ระหว่างการประชุมครั้งสำคัญ Miki Agrawal ต้องหยุดทุกอย่างไว้ชั่วคราว เพราะกระโปรงของเธอเลอะประจำเดือนที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว แน่นอนว่า Miki คงไม่ต่างจากผู้หญิงอีกหลายคนที่อยากจะสบถในใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้น
ยังไม่นับรวมปัญหาความเขินอาย ไม่กล้าหยิบผ้าอนามัยจากกระเป๋าให้ใครเห็น ไปจนถึงเรื่องภาษี ราคา และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ Menstrual Health Alliance India บอกว่า ผ้าอนามัยใช้เวลา 500-800 ปี กว่าจะย่อยสลายได้
“คงจะดีถ้ามีนวัตกรรมเจ๋ง ๆ มาแก้ปัญหานี้” คือความคิดที่ปะปนออกมาพร้อมกับความหงุดหงิดใจของ Miki Agrawal กับเหตุการณ์ในวันนั้น
โชคดีที่เธอไม่ได้ปล่อยให้ความคิดลอยหายไปในอากาศ เพราะในปี ค.ศ.2013 Miki Agrawal และเพื่อนอีกสองคน (Antonia Dunbar และ Radha Agrawal) ได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘Thinx’ แบรนด์กางเกงชั้นในที่ดูดซับประจำเดือนได้เทียบเท่ากับผ้าอนามัย ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดจำนวนขยะผ้าอนามัยให้กับสิ่งแวดล้อม จึงไม่น่าแปลกใจที่นิตยสาร TIME จะยกให้ Thinx เป็นหนึ่งใน The 25 Best Inventions เมื่อปี ค.ศ.2015
แม้ว่าจะมีคู่แข่งที่ทำสินค้าใกล้เคียงกันในเวลาต่อมา แต่จุดเด่นของ Thinx ที่ถูกพูดถึงอย่างล้นหลามคงจะเป็นการฉีกขนบโฆษณาผ้าอนามัยดั้งเดิมที่มักจะใช้ของเหลวสีฟ้าแทนประจำเดือน ผู้หญิงสวมกระโปรงพลิ้ว เต็มไปด้วยความรู้สึกสะอาด สดใส หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงประจำเดือนหรือผ้าอนามัยตรงๆ
ผลลัพธ์ที่ตามมาของการโฆษณาแบบเดิมคือผู้คนในสังคมต่างซึมซับไปว่าประจำเดือนไม่ใช่เรื่องที่ควรพูดถึง เห็นได้จากงานวิจัยของ Thinx ก่อนทำแคมเปญนี้ที่พบว่า ผู้หญิง 42% เคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกอับอายตอนเป็นประจำเดือน และผู้ชายมากกว่าครึ่ง (51%) เชื่อว่าการพูดถึงประจำเดือนอย่างเปิดเผยในที่ทำงานเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
ดังนั้นโฆษณาของ Thinx จึงมีทั้งภาพเกรปฟรุตสีโทนส้ม-แดง ผู้หญิงสวมกางเกงชั้นใน เพื่อสื่อถึงภาพการมีประจำเดือนอย่างแจ่มชัด หรือแม้แต่คลิปวิดีโอ ‘MENstruation’ ที่ทดลองให้ผู้ชายแสดงว่าเขาเป็นประจำเดือน เพื่อชวนสังคมตั้งคำถามว่าถ้า ‘ทุกคน’ มีประจำเดือน เรื่องนี้จะถูกนำมาล้อหรือมองว่าเป็นเรื่องน่าอายหรือไม่ แม้จะมีทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเสียงชื่นชมในโซเชียลมีเดีย แต่ Thinx มองว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือการจุดประกายให้เกิดบทสนทนาถึงปัญหาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.2021 เว็บไซต์ sierraclub.org กลับเผยแพร่บทความที่ระบุว่า วัสดุของ Thinx มีสารเคมีจำพวก PFAS ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปะปนอยู่ จึงเริ่มมีคนออกมาเรียกร้องให้มีบุคคลที่สามคอยตรวจสอบสินค้าประเภทนี้ทุกยี่ห้อ
แม้ว่าในมุมของสินค้า Thinx จะยังมีประเด็นดังกล่าวที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ แต่สิ่งที่ Thinx ออกมาขับเคลื่อนผ่านแคมเปญโฆษณาต่างๆ ก็นับว่าสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมอเมริกาอยู่ไม่น้อย โดยสิ่งที่ Thinx พยายามจะสื่อไม่ได้หมายถึงการเปิดเผยให้ทุกคนรับรู้หรือพยายามแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่า “ฉันเป็นประจำเดือน” เพียงแต่ทำให้คนที่มีประจำเดือนเลิกรู้สึกอับอายราวกับทำอะไรผิดพลาด ไม่ต้องมองซ้ายมองขวาก่อนจะหยิบผ้าอนามัย ไปจนถึงการปรึกษาปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนได้อย่างสบายใจมากยิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก