เมื่อไม่นานมาน้ี ได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งพูดได้ว่าเป็นคนที่มีรายได้ดีมาก เงินเดือนที่เขาได้รับนั้นสูงกว่าเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีประเทศไทยหลายเท่า ถ้าใครรู้รายได้ของเขา ก็ต้องคิดว่าเขาเป็น ‘คนรวย’ แน่ๆ
ซึ่งก็ใช่ – เขาเป็นคนรวย ซึ่งถ้าดูจากรายงานปี พ.ศ.2561 ของสำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่มีทางบอกได้เลยว่าเขาเป็นคนจน
เมื่อไม่นานมานี้ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง (คือคุณ @_kielsan_) ได้นำแผนภาพหนึ่งจากรายงานดังกล่าวของปี 2560 มานำเสนอ เป็นแผนภาพที่ 2.4 ที่ข้อมูลพื้นฐานมาจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และนำมาประมวลผลโดยสำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม โดยส่วนตัวคิดว่าแผนภาพนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
มันคือแผนภาพที่สรุปความจนความรวยของสังคมไทยเอาไว้ได้แทบจะทั้งหมดในภาพเดียว คือมองปราดเดียวก็รู้เลยว่าตัวเราและรายได้ของเราอยู่ตรงไหนในสังคมกันแน่
แผนภาพนี้บอกเราว่า คนยากจน คือคนที่มีรายได้ต่ำว่า 2,686 บาทต่อเดือน ซึ่งต้องถือว่าเป็นรายได้ที่ ‘ต่ำมาก’ มนุษย์ที่ไหนจะอยู่ได้โดยมีรายได้เพียงเท่านี้ แต่ก็มี แถมยังมีมากเสียด้วย คือมีมากถึง 5.3 ล้านคน
แล้วต่อให้เป็นคนที่ ‘ไม่ได้ยากจน’ แล้ว แต่อยู่ในสถานะ ‘เกือบจน’ ก็ยังมีรายได้เพียง 3,173 บาทต่อคนต่อเดือนเท่านั้นเอง แปลว่ามีรายได้เพิ่มแค่เดือนละราวห้าร้อยบาท ก็พ้นจากสถานะแห่งความจนไปแล้ว ซึ่งต้องถามว่า – ใช่หรือ?
รายได้เดือนละสามพันกว่าบาทนิดๆ ที่ว่านี้ – ทำให้เราอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะควรแก่ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเราโดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินอันจะทำให้เราร่วงหล่นตกชั้นไปเป็นคนยากจนได้จริงหรือ และต่อให้ไล่ขึ้นไปอีกนิด คือพื้นที่สีฟ้าที่มีคนอยู่ 16.3 ล้านคน ก็พบว่าคนเหล่านี้มีรายได้เพียงห้าพันกว่าบาทต่อเดือนเท่านั้นเอง
ตอนผมเริ่มเรียนมหาวิทยาลัย (คือเมื่อกว่าสามทศวรรษที่แล้ว) รุ่นพี่ที่จบไปก็ได้เงินเดือนประมาณนี้ (คือห้าพันกว่าบาท) คำถามจึงคือ – นี่มันพุทธศักราชเท่าไหร่แล้ว ข้าวแกงขึ้นราคาไปเป็น 100% แล้วไม่ใช่หรือ ทำไมรายได้ของคนจำนวนถึง 16.3 ล้านคน ถึงยังถูกฟรีซเอาไว้ที่เดิมอยู่อีก
ไล่ขึ้นไปที่พื้นที่สีเขียว (ซึ่งน่าจะแปลว่ามีความปลอดภัยในชีวิตพอสมควร) เราจะพบว่าในพื้นที่นี้มีตัวเลขน่าสนใจอยู่ตัวเลขหนึ่ง มันคือค่าเฉลี่ยแบบที่เรียกว่า Median
ในทางสถิติ คำว่า Median ก็คือ ‘ค่ามัธยฐาน’ หรือค่าที่อยู่ตรงกลางระหว่างครึ่งบนกับครึ่งล่าง เราจะพบว่า รายได้ของคนไทยที่อยู่ตรงกลางระหว่างครึ่งบนกับครึ่งล่างนั้น อยู่ที่ 6,531 บาทต่อเดือน ซึ่งแปลว่า ถ้าใครมีเงินเดือนมากกว่า 6,531 บาท ก็แปลว่าคุณอยู่ใน ‘ครึ่งบน’ ของสังคมแล้ว
นั่นเป็นสิ่งที่ชวนขมวดคิ้วเป็นอย่างยิ่ง เพราะคนที่มี
เงินเดือนแค่หกพันกว่าบาทนั้น เรารู้อยู่ว่าแทบจะ
ถือว่าเป็นคนที่มีพอกินไม่ได้เลย!
ที่ชวนขนลุกขนพองยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ เราจะพบว่า คนที่ถือเป็น Top 10% หรือยอดบนสุดของพีระมิดสังคมไทย คือกลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่า 18,724 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นเงินเดือนมากกว่าเงินเดือนแรกเริ่มของระดับปริญญาตรี (ที่ 15,000 บาท) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เรารู้กันอยู่ว่า รายได้ราวๆ นี้ ไม่ได้ทำให้เด็กรุ่นใหม่ในเมืองวัยเริ่มต้นทำงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และไฟสามารถลุกขึ้นมาสร้างเนื้อสร้างตัวได้ เพราะต้องเผชิญค่าครองชีพสูงลิบลิ่ว ตั้งแต่ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
แต่มีรายได้ ‘แค่นี้’ ก็ถือว่าเป็น Top 10% ของสังคมได้แล้ว
มันแปลกไหมเล่า!
แต่นั่นยังไม่ใช่เรื่องแย่ที่สุด เพราะเรื่องแย่ที่สุดอยู่ที่ ‘รายได้เฉลี่ย’ ของคนไทยทั้งประเทศ เราจะพบว่า รายได้เฉลี่ยที่เรียกว่า GDP per capita หรือการนำเอา GDP มาหารจำนวนคนทั้งประเทศ (ถือเป็นค่าเฉลี่ยอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากค่าเฉลี่ยแบบมัธยฐาน) เราจะพบว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 19,031 บาทต่อเดือน ซึ่งก็นับว่าสูงใช้ได้
แต่รู้ไหมครับ – ว่ายิ่งสูงเท่าไหร่, ก็ยิ่งน่าขนลุกมากเพียงนั้น
เพราะถ้า ‘ค่ากลาง’ แบบมัธยฐานมันต่ำ แต่ค่าเฉลี่ยมันสูง ก็แปลว่าแท้จริงแล้วทั้งสังคมของเราทำรายได้ (ผ่านตัวเลข GDP) ได้ในระดับสูง แต่รายได้มหาศาลเหล่านี้กลับไม่ได้เผื่อแผ่กระจายลงมาสู่คนจำนวนมากไปด้วย ทว่ามันไป ‘กระจุก’ อยู่กับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่สีม่วง (0.68 ล้านคน) บนยอดสุด ซึ่งถือว่าเป็น Top 1% ของสังคมไทย
พูดง่ายๆ ก็คือ ทั้งประเทศอาจทำรายได้สูง มันจึงไป ‘ฉุด’ รายได้เฉลี่ยให้สูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าดูค่ากลาง ก็จะพบ ‘ความจริง’ ที่ว่ารายได้เฉลี่ยสูงๆ เหล่านั้นมันไม่ได้ไหลลงมาหาคนด้านล่างเลย ตัวเลข ‘รายได้เฉลี่ย’ จึงเป็นเพียง ‘ความจริงลวง’ หรือเป็นมายาภาพ ที่เมื่อกระเทาะออกมาแล้ว เราจะเห็น ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ที่ชัดเจนมาก เป็นภาพที่กระแทกตา กระแทกอก และทำให้เห็นเลยว่า เราอยู่ในสังคมแบบไหน
ที่สำคัญ เป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแผนที่ 12 ก็ยังไปมุ่งเน้นเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้เพิ่มจาก 19,031 บาท ไปเป็น 23,917 บาทต่อเดือนอีก ซึ่งฟังดูเผินๆ ก็ดี เหมือนคนไทยจะรวยขึ้น แต่คำว่า ‘รายได้เฉลี่ย’ อาจแปลว่าคนรวยยิ่งรวยขึ้น แล้วเอาความรวยของตัวเองมาฉุดตัวเลขรวมทั้งประเทศให้สูงขึ้นก็ได้ มันอาจไม่ได้แปลว่าคนทั่วไปมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะถ้าจะพัฒนาให้เกิดการกระจายรายได้และความมั่งคั่งที่แท้จริง ก็ต้องไป ‘ช้อน’ ที่คนด้านล่าง คือเพิ่มรายได้ของคนในพื้นที่สีแดง สีส้ม สีฟ้า ให้สูงกว่านี้
ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ ‘ค่ามัธยฐาน’ ของเรา
สูงขึ้น ไม่ใช่มุ่งเน้นไปที่รายได้เฉลี่ยอย่างเดียว
กลับมาที่เพื่อนของผมคนที่เกริ่นเอาไว้ข้างต้น ถ้าเราดูเงินเดือนของเขา เป็นไปได้อย่างมากที่เขาจะถูกจัดอยู่ในระดับสูงยิ่งกว่า Top 1% คืออาจจะอยู่ในระดับ Top 0.1% หรือแม้กระทั่ง Top 0.01% ของสังคมไทยได้ด้วยซ้ำ เพราะรายได้ของเขาสูงลิบลิ่ว
แต่คำถามก็คือ – แล้วเขารู้สึก ‘มั่นคง’ ไหม?
คำตอบก็คือไม่!
เพื่อนคนนี้บอกผมว่า เวลาเขาเห็นโฆษณาขายคอนโดมิเนียมประเภทที่บอกว่า – คอนโดฯ หรูในย่านธุรกิจ ราคา ‘เพียง’ 20 ล้านบาท หรือคอนโดฯ เหนือระดับ ราคา ‘เพียง’ 50 ล้านบาท ฯลฯ เขาจะเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า – ใครซื้อ และคำว่า ‘เพียง’ (ที่มีนัยบ่งบอกว่าราคาไม่แพง) นั้น ต้องการสื่อสารไปถึงคนกลุ่มไหน
เขาตระหนักดีว่าตัวเองมีรายได้ดีเอามากๆ ดีเหนือมาตรฐานทั้งปวง ไม่ว่าจะเทียบกับรายได้เฉลี่ยหรือรายได้มัธยฐาน แต่กระนั้น เขาก็ตระหนักกับตัวเองพร้อมกันไปด้วยว่า – เขา ‘ไม่-มี-ทาง’ ซื้อคอนโดฯ พวกนั้นได้เลย วิธีเดียวที่จะซื้อได้ ก็คือต้องผ่อน แต่ค่าผ่อนคอนโดฯ พวกนั้นย่อมตกเดือนละหลายแสน ถ้านับรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ก็ถือเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลเอาเลยที่เขาจะหาซื้อ ‘ไลฟ์สไตล์’ หรูขนาดนั้นมาครอบครอง
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ – ถ้าคนที่มีรายได้ระดับ Top 0.1% อย่างเขายังไม่สามารถ ก็แล้วใครกันเล่าที่จะสามารถ
เขาเล่าต่อว่า เคยคุยกับเซลส์ขายคอนโดฯ แพงๆ เหล่านี้ว่ามีคนซื้อด้วยหรือ คำตอบที่ได้รับกลับมาทำให้เขาแทบจะหงายหลัง เพราะเซลส์บอกเขาว่าขายได้สิ – ขายดีด้วย โดยคนที่ซื้อคอนโดฯ ราคาหลายสิบล้านบาทเหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่อน และโดยมากก็ไม่ได้ซื้อยูนิตเดียวด้วย คนเหล่านี้มีความสามารถในการซื้อหลายๆ ยูนิต หลายๆ ทำเล หลายๆ โครงการด้วย – เพื่อกระจายความเสี่ยง
เขาบอกว่า แค่เรื่องรายได้ของตัวเองและราคาคอนโดฯ มันบอกเราได้ชัดเจนเลยว่าสังคมนี้มีความเหลื่อมล้ำสูงมากแค่ไหน คนที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาขนาดนั้นได้ จะต้องมีเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน ซึ่งไม่ใช่เงินที่จะ ‘หาได้’ ด้วยการมนุษย์เงินเดือนปกติธรรมดา เพราะต่อให้ใครสักคนหนึ่งมีเงินเดือนสูงมากๆ ในระดับที่สามารถเก็บเงินได้เดือนละหนึ่งล้านบาท ก็ต้องทำงานยาวนานถึง 10 ปี ถึงจะเก็บเงินได้ 120 ล้านบาท
แต่ในประเทศที่รายได้มัธยฐานอยู่ที่ 6,531 บาทต่อเดือน จะมีคนที่ทำรายได้มากขนาดนั้นสักกี่คนกัน
ความรวยและคนรวยไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่ความรวยที่วางตัวอยู่บนโครงสร้างสังคมที่มีความบิดเบี้ยวแบบนี้แสดงให้เราเห็นชัดเจนเลยว่าสังคมแบบนี้น่าอยู่และมีความหวังมากน้อยแค่ไหน
บทสรุปของความรวย – จึงวางตัวอยู่บนโครงสร้างอันยากจนข้นแค้นและทุกข์ลำบากมหาศาล ซึ่งหากช่องว่างนี้ถ่างกว้างออกไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่คนทั้งสองแบบอาจไม่มีวันเข้าใจในชีวิตของกันและกันได้อีกต่อไป