“เกษียณอายุแบบมีเงินบำนาญน่ะเหรอ? ฉันไม่ได้คิดว่าจะมีวันนั้นหรอกนะ” เถา สวิฟต์ คนว่างงานวัย 30 ปี หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สนใจว่าจะต้องมีเงินสำรองไว้ แม้ว่าจีนจะต้องการให้คนหนุ่มสาวมีเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณอายุก็ตาม
เถาเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดเช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่นๆ ในโซเชียลมีเดียที่กำลังตั้งคำถามว่า ‘เราควรออมเงินไว้ใช้ตอนแก่มั้ย?’ ซึ่งบางคนเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้นเพราะสถานการณ์ต่างๆ เช่น ตกงาน รายได้ลดลง และกำลังสับสนเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง
วิถีที่เปลี่ยนไปนี้สะท้อนถึงความท้าทายอันใหญ่หลวงของผู้นำจีนอย่าง สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ที่ในเวลาไม่ถึงสามทศวรรษประเทศจีนก็เปลี่ยนแปลงจากสังคมวัยรุ่นไปสู่สังคมสูงวัย อีกทั้งอัตราการเกิดที่ลดลงติดต่อกัน 7 ปี ผลักดันให้มีคนวัยทำงานน้อยกว่าคนวัยเกษียณ
ข้อมูลประชากรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสร้างความตึงเครียดให้กับระบบบำนาญของจีนที่ปกติแล้วก็ไม่ได้เพียงพอ อายุเกษียณโดยเฉลี่ยของจีนอยู่ที่ 54 ปี ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในโลกทำให้ความตึงเครียดนี้รุนแรงมากขึ้น
การชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่จีนยอมรับระบบทุนนิยมเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว ซึ่งบีบให้คนจำนวนมากตกงานและไม่มีกำลังพอจะจัดสรรเงินของตัวเอง ประเทศจีนกำลังเผญิชปัญหาด้านประชากรและเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกัน ซึ่งสั่นคลอนความเชื่อมั่นในระบบบำนาญ
ตามข้อมูลของ Academy of Social Sciences ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของรัฐบาลจีนระบุว่า ประเทศจีนกำลังเข้าสู่สังคมวัยชราอย่างรวดเร็ว โดยอีก 520 ล้านคน หรือราว 40% ของประชากรปัจจุบันจะมีอายุมากกว่า 60 ปี ในทศวรรษหน้า และเงินบำนาญสาธารณะจะหมดลง
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีกนั่นคือ ผู้คนจำนวนมากที่ว่างงาน หรือคนที่เป็นฟรีแลนซ์ ต่างเลิกจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับบำนาญและบางคนเลือกที่จะไม่เข้าสู่ระบบเลยด้วยซ้ำ ต้าหลี่ หยาง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกบอกว่า “คนที่ตัดสินใจว่าจะหยุดจ่ายหรือไม่เข้าร่วมกับระบบบำนาญนี้มีเยอะขึ้นเรื่อยๆ” เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังเตือนด้วยว่าถ้าจีนไม่ปรับอายุเกษียณ ก็จะต้องลดสิทธิประโยชน์ของคนวัยเกษียณลง
งานวิจัยระบุว่า จีนมีแผนบำนาญที่ต่างกันหลายพันแผน และแต่ละแผนจะได้รับการจัดการโดยหน่วยงานท้องถิ่น จำนวนผู้เกษียณอายุที่ได้รับนั้นเชื่อมโยงกับการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นและขนาดของกลุ่มผู้รับบำนาญที่กำหนด ซึ่งเงินบำนาญบางแห่งก็มีผู้เข้าร่วมเพียง 30,000 คนเท่านั้น
บางภูมิภาคที่ค่อนข้างเจริญ มีคนงานมากถึง 8 คน ที่คอยช่วยเหลือผู้เกษียณอายุ กลับกันในพื้นที่ที่ยากจนมีคนงานเพียง 2 คนที่คอยช่วยเหลือผู้เกษียณอายุ ด้วยความกดดันที่เพิ่มขึ้นเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญต่างชักจูงให้คนหนุ่มสาวออมเงิน และลงทะเบียนในโครงการบำนาญ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ออกมาเตือนวัยรุ่นด้วยว่า เงินบำนาญขั้นพื้นฐานมันยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเมื่อพวกเขาแก่ขึ้น
สิ่งนี้สะท้อนปัญหาที่ยังเป็นที่ถกเถียงในไทยเช่นกัน เมื่อประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ธนาคารโลกระบุว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยอายุเกิน 65 ปี คิดเป็นมากกว่า 10% (มากกว่า 7 ล้านคน) และจะเพิ่มขึ้นถึง 17 ล้านคน ภายในปี 2583 ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด เมื่อรวมกับประเทศจีนแล้วประเทศไทยจะมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และคาดว่าจะมีสัดส่วนมากเป็นลำดับแรกของภูมิภาคภายในปี 2583
ประเทศไทยอาจพึ่งพาการบริโภคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มากในอนาคต เพราะความเป็นไปได้ว่าจะมีจำนวนคนสูงวัยมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องวางแผนเศรษฐกิจในอนาคตไว้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเรือน เพราะการแก่แล้วมีเงินใช้ไม่ใช่แค่ปัญหาภายในประเทศอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาระดับชาติ
อ้างอิงจาก