ความน่ารัก ไร้เดียงสา เป็นเหมือนท่าไม้ตายไว้เรียกความเอ็นดูได้ดีเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ตัวน้อยในวัยเบบี๋อย่างหมูเด้ง มาสคอตขวัญใจผู้คนอย่างหมีเนย หรือแม้แต่ดารา นักร้อง นักแสดง ศิลปินด้วยก็ตาม หลายคนได้รับความเอ็นดูจากแฟนคลับ เพราะคาแรกเตอร์ช่างไร้เดียงสา อยากให้เป็นไอ้ตุวเร้กแบบนี้ตลอดไป แต่หากวันหนึ่งเขาไม่อยากมีบทบาทแบบนั้นแล้ว ความเอ็นดูที่เคยได้จะหายไปด้วยหรือเปล่านะ
พ่อมดน้อยใบหน้ากลมเกลี้ยง ดวงตาสีน้ำตาลเฉดเดียวกับผม สวมแว่นกลม มาพร้อมแผลเป็นรูปสายฟ้า ชื่อของตัวละคร ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ จากภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน สร้างความประทับใจให้ผู้ชมทั่วโลก บทบาทพ่อมดน้อยนี้อยู่กับเหล่าผู้ชมและแฟนๆ อย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าสิบปี จนภาพยนตร์ชุดนี้จบลงในปี 2011
แน่นอนว่าความผูกพันของเหล่าแฟนๆ ที่มีต่อตัวละครพ่อมดน้อยและผองเพื่อนอย่างรอนและเฮอร์ไมโอนี่ ได้ก่อตัวขึ้นอย่างเหนียวแน่น แม้บทบาทนี้จบลง เหล่าแฟนๆ ก็ยังมีภาพจำว่าพวกเขาเป็นพ่อมดแม่มดน้อยเหมือนเดิม นั่นฟังดูเหมือนไม่เป็นปัญหาอะไรใช่ไหม มีคนรัก คนเอ็นดู มันจะแย่ยังไง แปลว่าเราเข้าถึงบทบาทได้อย่างดีนี่นา แต่เมื่อภาพยนตร์จบลง ชีวิตการแสดงของเขาต้องไปต่อ นักแสดงไปรับบทอื่น ทว่าผู้คนก็ยังเอาแต่จดจำเขาในบทเด็กน้อย จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์การแสดง ไม่ว่าจะไปรับบทใดก็ตาม ภาพของพ่อมดแม่มดน้อยก็ยังติดอยู่ในหัวของเหล่าแฟนๆ อยู่เหมือนเดิม
แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) ผู้รับบทพ่อมดน้อย แฮรรี่ พอตเตอร์ เป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบกับภาพจำคาแรกเตอร์ในวัยเด็ก แม้เจ้าตัวจะย้ำเสมอในหลายบทสัมภาษณ์ว่า เขาเองไม่ได้มีปัญหาชีวิตวัยเด็กที่ขาดหายไปแบบดาราเด็กคนอื่น เขามีความสุขเสมอที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ชุด แฮรรี่ พอตเตอร์ และจะเป็นอย่างนี้เสมอไป
แต่ดูเหมือนว่าปัญหาในเรื่องนี้ จะเป็นของฝั่งผู้ชมและเหล่าแฟนๆ แทน ที่ยังคงติดภาพเดิมไม่ว่าแดเนียลจะเปลี่ยนบทบาทไปมากแค่ไหนก็ตาม ทั้งภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์หรือภาพยนตร์อินดี้ ก็ยังมีเสียงวิจารณ์แว่วว่าเขายังเป็น แฮรรี่ พอตเตอร์ ของทุกคนตลอดไป เช่นเดียวกับ เอ็มม่า วัตสัน (Emma Watson) และ รูเพิร์ต กรินต์ (Rupert Grint) ที่ประสบปัญหาเดียวกัน และใช้เวลาสักพักหนึ่งกว่าจะหลุดจากภาพจำพ่อมดแม่มดน้อยได้
และไม่ใช่แค่ในวงการฮอลลีวูดเท่านั้น เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ทุกที่ และเกิดขึ้นกับวงการซีรีส์วายของไทยด้วยเช่นกัน อย่างที่เราคุ้นเคยกันดีว่า เมะ (ฝ่ายรุก) ต้องแข็งแกร่ง เย็นชา เจ้าชายน้ำแข็ง เคะ (ฝ่ายรับ) ต้องอ้อนแอ้น ไร้เดียงสา น่าทะนุถนอม สิ่งนี้ไม่ได้กำหนดแค่คาแร็กเตอร์ในซีรีส์ แต่ยังส่งผลไปถึงภาพลักษณ์ของนักแสดงในชีวิตจริงด้วย
โดยเฉพาะการทำการตลาดเชิงเนื้อหา (Content Marketing) ในวงการวาย ที่ทำมาเพื่อเสิร์ฟความต้องการของแฟนคลับ ฝั่งผู้ผลิตเองเป็นฝ่ายกำหนดภาพลักษณ์ของนักแสดงให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าภาพลักษณ์ที่ค่ายสร้างมานั้น จะเป็นตัวตนจริง หรือเป็นตัวตนที่เหล่านักแสดงอยากจะสื่อสารออกมาหรือเปล่า หากไม่ใช่ นั่นหมายความว่ามีนักแสดงที่ต้องปรับบุคลิก ภาพลักษณ์ ให้เหมาะสมกับการตลาดในวงการนี้หรือเปล่านะ
เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีหนึ่งเสียงจากนักแสดงที่คลุกคลีอยู่กับวงการซีรีส์วาย อย่าง บาร์โค้ด – ตฤณสิษฐ์ อิสระพงศ์พร นักแสดงผู้แจ้งเกิดกับซีรีส์วาย KinnPorsche The Series ในบทบาทของ ปอร์เช่ ได้ออกมาบอกเล่าความรู้สึกผ่านโซเชียลมีเดีย ถึงความรู้สึกอึดอัดต่อภาพลักษณ์ที่ถูกตั้งไว้ให้เป็นคนอ่อนต่อโลก และถูกคาดหวังว่าจะต้องเป็นแบบนั้นเสมอ ไม่ว่าจะในบทบาทการแสดงหรือชีวิตจริงก็ตาม
“สิ่งที่ผมอยากบอกคือ ผมไม่ได้เป็นแค่ตัวละครในภาพที่คนคาดหวัง ผมคือคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องการเติบโตและการรับรู้จากทุกคนในแบบที่ตัวเองเป็นจริงๆ”
ข้อความส่วนหนึ่งจากโซเชียลมีเดีย ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เขากำลังเผชิญ จนเกิดความกดดันและส่งผลกับจิตใจของเขาเป็นอย่างมาก และยังกล่าวอีกว่ามีนักแสดงคนอื่นที่ต้องเจอกับปัญหาลักษณะเดียวกันนี้
เมื่อภาพจำกักขังนักแสดง
บทบาทจบลง แต่ภาพจำไม่ได้จบตาม ยังมีแฟนๆ บางส่วนคาดหวังให้นักแสดงยังคงบทบาทที่พวกเขาชื่นชอบเอาไว้เสมอ เพื่อสนองความชอบส่วนตัว อยากเห็นเขาเป็นเหมือนในเรื่องนั้น อยากให้คงความไร้เดียงสาเอาไว้ มองว่านี่ล่ะ บทบาทที่เหมาะที่สุดแล้ว เมื่อมีชื่อเสียงขึ้นมาจากบทบาทนี้ ก็รับบทแนวนี้ไปเรื่อยๆ ทำแล้วได้รับความนิยมก็ต้องทำแบบนี้ต่อไป ทำให้นักแสดงหลายคนจำต้องรับบทคล้ายเดิมซ้ำๆ เพื่อสนองความต้องการของแฟนคลับ
ไม่ใช่แค่ในจอเท่านั้น ความคาดหวังลุกลามไปถึงชีวิตจริงของนักแสดง แม้จะไม่ได้สวมบทบาทนั้นแล้วก็ยังถูกคาดหวังให้ต้องมีภาพลักษณ์ไร้เดียงสา อ่อนแอ ทั้งที่ตัวตนจริงของนักแสดงอาจไม่ใช่แบบนั้นเลยก็ตาม การกระทำแบบนี้จึงเป็นเหมือนการแสดงความต้องการที่ขัดกับสิ่งที่นักแสดงนิยามตัวเอง เมื่อเขายืนยันแล้วว่าในชีวิตจริง เขามีตัวตนแบบนี้ นิสัยแบบนี้ อาจจะเหมือนหรือต่างก็ได้ แต่เมื่อมีแฟนๆ เรียกร้องให้คงภาพลักษณ์แบบที่ตนเองชอบเอาไว้ เมื่อล้ำเส้นมากเข้ามันอาจก่อให้เกิดความรู้สึกถูกลดคุณค่าในตัวเองได้
โดยเฉพาะเมื่อชีวิตจริงของนักแสดง มีการนิยามตัวเองที่ต่างจากภาพลักษณ์ที่ถูกกำหนดไว้หรือความคาดหวังของแฟนคลับ แต่กลับไม่กล้าแสดงตัวตนในแบบที่เป็นจริงๆ ออกไปได้ เพราะไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะได้รับความนิยมลดลงหรือเปล่า หรือจะได้รับคำวิจารณ์ในแง่ลบหรือไม่ จนเกิดเป็นความขัดแย้งในใจ
ไม่ต้องพูดถึงว่าความเครียด ความกดดัน จากปัญหาอันยุ่งเหยิงที่ตีกันวุ่นในใจนำพาไปสู่ปัญหาทางสุขภาพใจได้มากแค่ไหน เอาแค่ว่าสิ่งนี้ มันใช่สิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า ทำไมคนเราถึงแสดงออกในความเป็นตัวเองไม่ได้
นอกจากเป็นนักแสดง เขายังเป็นคนคนหนึ่ง มีชีวิต ตัวตน ความต้องการเป็นของตัวเอง จะดีกว่าไหมหากเรารักและชื่นชมใครสักคนด้วยตัวตนที่เขาเป็นจริงๆ มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกถึงตัวตน ความต้องการของตัวเอง เห็นเขาเติบโตขึ้นและยินดีไปกับทุกก้าวของเขา ไม่ว่าเขาจะเลือกทางไหนก็ตาม นั่นแสดงออกถึงการยอมรับในตัวตนของเขา ไม่ลดทอนคุณค่าด้วยการปฏิเสธตัวตนแล้วสวมบทบาทให้เขา ราวกับเขาเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง
มองเห็นคุณค่าในความต้องการของเขา เคารพในตัวตน เพราะเราทุกคนต่างต้องโตขึ้นในสักวัน ไม่ว่าจะเราหรือนักแสดงที่เรามีภาพจำเขาแบบไหนก็ตาม
อ้างอิงจาก