“ก็อยากจะขอให้ไฟแดงนานกว่านี้หน่อย เพื่อที่จะได้ขายมาลัยให้หมด ถ้าหากวันนี้ไฟเขียวบ่อยก็คงขาดทุน” เพลงก่อนมะลิจะบาน วง Time
ทุกวันนี้ตลอดสองข้างถนนในสี่แยกของกรุงเทพฯ เรามักจะเห็นเด็กน้อย วัยรุ่น ตลอดจนผู้สูงอายุเดินลงจากฟุตปาททุกครั้งที่ไฟจราจรเปลี่ยนเป็นสีแดง พวกเขามักแบกสินค้าสักอย่างอยู่บนไหล่ พวงมาลัยบ้าง, ช่อดอกไม้บ้าง หรือบางครั้งก็นมเปรี้ยว แล้วทำท่าโค้งหัวหน้ากระจกรถ พร้อมไหว้ท่วมหัวทุกครั้งที่มีลูกค้า หรือ “ผู้ใหญ่ใจดี” สักคนหยิบยื่นแบงค์ยี่สิบพร้อมทิปอีกเล็กน้อยให้
อันที่จริง สิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ผิดแต่ประการใดเลย มันถูกหลักทุนนิยมทุกอย่างตั้งแต่การผลิตสินค้า จนนำออกมาขาย ไม่ได้ผิดหลักจริยธรรมมากนัก ไม่มีใครโกงหรือขโมยสินค้ามา (อาจถกเถียงกันได้ในกรณีใช้เด็กมาขาย) แต่สิ่งที่น่าสงสัยคือ ทำไมในประเทศที่ได้ชื่อว่า “เกือบเจริญแล้ว” ถึงยังมีภาพของการหากินในลักษณะนี้อยู่ยาวนานจนคล้ายกิมมิคเฉพาะของประเทศนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่มีมหาเศรษฐีอยู่ไม่น้อยกว่า 50 คนกันแน่
The MATTER ลงพื้นที่พูดคุยกับเด็กที่ขายของบริเวณสี่แยก 4 คน อะไรคือเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องออกมาขายของเช่นนี้ พวกเขายังได้เรียนหนังสืออยู่ไหม โรคระบาดกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่พวกเขาอย่างไร และชีวิตของพวกเขามันสะท้อนความหิวโหยและยากจนของคนที่อยู่ล่างสุดของพีระมิดของสังคมไทยในตอนนี้อย่างไร
(1)
นมเปรี้ยวและมะลิหอม
บนถนนเส้นพระราม 9 ณ สี่แยกตรงข้ามกรมโยธาธิการและผังเมือง ทุกครั้งที่ไฟเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นแดง รถเปลี่ยนจังหวะจากเคลื่อนตัวเป็นเชื่องช้าและแน่นิ่ง เด็กชายสองคนจะถือท่อเหล็กยาวที่ร้อยพวงมาลัยไว้จนแน่นสองด้าน เดินไปตามหน้าต่างรถแล้วหยุดโค้งเป็นจังหวะ ถ้าคันไหนลดกระจกหน้าต่างลงเพื่อยื่นแบงค์ยี่สิบให้ เด็กน้อยจะหยิบแบงค์ใส่มือและส่งพวงมาลัยร้อยมะลิงามๆ หนึ่งพวงตอบแทน
ปู (นามสมมุติ) เด็กชายวัย 14 ปี และปลา (นามสมมุติ) เด็กชายวัย 13 ปี ทั้งสองเป็นญาติห่างกันเล่าให้เราฟังว่า เขาทั้งคู่มาขายพวงมาลัยอยู่ที่นี่มานานแล้ว แต่ก็จำวันเวลาที่แน่นอนไม่ได้นัก แต่กะคร่าวๆ ได้ว่าตั้งแต่อายุประมาณ 7-8 ขวบ หรืออย่างน้อยเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 7 ปี
ในช่วงที่โรงเรียนยังเปิดภาคเรียน กิจวัตรประจำวันของปูและปลาจะคล้ายเดิมทุกวัน ตื่นนอนตอน 6 โมงเช้า อาบน้ำ แต่งตัวไปโรงเรียน เมื่อถึงเวลาเลิกเรียนพี่ชายของเขาจะขับมอเตอร์ไซค์มารับที่โรงเรียนพร้อมพวงมาลัยที่แม่ของเขาร้อยมาให้ แล้วขับพาเขามาส่งที่สี่แยกนี้เป็นประจำทุกวัน ส่วนปลาจะต้องแวะไปรับพวงมาลัยมาจากตลาดในราคาพวงละ 10 บาทก่อน เพื่อนำมาขายในราคาพวงละ 20 บาท หรือได้กำไร 10 บาทต่อพวง
แต่ในช่วงปิดเทอมเช่นนี้ ทั้งปูและปลาจะมาขายพวงมาลัยทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ โดยจะเริ่มขายตั้งแต่ 11 โมงเช้า และขายเรื่อยไปจนถึงช่วงเวลาประมาณ 5-6 โมงเย็น และในบางวันก็อาจดึกกว่านั้นถ้าหากยังเหลือพวงมาลัยในมืออีกเยอะ ซึ่งดึกสุดที่เด็กทั้งคู่เคยอยู่คือเที่ยงคืน
เช่นเดียวกับปูและปลา แมน (นามสมมุติ) อายุ 18 ปี และนิภา (นามสมมุติ) อายุ 16 ปี ก็ขายของอยู่ที่สี่แยกนี้เช่นกัน เพียงแต่เป็นสินค้าคนละอย่าง
แมนและนิภาเริ่มไปรับนมเปรี้ยวบีทาเก้นจากโรงงานมาขายตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยแมนเล่าให้ฟังว่าหลังเลิกเรียนเขาจะเดินทางไปที่โรงงานบีทาเก้นเพื่อเบิกกระเป๋าที่ภายในบรรจุนมเปรี้ยว 10 ชุด (1 ชุด มี 10 ขวด) มาขายที่สี่แยกนี้ โดยจะได้กำไรชุดละ 20 บาท หรือหมดกระเป๋าจะได้กำไร 200 บาท และนำกำไรมาหารครึ่งสองคนคนละเท่าๆ กัน เขาเล่าต่อว่าวันนี้ทั้งคู่นำบีทาเก้นมา 4 กระเป๋า หรือถ้าขายได้หมดจะตกเป็นเงิน 800 บาท แบ่งสองคนก็ได้คนละ 400 บาท
ตารางเวลาชีวิตของทั้งคู่คล้ายกับปูและปลาคือ เมื่อโรงเรียนเลิกทั้งคู่จะรีบมาที่โรงงานบีทาเก้น เดินทางไปสี่แยก และขายจนกว่าของที่รับมาจะหมด ส่วนในช่วงปิดภาคเรียนแบบนี้ ทั้งคู่ก็จะออกจากบ้านเร็วขึ้น เพื่อให้ขายของหมดเร็วขึ้น
“ถ้าวันไหนขายไม่ดีเลย มาบ่ายโมงอาจต้องอยู่ถึง 3-4 ทุ่ม ถ้าวันไหนขายดีก็อาจ 10 ถุง/ ชั่วโมง”
ทั้งคู่ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าวันอาทิตย์เป็นวันที่ขายได้ดีที่สุด และช่วงเวลาที่ขายได้มากที่สุดคือ ช่วงคนเลิกงานหรือตั้งแต่ 3 โมงเย็นจนถึง 1 ทุ่ม และมาขายได้อีกนิดหน่อยในช่วง 2 ทุ่มเป็นต้นไป
(2)
ความหิวและความจนที่ร้อยรัด
อันที่จริงการกระทำของเด็กทั้ง 4 คนไม่ได้ผิดกฎหมาย มโนสำนึก หรือจริยธรรมข้อไหน แต่เหตุผลที่พวกเขาต้องออกมาขายต่างหากที่ทำน่าเจ็บปวดอย่างยิ่ง
สำหรับปู เขาเล่าว่าบ้านของเขาอยู่กันทั้งหมด 6 คน มีเขา พี่ชาย พี่สาว น้องอีกสองคน และแม่ซึ่งมีอายุราว 45 ปี และมีอาชีพเพียงอย่างเดียวคือร้อยพวงมาลัยขาย เด็กชายเล่าต่อว่าตระกูลของเขาขายพวงมาลัยมาตั้งแต่รุ่นทวดแล้ว และเพราะ “ไม่ค่อยมีตังค์ ” เด็กน้อยวัย 14 ปีถึงต้องออกมาทำงานหาเงินตั้งแต่เด็กเช่นเดียวกับทุกคนในบ้าน
“วันนี้แม่ร้อยมาให้ 50 พวงครับ” ปูพูดขึ้น เราถามต่อว่าวันนี้ขายไปได้เท่าไหร่แล้ว เด็กชายตอบว่า “วันนี้ก็ขายไปแล้ว 30 กว่าพวงครับ” สำหรับปูแล้ว เขาเล่าว่าวันนึงจะขายได้เงินประมาณ 700-800 บาท ส่วนวันที่เขาขายได้มากที่สุดคือวันพระ โดยเคยได้เงินมากถึง 1,500 บาท หรือประมาณ 75 พวง
ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวไม่นับว่ามากเลย เพียงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเพียงเล็กน้อย และหากเทียบกับการที่เด็กวัยยังไม่พ้นบรรลุนิติภาวะต้องออกมาทำงานกลางสี่แยก เสี่ยงความปลอดภัยในชีวิตของตัวเอง ยิ่งพูดยากว่าเป็นสิ่งที่ “คุ้มค่าน่าเสี่ยง”
ขณะที่ปลานั้นไปรับพวงมาลัยจากตลาดมาในราคา 10 บาท เพื่อมาขายต่อในราคา 20 บาท โดยเขามักได้รายได้ต่อวันประมาณ 300 บาท และสำหรับปลาแล้ว เขาไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ แต่อยู่ในบ้านของพี่ชายร่วมกับครอบครัวของพี่รวมเป็น 4 คน ปลาเล่าว่าที่ต้องมาอยู่กับพี่ชายเพราะทะเลาะกับพี่สาวอีกคนอยู่ตลอด ทำให้อยู่ด้วยกันไม่ได้ และเช่นเดียวกับปูที่ต้องออกมาขายพวงมาลัยเพราะ “ที่บ้านไม่มีตังค์” และต้องหารายได้ช่วยเหลือพี่ชายซึ่งต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ และอื่นๆ อีกมากในครอบครัว
“ถ้ามีเวลาจะเอาไปเรียนครับ และก็ช่วยพ่อแม่เก็บของในบ้าน” ปลาพูดขึ้นเมื่อเราถามว่าถ้าไม่ต้องมาขายของอยากเอาเวลาไปทำอะไร “แต่ที่ผมทำประจำก็กรอกน้ำใส่ขวดครับ (หัวเราะ)”
ด้านปูตอบบ้างว่า “ผมก็จะช่วยเก็บของในบ้านครับ และช่วยพ่อแม่ล้างจาน กวาดบ้านครับ”
สำหรับทั้งสองคนแล้ว วันอาทิตย์จะเป็นเพียงวันเดียวที่พวกเขามีเวลาว่างเต็มวัน และได้ “เล่นจนหนำใจ” ซึ่งพวกเขาตอบเหมือนกันว่าชอบเล่นฟุตบอล และเกม Free Fire ในโทรศัพท์
(3)
ไวรัสระบาด-ตกงาน
สำหรับเด็กวัยรุ่นอีกสองคน พวกเขาอาจไม่ได้ประสบชะตากรรมลำบากแต่เกิดหากเทียบกับเด็กน้อยทั้งสอง แต่พวกเขามาเผชิญมันอย่างหนักหน่วงในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19
แมนให้เหตุผลที่เริ่มออกมาขายนมเปรี้ยวอยู่ที่สี่แยกแห่งนี้ว่า “ตั้งแต่ช่วง COVID-19 ระบาดรอบแรก แม่ผมก็เริ่มขายเสื้อผ้าไม่ค่อยดี ตอนนั้นแม่จะให้ผมไปทำงานกับน้าที่ต่างจังหวัด แต่ผมไม่อยากไปเพราะติดเพื่อน ผมก็เลยชวนเพื่อนหางานพาร์ทไทม์ทำ และได้มาเจอนมเปรี้ยว (บีทาเก้น) แล้วก็ทำมาตลอด”
ครอบครัวของแมนอาศัยอยู่กันทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย พ่อและแม่ของแมน ตัวเขา และน้องสาว พ่อของเขามีอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์รับข้าง ขณะที่แม่มีอาชีพขายเสื้อผ้าอยู่ในตลาดนัดตอนเช้า แต่หลังจากที่โรคระบาดเริ่มลุกลามและรุนแรงขึ้นในประเทศ รายได้ที่เคยมีเข้ามาก็เริ่มหดหายไป
“ตอนช่วงก่อนมันโอเคกว่านี้ครับ แต่พอโรคเริ่มระบาด จากร้อยมันก็ลงมาต่ำมากครับ” แมนเล่าว่าเมื่อก่อนพ่อเขาเคยออกจากบ้านทุกวันเวลาตี 5 และกลับมาบ้านอีกที 3-4 ทุ่ม หรือวิ่งรถมากกว่า 16 ชั่วโมง/ วัน แลกกับรายได้ประมาณ 500-1,000 บาท/ วัน ส่วนแม่ก็มีรายรับจากการขายเสื้อผ้าตกประมาณ 9,000 บาท/ เดือน
แต่ภายหลังที่โรคระบาดเริ่มรุนแรงขึ้น มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวงดออกจากบ้านในช่วงกลางคืน ก็ทำให้ครอบครัวของแมนประสบปัญหาอย่างหนัก ทั้งพ่อและแม่ต้องหันรับจ็อบเสริมคือ ขายลอตเตอรี่ ควบคู่ไปกับงานวินมอเตอร์ไซค์และขายเสื้อที่ทำอยู่
ทำให้สรุปแล้วในตอนนี้พ่อกับแม่แมนทำงานคนละสองจ๊อบ ส่วนตัวแมนต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว
“ทำไงได้นะพี่ ค่าบ้านก็ต้องจ่าย ค่ารถก็ต้องผ่อน” แมน
ด้านนิภาก็ไม่ต่างกันมากนัก เธออาศัยอยู่กับแม่เพียง 2 คนในห้องเช่าแห่งหนึ่ง โดยแม่เธอเคยมีอาชีพเป็นแม่บ้านให้กับเจ้านายซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รายได้อยู่ 10,000 กว่าบาท/ เดือน แต่โรคระบาดทำให้เจ้านายเดินทางกลับบ้านเกิด และเลิกจ้างแม่ของนิภา
“ตอนนี้แม่หนูตกงานคะ หนูเลยต้องมาหางานทำ เพราะแม่ไม่มีรายได้เลยตอนนี้” นิภาพูดด้วยเสียงเบาหวิว
(4)
ภาพสะท้อนของสังคมที่พังลง
ช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์แมนและนิภาเล่าถึงครั้งที่พวกเขาติดไวรัส COVID-19 หลังมาขายของที่สี่แยกไฟแดงนี้ว่า พวกเขาทั้งคู่ต้องใช้เงินที่ตัวเองหามา เพื่อซื้อยารักษาตัวเอง และมีเพียงเพจ “อีจัน” เท่านั้นที่เข้ามามอบถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือ ส่วนหน่วยงานรัฐ “โทรจนแบบ.. คือเข้าใจนะพี่ เคสเราคงไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ทำได้แค่โทรแค่นั้น” เสียงของนิภาสะท้อนความคับแค้นใจถึงความตัวเล็กและไร้ซึ่งพลังในสังคมบ้าบอนี้ ..
ในสายตาเรา นิภาและแมนภาพสะท้อนของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างเต็มๆ ขณะที่เด็กตัวเล็กทั้งสองคือภาพวาดความจนที่กัดกินสังคมไทยมายาวนาน
และความพังพินาศอาจไม่จบลงแค่นั้น เพราะเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ธนาคารโลกเพิ่งประกาศลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ของไทยลงเหลือเพียง 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตที่ 2.2% และยิ่งน่ากังวลเมื่อดูตัวเลขปีที่แล้วที่ไทยเผชิญภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจรุนแรงสุดในรอบ 22 ปี ทำให้ GDP ลงลงมากถึง -6.1%
ในช่วงต้นปี ธนาคารโลกยังประเมินว่า ในปี 2563 หรือปีที่ไทยเผชิญโรคระบาดตลอดทั้งปี มีคนไทยยากจนเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคน หรือเพิ่มเป็น 5.8 ล้านคน หรือคิดแบบไม่ต้องกดเป็นเครื่องคิดเลขคือในคนไทย 12 คน จะมีคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 1 คน
แต่อันที่จริง ตัวเลข GDP จะสูงหรือต่ำอาจไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนมากนัก ตัวเลขที่น่ากลัวกว่าคือ รายงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ออกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ขี้ว่าในช่วง ม.ค.-มี.ค. ปี 2564 ไทยมีผู้ว่างงานมากถึง 760,000 คน ขณะที่ผู้ว่างงานเสมือน หรือทำงานระหว่าง 0-20 ชั่วโมง/ สัปดาห์ มีมากถึง 4.4 ล้านคน
บวกกับหนี้สินครัวเรือนของไทยที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (93% ของ GDP) สถานการณ์ของสังคมไทยตอนนี้คำว่า “เป๋” อาจจะฟังดูเบาใจไปด้วยซ้ำ
แต่หายนะที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศกลับไม่เป็นเช่นนั้นกับบางคน เพราะผลการจัดอันดับของ Hurun Rich List ชี้ว่า ประเทศไทยยังคงมีมหาเศรษฐีมากถึง 52 คน หรือมากกว่าที่ญี่ปุ่น, อิตาลี และสิงคโปร์มีเสียอีก โดยเฉพาะมหาเศรษฐีบางคนที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสอย่าง พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ ที่ครองอันดับ 1 มหาเศรษฐีในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน โดยจากการประเมินจากนิตยสาร Forbe ในปี 2564 พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.9 พันล้านเหรียญ มาอยู่ที่ 3.02 หมื่นล้าน
แต่ไม่ใช่แค่มิสเตอร์เซเว่นและครอบครัวเขาเท่านั้น นิตยสาร Forbe ยังรายงานอีกว่า สารัชถ์ รัตนาวะดี คืออีกหนึ่งรายที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมหาศาลในช่วงวิกฤตไวรัส โดยเขามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ในปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มเป็น 8.9 พันล้านเหรียญ
ขณะที่ เว็บไซต์ Thaipublica ชี้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 50 ตระกูลที่รวยที่สุดในไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20-30% โดย 50 ตระกูลที่รวยที่สุดมีทรัพย์สินรวมกันมากถึง 5 ล้านล้านบาท หรือมากกว่างบประมาณแผ่นดินเกือบ 70%
นั่นทำให้ข้อเสนอจาก คิม เอ็ดเวิร์ดส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งธนาคารโลก ที่เสนอให้ไทยหันมาเพิ่มอัตราภาษีสำหรับกลุ่มคนที่รวยที่สุด ภาษีที่ดิน รวมถึงภาษีจากกำไรการขายทรัพย์สินเป็นข้อเสนอที่ควรพิจารณามากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า เพิ่มอัตราภาษีเฉพาะคนรวยและทรัพย์สินที่พวกเขามี และได้รับผ่านมรดก
แต่นั่นแหละ มันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในประเทศที่ผู้กุมอำนาจบริหาร อำนาจทางการเงิน และอำนาจทางกายภาพเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเช่นนี้
(5)
ควรเป็นใต้แสงแดด ไม่ใช่แสงไฟจราจร
ก่อนจะจากกัน เด็กทั้งสี่คนเล่าให้เราฟังถึงความฝันของพวกเขา ปูเล่าว่าเขาอยากเป็นทหาร ส่วนปลาอยากเป็นตำรวจเพราะจะได้จับผู้ร้าย แมนอยากสอบติดคณะครุศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยรัฐสักแห่ง ส่วนนิภาอยากเก็บเงินสร้างบ้านไว้อยู่กับแม่สักหลัง เรายิ้มและบอกให้พวกเขาทำมันอย่างเต็มที่
สิ่งที่เด็กทั้ง 4 คนทำไม่ใช่สิ่งที่ผิด และเราเองยกย่องพวกเขาเสียด้วยซ้ำในฐานะเด็กกตัญญูที่ช่วยเหลือจุนเจือความลำบากของครอบครัว
แต่บางทีพวกเขาอาจไม่ต้องมาทำแบบนี้ ถ้าสังคมเรามีโครงสร้างที่เห็นหัวคนตัวเล็กตัวน้อย ช่วยเหลือพวกเขาในฐานะคนเท่ากันมากกว่าเกื้อหนุนเฉพาะปลาตัวใหญ่ที่อิ่มหนำจากระบบทุนนิยมผูกขาดของรัฐไทยมานานนับสิบปี
ในฐานะเด็ก บางทีพวกเขาควรมีเวลาวิ่งเล่นอยู่ท่ามกลางแดดจัด และได้ลงทุนเวลาในสิ่งที่พวกเขาชอบเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพื่อวันหนึ่งเขาจะค้นพบตัวเอง และไม่ต้องหลงทางเหมือนที่หลายคนกำลังเผชิญ แต่คงเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าภาษีของประชาชนกว่า 30,000 ล้านยังไม่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือความเป็นอยู่ของคน 66.8 ล้านคน ให้หลุดพ้นจากความยากจนและทำงานเลือดตาแทบกระเด็น
เด็กทั้งสี่คนนี้เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยที่กำลังกลับตาลปัตร และถอยหลังลงสู่หุบเหวเรื่อยๆ นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549
อ้างอิง: