่ากัน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน พอยุคสมัยมันเปลี่ยนไป ก็ต้องยอมรับว่ามันมีพัฒนาการในการที่จะพูดได้เหมือนกัน ฉะนั้น ตราบใดก็ตามที่ไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรง การแบ่งแยกอย่างทวิลักษณ์ ก็คือสองขั้วอย่างชัดเจน ไม่ได้ทำให้ด้อยค่าคนใดคนหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่ควรจะพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา แล้วก็มีวุฒิภาวะ
นอกจากข้อเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลง มุมนึงในสภาเองก็มีเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
เป็นทางออกของประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วก็การที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มันเป็นโอกาสในการที่จะมีพื้นที่ทางการเมืองที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ และสามารถพูดคุยกันได้อย่างมีวุฒิภาวะ เราต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญอันนี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของประชาชนทั้งหมด แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความได้เปรียบทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจกับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ไม่สามารถที่จะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งได้ มี ส.ว. 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากกลุ่มคนก็คือ คสช. ในมาตราที่ 269 และ ส.ว. ก็กลับมาเลือกผู้นำของประเทศอีกทีหนึ่ง พูดกันภาษาง่ายๆ ก็คือ ผมแข่งบอลกับคุณ แต่คุณนำผมอยู่ 2-0 ตลอดเวลา ยังไงคุณก็ต้องชนะ
หรือแม้แต่วิธีการแบ่งเขตหรือวิธีการปัดส่วนทศนิยมทำให้มีพรรคการเมือง 20 กว่าพรรคในการตั้งรัฐบาล เสถียรภาพในการบริหารมันก็ไม่มี เวลาที่จะพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจก็ต้องมี 3-4 พรรคอยู่ตลอดเวลา เพราะมันเป็นพรรคเล็กๆ ไม่สามารถที่จะบริหารแบบเป็นองค์รวมในช่วงที่เราเจอมหาวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดในรอบร้อยปี
เพราะฉะนั้น มันเป็นต้นตอของหลายๆ ปัญหา เป็นกฎหมายที่สูงสุดของประเทศ แต่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ปกครองแบบเอียง เมื่อมันเอียงก็ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมันเป็นรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องมีการสะเดาะกลอน มันจะมีหลายมาตราที่ป้องกันทำให้แก้ได้ยากมากที่สุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์เลย อันแรก ก็คือวิธีในการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมีการเข้าชื่อ 1 ใน 5 ก่อนของ ส.ส. ก็คือประมาณ 98 คน ถึงจะเป็นล็อกที่หนึ่ง หรือประชาชนก็ต้องใช้ประชาชนถึง 50,000 คน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลสามารถผ่าน ครม. ก็สามารถที่จะแก้ได้เลย แต่คนที่อยู่ในอำนาจ ด้วยรัฐธรรมนูญแบบนี้เขาอาจไม่อยากที่จะแก้ด้วยตัวของเขาเอง ก็ต้องให้ฝ่ายค้านหรือประชาชนเป็นคนทำ เสร็จแล้วพอจะแก้ญัตติด่วนเข้าไปปุ๊บ ก็จะมีสามวาระ
วาระแรกถ้าจะให้มันผ่านได้เนี่ย ต้อให้ ส.ว. ที่ถูกตั้งด้วยมือของ คสช. เห็นชอบ 1 ใน 3 ก็คือใช้สว. ถึง 84 คน แล้วก็วาระที่สองวาระที่สามว่ากันไป แล้วยังมีทำประชามติอีก แล้วยังต้องมีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกว่ามันผิดกับรัฐธรรมนูญปี 60 ตรงข้อไหนอะไรยังไงอีก เพราะฉะนั้น แค่ข้อนี้ข้อแรกต้องใช้กุญแจสามดอกในการแก้แล้ว
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นเจตจำนงของคนทั้งประเทศจริงๆ แต่เมื่อแก้ตรงนั้นได้แล้ว มันก็ไม่ได้จบตรงแค่ทำให้รัฐธรรมนูญแก้ง่ายขึ้น พอมันแก้ง่ายขึ้นก็ต้องไปดูว่านิติรัฐของประเทศไทยที่มันบิดเบี้ยวอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่การแต่งตั้งคนที่ยึดโยงกับอภิสิทธิ์ชน แต่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนหรือไม่
ถ้าใช่ก็คือ ส.ว. 250 คนทั้งในมาตราของอำนาจการเลือกนายกฯ การติดตามการปฏิรูปประเทศ ถ้าบทเฉพาะกาลนี้ไม่ได้ถูกยกเลิก เมื่อเราต้องการยุบสภา ส.ว. ก็ยังมีสิทธิกลับมาเลือกนายกคนเดิมอีก ปัญหาก็วนกลับมาเหมือนเดิม มาสู่นิติรัฐที่บิดเบี้ยว ฉ้อฉลแบบนี้เหมือนเดิม มันก็จะไม่ตอบโจทย์อะไรเลย
เพราะฉะนั้น การแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเริ่มต้นที่ ส.ว. ก็เป็นอันที่จำเป็นต้องทำ สุดท้ายก็คือมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือมาตรา 279 ที่รับรองการกระทำของ คสช. บางคนบอกว่ามันผ่านมาแล้วไม่น่าจะได้รับประโยชน์อะไร ผมเห็นต่างว่าการที่รัฐธรรมนูญมีมาตราที่รับรองการกระทำของ คสช. ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเป็นการรับรองรัฐประหารผ่านมาตราในรัฐธรรมนูญ มันเป็นสัญลักษณ์ การที่คุณยอมรับให้มีมาตราแบบนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นการประทับตราว่า มันเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะฉะนั้น นี่ก็คือสามสเต็ปที่พรรคก้าวไกลพยายามเสนอ ในการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นสามสเต็ปแรกที่จะทำให้การเมืองกลับมาสู่ปกติ อย่างที่การเมืองที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย ที่มันบิดเบี้ยวเป็นผลพวงจาก คสช. ตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยถูกแช่แข็งแล้วก็ไม่สามารถที่จะเดินหน้าไปที่ไหนได้
นอกจากที่คุณทิมพูดไป มีหมวด 1 กับ 2 ด้วย ที่เป็นประเด็นของพรรค
รัฐธรรมนูญมีทั้งหมด 16 บท ที่พูดถึงส่วนใหญ่เป็นหมวดที่ 15 หมวดที่ 1 ก็คือบททั่วไป หมวดที่ 2 ก็คือหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในอดีตที่ผ่านมา หมวด 1 กับ 2 ก็แก้อยู่เรื่อยๆ ด้วยความที่สังคมไทยอาจไม่อยากพูดเรื่องนี้อย่างโปร่งใส เปิดเผย และมีเหตุผล อย่างมีเสรีภาพในการพูด มันทำให้เป็นสิ่งที่ดูแปลก พอมีใครพูดคำว่าหมวด 1 หมวด 2 เนี่ยจะถูกตีความ จะถูกป้ายสีว่ามีความต้องการที่จะแก้หมวดนี้ให้มันทันยุคสมัย ซึ่งไม่ใช่ความเป็นจริงแต่อย่างใด
สาเหตุที่เราไม่ได้ไปยื่นญัตติด่วนร่วมกับพรรคฝ่ายค้านในมาตรา 256 (วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ) และ สสร. เพราะเราเชื่อว่า สสร. ที่เป็นพื้นที่ที่ให้เสรีภาพในการถกเถียงกันเต็มที่ในทุกเรื่อง เป็นการปลดล็อกทางการเมืองจากที่มันมีอยู่ แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นต่างกับเรา ซึ่งเราได้ขอสงวนว่าการที่ สสร. ที่จะมาจากการเลือกตั้งแก้ได้ทุกเรื่อง ยกเว้นบทที่ 1 กับบทที่ 2 มันเลยไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ มันทำให้มันเป็นเรื่องที่แปลกที่ใครอยากจะมาแก้เรื่องนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงปี 2517 ก็แก้ 2534, 2560 ก็มีการแก้
จริงๆ การที่เราไม่ต้องการล็อกหมวด 1 และ 2 ไม่ให้ห้ามแก้ มันไม่ควรที่จะเป็นประเด็น เพราะมาตรา 255 เขียนไว้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ว่าจะแก้ระบอบการปกครองกับรูปแบบของรัฐไม่ได้ ยังไงก็ต้องเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ดี คือมันทั้งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และไม่ได้ยืดหยุ่นพอที่จะให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนสามารถที่จะถกเถียงกันได้
ทั้งต้องเข้าใจว่า สสร. มันเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกลุ่มก้อนการเมืองใดจะไปผูกขาดความคิดของเขาได้ ไม่ได้เกี่ยวกับพรรค และการเลือกตั้งของ สสร. ที่จะเข้ามาไม่ว่าจะใช้จำนวนกี่คน หรือวิธีไหนที่ยังคุยกันไม่ได้ เขาก็จะมีความคิดที่หลากหลายที่จะไปหาจุดสมดุลของสังคมเอง เพราะฉะนั้น ถ้าพื้นที่สุดท้ายที่ควรจะเป็นพื้นที่ที่มันเป็นทางการ เป็นพื้นที่ที่มีการถกเถียงกันได้ว่าจะแก้อะไรไม่แก้อะไร เพื่อให้มันเป็นกฎกติกาของประเทศที่หาฉันทามติ หาสมดุลภาพของสังคม ก็ถูกล็อกอีก รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ที่เราต้องการจะปลดล็อก แต่คุณไปล็อกเพิ่มอีกที่หนึ่ง มันก็ล็อกเจอล็อก ประเทศก็จะถึงทางตัน แล้วพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัยที่ควรที่จะถกเถียงกันได้อย่างเป็นผู้ใหญ่ อย่างมีวุฒิภาวะก็จะหมดไป
พูดให้ชัดๆ อีกทีหนึ่ง การที่ให้มี สสร. ให้มีอิสระในการเถียงกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ได้หมายความว่าสนับสนุนให้แก้หมวด 1 หมวด 2 แต่ให้ สสร. พูดคุยกันได้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้หรือไม่แก้ให้ตามยุคสมัย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สื่อมวลชนก็จะตีอยู่ 2-3 ประเด็น สังคมจะเข้าใจผิดอยู่ 2-3 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือว่าพรรคก้าวไกลฉายเดี่ยวแล้วก็ฝ่ายค้านไม่มีเอกภาพ ยังมีเอกภาพครับ เราก็ยังคิดว่ามาตรา 256 กับการมี สสร. เป็นทางออกของประเทศไม่ต่างจากฝ่ายค้าน และอาจไม่ต่างจากฝ่ายรัฐบาลแล้วตอนนี้ แต่มันมีรายละเอียดที่เราสงวนความคิดเห็นไว้ เราก็ยังจะร่วมอภิปรายเรื่องมาตรา 256 กับ สสร.
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าพรรคฝ่ายค้านไม่มีเอกภาพ ไม่ใช่ว่าพรรคก้าวไกลฉายเดี่ยว และไม่ได้หมายความว่า พรรคเราต้องการที่จะแก้หมวด 1 หมวด 2 อย่างที่สื่อมวลชนพยายามหรือสังคมอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนไป เราแค่ต้องการให้ สสร. มีพื้นที่ทางการเมืองที่ไม่โดนใครผูกขาดทางความคิดและก็สามารถที่จะเป็นล็อกที่ทำให้ประเทศไม่ถึงทางตันได้
ในเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็มีประเด็นที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุมที่ผ่านมา นักศึกษาเองที่พูดถึง 10 ข้อเรียกร้อง พรรคก้าวไกลก็ออกมาบอกว่าสนับสนุนการแสดงออกของนักศึกษาด้วย
คิดว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องมา 10 ข้อเป็นสิทธิเสรีภาพในการพูดที่ไม่ได้เลยเถิด ไม่ได้ออกนอกกรอบของระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เขาก็พูดด้วยเหตุผล ในสิ่งที่ยุคสมัยก่อนๆ อาจพูดกันบ้าง ไม่พูดกันบ้าง แต่ว่ามันเป็นคำถามที่คนยุคนี้เขาอยู่ในใจ เป็นความรู้สึกของยุคสมัยที่เขามีอยู่ ก็ควรที่จะให้โอกาสเขาพูด
แต่ถ้าเราใช้วิธีแบบเดิมๆ คือไปผลักไสว่าอันนี้คือการจาบจ้วงสถาบัน อันนี้คือการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยทันทีที่ยังไม่ทันฟังเขา ก็จะทำให้ประเทศวนกลับไปสู่วิธีคิดแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการพูดคุยกันตรงนี้ สิ่งที่เราจะต้องทำกันในสังคมคือการเปิดใจรับฟัง และเพิ่มความอดทนอดกลั้นในการที่จะพูดในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย แต่ถ้าเกิดเราไปปิดประตู และบอกว่าพวกนี้มีความคิดที่จะจาบจ้วง หรือล้มสถาบัน ไม่จริงหรอกครับ มีแต่ต้องการที่จะนำพาทุกสถาบันการเมืองในประเทศไทยให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะให้ประเทศไทยพร้อมที่จะมีที่ยืนในเวทีอาเซียน ในเวทีโลก และก็ทำให้คนไทยมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นแค่นั้นเอง
ถ้าเกิดผู้ใหญ่พร้อมที่จะรับฟัง และพูดกันอย่างมีวุฒิภาวะว่าอะไรทำไม่ได้ หรืออะไรที่ทำได้ ผมฟังน้องๆ ที่พูดในเวทีปราศรัย และก็มาฟังที่เขาออกสื่อมวลชน สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด คือการเปิดใจรับฟังเขา แต่ถ้าคุณมาปิดกั้นตรงนี้ ก็เท่ากับผลักไสให้เขาไปอยู่ในโลกของโซเชียลมีเดีย ผลักไสปิดกั้นไปอยู่ในพื้นที่อันตราย แทนที่จะเปิดที่ที่เขาสามารถพูดคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้เป็นพื้นที่ในการที่จะมีประทุษวาจา หรืออะไรที่สร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในสังคม อันนี้ก็ไม่ใช่ ถ้าเกิดคุณยอมรับฟังเขาก็จะเป็นการถอดฟืนออกจากกองไฟ และก็สามารถที่จะหาวิธีที่จะพูดคุยกันได้ อย่างอารยชนเขาทำกัน
คิดว่าการที่เราไม่หยิบยกประเด็นนี้มาพูดเลย มันจะส่งผลเสียต่อภาพรวมของประเทศอย่างไร
ถ้าเกิดไม่ยอมให้มีพื้นที่ในการพูดคุยกัน ทั้งสิทธิ เสรีภาพ และสันติภาพในการพูดคุยเนี่ย มันก็เป็นการผลักเขาไปให้เขาพูดอย่างอื่น คือคุณไม่สามารถที่จะห้ามความคิดคน ไม่สามารถห้ามไม่ให้คนคิดนอกกรอบที่ตัวคุณเคยตีกรอบไว้เอง เพราะว่าต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงมีมาทุกวัน มีทุกชั่วโมง ทุกนาที ทุกวินาทีที่โลกเปลี่ยนไปเร็วขึ้น
ถ้าเกิดไม่ยอมให้มีการพูดคุยอย่างสุภาพชน มันก็จะเหมือนกับซ่อนปัญหาไว้ในที่ที่เราไม่อยากให้มันมีการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีภาพหรือการแลกเปลี่ยนกัน เมื่อไม่มีการแลกเปลี่ยนกันก็ต้องเกิดการตะโกนขึ้น และก็มีการใช้ความรุนแรงอย่างในอดีตที่ผ่านมา แล้วคุณต้องการที่จะฆ่าอนาคตของเขา เพราะนิสิต นักศึกษาพวกนี้ ก็คือผู้นำของประเทศในอนาคต
อย่างที่คุณทิมบอก พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันก็มักจะโดนติดป้ายว่าจาบจ้วง คิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเห็นว่าสิ่งที่เราพูด เราไม่ได้จาบจ้วงแล้วก็เป็นเหตุเป็นผล
มันต้องมีความอดทนเกิดขึ้นในสังคม รวมถึงตัวพวกเราเอง เราก็ต้องทำในสิ่งที่เราพูด ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการพูด ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด แต่เรายังสนับสนุนให้เขาพูดในสิ่งที่เขาเชื่อ เพราะว่านั่นคือ การทดสอบสิทธิเสรีภาพ แต่ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองก็มีหน้าที่ชี้แจงด้วยเหตุผล ด้วยวุฒิภาวะ ว่าสิ่งที่เขาพูด หรือสิ่งที่เขาเข้าใจผิด มันเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจผิด มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นแค่พื้นที่ที่ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันก็แค่นั้น ส่วนจะทำได้ไม่ได้ จะถึงเวลาหรือยังไม่ถึงเวลา อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ตอนนี้ขอแค่ให้มีการพูดคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา แค่นั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ขอมากเกินไป ในแง่ของวัฒนธรรม ขนบประเพณี หรือในแง่ของกฎหมาย เพราะว่าขอบเขตตรงนั้นมันก็ต้องเปลี่ยนไปทุกๆ ยุคสมัยอยู่แล้ว
ในการพูดอย่างตรงไปตรงมา ตอนนี้ก็ยังมีข้อกฎหมาย และสิ่งที่ทำให้มันพูดได้ไม่ถึงขั้น หรือเอามาถกเถียงกันได้ไม่ถึงขั้น คิดว่ามันต้องมีการแก้ไขอย่างไร
คิดว่าต้องใช้เวลา แน่นอนผมเชื่อว่าเวลาจะเร็วจะช้า หนึ่งเดือนที่ผ่านมาผมว่ามันก็เปลี่ยนไปเยอะ มีการขยายเพดานไปเยอะพอสมควร แต่ถ้าเกิดเราอยากให้การเปลี่ยนผ่านของประเทศนี้มันราบรื่น ก็ควรที่จะเกิดการรับฟัง พูดคุย และก็ความจริงใจ ไม่ใช่ว่าปากบอกว่ารับฟังแล้วออกหมายจับเขา อย่างนี้จะทำให้ประเทศถึงทางตัน และไปต่อไม่ได้ ก็ควรที่จะมีความจริงใจ
ตอนนี้ก็คือส่วนใหญ่ที่ออกมาพูดข้อเสนอต่างๆ ก็จะเป็นนักศึกษา นักกิจกรรม คิดว่ามันต้องไปด้วยกันกับในสภาไหม ที่ต้องมีนักการเมืองมารับลูกต่อของพวกเขาด้วย
เราก็พยายามทำอยู่ โดยเฉพาะการใช้การแก้รัฐธรรมนูญอย่างที่บอกไป ก็เป็นสิ่งที่เป็นสิ่งสำคัญของพรรคที่พยายามทำอย่างเต็มที่ และก็ปกป้องสิทธิเสรีภาพในการพูดของพวกเขา ไม่ว่าเขาจะโดนรังแกแค่ไหน เขาก็จะมีพวกเราเป็นหลังพิงให้พวกเขา ในการที่สามารถจะพูดคุยกันให้ทุกเรื่องเลยอย่างเต็มที่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นการพูดแล้วทำให้สถานการณ์มันไม่ปะทุมากขึ้น ก็มีความจำเป็นที่สภาจะต้องมีการพูดคุยเรื่องเหล่านี้ไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสังคมไปไกลกว่าสภาเยอะพอสมควร มันก็มีข้อจำกัดของมันที่ไม่ได้สามารถจะไปตามกันได้ทันซะทีเดียว
คิดว่าจะทำยังไงให้สภาไปทันกระแสสังคมด้วย
ผมคิดว่าทุกวันนี้ นักการเมืองก็เริ่มเข้าใจนะ กับอะไรบางสิ่งบางอย่างที่มันเป็นความจริงที่กระอักกระอ่วนที่ไม่ได้พูด พอเราพูดไปมันก็ไม่ได้หมายความว่ามันยอมรับไม่ได้ อะไรที่อาจตะขิดตะขวงใจสักหกเดือนหรือหนึ่งปีที่แล้ว ตอนนี้มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป เพราะฉะนั้น การทำงานร่วมกันระหว่างสภา กับนอกสภาก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีต่อไปเพื่อเป็นหลังพิงซึ่งกันและกัน และก็จับมือด้วยกันไป และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้จริงๆ
คิดว่าตัวรัฐบาลหรือตัวรัฐเองมองการชุมนุมที่เกิดขึ้นนี้อย่างไรบ้าง
ผมก็เดาใจเขาไม่ถูกนะ บางวันเขาก็พูดอีกอย่างหนึ่ง บางวันเขาก็ทำอีกอย่างหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าถ้าเขาทำได้สักครึ่งหนึ่งในสิ่งที่เขาพูด สถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้นมากเลย ในเมื่อมันมีคนรับฟัง ความจำเป็นที่จะต้องตะโกนมันก็ไม่มีมากสักเท่าไร และก็สามารถที่จะหาทางลง สามารถที่จะหาทางออกที่ทุกคนเป็นเจ้าของได้
แล้วประเทศเราก็จะได้พร้อมสู้กับภัยพิบัติภายนอก จากโรคภัย เศรษฐกิจ ระเบียบโลกใหม่ จะได้มีแรงมีพลังที่จะไปสู้ตรงนั้นต่อ แต่ถ้าเรายังจัดการสิ่งที่ยังอยู่ในบ้านเราไม่ได้ เราก็ต้องเตรียมรับพายุจากนอกประเทศตลอดเวลา เพราะฉะนั้น รัฐบาลมีสิทธิที่จะรับฟังตรงนี้และเลิกพูดว่ามีคนคอยปั่นหัวเด็ก หรือมีต่างชาติคอยสนับสนุน มันเป็นการด้อยค่าพวกเขาที่ง่ายเกินไป
แล้วพรรคการเมืองต่างๆ ควรใส่ใจเรื่องการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง
ผมว่าเริ่มต้นก็คือ อย่างพรรคเราเนี่ยคือเปิดรับฟังอย่างไม่มีอคติ แล้วก็แยกวิธีการ กับเนื้อหาสาระออกจากกัน เวลาที่คุณไปชุมนุมมี sovial movement มันก็ต้องมีวิธีการที่ดุดันหรือ วิธีการที่ค่อนข้างมีการล้อเลียนนิดหน่อย แต่ว่าตัวที่เป็นเนื้อหา หรืออะไรที่เป็นแก่นในการพูดคุยกัน
ถ้าเราเอาอคติออกแล้วฟังเฉพาะอันนี้ โดยไม่ได้คิดว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนคุณ หรือคุณเด็กกว่าฉัน แค่มีตรงนี้ได้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของพรรคการเมืองที่จะมีการพูดคุยกันได้ เพราะว่ามันฟังแล้วก็พยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่พูดขึ้นมาจริงๆ
ถามในฐานะที่คุณทิมบอกว่าอยู่ในวัย mid age คิดว่าผู้ใหญ่รุ่นคุณทิมควรเปิดใจและฟังเด็กอย่างไรบ้าง
ผมคิดว่า mid age รุ่นผมนี่เท่าที่คุยๆ กันมาเข้าใจมากเลย อย่างรุ่นผมเรียนจบปีช่วง พ.ศ. 2543-2544 ผมกลับมาเมืองไทยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี และมีรัฐธรรมนูญ 40 พอดี เพิ่งผ่านวิกฤตการณ์การเมืองตอนพฤษภาทมิฬตอน พ.ศ. 2535 มาพอดี ความรู้สึกของผมตอนที่มีก็คือประเทศไทยมันไม่ออกจากวงจรสักทีหนึ่ง เพียงแต่ว่าเห็นใจแล้วก็ชื่นชมเด็กรุ่นใหม่ที่กล้าที่จะคิดนอกกรอบ และรู้สึกเบาใจลงว่า
ผมมั่นใจว่าผมอยากจะฝากอนาคตให้กับน้องๆ นิสิตนักศึกษารุ่นนี้ เพื่อที่จะสร้างอนาคตให้กับรุ่นลูกของผมอีกทีหนึ่ง ผมก็เลยมีทั้งความเข้าใจและความชื่นชมอยู่ในชุดความคิดเดียวกัน