ภาพของการแข่งขัน เลือกตั้ง และหาเสียง กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทยอีกครั้ง หลังที่เราไม่ได้มีการเลือกตั้งกันมาถึง 8 ปี!
เมื่อห่างหายจากการเลือกตั้ง การมีสิทธิ มีเสียงทางการเมืองกันมานาน เราก็ได้เห็นพรรคการเมืองใหม่ๆ นักการเมืองหน้าใหม่ หรือหลายคนที่เปลี่ยนบทบาท ผันตัวมาเป็นผู้ลงเล่นการเมืองกันมากขึ้น โดยหนึ่งพรรคที่ถูกจับตาในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ‘พรรคอนาคตใหม่’ กับการชูนโยบายที่ต้องการให้คนไทยเท่ากัน
The MATTER คุยกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในพรรคน้องใหม่ในสนามการเลือกตั้ง คุยกันถึงจุดยืนทางการเมือง ความสำคัญของเสียงจากคนรุ่นใหม่ และคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่พรรคของเขาต้องการเปลี่ยนแปลง?
หมายเหตุ : The MATTER สัมภาษณ์ ธนาธร ในช่วงเวลาก่อนที่ คสช. จะปลดล็อคการทำกิจกรรม และการเผยแพร่นโยบายของพรรคการเมือง
อนาคตใหม่ ทำไมต้อง ‘ใหม่’ ด้วย
เพราะว่าเราไม่อยากอยู่กับอนาคตเก่า เราเชื่อว่าอนาคตที่สดใสกว่านี้ อนาคตที่เศรษฐกิจ สังคมมีความเท่าเทียม มีความเหลื่อมล้ำน้อยลง เป็นประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนได้รับการยอมรับในประเทศ มันเป็นไปได้ แต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ดังนั้นเราจึงเห็นว่าการมีอนาคตใหม่เป็นเรื่องสำคัญ
พรรคอนาคตใหม่ มีสโลแกนหนึ่งที่มักพูดคือ ‘the future we want’ แปลว่าเมื่อก่อนอนาคตไม่ได้ถูกกำหนดโดยเราเอง แล้วมันถูกกำหนดโดยใคร
ผมคิดว่า ตลอดการพัฒนาประชาธิปไตยในไทยตั้งแต่พ.ศ. 2475 มีช่วงเวลาน้อยมากๆ ที่พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นตัวกำหนดอนาคตของประเทศ นอกจากนั้น เวลาส่วนใหญ่ เรามีนักการเมืองที่เกิดจากการทำรัฐประหาร และการแทรกแซงของทหารเป็นตัวกำหนดอนาคตประเทศ ดังนั้น the future we want หรืออนาคตเรากำหนดเอง จึงเป็นการสื่อสารของพรรคไปสู่ประชาชนทั่วประเทศว่า สิทธิ และเสรีภาพในการกำหนดอนาคตของตัวเอง เป็นสิทธิของประชาชน แต่เราหลงลืมไป เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัน ไม่ได้ปกป้องมัน มันจึงโดนทำลายไปครั้งแล้วครั้งเล่า และครั้งนี้มันถึงเวลาแล้ว ที่จะให้อำนาจ สิทธิที่เป็นของประชาชน ต้องอยู่ในมือของประชาชนจริงๆ
ที่ผ่านมาเราก็มีเลือกตั้ง แปลว่านั่นยังไม่เพียงพอที่จะกำหนดอนาคตตัวเองหรือเปล่า
การเลือกตั้งที่ผ่านมา มีระยะเวลาเพียงสั้นมากจริงๆ ผมยกตัวอย่าง ช่วงเวลาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเลือกตั้งจริงๆ มีเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น จาก 86 ปี ถือว่าสั้นมาก การพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย มันลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด ซึ่งทั้งส.ส. และส.ว. มีหน้าที่เป็นคนเขียนกฎหมาย กำหนดอนาคตประเทศ แล้วในเมื่ออำนาจที่กำหนดอนาคตของประเทศเป็นของประชาชน แต่ทำไมประวัติศาสตร์ และที่มาของอำนาจ จึงมาจากการแต่งตั้ง และเลือกกันโดยการแทรกแซงของกลุ่มทหารไม่กี่กลุ่ม ที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างสังคมนี้ ถึงเวลาที่ผมคิดว่าต้องจบการแทรกแซงการเมืองของทหารที่รุ่นเรา
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกของคนรุ่นใหม่หลายคน ที่ไม่เคยสัมผัสบรรยากาศแบบนี้เลย คิดว่าที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่เจอบรรยากาศการเมืองอย่างไรบ้าง
ผมต้องเรียนว่าต้องเป็นคนรุ่นใหม่และคนอื่นในสังคมด้วย เราอยู่ในบรรยากาศที่มืดมิด เรามองไม่เห็นความหวัง และโอกาส สิทธิ เสรีภาพของประชนยังถูกลิดรอน ย่ำยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นวัยรุ่นอายุ 20 ปี เขาเติบโตมาโดยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ แล้วคนกลุ่มนี้จะต้องอยู่กับผลของความขัดแย้งทางการเมืองไปอีก 20 ปี ดังนั้นเห็นได้ชัดว่า คนรุ่นใหม่เป็นผู้ถูกกระทำ สิทธิ และเสรีภาพของเขาไม่ได้รับการยอมรับ เพราะว่าอนาคตของประเทศถูกกำหนดไว้แล้วในยุทธศาสตร์ 20 ปีของชาติ เขาไม่มีทางเสนออะไรเพื่อจะได้รับการยอมรับเลย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์นี้
คิดว่าจะสื่อสารกับเขายังไง ว่ามันยังมีความหวัง กับคนที่หมดศรัทธา เบื่อการเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
ต้องทำให้เขาเข้าใจ ถึงสภาพความเป็นจริงอันโหดร้าย ว่าเราอยู่กับความโหดร้าย และวังวน ถ้านับ 2549 เป็นตัวตั้ง เราอยู่กับมันมาแล้ว กว่า 13 ปี ถ้าเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้ และพรรคทหารสามารถรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลได้ เราก็ต้องอยู่กับเขาอีก 4 ปี เพราะมีส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. อีก 250 คน มาร่วมกำหนดประเทศ และตัวนายกฯ แต่ส.ว. ถูกออกแบบมาเพื่อล็อกการเมือง ให้ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมีวาระ 5 ปี ซึ่งคร่อม 2 รัฐบาล แปลว่าเราอาจจะอยู่กับตรงนี้ไปอีก 8 ปี บวกกับในอดีตที่เราอยู่กับมันมาแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง แปลว่าเราจะอยู่ตรงนี้ถึง 21 ปี
ดังนั้นผมเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง มีความสำคัญในการขีดเขียนประวัติศาสตร์ เราจะเลือกอยู่ กับประวัติศาสตร์หรืออยู่กับอนาคต เสียงทุกคนจึงมีค่า โดยเฉพาะเสียงของคนรุ่นใหม่
เพราะคุณอาจจะต้องเสียเวลาอีก 8 ปีในอนาคต อยู่กับสังคมแบบนี้ เอาหรือไม่เอา นี่คือคำถาม แล้วทุกคนจะต้องตอบในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้นเสียงของทุกคนจึงมีความหมาย เพราะทุกคนจะมีตัดสินใจร่วมกันว่าเราจะอยู่ในอนาคตเก่าแบบนี้อีกไหม
ฟังดูเหมือนว่าโจทย์การเลือกตั้งในครั้งนี้ของคุณธนาธรจึงไม่ใช่แค่การได้รับที่นั่ง แต่สิ่งที่พรรคกำลังจะสื่อคือการหลุดออกจากวงจรการเมืองแบบเดิม
การได้รับที่นั่งเป็นบันไดก้าวแรกของพวกเราที่จะร่วมสร้างความฝันด้วยกัน ความฝันที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศได้อำนาจนั้นกลับคืนมา นี่คือการเลือกประวัติศาสตร์ ถ้าอยากอยู่กับอดีตแบบนี้ต่อไป ก็เลือกพรรคที่สนับสนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ถ้าอยากจะหลุดจากวังวนนี้ แล้วเดินสู่อนาคต ต้องเลือกพรรคที่ยืนยันเรื่องการไม่เอาการสืบทอดอำนาจจากคสช. และยืนยันจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560
หลายคนเชื่อว่าระบบการเมืองทุกอย่างมันถูกออกแบบมาหมดแล้วจากฝั่ง คสช. รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ แล้วยังมีความหวังอะไรในการสู้ครั้งนี้
ต้องช่วยกัน เริ่มจากการเชื่อว่า สิ่งที่ผมพูดมันเป็นไปได้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยเป็นไปได้โดยความสงบสุข ไม่ต้องมีการเมืองบนท้องถนนเป็นไปได้ ด้วยกลไกรัฐสภา นี่เรากำลังบอกว่าเรายอมต่อสู้บนกฎของ คสช. ด้วยซ้ำ กฎที่ประชาชนเป็นผู้เสียเปรียบ เรายอมเล่นในเกมนี้ ชนะในเกมนี้เพื่อให้เกิดความชอบธรรมที่สุด ให้ประชาชนตัดสินว่าการแทรกแซงของทหารเป็นอดีต ต้องชนะครั้งนี้ แล้วชนะให้ขาดด้วย ถือเป็นเดิมพันสูงมาก เพราะถ้าเราชนะไม่ได้เราจะอยู่กับอดีตแบบนี้ไปอีก 8 ปี ถึงแม้การไปข้างหน้าอาจจะใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นของประชาชน แต่การเปลี่ยนผ่านจะเป็นไปอย่างสันติ
แปลว่าการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ มันจะทำให้รัฐประหารหมดไปได้
ได้จริง อย่างที่ผมบอก นอกจากชนะในสภา ชนะในประชามติแล้ว เราต้องลบล้างผลพวงของรัฐประหาร เราจะแพ้กี่ครั้งก็ได้ แต่ขอให้ชนะครั้งเดียว จะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก จะไม่มีใครกล้าทำรัฐประหารในอนาคตด้วย ผ่านกระบวนการที่ผมพูด ชนะเลือกตั้งครั้งนี้ให้ได้ ตั้งรัฐบาลที่เป็นของประชาชน ที่เป็นประชาธิปไตยให้ได้ในเกมของทหาร ทำอย่างนี้เสร็จ ทำประชามติจากประชาชน เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสร็จแล้วขอเสียงจากประชาชนเพื่อรับรองให้รัฐธรรมนูญใหม่ใช้จริง
นี่คือกระบวนการทั้งหมด เปลี่ยนผ่านอย่างสงบสุข ทำได้จริง โดยคนที่จะตัดสินได้ว่าจริงไม่จริงคือประชาชนทุกคน
มีนโยบายอะไรให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าต้องเลือก จำเป็นต้องทำตามกระบวนการนี้บ้าง
ศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ภายใต้การปกครองระบอบทหาร มันไม่ได้ถูกเชิดชูหรือนำมาใช้เลย เราเห็นจากหลายปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมที่ทหารพยายามจะหยิบยื่นให้กับคนรุ่นใหม่มีอะไรบ้าง อย่างเช่น ‘ค่านิยม 12 ประการ’ แต่ว่าในนี้มีส่วนไหนไหมที่พูดถึงสิทธิของประชาชน ความสร้างสรรค์ และศักยภาพของพวกเขา
เราก็รู้ว่า เราต้องต่อสู้กับกระแสโลกาภิวัตน์ และต้องสู้กับ AI ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราต้องต่อกรกับสิ่งเหล่านี้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่ความคิดสร้างสรรค์มันไม่สามารถอยู่กับระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการ เพราะเผด็จการกลัวความคิดสร้างสรรค์ กลัวประชาชนรู้ศักยภาพของตัวเอง จึงต้องส่งผ่านค่านิยม 1 ชุดที่สรุปว่า คุณต้องสยบยอมต่ออำนาจ คุณอย่าออกนอกแถว ค่านิยมวัฒนธรรมที่ดีของประเทศไทยต้องมีแบบเดียว ไม่ยอมรับความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์
นี่จึงเป็นต้นทุนที่สำคัญ เพราะถ้าคุณไม่เข้าใจถึงศักยภาพของตัวเอง ถ้าไม่เข้าในถึงความคิดสร้างสรรค์ หรือไม่เข้าใจว่าเรามีสิทธิ เสรีภาพอะไรบ้าง เราก็จะเชื่ออยู่ว่าเราไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง เราก็จะยอมกลัว ยอมจำนนอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ในแง่นึงการทำลายระบอบรัฐประหารที่เกิดขึ้นซ้ำซากในประเทศไทย คือการทำลายวัฒนธรรมเก่า ที่ทำให้ประชาชนกลัวผู้มีอำนาจ ไม่กล้ายืนหยัดเพื่อสิทธิหรือเสรีภาพของตัวเอง ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการพาประเทศไปข้างหน้า
ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่มักถูกวิจารณ์เรื่องประสบการณ์การเมือง เมื่อเทียบกับพรรคอื่นๆ คุณธนาธรมองเรื่องนี้อย่างไร
ยิ่งดี ผมว่าเรื่องนี้เป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่หนี้สิน เพราะความใหม่ทำให้เราไม่ต้องติดอยู่ในกรอบความคิดแบบเก่าๆ ผมยกตัวอย่าง ผมลงพื้นที่ คุยกับนักการเมืองรุ่นเก่าๆ เขาบอกว่าต้องมีเงิน ต้องเอาเงินมาทำงานการเมือง ถ้าเราติดอยู่ในวังวนแบบนี้ เราก็จะไปทำงานการเมืองแบบเก่า ซึ่งผมพูดชัดว่า พรรคผมไม่เอาการซื้อเสียง และดูด ส.ส. เพราะเป็นการเมืองแบบเก่า ถ้าเรามีแต่ ส.ส. รุ่นเก่าก็จะต้องไปอยู่ในวังวนแบบนี้
ผมเชื่อว่า การชนะเลือกตั้ง การได้สิทธิ ได้เสียงด้วยการทำงานการเมืองแบบใหม่เป็นไปได้ และถ้าจะล้มเหลว ผมขอเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าอย่างนี้มันทำไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ และผมจะพิสูจน์ดู ให้ทุกคนเห็นว่า ถ้าเราทำงานอย่างแข็งขัน พบปะประชาชน และพูดถึงอุดมการณ์ สังคมที่ฝัน และปาราวณากับมันจริงๆ ผมว่าคนเชื่อ และเราสามารถชักจูงคนได้ โดยไม่ใช้เงิน ดังนั้นคอยดูกันว่า ประชาชนเติบโตขึ้นเท่าไหร่ในการต่อสู้ทางการเมืองในทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีใครรู้ว่าประชาชนเติบโตเท่าไหร่ แต่เราเชื่อมั่นในประชาชนว่าทุกคนมีศักยภาพในการตัดสินใจของตัวเอง และเราเชื่อว่าการเมืองที่สู้กันด้วยอุดมการณ์ ไม่ได้สู้ด้วยเงินซื้อเสียง เป็นจริงได้
ทำไมเยาวชน คนรุ่นใหม่ต้องสนใจเรื่องนี้
ผมคิดว่า การกลับมาทำให้สังคมไทยมีอนาคตอีกครั้งนึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ต่อให้ได้เป็นรัฐบาล 4 ปีก็ทำไม่เสร็จ เพราะมีเรื่องอะไรต้องทำเยอะ ยิ่งการต่อสู้เรื่องความคิด ปักหลักฐานเรื่องประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เสร็จภายใน 4 ปี แต่ต้องทำระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำตั้งแต่วันนี้ คือการสร้างความคิดกับคนรุ่นใหม่ เมื่อพวกเขาเติบโตไป ความคิดนี้จะเติบโตไปกับเขา และก็จะไล่คลื่นในสังคมไป ทั้งคนในช่วงอายุ 18-25 ปี เป็นวัยที่มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว และก็มีอยู่ 7 ล้านคน ดังนั้นถ้าเราเริ่มทำงานกับคนรุ่นใหม่ จากนี้ไป 10 ปี คนเหล่านี้กลายไปเป็น NGO, ข้าราชการ, นักกฎหมาย, วิศวกร หรือครู ก็จะเป็นกลุ่มคนที่รักประชาธิปไตย เชิดชูสิทธิมนุษยชน ยอมรับความหลากหลาย ถ้าเราทำงานกับเขาวันนี้ เขาจะเติบโตไปในวันนั้น
แล้วพรรคมีกระบวนการรับฟังเสียงพวกเขาอย่างไร
เรามีเครือข่ายซึ่งทำงานของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่ที่อยากติดตามพรรค เสนอแนวทางก็สามารถติดต่อทางช่องทางนั้นได้ นอกจากนั้นส่วนตัว เวลาผมไปลงพื้นที่ รับฟังปัญหาประชาชน ก็จะมีคนรุ่นใหม่เยอะแยะที่มาพูดปัญหาให้ฟัง ผมเองก็ประกาศต่อเนื่องในเฟซบุ๊กว่า ผมอยากจะไปฟังปัญหาที่พื้นที่ไหน ถ้ามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ อยากมาพูดปัญหาให้ผมฟัง ในเวทีตามจังหวัดต่างๆ ผมก็ขอเชิญด้วยความยินดี
ในเวทีในพื้นที่ที่ผมไป เรื่องหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ออกมาถามกับผมเยอะที่สุด คือเรื่องเกณฑ์ทหาร ว่าเกณฑ์ทหารแล้วยังไง? เพราะเขาไม่อยากเกณฑ์ทหารกัน ผมก็ตอบว่า เราเห็นการเกณฑ์ทหารเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมอำนาจนิยมในประเทศไทย ให้ยอมรับกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และจำเป็นจะต้องยกเลิก ถ้าหากว่าไม่มีการปรับปรุงแก้ไข
คิดว่าจุดยืนของคนรุ่นใหม่ในพรรคอนาคตใหม่ แตกต่างจากพรรคอื่นๆ ยังไง
คุณต้องดูคนที่มีอำนาจตัดสินใจในพรรค คนรุ่นใหม่ของเราไม่ใช่โปสเตอร์ที่เอามาถ่ายรูปกับธนาธร แล้วกลายเป็นว่าพรรคเราเชิดชูคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่มีพื้นที่ทำงานหรือเปล่า ได้ตัดสินใจทางเรื่องของพรรคหรือเปล่า รองประธานของเรา 2 คน และทีมนโยบายของเราส่วนใหญ่อยู่ในกรอบอายุประมาณ 40 ปี เรากำลังบอกว่าพรรคของเราเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ทำงานจริงๆ คิดจริงๆ ไม่ใช่ตัวประกอบ ดังนั้นถามว่าเราต่างจากพรรคอื่นอย่างไร ผมมั่นใจว่าพรรคของเราเป็นพรรคที่คนที่มีอายุน้อย หรือมีประสบการณ์ทางการเมืองน้อย แต่ก็ได้มีสิทธิร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ที่อยู่ในพรรค
แต่เราก็มีทั้งคนรุ่นใหม่ อายุ 40-50 ปี และคนที่มากกว่า 60 ปี ซึ่งสำหรับผมเป็นส่วนประกอบที่น่าลงตัวมาก
การเมืองเก่ามันเป็นอย่างไร แล้วมันสร้างปัญหายังไงบ้าง
ผมเป็นคนที่เจ็บปวดที่เราเห็นเรื่องอยุติธรรมและเฉยชากับมัน จนมันกลายเป็นปกติของสังคมไทย การเมืองเก่าเป็นการเมืองที่เอื้อให้เกิดระบบอุปถัมป์ ในระบบนี้ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ เพื่อน หรือครอบครัวสำคัญกว่าหลักการที่ถูกต้อง แล้วเราก็ให้ผลประโยชน์และก็ปล่อยให้พวกนี้ดำเนินการมาจนทุกคนเบื่อระอาเต็มที แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปแก้ไขมัน และสิ่งที่โอบล้อมการเมืองแบบเก่าอยู่ทั้งหมดก็คือโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงกระบวนการยุติธรรม ที่ปล่อยให้ความอยุติธรรมดำรงอยู่ได้
นี่คือสิ่งที่ผมต้องการจะทำ คือการทำลายความอยุติธรรมเหล่านี้ แล้วบอกว่ามันคือความไม่ปกติ เราสามารถฝันเห็นสังคมที่ดีกว่านี้ได้ สังคมที่ความยุติธรรมไม่ได้มีเฉพาะกับคนรวย และอำนาจ แต่มีให้กับทุกคน เราฝันถึงมันได้ เราทำได้ เราสู้ได้ แต่ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคนกับปัญหาที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน เราถูกมันกดทับมานานพอแล้ว
เราปล่อยให้เรื่องแบบนี้อยู่ในสังคมมามากกว่า 20 ปี ไม่มีใครแก้ไขมันจริงๆ ยกตัวอย่างเราไปมองว่า ผู้ใช้แรงงานเป็นคนขี้เกียจ และไม่มีความคิดสร้างสรรค์ อย่าลืมว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านมา 50 กว่าปีแล้ว และคนที่เป็นผู้ใช้แรงงานรุ่นแรกๆ ของสังคมกำลังจะเกษียณ คนเหล่านี้เกษียณโดยไม่มีเงินเก็บ ไม่มีบ้าน แต่เรากลับไปมองว่าคนเหล่านี้ขี้เกียจ ออมไม่เป็น จึงเกษียณ ทั้งๆ ที่เค้าทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย บางวันทำโอทีต่ออีกมาตลอด 30-40 ปีของการทำงาน แต่เพราะค่าแรงขั้นต่ำ
กลุ่มคนเหล่านี้ แม้แต่ความฝันอยากจะมีบ้านธรรมดาหรือ อยากจะให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ก็ทำไม่ได้เลย แค่ต่อสู้ไปวันๆ ก็สาหัสแล้ว แล้วเกษียณไปแล้วได้อะไร สวัสดิการรัฐ เงินเดือนเดือนละ 600 บาท ดังนั้นคนกลุ่มนี้ถามว่าเขาเสียสละไหมเพื่อให้เศรษฐกิจ กลุ่มทุนไทยเติบโตขึ้น คนกลุ่มนี้เสียสละอย่างมหาศาลแต่ไม่มีใครเห็นใจเขาเลย
นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าคุณเป็นลูกหลานของคนเหล่านี้ที่เกิดมาเป็นหนี้ คุณจะเจออะไร ที่เราบอกว่าคนเท่ากัน คือจบการศึกษา เผชิญหน้ากับชีวิต ทุกคนควรจะเผชิญหน้าชีวิตเท่ากัน ไม่ควรมีใครได้เปรียบเสียเปรียบเพราะชาติกำเนิด เพราะคุณเลือกเกิดไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเรียนจบทุกคนควรได้เริ่มแข่งขันเท่าเทียมกัน แต่คนที่เกิดในครอบครัวแบบที่ผมบอก ไม่ได้เจอการแข่งขันที่เท่ากัน เกิดมาในครอบครัวที่เป็นหนี้สินก็ติดลบแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมาในครอบครัวที่มีมากกว่าย่อมไปได้ไกลกว่า เพราะเราไม่ได้สร้างโอกาส สร้างสังคมที่โอกาสในการแข่งขันเท่ากันได้เลย นี่คืออนาคตเก่า ผมเชื่อว่าคนที่ทำงานในพรรคอนาคตใหม่ และตัวผมเองไม่อยากอยู่แบบนี้ต่อไป และมันถึงเวลาแล้วที่ประเทศเราจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน
การถอนรากถอนโคนแบบที่คุณธนาธรบอก มันต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปรึเปล่า
ถอนรากถอนโคนนี้ ไม่ได้หมายความว่าชั่วพริบตา ปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้เกิดในวันที่ทำลายคุกบาสตีย์ ประชาธิปไตยในอังกฤษไม่ได้เกิดขึ้นจากแมคนาคาร์ตา แต่เกิดขึ้นก่อนและหลังเป็นร้อยปี ดังนั้นการถอนรากถอนโคนก็ไม่ใช่โมเมนต์เดียว แต่เป็นการต่อสู้ และหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในปีเดียว สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือ สิ่งที่ผมพูด เป็นเรื่องของการใช้เวลา เพราะการจะทำที่ผมพูดได้ ต้องทำให้ประชาชนคนไทยเห็นพ้องต้องกันก่อน
ประชาธิปไตยจะใจร้อนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความคิด จะทำให้เขาเห็นด้วยกับคุณ หย่อนบัตรให้คุณ ต้องทำให้เขาเชื่อก่อน จึงเป็นการทำงานทางความคิด
การเปลี่ยนความคิดทุกคนไม่ใช่เรื่องง่าย เราจึงต้องทำงานกับคนรุ่นใหม่ในวันนี้ เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้มีอิทธิพลทางสังคมในอนาคต เขาจะยืนหยัดเรื่องนี้ในอนาคต
อย่างนี้จะบอกคนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจแบบเดิม เสพติดอำนาจแบบเดิม ให้เขายอมผ่อนคลายสิ่งที่ตัวเองมียังไงบ้าง
ต้องเรียนให้เข้าใจว่ามีคนเสียประโยชน์แน่นอน ไม่มีนโยบายไหนที่คนทุกคนได้ประโยชน์หมด ผมว่าจริงใจและพูดกับคนทุกคนดีกว่า โดยเฉพาะคนที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมปัจจุบันที่มีอยู่น้อยนิด พูดง่ายๆ ก็คือคนอย่างผม ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องแบ่งสรรปันส่วนมูลได้ส่วนเกินที่ได้จากการพัฒนาประเทศให้กับคนหมู่มากบ้าง ความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้เยอะขนาดนี้แล้ว เราจะปล่อยให้มันเดินไปอย่างนี้ได้อย่างไร เราเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากเกือบที่สุดในโลก และเราปล่อยให้มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
การจะทำให้ทุกคนมีส่วนได้กับนโยบายทุกนโยบาย เป็นไปไม่ได้ แต่พรรคของเราชัดเรื่องการกระจายความมั่งคั่ง ผ่านระบบภาษีใหม่ กระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ผ่านกฎหมายที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกคน ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่รองรับสิทธิทุกคนเท่ากัน ไม่ใช่แค่สิทธิของคนรวย
แต่ภาพลักษณ์ของคุณธนาธรที่หลายคนยังติดอยู่ คือภาพของนายทุน
ผมคิดว่าประชาชนจะเห็นเอง ถ้าใจกว้างฟังสิ่งที่ผมพูด ผมไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นอะไร เป็นคนตรงๆ คิดอะไรก็พูดอย่างนั้น และที่ผ่านมาตลอดเวลาการทำงาน พูดอะไรก็ทำตลอด นั่นก็เป็นคาแรคเตอร์ของผมอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน คิดอย่างที่ศรัทธา พูดอย่างที่คิด และก็ทำอย่างที่พูด
พอเป็นนักการเมืองแล้ว คาแรคเตอร์นี้คิดว่าจะเปลี่ยนไปไหม
ผมเป็นอย่างนี้มานาน และไม่คิดว่าจะเปลี่ยนอะไรได้ ถ้าผมจะเชื่อใจใครซักคนว่าจะไม่เปลี่ยนไปเพราะแรงกดดันทางการเมือง หรือเพราะความเลวร้ายของระบบ ถ้าผมจะเชื่อใจใครคนนั้นได้ ผมจะเชื่อใจผมเอง
ในกรณีที่สมมติว่าคุณธนาธรเข้าไปอยู่ในสภา และต้องมีการเล่นเกมการเมือง ล็อบบี้ แบ่งฝ่ายกัน โอเคไหมที่จะเล่นเกมแบบนั้น
เป็นธรรมชาติของการเมือง ยอมรับความเป็นจริงดีกว่า ว่าการพูดคุยกัน ตกลงกันเรื่องอำนาจเป็นปกติของการเมืองของทุกประเทศ ไม่มีอะไรผิด มันจะผิดอย่างเดียวก็ต่อเมื่อคุณทำแบบนั้นเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยยอมสละ ละทิ้งอุดมการณ์ของตัวเองไป
ถ้าอยู่ในสภาแล้ว อะไรคือสิ่งที่คุณธนาธรคิดว่าตัวเองจะไม่ทำเด็ดขาด
ต้องแลกที่นั่งนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกับพรรคอื่นๆ กับการประนีประนอมเรื่องจุดยืนประชาธิปไตย เรื่องการแบ่งสันปันส่วนเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้น ถ้าต้องแลกเรื่องพวกนี้กับเก้าอี้ กับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ผมไม่เป็นก็ได้ แต่ผมไม่อยากให้มองว่าการพูดคุยว่าใครจะได้เก้าอี้ ได้กระทรวงไหนเป็นสิ่งที่ผิด เพราะมันเป็นสิ่งที่พึงกระทำในระบอบประชาธิปไตย แต่มันจะไม่สง่างาม เมื่อต้องแลกเปลี่ยนโดยทิ้งอุดมการณ์ และเราจะไม่ทำแน่นอน
กลับกันต่างหาก กลุ่มที่มีอำนาจ กลุ่มที่ต้องการรักษาโครงสร้างอำนาจในปัจจุบันนี้ไว้พยายามทำให้เราเข้าใจมาตลอดว่าการพูดคุย แลกเปลี่ยนนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นความสกปรกของการเมืองไทย แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องปกติ
ถ้าต้องเข้าไปทำงานในสภาจริงๆ โดยมีกรอบของยุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้ทำตามเกณฑ์บางอย่าง แล้วแบบนี้จะรักษาจุดยืนได้อย่างไร
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเราเสนอการแก้ทั้งฉบับ เป็นวิธีรูปธรรมเดียวของการออกจากวิกฤตินี้ คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาแทนซึ่งมาจากประชาชน และลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งจะทำให้ประชาชนอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ตัวเองสถาปนาขึ้นมา
ถ้าเกิดว่ากระบวนการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญล้มเหลว เพราะเรารู้ว่าการแก้ไขมันมีเงื่อนไขเยอะมาก ถ้าเดินเกมไม่ไหวจริงๆ จะทำยังไง
ทั้งผมและอาจารย์ ปิยบุตร (แสงกนกกุล) ปวารณาตัวเอง เราทั้งคู่ออกจากงานประจำของตัวเอง เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องลำบาก และเป็นการต่อสู้ทางความคิด เป็นงานระยะยาว เราถึงลงมาทำ ยังยืนยันอีกครั้งว่า ถ้าคิดว่าเรื่องนี้เป็นการต่อสู้เฉพาะการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เราไม่ลงมาทำ เพราะเรารู้ว่าเป็นการต่อสู้ระยะยาว ยากลำบาก และเราไม่เห็นว่ามีใครจะพร้อมลงมาทำ เพราะว่ามองไม่เห็น เราจึงลงมาทำเอง ถ้ามันง่าย คงมีคนอื่นลงมาทำ และเป็นตัวแทนความฝันของผมได้
แปลว่าคุณธนาธรไม่เห็นความฝันแบบนี้ในพรรคการเมืองไทยในอดีตเลยเหรอ
ครั้งนึงผมก็เคยมีความฝันกับพรรคบางพรรค แต่มันก็ถึงจุดนึงที่เรารู้สึกว่า พรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด เป็นตัวแทนความฝันของเราไม่ได้
ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้มีอำนาจที่ฝันถึงการเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือเป็นแบบไทยนิยม คุณธนาธรคิดว่าอย่างไร
เราไม่เคยปล่อยให้ประชาธิปไตยได้แสดงศักยภาพของมันอย่างจริงจังเลย ไม่มีช่วงไหนที่ประชาธิปไตยอยู่ได้ยาวเลย ก่อนหน้านี้เราเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ ดังนั้นคนที่พูดออกมาอย่างนั้น มองจากประวัติศาสตร์ที่ว่าประชาธิปไตยใช้ไม่ได้ แต่ในมุมมองของผม และสิ่งที่ผมอยากจะเสนอคือ ลองให้โอกาสประชาธิปไตยมันทำงานจริงจังดู
อย่าไปติดกับดักทางความคิด ที่คนชนชั้นนำในสังคมอยากให้เราเชื่อ เค้าอยากให้เราเชื่อ เพื่อที่โครงสร้างสังคมแบบนี้จะอยู่ได้อย่างยั้งยืน และโครงสร้างแบบนี้ที่ได้ผลประโยชน์ก็คือคนเพียงไม่กี่คน แต่ผมอยากผลักดันให้คนทุกคนได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา ก้าวไปข้างหน้า เป็นไทยก็ไม่ต้องไทยนิยม เป็นไทยแบบสากลได้ ตอบสนองต่อความเร็วการเคลื่อนไหวของโลกก็เป็นได้
สุดท้ายนี้ คุณธนาธรจะบอกคนรุ่นใหม่ และคนอื่นๆ ยังไงว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้มันสำคัญ และมันส่งผลกระทบกับตัวเขาจริงๆ
คุณเลือกอนาคตของตัวเอง ถ้าครั้งนี้พรรคที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย พรรคที่พูดชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญปี 60 ทั้งฉบับ ไม่ได้เสียงรวมกันเกิน 376 เสียง เราจะอยู่กับอนาคตแบบนี้ต่อไป อยู่กับความมืดมิดอย่างนี้อีกต่อไป ดังนั้นเสียงทุกเสียงมีความหมายมหาศาล ทุกเสียงคือการร่วมกันขีดเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ ว่าเราจะอยู่กับอดีต หรือเราจะอยู่กับอนาคต ว่าเราจะอยู่กับความมืดมิด หรือเราจะสร้างความหวัง นี่คือช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ทุกคนมีอำนาจตัดสินใจที่จะเขียนประวัติศาสตร์ว่าจะเอาแบบไหน ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง