ช่วงเย็นๆ ค่ำๆ หลังจากการทำงานหนัก หลายคนเริ่มนึกถึงบรรยากาศหลังเลิกงาน ได้นั่งในร้านกินดื่มบรรยากาศอบอุ่น จิบเบียร์ซักแก้ว กินของจุกจิกซักหน่อย ใช้ห้วงเวลาพิเศษๆ ไปกับรสชาติของแอลกอฮอล์ คละเคล้าไปกับอาหารจานเล็กๆ
ด้วยคอนเซ็ปต์ที่แสนอบอุ่นนี้เอง ทำให้ ‘อิซากายะ’ เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของร้าน และอาจนับว่าเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมกินดื่มที่คนเมืองอย่างเราๆ เริ่มรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อเราเริ่มคิดถึงร้านเล็กๆ ที่ไปนั่งดื่มหลังทานอาหาร เป็นร้านที่ไม่ได้เน้นความหรูหรา การกินอาหารอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เน้นการฟังเพลง หรือเต้นรำอย่างที่เคยไปตามผับบาร์ อิซากายะเป็นที่ที่เราไปเพื่อพูดคุยกันไม่ว่าจะกับเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือกระทั่งกับบอส ในขณะเดียวกันเราก็คาดหวังกับแกล้มรสชาติดี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ราคาไม่แรงนัก ร้านเล็กๆ ทำนองอิซากายะกำลังปรากฏตัวขึ้นตามแหล่งกินดื่มทั้งเอกมัย ทองหล่อ อารี เรื่อยมาจนแถวเลียบด่วน อ่อนนุชก็ล้วนมีพื้นที่เมามายหลังเลิกงาน
อิซากายะจึงเป็นดินแดนของไมตรีในพื้นที่กลางเมือง ร้านเล็กๆ ที่ไม่ค่อยเป็นทางการเป็นพื้นที่ที่เราได้ลดทอนความแปลกหน้าชืดชาของเมืองใหญ่ หลายครั้งบาร์ยาวๆ กลายเป็นที่ให้เราได้พูดคุยกับเจ้าของร้าน ขนาดร้านที่ไม่ใหญ่แต่ก็สว่างมากพอนั้นเป็นที่ที่นอกจากคนทำงานจะได้พูดคุยกันหลังเลิกงานแล้ว ยังอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ๆ กับคนรอบข้าง ยิ่งถ้าเป็นบริบทญี่ปุ่น อิซากายะเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรมการทำงาน เป็นที่พนักงานออฟฟิศจะใช้เวลาหลังเลิกงานในการกึ่งทำงานต่อไปทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ หรือเยียวยาตัวเองจากเมืองและการทำงานไม่รู้จบ
จริงอยู่ว่า อิซากายะเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการกินดื่มอันเก่าแก่ของญี่ปุ่น แต่อิซากายะส่วนหนึ่งนั้นแน่นอนว่าสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของเมือง ของการพักผ่อน และใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นถ้าเราเคยไปญี่ปุ่น เรามักพบร้านอิซากายะ หรือร้านอาหารที่สถิตอยู่ใต้รางรถไฟ กลายเป็นย่านกินดื่มยาวเหยียดที่บางครั้งเริ่มต้นจากสถานีหนึ่งไปจนสิ้นสุดอีกสถานี วัฒนธรรมแบบอิซากายะนั้นจึงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ และการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่นที่ชาญฉลาดมากไปกว่าการปักโครงสร้างแนวรถไฟควบคู่ทดแทนถนนดังที่เราเห็นในเมืองใหญ่อื่นรวมถึงกรุงเทพของเราเอง ซึ่งกรุงโตเกียวเองก็ได้วางแผนทั้งการวางโครงข่ายรถไฟฟ้า พร้อมคิดถึงการใช้พื้นที่ใต้รางไว้ตั้งแต่แรกเรื่ม อันเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจริญรอบพื้นที่สถานี และวัฒนธรรมต่อเนื่องของโลกสมัยใหม่ในการกินดื่มหลังเลิกงาน
เมืองใหญ่ กับความอบอุ่นใต้คอนกรีตที่แห้งแล้ง
กรุงโตเกียวเป็นเมืองที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ใหญ่โตและซับซ้อนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ขณะเดียวกันเรากลับไม่ค่อยเห็นพื้นที่ใต้ทางด่วนอันเป็นปัญหาต่อเนื่องหลังมีรางรถไฟฟ้าเช่นที่ประเทศอื่นๆ เผชิญ ทั้งพื้นที่ใต้รถไฟฟ้าที่กลายเป็นที่ร้าง ใช้งานไม่ได้ หรือบางแห่งกลายเป็นแหล่งซ่องสุม เนื่องด้วยว่าพื้นที่ใต้รางมักจะเป็นที่ที่ไม่ดีกับสุขอนามัยนัก แสงน้อย เข้าถึงยาก ไม่รู้จะเอาพื้นที่ว่างๆ นี้ไปใช้ทำอะไร ส่วนหนึ่งนั้นก็สัมพันธ์กับแนวทางการพัฒนา ที่ตัวโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายระบบรางมักถูกสร้างขึ้น เพื่อทดแทนการใช้งานถนน การวางโครงข่ายจึงมักวางไปตามแนวถนน ทำให้เกิดเป็นแนวคอนกรีตสูงๆ เป็นแนวยาวขึ้น ในทางความรู้สึก แนวคอนกรีตเหล่านั้นเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ชืดชา รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาต่อและการใช้พื้นที่เมืองตามมาขนาดใหญ่
สำหรับญี่ปุ่น-โตเกียว ที่มีการพัฒนาเมืองและระบบเศรษฐกิจหลังยุคสงครามโลก ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นการพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่ก็น่าจะดำเนินตามรอยเมืองใหญ่อื่นๆ อย่างการก่อตัวของเมืองใหญ่ การลงทุนสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการค้าในโลกสมัยใหม่ แต่ทว่า ตัวขนส่งระบบรางของญี่ปุ่นนั้น แม้ว่าจะมีการวางผังและพัฒนาในยุคที่ไล่เลี่ยกับเมืองใหญ่อื่นๆ เช่นปารีส หรือเมืองสำคัญของสหรัฐ กลับไม่เป็นเช่นนั้น
การวางโครงสร้างและโครงข่ายระบบใหม่ของญี่ปุ่นที่มีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1900 ญี่ปุ่นกลับมีโครงข่ายราง พร้อมแผนการใช้พื้นที่ใต้รางในฐานะพื้นที่การค้า นอกจากเรื่องราคาทำเลแล้ว การใช้พื้นที่ใต้รางยกระดับนั้นยังส่งผลดีในเชิงวัฒนธรรม คือทำให้รางรถไฟแล้งๆ อบอวลไปด้วยความอบอุ่นจากครัว และแสงไฟจากโคมกระดาษเคล้าเสียงหัวเราะทั้งจากร้านอาหารขนาดกะทัดรัด ผับ บาร์ ไปจนถึงการใช้พื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะต่างๆ ไม่ได้มองแค่การสร้าง วางรางลงไปเพื่อเชื่อมโยงจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งเพียงเท่านั้น
Yurakucho ความคึกคักใต้ราง กับการวางโครงสร้างพื้นฐานเข้ากับเนื้อเมือง
ย่าน Yurakucho เป็นหนึ่งในย่านที่เราอาจจะพอนึกภาพแนวร้านอาหารที่อยู่ใต้โครงสร้างทรงโค้งก่ออิฐแดงที่เปี่ยมเสน่ห์ กระนั้นด้วยความคึกคักและอึกทึกของตัวย่านที่เต็มไปด้วยอาคารเล็กๆ ผับ บาร์ และกิจการอื่นๆ ทำให้เราลืมไปว่า ตัวซุ้มทรงโค้งที่ทอดตัวอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรางรถไฟฟ้า เพราะสำหรับเราแล้วรางรถไฟฟ้ามักจะเป็นเหมือนวัตถุขนาดยักษ์ที่เป็นตัวแทนของความเจริญ แต่ก็แปลกแยกออกจากตัวเมืองและกิจกรรมต่างๆ ของเรา ซึ่งแนวรถไฟของ Yurakucho นี้เป็นรางรถไฟยกระดับแห่งแรกของโตเกียว สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1910 โดยตัวพื้นที่ใต้รางก็ถูกกำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่การค้าตั้งแต่แรก ซึ่งสิบปีหลังจากรางสร้างเสร็จ ร้านอาหารแห่งแรกใต้รางนั้นก็เปิดกิจการ
กรุงโตเกียว เป็นเมืองที่มีผู้คนหนาแน่นมาตั้งแต่ก่อสงครามโลก และยิ่งแน่นขนัดเมื่อภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเฟื่องฟูขึ้นหลังสงครามในช่วงทศวรรษ 1950-1960 แน่นอนว่าที่ดินทุกตารางนิ้วของกรุงโตเกียวจึงมีความหมาย ขนส่งมวลชนระบบรางเริ่มถูกพัฒนาขึ้นเพื่อขนส่งผู้คนทั้งเข้าและขยายความเจริญออกสู่พื้นที่รอบนอก ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 นั้นเองขนส่งระบบรางของญี่ปุ่นก็เฟื่องฟูและขยายโครงข่าย ในตอนนั้นรางรถไฟยกระดับเป็นแนวทางการสร้างสำคัญ ในปี ค.ศ.1959 กรุงโตเกียวยกระดับรางรถไฟลอยฟ้าเป็นระยะทางราว 112 กิโลเมตรเพื่อรองรับการเติบโตและความเกรียงไกรของโตเกียวยุคใหม่
สิ่งที่น่าแปลกใจของระบบรถไฟฟ้าญี่ปุ่น คือนึกภาพว่าตอนนั้นญี่ปุ่นแพ้สงคราม กำลังปรับประเทศ และรับเอาความเจริญแบบตะวันตก รวมถึงวิทยาการต่างเข้ามาสู่ความเป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่ แน่นอนว่าระบบรางก็เป็นความทันสมัยที่ต้องนำเข้า แต่ญี่ปุ่นกลับวางระบบรางและวิธีการใช้งานตัวรางต่างจากเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นผู้นำการพัฒนาเมืองทั้งปารีส ชิคาโก หรือนิวยอร์ก กลุ่มเมืองที่ก็สร้างขนส่งทางรางยกระดับขึ้น แต่ในที่สุดกลับก่อให้เกิดปัญหาจากตัวโครงสร้างที่แยกออกจากเมือง เป็นการสร้างทดแทนไปตามแนวถนน ก่อให้เกิดปัญหาทั้งเสียง มลภาวะ และความเสื่อมโทรมตามมา
ทว่า สำหรับญี่ปุ่นนั้น การสร้างแนวรถไฟฟ้า อาจพูดได้ว่า กรุงโตเกียววางรางรถไฟฟ้าโดยผสานเข้าไปกับเนื้อเมือง และมีบริบทพื้นที่รอบๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งการใช้งานพื้นที่ใต้รางดูจะสะท้อนความคิดในการออกแบบที่เอาสาธารณูปโภคลงไปในพื้นที่ ไม่ได้มองแค่ว่าเป็นรางที่ทอดตัดจากฝั่งหนึ่งไปฝั่งหนึ่ง สำหรับญี่ปุ่นมีการวางตัวพื้นที่ใต้รางให้สอดคล้องกับบริบทกระทั่งความต้องการของพื้นที่ โดยแรกเริ่มนั้นออกแบบให้เป็นพื้นที่การค้า แต่ระยะหลังก็มีการใช้พื้นที่ใต้รางเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี เช่นสร้างเป็นหอพักในพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัย ในชุมชนก็สร้างเป็นพื้นที่บริการสุขภาพ เนอร์สเซอรี่ บางส่วนที่ร้างๆ ก็มีโครงการปรับปรุงเช่นเอาศิลปิน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กมารวมตัวกัน สร้างโคเวิร์กกิ้งเสปซ ไปจนถึงเปิดสตูดิโอ พื้นที่เวิร์กชอปส่วนกลาง
อิซากายะ ร้านริมทาง กับความเป็นสมัยใหม่ที่มีมาก่อนกาล
กลับมาที่อิซากายะ จริงๆ วัฒนธรรมอิซากายะ พวกร้านกินดื่มที่เน้นความสบาย กินไว นั่งดื่มมั่ง ยืนบ้าง เป็นสิ่งที่อยู่คู่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่มานานแล้ว นักประวัติศาสตร์บอกว่าวัฒนธรรมอิซากายะเกิดขึ้นแต่สมัยเอโดะ เป็นลักษณะของร้านสาเก หรือสร้างอาหารริมทางที่เปิดอยู่ตามแนวถนนสายหลักของกรุงโตเกียว ในตอนนั้นก็คล้ายๆ แถบอาสะกุสะปัจจุบันที่จะมีร้านเยอะแยะ เป็นร้านที่เข้าๆ ออกๆ ทั้งร้านของทอด ร้านสาเก บางร้านก็เป็นร้านยืนกิน ระยะหลังพวกร้านสาเกคงจะยืนนานไม่ไหว มีการเอาถังสาเกมาตั้งไว้ให้นั่งแบบลำลอง กินดื่มกันต่อไป
ทีนี้ ประเด็นหนึ่งเช่นในหนังสือ Modern Japan พูดถึงคือ ภาวะสมัยใหม่ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเมือง ความเฟื่องฟูของระบบทุนนิยม และนวัตกรรมต่างๆ อาจจะไม่ใช่ของแปลกใหม่ขนาดนั้น ในยุคเอโดะเองก็ดูจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ญี่ปุ่นก็มีความเป็นเมือง มีลักษณะบางส่วนที่สอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่อยู่ก่อนแล้ว เช่นความชุมชนเมือง ระบบสาธารณูปโภค วิถีการดำเนินชีวิต การมีชีวิตสาธารณะในพื้นที่นอกบ้าน อาจจะด้วยความคุ้นเคยกับความเป็นเมือง การจัดการเมืองที่มีมานับร้อยปีก่อนที่วิธีคิดตะวันตกสมัยใหม่จะเข้ามา ก็อาจทำให้ญี่ปุ่นสร้างความเป็นญี่ปุ่นสมัยใหม่ จัดการกับสาธารณูปโภคได้ดี
ในที่สุดเมื่อวิถีสมัยใหม่ การทำงานออฟฟิศ เจริญขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาโดยมีการขนส่งเป็นตัวนำ TOD (Transit-oriented development) ความเจริญแบบใหม่ก็เริ่มกระจายตัวทั้งบริเวณพื้นที่รอบสถานี และรวมไปถึงพื้นที่เกี่ยวเนื่องอย่างตัวรางรถไฟด้วย เราก็เลยเห็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่มี ‘สถานีรถไฟ’ เป็นศูนย์กลางของชีวิต ร้านใกล้สถานี เมาพับที่สถานี วิ่งขึ้นรถไฟไม่ทัน
แน่นอนว่าวัฒนธรรมอิซากายะ บางส่วนก็สัมพันธ์กับพื้นที่ใต้รางที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมสถานี ซึ่งร้านอะไรจะเหมาะกับพื้นที่เช่าใต้ราง ที่ที่แน่นอนว่าคนเยอะ แต่ก็อึกทึก แคบ และคึกคักช่วงค่ำๆ ดังนั้น วัฒนธรรมกินดื่มดั้งเดิมจากยุคเอโดะก็เกิดใหม่ขึ้นกลายเป็นพื้นอบอุ่นใต้คอนกรีตอันแข็งกระด้าง เป็นที่ให้ผู้คนเข้าไปพักกายพักใจ ใช้เงินทองที่หามาได้กับอาหารและสุรารสดีกันไปในแต่ละวัน จากพื้นที่แห้งแล้งที่ประเทศอื่นเผชิญ ก็กลายเป็นพื้นที่อบอุ่นกลางดินแดนแห่งความแปลกหน้าได้อย่างน่าประหลาดใจ
ความรู้สึกของเมือง ความรู้สึกของผู้คนนั้นจึงสัมพันธ์กับพื้นที่ทางกายภาพ และหลายครั้งสัมพันธ์กับวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มองเห็นสิ่งที่รัฐ หรือกระทั่งเอกชนสร้างขึ้น ไม่ได้เป็นแค่วัตถุ หรือสาธารณูปโภค แต่เป็นสิ่งที่กำลังเข้าไปกระทบกับพื้นที่ กับความรู้สึก กับชุมชน กับวิถีชีวิตอย่างซับซ้อน และมองเมือง มองพื้นที่ มองวัฒนธรรมอย่างสุขุมนุ่มลึก
พื้นที่เช่นอิซากายะใต้รางรถไฟ จึงกลายเป็นพื้นที่ของอร่อย เป็นที่ที่ใช้เสียง และจังหวะของรถไฟได้อย่างพิเศษเฉพาะตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก