ใครจะไปคิด จากเด็กคนหนึ่งที่เคยเทินการศึกษาไว้สำคัญเหนืออื่นใด นั่งหน้าห้องทุกคาบ และท่องจำค่านิยม 12 ประการเป็นเข็มทิศ วันนี้ วิว – มุกริน ทิมดี อดีตนักเรียนคนหนึ่งในภาพยนต์เรื่อง School Town King หลุดจากระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมาถึง 2 ครั้งแล้ว
ครั้งแรก เธอลาออกจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพราะอาการป่วยไข้ของแม่ ครั้งที่สอง จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เพราะไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์
“ถ้ามีโอกาสกลับไปเรียน วิวจะไม่ทิ้งมันเลย” คือคำตอบถึงความหวังในการกลับไปเรียนต่อของเธอ
จากวันนั้นถึงวันนี้อดีตเด็กหน้าห้องคนเดิมเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ทำไมระบบการศึกษาไทยถึงถีบเด็กคนหนึ่งออกมาได้ถึงสองครั้ง ปัญหามันอยู่ที่ตัวเธอเองหรือเป็นเพราะความจนและความเหลื่อมล้ำที่เกาะกินและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่เธอเกิด
(1)
โตในสลัม
คนในชุมชนที่วิวอยู่แทบทุกคนหาเช้ากินค่ำ และสมมุติเงินออกวันที่ 15 ก็ต้องไปยืมเงินเขามาใช้ก่อน แล้วพอเงินออกอยากจ่ายคืน มันก็คืนได้แค่ต้นไม่ได้คืนดอก ทีนี้ก็ต้องยืมใหม่ วนเป็นวัฏจักรอยู่แบบนี้
นี่คือความเข้าใจเรื่องสภาพชุมชนที่เธอเติบโตขึ้นของ มุกริน ทิมดี หรือวิว หนึ่งในนักเรียนที่อยู่ในเรื่อง School Town King ที่เติบโตในชุมชนล็อค 4-5-6 ของเขตคลองเตย เธออาศัยอยู่กับแม่ น้า พี่ชาย และพี่สาว รวมเป็น 5 ชีวิตในบ้าน ซึ่งทุกคนล้วนมีอาชีพหาเช้ากินค่ำ พี่ชายของเธอเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) พี่สาวทำงานพาร์ทไทม์ร้านพิซซ่า ขณะที่น้าเป็นแม่บ้านคอนโด ส่วนเธอและแม่ทุกวันนี้รับจ้างซักรีด
เธอเล่าว่าเพิ่งออกเครื่องซักผ้าใหม่ในราคาประมาณ 15,000 บาท โดยที่ลูกค้าของร้านเธอมักจะส่งผ้ามาเฉพาะในวันเสา-อาทิตย์ ทำให้ทุกวันสุดสัปดาห์ เธอจะเริ่มรีดผ้าตั้งแต่ช่วงเที่ยงวัน ก่อนลากยาวไปเสร็จอีกทีก็หลังเที่ยงคืน และตื่นขึ้นมาทำแบบนี้อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น งานที่หนักหนากว่า 8 ชั่วโมง ทำให้เธอกับแม่มีรายได้ตกเดือนละประมาณ 8,000 กว่าบาท แต่กำไรจริงๆ ตกอยู่ประมาณเดือนละไม่ถึง 3,000 บาทเท่านั้น ซึ่งสำหรับเธอมันไม่ได้แย่นัก
“อาชีพที่วิวทำไม่มีชื่อเสียง ไม่เหมือนข้าราชการ แต่เราไม่อดตายอะ”
ตั้งแต่มี COVID-19 ระบาด ชุมชนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างไหม? เราถามคำถามนี้ขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีชุมชนคลองเตย โดยเฉพาะบริเวณที่เธออยู่เผชิญกับการระบาดของไวรัสอย่างรุนแรง
“อย่างช่วงโควิดใช่ไหม คนดีๆ ที่วิวเคยไหว้กลับกลายเป็นคนที่ถือถุงกาวอยู่ในสลัม วิวรู้สึกว่าเขาเครียด เพราะมันไม่มีงานให้ทำ รายรับไม่มี แต่รายจ่ายเข้ามาทุกวัน บางคนทำงาน 2 วันต่อสัปดาห์ แต่ข้าวมันต้องกินทุกวัน”
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้น สำหรับคนในสลัมของชุมชนคลองเตย ชีวิตที่ต้องกู้หนี้ยืมสินเงินในอนาคตมาจ่ายก่อนเป็นธรรมดามาก และแม้กระทั่งเธอเองที่วันนี้อายุต้น 20 ปีก็มีหนี้สินกับเขาแล้วเช่นกัน
“วิวจะบอกว่าทุกวันนี้เป็นหนี้อยู่ 15,000 บาท ดอกอีกก็เป็น 18,000 บาท ส่งหนี้วันละ 500 บาท แต่มันเป็นเงินหมุน บางคนถามว่าทำไมเป็นหนี้ตั้งแต่เด็ก ก็แม่เราไม่มีนี่ ถ้ามีก็คงไม่ต้องทำแบบนี้ และที่เรากู้มาก็เพื่อซื้อของที่มันจะเป็นพื้นฐานของชีวิตในอนาคต”
วิวหมายถึงเครื่อซักผ้าราคา 15,000 บาท และรถมอเตอร์ไซค์ฟีโน่ป้ายแดงที่เพิ่งถอยมาได้หนึ่งเดือน เพื่อใช้สำหรับส่งผ้าให้ลูกค้า
(2)
จากที่หนึ่งของห้อง ถึงไม่มีที่เรียน
แต่ก่อนที่วิวจะกลายมาเป็นเจ้าของร้านซักผ้าอย่างเต็มตัวเหมือนทุกวันนี้ เธอเคยล้มลุกคลุกคลานกับการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมาแล้วถึงสองครั้ง และเหตุผลที่เธอต้องออกมาทั้งสองครั้งล้วนวนเวียนอยู่กับความยากจน
“มหาวิทยาลัยมันมีค่าใช้จ่ายเยอะ ตอนนั้นเรียนไปได้หนึ่งเทอมแล้ว อาจารย์ก็บอกว่าต้องจ่ายค่าเทอมแล้ว ถ้าไม่จ่ายจะลงเรียนปี 2 ไม่ได้ แต่ตอนนั้นเงินมันหาไม่ได้เลย และอยู่ดีๆ แม่ก็ล้มป่วย วิวเลยตัดสินใจเดินออกจากห้องสอบเลยตอนนั้น หลังจากนั้นก็มาเริ่มต้นคำว่าซักรีด ซื้อของทำอาชีพนี้จนเป็นหลักเป็นแหล่งเลย”
หลังเรียนจบชั้น ม.6 วิวมุ่งตรงสู้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมเป็นระยะเวลาครึ่งเทอมที่เธอเล่าให้ฟังว่า “ตื่นเต้นและเหนื่อยมาก”
ตื่นเต้นในความอิสระเสรีของสถานะนักศึกษา ที่อนุญาตให้แต่งหน้า ทำผม แต่งตัว (ในชุดนักศึกษาหลากหลายทรง) ไปเรียนอย่างไรก็ได้ แต่เหนื่อยมาก ที่ต้องตื่นเช้าทุกวันในเวลาตี 5 เพื่อนั่งรถจากคลองเตยไปถึงหน้าปากซอยรัชดา 32 หรือบริเวณตรงข้ามศาลอาญา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
แล้วทำไมไม่นั่ง MRT? เราถามเธอต่อ
“โห หนูเคยขึ้น MRT ไปครั้งหนึ่ง มันแพงกว่าเยอะนะพี่ ตอนนั้นหนูได้เงินไปวันละ 100 เอง มันก็ไม่เยอะ ” เธอพูดพลางนับนิ้วไล่ค่ารถไฟฟ้า MRT จากสถานีคลองเตยไปจนถึงสถานีลาดพร้าว หรือบุคคลทั่วไป 35 บาท/ รอบ นักศึกษา 32 บาท/ รอบ) เทียบกับค่ารถเมล์ 8 บาท/ รอบ ยังไม่นับค่ามอเตอร์ไซค์ที่ต้องนั่งต่อเข้าไปในมหาวิทยาลัยอีก พูดได้ว่าการเดินทางสองรูปแบบมีค่าใช้จ่ายห่างกันเกือบ 5 เท่าต่อวัน
แล้วทำไมไม่อยู่หอ? เรายังไม่ลดละความสงสัย
หนูคิดว่าอยู่หอมันต้องมีมัดจำ บางทีมัดจำตั้ง 10,000 กว่า เรายอมไม่อยู่ แล้วสู้เดินทางไปกลับดีกว่า แต่เรียนได้หนึ่งเทอมก็เข็ดเลยนะพี่ (หัวเราะ)” เหตุผลที่เธอให้ไม่ต่างจากคำตอบเรื่องการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT
หลังจากที่เธอตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยครั้งแรก เธอก็กลับมาทำงานซักรีดที่บ้านเต็มตัว จนกระทั่งมหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียนใหม่ในปีต่อมา ความมุ่งมั่นและอยากเรียนหนังสือยังแรงกล้า ครานี้เธอโดดไปสมัครที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี รอบนี้การเรียนของเธอก็ต้องติดขัดอีกครั้ง และด้วยเหตุผลเดิมๆ คือความจน
“ตอนนั้นอยู่ๆ ก็อยากเรียนครู จริงๆ เพราะเห็นแม่ป่วยด้วยแหละ อาชีพนี้มันมีสวัสดิการรักษาแม่ได้ด้วยไง วิวก็เลยไปสมัครที่ราชภัฎธนบุรี อันนั้นก็ไกลมากอยู่แถวบ้านแขกอะ ค่าเทอมถูกลงมาหน่อย 8,700 แต่ก็แพงอยู่ดี ยังไม่ทันได้เรียนเลยนะ อาจารย์พูดขึ้นมาว่าหลังจากนี้เราต้องเรียนออนไลน์ โห หนูบอกอาจารย์เลยว่าหนูไม่มีอะไรเลย มีแค่โทรศัพท์เครื่องเดียว”
ตอนนั้นหนูก็บอกครูเลยนะว่าครูคะ หนูไม่มีแท็บเล็ต ไม่มีไวไฟ ไม่มีอะไรเลย (หัวเราะ)
แฝงอยู่ในเสียงหัวเราะและน้ำเสียงที่สดใส คือแววตาที่เข้มแข็งและไม่ย่อท้อต่อความจน ซึ่งถูกส่งต่อรุ่นต่อรุ่นไม่ต่างจากรหัสพันธุกรรมที่กำหนดสีผมและสีผิว แต่แตกต่างตรงที่มันดูคล้ายเชื้อไวรัสที่ดึงให้ชีวิตด่ำดิ่งสู่ความยากลำบาก มากกว่าทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ
สำหรับเด็กจากชุมชนคลองเตยแล้ว การตัดสินใจไม่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดามาก เพราะเงินที่ต้องใช้ทุกวันยังเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าทุกอย่าง
“เพื่อนหนูออกจากระบบการศึกษาเยอะมาก เพราะไม่มีตังค์เรียน จบ ม.6 ออกไปประมาณ 3-4 คน เขาก็คิดว่าทำงานดีกว่าได้ตังค์ อย่างวิวเอง ถึงใครบอกซักรีดมันหน่อมแน้มแต่ก็ทำจนออกรถขับได้แล้วคันนึง” ข้อมูลที่เธอให้คล้ายกับการประมาณโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ไทยมีเด็กกลุ่มที่หลุดจากการศึกษาไม่ว่าเพราะยากจน พิการ หรือปัญหาครอบครัวมากถึง 670,000 คน
วิวอยากให้มหาวิทยาลัยเรียนฟรี ตอนนี้ค่าเทอมมันสูง ค่าชุด ค่าหนังสือ ค่าเอยอะไรเอย จริงๆ แค่ตอนมัธยมปลาย ค่าเทอม 4,000 กว่าบาท มันก็ถือว่าแพงแล้วนะสำหรับวิว
เธอทิ้งท้ายถึงความลำบากในการเข้าถึงการศึกษาของคนจน ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะระดับมหาวิทยาลัย แต่มันยากลำบากตั้งแต่ระดับมัธยมปลายแล้ว
(3)
ซับซ้อนปัญหาการศึกษาไทย
วิวเล่าว่า เธอเป็นที่หนึ่งของชั้นมาตลอดตั้งแต่ระดับ ป.1 – ม.3 เกรดอยู่ที่ประมาณ 3.8 เธอยอมรับว่าตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่เมื่อขึ้นสู่ระดับมัธยมปลายในโรงเรียนนนทรีวิทยา ทุกอย่างกลับต่างออกไปจาเดิม
“วันปรับพื้นฐานหนูไม่รู้เรื่องอะไรเลย นั่งงงอะ กะล่อมกะแล่มเหมือนเรือจะจมก็ไม่จมเลย (หัวเราะ) อย่างวิชาคณิตอาจารย์เขาสอนตรรกะศาสตร์ใช่มะ หนูก็ถามเพื่อนนะว่ารู้เรื่องไหม เขาบอกรู้เรื่องกันหมดเพราะได้เรียนมาตั้งแต่ตอน ม.3 เทอมปลายแล้ว แต่หนูนี่ไม่เคยเรียนเลย (หัวเราะ)”
ในช่วงระดับชั้น ป.1 – ม.3 วิวเรียนอยู่ในโรงเรียนใกล้บ้านที่สังกัด กทม. ที่มีชื่อว่าโรงเรียนชุมชนพัฒนา ก่อนย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนทรีวิทยาในสังกัดของ สพฐ. โดยเธอตั้งข้อสังเกตว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เธอเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เทียบกับโรงเรียนในระดับมัธยมปลายต่างกันราวฟ้ากับเหว เธอยกตัวอย่างให้ฟังถึงกรณีของครูพละในโรงรียนชั้นมัธยมต้น เทียบกับชั้นมัธยมปลาย
“ตอน ม.ต้น คาบพละนี่คือให้ลงมาข้างล่างนะ ไม่เห็นให้ทำอะไรเลย แต่พอหมดเทอมหนูได้เกรด 4 เฉยเลย (หัวเราะ) เหมือนว่าคาบนี้ถ้าเด็กไม่ดื้อ ไม่ซนก็พอ เดี๋ยวได้เกรด 4 เอง แต่ถ้าเทียบกับตอน ม.ปลายนะ อันนั้นมีทั้งให้ตีกอล์ฟ ให้ชู๊ตบาส ต้องชู้ตให้เข้าด้วยนะถึงจะได้คะแนน ยากเลยแหละ (หัวเราะ)”
“หรือตอนอยู่ที่โรงเรียนชุมชนวิชาคณิตศาสตร์ก็คือให้เช็คชื่ออย่างเดียว สั่งงาน และจะไปไหนก็ไป แต่ทีนี้ (โรงเรียนนทรีวิทยา) เรียนเต็มเวลา 50 นาที ถ้าออกไปก่อนถือว่าขาด”
เรียนไม่รู้เรื่องแล้วทำไง ได้เรียนพิเศษไหม? เรายิงคำถามไปต่อ
คอร์สเรียนพิเศษมันแพง ดูจากเฟซบุ๊กมันคอร์สละ 5,000 – 6,000 บาทเลย ขณะที่เรารีดผ้าเดือนนึงได้ 8,000 บาทเอง เสียดายตังค์ และมันเหมือนเสียเงินสองต่อนะ ทั้งที่เสียค่าเทอมให้โรงเรียนแล้ว มันก็ควรจะสอนให้รู้เรื่อง
เรื่องเล่าจากปากของวิวสะท้อนอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยคือ การเรียนการสอนที่ไม่สัมฤทธิ์ผลจนต้องผลักให้นักเรียนขวนขวายเรียนเพิ่มในสถาบันสอนพิเศษ ซึ่งยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสของเด็กไทยที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนและไม่สามรถส่งลูกไปเรียพิเศษเพิ่มได้ จนสุดท้ายส่วนหนึ่งนำไปสู่การหลุดออกจากระบบการศึกษา (ไม่มีที่เรียน) และกลายเป็นแรงงามไร้ฝีมือ หาเช้ากินค่ำ วนเวียนเป็นวัฎจักรอยู่เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด
“เวลาเราไปสมัครงานระหว่างคนที่จบปริญญากับ ม.6 เขาจะให้ค่าคนจบปริญญามากกว่า อย่างถ้าเราจะไปสมัครงานบริษัทดังๆ วุฒิ ม.6 กับปริญญา เขาก็ต้องรับคนหลังอยู่แล้ว แต่ถึงวิวจบแค่ ม.6 จริง แต่วิวมีงานทำอยู่แล้ว ใบปริญญามันก็ไม่สำคัญเท่าไหร่หรอก” จากน้ำเสียงเราไม่แน่ใจว่ามันเป็นคำปลอบประโลมสำหรับความฝันที่แตกสลายของตัวเอง หรือเธอคิดแบบนั้นจริงๆ
(4)
ขอฝันใฝ่ในฝันไม่อาจเอื้อม
“หนูพูดจริงๆ นะ ความฝันหนูเปลี่ยนตลอดแหละพี่ (หัวเราะ)” หญิงสาววัย 20 ปีจากชุมชนล็อค 4-5-6 พูดถึงความหวัง ความฝัน และอนาคตกับเราผ่านโทรศัพท์ตั้งแต่เรายังไม่เคยเจอหน้ากัน และเรายังไม่ทันปริปากถาม
และเมื่อเจอกัน เธอถึงขยายความคำพูดว่า “ความฝันเปลี่ยนแปลงตลอด” ให้ชัดเจนขี้น
ฝันที่หนี่ง เธออยากจะทำให้ร้านซักผ้าของที่บ้านไปไกลกว่านี้ มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งอยู่ใต้คอนโดสักแห่ง เพื่อให้มีลูกค้าเยอะกว่านี้ หาเงินให้เธอและครอบครัวได้มากกว่านี้ ซึ่งเป้าหมายถัดไปหลังจากดาวน์มอเตอร์ไซค์ป้ายแดงสำหรับส่งผ้าและซื้อเครื่องซักผ้ารุ่นใหม่มาแล้วคือ เตารีดไอน้ำ ซึ่งขณะนี้กำลังลดอยู่และเหลือที่ราคา 1,000 บาทเท่านั้น
ฝันที่สอง เธออยากกลับไปเรียนต่อ แม้ใครจะมองว่าอย่างไร เธอเชื่อว่าคนเราไม่มีใครแก่เกินเรียน “หนูเห็นคนอายุ 70 ปีรับปริญญาอะ มันเจ๋งวะ เพอร์เฟคอะ หนูอยากทำแบบนั้นบ้าง ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปเรียนให้จบ ตอนไหนก็ได้ ไม่รีบเลย แต่ถ้ามีคนสนับสนุนมาเป็นสปอนเซอร์ก็ดีนะ (หัวเราะ)”
และความฝันสุดท้าย เธออยากเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ เพราะวิชาที่ชอบที่สุดของเธอคือ ชีววิทยา ซึ่งเธอบอกว่ามันมันน่าสนุก เพราะชีวะแปลว่าชีวิต “เราตื่นขึ้นมาก็เจอชีวะรอบตัวไปหมดเลย ต้นไม้ หมา แมว ทุกอย่างเป็นชีวะหมด หนูชอบเรียนวิชานี้มาก มากกว่าฟิสิกส์เยอะ เพราะหนูไม่เข้าใจว่าจะเรียนไปทำไม (หัวเราะ)”
เราหวังว่าเธอจะทำตามความฝันของเธออย่างน้อยหนึ่งในสามข้อก็ยังดี แต่ขอให้ไม่เป็นข้อ 2 ก็ข้อ 3 แล้วกัน เพราะถ้าข้อใดข้อหนึ่งในนี้สำเร็จ มันแปลว่าเธอได้กลับไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยจนจบ และภาวะที่เด็กไทยถูกถีบออกจากระบบการศึกษาเพราะเข้าไม่ถึงโอกาสก็จะน้อยลงไปอย่างน้อยอีกสักหนึ่งในหลายแสนคน
ใครสักคนเคยพูดไว้ว่า “การศึกษาไม่ใช่กระจก แต่คือหน้าต่างที่เปิดพาเราออกสู่โลกกว้าง”
แต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงของสังคมไทย ไม่ใช่หน้าต่างทุกบานที่เปิดออกได้ เพราะบางบานถูกลงกลอนไว้อย่างแน่นหนาจากความเหลื่อมล้ำและความจนที่แสนร้ายกาจ
Photograph By Asadawut Boonlitsak
Illustrator By Waragorn Keeranan