‘Ira Concept’ คือแบรนด์ผ้าอนามัยที่ไม่ใส่สารเคมี ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ กล้าที่จะออกมาสื่อสารเรื่องประจำเดือนไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศ
ล่าสุด Ira Concept จัดแคมเปญ #เป็นเมนส์ไม่เห็นต้องซ่อน เพื่อลบภาพจำของผู้คนที่คิดว่าประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอาย เราจึงชวน ‘รุ้ง–วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้มาพูดคุยถึงเรื่องประจำเดือนและผ้าอนามัยที่คนมักจะเข้าใจผิดหรือมองข้ามไป
ผ้าอนามัย ประจำเดือน และเรื่องที่หลายคนมองข้าม
“ทุกวันนี้ก็จะมีแค่กลิ่นหลากหลาย หรือว่ามาจากวัสดุที่มันยังไม่ดีพอ เราเลยอยากทําอะไรขึ้นมาเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ตัวเองเคยเจอมาตลอด และยังเจออยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าเราไม่ต้องการให้รุ่นต่อๆ ไป เขาจะต้องเจอปัญหาแบบเราอีก” รุ้งกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์ผ้าอนามัยที่เกิดจาก pain point ของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ
“อย่างน้ำหอม เรารู้สึกว่าไม่ควรใช้ เพราะว่าเราควรจะสังเกตกลิ่นของประจําเดือน สีของประจำเดือน เพราะว่าเวลาสีเปลี่ยน กลิ่นเปลี่ยน ร่างกายเราบอกเว้ยว่า ไปหาหมอได้แล้วนะ อย่างเช่นเวลาเราติดเชื้อ มันก็จะมีกลิ่นยีสต์ หรือเวลาเราล้าง อย่างเช่นน้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นออกมา ความจริงก็ไม่ควรล้าง คือนอกจากมันจะถึกมากๆ เวลาคลอดคนออกมาแล้ว มันยังเป็นเหมือนกลไกที่ล้างตัวเองด้วย ถ้าเกิดเราไปล้าง ไปยุ่งกับมัน ก็อาจจะติดเชื้อได้”
“แล้วอีกอย่างคือคนไทยไม่ค่อยกล้าไปหาหมอสูง แล้วไม่ค่อยตรวจภายในด้วย ก็เลยกลายเป็นว่า เราเมินปัญหาพวกนี้ออกไป สุดท้ายแล้วพอเราโตขึ้น อายุ 40-50 อาจจะมีปัญหาเรื่องมะเร็ง เรื่องมดลูก แล้วจุดนั้นจะทําให้เราคิดว่า เฮ้ย ทําไมเราไม่รู้เรื่องพวกนี้ เราเลยอยากจะเป็นพื้นที่ที่คนเข้ามาดูได้ว่า โอเค เราควรจะสังเกตสีประจําเดือนยังไง มีสีอะไรบ้าง กลิ่นอะไรบ้าง แล้วเวลาเรามีประจําเดือน ทําไมเราท้องเสียตามมา”
นอกจากเรื่องน้ำหอมแล้ว รุ้งเล่าว่าผ้าอนามัยส่วนใหญ่ยังทำมาจากพลาสติกและสารเคมีซึ่งบางชนิดอาจไม่ได้เป็นมิตรต่อร่างกายของผู้คน เช่น สาร BPA ที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก สาร SAP ที่ช่วยดูดซับประจำเดือนทำให้ใส่ผ้าอนามัยชิ้นเดียวได้นานๆ แต่กลับทำให้คนเคยชินกับการไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยในแต่ละวัน แถมยังทำให้ผ้าอนามัยย่อยสลายได้ยาก
“ตอนที่เราเริ่มทําออกไปครั้งแรกๆ แล้วให้เพื่อนลองใช้ผ้าอนามัยของเรา แล้วเขาก็โทรมาว่า ทําไมผ้าอนามัยของคุณเต็มเร็วจัง เราก็บอกไปว่า แค่ต้องเปลี่ยนมากกว่าเดิมหน่อย คือ แทนที่จะเปลี่ยนทุกๆ 3-4 ชั่วโมง ก็มาเปลี่ยนทุกๆ 2-3 ชั่วโมงแทน เขาก็บอกว่าปกติเราใช้วันเดียวแผ่นเดียวเลยนะ เราก็บอกไปอีกว่า เฮ้ย มันต้องเปลี่ยนบ่อยกว่านี้นะ”
period poverty ที่มีมากกว่าเรื่อง ‘ภาษี’
นอกจากสุขอนามัยของคนที่เป็นประจำเดือนแล้ว รุ้งเล่าว่ายังมีประเด็นกฎหมายและปัญหาเชิงโครงสร้างอีกหลายมิติที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน
“เวลาเราพูดถึงผ้าอนามัยและการเมือง อย่างแรกที่ทุกคนจะนึกถึงคือ ภาษีผ้าอนามัย เราอยากจะบอกว่าเป็นเรื่องดีที่คนสนใจเรื่องภาษีผ้าอนามัย แต่ความจนประจําเดือนมีหลายมุมมองมากกว่านี้ มีตั้งแต่คนไร้บ้านที่เขาต้องยัดถุงเท้าเข้าไปใช้แทน หรือว่านักเรียนที่หยุดเรียนเพราะไม่มีผ้าอนามัย”
“ถ้าเกิดจะให้การเมืองหรือฝั่งรัฐบาลมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เราควรจะไปดูเรื่องของการแยกหมวดหมู่ของผ้าอนามัยใหม่ด้วย ผ้าอนามัยตอนนี้เป็นเครื่องสําอางควบคุม สุดท้ายแล้วถ้าเราบอกว่า เฮ้ย แจกผ้าอนามัยฟรีเถอะ แต่ว่าผ้าอนามัยอยู่ในกลุ่มเครื่องสําอางเขาก็จะเถียงได้ว่า คุณเอาเครื่องสําอางมาวางไว้ในห้องน้ำทําไม”
แม้กระทั่งการพยายามสนับสนุนผ้าอนามัยของบางองค์กรที่ปัจจุบันอาจแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุดนัก เช่น การแจกจ่ายผ้าอนามัยซักได้ให้กับผู้อพยพหรือนักเรียนในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำสะอาดสำหรับซัก กลายเป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ดังนั้นปัญหา period poverty ในแต่ละพื้นที่จึงซับซ้อนและแตกต่างกันออกไป ทำให้ต้องพิจารณาหลายหลากหลายปัจจัยมากกว่าเรื่องภาษีหรือการขาดแคลนผ้าอนามัย
ต้นตอของการไม่รู้ปัญหา คือกำแพงที่เรียกว่า ‘period stigma’
สิ่งที่เป็นเหมือนจุดร่วมของปัญหาข้างต้น คงจะเป็นมายาคติที่มองภาพประจำเดือนว่าเป็นเรื่องสกปรก น่าอาย และไม่ควรพูดถึง หรือที่เรียกว่า ‘period stigma’
“เราอยากจะบอกว่ามันไม่ใช่แค่ความเชื่อผิดๆ นะ มันคือสังคมที่ไม่ยอมรับการพูดถึงเรื่องนี้ในครอบครัว ในโต๊ะอาหาร หรือที่ทํางาน มันเกี่ยวกับระบบที่กดทับเพศหนึ่งมานาน ตั้งแต่ยุคไหนแล้วก็ไม่รู้ มันเลยเหมือนปลูกฝังความคิดของคนและความเชื่อของคนมาตลอดว่า ประจําเดือนเป็นของต่ำ ประจําเดือนสกปรก”
ตัวอย่างของปัญหาเหล่านี้ เห็นได้จากบางคนที่ซ่อนผ้าอนามัยในถุงพลาสติกทึบหรือห่อด้วยกระดาษก่อนจะเดินไปห้องน้ำ เพราะไม่กล้าถือผ้าอนามัยให้คนอื่นๆ เห็น แม้กระทั่งการใช้ code name อย่างคำว่า ‘ขนมปัง’ ทีใช้แทนคำว่า ‘ผ้าอนามัย’ หรือ ‘แยม’ ที่ใช้แทนคำว่า ‘ประจำเดือน’ ไปจนถึงการไม่กล้าพูดคุยถึงปัญหาสุขภาพ
“เราปวดประจําเดือน เราจะไม่กล้าบอกคนอื่น เราเคยพูดนะว่า เราไปทํางานไม่ได้เพราะอาหารเป็นพิษ แต่เราปวดประจําเดือนมาก เดินไม่ได้เลย แล้วถ้าเกิดเราบอกเขาว่าเราประจําเดือนมา มันจะมีความกลัวว่า เฮ้ย เขาจะหาว่าเราเหวี่ยงกว่าเดิมหรือเปล่า เขาจะคิดว่าเราสําออยหรือเปล่า คือ เราอยากจะให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนเริ่มหันมาสนใจตรงนี้มากขึ้น แล้วเริ่มศึกษา ทําความเข้าใจ พูดเรื่องนี้มากขึ้น”
“ประจําเดือนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เฮ้ย ฉันพร้อมที่จะมีลูกแล้ว ฉันสุขภาพแข็งแรงมาก เพราะว่าเวลาคุณไม่มีสารอาหาร หรือคุณร่างกายอ่อนแอ ประจําเดือนคุณก็ไม่มา มันไม่ควรจะเป็นอะไรที่คนคิดว่า มันไม่ควรพูดถึงหรือ ต้องอายอยู่ เรารู้สึกว่ามันเป็น fact เป็นข้อเท็จจริง”
ปัญหา period stigma จึงกลายเป็นที่มาของแคมเปญ #เป็นเมนส์ไม่เห็นต้องซ่อนที่ Ira Concept ร่วมมือกับ Inside the sand box ทำคอลเล็กชั่นผ้าอนามัยสุดมินิมอลออกมา พร้อมเขียนชื่อคนซื้อไว้หน้ากล่อง เพื่อสื่อสารกับผู้คนว่าไม่ต้องอายหรือกลัวที่จะพูดถึงประจำเดือนซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ พร้อมกับหักรายได้ 50 บาทจากแต่ละกล่องไปสมทบค่าใช้จ่ายผ้านามัยและสื่อการสอนให้กับเด็กๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
“สําหรับคนที่ไม่ได้มีมดลูกหรือไม่ได้มีประจําเดือน เรารู้สึกว่าอยากจะให้เขาเริ่มฟังมากขึ้น อยากให้เขาเริ่มทําความเข้าใจมากขึ้นว่าประจําเดือนคืออะไร แล้วเวลามีประจําเดือนเราจัดการกับมันยังไง ความจริงแล้วประจําเดือน เป็นอะไรที่เราควรจะภูมิใจกับมันนะ เพราะมดลูกและการคลอดลูกทําให้มนุษยชาติเคลื่อนต่อไปได้”
ประเด็นเรื่องประจำเดือน ผ้าอนามัยฟรี หรือแม้กระทั่งแคมเปญนี้ ยังเป็นหัวข้อถกเถียงที่มีทั้งคนเห็นด้วยและเห็นต่าง เพราะนับว่าเป็นเรื่องที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก แต่เสียงเล็กๆ และสิ่งที่ Ira Concept พยายามสื่อสารจะช่วยให้เกิดบทสนทนาในสังคมยุคใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจจุดประกายให้ผู้คนหันมาสนใจและเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังได้ในอนาคต