อิสราเอลโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ ปาเลสไตน์ยิงจรวดตอบโต้กลับไปยังอิสราเอล ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์เกิดขึ้นอีกครั้ง และกินเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้ว โดยยังไม่มีทีท่าว่า ทั้งสองประเทศจะหยุดยิง หรือจะเจรจาหาทางออกร่วมกัน
สำหรับอิสราเอล และปาเลสไตน์ ต่างก็มีความขัดแย้ง และข้อพิพาทในเรื่องดินแดน และพื้นที่กันมายาวนาน ตั้งแต่จะสถาปนาเป็นรัฐ และมีการแบ่งเส้นเขตแดน และกว่าตลอด 7 ทศวรรษมานี้ ทั้งสองประเทศต่างก็ห้ำหั่น ทำสงคราม และโจมตีกันมาโดยตลอด โดยมีชาติอาหรับในภูมิภาคเข้าร่วม และชาติมหาอำนาจโลกสนับสนุน
กว่าที่ความสัมพันธ์จะมาถึงจุดนี้ ที่ทั้งสองประเทศยังคงไม่สามารถหาข้อยุติ และมีข้อตกลงสันติภาพกันได้ The MATTER ขอย้อนพาไปดูความสัมพันธ์ของอิสราเอล และประเทศต่างๆ ที่สะท้อนได้ว่า ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์มาถึงจุดนี้ ตั้งแต่อดีต มีการร่วมมือ หรือขัดแย้งกันอย่างไรในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงว่า องค์กรระหว่างประเทศอย่าง UN มามีบทบาทอย่างไรบ้าง ?
อิสราเอล – ปาเลสไตน์
หากจะพูดถึงความขัดแย้งที่ยาวนาน และยังคงคลี่คลายไม่ได้ในการเมืองระหว่างประเทศ อิสราเอล และปาเลสไตน์ก็คงไม่พ้นประเด็นที่จะถูกพูดถึง โดยเรียกได้ว่า ตั้งแต่ทั้งสองยังไม่กลายเป็นประเทศ และมีเส้นเขตแดนที่แบ่งกันแน่นอน ก็เกิดความไม่พอใจระหว่างกัน พยายามจะแย่งชิงดินแดน และอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่บริเวณนั้นกันมาตลอด โดยแต่เดิม ชาวยิวอาศัยในแผ่นดินอิสราเอลที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าพื้นที่ตรงนั้น โดยเฉพาะที่ตั้งของเยรูซาเล็ม เป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้ามอบให้
แต่ด้วยสงคราม และการยึดครอง ทำให้ชาวยิวนั้นอพยพกระจัดกระจายกันไป และอิสราเอลเองก็ถูกยึดด้วยอาณาจักรต่างๆ หนึ่งในนั้นคือออตโตมัน ที่หลังจากนั้นได้เรียกพื้นที่ตรงนั้นว่า ‘ปาเลสไตน์’ ก่อนจะมีชาวอาหรับเข้ามาอาศัยอยู่ ซึ่งแม้ว่าชาวยิวจะกระจายตัวไป แต่ก็มีความหวัง และกลุ่มที่ต้องการจะมาจัดตั้งประเทศอิสราเอลในพื้นที่เดิมให้ได้อีกครั้ง โดยกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า ‘ไซออนนิสต์’
จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง และความพยายามแย่งชิงพื้นที่พิพาทนี้ ก็เริ่มขึ้นเมื่อชาวยิวส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในปาเลสไตน์ได้จัดการประชุมไซออนนิสต์ครั้งแรก ในปี 1897 และตามมาด้วยคำประกาศบัลโฟร์ (Balfour Declaration) ในปี 1917 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่อังกฤษ ผู้ซึ่งยึดครองดินแดนตรงนั้นแทนออตโตมัน ได้เห็นชอบให้ชาวยิวตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ตามความต้องการของกลุ่มไซออนิสต์ ทำให้เริ่มมีชาวยิวอพยพกลับมา สร้างความตึงเครียดให้กับทั้งชาวอาหรับ และยิว ที่เริ่มกลายเป็นความรุนแรง และห้ำหั่นระหว่างกัน
ความตึงเครียดในบริเวณนี้ ยังคงมีเรื่อยมา จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1947 ซึ่ง สหประชาชาติ หรือ UN ได้พยายามระงับข้อพิพาทนี้ โดยมีมติให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นรัฐของชาวยิว และชาวอาหรับแยกกัน โดยให้เยรูซาเลมเป็นเมืองนานาชาติร่วมกัน จนเกิดเป็นประเทศอิสราเอลในปี 1948 แต่มตินี้ก็สร้างความไม่พอใจให้กับชาวอาหรับในปาเลสไตน์ รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนั้นด้วย จนเกิดสงครามขึ้นทันที คือสงครามปาเลสไตน์ ระหว่างปี 1947-1949 เพื่อหวังยึดครองดินแดนในเขตแดนที่ถูกแบ่งไปให้เป็นของอิสราเอล แต่กลายเป็นว่าหลังการต่อสู้หลายปี ปาเลสไตน์กลับพ่ายแพ้ และโดนยึดครองดินแดนเพิ่มไป ทั้งยังเกิดองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นปาเลสไตน์ กับอิสราเอลก็ทำสงคราม และมีการปะทะกันอีกหลายครั้ง เช่น สงคราม 6 วัน ซึ่งอิสราเอลได้รับชัยชนะ หรือการปะทะใน Intifada ที่สอง ระหว่างปี 2000-2005 รวมถึงยังมีการก่อตั้งกลุ่มฮามาส ในปาเลสไตน์ ที่ปฏิบัติการใช้อาวุธ ทำให้เกิดความตึงเครียดอยู่ตลอด โดยเฉพาะพื้นที่เยรูซาเลมตะวันออก กาซา และเขตเวสต์แบงก์
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าสองชาตินี้ จะไม่เคยพยายามหาทางออกร่วมกันเลย เพราะที่ผ่านมาก็มีความพยายามช่วยเหลือจากนานาชาติ ในการเจรจาสันติภาพอยู่หลายครั้ง แต่ความรุนแรงก็ไม่สามารถยุติลงได้ เช่น ข้อตกลงออสโลในปี 1993 และ 1995, การประชุมแคมป์เดวิดในปี 2000 ที่สหรัฐฯ พยายามเป็นตัวกลางเจรจา ซึ่งมีประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องพื้นที่ หรือผู้อพยพที่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพที่มีมาเกือบ 30 ปีนั้น ยังไม่สามารถบรรลุผลได้
อิสราเอล – สหรัฐฯ
ถ้าปาเลสไตน์ เป็นศัตรูตลอดกาลของอิสราเอล ด้านสหรัฐฯ ก็เป็นขั้วของมิตรแท้ มิตรไม่เคยเสื่อมคลายของอิสราเอลเช่นกัน โดยหากจะนับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศนี้ ก็ย้อนไปตั้งแต่อิสราเอลประกาศสถาปนาเป็นรัฐในปี 1948 ก็มีสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศแรกที่รับรองอิสราเอลในปีนั้น และยังเป็นประเทศแรก ที่รับรองว่า ‘เยรูซาเล็ม’ หนึ่งในพื้นที่พิพาท เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ในปี 2017 ยุคของโดนัลด์ ทรัมป์
เรียกได้ว่าถ้าเรารักใคร เราคงสนใจเรื่องของเขาตลอด ซึ่งหากเปรียบแล้วเรื่องของอิสราเอล ก็อยู่ในความสนใจ และนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มาตลอดเช่นกัน ประเด็นต่างๆ ของอิสราเอลมักผ่านสภาคองเกรสโดยไม่มีการตั้งคำถาม แม้แต่จากฝั่งเสรีประชาธิปไตย โดยอิสราเอล มักถูกมองว่าเป็นตัวแทนของประเทศประชาธิปไตย เป็นชาติของยิวที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งในสหรัฐฯ มักจะสนับสนุนในการช่วยอิสราเอลในการปกป้องเขตแดนของตนเอง
แต่ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ยิ่งเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือ และสนับสนุนอิสราเอลมากขึ้นโดยเฉพาะทางการทหาร และเศรษฐกิจ คือ ‘สงครามเย็น’ หลังช่วงสงคราม 6 วัน ที่อิสราเอล สามารถเอาชนะเหล่าประเทศอาหรับ และยึดดินแดนของปาเลสไตน์เพิ่มได้ ในปี 1967 โดยมีการอธิบายไว้ว่า เพราะอิสราเอลได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นชาติที่มีการทหารแข็งแกร่งพอที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนได้ ทั้งสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยในพื้นที่ยังเป็นเหมือนสนามทดสอบอาวุธของอเมริกา เพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต เป็นพื้นที่สงคามตัวแทนในสงครามเย็น รวมถึงอิสราเอลยังเป็นท่อนำส่งอาวุธไปส่งที่ต่างๆ อย่างขบวนการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ รัฐบาลทหารในกัวเตมาลา และนิคารากัวเป็นต้น ทั้งหน่วยข่าวกรองของอิสราเอลยังทำงานร่วมกับสหรัฐฯ มีการร่วมกันพัฒนาวิจัยระบบป้องกันขีปนาวุธ หรือเครื่องบินรบ และที่สำคัญคืออิสราเอลมีขีปนาวุธที่สามารถไปถึงสหภาพโซเวียตได้ด้วย
โดย The New York Times รายงานว่า ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นทุกครั้ง เมื่ออิสราเอลสามารถแสดงศักยภาพทางการทหารได้ เช่นในสงครามกลางเมืองในจอร์แดนช่วงปี 1970-71 เมื่ออิสราเอลมีศักยภาพควบคุมการปฏิวัตินอกพรมแดน ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าเลยด้วย หรืออย่างในปี 1983-1984 เมื่อสหรัฐฯและอิสราเอลลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์และการวางแผนทางทหารและดำเนินการฝึกทางทหารร่วมทางเรือและทางอากาศเป็นครั้งแรกอิสราเอลได้รับเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพิ่มอีก 1.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งที่เล่ามาเหล่านี้ ล้วนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือเท่านั้น
นอกจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการสนับสนุนอิสราเอล เช่นกลุ่มชาวคริสต์ขวาจัด ที่อิงจากความเชื่อในการมองว่าดินแดนศักดิ์สิทธ์นั้นเป็นของอิสราเอล, องค์กรอนุรักษ์นิยมของชาวยิว ซึ่งเป็นล็อบบี้ยิสต์ในสหรัฐฯ, กลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธ ที่ได้ประโยชน์จากพันธมิตรอิสราเอล เป็นต้น
มาถึงในสมัยของทรัมป์ ปธน.คนก่อนเอง ก็เป็นผู้ที่สนับสนุนอิสราเอลอย่างเปิดเผย สร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่น จนกลายเป็นการเพิ่มอิทธิพลของอิสราเอลในภูมิภาคเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ส่งเงินช่วยเหลือทางทหารเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์ให้กับอิสราเอล รับประกันเงินกู้อีก 8 พันล้านดอลลาร์ รวมถึง สหรัฐฯและพันธมิตร ยังเรียกกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมของชาวปาเลสไตน์ ว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายด้วย
ขณะที่โจ ไบเดน ปธน.คนปัจจุบันนั้น ก็เคยเปิดเผยว่าตนเป็นไซออนนิสต์ และสนับสนุนอิสราเอลก่อนดำรงตำแหน่งผู้นำนี้ ซึ่งครั้งนี้เอง เขาก็มองว่าอิสราเอลมีสิทธิจะป้องกันตนเอง ทำให้โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และล่าสุดก็ได้ติดต่อผู้นำของอิสราเอล และปาเลสไตน์เพื่อหวังจะยุติความขัดแย้งครั้งนี้
โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ มักเป็นประเทศเดียวในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ ที่เข้าข้างอิสราเอล และคอยขัดขวาง วีโต้มติต่างๆ ที่มีเพื่อตอบโต้ หรือประณามอิสราเอล อย่างเช่นล่าสุดเอง สหรัฐฯ ก็ได้ขัดขวางการออกแถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ประณามการตอบโต้ทางทหารของอิสราเอลและเรียกร้องให้หยุดยิงด้วย
แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากยุคก่อนๆ นั้น คงเป็นการที่ ส.ส.ฝั่งเดโมแครตหลายคน เริ่มออกมาแสดงความเห็นถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ว่าไม่ควรเข้าข้างอิสราเอลฝ่ายเดียวในครั้งนี้ เช่นมาร์ก โพแคน ส.ส.ของเดโมแครต ก็ทวีตข้อความว่า เราไม่สามารถประณามกลุ่มฮามาส แต่เพิกเฉยต่อความรุนแรงของอิสราเอล ทั้งสหรัฐฯ ไม่ควรให้ความช่วยเหลือแก่ความรุนแรงนี้ หรืออย่าง อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตซ หรือ AOC ก็เป็น ส.ส.อีกคนที่ทวีตว่า เรายืนหยัดในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกบังคับให้ลี้ภัย และตกอยู่ภายใต้ความรุนแรงด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นสัญญาณที่เห็นนักการเมืองออกมาพูดถึงนโยบายของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอิสราเอล โดยไม่มีการตั้งคำถามมาเป็นเวลาเนิ่นนาน แต่ก็ยังไม่รู้ว่า จะสร้างผลกระทบเพียงพอในระดับนโยบายของประเทศหรือไม่
อิสราเอล – ชาติอาหรับในตะวันออกกลาง
การสถาปนาขึ้นมาของประเทศอิสราเอล ถือได้ว่าเป็นหนึ่งประเด็นที่ทำให้ประเทศชาติอาหรับในตะวันออกกลางมีความสามัคคีกัน โดยชาติต่างๆ ในตะวันออกกลาง ล้วนแต่เป็นชาติอาหรับ และนับถือศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับปาเลสไตน์ ทำให้ทั้งหมดล้วนมีศัตรูร่วมกันคืออิสราเอล ซึ่งชาติในสันนิบาตรอาหรับ อย่างอียิปต์, เลบานอน, จอร์แดน, ซีเรีย, อิรัก และ ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ ล้วนสนับสนุนปาเลสไตน์
หลังจากนั้นประเทศเหล่านี้ต่างก็เข้าร่วมการทำสงครามกับอิสราเอลเรื่อยมา มีการปะทะที่ชายแดนกันอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่สงครามอาหรับ-อิสราเอล มาถึงสงคราม 6 วัน และสงครามยมคิปปูร์ ในปี 1973 ซึ่งจบด้วยสนธิสัญญาหยุดยิง และหลังจากนั้นในปี 1979 ก็เริ่มมีภาพของขั้วความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป เมื่ออียิปต์กับอิสราเอลได้ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างกัน โดยความช่วยเหลือของอดีต ปธน.จิมมี คาร์เตอร์ของสหรัฐฯ และกลายเป็นชาติแรกในภูมิภาคที่ยอมรับอิสราเอล ท่ามกลางความกังวลของชาติอื่นๆ ว่าเป็นสัญญาณของการแตกกันของชาติอาหรับ รวมถึงปาเลสไตน์เองที่กังวลว่าพันธมิตรร่วมต่อสู้จะลดน้อยลง และในปี 1994 จอร์แดนก็กลายเป็นชาติต่อมา ที่ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล
นอกจากปาเลสไตน์ อิสราเอลก็ยังคงมีความตึงเครียดกับชาติอาหรับอื่นๆ อยู่ต่อเนื่อง เช่นเลบานอน ที่มีสงครามความขัดแย้งเฮซบอลลาห์-อิสราเอล ในปี 2006 หรืออิรัก ที่มีการยิงมิสไซล์เข้าไปยังอิสราเอลช่วงสงครามอ่าว หรืออิสราเอลเอง ที่ก็ยังโจมตีทิ้งระเบิดในอิรัก ในช่วงไม่กี่ปีมานี้
แต่ปีที่ถือว่าอาจจะเปลี่ยนทิศทางต่างๆ ของความสัมพันธ์ในตะวันออกกลางอีกครั้ง คือในปี 2020 ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากต้นปีที่ผู้นำของอิสราเอล และซูดาน ได้พบกันที่ยูกันดา พร้อมปรับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้เป็นปกติ และตามมาด้วยผลงานของโดนัลด์ ทรัมป์ กับการผลักดันการเซ็นสัญญาสันติภาพของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กับอิสราเอล และการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตของโมร็อคโค ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศเหล่านี้กลับสู่ในระดับปกติ และจะเพิ่มการร่วมมือต่างๆ ขึ้นกับอิสราเอล แทนปาเลสไตน์มากขึ้น
และในครั้งนี้เอง แม้ว่าหลายประเทศจะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น แต่ประเทศอาหรับต่างก็ออกมาประณามการโจมตีทางอากาศและการบุกมัสยิดของอิสราเอล เช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรนที่เรียกร้องให้อิสราเอลลดระดับความรุนแรง แต่ก็มีการมองว่าการประณามนั้นเป็นเพียงแค่คำพูด แต่ไม่มีการกระทำเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือปาเลสไตน์ โดยมีอียิปต์ ซึ่งรับบทผู้เจรจาระหว่างสองประเทศเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดการหยุดยิง แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนองจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งท่าทีของชาติอาหรับในครั้งนี้ ก็ถูกมองว่าเป็นทิศทางที่เปลี่ยนไปของความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้ด้วย
อิสราเอล – องค์กรสหประชาชาติ (UN)
องค์กรสหประชาชาติ (UN) เข้าไปมีบทบาทตั้งแต่เริ่มแบ่งแยกเขตแดนระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ จนเกิดการสถาปนาเป็นประเทศอิสราเอลขึ้นมาในปี 1948 แต่หลังจากนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างอิสราเอล และชาติอาหรับ UN มักถูกกีดกันในประเด็นทางการเมือง แต่ก็มีเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพที่มักถูกส่งไปประจำการที่ชายแดนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
กระบวนการต่างๆ ของ UN มักอยู่ภายใต้การตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคง หรือ UNSC อย่างเช่น มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 242 หลังสงคราม 6 วัน ที่พยายามสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง โดยการไม่ยอมรับดินแดนที่ได้มาจากการทำสงคราม พยายามให้กองกำลังอิสราเอลถอนกำลังจากดินแดนที่ยึดครอง รวมถึงให้มีตัวแทนอย่างอียิปต์จอร์แดน อิสราเอล และเลบานอนเข้าหารือกับผู้แทนพิเศษของ UN
แต่ถึงอย่างนั้น หลังปี 1967 เมื่อสหรัฐฯ เข้าสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ ความพยายามของ UN ในการสร้างสันติภาพ และยุติความขัดแย้งมักไม่เป็นผล เนื่องจากสหรัฐฯ หนึ่งใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของ UNSC มักจะโหวตไม่เห็นด้วย ขณะที่ช่วงสงครามเย็นเอง ก็มักมีเพียงสหรัฐฯ และโซเวียตที่มีบทบาทในการควบคุม และจำกัดทางการทูต ขณะที่ความพยายามเจรจาสันติภาพต่างๆ อย่างข้อตกลงออสโล หรือแคมป์เดวิดนั้น UN ต่างก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม
ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 UN ทั้งใน UNSC หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้พยายามจะกลับเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบ และสันติภาพต่างๆ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากอิสราเอล รวมถึงการประชุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมพิเศษของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน UN ในเจนีวาในเมื่อปี 2000 ที่ประณาม “การละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์ โดยอิสราเอล” และเรียกร้องให้มีคณะกรรมการไต่สวนสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่ก็ถูกสหรัฐฯ ออกเสียงคัดค้านอยู่เรื่อยไป
และในความรุนแรงครั้งนี้ UN ก็ออกมาเรียกร้องว่าควรมีข้อตกลงหยุดยิงทันที และควรเริ่มเจรจาสันติภาพอีกครั้ง โดยรัฐมนตรีใน UNSC ก็ได้ออกมาเตือนว่าความรุนแรงอาจขยายกว้างออกไปในภูมิภาค มากกว่าแค่กับอิสราเอล และปาเลสไตน์ ซึ่งอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ก็กล่าวว่า UN จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในทุกด้านเพื่อให้เกิดการหยุดยิงในทันที แต่ถึงอย่างนั้นครั้งนี้ เราก็เห็นความพยายามขัดขวางของสหรัฐฯ ในการออกแถลงการณ์ประณามการตอบโต้ทางทหารของอิสราเอลและเรียกร้องให้หยุดยิงอีกครั้ง
จึงต้องติดตามกันต่อว่า สุดท้ายแล้ว นอกจากบทบาทในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย หรือการเข้าไปของเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพตามพื้นที่ชายแดน ในความขัดแย้งครั้งนี้ ในระดับการเจรจา หรือข้อตกลงนั้น UN จะสามารถเข้าไปมีส่วนโดยที่ไม่ถูกขัดขวางจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ได้หรือไม่
อ้างอิงจาก