“ในแง่หนึ่ง กระเบนราหูไม่ได้พูดในฐานะที่เราเป็นโรฮิงญา เราไม่ได้เอาชีวิตของเขามาใช้เลย เราเชื่อในความสามารถของภาพยนตร์ว่ามันไม่สามารถนำคนเข้าไปสู่ปัญหาได้ขนาดนั้น แต่เราแค่เอาคนไปยืนอยู่ที่ชายแดนแล้วมองปัญหาเหล่านั้นด้วยกัน แล้วก็มองกลับมาที่เรา”
เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ‘กระเบนราหู’ (Manta Ray) เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส หนึ่งในเทศกาลหนังลำดับต้นๆ ของโลก สิ่งที่น่าตื่นเต้นนอกจากการเป็นหนังไทยเรื่องแรกและเรื่องเดียวในเทศกาลแล้ว กระเบนราหูยังเลือกพูดเรื่องผู้อพยพ เรื่องโรฮิงญาอันประเด็นยากสำหรับบ้านเรา
The MATTER ชวน ‘พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง’ ผู้กำกับกระเบนราหูมาคุยเกี่ยวกับเหตุผลและวิธีการทำงานที่เลือกทำงานไปพร้อมกับเรียนรู้ในเรื่องที่ตัวเองทำ การทำหนังยาวเรื่องแรกจากการเป็นผู้กำกับภาพ การพาผู้ชมไปสู่ชายแดนและปัญหาที่ตรงหน้า ไปจนถึงอะไรคือพลังของภาพยนตร์
The MATTER : อยากให้เล่าถึงที่มาของโปรเจกต์ ‘กระเบนราหู’
พุทธิพงษ์ : โปรเจกต์นี้เริ่มมาจากปี 2009 ตอนแรกใช้ชื่อว่า Departure Day เป็นโปรเจกต์ที่เราอยากจะทำหนังยาวเรื่องแรกของตัวเอง ความเป็นมาคือก่อนหน้านี้เราทำวิดีโอชุดนึง เป็นวิดีโอไว้ฉายในมิวเซียม วิดีโอชุดนั้นตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของศิลปิน ตอนนั้นเราโฟกัสแคบลงไป เรามีคำถามว่าเวลาที่ศิลปินทำงานออกมาหนึ่งชิ้น สร้างสิ่งที่ดีออกมาขึ้นมา ซึ่งพอเราเอาไปทำซ้ำ ไปก็อปปี้อีกครั้ง ทำไมความดีเหล่านั้นถึงได้ถูกลดทอนลง มันเป็นคำถามต่อตัวเราเองและถึงศิลปิน
พอจะทำหนังยาวเราก็เอาแนวความคิดมาพัฒนา หนังยาวเป็นโปรเจกต์ที่ใช้เวลานาน เลยเลือกเรื่องที่เราสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการทำงานได้ จากความสนใจเรื่องตัวตนของศิลปินก็ขยายไปสู่ความสนใจเรื่องอัตลักษณ์ของมนุษย์ที่ใหญ่ขึ้น ทั้งความเป็นชาติ และการแบ่งแยกทางด้านศาสนา
จากคำถามถึงศิลปิน จนถึงเรื่องที่ใหญ่ขึ้นเช่นความเป็นชาติเป็นศาสนาก็ค่อนข้างเป็นด้านลบในตอนแรก แต่จากกระบวนการทำงานในกระเบนราหู เราได้เรียนรู้ ได้เริ่มเข้าใจว่าอัตลักษณ์ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ไม่ใช่เรื่องด้านลบ ทุกวันนี้โลกเรากำลังหลอมรวมกัน มนุษย์ทุกเชื้อชาติพยายามสร้างอัตลักษณ์ของเราขึ้นมาเพื่อไม่ให้ถูกกลืนหายไป แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เราไปมองอัตลักษณ์คนอื่นให้แย่ลง ตรงนี้เป็นคำถามที่เอามาทำหนังเรื่องนี้
The MATTER : จากประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ ทำไมถึงเลือกโรฮิงญาซึ่งเป็นประเด็นที่พูดยากสำหรับสังคมไทย
พุทธิพงษ์ : อย่างที่บอกว่าเราเลือก subject ที่เราสามารถเรียนรู้กับมันไปได้เรื่อยๆ เราเลยเลือกเรื่องจากความยากนี่แหละ และก็เพื่อตอบตัวเองด้วยว่าประเด็นเรื่องอัตลักษณ์จะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ ส่วนตัวมีความรู้หรือการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์เลย ตอนแรกที่บอกว่าเราสนใจเรื่องอัตลักษณ์ เราไม่รู้ว่าจะเริ่มโปรเจกต์ยังไง สิ่งแรกที่คิดคือ คิดว่าการแบ่งแยกอัตลักษณ์หรือแบ่งแยกเรา-เขาที่ชัดเจนเกิดขึ้นบริเวณดินแดนที่เชื่อมต่อกัน เราเลยไปหาข้อมูลแถบชายแดน และเลือกพื้นที่ระหว่างไทยกับพม่าเพราะว่าตรงนั้นมีแลนด์สเคปที่น่าสนใจ มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน มีแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย เรื่อยมาจนถึงอันดามัน เราไปดูโลเคชั่นก่อน ไปหาพื้นที่ของเรา
ตอนนั้นไม่มีเนื้อเรื่องอะไรในหัวเลย แต่พอรู้ว่าหนังต้องถ่ายตรงนั้น และตอนที่ต้องหาเรื่องมาใส่ในหนัง เรามีพี่ มีเพื่อนเป็นนักวิชาการ เราก็ติดต่อขอข้อมูลไป ได้เรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพ เรื่องเกี่ยวกับผู้คนที่ไม่มีสัญชาติ เรื่องโศกนาฏกรรมต่างๆ ในตอนช่วงปี 2009 ที่เริ่มงานมีข่าวผู้อพยพชาวโรฮิงญานั่งเรือมาพักที่เมืองไทยก่อนจะไปมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย แต่ทางฝั่งเราไม่ให้พัก มีการผลักดันออกไป คน 300 คนเลยสูญหาย พบศพ 5 คน เราเริ่มรู้จักคำว่าโรฮิงญา เลยโฟกัสตามโรฮิงญามาตั้งแต่ตอนนั้น
The MATTER : ประเด็นเรื่องโรฮิงญาดูจะเป็นประเด็นเฉพาะในแถบบ้านเรา เวลาเอาหนังไปฉาย ต่างชาติเข้าใจประเด็นนี้ไหม
พุทธิพงษ์ : กระเบนราหูโฟกัสที่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนึง จริงๆ ในหนังมีเขียนคำว่า ‘แด่โรฮิงยา’ ไว้ตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง คือถ้าเราตัดประโยค ตัดคำพูดนั้นออกไป ในหนังมันไม่ได้อธิบายถึงชนชาตินั้นโดยเฉพาะ เราอยากให้หนังเป็นคำถามสากลที่ทุกคนรู้ว่าโลกเรากำลังเจอกับปัญหาผู้อพยพที่กำลังรุนแรงอยู่ตอนนี้ กระเบนราหูเลยไม่ได้เฉพาะอยู่แค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
The MATTER : ดูเหมือนว่าหนังจะพูดเรื่องน้ำเช่นทะเลและท้องน้ำเสมอ น้ำและชายฝั่งมีความสำคัญกับประเด็นในงานอย่างไร
พุทธิพงษ์ : เรามีประสบการณ์หนึ่งตอนที่ไปรีเสิร์ชที่แม่น้ำเมย ตอนนั้นเราเอากล้องฟิล์ม 16 มิลลิเมตรไป ใจอยากไปถ่ายแลนด์สเคปของดินแดนทั้งสองฝั่งไทยพม่า แม่น้ำเมยมันใหม่มากสำหรับเราเมื่อสิบปีที่แล้ว พอไปอยู่ตรงนั้น แม่น้ำเมยตื้นมาก เราก็คิดถึงว่า ตรงไหนของแม่น้ำคือเส้นที่แบ่งระหว่างสองประเทศ หัวสมองเราก็พยายามสร้างเส้นที่มองไม่เห็นอยู่
อยู่ๆ เหมือนกับในละคร ระหว่างที่เราถ่ายมีเด็กพม่า ไม่รู้เด็กพม่ารึเปล่าแต่มาจากฝั่งพม่า เด็กอายุ 6-7 ขวบ แล้วก็มีเด็กฝั่งไทยอีกสองคน เหมือนนัดกันมาเวลานี้ มาเล่นกันในแม่น้ำ คือตอนที่ไปเหยียบตรงแม่น้ำเรารู้สึกว่าตัวเองท้าทายกับขอบเขตอันนั้นแล้ว เรามายืนอยู่ตรงนี้ ตรงที่ที่ไม่มีคน ไม่มี ตม. ไม่มีทหาร แต่กลับมีเด็กที่ เฮ้ย เขาไม่รู้เรื่องนี้เลย ไม่รู้เรื่องว่ามีเส้นแบ่งนี้อยู่ เขาก็มาเล่นกัน เราบอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเด็กพวกนั้นเป็นใคร เป็นเด็กฝั่งไหน
ตรงนี้ทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าพื้นที่ธรรมชาติมีเส้นบางอย่างที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้น แล้วไอ้เส้นนี้เนี่ยแหละที่มันอาจจะเป็นปัญหา ในตอนนั้นอย่างที่เราบอกว่าเรามีอคติในความเป็นชาตินิยมอยู่
The MATTER : โปรเจกต์นี้มีความยากลำบากตรงไหนบ้าง
พุทธิพงษ์ : เราอยากพูดถึงเรื่องการหาเงินก่อนเลย โปรเจกต์มันเริ่มที่เราได้เงินพัฒนาบทจากเกาหลี จากเทศกาลปูซาน ช่วงนั้นเลยมีเงินไปรีเสิร์ชต่างๆ ได้ หลังจากนั้นไม่มีคนสนับสนุนเลยเงียบไปพักใหญ่ ช่วงนั้นก็ดูบทกันไป กินเวลาเกือบห้าปีด้วยซ้ำ ความโชคดีของเราคือเทศกาลปูซานอีกแล้ว เขาให้เงินมาทำหนังสั้น พอทำหนังสั้นและไปฉายหลายๆ ที่ แล้วมีฟีดแบ็คที่ดี ทำให้มีโปรดิวเซอร์จากฝรั่งเศสเห็น เขาเลยอยากร่วมทำงานด้วย ตรงนี่ทำให้เราได้เงินจากฝรั่งเศสที่เป็นทุนส่วนใหญ่ในการทำหนัง พอเราได้เงินจากฝรั่งเศส เอาหนังไปฉายเมืองนอก เราก็จะได้รับฟีดแบ็คเชิงลบจากคนไทยว่า ทำไมต้องเอาหนังไปฉายเมืองนอก อยากจะดูดีรึเปล่า ดูเท่รึเปล่า แต่ที่เมืองไทยมันไม่มีหนทางจริงๆ มันไม่รู้จะทำยังไงจริงๆ อันนี้เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด นี่เป็นปัญหาเรื่องเงิน ปัญหาหลักของการทำหนังตั้งแต่สร้างยันจัดฉาย
อีกเรื่องคือข้อมูลเกี่ยวกับผู้อพยพ มันยากมากตั้งแต่ปี 2015 ที่เราพยายามกลบเรื่องราวทุกอย่าง กลบบาดแผลไม่ให้คนเห็น เราเคยไปท่าเรือหนึ่งที่ตัวเมืองระนองในปี 2009 ตอนนั้นท่าเรือมัน exotic มาก ทุกอย่างถูกเทลงบนพื้น เจอชาวประมงถอดเสื้อ ปลาดูสดมาก กลับมาอีกทีปี 2015 ไทยถูกปลดจาก tier 2 มาเป็น tier 3 รัฐบาลบอกว่าเราต้องไม่ค้ามนุษย์ ต้องมีสุขลักษณะที่ดี สะพานปลาก็เลยกลายเป็นสะพานปลาญี่ปุ่น มีถาด มีผ้าใบ เราถือกล้องไปอยากถ่ายภาพสะพานปลาแต่มีเจ้าหน้าที่บอกว่าถ่ายไม่ได้
เราเข้าไปลำบากมาก ทางฝ่ายหน่วยงานราชการไม่อยากให้เราทำอยู่แล้วละ เขาต้องควบคุมบางอย่าง ทางฝ่ายที่พยายามจะช่วยเหลือเรื่องนี้ในภาคเอกชนเขาก็กลัว ในปี 2015 เป็นช่วงที่เราได้เงินมาถ่ายแน่ๆ แต่กลับเป็นว่าเราหาข้อมูลเพิ่มไม่ได้ หาโลเคชั่นไม่ได้ อันนี้ก็เป็นปัญหาอีกอันหนึ่ง
The MATTER : ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ว่าโรฮิงญาเป็นเหมือนคนที่เรากลัวทั้งๆ ที่ยังไม่เคยเห็นหน้า หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นการให้ใบหน้าและเสียงของโรฮิงญารึเปล่า และกระเบนราหูเลือกนำเสนอโรฮิงญาอย่างไร
พุทธิพงษ์ : ตั้งแต่ที่เราไปรีเสิร์ช ข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นเรื่องโศกนาฏกรรม เป็นผู้ถูกกระทำ เราเองก็มีความลำเอียงอยู่บ้าง ระยะแรกๆ บทที่เราทำคืออยากจะทำชีวิตเขาเลย อยากเอาตัวละครหนึ่งเป็นคนถูกกระทำ แต่พอพัฒนาบทไปจุดหนึ่งเราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ เราไม่ใช่คนที่พูดให้เขา คำถามที่เรามีเรายังตอบไม่ได้เลย อย่าเพิ่งกระโดดไปหาเขา พอหนังมันพัฒนาขึ้นมา ภาพโรฮิงญาของเราก็ยังเป็นผู้ถูกกระทำอยู่ เราปฏิเสธไม่ได้ เพียงแค่เราทำให้เป็นกลางที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ คนแปลกหน้าในหนังเราจะไม่ใช่คนที่น่ากลัว
ในแง่หนึ่ง กระเบนราหูไม่ได้พูดในฐานะที่เราเป็นโรฮิงญา เราไม่ได้เอาชีวิตของเขามาใช้เลย เราเชื่อในความสามารถของภาพยนตร์ว่ามันไม่สามารถนำคนเข้าไปสู่ปัญหาได้ขนาดนั้น แต่เราแค่เอาคนไปยืนอยู่ที่ชายแดนแล้วมองปัญหาเหล่านั้นด้วยกัน แล้วก็มองกลับมาที่เรา
The MATTER : คิดว่าในที่สุดแล้วศิลปะภาพยนตร์สามารถเยียวยาปัญหาและเรื่องความขัดแย้งได้ไหม
พุทธิพงษ์ : จริงๆ อันนี้ก็เป็นคำถามที่เราถามตัวเองด้วยว่าภาพยนตร์มีพลังได้ขนาดนั้นรึเปล่า ในประวัติศาสตร์มันมีและเคยเกิดขึ้นแล้ว แต่ปัจจุบันมีสื่อต่างๆ เกิดขึ้นมามากมาย เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพลังของภาพยนตร์จะยังหลงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน ตัวเราเองมองภาพยนตร์ว่าเราพาคนดูมาได้ถึงจุดหนึ่ง ปัญหาที่อยู่ภายในจอที่เห็น คนดูจะกระโดดเข้าไปรึเปล่า หรือจะไม่เอาแล้วถอยกลับมา ภาพยนตร์มันนำมาได้เท่านี้จริงๆ มันแค่นำคนดูมารู้จักกับสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง
The MATTER : สรุปแล้วคนทำหนังอินดี้ไทยเป็นเรื่องของความเท่รึเปล่า
พุทธิพงษ์ : จริงๆ คนทำหนังอินดี้ก็อยากเท่แหละ (หัวเราะ) ถ้าความเท่หมายถึงการไปฉายต่างประเทศมันก็ดูดี เอาจริงๆ แล้วเราเชื่อว่าคนทำหนังอิสระที่อยากไปฉายต่างประเทศเพราะมันมีกลุ่มผู้ชม ยกตัวอย่างหนังเราไปฉายเวนิส โรงใหญ่มากหนึ่งพันสี่ร้อยที่นั่ง มีคนมาดูครึ่งโรงเราก็ถือว่ามีคนมาดูหนังเราเจ็ดร้อย สองรอบก็พันกว่าคนแล้วนะ คนพันกว่าคนขายตั๋วสองร้อยบาทก็ได้เยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้หนังอินดี้ที่ฉายถ้ากลับไปดูยอดเงินที่ได้รับมาในไทยมันน้อยมาก
The MATTER : ในฐานะที่เป็นผู้กำกับภาพมาก่อน และตัวหนังเองก็โดดเด่นในเรื่องภาพที่สวยงาม ในแง่หนึ่งประเด็นที่เราพูดเช่นการเป็นผู้ถูกกระทำไม่เชิงว่าเป็นเรื่องสวยงามเท่าไหร่ มีวิธีจัดการความสวยงามกับเรื่องที่ไม่สวยงามอย่างไร
พุทธิพงษ์ : เราไม่ได้เชื่อขนาดว่าภาพที่สวย สวยในองค์ประกอบของภาพ แสงสี มันจะพูดแต่เรื่องสวยงาม ถ้าเรายกตัวอย่างงาน เดอะสครีม (The Scream) ของเอ็ดเวิร์ด มุนช์ ศิลปินชาวนอร์เวย์ที่วาดไว้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาพมันก็สวยนะ อีกมุมก็ดูตลก แต่เอาจริงๆ พอเราดูภาพ ดูบริบทมันมีความโหดร้ายอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นเราไม่เชื่อว่าความงามของภาพจะนำพาแต่ความงามของโลกได้ มันต้องมีคอนทราสต์บางอย่าง
The MATTER : มีแผนสำหรับโปรเจกต์ต่อไปแล้วรึยัง ยังคงทำหนังต่อไปไหม
พุทธิพงษ์ : โปรเจกต์หน้าวางไว้แล้ว เป็นทีมเดิมที่ทำกระเบนราหูด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ เก่ง จักรวาล โปรดิวเซอร์ที่เป็นผู้กำกับที่กำลังจะทำหนังยาวเรื่องต่อไป จะถ่ายปีหน้าซึ่งได้ทุนจากต่างประเทศอีกแล้ว เราเองก็จะเป็นช่างภาพให้เขา
The MATTER : หนังเรื่องต่อไปยังทำหรืออยากเรียนรู้เรื่องอัตลักษณ์อยู่รึเปล่า
พุทธิพงษ์ : คิดว่ายังคงต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกนาน ก็ยังคงอยากทำเรื่องนี้อยู่ ในเรื่องหน้าเราจะโฟกัสที่ความยุ่งเหยิงในตัวเมืองมากกว่า อาจจะไม่ได้ออกไปชายแดน ไม่ไปเอาเชิงกายภาพของประเทศมาเล่นกับบริบทนี้ อาจจะเอาความยุ่งเหยิงหรือเส้นแบ่งบางอย่างในเมือง